มอง แต่ แง่ ดี .


มองแต่แง่ดี

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ

ที่มา : จากบทกลอนหลวงพ่อพุทธทาสภิกข





********************************


มองแต่แง่ดี



....... มองแต่แง่ดี หมายความว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ย่อมจะมีแง่ให้เรามองได้สองแง่เสอม คือทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย หรือในแง่คุณและแง่โทษ

....... แม้ในแง่ที่ว่าดี หรือในแง่คุณนั้น ก็ยังอาจจะมองได้อีกว่า ดีมากดีน้อย หรือมีคุณมากมีคุณน้อยแค่ไหน ? ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับของสติและปัญญาของผู้ที่มองนั้นด้วย

....... แม้ในส่วนที่คนทั่วไป มองว่าร้ายหรือเป็นโทษนั้น ผู้มีความคิดประกอบด้วยปัญญา ก็อาจจะถือเอามาใช้ให้เกิดเป็นคุณได้

....... เป็นอันว่า โลกหรือชีวิตนี้ เกิดขึ้นจากการมอง และการมองที่ถือว่าถูกจุด หรือตรงเป้าอย่างแท้จริงนั้น จะต้องประกอบพร้อมด้วยปัญญา มิใช่ว่าจะมีแต่ความคิดเพียงประการเดียว

....... เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน จึงขอนำเอา "โลกธรรม 8" ในแง่ที่ดีมาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างการมอง ดังนี้

- มีลาภ ปุถุชนคนทั่วไป ย่อมต้องการและแสวงหาแต่ในตัวลาภทั้งหลายนั่นแหละ ถ้าเราหา, ใช้ และเก็บไม่เป็นแล้ว มันก็จะนำมาซึ่งทุกข์ ภัย และโทษมากมาย จนกลายเป็นศัตรูของความสุขไป

- มียศ คนทั่วไปย่อมปรารถนา ใฝ่แสวงหา แต่ถ้ามุ่งความสงบสุขทางจิตแล้ว ยศนั้นมันก็จะกลายเป็นศัตรูเพราะมันจะนำความวุ่นวาย แอบแฝงมากับยศนั้นด้วย

- มีสรรเสริญ คนเราทำอะไร เป็นที่พอใจเขา หรือทำประโยชน์ให้เขา เขาก็ย่อมจะสรรเสริฐเยินยอ มีคนอยากรู้จัก จะอยู่ที่ไหน ? จะไปที่ไหนแต่ละที่ก็ไม่สะดวก ไม่สบายและไม่สงบ

- มีสุข ถ้าเป็นความสุขฝ่ายวัตถุ ก็ยิ่งจะเป็นสื่อของความทุกข์ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีโรคมาก เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย อีกทั้งเป็นเหตุให้หลงติดสุข ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จักจบสิ้น

....... ขอแทรกทัศนะความสุขตรงนี้นิดเถอะว่า โดยชีวิตจริง ๆ ของคนเรานั้น ไม่มีใครจะได้เสวยสุขโดยส่วนเดียวหรอก จะต้องมีทั้งสุข ๆ ทุกข์ ๆ คละเคล้ากันไป และที่ว่าสุข ๆ แบบชาวโลกนั้น ก็ล้วนแต่เป็นสุขแบบจอมปลอมและหลอกลวงทั้งนั้นแหละ

....... เพราะถ้าการอยู่ในโลกนี้ มีความสุขอย่างแท้จริงแล้วเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะเสด็จออกผนวช กษัตริย์ และเศรษฐีอีกมากมาย ก็คงไม่สละวังและปราสาท ออกไปนอนกลางดิน กินกลางป่ากันหรอก นี่เป็นการหลงติดสุข ที่ควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง

....... ตรงข้ามกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาและทุกข์เสียอีก กลับจะเป็นผลดี เพราะทำให้คนเรากลัวจึงไม่ประมาท ไม่หลงติด มีความเพียรและอดทนต่อสู้ เพื่อให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง เป็นเหตุให้ภพชาติสั้นเข้า

....... รวมความว่า ในแง่ของความสุขทางจิตใจ หรือยอดของความสุขอันแท้จริงแล้ว ต้องอย่ามองอะไรในแง่ร้ายและว่ากันที่จริงแล้วมันก็ไม่มีอะไรร้าย เพราะทุกสิ่งในโลกก็ล้วนแต่นำมาเป็น "บทเรียนชีวิต" ได้ทั้งสิ้น

....... ดังนั้น ถ้าเราไม่ยอมปรับใจ มองสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี ชีวิตนี้ทั้งชีวิต ก็จะหาความสุขได้ยาก เพราะโลกธรรมมันมีอยู่ทั่วไป และไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ? และมีฐานะอะไร ? เราก็ต้องพบกับมัน การยอมรับความจริง และมองอะไรในแง่ดี ย่อมจะทำให้เราเป็นคนโชคดี และเป็นความสุข.


"สู่ความสุข"
เรียบเรียงโดย ธรรมรักษา 





Free TextEditor



Create Date : 05 เมษายน 2554
Last Update : 5 เมษายน 2554 2:42:47 น.
Counter : 452 Pageviews.

2 comment
ความ ผูก พัน .
ความผูกพัน หมายถึง การเกาะเกี่ยวกันทางใจด้วยความรักหรือความโกรธเกลียด หรือความหลง ทำให้ปล่อยวางหรือลืมเรืองนั้นเสียไม่ได้ สิ่งนั้นก็จะเกาะติดอยู่ในใจติดตามตัวไปทุกแห่งทุกหน ทำให้หาความผาสุก ความเป็นอิสระไม่ได้ เหมือนขาที่ถูกคล้องไว้ด้วยโซ่ตรวน ย่อมจะหนักและเดินลำบาก การมีความผูกพันกับสิ่งใด คนใด เรื่องใด ก็ไม่ต่างกับการมีโซ่ตรวนล่ามขาอยู่ฉะนั้น การผูกพันกันด้วยความรัก ใช่ว่าจะทำให้เกิดความสุขเสมอไป เมือมีความรักก็ย่อมมีความห่วงใยเป็นธรรมดา อยากให้คนที่ตนรักเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความอยากของคนเราใช่ว่าจะได้ดังที่อยากเสมอไปก็หาไม่ บางครั้งก็ไม่สมอยาก พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสสอนว่า "ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง แปลว่า ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์" ผูกพันด้วยความโกรธ ความเกลียด โดยไม่ละ ไม่วาง ยังผูกใจเจ็บแค้นกันอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือน เอาโซ่ตรวนล่ามกันไว้เช่นกัน การที่จะอธิษฐานจิตว่า "เกิดชาติใดขออย่าให้ได้พบได้เจอคนอย่างนี้อีกเลย" ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะใจเราผูกพันกับเขาด้วยความโกรธ ความเกลียด ความชิงชังอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยแกะโซ่ตรวนที่ล่ามติดกับเขาไว้ แล้วจะพ้นจากคนที่เราไม่ชอบได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่แกะโซ่ตรวนออกก็ต้องตามผจญกรรมกันไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะอธิษฐานอย่างไร ถ้าไม่ชอบใคร ไม่อยากเจอใคร ต้องทำใจไม่ให้นึกถึงคนนั้น เรื่องเกี่ยวกับคนนั้น หรือถ้านึกถึงก็ให้น้อยที่สุด ยิ่งอโหสิกรรมหรือให้อภัยกันเสีย ก็จะมีโอกาสหนีพ้นจากกัน เปรียบเหมือนแกะโซ่ตรวนออกแล้ว ก็ย่อมเป็นอิสระ ไม่ต้องไปเผชิญเวรเผชิญกรรมกันอีกทุกภพทุกชาติ ยิ่งทำดี มีเมตตากรุณากับผู้ที่เราไม่ชอบ ผลแห่กรรมดีที่เรากระทำยิ่งสูงกว่าคนที่เราไม่ชอบเท่าใด ภพ ภูมิก็จะต่างกันเท่านั้น ยิ่งเกลียด ยิ่งไม่อยากเห็นหน้ากัน ก็อย่าฝังใจอยู่ทุกวี่วัน ยิ่งจะดึงเขาเข้ามาหาเรามากขึ้นเท่านั้น จึงต้องตามผจญกันไปทุกชาติ อยากให้พ้นจากใคร ก็จงให้อภัยทาน จะได้หมดเวรหมดกรรมกัน

