ธันวาคม 2553

 
 
 
1
2
3
5
6
8
16
17
18
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน"หนอนหนังสือ"(5)


เมื่ออาคารหลังใหม่ของหอสมุดแห่งชาติที่ท่าวาสุกรีได้รับการติด ตั้งเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้น งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการขนย้ายหนังสือและเอกสารต่างๆไปยังอาคารหลังใหม่ ถ้าเป็นสมัยนี้หรือภาคเอกชนก็คงใช้บริการขนย้ายของบริษัทมืออาชีพ แต่ในสมัยนั้น(พ.ศ. 2509)หอสมุดฯไม่มีงบประมาณที่จะว่าจ้างใครมาขนย้ายให้ จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบรรดาข้าราชการทุกแผนกทุกคน จะต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ งานขนย้ายนี้ต้องยกให้เป็นความดีความชอบของ คุณศกรินทร์ วิเศษะพันธ์ บรรณารักษ์ตรี (ต่อมาได้ทราบว่าได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองหอสมุดฯ ต่อจากคุณชูศรี สวัสดิสงคราม) ผู้ช่วยอาจารย์สงวน อั้นคง ที่ประจำอยู่ห้องอ่านหนังสือภาษาไทย เป็นหัวหน้าในการขนย้าย ควบคุมการจัดหนังสือและเอกสารลงกล่องกระดาษที่จะขนย้าย การกำหนดรหัสควบคุมกล่องหนังสือให้เป็นระบบ เพื่อสะดวกในการนำหนังสือออกมาไว้ตามห้องต่างๆ หอสมุดฯได้ว่าจ้างให้ รสพ. (องค์การรับส่งพัสดุภัณฑ์ เป็นหน่วยงานขึ้นกับกระทรวงคมนาคม)เป็นผู้ดำเนินการขนย้ายกล่องหนังสือจาก อาคารหลังเก่ามายังอาคารหลังใหม่

งานขนย้ายหนังสือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด กว่าจะจัดหนังสือเข้าประจำตามห้องต่างๆตามที่กำหนดไว้ ก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ผมในฐานะที่มาอยู่อาคารหลังใหม่นี้ก่อนใครๆก็กลายเป็นศูนย์กลางในการตอบข้อ ซักถามเกี่ยวกับอาคารใหม่นี้ว่า มีอะไรอยู่ที่ไหน ใครมีความติดขัดเรื่องอะไรก็เรียกหาผมทั้งวัน เหนื่อยแต่ก็สนุกครับ

อาคารหลังใหม่นี้มีอุปกรณ์เครื่องใช้ใหม่ๆที่บรรดาข้าราชการที่เคยอยู่ อาคารเก่าไม่เคยใช้ อาทิ เครื่องปรับอากาศระบบรวมขนาดใหญ่ ที่มีท่อติดตั้งไปตามห้องอ่านหนังสือและสำนักงานของฝ่ายต่างๆ ตัวเครื่องปรับอากาศใช้ยี่ห้อ เทรนด์ ของการไฟฟ้านครหลวง เป็นระบบระบายความร้อนด้วยน้ำที่เรียกว่า ระบบชิลเล่อร์ ติดตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน ขณะนั้นผมรับหน้าที่เป็นผู้เปิดและปิดเครื่องปรับอากาศนี้ เพราะไม่มีใครใช้เป็น ต่อมากรมศิลปากรอนุมัติให้โอนย้ายช่างไฟฟ้าจากโรงละครแห่งชาติ มาประจำเป็นช่างดูแลเครื่องปรับอากาศนี้ ผมจึงพ้นภาระนี้ไป อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งคือ ลิฟท์โดยสารจำนวน 5 ชั้น ซึ่งผมรับผิดชอบดูแลมาพร้อมกับเครื่องปรับกาศ ก็มอบให้ช่างไฟฟ้าที่มาใหม่รับผิดชอบดูแล

