ชีวประวัติหลวงปู่ชา (ตอน เริ่มต้นชีวิตพระธุดงค์ ๑)



ตอนที่6. เริ่มต้นชีวิตพระธุดงค์(๑)

       ต้นปี พ.ศ. 2489 หลวงพ่อกับพระถวัลย์ ญาณจารี ได้จาริกธุดงค์จากอุบลราชธานีมุ่งสู่ภาคกลาง เพื่อสืบเสาะหาครูอาจารย์ด้านการปฏิบัติ ท่านทั้งสองเดินทางรอนแรมมาเรื่อย กระทั่งผ่านดงพญาเย็นเข้าสู่เขตจังหวะสระบุรี ได้หยุดพักอยู่ที่บ้านยางคู่ระยะหนึ่ง

       หลังจากนั้น หลวงพ่อได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงพ่อเภา แห่งวัดเขาวงกฏ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติในเขตนั้น จึงตกลงกับเพื่อน แล้วเดินทางไปยังวัดเขาวงกฏ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หลวงพ่อเภาท่านมรณภาพไปเสียแล้ว คงเหลือแต่ท่านอาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นศิษย์ดูแลสำนักแทน เมื่อพิจารณาสถานที่วัดเขาวงกฏ ก็พบว่ามีความสงบวิเวก เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ จึงขอพำนักจำพรรษาที่นั่น

ในพรรษานั้น ได้มีโอกาสศึกษาข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาวางแนวทางไว้ หลวงพ่อเคยเล่าถึงปฏิปทาบางอย่างของหลวงพ่อเภาให้พระเณรฟังว่า...

วันหนึ่งขณะหลวงพ่อเภานั่งสนทนาอยู่กับลูกศิษย์รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระมหาเปรียญ มีโยมผู้หญิงมากราบนมัสการและออกปากนิมนต์ว่า "หลวงพ่อ.. วันนี้ดิฉันขอนิมนต์หลวงพ่อไปเที่ยวด้วย จะไปไหมคะ"
หลวงพ่อเภานิ่งเฉย ไม่พูดอะไร พระมหารูปนั้นก็นึกว่าหลวงพ่อเภาคงไม่รู้เรื่องหรือคงไม่ได้ยิน จึงบอกว่า "หลวงพ่อๆ โยมถาม ได้ยินไหม ? เขาจะนิมนต์ไปเที่ยวที่โน้น"  หลวงพ่อเภาก็ว่า "ได้ยิน"
โยมผู้หญิงก็ถามอีกว่า "หลวงพ่อไปหรือเปล่าคะ"
ท่านก็เฉย ไม่พูด ไม่ตอบ เลยไม่รู้เรื่องกัน เมื่อโยมผู้หญิงกลับไปแล้ว พระมหาก็ถามว่า "หลวงพ่อ โยมเรียนถาม ทำไมหลวงพ่อไม่พูด"
หลวงพ่อเภาตอบว่า "โอ้ มหา ท่านรู้หรือเปล่า คนที่มาเมื่อกี้มีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น จะชวนพระร่วมเดินทางด้วย.. นี่คุณจะไปรับปากกับเขาทำไม.. ให้เขาชวนข้างเดียวไม่เป็นอะไร เมื่อเราอยากจะไป.. ก็ไป เพราะเราไม่ได้ชวนเขา เขาชวนเราข้างเดียว" (พระชวนผู้หญิงร่วมเดินทางด้วยเป็นอาบัติปาจิตตีย์) ท่านมหาก็เลยนั่งคิด "อือ.. เราเสียคนเหลือเกินนะ"


หลวงพ่อเล่าต่ออีกว่า ครั้งนั้นมีคนเอาเงินมาถวายหลวงพ่อเภา พอเขาเอาใส่ถาดมา ท่านก็ปูผ้าเช็ดหน้าไปรับ เมื่อเขาเอาถาดวางลงบนผ้า ท่านก็ปล่อยมือจากผ้าเช็ดหน้า เงินก็ทิ้งไว้ที่เตียงนั้น ท่านรู้แล้วแต่ไม่สนใจ ลุกหนีไป คือในพระวินัยกล่าวว่า ถ้าเราไม่ยินดีในเงินนั้น ไม่บอกเขาก็ได้ เสร็จธุระแล้วก็ให้เป็นหน้าที่ของโยม แต่ถ้าหากว่าเรามีความยินดีก็ต้องบอกเขาว่า "โยม สิ่งนี้ไม่สมควรแก่พระ" ต้องห้ามเขาในสิ่งที่มันผิด (ภิกษุรับเอง ให้ผู้อื่นรับซึ่งเงินทอง หรือยินดีเงินทองอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์)

       และที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อยังได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ชาวกัมพูชารูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่ชอบอยู่อย่างสันโดษตามป่าเขา มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ในวันหนึ่งหลังจากสนทนากันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกลับไปบำเพ็ญภาวนาตามปกติ ตอนกลางคืนหลวงพ่อชอบขึ้นไปเดินจงกรม และนั่งสมาธิที่บนเขา ประมาณสี่ทุ่มกว่าของคืนวันนั้น ขณะหลวงพ่อเดินจงกรมในความมืด ได้ยินเสียงผิดปกติเกิดขึ้นในป่าข้างทางจงกรม ในครั้งแรกหลวงพ่อคิดว่า คงเป็นเสียงงูหรือสัตว์ป่าออกหากิน แต่พอเสียงเดินคล้ายสัตว์ย่ำเท้าหนักๆ บนใบไม้แห้งเข้ามาใกล้ ก็ปรากฏเป็นเงาตะคุ่มดำของคนเดินออกมาจากป่า แล้วหยุดยืนอยู่ที่เบื้องหน้า หลวงพ่อเพ่งดูจึงรู้ว่าเป็นท่านอาจารย์ชาวกัมพูชา จึงถามขึ้นว่า...
"อ้อ ท่านอาจารย์นั่นเอง มีธุระอะไรหรือครับ ถึงได้มาทั้งดึกๆ อย่างนี้"
"เมื่อตอนกลางวัน ผมอธิบายพระวินัยให้ท่านฟังผิดไปข้อหนึ่ง" พระอาจารย์ชาวกัมพูชาตอบ
"ท่านอาจารย์ไม่ควรลำบากถึงขนาดนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้จึงอธิบายให้ผมฟังใหม่ก็ได้" หลวงพ่อกราบเรียนด้วยความเกรงใจ
"ไม่ได้ๆ ถ้าหากผมตายไปคืนนี้ ท่านก็อาจจะนำไปสอนคนอื่นผิดๆอีก จะเป็นบาปเป็นกรรมไปเปล่าๆ" พระอาจารย์รูปนั้นยืนยันเจตนาเดิมเมื่ออธิบายวินัยใหม่แล้วท่านก็ลากลับไป
หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของพระอาจารย์รูปนั้นมาก ท่านคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง แม้มีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็มิได้ประมาท ไม่ปล่อยให้ข้ามวันข้ามคืน รีบแก้ไข ปฏิปทาอันน่าสรรเสริญของท่านอาจารย์ชาวกัมพูชา ได้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของหลวงพ่อตลอดมา การปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อที่วัดเขาวงกฏ ท่านพยายามแสวงหาอุบายหลายอย่าง เพื่อหาหลักการภาวนาที่ถูกกับจริตของตน

       วันหนึ่งหลวงพ่อรำลึกถึงครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดก่อนอก เคยเห็นพระบางรูปมีลูกประคำห้อยคอ สำหรับใช้บริกรรมภาวนา จึงคิดอยากจะได้มาทดลองใช้ดูบ้าง แต่ยังไม่รู้จะไปหาที่ไหน มองไปเห็นลูกตะแบกกลมๆอยู่บนต้น พอจะใช้แทนกันได้ ครั้นจะปีนขึ้นไปปลิดเอาลงมาเองก็เป็นการผิดวินัยจึงได้แต่เพียงคิด ต่อมาไม่กี่วันลิงฝูงหนึ่ง พากันมาหักกิ่งรูดลูกตะแบกเล่นหล่นลงมามากมาย ท่านจึงเก็บมาคิดจะร้อยเป็นพวง แต่ไม่มีด้ายจะร้อย จึงใช้วิธีถือในมือ เมื่อบริกรรมภาวนาจบบทหนึ่ง ก็หย่อนลูกตะแบกลงกระป๋องทีละลูก จนครบร้อยแปดครั้ง ทำอยู่เช่นนั้นสามวันรู้สึกไม่ถูกจริตตนนัก จึงหยุดทำพร้อมนึกขำตัวเองอยู่ในใจว่า "เรานี่เหมือนพ่อค้านับลูกหมากขาย"

       การบวชเรียนตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ซึ่งเป็นวัยที่สภาพร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมต่อพฤติกรรมทางธรรมชาติบางอย่าง ดังนั้น การเผชิญหน้ากับสัญชาติญาณอันรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่ภิกษุทุกรูปจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอุบายและปัญญาของแต่ละคนว่า จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนั้นได้อย่างไร ในพรรษาที่ 8 ที่วัดเขาวงกฏนี้ หลวงพ่อได้ทดลองค้นหาวิธีเอาชนะกามราคะหลายวิถีทาง

ดังท่านเล่าว่า "พรรษานั้นผมไม่มองดูหน้าผู้หญิงเลย พูดก็พูดด้วย แต่ไม่ดูหน้า แต่ในใจนะ มันอยากจะดูแทบตาย..."

