Group Blog
All Blog
--- จ ด ห ม า ย ถึ ง ก น ก พ ง ศ์ : ขจรฤทธิ์ รักษา ---


















คำ นิ ย ม ฉ บั บ เ ต็ ม
โดยชีวี ชีวา(จตุพล บุญพรัด)

::
::

เขียนที่บ้านสวีทโฮมฯ ไทรน้อย
ขจรฤทธิ์ ที่รัก

คุณส่งจดหมายจำนวน 118 ฉบับกับโปสการ์ดอีก 16 ใบที่คุณเขียนถึงกนกพงศ์ระหว่างปี 2544-2549 มาให้ผมอ่านทางอีเมล

คุณไม่ยอมแม้แต่จะซื้อซองติดแสตมป์ส่งไปรษณีย์ไปถึงผม เหมือนที่คุณส่งไปถึงกนกพงศ์ ที่หุบเขาฝนโปรยไพร
จะอย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณและได้พริ้นต์ออกอ่านแล้วในระหว่างท้ายปีเก่า 2559 ถึงต้นปีใหม่ 2560

สาบานว่าผมไม่เคยอ่านจดหมายใครข้ามปีเช่นนี้มาก่อน ทั้งระหว่างที่อ่านก็อดใจหายขึ้นมาอีกไม่ได้ เมื่อนึกได้ว่า กนกพงศ์นั้นเสียชีวิตจากเราไปเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2549
นี่ก็ย่างเข้าปีที่สิบเอ็ดแล้วสินะที่เขาจากไป

ว่าแต่เขาจากไปแต่ตัวเท่านั้น

กนกพงศ์ฝากผลงานวรรณกรรมเอาไว้แก่พวกเราไม่เพียงเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย ความเรียง แต่ยังมีจดหมาย
จดหมาย รูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมอันเก่าแก่ คลาสสิคที่สุดที่มนุษย์เราจะเขียนสื่อสารถึงกันได้ แม้สังคมยุคใหม่ทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีใครเขียนจดหมายถึงกันแล้วก็ตาม

กนกพงศ์เขียนจดหมายถึงใครต่อใครไว้มากมายหลายร้อยฉบับกับผมก็เขียนถึงอยู่บ้างแต่น้อย มากที่สุดก็คือคุณ เขาเขียนถึงคุณยิ่งเสียกว่านักเขียนหนุ่มเขียนถึงนักเขียนหนุ่ม ยิ่งกว่าคนรักเขียนถึงคนรัก ยิ่งเสียกว่าบรรณาธิการเขียนถึงนักเขียน

กนกพงศ์เป็นเพื่อนที่รักและผูกพันกับคุณมาก

เขาเขียนจดหมายถึงคุณราวกับจะรู้ล่วงหน้าว่า เมื่อเขาจะต้องจากไปเพราะกรำงานหนักสุด ๆ ในวัยสี่สิบต้น ๆ นั้น
เขารู้ว่าเป็นคุณ-ขจรฤทธิ์นี่แหละ ไม่ใช่ผมชีวี ไม่ใช่อาจารย์เจนพี่ชาย ที่จะเป็นฝ่ายรวบรวมจดหมายของเขาขึ้นจัดพิมพ์เผยแพร่แก่ผู้อ่าน

ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะคุณได้จัดพิมพ์จดหมายของเขาออกมาก่อนหน้านี้สองเล่ม คือจดหมายจากนักเขียนหนุ่ม ในปี 2551 และจดหมายถึงเพื่อนในปี 2554

เฉพาะเล่มแรก นอกจากเขียนถึงคุณ เขาเขียนถึงไพวรินทร์ ขาวงาม, ขวัญยืน ลูกจันทร์, จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์, วันเสาร์ เชิงศรี, ดิเรก นนทชิต และนก ปักษนาวิน

จดหมายสองเล่มของกนกพงศ์ที่ว่านั้น เชื่อว่าบัดนี้ผู้อ่านคงได้อ่านกันแพร่หลายทั่วถึง ผมเองอ่านเมื่อพิมพ์เสร็จออกมาใหม่ ๆ และครั้นเมื่อย้อนไปอ่านอีกทีไร ก็ยังตื่นเต้นเมื่อนั้น
เหมือนว่ากนกพงศ์ยังอยู่กับเรา ยังมีชีวิต ยังมีลมหายใจ เขาคิดเขาเขียน เขาอ่าน เขาใช้ชีวิต เขาทุ่มเทจริงจัง ทั้งเผยธาตุแท้ตัวตน เผยเบื้องหน้าเบื้องหลังงานเขียน เขาให้พื้นที่ความรัก ให้โอกาสคนอื่น โดยที่เขาก็ยึดมั่นในอุดมคติแห่งวรรณกรรมไว้สูงสุด

จึงเป็นการดีที่สุดแล้ว ที่คุณได้รวบรวมจดหมายของเขาขึ้นจัดพิมพ์ เพราะไม่เพียงทำให้จดหมายส่วนตัวระหว่างเขากับคุณไม่เป็นความลับอีกต่อไป แต่เรื่องราวในจดหมายเหล่านั้นได้ให้ประโยชน์ เป็นบทเรียน และเป็นแรงบันดาลใจ

ผมเพียงสงสัยอยู่หน่อยหนึ่งว่า ในการพิมพ์จดหมายเมื่อคราว หรือในครั้งนี้ คุณไม่ได้ใช้วิธีรวบจดหมายโต้ตอบฉบับต่อฉบับเข้าไว้ด้วยกัน

คุณใช้วิธีพิมพ์จดหมายของกนกพงศ์ออกมาก่อน แล้วทิ้งช่วงตามตอบด้วยจดหมายของคุณภายหลัง เป็นเพราะอะไรหรือ
แค่สงสัยนะครับ คุณไม่จำเป็นต้องตอบ แต่ถ้าให้เดาผมคิดว่าคุณอาจเบื่อวิธีพิมพ์จดหมายแบบเก่าที่คุณและผมคงจะเคยอ่านมาบ้าง

ตัวอย่างเช่นในเล่มจดหมายโต้ตอบ ระหว่างเสฐียรโกเศศ กับ ส. ศิวรักษ์ ที่ฝ่ายแรกเปรียบเหมือนปราชญ์ผู้ใหญ่ เป็นเหมือนครูให้กับฝ่ายหลัง ที่เสนอตัวเข้าเป็นศิษย์

อีกเล่มคือ เล่มที่ยาขอบเขียนจดหมายถึงพนิดา (เด็กสาวผู้ปรารถนาจะก้าวเดินขึ้นมาบนถนนสายนักประพันธ์) แล้วพนิดาเขียนตอบยาขอบ ใช้ชื่อเล่มเมื่อพิมพ์ไว้ว่า “จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ”

งานต่างประเทศก็มี มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว เช่นที่ คาลิล ยิบรานกวีหนุ่มชาวเลบานอล เมื่อครั้งที่เขาพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาเขียนจดหมายโต้ตอบแมรี แฮเกล ไว้ในเล่ม “รักเร้นลับ” ของคาลิล ยิบราน

เหล่านี้ นับเป็นการรวบแบบจดหมายโต้ตอบ แต่คุณคงเห็นว่าไม่เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งอาจคิดว่า การแยกรวมไว้คนละครั้งคราวนั้นก็ดีแล้ว เพราะเป็นการเปิดช่องว่างทางเวลา เปิดช่องไฟทางจินตนาการให้กับผู้อ่าน

หรือคุณอาจคิดอีกก็ได้ว่า จดหมายของคุณ จดหมายของกนกพงศ์นั้นมีความเป็นเอกเทศสูง ทั้งยังมีคุณลักษณะของความเป็นเรื่องแต่งอยู่ไม่น้อย