หอสมุดฯได้รับงบประมาณว่าจ้างลูกจ้างประจำมาทำงานในตำแหน่งนักการภารโรง จำนวน 10 อัตรา เพื่อดูแลทำความความสะอาดอาคารทั้งหมด ถ้าเป็นสมัยนี้อาจจะว่าจ้างบริษัทภายนอก(Out Source)มาบริการให้ห้ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการว่าจ้างสัมภาษณ์พนักงานใหม่ทั้งหมด ช่วงนั้นมีความภาคภูมิใจมาก ทำงานอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลย (ก็อายุประมาณ 27 ปีเอง)

ทำ(งาน)ไปทำ(งาน)มาผมก็แทบจะไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับงานบริการหอสมุดฯเลย กลายเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการไปกลายๆ ต่อมาอาคารด้านหลัง(4 ชั้น) ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นห้องประชุมและสัมมนา มีที่นั่งประมาณ 300 ที่นั่ง ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและระบบเสียงรวมทั้งเครื่องฉายภาพยนตร์(ระบบ เสียงใช้ของยี่ห้อฟิลลิปส์) นับเป็นระบบเสียงที่ทันสมัยมากในสมัยนั้นคือระบบที่เรียกว่า ซาวด์ คอลัมน์ (Soud Column) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์แม้นมาส ชวลิต ขณะนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองหอสมุดแห่งชาติ แทน คุณบวร ธีมากร (ซึ่งเกษียณไปพอดีกับช่วงการขนย้ายหนังสือ) ให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบห้องประชุมนี้

กิตติศัพท์ความทันสมัยของห้องประชุมนี้เป็นที่รู้กันในแวดวงหน่วยราชการ กระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานในกระทรวงฯมาขอใช้ห้องประชุมนี้เสมอๆ ต่อมามีสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย โดยคุณประโพธิ์ เปาโลหิต เป็นนายกสมาคมฯ ได้มาขอใช้จัดฝึกอบมรมหลักสูตรการพูด โดยมอบหมายให้ อาจารย์สมิต สัชฌุกร มาเป็นผู้ติดต่อ ผมจึงรู้จักกับอาจารย์มาตั้งแต่ครั้งนั้น และได้รู้จักรูปแบบการจัดประชุมและการฝึกอบรมที่นี่

ถัดมาอีกไม่กี่เดือนมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มาขอใช้พื้นที่ชั้นสองของอาคาร นี้เป็นที่จัดแสดง งานศิลปะกรรมแห่งชาติ (ครั้งที่ 16?) ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มและมีไฟแรง เรียกว่าอยู่นิ่งเฉยไม่เป็น ผมจึงเรียนอาจารย์แม้นมาส ว่าคนที่มาหอสมุดฯอาจจะไม่ได้มาอ่านหนังสืออย่างเดียว อาจจะสนใจกิจกรรมอื่นๆด้วย อาจารย์แม้นมาสสนใจแนวคิดนี้ จึงให้ผมเขียนโครงการเสนอขึ้นไป ผมเสนอโครงการจัดฉายภาพยนต์สารคดี ที่ขอยืมจากบริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด ชุด ความรู้คือประทีป (ปัจจุบันสารคดีชุดนี้ฉายออกอากาศทาง ไทยทีวี เวลา 16.00 น.ทุกวันเสาร์) และขอยืมภาพยนต์สารคดีชุด เที่ยวไปกับโอวัลติน จากบริษัท ดีล์ทแฮม จำกัด และภาพยนต์ชุด สองข้างทางรถไฟ จาก รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) โครงการจัดฉายภาพยนต์สารคดี จะจัดฉายเวลา 14.00 น. ทุกวันศุกร์ ได้รับความสนใจจากผู้มาอ่านหนังสือมากเกินความคาดหมาย



Create Date : 14 ธันวาคม 2553
Last Update : 8 มกราคม 2560 10:40:05 น.
Counter : 701 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง