Group Blog
 
All Blogs
 

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๒) เสรีไทยสายทหารเรือ (๒)

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๒)

เสรีไทยสายทหารเรือ (๒)

พ.สมานคุรุกรรม


พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ได้เล่าถึงงานของท่านต่อไปว่า เมื่อได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรแล้ว ก็มีการจัดตั้ง โรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เรียกนักเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยที่อาสาสมัครช่วยบ้านเมืองได้ราวหนึ่งกองพันในรุ่นแรก หลักสูตรก็ใช้ของโรงเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารราบ และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง นับว่าได้เริ่มรากฐานของการที่จะให้มีนายทหารนายสิบสำหรับจัดจำหน่ายให้กองทัพประชาชน ตามที่ตกลงในที่ประชุมกันไว้แล้ว

ระยะนี้สัมพันธมิตรตกลงใจตีโต้ญี่ปุ่นทางด้านพม่า และมีการประชุมวางแผนเข้าสู่ไทย กองบัญชาการเสรีไทยของเราจึงมีการประชุมปัญหาต่าง ๆ หลายครั้ง ระยะนี้มีการไปมากันทางเครื่องบินระหว่างอินเดียกับไทยสะดวกมาก แลเราก็สร้างสนามบินลับกันขึ้นสำเร็จ และจัดการส่งเด็กมหาวิทยาลัย ที่อาสาสมัครไปฝึกการรบใต้ดิน ในหน่วยของ sos ที่ตั้งขึ้นในอินเดีย

ได้มีการสั่งให้กรมสารวัตรควบคุมดูแลเชลยฝรั่ง ในการนี้ได้มีโอกาสปล่อยเชลยคนสำคัญของฝรั่ง ให้กลับประเทศของเขา ความเชื่อถือต่อเสรีไทยของเรา ฝรั่งจึงเชื่อแน่นแฟ้นขึ้น

การประชุมเสรีไทยได้จัดแบ่งเขตทำการขึ้นเป็น ๒ ภาค คือภาคของอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งต่างก็มีหน้าที่สนับสนุนภาคทำการของตน พลตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจได้รับหน้าที่ภาคชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นภาคของอเมริกัน และต่อมาได้รวมภาคฉะเชิงเทรามารวมอีกด้วย ภาคชลบุรีมีหน้าที่พิเศษ เกี่ยวกับต้องรับภารกิจการงานอันเป็นเรื่องของกองบัญชาการเสรีไทยรวมอยู่ด้วย เพราะท่านมีหน้าที่พิทักษ์รักษาวังสวนกุหลาบ อันเป็นศูนย์รวมของพวกฝรั่ง ที่มีหน้าที่ทำงานเสรีไทยอยู่ในเมืองไทย

ในเวลานั้นรัฐบาลได้ประกาศให้พลเมืองอพยพ เพราะการทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ หนาขึ้น เราจึงเตรียมสั่งการให้นักเรียนสารวัตรทหารออกฝึกราชการสนามในภาคพื้นชลบุรี ได้ตกลงกิจการทั้งหลายกับกองพันนาวิกโยธินชลบุรี เพื่อขอความสะดวกช่วยเหลือบางประการกันได้เรียบร้อย

และได้ติดต่อกับนายอำเภอต่าง ๆ ให้จัดรวบรวมชายฉกรรจ์ โดยอาศัยเรียกมาอบรมตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้รู้ถึงอัตรากำลังพลที่จะใช้เข้ารบอย่างกองโจร เมื่อตั้งกองบัญชางานหน่วยเสรีไทยภาคพื้นชลบุรีสำเร็จ ก็ได้เคลื่อนนักเรียนสารวัตรหน่วยพิเศษ เข้าทำการรับอาวุธจากเครื่องบินสัมพันธมิตร ที่มาทิ้งอาวุธแบบใหม่ให้ที่ตำบลพานทอง การทิ้งอาวุธที่นี่ทำให้ข่าวรั่วไหล เพราะราษฎรเอิกเกริกมาก ญี่ปุ่นคงทราบระแคะระคาย จึงจัดหมู่ลาดตระเวนมาตรวจริมแม่น้ำบางปะกงเสมอ

เราจัดการทิ้งอาวุธกันได้สามคราว จึงย้ายไปทำการใหม่ที่บางตาพุด จังหวัดระยอง แล้วเราก็เร่งการเคลื่อนพลของนักเรียนสารวัตรทหาร ไปสู่ที่ตั้งโรงเรียนฝึกราชการสนาม ซึ่งทางกองบัญชาการวังสวนกุหลาบ จะส่งนายทหารอเมริกันโดดร่มลงมาเพื่อเป็นครูฝึกสอนวิธีรบแบบกองโจรโดยอาวุธใหม่ต่อไป

สนามบางตาพุดจังหวัดระยองซึ่งเราจัดขึ้นใหม่ ทำงานได้รวดเร็วและปลอดจากข่าวรั่วไหล เราได้ลำเลียงนายทหารโดดร่มอเมริกัน ๔ นาย ซึ่งจัดเป็นครูฝึกหน่วยชลบุรี แลอีก ๓ นาย ส่งไปเป็นนายทหารประจำหน่วยฉะเชิงเทรา อัตราอาวุธของกองบัญชาการเสรีไทย ก็ส่งลงทางภาคพื้นนี้ แล้วเราก็จัดส่งให้ทางวังสวนกุหลาบ มีงานทำตอนกลางคืน ได้หยุดพักวันเว้นวันเท่านั้น งานเหลือมือจึงต้องขอการช่วยเหลือจากเหล่าทหารพรรคนาวิกโยธิน พอทิ้งเสร็จก็รีบลำเลียงมาชลบุรีก่อนสว่าง

เราร่วมมือกับกองพันนาวิกโยธิน จัดกำลังต้านทานญี่ปุ่นที่จะข้ามลำน้ำบางปะกงไว้โดยไม่ประมาท การขนส่งเข้ากรุงเทพฯ ต้องผ่านกับรถญี่ปุ่น ซึ่งต้องทำใจดีสู้เสือกันเสมอ

ครั้งหนึ่งท่านได้สัมผัสมือกับหัวหน้านายทหารหน่วยชลบุรี ซึ่งลงจากเครื่องบินในคืนวันหนึ่ง อุบัติเหตุก็เกิดคือ พลร่มไทยซึ่งส่งมาในกรุ๊ปของเขาสองคนหายไปคนหนึ่ง เราช่วยกันค้นหาทั่วป่าตลอดรุ่ง ต่อมาได้ความว่าโดดไม่ลงติดแขวนกลับไปแรงกูนอีก และวันรุ่งขึ้นเขาก็มาโดดลงอย่างกล้าหาญ ซึ่งได้รับเหรียญกล้าหาญของอเมริกันด้วย

พวกเราทำงานกันเต็มมือ ที่เรียนแลฝึกก็ทำกันไป พวกที่กำลังก่อสร้างที่พักชั่วคราวก็เก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ แลงานเพิ่มขึ้นทุกวันจนแทบไม่ว่างกันทั้งกลางวันกลางคืน ต้องใช้เวลาพักกันไปในตัว และเราก็รู้กันทั่วไปว่า ใกล้เวลาที่สัมพันธมิตรจะบุกแล้ว เราจะต้องเตรียมการให้พร้อมตามจุดประสงค์ที่ได้ตกลงกันไว้ นายทหารฝรั่งกับนักเรียนสารวัตรทหารของเรา ชั่วเวลาหนึ่งอาทิตย์ก็กลมเกลียวเข้ากันอย่างดีที่สุด

กองบัญชาการหน่วยเสรีไทยวังสวนกุหลาบได้แจ้งมาว่า คณะนายทหารอเมริกัน มีความประสงค์จะมาชมหน่วยเสรีไทย แลเลยไปดูฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งเขาอาจนำไปเป็นข้อวินิจฉัย ในการจำเป็นที่ฝ่ายอเมริกันอาจมายกพลขึ้นบก เราจึงต้องรับธุระจัดการ

รู้สึกงานเร่งมือกระชั้นมาก เราคิดว่าพอเสร็จการอบรมนักเรียนสารวัตรทหารรุ่นนี้แล้ว จะได้จ่ายไปตามอำเภอต่าง ๆ ซึ่งกำลังสะสมชายฉกรรจ์ไว้แล้ว และเราจะได้เคลื่อนกำลังนักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังฝึกสอนอยู่มาสู่โรงเรียนสนาม พร้อมกันก็ได้เตรียมเรียกรับสมัครรุ่น ๒ ต่อไป

ก็พอดีโลกประกาศญี่ปุ่นยอมจำนน เราจึงต้องยกกำลังนักเรียนสารวัตรทหาร และมีหน่วยนาวิกโยธินร่วมด้วย เข้ากรุงเทพ และเตรียมฝึกสอนอาวุธใหม่ให้นักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร ให้ใช้การได้โดยด่วนด้วย

พวกฝรั่งหลายคนเขาบ่นรู้สึกเสียดายที่ยังไม่ได้ทดลองอาวุธและผู้คนที่ได้ฝึกหัดไว้ แต่ก็เป็นการดีแล้ว ที่ไม่ต้องเกิดปะทะกันใหญ่ทั่วไป ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นกับไทย จะต้องล้มหายตายกันข้างละไม่น้อย