การผูกพันด้วยความหลง เป็นเรื่องหนักกว่าเพื่อน เพราะผู้ที่มีความหลงก็คือ เห็นสิ่งที่ผิดเป็นถูก เห็นสิ่งที่ไม่งามเป็นสิ่งที่งาม ฯลฯ ที่โบราณเรียกว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" คือเห็นสิ่งที่เป็นอันตราย (กงจักรเป็นอาวุธที่อันตราย) ว่าเป็นของที่น่ารัก น่าบูชา แม้ใครจะบอก ใครจะเตือน ก็ไม่สามารถจะเอาชนะความงมงายหรือความหลงได้ ผู้ที่มีความผูกพันด้วยความหลง จึงจัดเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด จะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "มดไต่ขอบกระด้ง" หาทางออกไม่ได้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จบ ชีวิตที่มีความผูกพันกับสิ่งใดมากเกินไป ไม่เคยให้ความสุขแก่ผู้ใดเลย รักมากก็ห่วงมาก กลุ้มมาก เกลียดมากก็ร้อนใจมาก จะเห็นว่าล้วนเป็นบ่อเกิดแหงทุกข์ทั้งสิ้น

การเดินสายกลาง อย่าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งใด และรู้จักปล่อยวาง จะเป็นหนทางดับทุกข์ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเราเลี้ยงสุนัข เรารักเขามาก ผูกพันกับเขาเหลือเกิน แต่อายุขัยของสุนัขน้อยกว่าคนมาก จึงมักตายก่อน เจ้าของผู้มีความผูกพันกับสุนัขตัวนั้น ก็จะเศร้าสร้อยไปพักหนึ่งทีเดียว ความรักความปรานีเราจะให้แก่ใครก็ได้ และเป็นสิ่งที่ควรให้ แต่การผูกพัน การยึดติดนั้นเป็นเรื่องอันตราย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่อยากมีทุกข์ ก็อย่ายึดติด หรือผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้จักปล่อยวาง รู้จักหาอิสรภาพให้แก่ตนเอง จะเป็นสุขในที่สุด...


โดย รศ.พญ.จิรพรรณ มัธยมจันทร์



Create Date : 05 เมษายน 2554
Last Update : 5 เมษายน 2554 2:43:07 น.
Counter : 388 Pageviews.

0 comment
การขอโทษและการให้อภัย (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
การรู้จักขอโทษนั้นเป็นมารยาทอันดีงามสำหรับตัวผู้ทำเอง และเป็นการช่วยระงับหรือช่วยแก้โทสะของผู้ถูกกระทบกระทั่งให้เรียบร้อยด้วยดีในทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่าการขอโทษคือการพยายามป้องกันมิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด

เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะเพราะถือความผิดนั้นเป็นความล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้ ความผูกโกรธหรือความผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น ถ้าแก้โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้ เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน อภัยทานก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ


อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ
เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน
คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด
จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น

ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน

ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป


ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย

แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้

ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน


อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างไดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย...



: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร.. 





Free TextEditor



Create Date : 04 เมษายน 2554
Last Update : 4 เมษายน 2554 16:03:05 น.
Counter : 517 Pageviews.

3 comment
ธรรมะจากสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)



สมเด็จพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )
วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร

ชาติกาล 17 เมษายน พ.ศ. 2331
ชาติภูมิ บ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออก กรุงธนบุรี
บรรพชา เมื่ออายุได้ 13 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุได้ 20 ปี
ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2408
มรณภาพ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415
สิริรวมชนมายุได้ 84 ปี

ท่านเป็นอมตมหาเถระ ที่มีเกียรติคุณเป็นที่ปรากฏอย่าน่าอัศจรรย์ มีปัญญาเฉียบแหลมแตกฉานในทางธรรม เป็นเลิศทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา พระคาถาที่ทรงอานุภาพยิ่งของท่าน คือ คาถาชินบัญชร


คติธรรมคำสอน ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

       ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา

       กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น

       เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ
       ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?

กรรมลิขิต
       เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ

       การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

       ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา

       ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญ และบาปแห่งหนึ่ง อันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์

       การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี

       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี

       การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มาก และทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่า การให้ทาน

แผ่เมตตาจิต
       ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า

อานิสงส์การแผ่เมตตา

       ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต

       ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม






Free TextEditor



Create Date : 31 มีนาคม 2554
Last Update : 6 เมษายน 2554 17:26:14 น.
Counter : 2226 Pageviews.

0 comment
1  2  

yingu
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



เมื่อเห็นให้สักแต่ว่าเห็น
เมื่อฟังให้สักแต่ว่าฟัง
เมื่อทราบให้สักแต่ว่าทราบ
เมื่อรู้ให้สักแต่ว่ารู้ โดยไม่ปรุงแต่ง
เมื่อใดเธอทำได้อย่างนี้
เมื่อนั้นเธอก็จักไม่มี
คือ ว่างอย่างยิ่งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า..