"ไม่ มองหน้าผู้หญิงตลอดพรรษา คิดว่ากิเลสมันคงจะโทรมไปแล้ว ออกพรรษาไปบิณฑบาตที่ลพบุรี ก็ทดลองดูหน้าเขา โอ้ย.. เกือบตาย แข้งขาอ่อนหมด เห็นเครื่องแต่งตัว เห็นอะไรวูบวาบไปหมด แหม.. นึกว่าเมื่อไรหนอ มันจะหมดกิเลส ท้อใจเลยนะ"

"...การปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่การหลบ มันต้องสู้ ต้องพิจารณาหรือภาวนาให้รู้เรื่องตามความเป็นจริง แต่ครั้งแรกก็ต้องห่างไว้ก่อน และต้องสำรวมมากๆ"

นอกจากนั้น หลวงพ่อยังเล่าถึงความรู้สึกของท่าน ที่ถูกกิเลสมารหลอกล่อจนเกือบถลำเข้าบ่วงของมันว่า...
"สมัย ผมออกปฏิบัติใหม่ๆ พรรษายังไม่มาก พอปฏิบัติไปมันก็คิดห่วงโลก อยากจะกลับไปอีกนั่นแหละ จะไปสร้างโลกสักพักหนึ่งคงดีมั้ง มันจะได้รู้เรื่องอะไรดี พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีราหุล นะ..."


"ก็นั่ง ภาวนาไปเรื่อยๆ เลยเกิดความรู้ขึ้นมาว่า คิดอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่เรานี้คงจะไม่เหมือนพระพุทธเจ้าละมั้ง ถ้าออกไปแล้วน่ากลัวจะจมลงไปในโคลนเลย.. นี่ ความคิดมันต่อต้านกันเรื่อยมา ตั้งแต่หกเจ็ดพรรษาถึงยี่สิบพรรษานี่ โอ้ย ! มันรบกันขนาดหนัก"

การพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อได้ศึกษาคำสอนและข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของหลวงพ่อเภา รวมทั้งได้ศึกษาพระธรรมวินัยจากหนังสือวิสุทธิมรรค และบุพสิกขาวรรณนา และได้รับคำแนะนำด้วยน้ำใจจากภิกษุชาวกัมพูชา ตลอดจนใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ เป็นหลักในการปฏิบัติ และในพรรษานั้น หลวงพ่อยังได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณกับตนเองว่า สิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์และไม่ถูกต้องตามพระวินัย จะไม่เกี่ยวข้องและไม่ล่วงละเมิดเป็นอันขาด ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า...
"บำเพ็ญ จิตของตนอยู่เรื่อยไปไม่ได้สงสัย ในอาบัติทั้งหลายทั้งปวง ขนาดที่ว่าจิตของเรามันละอายแล้ว ไม่กล้าทำความผิดแล้ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่ตัวเล็กๆ มดตัวหนึ่ง... ปลวกตัวหนึ่ง... ถ้าจะเอามือไปบี้มัน หรือหากจะให้ฆ่าโดยเจตนา ถึงจะให้ตัวหนึ่งราคาหลายๆหมื่น ก็ฆ่าไม่ได้"


       และเมื่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว แม้ความเป็นอยู่ในสมัยแรกจะอัตคัตขัดสนมากเพียงใด หลวงพ่อมิเคยออกปากขอต่อผู้ใด (พระขอของจากคนมิใช่ญาติ มิใช่ปวารณาเป็นการผิดวินัย) รวมทั้งการปลูกสร้างเสนาสนะต่างๆ เช่น ศาลา โบสถ์ กุฏิ และอื่นๆ ก็ไม่กระทำในรูปแบบของการเรี่ยไร หรือตั้งตู้รับบริจาค คงปล่อยให้เป็นไปตามมีตามได้ ท่านจะเน้นความบริสุทธิ์ในความเป็นอยู่มากที่สุด






Free TextEditor



Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 14:57:47 น.
Counter : 2182 Pageviews.

0 comment
ชีวประวัติหลวงปู่ชา (ตอน คำขอร้องของบิดา)
ตอนที่5. คำขอร้องของบิดา

       นับตั้งแต่ลูกชายอุปสมบทแล้ว พ่อมาภูมิใจในตัวพระลูกชายยิ่งนัก ด้วยสังเกตุเห็นว่ามีความเอาใจใส่ต่อการบวชเรียนอย่างจริงจัง ทุกครั้งที่หลวงพ่อมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน พ่อมามักกล่าวย้ำเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า "อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้ดีแล้ว โลกภายนอกมันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้"

และในครั้งสุดท้ายของการพบกันระหว่างพ่อลูก พ่อมาซึ่งนอนป่วยมานานวัน จนร่างกายผ่ายผอมสิ้นเรี่ยวแรง กระทั่งไม่อาจช่วยตัวเองได้ แต่ด้วยความรักลูกสุดใจ อยากให้ลูกเลือกทางเดินสงบ จึงพยายามพูดขอร้องอีกเป็นครั้งสุดท้าย


หลวงพ่อได้ให้คำตอบที่พ่อมาปรารถนาจะได้ยินว่า "ไม่สึกหรอก.. จะสึกไปทำไมกัน"

นอกเหนือจากความกังวลว่าพระลูกชายจะลาสิกขาแล้ว พ่อมายังห่วงเรื่องการเล่าเรียนนักธรรมของบุตรด้วย เมื่อทราบว่าอีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดสอบ จึงกล่าวเตือนให้พระลูกชายกลับวัดเสีย ไม่ต้องเป็นห่วงตน

       หลวงพ่อพิจารณาอาการป่วยของโยมพ่อแล้ว ก็ปลงใจว่าจะขออยู่ดูใจของผู้มีพระคุณ เพื่อทำหน้าที่ของบุตรจนสุดความสามารถ ต่อมาไม่กี่วันพ่อมาก็ถึงแก่กรรม ละทิ้งสรรพสิ่งไว้เบื้องหลัง คงเหลือแต่พระคุณที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของลูกๆ ตลอดกาล

   ระหว่างที่เฝ้าพยาบาลโยมพ่อที่ป่วยหนักกระทั่งถึงแก่กรรม หลวงพ่อก็ได้พิจารณาถึงสภาวธรรมไปด้วย เกิดความสลดใจในความแปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายของชีวิต อันเป็นสมบัติสากลที่โลกแบ่งปันให้แก่ทุกคนอย่างเที่ยงธรรม จะยากดีมีจน ก็ล้วนแต่กระเสือกกระสนไปจนมุมที่ความตาย เมื่องานบำเพ็ญกุศลให้แก่โยมบิดาเสร็จสิ้นลง หลวงพ่อเดินทางกลับวัดบ้านหนองหลัก เพื่อศึกษาปริยัติธรรมต่ออีกครั้งหนึ่ง บางวันหลังเวลาเรียน เมื่ออยู่คนเดียวหลวงพ่อมักรำลึกถึงภาพโยมพ่อที่นอนป่วย แล้วสิ้นใจไปต่อหน้า จิตใจจึงเกิดความสลดสังเวช ต่อความเป็นไปของผู้คนยิ่งนัก

      ระหว่างพรรษาปี พ.ศ. 2487 หลวงพ่อแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม จึงได้ศึกษาพุทธประวัติและพุทธสาวกโดยละเอียด หลวงพ่อได้แง่คิดว่า ระหว่างการประพฤติปฏิบัติของตนกับภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้น ช่างห่างไกลกันลิบลับ เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย จิตใจเริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา คิดว่านี่คงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ทำให้เกิดความสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น จึงหยุดการเล่าเรียนแล้วกลับมาวัดก่อนอก

       ต่อมาได้ทราบข่าวว่า มีอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่ที่วัดปีเหล่อ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ศึกษาแนวทางอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาที่วัดก่อนอกอีกครั้ง พรรษานั้นหลวงพ่อมีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ ด้วยการแบ่งเบาภาระด้านการสอนปริยัติธรรม และท่านสอบได้นักธรรมเอกในปีนั้น พอออกพรรษา ท่านตัดสินใจหยุดการเรียนการสอนด้านปริยัติธรรม แล้วจัดเตรียมบริขารสำหรับจาริกธุดงค์ เพื่อออกแสวงหาครูอาจารย์ด้านการปฏิบัติธรรมต่อไป




Free TextEditor



Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 14:59:08 น.
Counter : 338 Pageviews.

0 comment
ชีวประวัติหลวงปู่ชา (ตอน ภาษิตอีสาน)




ตอนที่4. ภาษิตอีสาน


"บ่ ออกจากบ้าน... บ่ฮู้ห่อนทางเทียว... บ่เฮียนวิชา... ห่อนสิมีความฮู้"
(ไม่ออกจากบ้าน...ไฉนจะรู้ทางไปมา...ไม่เรียนวิชา... ไฉนจะมีความรู้)

ภาษิตอีสานบทนี้กระตุ้นเตือนเจตนาอันแรงกล้าของหลวงพ่ออยู่เสมอ
เมื่อท่านกำหนดวิถีชีวิตลงในเพศบรรพชิตแล้ว จึงคิดสร้างรากฐานให้แก่ตนเอง ด้วยการศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้แจ้งเสียก่อน

       ครั้นได้พิจารณาเห็นว่า ครูบาอาจารย์ในท้องถิ่นที่แตกฉานและชำนาญในการสอนปริยัติไม่ค่อยมี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2484 หลวงพ่อจึงตัดสินใจไปแสวงหาความรู้ในต่างถิ่น สำนักแรกที่เข้าพำนัก คือ วัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แต่เนื่องจากวัดนี้ยังไม่มีสำนักเรียน หลวงพ่อจึงต้องใช้วิธีเดินไปเรียนที่วัดโพธิ์ตาก ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักแล้วกลับมาพักที่วัดสวนสวรรค์
วัดสวนสวรรค์ในสมัยนั้น มีกุฏิสองหลังและศาลาโรงธรรมหนึ่งหลัง มีภิกษุ สามเณร และศิษย์วัด พักเต็มไปหมด ประกอบกับขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามเอเชียมหาบูรพา บางครั้งมีพวกทหารเข้ามาขอพักอาศัยด้วย บรรยากาศของวัดจึงไม่สงบเท่าที่ควร และอาหารขบฉันรวมทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ขาดแคลนมาก แต่หลวงพ่อก็อดทน ตั้งใจเล่าเรียนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 พรรษา