คือถ้าผมแกล้งปิดตา แล้วตัดคำว่าเรื่องจริงในจดหมายออกไปทั้งหมด มันอาจจะเหลือแต่เรื่องแต่งทั้งดุ้นก็เป็นได้
คือเป็นเรื่องที่คุณทั้งสองแต่ง-ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้น แล้วชวนให้เชื่อว่า จดหมายของคุณเป็นเรื่องแต่งที่สมจริงที่สุด

น่าคิดไหม จดหมาย เรื่องจริง เรื่องแต่ง และเรื่องที่แต่งด้วยรูปแบบจดหมาย นับเป็นวรรณกรรมที่ง่ายงาม ตัวละครสื่อสารถึงกันด้วยการเขียน บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ดังเช่นจดหมายในวรรณกรรมที่ผมและคุณ หรือใคร ๆ คงจะเคยอ่านกันมา และถ้าจะให้อ่านอีกก็ยังจะอ่านได้อยู่

เช่น เรื่อง จดหมายจางวางหร่ำ ของ น.ม.ส. สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา นิกกับพิม ของ ว. ณ ประมวญมารค เรื่องของน้ำพุ ของ สุวรรณี สุคนธา จดหมายจากเมืองไทย ของ โบตั๋น และจดหมายถึงเพื่อน ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ฯลฯ
ครับ ขจรฤทธิ์ ผมออกจะลากมายาว เพียงแค่ผมสงสัยในวิธีรวมจดหมายพิมพ์ของคุณเท่านั้น จึงขอให้คุณผ่านประเด็นนี้ไป ด้วยความจริงเบื้องต้น ผมควรชื่นชมยินดีหนังสือเล่มใหม่ของคุณมากกว่า

ไม่เพียงยินดีแก่คุณ เพราะว่าเราเป็นเพื่อนกัน ให้กำลังใจกัน แต่ในฐานะนักอ่านคนหนึ่ง ผมควรที่จะยินดียิ่งนักมิใช่หรือ ที่นักเขียนคนที่เขารอคอย มีงานเขียนเรื่องใหม่ออกมา
ก็ดูสิ งานเล่มใหม่ของคุณ รูปโฉมหน้าตาของหนังสือ มันน่าจับ น่าลูบ น่าคลำ กลิ่นหมึกพิมพ์ กลิ่นกระดาษ ยังสด ๆ อยู่เลย และมันธรรมดาเสียเมื่อไหร่

ไม่น่าเชื่อเลย จดหมายที่คุณเฝ้าเขียนถึงกนกพงศ์ สัปดาห์ละ 2-3 ฉบับเป็นอย่างน้อย คุณเขียนต่อเนื่องกัน 4-5 ปี เมื่อนำมาจัดพิมพ์ จะมีความหนา 600 กว่าหน้า

ในความหนาของหนังสือขนาดนี้ ผมไม่มีทางรู้เลยว่า คุณเขียนอะไรไว้บ้าง นอกจากผมจะนั่งลงแล้วอ่านมัน

และดังที่บอกคุณแต่ต้น ผมอ่านจดหมายคุณข้ามปี อ่านโดยไม่อ่านข้ามฉบับใดฉบับหนึ่ง อ่านทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร
ตัวหนังสือ เรื่องราวในจดหมายที่คุณเล่า ง่ายที่จะเข้าใจ ไม่มีอะไรซับซ้อน ทว่าจริงจัง และจริงใจในมิตรภาพที่มีถึงกัน

ระหว่างคุณกับกนกพงศ์ ความปราถนาดี ความห่วงใยในทุกข์สุข เรี่ยวแรงที่ทุ่มเทลงไปในงาน หนังสือเล่มใหม่ ๆ ที่คุณอ่าน นิยายที่คุณกำลังเขียน เมื่อกนกพงศ์มีงานลงพิมพ์ตามหน้านิตยสารคุณคือคนแรก ๆ ที่อ่านงานของเขา อ่านแล้วเขียนจดหมายไปบอก ดีไม่ดีอย่างไร คุณเขียนไปให้กำลังใจเพื่อนอย่าท้อ อย่าหมดหวังในผู้อ่าน ถ้าใครไม่อ่าน คุณจะอ่านเอง คุณว่า และคุณว่าอีกว่า นี่คุณกำลังเดินทาง...ฝากความคิดถึงชมพูด้วย...

ขจรฤทธิ์ ที่รัก ขณะที่ผมอ่านทุก ๆ ฉบับ ผมโน้ตย่อลงสมุดบันทึก ทีแรกหวังว่าเมื่อคุณพาดพิงผม ผมอาจโต้กลับบ้าง แต่คิดแล้ว ไม่ดีกว่า หรือจะลองสักหน่อย จริง ๆ ผมชอบนะ ที่คุณพูด เขียนถึงผมอยู่เยอะเชียว

บางประโยคอ่านแล้วอมยิ้ม ขำกิ๊ก

เพราะคุณบอกกนกพงศ์ไปว่า...ชีวี เขากำลังออกแรงไล่ทักษิณ...อ่านถึงตรงนี้แล้ว พลอยให้ผมนึกไปถึงลุง ลุงคำสิงห์ที่พูดฝากคุณมาถึงผมว่า...ไปบอกชีวีด้วยว่า ถ้าสนธิมันเห่า ก็อย่าไปเห่าตามสนธิ...

ครับ ก็นั่นแหละขจรฤทธิ์ ที่ยกมาก็เพียงอยากบอกว่าผมชอบนะ ชอบที่สุดที่คุณมักเอ่ยถึงผม แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าการที่คุณเขียนพาดพิงคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผมแล้ว เมื่อเขามาอ่านเจอเข้า เขาจะชอบเหมือนอย่างที่ผมชอบคุณหรือไม่

ซึ่งในข้อนี้ ว่ากันตามจริง คุณก็เป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เปรย ๆ กับผมเสียด้วยซ้ำ ว่ายังไง ๆ ก็ช่วยดูให้หน่อย ตรงไหนที่ยังแรง ๆ ช่วยกระซิบบอก ช่วยกันตัดออกเสีย คุณว่า วันนี้คุณอายุ 50 กว่าแล้ว ไม่อยากไปกระทบกระทั่งให้ใครเขากระเทือนใจอีก

ก็น่าฟังที่คุณว่าอย่างนั้น แต่ผมฟังแล้วเฉยเสีย ไม่ถือปฏิบัติตาม ถือแต่ว่าต้นฉบับคุณมาอย่างไรก็คงปล่อยไปตามนั้น ด้วยเชื่อว่าคุณได้พิจารณามาดีที่สุดแล้ว

อีกทั้งเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ คุณผ่านศึกเหนือเสือใต้มาเยอะ คุณเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง คุณไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้ไปพักใหญ่

แล้วกับเรื่องจดหมายแค่นี้ และเมื่อมาถึงวันนี้ เรื่องมันผ่านมาแล้ว คุณเติบโต ทั้งคนที่คุณพาดพิง เขาก็เติบโต เขาคงจะเมตตา เพราะต่างมีวุฒิภาวะด้วยกันทั้งนั้น ผมจึงไม่ห่วง แม้จะไม่แน่ใจว่าเขาจะชอบคุณหรือไม่

จดหมายของคุณมีครบอยู่แล้วทุกรสชาติ ทั้งข้นทั้งเข้ม จัดจ้านอยู่ในความเรียบ ๆ ของสำนวนภาษาอันไหลต่อเนื่อง ตามประสาของคนที่ฝึกเขียนอยู่ทุกวัน เขียนจนอยู่มือ เรียกปากกาสั่งได้ ทั้งจดหมายที่เขียนขึ้นแล้ว ก็พร้อมที่จะแปรรูป...
คือทันทีที่ผมลองใช้ฝ่ามือปิดหัวจดหมาย ปิดคำขึ้นต้น-ลงท้าย ถึงกนกพงศ์ ที่รัก... และ รัก/เป็นห่วง จากคุณแล้ว ผมก็พบว่า จดหมายของคุณที่มีไปถึงกนกพงศ์ คืออีกรูปแบบหนึ่งของบทบันทึกชีวิตของคุณเอง หรือคือความเรียงที่ฉายภาพชีวิตของคุณนั่นเอง