ประธานรุ่นนักเรียนนายทหารสารวัตร ได้เล่าไว้ว่า

โรงเรียนนายทหารสารวัตรนี้ตั้งขึ้นเมื่อ ๑๕ เมษายน ๒๔๘๘ สอนอยู่จนถึงปลายเดือน กรกฎาคม ๒๔๘๘ จึงได้ทยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตร ๒๙๘ คนนี้ ไปอยู่ค่าย “สวนลดาพันธ์” วัดเขาบางทราย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และฝึกภาคสนามอยู่จนถึงกลางเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม แต่การฝึกของนักเรียนนายทหารสารวัตร คงดำเนินต่อไปจนจบหลักสูตรในเดือนกันยายน ๒๔๘๘

สงครามสงบแล้วก็จริง แต่ความวุ่นวายเหลวแหลกที่สงครามทิ้งไว้ให้ ยังเป็นเนื้อร้ายอยู่ โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศยิ่งกว่าดอกเห็ดฤดูฝน ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ เริ่มก่อความวุ่นวาย ถึงขั้นเกิดจลาจลยิงกันใจกลางเมืองหลวง

นักเรียนนายทหารสารวัตรทั้งหมด จึงถูกลำเลียงเข้ากรุงเทพ และออกปราบปรามรักษาความสงบ โดยใช้ชื่อว่า สารวัตรทหารตำรวจผสม การปราบปรามดำเนินไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๘ เหตุร้ายต่าง ๆ จึงสงบลงเป็นปกติ

เหตุการณ์ช่วงหลังสงครามนี้ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ได้เล่าไว้ว่า

พวกจีนพอได้ข่าวว่า กองพลทหารจีนประชิดญวนเหนือ แลอาจเลยมาช่วยปลดอาวุธญี่ปุ่นในเมืองไทยด้วย เลยพากันกำเริบก่อการไม่สงบขึ้นทั่วไป กำลังตำรวจของเราถูกจ่ายเฝ้าคลังญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่มากหลาย ก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว จึงตกในฐานะลำบากที่จะรักษาความสงบได้ ในตำบลที่พวกจีนตั้งอยู่หนาแน่นแล้ว คนไทยแทบโผล่เข้าไปไม่ได้ และเขาได้ทำการยิงปืนขู่ขวัญประชาชนเสียงกึกก้องทั่วพระนคร บางแห่งใช้ลูกระเบิดมือปาลงมา

รัฐบาลได้สั่งให้มณฑลทหารบกที่ ๑ สารวัตรทหาร ช่วยตำรวจรักษาความสงบ ซึ่งกว่าจะเงียบลงได้ก็หลายอาทิตย์ พอข่าวกองพลจีนทางเหนือแพร่ออกมาว่าไม่ยกมากรุงเทพฯ พวกจีนก็หยุดสงบกันไป

นักเรียนนายทหารสารวัตรได้กลับมาอบรมที่กรมราวหนึ่งเดือน แล้วก็สอบไล่หลักสูตรนายร้อยสำรองที่เรียนมา เมื่อสอบไล่เสร็จแล้วก็ทำพิธีประกอบยศ แต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรีตามข้อบังคับทหาร พิธีการทำที่กรมสารวัตรทหาร รัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธาน

นักเรียนเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งปลดกองหนุนสังกัดมณฑลทหารบก ที่ ๑ แล้วส่งตัวกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยตามเดิม อีกพวกหนึ่งขอร้องให้ทางราชการอบรมวิชาตำรวจ ให้พอที่จะรับราชการตำรวจ ซึ่งทางราชการตำรวจยังขาดนายตำรวจ ที่จะปฏิบัติงานอยู่มาก ทางกรมสารวัตรทหารจึงจัดโรงเรียนอบรมนายทหารสารวัตรไปเป็นตำรวจขึ้น และได้อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาสอนกฎหมายเพิ่มให้อีกด้วย กำหนดหลักสูตร ๑ ปี ในการอบรม จบแล้วก็จะได้บรรจุเป็นนายตำรวจต่อไป

พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ได้คืนบรรดาศักดิ์ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ชื่อเดิม สังวร สุวรรณชีพ แทน หลังสงครามแล้วท่านได้เป็นอธิบดีกรมศุลการกร ต่อมาได้รักษาราชการในตำแหน่ง อธิบดีกรมตำรวจ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ และพ้นจากราชการ รับเบี้ยบำนาญ เมื่อเกิดการ รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๕

และบันทึกของคนเดินเท้า ในบทบาทของทหารเรือ ซึ่งทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติ ด้วยการเป็นเสรีไทยในประเทศคนหนึ่ง ก็ต้องยุติลงแต่เพียงนี้.

############

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3610563
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘




Create Date : 14 มีนาคม 2552
Last Update : 14 มีนาคม 2552 7:39:32 น.

Counter : 83 Pageviews. 2 comments

Add to







เป็นเพื่อนบ้านกังไว้ ดีจาตาย งุงิๆๆๆ
มีไร จาได้ ช่วยปลอบใจกัง

โจ...พลังชีวิต



โดย: พลังชีวิต วันที่: 14 มีนาคม 2552 เวลา:8:18:07 น.







ถูกต้องแล้วครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 2 เมษายน 2552 เวลา:19:10:04 น.






 

Create Date : 20 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:59:59 น.
Counter : 2024 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๑) เสรีไทยสายทหารเรือ (๑)

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๑)

เสรีไทยสายทหารเรือ (๑)

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อได้เล่าเรื่องเสรีไทยสายทหารบก สายตำรวจแล้ว คราวนี้ก็เป็นเสรีไทยสายทหารเรือบ้าง ท่านที่จะกล่าวถึงนี้มีผู้คนรู้จักชื่อเสียงน้อยเต็มที ท่านเป็นทหารเรือรุ่นเก่าจบจากโรงเรียนนายเรือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่เท่าไร ท่านผู้นี้คือ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมอยู่ในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วย

ท่านได้เป็นผู้บังคับการเรือรบหลายลำ ในระหว่างสงครามอินโดจีน ได้เป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงศรีอยุธยา และเป็นผู้บังคับหมวดเรือปืนด้วย แต่พอถึง พ.ศ.๒๔๘๕ ขณะเป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กลับมาสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหาร แล้วถูกปลดออกจากราชการ และถูกสั่งจับโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ท่านได้เล่าไว้ในเรื่อง เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามกรรม คือกฎแห่งธรรมชาติ ว่า ขณะที่เรามาอยู่กรมเสมียนตรา ซึ่งต้องจำใจทำงานไปตามบัญชาของกองบัญชาการทหารสูงสุด จอมพลก็คงไม่หายระแวง ยังมีการติดตามสอบสวนส่วนตัวเรา ทำให้เราต้องโกรธขึ้นมาบ้างเลยไม่ไปทำงานกัน จอมพลให้หมอมาตรวจ เราไม่ยอมให้ตรวจเลยสั่งย้ายไปสำรองกรมเสนาธิการทหาร เราก็ไม่ยอมไปทำงานอีก จอมพลโกรธใหญ่เลยสั่งให้ปลดออกจากราชการ

เราต้องไปซ่อนตัวจอมพลเสียสองอาทิตย์ แม่เฉลิมเมียรักเป็นผู้ไปหาท่านผู้หญิง (ละเอียด พิบูลสงคราม) จอมพลคงจะนึกถึงเรื่องเก่าซึ่งหลวงอดุลย์ (หลวงอดุลเดชจรัส) เคยบอกกับเราว่า เวลาเขาสั่งปลดลื้อ น้ำตาไหล เมื่อนึกถึงเรื่องนี้แล้ว ท่านจอมพลขอให้ท่านเจริญด้วยศีลธรรมเถิด เราผู้มีเคราะห์ ก็ต้องไปตามเทวโองการพระผู้เป็นเจ้า

และอีกหนึ่งเดือนต่อมา นายกรัฐมนตรีก็แต่งตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย ท่านเล่าต่อไปว่า

ตอนนี้เราจะต้องเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น ได้รับแต่งตั้งตอนสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่เมือง รุ่งขึ้นเราก็แต่งกายสากลด้วยอ้อนวอนของเมีย ให้ไปรายงานท่านนายก เมื่อพบ พันเอกไชย ประทีปเสน และหลวงอดุลย์ก็พยักหน้าบอกว่า อั้วบอกลื้อแล้ว หลวงพิบูลเขาโกรธลื้อไม่กี่น้ำหรอก

เมื่อเราสามคนเดินมุ่งจะเข้าไปให้ใกล้ท่านนายกซึ่งแต่งตัวแบบเล่นกีฬากอล์ฟ ท่านตะโกนมาบอกว่า ไม่ต้องรายงาน สั่งหลวงพรหม (หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) เขาไว้แล้ว ให้หลวงสังวรไปช่วยงานกระทรวงมหาดไทย คุณไชยหารถให้หลวงสังวรขี่สักคันด้วย

นึกก็น่าขัน เมื่อวานนี้เราเป็นพลเมืองลูกบ้าน กลางวัน ๆ นี้มานั่งเคียงข้างท่านรัฐมนตรีมหาดไทย ถูกแบ่งหน้าที่ให้เป็นรัฐมนตรีฝ่ายอพยพพลเมือง (Ministry of refuges) มีหน้าที่สร้างที่พัก ถนน ตระเตรียมอาหารการกินให้แก่พลเมืองที่ถูกภัยทางอากาศ

ระยะนี้ญี่ปุ่นบีบคั้นการเศรษฐกิจเมืองไทยมากขึ้น เครื่องอุปโภคบริโภคราคาสูงมากขึ้น แลทีท่าของญี่ปุ่นแสดงไม่ไว้วางใจรัฐบาลตลอดเวลานี้ ทั้งที่รัฐบาลได้เร่งรัดการอพยพพลเมือง แลการสร้างถนนไปสู่เพชรบูรณ์ แลหน่วยทหารบกทั้งหลายเริ่มทิ้งที่ตั้งในพระนคร เคลื่อนไปทางเหนือหมดแล้ว

คนสำคัญในวงการทูตญี่ปุ่นได้หาโอกาสเข้าพบปะรัฐมนตรี คนที่เขาคิดว่าเป็นแขนเป็นเท้าอันใกล้ชิดของนายก แล้วก็พูดกันถึงเรื่องการแคลงใจ ซึ่งญี่ปุ่นมีต่อไทยในยามนี้ ทั้งนี้เพราะทางวิทยุกระจายเสียงฝ่ายสัมพันธมิตรก็โจมตีรัฐบาล แลยุให้คนไทยลุกฮือขึ้นขับไล่ญี่ปุ่น เมื่อถึงเวลาที่ฝรั่งยกมา

ที่จริงก็น่าสงสารนายกพิบูลสงคราม ที่พยายามดิ้นรนต่อสู้กับผู้ยึดครองทุกด้าน ท่านโอดครวญในที่ประชุมเสมอว่า พวกเราอยู่ในฐานะจิ้งจกตายซาก สำหรับส่วนตัวท่านอุตส่าห์นั่งทน การรบกวนที่จะเอาเงิน เอาสารพัดต่อคนไทย เมืองไทย ของพวกญี่ปุ่น

ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก ท่านปรีดีกับท่านควงรวมกำลังแน่นแฟ้น ทหารเรือแสดงท่าทีหนุนหลัง ฝ่ายค้านในสภาเริ่มหาทางเคลื่อนไหวไปในทำนองโจมตีรัฐบาลให้ล้ม

คณะฝ่ายค้านในสภาได้กำลังเข้มแข็งมาก ฝ่ายค้านซึ่งท่านปรีดีหนุนหลัง มีท่านควงเป็นคนสำคัญ โดยพลโท นาคามูระ แม่ทัพหน่วยงิ แลได้หลวงสินาด (หลวงสินาดโยธารักษ์) เป็นหัวแรงทางทหารบก อาศัยบารมีท่านเจ้าคุณพหล (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ซึ่งคนทั้งหลายก็ทราบว่าท่านนอนป่วยลุกแทบไม่ไหว พวกฝ่ายค้านช่วยกันหามท่านไปนอนบัญชางานที่ท้องพระโรง โรงเรียนนายเรือ

ด้านสภาเปิดอภิปรายโจมตี เรื่องพระราชบัญญัติสร้างเพชรบูรณ์และพุทธบุรี ข้าราชการและราษฎรไม่พอใจรัฐบาล เรื่องการบังคับให้ปฏิบัติทางวัฒนธรรมอยู่เป็นทุน Sympathy ฝ่ายค้านอยู่มาก

บ่ายวันที่ ๑ สิงหาคม ซึ่งเรานั่งประชุม ค.ร.ม.เกือบครบชุด ขาดหลวงอดุลย์ และหลวงสินธุ์สงครามไชย ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ท่านนายกนั่งหัวโต๊ะ พ.อ.ไชยลุกหายไปครู่หนึ่งกลับมาบอกว่าสภากำลังอลเวง พ.อ.ไชย ยื่นซองจดหมายให้นายก ท่านรับมาอ่านแล้วรู้สึกหน้าไม่สู้ดี ท่านส่งให้รัฐมนตรีอ่านทุกคน เราอ่านเป็นคนสุดท้าย เป็นสาส์นของแม่ทัพหน่วยงิ ขอร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะจัดเรื่องตามที่เห็นสมควร

รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกเมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ได้รับการทาบทามจากรัฐบาล พันตรี ควง อภัยวงศ์ ให้เป็นรัฐมนตรีอีก ท่านก็ไม่ยอมรับ แต่ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สารวัตรใหญ่ทหาร ท่านเล่าว่า

พอตอนค่ำวันนั้น (๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๗) พระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เราเป็นสารวัตรใหญ่ทหาร อันมีนายควงสนองพระบรมราชโองการ ประกาศก้องขึ้นทางวิทยุกระจายเสียง เมียนั่งฟังวิทยุแล้วบ่นว่า พุทธโธ่เอ๋ยคุณหลวง เคยมีหน้าที่เป็นผู้บังคับกองเรือ เวลานั่งเรือเล็กผ่านเรือใหญ่ เคยมีเกียรติยศ แตรเดี่ยวเป่ากระทั่งทหารทุกคนลุกขึ้นยืนตรงคำนับ

เราก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ได้แต่บอกว่าพรหมลิขิตสร้างฉันมารับใช้บ้านเมืองอย่างนี้นี่

รุ่งขึ้นเราต้องแต่งการสากลไปกรมสารวัตรทหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงละครสวนมิสกวัน พบรองสารวัตรซึ่งมานั่งร่วมคุย เราไม่มีฟอร์มทหารจะแต่ง เพราะตัดสินใจทิ้งน้ำกันหมด เมื่อคราวถูกนายกพิบูลปลดเราออกจากราชการ ในพระบรมราชโองการคงใช้ยศนายนาวาเอกทหารเรือ เราจึงต้องไปว่าจ้างเจ๊กให้ตัดยูนิฟอร์มด่วน ๔-๕ วันให้แล้วทันกำหนดการที่ท่านขุนปลดปรปักษ์ กำหนดที่จะส่งหน้าที่กัน

กรมสารวัตรเนื้อแท้ ๆ ไม่มีอะไรเลย สถานที่ก็ยืมเรือนโรงของสวนมิสกวัน ซึ่งรัฐบาลกำหนดไว้ให้กรมศิลปากรสร้างโรงละครแห่งชาติ ยานพาหนะตลอดจนผู้คนได้มาจากกรมทหารบก เรือ อากาศ แบ่งมาให้แห่งละเล็กละน้อย ก่อนที่ท่านนายกพิบูลจะปรับปรุงขึ้นใหม่จนตอนที่เราจะไปรับหน้าที่นี้ ได้ความว่าทหารที่สามกองทัพจะรุทิ้งแล้ว เขาจึงส่งมาอยู่กรมสารวัตร

ท่านพิบูลเห็นความจำเป็นที่ญี่ปุ่นเขาก้าวไกลทาง M.P. ของเขา ท่านจึงได้จัดหน่วย M.P.ของเราขึ้น โดยบรรจุบุคคลชั้นดีขึ้นหน่อยไว้ แต่ก็ไม่สู้มากพอที่จะดำเนินการกีดกันญี่ปุ่นได้

ส่วนงานที่ท่านได้รับใหม่นี้เป็นของคณะรัฐบาลท่านควง อภัยวงศ์ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เสรีไทยเต็มตัวตามที่ท่านปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ขอร้องให้ทำงานเพื่อชาติ ท่านได้เล่าต่อไปว่า

สายตาของพวกญี่ปุ่นเขาคอยจับเคลื่อนไหวเรา พอเริ่มนั่งเก้าอี้ได้เดือนหนึ่ง พ.อ.ทูโคตะ หัวหน้าสารวัตรญี่ปุ่น พร้อมด้วยนายเอบาตา ล่ามพิเศษได้มาเยี่ยมคำนับ แลเขาทราบว่าเราเคยไปอยู่ในนาวีญี่ปุ่นมาด้วย เขาจึงทำความสนิทสนมกับเรามาก จนเกิดการต้องเชิญเลี้ยงกันบ่อย ๆ หน่วยสารวัตรของเขาแลเราทำงานประสานกันได้ดีมาก โดยเหตุที่หัวหน้าสารวัตรของเขา เป็นคนสำคัญของแม่ทัพหน่วยงิ พลโทนาคามูระอยู่แล้ว เราจึงต้องถูกเชิญไปทุกคราวที่มีการ dinner ที่หน่วยงิ

แม้ท่านต้องคบทหารญี่ปุ่นเพื่อแก้เรื่องความยุ่งยากสงสัยกันเกิดขึ้นเนือง ๆ จน เบาบางลงมากแล้ว แต่ท่านก็ไม่ลืมหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติงานเสรีไทยกู้บ้านกู้เมือง ท่านจึงคิดถึงกองทัพประชาชนที่ขาดนายทหารนายสิบที่จะนำการรบ ขณะนั้นเป็นเวลาปิดการศึกษาในกรุงเทพ ราษฎรอพยพไปต่างจังหวัด ท่านจึงเรียกรับสมัครนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้ารับการฝึกฝน โดยใช้หลักสูตรนายร้อยสำรอง อบรมนักศึกษาจุฬาลงกรณ์ และหลักสูตรนายสิบ อบรมนักเรียนเตรียมทั้งจุฬาลงกรณ์และธรรมศาสตร์

ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็นพลเรือตรี และเปิดโรงเรียนสารวัตรทหาร ซึ่งมีกำลังสามกองร้อยทหารราบ กับหนึ่งหมวดปืนกลหนัก ได้รับครูจากทหารบก เรือ ตำรวจ มาช่วยอบรมสั่งสอน ได้ทำพิธีเปิดโรงเรียนต่อหน้ารัฐมนตรีกลาโหม นายพลโทนาคามูระและพันเอกทูโอตะ กับคณะนายทหารญี่ปุ่นได้มาเป็นแขกด้วย

เรื่องการเปิดโรงเรียนสารวัตรทหารนี้ ประธานรุ่นนักเรียนทหารสารวัตร พ.ศ.๒๔๘๘ ได้เล่าไว้ว่า

ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ได้มีการประชุมนิสิตชายทุกคณะแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยขึ้นที่หอประชุมจุฬาฯ มีนิสิตเข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พล.ร.ต.สังวรฯ ได้ลุกขึ้นกล่าวอารัมภบท และชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเปิดรับสมัครนักเรียนนายทหารสารวัตรครั้งนี้ สุดท้ายได้ขอร้องให้บรรดานิสิตทั้งหมดเสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร

ในตอนแรกบรรดานิสิตต่างงงงวย และไม่สู้เข้าใจในคำพูดของท่านสารวัตรใหญ่ทหาร เท่าใดนัก ทว่าต่อมามีการกระซิบบอกกันเป็นทางลับ ๆ ว่า การเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตรคราวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อไปสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นนั่นแหละ บรรดานิสิตทั้งหมดจึงเข้าใจ ต่างได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนนายทหารสารวัตรประมาณ ๓๐๐ คนเศษ หลังจากทำการตรวจโรคแล้ว จึงคัดเลือกผู้ที่เป็นนักเรียนนายทหารสารวัตรไว้ ๒๙๘ นาย

กิจการของนักเรียนทหารสารวัตร ที่มีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นผู้นำกองทัพประชาชน เพื่อปลดแอกจากกองทัพญี่ปุ่น จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น.


#############

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3606762
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘






 

Create Date : 18 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:59:09 น.
Counter : 2505 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๐) เสรีไทยเตรียมสู้ศึก

เรื่องเล่าจากอดีต (๒๐)

เสรีไทยเตรียมสู้ศึก

พ.สมานคุรุกรรม


ในคราวที่กองทัพไทยเตรียมต่อสู้ กับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ได้มีนายทหารสื่อสารท่านหนึ่งที่ได้ร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น ในฉากของมหามิตรด้วย ท่านมีบทบาทสำคัญในการป้องกันพระนคร ท่านผู้นี้คือ พันตรี ชาญ อังศุโชติ ท่านได้เขียนไว้ในเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ซึ่งได้ตัดตอนมาเล่า ดังนี้

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พ้นอำนาจทางการเมืองและการทหาร ในกลางปี พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว กรมบัญชาการกองทัพใหญ่ ได้ปรับปรุงการจัดกองพลที่ ๑ ให้มีสภาพเป็นกองพลรักษาพระนคร ตั้งอยู่ที่สวนพุดตาลในเขตพระราชฐาน (ใกล้พระที่นั่งพิมานเมฆ และ อภิเศกดุสิต) กับให้หน่วยทหารบกที่มิได้ขึ้นตรงต่อกองพลที่ ๑ ส่วนที่อยู่ในพระนคร รวมทั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก มาร่วมปฏิบัติการทางยุทธวิธี ตัวท่านเป็นฝ่ายเสนาธิการของกองพลในขณะนั้น

หน่วยนี้มีหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายทหารและคณะผู้ต่อต้านญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่ และแยกย้ายกันสดับตรับฟัง ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเตรียมการที่จะขัดขวาง หากว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะเข้ายึดการปกครอง และดำเนินการขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้ออกนอกประเทศไทย ร่วมกับฝ่าย สัมพันธมิตรเมื่อถึงเวลา

การดำเนินการต่าง ๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เปิดเผย เช่นการสร้างป้อมตามถนนสายสำคัญ ๆ ในพระนคร และการฝึกซ้อมทหารพร้อม ๆ กับเวลาที่ทหารญี่ปุ่นทำการฝึกซ้อมในพระนคร เป็นต้น ส่วนงานที่เป็นความลับ มีผู้ทราบความเคลื่อนไหวน้อย เช่น

การส่งนายทหารนายสิบ แทรกซึมเข้าไปทำหน้าที่รับใช้ ที่บ้านพักของนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสืบทราบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นับตั้งแต่ตัวแม่ทัพคือ พลโทนากามูรา ลงมา เรื่องนี้ปรากฏผลว่า สามารถรายงานข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่การต่อต้านเป็นอันมาก ผู้ที่ไปปฏิบัติงานนี้ทำได้แนบเนียนมากและได้ผลดี ไม่ปรากฏว่าฝ่ายญี่ปุ่นจับได้แม้แต่รายเดียว และได้ส่งนายทหารแทรกซึมไปในหมู่พ่อค้าชาวจีน ซึ่งบางรายก็ให้ความร่วมมือ ในการข่าวกรองด้วยความเต็มใจ บางรายก็ให้ข่าวโดยการพลั้งเผลอหรือไม่ตั้งใจ ชาวจีนบางคนร่วมมือกับญี่ปุ่นก็มี การเลือกเฟ้นเป้าหมายที่จะเข้าไปติดต่อ ต้องทำอย่างรอบคอบมาก ผลของงานนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ทราบความเคลื่อนไหวของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย จากฝ่ายพลเรือนอีกทางหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือการสร้างสนามบินลับที่ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ทหารสัมพันธมิตรโดดร่มลงมา เตรียมเข้าตีสนามบินดอนเมือง และการป้องกันสนามบินน้ำ โดยจัดสร้างโรงเรือนขึ้นเป็นอาคารแบบโรงเลี้ยงไก่และสุกร แต่มีกองรักษาการณ์ สถานีวิทยุสนาม ที่พักยานยนต์

และได้มีการจัดตั้งหน่วยพิเศษ ของกองพลรักษาพระนครขึ้น โดยได้คัดเลือกนายสิบพลทหารทุกหน่วยทหารต่าง ๆ ในพระนคร รวมประมาณ ๒๕๐ คน มีลักษณะกล้าหาญ เสียสละ และเก็บความลับได้ จัดตั้งเป็นหน่วยพิเศษขึ้นที่พระที่นั่งนงคราญสโมสร (บริเวณวังสวนสุนันทา) ใกล้ที่ตั้งของกองพลรักษาพระนคร หน่วยพิเศษนี้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างกวดขันมาก ภารกิจของหน่วยพิเศษนี้ คือการฝึกใช้อาวุธ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งร่มหรือนำมาส่งให้ โดยเรือดำน้ำ เช่น ปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลมือ เครื่องยิงและลูกระเบิดขว้าง กับระเบิด และเครื่องค้นหากับระเบิด การตรวจค้นและการทำลายวัตถุระเบิด การจู่โจมเข้าจับกุมฝ่ายตรงข้ามคนสำคัญ และระวังป้องกันอันตรายให้แก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบุคคลสำคัญของรัฐบาล การป้องกันอันตรายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งชาวต่างประเทศและคนไทย

ครั้งหนึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรนัดว่าจะส่งเครื่องบิน มาทิ้งยาให้ที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๘ หน่วยพิเศษได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยเก็บยา บังเอิญเนื่องจากอุปสรรคบางประการ จึงได้มีการเลื่อนวันทิ้ง มาเป็นวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๘ การทิ้งยาและเวชภัณฑ์ในวันนั้น สัมพันธมิตรดำเนินการอย่างอาจหาญและเปิดเผยมาก ไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด ความลับจึงแตก และทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นรู้แน่ว่า คนไทยได้ประสานงานกับสัมพันธมิตร เตรียมที่จะดำเนินการกับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว บรรยากาศในพระนครจึงได้เพิ่มความตึงเครียดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกนายสิบพลทหาร ที่มีความเข้าใจเรื่องการค้าขาย ไปเช่าร้านขายอาหารที่เชิงสะพานเทเวศร์ (สี่เสา) จัดให้ขายข้าวแกง ส่วนภายในร้านได้จัดเป็นรังปืนกล มีอาวุธกระสุน และเครื่องสื่อสาร กับที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กองพลรักษาพระนครได้เช่าบ้านหลังใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง ดัดแปลงเป็นรังปืนกลขนาดใหญ่ใต้พื้นดิน มีปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลหนักหลายกระบอก มีกระสุน และเครื่องรับส่งวิทยุสนามพร้อม รังปืนกลแห่งนี้ อยู่ในชัยภูมิสำคัญ ใกล้ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น และอยู่ใกล้ชุมทางสำคัญที่จะสกัดการเคลื่อนย้ายกำลังจากดอนเมืองเข้าพระนคร หรือจากพระนครออกไปสนามบินดอนเมืองได้

แต่สงครามก็ได้สงบลงเสียก่อน ที่จะได้ใช้ป้อมนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้สงวนชีวิตของทหารทั้งสองฝ่ายไว้ได้ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของฝ่ายญี่ปุ่นและไทย ไม่ถึงกับขาดสะบั้นไปโดยสิ้นเชิง

พันตรี ชาญ อังศุโชติ ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นนายทหารสื่อสารประจำกองพันทหารสื่อสารที่ ๒

ท่านได้ย้ายไปรับราชการในกองบัญชาการตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ - ๒๕๐๓

ได้รับพระราชทานยศ นายพลตำรวจตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒

และได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อรับราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด ใน พ.ศ.๒๕๑๔

ท่านครบเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗

เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘

และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔.

อีกท่านหนึ่งคือ พลตรี เฉลิม (มีนาภา) กรัณยวัฒน์ ท่านได้เล่าถึงภารกิจพิเศษของท่านไว้ในเรื่อง เมื่อผมเป็นเสรีไทย ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับ กันยายน ๒๕๓๓ ว่า

ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๘๘ ลางแพ้ของญี่ปุ่นเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง

ไทยเราต้องหาทางออกที่ดีที่สุด มิฉะนั้นแล้วจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามไปกับญี่ปุ่นด้วย ทางออกที่เหมาะ

สมคือตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น เมื่อ เดือน เมษายน ๒๔๘๘ หาวิธีการฝึกหน่วยเสรีไทย ให้มีความรู้ ความ

สามารถ ในการใช้อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือสื่อสาร และตกลงกับพันธมิตร

ในทางลับ เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น หน่วยเสรีไทยนี้มีทั้งทหารและพลเรือน ทางด้านทหารนั้น กรมยุทธ

ศึกษารับผิดชอบจัดส่งนักเรียนเทคนิคทหารบก ๗ นาย และนักเรียนนายร้อยทหารบกอีก ๗ นาย เดิน

ทางไปฝึกการใช้อาวุธ และเครื่องมือสื่อสารนอกประเทศ สำหรับนักเรียนเทคนิคทหารบกนั้น เลือกเอา

เหล่าทหารสื่อสาร ซึ่งสอบชั้นปีที่ ๔ ได้แล้ว คือ

นทน.เฉลิม มีนาภา นทน.ประทิน ทองทาบ นทน.วินัย ประคุณหังสิต นทน.พิน เจริญสุข วิสิษฐ์ ไหมแพง นทน.ประมวล บุญมาก นทน.ยงยศ วัชรศิริธรรม

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๘ นักเรียนเทคนิคทั้ง ๗ นายได้รับคำสั่งให้ไปรวมกันที่บ้าน พันตรี จันทร์ ศุภางคเสน ซึ่งอยู่ข้างโรงเรียนนายร้อยทหารบก ถนนราชดำเนินกลาง และได้รับแจ้งแต่เพียงว่า ให้ไปฝึกแถว ๆ อยุธยา เสื้อผ้าเอาติดตัวไปเท่าที่จำเป็น ห้ามแพร่งพราบเรื่องนี้ให้ผู้อื่นทราบ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมรุ่นเหล่าอื่น ๆ ก็ตาม ทั้งหมดได้พักกินอยู่หลับนอนที่บ้านของ พันตรีจันทร์ จนถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๘ จึงได้รับแจ้งในตอนบ่าย ๆ ว่าจะต้องเดินทางไปรับการฝึกที่ต่างประเทศ แต่ไม่บอกว่าฝึกอะไรที่ประเทศไหน ทุกคนไม่มีใครขัดข้องและพร้อมที่จะออกเดินทาง โดยแต่ละคนสวมกางเกงกีฬาขาสั้น สวมรองเท้ายาง มีกระเป๋าใส่หนังสือเรียน ที่นำมาจากโรงเรียนเทคนิคคนละหนึ่งใบ เสื้อผ้าติดตัวอีกคนละ ๒-๓ ชิ้น พอตกค่ำมีรถมารับที่ท่าวาสุกรี ลงเรือหาปลาชื่อ ประเสริฐปันหยี เดินทางลัดเลาะไปตามคลองออกปากอ่าวมุ่งไปทางใต้ ภายในเรือมีพลเรือนร่วมเดินทางไปด้วย ๕ คน

เรือหาปลา ประเสริฐปันหยี เดินทางไปส่งพวกนักเรียนเทคนิคที่เกาะเต่า และต้องรออยู่หลายวัน จนอาหารขาดแคลนต้องอาศัยมะละกอสุกเป็นอาหาร เข้าใจว่าเกาะนี้คงเป็นที่พักของนักโทษการเมือง ที่ถูกนำมาปล่อยไว้และเสียชีวิต เพราะมีป้ายปักชื่อไว้หลายป้าย ทั้งหมดอยู่ที่เกาะเต่าจนถึงตอนดึกของคืนวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๘๘ ก็มีเครื่องบินทะเลของกองทัพอังกฤษมารับ การถ่ายเรือไปขึ้นเครื่องบินทะเลนั้นทุลักทุเลมาก คลื่นลมแรงถึงกับเมาคลื่นไปหลายคน

เครื่องบินนำทั้งหมดไปลงที่เมืองมัดราสประเทศอินเดีย แล้วเดินทางต่อไปโดยรถไฟยังเมืองปูนา เพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อว่า Eastern Warfare School ทีอินเดียอากาศร้อนมาก ต้องใช้ผ้าขาวม้าที่นำติดตัวไปด้วย ชุบน้ำเช็ดตัวตลอดเวลาการเดินทางโดยรถไฟ

ที่โรงเรียนนี้มีการศึกษาสองหลักสูตร คือหลักสูตรฝึกการใช้อาวุธ และหลักสูตรพนักงานวิทยุ ส่วนใครจะเข้าเรียนหลักสูตรใดนั้น อยู่ที่ผลการทดสอบ และการทดสอบนี้ ทดสอบความแข็งแรงของร่างกายเป็นหลัก เช่นทดสอบการไต่เชือก การลอดเครื่องกีดขวาง มุดช่องยางรถยนต์ซึ่งแขวนไว้ เป็นต้น ส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานวิทยุไม่มีการสอบ นับเป็นการโชคดีที่นักเรียนเทคนิคเหล่าสื่อสาร ได้ฝึกการรับส่งประมวลเลขสัญญาณกันมาบ้างแล้ว และเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ที่เลือกนักเรียนเทคนิคเหล่าทหารสื่อสาร ไปฝึกนอกประเทศ จากผลการทดสอบ นทน.เฉลิม กับ นทน.วิสิษฐ์ ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรการฝึกใช้อาวุธ นอกนั้นศึกษาหลักสูตรพนักงานวิทยุ

ในการฝึกนี้ได้มีนายทหารมาฝึกร่วมอีกหนึ่งคนคือ ร้อยตรี ศิริ ศุภางคเสน น้องของ พันตรี จันทร์ ศุภางคเสน และในระหว่างการฝึกนี้ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคือ พันเอก หลวงสุรณรงค์ มาเป็นพี่เลี้ยงและทำหน้าที่นายทหารติดต่อด้วย

การฝึกก็มีการอ่านแผนที่และการทำแผนที่สังเขป เพื่อนำมาใช้ในการเดินทาง ไปยังที่หมายในภูมิประเทศ และการทำแผนที่ประกอบรายงาน อาวุธศึกษาคือการฝึกอาวุธเบาที่ใช้กับหน่วยที่จะปฏิบัติการก่อกวนต่อกำลังทหารญี่ปุ่น ที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ปืนพก ปืนสเตน วัตถุระเบิด มีดพก ให้สามารถถอก ประกอบ และยิงให้เกิดความแม่นยำ ฝึกการลอบฆ่าและการสู้ตัวต่อตัว ซึ่งใช้ประโยชน์ในการลอบเข้าไปกำจัดยาม เพื่อจะวางระเบิดทำลายที่หมายสำคัญ การฝึกจารกรรม การฝึกวางระเบิดและการโจมตีที่หมายต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้ต้องรับการฝึกอย่างหนัก ทั้งกลางวันกลางคืน จนจบหลักสูตรประมาณวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๘๘ จากนั้นก็ได้พักผ่อนและเตรียมตัวรับคำสั่ง ที่จะปฏิบัติงานต่อไป ในประเทศไทย แต่พอถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ก็ได้ทราบว่าญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ทุกคนก็ดีใจที่สงครามยุติลง โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันต่อไปอีก อีก ๒ วันต่อมาทั้งหมดก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับประเทศไทย ภารกิจของนักเรียนเทคนิคทหารบกรุ่นที่ ๘ ซึ่งไปฝึกที่ประเทศอินเดีย จึงสิ้นสุดลง และได้ออกรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหมด ๒๖ นาย เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๘

สำหรับ พลตรี เฉลิม กรัณยวัฒน์ นั้นได้รับราชการต่อมา จนได้ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ลำดับที่ ๘ เมื่อ ตุลาคม ๒๕๒๒ และเป็นหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร ลำดับที่ ๑๕ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๒๖ จึงได้เกษียณอายุราชการ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๑ อายุ ๘๕ ปี.

############















 

Create Date : 17 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:58:36 น.
Counter : 1580 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๙) นายกรัฐมนตรีหลังสงคราม

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๙)

นายกรัฐมนตรีหลังสงคราม

พ.สมานคุรุกรรม

ใน พ.ศ.๒๔๘๘ ตอนปลายสงคราม ค่ำวันหนึ่งได้มีการเลี้ยงแบบกันเองระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจัดสองอาทิตย์ต่อครั้งตามปกติ วันนั้นมีการรับประทานอาหารที่บ้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่ถนนเพชรบุรี คืนนั้นนายกรัฐมนตรีควงได้แสดงสุนทรพจน์เป็นภาษาญี่ปุ่น คืออ่านจากตัวหนังสือไทย ที่เขียนออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วได้มีการล้อเลียนสัพยอกถึงเรื่องลูกระเบิดแบบใหม่ ที่สหรัฐทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา ว่ามีฤทธิ์เดชมากสองวันแล้วยังมีฝุ่นคลุ้งอยู่

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ออกมารับประทานกาแฟ บรั่นดี และคุยกันที่ห้องกลาง ขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ๒-๓ นายรีบร้อนมาพบเอกอัครราชทูต และนายพลนากามูรา ซุบซิบอะไรกันอยู่ แล้วนายพลนากามูราก็รีบลากลับไปก่อนทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานกาแฟไม่เสร็จ

ทางฝ่ายไทยก็ได้ข่าวจากขบวนการเสรีไทยว่าญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ วันรุ่งขึ้นนายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญนายพลนากามูรากับพวกผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นมาถามเพื่อยืนยัน แต่นายพลนากามูราตอบปฏิเสธ

เรื่องนี้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าว่า หลวงประดิษฐ์ ฯ ฟังวิทยุแล้วก็เรียกผมไปหา บอกว่าควง...ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว เขาขอยอมแพ้โดยแจ้งผ่านทางรัสเซีย แล้วทูตญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว ผมแกล้งพูดสัพยอกทูตว่า ท่านทูตนา ผมนี่ตั้งต้นจับคนมามากแล้ว จับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส แล้วก้จับพวกเยอรมัน อิตาลี ต่อไปผมเห็นจะต้องจับท่านเสียแล้ว เขาก็หัวเราะ ผมถามว่าจะยอมแพ้ใช่ไหม เขาตอบว่า โอ...ไม่ยอมหรอก ผมก็ว่าเอาเถอะถ้าท่านจะยอมแพ้ก็ขอความกรุณา อย่าเอาผมและเมืองไทยไปเกี่ยวข้องด้วย ท่านยอมไปคนเดียวก็แล้วกัน เขาก็บอกตกลง

ต่อมาไม่ถึงสองวัน นายทหารญี่ปุ่นก็แต่งตัวเต็มยศสวมถุงมือ มาเยี่ยมคำนับผม แล้วยื่นหนังสือให้บอกว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้แล้ว เราจะให้เขาช่วยอะไรบ้าง ผมก็ตอบว่าขอความกรุณาอย่าช่วยฉันเลย ปล่อยให้ฉันทำของฉันเองเถิด โปรดบอกแก่รัฐบาลของท่านตามนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นเขาก็ดี เขาบอกว่าท่านจะหาวิธีอย่างไร ญี่ปุ่นไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ขอให้เมืองไทยรอดเถอะ ผมก็ตอบขอบใจเขา

ทีนี้ผมจะหาทางออกอย่างไรเล่า ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้ไปแล้ว แต่เมืองไทยยังรบอยู่คนเดียวถึง ๑๕ วัน จอมพล ป.ก็ประกาศสงครามกับเขาเสียด้วย ใคร ๆ ก็ยอมแพ้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่เมืองไทยเท่านั้นที่ยังไม่ยอม ตกลงว่าผมนี่ดูเก่งกาจนัก รบคนเดียวอยู่ได้ตั้ง ๑๕ วัน

ผมให้หลวงประดิษฐ์ ฯ ช่วยร่างประกาศให้ผม แล้วผมก็ไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาพอแว่วข่าวว่าเราจะประกาศว่า การทำสงครามของเราเป็นโมฆะก็เอะอะสงสัยกันใหญ่ ผมบอกว่านี่นิ่ง ๆ นะคุณ ประเดี๋ยวผมจะประกาศเอง แล้วผมก็เดินไปกระซิบกับบรรดาสมาชิกสภาว่า คราวนี้ถ้าพวกคุณไม่ยกมือให้พร้อมเพรียงกันละก็ตายนะคุณ ผมไม่รู้ด้วยนา ในที่สุดพวกนั้นก็ตกลง

พอผมประกาศว่าการทำสงครามเป็นโมฆะ สภาก็ลงมติเห็นชอบแหมยกมือกันพรึ่บหมด แล้วพวกนั้นก็สบายใจนึกว่าหมดธุระแล้ว แต่ไม่ใช่หมดนะ เราต้องฟังอังกฤษและอเมริกาเขาจะว่ายังไง ต่อมาอีกประมาณสามวัน อเมริกาก็ปล่อยข่าวออกมาว่าเห็นด้วย ไม่เอาธุระกับไทย ส่วนอังกฤษยังแบ่งรับแบ่งสู้ ผมก็รอดตัว ภายหลังหลอร์ดหลุยเมาท์แบทเตนโทรเลขมาถึงผม ให้จัดการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยทั้งหมด

ผมก็มาคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าให้ทหารไทยไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ก็จะเกิดเบ่งกันขึ้น แล้วก้อาจเกิดเรื่องใหญ่ ผมจึงเชิญนายพลนากามูรามาบอกว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเขาสั่งมาอย่างนี้จะให้ฉันทำยังไง เพราะเราเป็นเพื่อนกัน นายพลนากามูราบอกว่าท่านไม่ต้องวิตกหรอก ฉันจะปลดอาวุธตัวเอง ท่านส่งทหารไปรับมอบอาวุธตามจำนวนก็แล้วกัน เรื่องก้เป็นอันเรียบร้อย

บัดนี้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และผมจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทางอังกฤษและอเมริกาบอกมาว่าไม่ต้องลาออกก้ได้ หลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ไม่ยอมให้ผมออก แต่ผมชี้แจงว่าไม่ได้หรอก ผมเป็นรัฐบาลชุดร่วมสงครามกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วผมจะต้องไปด้วย จะอยู่ได้ยังไง เมื่อผมลาออกนั้น สมาชิกสภาทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามก็มาขอบใจผม ที่พาประเทศไทยรอดมาได้

ความจริงเขาไม่ควรจะขอบใจผม เขาควรจะขอบคุณพระสยามเทวาธิราชมากกว่า

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงแล้ว รัฐบาลของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้ลาออกตามมารยาท หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาของชาติมาเป็นเวลาประมาณ ๑๓ เดือน เมื่อท่านแถลงยื่นใบลาในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการปรบมือจากสมาชิกทั้งสภา เป็นเกียรติยศอย่างสูง

นายทวี บุณยเกตุ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพียงไม่กี่วัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้มีบทบาทในเรื่องเสรีไทยสายอเมริกามาตั้งแต่ต้น ก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้เป็นคนไทยคนแรกที่ประกาศจากกรุงวอชิงตันว่า จะไม่ยอมฟังคำสั่งของรัฐบาลที่มีหอกปลายปืนจี้หลังอยู่ ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังชนะสงครามทุกด้านในแปซิฟิค จึงนับว่าท่านเป็นผู้กล้าหาญอย่างยิ่ง และวิเคราะห์สถานะการณ์ในอนาคตได้อย่างถูกต้องที่สุด

ภายหลังจากที่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นแล้ว พันตรี ควง อภัยวงศ์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๓ ครั้ง ท่านได้เล่าไว้ว่า

การเมืองภายหลังสงครามก็มีเรื่องยุ่งเหยิงอยู่เรื่อย ๆ แต่ผมก็รอดมาทุกทีเพราะไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร ใครจะคิดอ่านกันอย่างไรก็ช่างเขา ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ขอเล่าย่อ ๆ ว่าเมื่อตอนที่เกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง ครั้นเขามาเชิญผมเป็นนายก ก็ใช่ว่าผมจะไม่รู้ว่าเขาจะเอาผมไปเป็นนั่งร้านให้เขา แต่ผมก็จำเป็นต้องรับ

ก่อนจะรับเราได้ก็ได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่บ้านผมตั้งตีสองตีสาม มีหลายคนเห็นว่าไม่ควรรับ ผมก็ชี้แจงให้ฟังว่าถ้าเราไม่รับก็จะเกิดเรื่องใหญ่ เพราะฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ และฝ่ายหลวงพิบูล ฯ ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากด้วยกัน ถึงเขาจะเคยเป็นเพื่อนกัน แต่เมื่อเกิดเรื่องระหว่างลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ เราก็จะพลอยลำบากไปด้วย เอาเถอะเราจะช่วยเข้าไปขวางกลางให้ก็แล้วกัน ตกลงพวกผู้ใหญ่ ๆ ก็เห็นด้วย กับผม เพราะฉะนั้นจึงว่าที่ผมรับเป็นนายกครั้งนั้น ไม่ใช่จะรับโดยไม่รู้ตัว ว่าเขาจะยืมมือเราเป็นการชั่วคราว ครั้นเขามาจี้ให้ผมออก ผมก็ถามว่าพวกคุณทำได้หรือ เมื่อเขาบอกว่าทำได้ก็ให้เขาทำกันไป

ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งเกิดการรัฐประหารโดยมี พลโท ผิน ชุณหวัณ เป็นหัวหน้า เมื่อเชิญท่าน ควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงระยะสั้น ๆ แล้วก็มีคณะรัฐประหาร มาเชิญให้ลาออก เพื่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ท่านก็ยอมลาออกแต่โดยดี ท่านสรุปสุดท้ายไว้ในการปาฐกถา เรื่องชีวิตของข้าพเจ้า ณ หอประชุมคุรุสภา เมื่อ ๒๓ พศจิกายน ๒๕๐๖ ว่า

ในชีวิตของผมถือว่า ผมมาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน พระสงฆ์ท่านอุตส่าห์เล่าเรียนศีลธรรมก็เพื่อไปสู่นิพพาน แต่นักการเมืองนี่ก็มุ่งหมายจะมีอนุสาวรีย์ตามถนน เรื่องร่ำรวยหรือยากจนเพียงไหนไม่สำคัญอะไรเลย ผมได้เล่ากำพืดของผมให้ฟังแล้ว เรื่องความร่ำรวยนั้นผมก็เคยมาแล้ว และการที่มีคนมากราบไหว้ก็ผ่านมามาก เหมือนคนที่เคยกินเหล้าตั้งขวดมาแล้วยังไม่เมา ถ้ากินเพียงครึ่งขวดมันจะเมาที่ไหน คนที่มันเมานั้นก็เพราะไม่เคยกินต่างหาก กินเข้าไปหน่อยเดียวเลยเมา

ท่านอาจจะเห็นว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว หรือเป็นอะไร ๆ แล้วนี่น่ะ บางคนจมไม่ลง แต่ผมจมลง เป็นนายกแล้วก็จมลง ผมเดินเปะปะไปที่ไหนต่อที่ไหนก็ได้ กินข้าวที่ไหนก็ได้ รถเมล์รถรางหรือรถอะไรก็ขึ้นได้ เพราะการได้ตำแหน่งมันเป็นเรื่องสวมหัวโขนเท่านั้น

ส่วนเกียรติของผมยังอยู่ แม้ว่าผมจะเดินเตะฝุ่นกลางถนนก็ตาม เพราะผมไม่ได้ไปเอาอะไรจากใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ผมกลัวเสียชื่อวงศ์ตระกูลของผม ผมจึงทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และทำตามอุดมคติของผม

ผมขอเรียนตามตรงว่า เวลานี้ผมสบายจะหันหน้าไปหาประชาชน เขาก็ต้อนรับดี เราจะมีเงินสักกี่แสนกี่ล้านก็ซื้อจิตใจประชาชนไม่ได้ และเงินน่ะเรากินได้ไหม เพชรพลอยก็กินไม่ได้ จะกินได้ก็แต่เพียงอาหารมื้อละอิ่มเดียว บางคนยังกินอาหารไม่ได้ด้วยซ้ำ ได้แต่ผะงาบ ๆ อยู่

การที่ผมต้องเข้ามาพัวพันกับการเมือง ไม่ใช่ผมอยากเป็นนักการเมือง แต่เหตุการณ์มันดึงให้ผมเข้าไปเอง อย่างที่เล่ามาให้ฟังนี่แหละ ดึงกันไปดึงกันมา ผมเลยจมเข้าไปในการเมืองจนถอนตัวไม่ออก ครั้นจะถอนตัวก็จะถูกหาว่าหนี แต่ครั้นจะอยู่ก็ผะอืดผะอมเต็มประดา

บรรดาเพื่อน ๆ ของผมทุกคน หลวงพิบูล ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ดี ถึงแม้จะมีเรื่องขัดแย้งกันในทางการงาน ผมก็ไม่ได้คิดโกรธเคืองอะไรกับใคร ผมทำหน้าที่ของผมเท่านั้น เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็แล้วกันไป ความเป็นเพื่อนกับหน้าที่ต้องแบ่งแยกกัน สิ่งใดที่ผมไม่เห็นด้วยผมก็บอกไปตามความเห็น ถ้าไม่เชื่อกันก็ไม่ใช่ความผิดของผม แต่ในทางส่วนตัวผมก็ยังถือว่าเราคงเป็นเพื่อนกันอยู่เสมอไป

ชีวิตของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีงาม ในประวัติศาสตร์ชาติไทยคนหนึ่ง ได้มาถึงจุดสิ้นสุดลงเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๖.๓๐ น. สิริรวมอายุได้ ๖๕ ปี กับ ๑๐ เดือน

บันทึกของคนเดินเท้า ชุดนี้จึงยุติลงแต่เพียงนี้.

#########

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๑






 

Create Date : 16 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:57:32 น.
Counter : 1725 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๘) นายกรัฐมนตรียามสงคราม

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๘)

นายกรัฐมนตรียามสงคราม

พ.สมานคุรุกรรม


เมื่อ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยไม่เกิดเรื่องยุ่งยากวุ่นวายในระหว่างคนไทยด้วยกันแล้ว ท่านก็ต้องคอยแก้ปัญหายุ่งยากระหว่างรัฐบาลไทย กับกองทัพญี่ปุ่นต่อไป ท่านเล่าว่า

เมื่อเสร็จจากเรื่องหลวงพิบูล ฯ แล้ว ผมก็ต้องคอยแก้ปัญหาระหว่างเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่น เหมือนถูกบังคับให้ขี่ม้าสองตัว คือเสรีไทยตัวหนึ่ง และญี่ปุ่นอีกตัวหนึ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ มันลำบากจริง

คืนวันหนึ่งพวกเสรีไทยเอาฝรั่งคนหนึ่งที่ถูกกักกันในแคมป์ชนชาติศัตรูที่กรุงเทพ ฯ ส่งไปเมืองนอก จึงเกิดวิตกว่าถ้าตอนรุ่งเช้าพวกญี่ปุ่นไปตรวจพบว่าขาดจำนวนจะทำยังไง แต่บังเอิญพระสยามเทวาธิราชช่วยผมแท้ ๆ ในคืนวันนั้นเองพระสงฆ์ท่านนำฝรั่งที่หลบหนีจากค่ายกาญจนบุรี มาให้ผมคนหนึ่ง ผมก็ให้ผู้ควบคุมค่ายเอาไปยัดใส่แทน ผู้ควบคุมแย้งว่ามันเป็นคนละคนกันกับที่หายไปนี่ ผมก็บอกว่า เคยนึกบ้างไหมเวลาเราดูฝรั่งก็เห็นหน้ามันคล้าย ๆ กัน หรือเมื่อฝรั่งดูพวกเรา ก็เห็นคล้ายกันเหมือนกัน ยังไง ๆ พอเขาเรียกชื่อหมอนั่น ก็ให้หมอนี่ขาน “เยสเซ่อร์” ก็แล้วกัน เผอิญได้ผลจริง ๆ เรารอดตัวไป

ส่วนที่เขาหาว่าผมหักหลังญี่ปุ่น และบางคนก็ไปเขียนอะไรต่อมิอะไรกันนั้น ไม่เป็นความจริงหรอก เมื่อเขาตั้งเสรีไทยขึ้นนั้น ผมก็ทำความเข้าใจกับเขาแล้วว่า ผมจะต้องทำหน้าที่ของผม ในฐานะที่ร่วมรบกับญี่ปุ่น แต่ผมจะหลิ่วตาให้ข้างหนึ่งสำหรับเสรีไทย เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ตกลงไหม เมื่อเขายอมตกลงผมก็เลยขาดจากเสรีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา ผมไม่เคยเสียคำมั่นสัญญา ไม่เคยเสียสัตย์ เพราะเราต้องรักษาชื่อเสียงของชาติไทย และเกียรติของไทยผมรักษานัก เมื่อเราให้คำมั่นสัญญาแล้วเราต้องถือเด็ดขาด ผมไม่เคยหักหลัง แต่ผมต้องคอยแก้ปัญหาดังที่เล่าให้ฟัง

ขณะนั้นสงครามโลกด้านแปซิฟิคขับขันมากขึ้นแล้ว ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดญี่ปุ่นที่ไซ่ง่อน ดูจะมีความระแวงฝ่ายไทย ตามสี่แยกถนนสำคัญ ๆ ในพระนครหลายสาย มีป้อมมูลดินของญี่ปุ่นกับของไทยตั้งเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างขอให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปตรวจดูว่า ความจริงสร้างขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร

ญี่ปุ่นคงจะทราบความเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นอย่างดี นายฮาตาโนซึ่งเป็นล่ามของนายพลนากามูรานั้น ก็เป็นนักเรียนอัสสัมชัญ พูดไทยและอ่านหนังสือไทยได้อย่างคนไทยทั่ว ๆ ไป เมื่อมีเสรีไทยมาโดดร่มและถูกจับได้ ฝ่ายญี่ปุ่นก็มุ่งจะเอาตัวไปสอบสวนและปฏิบัติอย่างอื่นต่อไป แต่ฝ่ายไทยก็อ้างว่าเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น เป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ฉะนั้นจึงมีสิทธิเหนืออริราชศัตรูไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง ไทย หรือชาติใดก็ตาม