       ปี พ.ศ. 2485 หลวงพ่อจึงได้เดินทางไปสำนักเรียนวัดหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ เป็นเจ้าอาวาส แต่ระยะนั้นเป็นฤดูแล้ง อาหารการขบฉันฝืดเคือง เพื่อนที่ไปด้วยออกความเห็นว่า อยากไปอยู่สำนักอื่น หลวงพ่อไม่อยากขัดใจสหธรรมิก จึงตกลงเห็นด้วย ทั้งที่มีความรู้สึกชอบอัธยาศัยและสนใจในอุบายการสอนของครูอาจารย์ที่วัดหนองหลักมาก

ในปีนั้นจึงจำพรรษาและศึกษานักธรรมชั้นโท รวมทั้งบาลีไวยากรณ์ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) โดยมีพระมหาแจ้ง เป็นครูสอน ในปีนั้นสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

       ปี พ.ศ. 2486 ได้กลับไปวัดบ้านหนองหลักตามที่ตั้งใจไว้ ในพรรษานี้หลวงพ่อพากเพียรทุ่มเทจิตใจให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะได้พบครูบาอาจารย์ที่มากด้วยความสามารถ บรรยากาศในวัดก็เหมาะต่อการพำนักอาศัย พรรษานั้นได้เรียนทั้งนักธรรมเอกและบาลีไวยากรณ์ ได้รับสาระประโยชน์จากสำนักเรียนนี้มาก หลังออกพรรษาและกรานกฐินผ่านไป หลวงพ่อได้รับข่าวจากทางบ้านว่า โยมพ่อป่วยหนัก จึงเกิดความพะว้าพะวง ห่วงทั้งพ่อและการศึกษา แต่เกิดความคิดว่า โยมพ่อนั้นเป็นผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง ควรที่เราจะตอบแทนพระคุณท่านตามฐานะที่จะพึงกระทำได้ ส่วนเรื่องการเรียน หากเราไม่ตายเสียก่อนคงมีโอกาสได้ร่ำเรียนอีกตามที่เราปรารถนา ในที่สุดหลวงพ่อจึงตัดสินใจหยุดพักการเรียนและการสอบนักธรรมไว้ แล้วรีบเดินทางกลับบ้านเพื่อดูแลและช่วยพยาบาลโยมพ่อ

       เมื่อมาถึงบ้าน ได้พบเรือนร่างร่วงโรยซีดเซียวของโยมพ่อ นอนแน่นิ่งหายใจรวยรินอยู่บนที่นอน แม้ญาติมิตรและหมอจะเยียวยารักษาอย่างไร อาการป่วยไข้ของพ่อมาก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทีท่าว่าร่างกายที่ถูกบีบคั้นด้วยความชราและพยาธินั้นจะคืนสู่ธรรมชาติเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ โดยส่วนเดียว






Free TextEditor



Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 14:58:49 น.
Counter : 507 Pageviews.

0 comment
ชีวประวัติหลวงปู่ชา (ตอน ใต้ร่มโพธิญาณ)




ตอนที่3. ใต้ร่มโพธิญาณ

หลังจากใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี วันหนึ่งในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2482 ขณะนั้นนายชา อายุ 21 ปี ได้ตัดสินใจบอกความในใจของตนต่อบุพการี พ่อมาและแม่พิมพ์ ต่างปลาบปลื้มยินดีในเจตจำนงของบุตรชายที่ประสงค์จะออกบวช เพราะชาวพุทธมีคติว่า การบวชพระให้ลูกชายเป็นบุญกุศลอันประเสริฐยิ่ง จึงบอกข่าวแก่ญาติมิตรบ้านใกล้เรือนเคียง มาร่วมตระเตรียมงานบวชบุตรชายของตน พร้อมทั้งนำนายชาไปฝากเป็นนาคฝึกหัดและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของพระที่วัดก่อนอก

ตะวันบ่าย 13.55 นาฬิกา ของวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 นายชาได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุชา มีฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี) โดยมีท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดก่อนอกสองพรรษา