เพราะคุณเขียนบอกไว้หมดว่าคุณเป็นใครมาจากไหน
เมื่อเด็กบ้านเกิดที่จังหวัดตรัง คุณลำบากยากจนอย่างไร คุณอด คุณหิว คุณร้องไห้ คุณไปเป็นกรรมกร คุณได้ค่าแรง คุณจึงเห็นค่าเงิน คุณไปเป็นนักมวย คุณเจ็บปวดเมื่อคู่ต่อสู้ต่อยหน้าคุณบนเวที คุณคงไม่แพ้หรือชนะหรอกด้วยชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้น

และต่อเมื่อคุณไปเป็นนักเรียนการช่างอะไรสักช่างในกรุงเทพมหานคร คุณรู้สึกว่าโลกในห้องเรียนตรงนั้นมันช่างไร้สาระ ถ้าคู่อริต่างโรงเรียนของคุณ เขาจะเอามีดปลายแหลมมาฝากไว้ที่พุงของคุณทุกอย่างก็จะจบลง

แต่โชคดี ที่คุณผละจากพวกสิ่งเหล่านั้นมาได้ คุณได้เจอเข้ากับหนังสือ คุณว่าคุณชอบอ่านและชอบเขียนหนังสือมากกว่าสิ่งใด

การอ่านและการเขียนวรรณกรรม ช่วยทำให้คุณหูตากว้างขวาง ทำให้คุณมีสมาธิ ช่วยทำให้คุณเข้าใจโลก เข้าใจสังคม เข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น

คุณจึงเชื่อในอำนาจของวรรณกรรมอย่างล้นเหลือ แต่สิ่งแรกที่เชื่อแล้วต้องทำก่อน ก็คือลงมืออ่าน อ่านและอ่าน

คุณอ่านหนังสือเหมือนฝูงปลวก ที่แอบมากินหนังสือในบ้านของผม

ผมอ่านหนังสือน้อยกว่าคุณมาก(ปลวกจึงอ่านแทน) และเมื่อคุณอ่านมาก ๆ เข้า คุณว่าพลังและอำนาจของวรรณกรรมจึงก่อเกิดขึ้นในตัวของคุณ

คุณยังกล้าและเชื่อมั่นในการเขียน คุณย้ำบ่อยมากว่าคุณเขียนทุกวัน เขียนทุกที่ เขียนทั้งโปสการ์ด เขียนบันทึก และเขียนจดหมาย

และคุณว่า คุณยังไม่เคยเห็นนักเขียนคนไหนเดินเขียนหนังสือ

คือถ้าเขาไม่นั่งลง ไม่หยุดหุบปากที่จะพูดคำใหญ่คำโต ขาก ๆ ถุย ๆ โดยไม่เขียนอะไรใหม่ ๆ ออกมาแล้ว เขาคนนั้นก็จะเขียนไม่ได้เลย แม้แต่จดหมายสักฉบับที่จะเขียนถึงเพื่อน
คุณจึงเสพติดการเขียนจดหมายถึงกนกพงศ์ยิ่งนัก

และว่าการเขียนจดหมายของคุณกับกนกพงศ์ทุกฉบับ ก็คล้าย ๆ นักกีฬา อบอุ่น วอร์มร่างกายก่อนลงสนามแข่งจริง แต่สนามจริงของคุณคือหน้ากระดาษ คือคนอ่าน คือวรรณกรรม ที่คุณต้องใส่ใจมันทุกรายละเอียดนับตั้งแต่วัตถุดิบก้อนแรก ๆ
ผมนั้นทึ่งในการลงทุนลงแรงออกหาวัตถุดิบของคุณอยู่ไม่น้อย