พันตรี ควง เล่าว่า อย่างสนามบินลับของเราก็เหมือนกัน พวกญี่ปุ่นมาประท้วงตั้งแต่เช้า เอาแผนที่ออกมากางให้ดู แล้วชี้ว่านี่สนามบินลับอยู่ทางเหนือ ความจริงท่านก็ทราบว่าเป็นสนามบินลับที่พวกเสรีไทยเขาทำขึ้น แต่ท่านบอกว่าไม่จริงกระมัง เขาก็ยืนยันว่าจริงซี เขาถ่ายรูปมาด้วย ท่านก็ว่าถ้ายังงั้นพรุ่งนี้ตั้งกรรมการผสมไปตรวจ แล้วก็ตกลงตั้งกรรมการผสมไทยญี่ปุ่นขึ้น

แล้วท่านก็วิ่งไปบอกหลวงประดิษฐ์ ฯ ว่า นี่.....อาจารย์ ต้องรีบจัดการปลูกพืชอะไรไว้นะ พรุ่งนี้กรรมการผสมจะไปตรวจ ถ้าเขาจับได้ผมไม่รู้ด้วยนะ ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ ฯ ก็ส่งวิทยุสั่งการให้ปลูกต้นกัญชา ต้นอะไร รดน้ำกันใหญ่ พวกกรรมการผสมไปดูก็เห็นมีพืชปลูกอยู่จริง ๆ เรื่องก็เลิกกันไป

เหตุนี้คงจะทำให้ จอมพล เคานต์เตราอุจิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ไซ่ง่อนระแวงไทยมากขึ้น จึงสั่งให้นายพลนากามูรา ผู้บัญชาการหน่วยงิประจำประเทศไทยขอกู้เงินเพื่อสร้างที่มั่นรับสัมพันธมิตร ความจริงญี่ปุ่นได้เตรียมแนวป้องกันไว้แล้ว คือที่มั่นตั้งแต่แนวภูเขาที่หินกอง จังหวัดสระบุรี เป้นระยะ ๆ ไปจนถึงจังหวัดนครนายก

เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นเสนอขอกู้เงินมานั้น ฝ่ายไทยได้ปรึกษาหารือกัน และกำหนดว่าจะตอบปฏิเสธฝ่ายญี่ปุ่นไป เรื่องเช่นนี้ควรจะต้องเป็นเรื่องลับที่สุด แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ นายพล นากามูราได้ระแคะระคายว่าฝ่ายไทยจะตอบปฏิเสธ จึงมาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ได้ทราบข่าวว่าฝ่ายไทยจะปฏิเสธเรื่องญี่ปุ่นขอกู้เงิน ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็ขอบอกว่า ญี่ปุ่นจำจะต้องยึดครองประเทศไทย เพราะเป็นนโยบายและคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลเองไม่มีอำนาจขัดขืน ทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากจะยึดครองประเทศไทยเลย

อีกครั้งหนึ่งท่านเล่าถึงเรื่องที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาเครื่องบินมาทิ้งยาให้ไทย แต่แทนที่จะให้เอาไปทิ้งตามทุ่งนาก็ไม่เอา กลับให้เอามาโยนลงที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรานี่เก่ง แต่ไม่ได้คิดถึงท่านซึ่งเป็นนายก ฯ อกแทบพัง แล้วพวกเราก็วิ่งไปรับกันเสียด้วย จะรอให้เครื่องบินไปเสียก่อนแล้วจึงค่อยวิ่งไปตะครุบก็ไม่ได้

ท่านเล่าว่า พอตอนกลางคืนญี่ปุ่นก็เชิญผมไปกินข้าว เพราะตามธรรมดาพอมีเรื่องอะไรเขาก็เชิญผมกินข้าวทุกที เมื่อไปพบกับเขาหน้าผมก็ไม่สบายเพราะกำลังหนักใจว่าจะทำยังไงดี พอนายพลนากามูระเห็นผมก็ทักว่า เอ..ท่านนายกทำไมถึงหน้าตาไม่เสบยอย่างนี้

ผมก็บอกว่าพุธโธ่ ปวดศรีษะจะตายไป ส่วนเอกอัครราชทูตยามาโมโต ก็กระแหนะกระแหนว่า ทำไมท่านไม่กินยาที่เขาเอามาทิ้งให้เมื่อเช้านี้ล่ะ ผมก็ไหวทันตอบไปว่า ลองกินเข้าไปซี ถ้าฉันเกิดตายไปแล้วท่านจะเอานายกที่ไหนมาแทนเล่า พวกนั้นก้หัวเราะขบขัน เลยกินข้าวด้วยกัน แล้วเรื่องก็เลิกกันไปอีก

ทางฝ่ายขบวนการเสรีไทย ก็คงมีการตระเตรียมกันหลายด้าน ด้วยความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะสนับสนุนการดำเนินการในไม่ช้านัก ฝ่ายตำรวจซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ พล.ต.อ.หลวงอดุลย์ ฯก็ได้มีการเปลี่ยนจากพกอาวุธปืนสั้นมาถืออาวุธปืนเล็กยาวทั่วไป

ญี่ปุ่นได้สังเกตเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน นายพลนากามูรา ทูตทหารบก ทูตทหารเรือ และบุคคลสำคัญฝ่ายสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น จึงขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อถามถึงเรื่องตำรวจเปลี่ยนมาถืออาวุธปืนเล็กยาว แทนที่ท่านจะอึกอักท่านกลับหัวร่อเอิ๊ก ๆ แล้วตอบว่า

“ แล้วกัน ท่านนายพล ผมจ่ายปืนพกให้ พวกตำรวจก็เอาไปขายเสียหมด แล้วก็บอกว่าปืนหาย ยินดีชดใช้ให้ตามราคาของทางราชการ ก็ปืนพกขณะนี้ราคาแพงมาก ผมจะเอามาจ่ายให้ที่ไหนไหว ปืนยาวนั้นขายยากกว่า ผมจึงสั่งให้จ่ายแต่ปืนยาว เรื่องมันเท่านั้นเอง “

เมื่อได้สนทนากันถึงเรื่องอื่นอีกเล็กน้อย ฝ่ายญี่ปุ่นก็ลากลับไป

ตามปกติแล้วนายกรัฐมนตรีควง ก็คงอยู่ที่บ้านของท่านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ แถบนั้นมีหน่วยทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน อีกหน่วยหนึ่งก็อยู่ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อเหตุการณ์คับขันมากขึ้น ผู้บัญชาการกองพล ๑ ได้ขอร้องให้ท่านย้ายบ้าน เกรงว่า เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ทหารไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางบางซื่อ จะมาให้ความคุ้มครองไม่ทัน และถ้านายกรัฐมนตรีถูกฝ่ายญี่ปุ่นจับตัวไป ก็จะเป็นเรื่องลำบากมาก ท่านจึงได้ยอมย้ายไปอยู่บ้านสวนอัมพวัน ใกล้เขตทหารขึ้น

ท่านเล่าว่า เมื่อพูดกันตามความจริงท่านก็ช่วยญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หักหลังเขาเลย เช่นปัญหาเรื่องการกู้เงิน ญี่ปุ่นกู้เราเรื่อย ๆ จนเราไม่มีสตางค์จะให้ รัฐมนตรีของเราบอกเขาว่าเราให้กู้ไม่ได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ตั้งข้อสงสัยว่าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา ท่านจึงบอกรัฐมนตรีคลังให้เชิญฝ่ายญี่ปุ่นมาประชุมกับท่านที่ทำเนียบ

ครั้นถึงวันประชุมฝ่ายญี่ปุ่นก็มาพร้อมเพรียง รวมทั้งเอ็กซเปอร์ททางการคลังของเขาด้วย ฝ่ายเรานั้นท่านคิดอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเขามีความระแวงสงสัยไม่เชื่อใจเรา จะมัวโต้เถียงกันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร รังแต่จะเพิ่มความสงสัยมากขึ้น ท่านก็เอาตัวเลขการคลังของเราทั้งหมด ส่งให้ เอ็กซเปอร์ทของญี่ปุ่น แล้วบอกว่าวานท่านทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังให้ฉันทีเถอะ ถ้าท่านเห็นว่าไอ้ตัวเลขอย่างนี้ ควรให้ญี่ปุ่นยืมได้เท่าไร ฉันจะเซ็นอนุมัติให้เดี๋ยวนี้แหละ แล้วท่านก็ชักปากกาออกมาเตรียมถือไว้

ท่านทำใจดีสู้เสือแท้ ๆ ทีเดียว พวกญี่ปุ่นปรึกษากันบ๊งเบ๊งอยู่พักหนึ่งก็ลุกขึ้นโค้ง บอกว่าให้ยืมไม่ได้หรอก เราก็เลิกประชุมกันเท่านั้นเอง

นี่แหละเมืองไทย เรารอดมาได้ ไม่ใช่ความสำคัญของผมเลย เพราะสยามเทวาธิราชแท้ ๆ เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เรามีใจเป็นธรรมก็ย่อมชนะ ผมอาจจะต้องลำบากในตอนต้น แต่ตอนปลายผลสุดท้ายก็ต้องชนะ

และนี่คือการทำงานระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวาน ของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ เท่านั้น.

##############

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑




Create Date : 25 ธันวาคม 2551
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2552 21:53:02 น.




 

Create Date : 14 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:56:53 น.
Counter : 962 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.