หลวงพ่อเคยพูดถึงความรู้สึกของท่านตอนบวชใหม่ๆ เพื่อให้เป็นคติแก่บรรดาสานุศิษย์ว่า

"เราบวชมาก็ไม่ได้ปรารถนาว่าจะมาอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นครูอาจารย์ใคร ไม่ได้นึกจะหนีจากวัฏสงสารอันนี้ ก็บวชธรรมดาไปอย่างนั้นแหละ แต่พอบวชเข้ามาแล้ว ได้เรียน ได้ปฏิบัติ ก็เกิดศรัทธาขึ้น ครั้งแรกก็เกิดวิตกถึงความเป็นอยู่ของสัตว์โลกทั้งหลาย น่าสลดสังเวช... คนเราเกิดมาแล้วประเดี๋ยวก็ตายไปทั้งนั้น ทิ้งบ้าน ทิ้งข้าวของให้ลูกหลานแย่งกันทะเลาะกัน เมื่อเราเห็นแล้วก็เข้าถึงจิตใจเรา เกิดสลดสังเวชในความเป็นอยู่ ทั้งของคนจน คนรวย ทั้งคนโง่ คนฉลาด อยู่ในโลกก็เป็นอย่างนี้ ธรรมะหรือความรู้สึกนี้เต็มอยู่ในใจของเรา ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง เมื่อจิตมันตื่นขึ้นมาแล้ว อะไรก็ตื่นตาม พบสิ่งต่างๆ ก็ตื่นอยู่เสมอ เราสำนึกอยู่เสมอว่า เราได้รู้จักธรรมะ เรียกว่ามันสว่างขึ้นแล้ว ทำให้มองเห็นอะไรหลายๆอย่าง เวลานั้นก็มีธรรมะ มีปิติอิ่มใจ และเมื่อยิ่งศึกษาไป ปฏิบัติไป ก็ยิ่งมีศรัทธา ยิ่งอิ่มใจยิ่งสงบ และมีปัญหามากขึ้นทุกที...
พอออกพรรษา พระเณรที่บวชพร้อมๆกันก็พากันสึก เรามองเห็นว่า เอ.. ไอ้พวกนี้ มันยังไงกันหนอ แต่ก็ไม่ได้พูดกับเขา เพราะยังไม่ไว้ใจความรู้สึกของตัวเอง พวกที่จะสึกพากันตื่นเต้น บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่ เราเห็นว่าพวกนี้ บ้าหมดแล้ว แต่เขาว่ามันดี มันสวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้...
ตอนนั้นภายในใจเราคิดว่า นี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่าย พวกนี้บุญน้อยเห็นทางโลกมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ เราก็เห็นไป แต่ไม่พูด ได้แต่มองจิตของตัวเอง ไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขาฟังว่า คิดอย่างนั้นมันผิด ไม่กล้าพูดเพราะว่าตัวเราก็ยังเป็นของไม่แน่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าศรัทธาของเราจะยั่งยืนยาวไปถึงขนาดไหน พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่ด้วย ก็เอาหนังสือปาฏิโมกข์มาท่องสบาย ไม่มีใครมาล้อเลียน ก็ตั้งใจว่าจะพยายามปฏิบัติให้มีความนึกคิดเห็นโทษเห็นภัยของโลกอยู่เสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้เปลี่ยนศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมออย่างนี้...
แต่การบวชไม่ใช่ทุกข์นะ ยิ่งพรรษาหนึ่งพรรษาสอง หรือเป็นพระหนุ่มเณรน้อยนี่ยิ่งทุกข์มาก ผมนี่มันเคยทุกข์มามาก ทุกข์กับอาหารการกิน นี่ก็ยิ่งทุกข์ อยากกินตำส้มมะละกอ อยากกินนั่นกินนี่ อยากกินทุกอย่างนั่นแหละ น้ำลายนี่ไหลยืดเลย คนกำลังกินกำลังนอน กำลังสนุก เอามายึด มาขังเอาไว้ มันก็ทุกข์มาก เหมือนกับน้ำกำลังไหลไปขวางเอาไว้ ยิ่งไปกันใหญ่ เอาได้ก็ดี เอาไว้ไม่ได้ก็พัง
บวชปีแรกไม่คอยได้อะไร มีแต่อยากกินนั่นกินนี่ วุ่นวายไปหมดแย่เหลือเกิน บางครั้งนั่งคิดอยู่เหมือนกับได้กินกล้วยจริงๆ รู้สึกเหมือนได้หักกล้วยเข้าปากอยู่อย่างนั้น.. มันเป็นของมันเอง แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ เรื่องเหล่านี้คือเรื่องของการปฏิบัติทั้งนั้น ยิ่งยากยิ่งลำบาก นั่นแหละดี สิ่งไหนไม่ยากไปทำมันทำไม ใครๆก็ทำได้หรอก.. สิ่งที่ยากๆ คือการปฏิบัตินี่ต้องทำให้มันได้...
บางคนมาพูดว่า ถ้าออกบวชตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ได้สร้างครอบครัวเหมือนหลวงพ่อคงปฏิบัติง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ว่าไปนั่น คนพูดอย่างนี้ อย่ามาพูดอยู่ใกล้ๆ นะเดี๋ยวโดนไม้ตะพดหรอก.. แหม พูดยังกับว่าเราไม่มีหัวใจ เรื่องการปฏิบัติฝืนจิตใจตน ไม่ใช่เรื่องย่อยๆนะ มันเรื่องของชีวิตทั้งชีวิตนั่นแหละ..."


การจำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก หลวงพ่อได้ศึกษาปริยัติธรรม และสอบนักธรรมตรีได้ในปีนั้น การเล่าเรียนทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งศรัทธาในพุทธประวัติและพระธรรมคำสอนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ท่านตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า จะมอบชีวิตไว้ใต้ร่มโพธิญาณ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกก่อนจะตัดสินใจอย่างนี้ว่า
"ก่อนที่ผมจะปฏิบัติ ผมมีความคิดว่าศาสนาตั้งอยู่ในโลกทำไม ?
บางคนทำตาม บางคนไม่ทำ บางคนทำแบบนิดๆหน่อยๆแล้วเลิก หรือผู้ไม่เลิกก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ นี่เป็นเพราะอะไร ก็ความไม่รู้นั่นเอง ผมจึงอธิษฐานในใจว่า เอาละชาตินี้ เราจะมอบกายใจอันนี้ให้มันตายไปชาติหนึ่ง แล้วจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้แจ้งในชาตินี้ แม้ว่าจะทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็ต้องทำ.. ไม่เช่นนั้นก็จะสงสัยอยู่เรื่อยไป ทำไมมันยุ่งยากนัก วัฏสงสารนี้..."






Free TextEditor



Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 14:59:30 น.
Counter : 447 Pageviews.

0 comment
ชีวประวัติหลวงปู่ชา (ตอน บทเรียนชีวิต)
ตอนที่2. บทเรียนชีวิต

       เมื่อลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน นายชาผู้ผ่านการบวชเรียนมาสามปี เกิดความซาบซึ้งในพระคุณบิดามารดามากยิ่งขึ้น สิ่งใดจะนำความสุขกายสบายใจมาให้ท่านทั้งสอง ก็พยายามกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกในส่วนลึกของจิตใจได้ปรากฏขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ว่าชีวิตแบบชาวบ้านนี้ไร้แก่นสาร

ท่านเล่าความรู้สึกนั้น ให้ศิษย์ฟังในภายหลังว่า
"...ตอนนั้นอายุประมาณสิบห้าสิบหกปี เบื่อ.. ไม่อยากอยู่กับครอบครัว คิดอยากจะไปอยู่คนเดียวเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมถึงคิดอย่างนั้น เป็นอยู่หลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไร มันอยากไปไหนๆคนเดียว เป็นอย่างนั้นอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็มาบวช อันนี้มันเป็นนิสัยหรือบารมี แต่เราไม่รู้จักมัน แต่ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ตลอดมา..."


       แต่เหมือนโลกต้องการฝากบทเรียนชีวิตให้แก่ผู้จะสละโลกเสียก่อน นายชาจึงยังไม่มีโอกาสทำตามความรู้สึกในส่วนลึกของจิตใจได้ นายชามีเพื่อนรักคนหนึ่ง ชื่อ นายพุฒ ทุมมากรณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทสนมเคยเล่นกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อทั้งสองแตกเนื้อหนุ่ม การละเล่นอย่างเด็กๆ ก็จืดจางไร้รสชาติ จึงพากันแสวงหาของเล่นแบบใหม่ที่เหมาะกับวัยของตน

       การมีคนรักเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นและท้าทายสำหรับวัยรุ่น แต่มันก็อาจเป็นที่มาของความล้มเหลว หรือความรุ่งโรจน์ของชีวิตในขณะเดียวกันได้ ในที่สุดนายชาได้เกิดสัมพันธ์รักกับนางสาวจ่าย ซึ่งเป็นลูกติดแม่เลี้ยงของนายพุฒเพื่อนรักนั่นเอง ความรักของหญิงชายคู่นี้ ญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงไม่มีใครรังเกียจ เพราะเห็นว่านายชาเป็นคนดีมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งนิสัยใจคอและฐานะทาง ครอบครัว พ่อแม่ของหญิงสาวถึงกับกีดกันหนุ่มอื่นไม่ให้มีโอกาสย่างกรายผ่านขึ้นมาบน เรือนเลยทีเดียว เวลานั้นนายชาอายุได้ 19 ปี ส่วนหญิงสาวอายุ 17 ปี ทั้งสองได้สัญญาต่อกันว่า จะรอจนกว่านายชาผ่านการเกณฑ์ทหาร แล้วบวชทดแทนคุณพ่อแม่สักหนึ่งพรรษา เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะแต่งงานกันทันที