และเป็นเรื่องที่คนอย่างผมไม่สามารถเข้าถึงหรือกระทำได้ เพราะบ่อยครั้งที่คุณท่องเข้าไปในแหล่งอโคจร เพื่อเรียนรู้ในบุคลิกตัวละคร คุณว่า คุณจึงทำตัวเป็นผีพนันแล้วก็แพ้หมดตัวกลับบ้านมา มานั่งหน้าจืด ๆ จ๋อย ๆ อยู่หน้าคุณนายจิ๋วและลูกสาว

นั่นก็เพียงเพื่อว่าวันต่อ ๆ มา คุณจะได้เขียนมันออกมา เพียงแค่เรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง

และเมื่อเรื่องสั้นเรื่องนั้นได้ลงพิมพ์ ค่าเรื่องที่ได้รับก็ไม่พอค่ารถที่จะย้อนกลับไปบ่อนเพื่อแก้ตัวเสียด้วยซ้ำ แต่คุณก็ไม่ยี่หระกับค่าเรื่อง กับเงินที่จะมาจากงานเขียน

คุณว่าลองว่านักเขียนไทยเราเอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้งในการเขียนหนังสือแล้ว ทุกอย่างก็จบตั้งแต่เริ่มต้นแม้เราจะจำเป็น ต้องกินต้องอยู่..

คุณชัดเจน คุณถ่องแท้ ในวิถีทางที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียน ทั้งยังเป็นนักเขียนเพียงไม่กี่คน ที่ไม่ยอมส่งงานเข้าประกวดรางวัลใด ๆ ไม่ขึ้นตรงต่อรางวัลซีไรต์...

เหมือนว่าคุณหยิ่งยโส ในผลงานเรียบ ๆ เรื่อย ๆ ของคุณ ทั้ง ๆ ที่คุณทำงานหนัก ทุ่มเทโถมตัวใส่งานไม่ต่างไปกว่ากนกพงศ์

คุณทั้งสองคนมีอะไรที่เหมือนกัน และไม่เหมือนกัน

เหมือนที่เป็นนักเขียน ต่างที่กนกพงศ์เป็นศิลปิน ไม่เป็นนักธุรกิจ

คุณในภาคหนึ่งของนักเขียน คุณมีความเป็นนักธุรกิจอยู่ในตัว
นับตั้งแต่คุณควักกระเป๋า ทุบกระปุกออมสิน ลุกขึ้นทำนิตยสารไรเตอร์อยู่ 4 ปี เมื่อไปต่อไม่ไหว คุณก็หยุด เลือกทำแต่สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ

คุณว่าคุณทำสำนักพิมพ์ หนังสือแต่ละเล่มที่พิมพ์ออกไป คุณหวังในผู้อ่าน แต่ไม่หวังรวย หวังเพียงให้อยู่รอดและอยู่ได้เท่านั้น และไม่อยากให้สำนักพิมพ์เติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่

จะคล้าย ๆ ว่าคุณกลัวที่จะโต เพราะถ้าโตได้กำไรมาก ๆ คุณก็จะเอากำไรที่ว่านั้นไปจัดพิมพ์วรรณกรรมดี ๆ ตามที่คุณชอบเป็นการส่วนตัวออกมา

เสร็จแล้วหนังสือที่คุณชอบก็ขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้ หนังสือก็ตีกลับมาจมอยู่ในโกดัง คุณขาดทุนยับเยิน จนคุณได้ข้อสรุปว่า ทุกครั้งที่คุณพิมพ์วรรณกรรมแปลดี ๆ คุณขาดทุน ต่างจากที่คุณพิมพ์เรื่องป่าแล้วขายได้

หนังสือแนวป่าของคุณเกือบทุกเล่มขายดีมาโดยตลอด

นักเขียนเรื่องป่าอย่างลุงชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ อาจารย์วัธนา บุญยัง และบุหลัน รันตี จึงเป็นนักเขียนที่คุณให้เกียรติ ยกย่อง นับถือ ทำให้คุณต้องหมั่นต้อนรับขับสู้ ไปมาหาสู่และดูแล ด้วยสำนึกในบุญคุณของนักเขียน

