พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
12 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
"เอเปก"ถึง"อาเซียน" จีนเป็นต่อ-สหรัฐดิ้นสู้ (คอลัมน์ รายงานพิเศษ)

"เอเปก"ถึง"อาเซียน" จีนเป็นต่อ-สหรัฐดิ้นสู้

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



สัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่อาเซียนคึกคักอย่างยิ่ง

เพราะเข้าร่วมการประชุมในภูมิภาคเอเชียต่อเนื่องถึง 2 งาน

งานแรก การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ครั้งที่ 21 อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดที่เกาะบาหลี วันที่ 7-8 ต.ค.

ต่อด้วย การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 23 ที่บรูไน ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.

ทั่วโลกจับตาการชุมนุมกันของผู้นำโลกครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดจากการหารือ แต่ยังรวมถึงบทบาทของสหรัฐและจีนที่ แข่งกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

การไม่มาปรากฏตัวของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ เพราะเผชิญวิกฤต "ชัตดาวน์" ที่หน่วยงานรัฐบาลต้องปิดทำการจากพิษงบประมาณในประเทศ ถูกมองว่าพญาอินทรีต้อง "เสียท่า" ให้กับพญามังกรในห้วงเวลาสำคัญ

แม้ นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ผู้ได้รับมอบหมายให้มาประชุมแทน จะพยายามแสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่ได้เสียโอกาสจากการที่ผู้นำไม่ได้มาด้วยตนเอง

ด้วยการผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) กับ 11 ประเทศในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฯลฯ สำเร็จทันเส้นตายที่กำหนดไว้สิ้นปีนี้

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรอบการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีมูลค่าถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ากรอบการค้าเสรีอเมริกา เหนือซึ่งครองสถิติที่ 17 ล้านล้านดอลลาร์

แต่การยกเลิกหมายเยือนฟิลิปปินส์ ต่อเนื่องการประชุมอาเซียนของนายแคร์รี่ด้วยเหตุผลด้านพายุ กลับตอกย้ำว่า การยกเลิกหมายเยือนมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ของผู้นำสหรัฐ ล้วนทำให้โอกาสสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาติอาเซียน ถูกลดค่าลงไปโดยปริยาย

และถูกถล่มซ้ำด้วยการตั้งประเด็นของจีนว่าการทำข้อตกลงทีพีพีของสหรัฐ เป็นเพียง "เครื่องมือชิ้นใหม่" ที่สหรัฐจะใช้แทรกแซงการค้าและเข้ามาแผ่อิทธิพลในภูมิภาค

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่าในเมื่อเอเปกเป็นเรื่องของภูมิภาค จีนต่างหากที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บรูไน ซึ่งมีการประชุมคู่ขนานหลายเวทีทั้ง อาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) และอาเซียน +6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซี แลนด์ และอินเดีย) และเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit)

แม้สีสันสำคัญอยู่ที่ประธานาธิบดีหญิง ปาร์ก กึนเฮ ผู้นำหญิงของเกาหลีใต้มาร่วมเวทีนี้เป็น ครั้งแรก แต่การประชันอำนาจของจีนกับสหรัฐยังคงอยู่



ในขณะที่สหรัฐแสดงตัวว่าไม่ได้ทิ้งอาเซียน นายแคร์รี่ประกาศว่า พร้อมขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

แต่คำประกาศของสหรัฐดูจะลดความสำคัญลงไปทันที เมื่อเทียบกับภาพที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์แห่งบรูไน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน-จีน ร่วมกันตัดเค้กฉลองการครบรอบ 10 ปีการจัดตั้งความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยมีผู้นำอาเซียนอื่นๆ ร่วมพิธีอย่างชื่นมื่น

หลังจากนายกฯ หลี่ประกาศว่า จะผลักดันให้อาเซียนหารือกันเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีน ใต้ ด้วยสันติภาพ และมิตรภาพ

พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันเป็น 2 เท่าจาก 4 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563

ในประเด็นทะเลจีนใต้ที่ ไทยมีบทบาทในฐานะ ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-จีน นายกฯ ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อาเซียนและจีนต้องบริหารจัดการความแตกต่างเพื่อให้ความสัมพันธ์เดินไปข้างหน้า

"วันนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการเห็นสันติภาพในการเดินเรือทางทะเล เพื่อให้ทุกประเทศสัญจรไปมาอย่างปลอดภัย ซึ่งทุกประเทศให้การยอมรับ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

นอกจากบทบาทดังกล่าว สิ่งที่ผู้นำไทยนำเสนอทั้งในเวทีเอเปกและอาเซียน ก็คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหาร

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะต้องเปลี่ยนความท้าทายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งให้เป็นโอกาส นำน้ำมาใช้เพื่ออุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมถึงกระบวนการแปรรูปอาหาร

ถ้าในภูมิภาคมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพร่วมกันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนทางอาหาร เห็นได้จากการลงทุนมูลค่า 350,000 ล้านบาทของไทยเพื่อบริหารจัดการน้ำจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มศักยภาพของไทยในการรับมือกับวิกฤตน้ำทุกรูปแบบ

ส่วนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไทยผลักดันโครงการตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติ โดยเฉพาะการมีข้าวสำรองซึ่งหลายประเทศเห็นด้วยว่าสำคัญ

"ทิศทางที่ทุกประเทศต้องการคือให้ทุกประเทศไม่มองเฉพาะมิติของประเทศตัวเอง ต้องมองไกลในระดับภูมิภาค เพื่อให้การเชื่อมโยงของภูมิภาคเจริญเติบโต และจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งหรือความแตกต่าง ของ ประเทศนั้นๆ ก้าวไปได้"



Create Date : 12 ตุลาคม 2556
Last Update : 12 ตุลาคม 2556 10:23:11 น. 0 comments
Counter : 1023 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.