       ย่างเข้าฤดูฝน ชาวนาต่างตระเตรียมคราด ไถ และวัวควาย รอการปักดำ นายชาก็ง่วนอยู่กับการงานที่กระท่อมกลางนา โดยหารู้ไม่ว่าความผิดหวังบทเรียนเรื่องอนิจจัง กำลังจะเกิดขึ้นกับตน

"ให้มันแต่งกับไอ้พุฒ ลูกชายของเรานี่แหละ" พ่อของนายพุฒปรารภเรื่องการแต่งงานของนางสาวจ่ายกับภรรยาตน เพราะเห็นว่านายชากับนางสาวจ่ายถึงจะเหมาะสม กันก็จริง แต่ต้องรอกันอีกหลายปี ดีไม่ดีนายชาอาจเปลี่ยนใจ ลูกของตนจะมีแต่ทางเสีย และยังมีความเห็นในแง่เศรษฐศาสตร์อีกว่า "เรือล่มในหนองทองจะไปไหน"

       ข่าวการแต่งงานของนายพุฒกับนางสาวจ่าย แพร่กระจายไปทั่วหมู่บ้าน กระทั่งไปไกลถึงกระท่อมกลางนา นายชารู้สึกเสียใจมาก แต่ในที่สุดก็ทำใจได้ไม่โกรธแค้นเขาทั้งสอง เพราะรู้ว่าเขาจำเป็นต้องทำตามความปรารถนาของพ่อแม่ ความผิดหวังครั้งนี้ จึงกลับกลายเป็นบทเรียนเรื่องอนิจจังบทแรกให้แก่ท่าน นายชายังคงรักษาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่ดีกับนายพุฒเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สำหรับแม่จ่ายนั้นนายชายังตัดห่วงหาอาลัยไม่ขาด

หลวงพ่อเคยเล่าว่า ต้องระวังใจตัวเองมาก แม้บวชเป็นพระแล้ว ถ้าเห็นแม่จ่ายเดินมาต้องรีบหลบเข้าป่าทันที เจ็ดปีแรกที่บวชท่านยอมรับว่า ยังสลัดความอาลัยในสาวจ่ายออกไม่ได้ กระทั่งออกธุดงค์เจริญกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ความรู้สึกนั้นจึงค่อยคลายหายไป

เมื่อหลวงพ่ออบรมพระเณรเรื่องกาม ท่านมักพูดถึงพ่อพุฒในฐานะเป็นผู้มีบุญคุณต่อท่านว่า "ถ้าเขาไม่แต่งงานกับแม่จ่าย เราก็คงไม่ได้บวช" หลังจากได้รับบทเรียนแห่งอนิจจังบทแรก ความรู้สึกที่มีต่อโลกในแง่เบื่อหน่ายก็ยิ่งปรากฏขึ้นชัดเจน ทำให้เริ่มมองเห็นความไม่เที่ยงแท้และแน่นอนในชีวิต เกิดความระมัดระวังในเรื่องความรักหรือเพศตรงข้ามมากขึ้น


       สมัยที่บวชเณร นายชาสนิทสนมกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระ แม้เมื่อลาสิกขาแล้วทั้งสองยังคงไปมาหาสู่กัน ด้วยความรักและนับถือเสมือนพี่น้อง ต่อมาเพื่อนคนนั้นป่วยหนักและถึงแก่กรรม นายชาได้ไปช่วยงานศพตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งงานลุล่วงไป และด้วยความคุ้นเคยกับ ครอบครัวนี้ จึงเกิดความเป็นห่วงว่า ภรรยาและลูกๆ ของผู้ตายจะรู้สึกว้าเหว่ จึงพักค้างคืนอยู่เป็นเพื่อน เพื่อให้กำลังใจแก่กันก่อน คืนแรกผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอคืนที่สอง ตกดึกภรรยาของผู้ตายได้เข้ามานอนแอบอิงอยู่แนบข้าง พร้อมทั้งจับมือเพื่อนสามีมาลูบไล้เรือนร่างตน แต่นายชาก็หาได้ตอบสนองตามความต้องการของนางไม่ กลับแสร้งทำเป็นหลับ ไม่รับรู้อะไร เมื่อนางไม่อาจทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ จึงลุกหนีไปด้วยความอับอาย คืนนั้นนายชาได้เอาชนะกามราคะเป็นครั้งแรกในชีวิต ชนะด้วยความอดทน ด้วยจิตสำนึกในความถูกต้องดีงามและละอายต่อบาป




Free TextEditor



Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 6 สิงหาคม 2555 14:59:37 น.
Counter : 317 Pageviews.

1 comment
1  2  

yingu
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



เมื่อเห็นให้สักแต่ว่าเห็น
เมื่อฟังให้สักแต่ว่าฟัง
เมื่อทราบให้สักแต่ว่าทราบ
เมื่อรู้ให้สักแต่ว่ารู้ โดยไม่ปรุงแต่ง
เมื่อใดเธอทำได้อย่างนี้
เมื่อนั้นเธอก็จักไม่มี
คือ ว่างอย่างยิ่งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า..