แม้แต่ลุงชาลี ที่ล่วงลับไปแล้ว คุณก็รำลึกนึกถึงอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นเพราะลุงชาลีนี่เอง ที่ทำให้สำนักพิมพ์บ้านหนังสือของคุณอยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงวันนี้

ขจรฤทธิ์ ที่รัก ผมเชื่อเช่นที่คุณเชื่อ เชื่อในคุณธรรมพื้น ๆ ของคน ที่ว่าคนที่สำนึกตอบแทนบุญคุณนั้น จะจำเริญรุ่งเรือง
และนี่ผมก็จะว่ามายาวมากแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ผมตกหล่น ไม่ได้พูดถึง ซึ่งทั้งหมดทั้งหลายนั้น มันอยู่ในจดหมายของคุณที่มีไปถึงกนกพงศ์

เรื่องนักเขียน ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในวงการ ที่ท่านเหล่านั้นให้ความรักความเมตตาแก่คุณและกนกพงศ์เป็นอย่างดี

นับแต่อาว์ปุ๊ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แห่งสวนทูนอิน เชียงใหม่ ที่วันดีคืนดี อาว์ปุ๊ ก็จะต่อสายลงมาถึงคุณ บอก “เขียด...ถ้าว่างขึ้นมาหาเราหน่อย เราคิดถึงนาย บอกกนกพงศ์ บอกตุ๊มันด้วย ขึ้นมาด้วยกัน”

ลุงคำสิงห์ ศรีนอก หรือลาว คำหอม ลุงผู้มักแหงนหน้ามองฟ้า ปากพูดเนิบ ๆ กับคู่สนทนาอย่างคุณ ลุงคำสิงห์แห่งไร่ปากช่อง ที่ก่อนหน้านี้ทุก ๆ ปีในปลายเดือนธันวา เราจะเคลื่อนพลขึ้นไปสุมหัวกันอยู่ที่นั่น

พี่แคน สังคีต นักดื่ม นักรัก นักแปล คนที่มักพาคุณไปลุยบ่อนการพนันอยู่เนือง ๆ และสอนคุณในเรื่องดูหนัง-ภาพยนตร์ เขาดูกันอย่างไร

แม้แต่พี่เชิด ทรงศรี นักเขียน ผู้กำกับรุ่นเดอะ ที่คุณไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่ง พี่เชิดจะขับรถเบนซ์มาจอดกึกหน้าบ้านคุณ เสร็จแล้วพาคุณไปเลี้ยงข้าว

ถัดจากรุ่นอาวุโสเหล่านั้น ก็รุ่นพี่ ๆ ของคุณ พี่ชาติ กอบจิตติ ที่เชิญคุณและผมให้ไปงานทำบุญไหว้พระที่บ้าน ยังไร่ของเขาที่ชายแดนสี่จังหวัด...

พี่จำลอง ฝั่งชลจิตร พี่วัฒน์ วรรลยางกูร พี่ไพฑูรย์ ธัญญา ใครต่อใคร ไล่ลงมาถึงเพื่อนฝูง เสี้ยวจันทร์ แรมไพร ศุ บุญเลี้ยง ไพวรินทร์ ขาวงาม ดิเรก นนทชิต ตาแสน นิยุติ น้ามาด ไอ้น้อย น้องกนกพงศ์ น้องสาว (เธออยากได้วรรณกรรมแปล เกมลูกแก้ว แล้วอาจารย์เจน บอกว่าอ่านยากไป นี่คุณก็ฟ้องบอกไปทางกนกพงศ์)

และยังมีพินิจ นิลรัตน์ นักข่าวสายวรรณกรรม ขาไพ่ผู้ประกาศหาว่าใครหนอช่างคิดการเล่นรัมมี่ออกมาได้ ช่างเก่งจริง ๆ เขาว่าจะยกรางวัลโนเบลให้เสียหน่อย...

บรรดาผู้คนในแวดวงเหล่านั้น เยอะเกินกว่าที่ผมจะนึกนามได้ทั้งหมด ล้วนแต่เกี่ยวข้องอยู่กับคุณทั้งสิ้น คุณพาดพิง อ้างชื่อเขาไว้ในจดหมาย แล้วไหนจะพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ภรรยา ครอบครัว ลูกเมีย และหมา

แม้แต่เรื่องพรรคพวกพี่ ๆ ในกลุ่มนาครของกนกพงศ์ อันมีพี่ประมวล มณีโรจน์ ครูล้าน ครูกวี บรรดาพี่ ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นคนที่ผมนับถือทั้งสิ้น ถ้าพี่เขามีงานแกงวัว ผมว่าง ผมก็จะไปกินวัวบ้านเขา และว่าไปคุณเองก็เคารพนับถือพวกเขา

เพียงแต่คุณและกนกพงศ์นั้นชอบที่จะวิเคราะห์ว่าพวกเขาขยันที่จะเป็นนักวิจัยมากกว่าที่เป็นนักเขียน ก็เท่านั้นเอง ซึ่งผมก็จะไม่ลงรายละเอียด ขอเปิดพื้นที่ให้กับผู้อ่านได้อ่านกันเอง เพราะเขียนไว้ในจดหมายหมดแล้ว

แม้แต่ประเด็นเก่า ๆ ที่คุณหรือใคร ๆ ต่างว่า ต่างค่อนแคะว่าเดี๋ยวนี้ นักอ่านเขาไม่อ่านวรรณกรรมไทยกันแล้ว เพราะนักเขียนไทยหน้าตาดีแต่ไม่มีอนาคต ผมก็ไม่พูด ไม่ขอแลกเปลี่ยนด้วย

ผมได้รบกวนเวลาของคุณและผู้อ่านมาเยอะแล้ว คงจะยุติแต่เพียงเท่านี้

แต่เนื่องจากยังอยู่ในต้น ๆ ปีใหม่ ซึ่งตามธรรมเนียม ผมควรขออวยพรสักเล็กน้อย

ขอให้คุณและครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความสำเร็จและโชคดีทุกประการ หนังสือทุกเล่มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือจงเป็นหนังสือที่ขายได้ เป็นที่ต้องการของผู้อ่านตลอดไป

และโดยเฉพาะกับเล่มนี้ ขอให้เป็นหนังสือแนวจดหมายที่ขายได้ดี ติดอันดับหนังสือขายดีในร้านหนังสือทุก ๆ ร้าน
ที่ขายดีเพราะว่าขจรฤทธิ์ ได้เขียนถึงกนกพงศ์ และเขียนไว้ได้ดี มีความลึกซึ้ง หลักแหลม เป็นจดหมายที่นับวันหาอ่านยาก ทั้งลึกและลับที่สุด สำคัญเป็นจดหมายที่สร้างแรงบันดาลใจ เนื้อหาสาระยังประโยชน์แก่แวดวงวรรณกรรมโดยรวม

นี้เป็นเหตุผลที่หนังสือควรจะขายดี มีคนอ่านกันเยอะ ๆ ไม่ใช่ขายดีเพราะว่าอาจารย์เจนเขียนคำนิยม หรือเพราะว่าผมได้มาเขียนจดหมายถึงคุณ

ขอบคุณอีกครั้ง และขอให้เชื่อมั่น ผมรักคุณ รักกนกพงศ์ ตลอดไป

และรักทุก ๆ คนที่อ่านหนังสือ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะเป็นวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล แม้แต่หนังสือประเภทอื่น ๆ ผมก็รักทุกคนที่อ่านหนังสือ

ชีวี ชีวา
มกราคม 2560


















ข้อความฝากถึง :

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่45เริ่มแล้ว
บูธบ้านหนังสือ N38 โซน C1 ชั้นล่าง



ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย







Create Date : 30 มีนาคม 2560
Last Update : 30 มีนาคม 2560 9:25:09 น.
Counter : 1104 Pageviews.

1 comments
  
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
โดย: สมาชิกหมายเลข 3773459 วันที่: 30 มีนาคม 2560 เวลา:14:31:19 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ภูเพยีย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



  •  Bloggang.com