Group Blog
 
All Blogs
 
ชีวิตระหว่างสงคราม (๑) (๒)

ย้อนอดีต

ชีวิตระหว่างสงคราม

พ.สมานคุรุกรรม

ตอนที่ ๑ (๑ ธ.ค.๕๓)

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 (พ.ศ.๒๔๘๒) เมื่อ เยอรมนีและสโลวาเกียเริ่มการรุกรานโปแลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และบรรดาประเทศในครือจักรภพแห่งชาติ ประกาศสงครามกับเยอรมนี

ขณะนั้นผมเพิ่งมีอายุได้ ๘ ขวบ และสงครามนั้นได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ผมก็มีอายุได้ ๑๐ ขวบกว่า ย้ายบ้านจากตรอกโรงเรียนนายร้อย ถนนราชดำเนินนอก มาอยู่ที่ซอยสวนอ้อย หน้าวชิรพยาบาล ถนนสามเสน ได้ไม่กี่เดือน และเข้าเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมวัดราชา ธิวาส ชั้นมัธยมปีที่ ๒

เมื่อจะรำลึกถึงอดีตในสมัยนั้น ก็เป็นการยากที่จะจำได้อย่างละเอียดลออ จึงต้องอาศัยบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของแม่ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนปัญญานิธิ ที่เป็นโรงเรียนราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ถนนพะเนียง นางเลิ้ง เป็นหลักฐานแล้วจึงค่อยทวนความทรงจำ ถึงเรื่องราวที่ได้พบเห็นในสายตาของเด็ก อายุ ๑๐ – ๑๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๘ เท่าที่พอจะนึกออก แต่ก็จะไม่อาศัยหนังสือที่ผู้อื่นเขียน หรือที่ได้เรียบเรียงไว้หลายเล่มในช่วงหลังสงคราม มาปะปนหรือสอดแทรกให้น่าเชื่อถือ คงไว้แต่เรื่องที่ตนเองรู้เห็น หรือจดจำไว้ได้เท่านั้น

ดังนั้นจึงต้องอาศัยบันทึกของแม่ ตั้งแต่วันแรกเริ่มของสงครามทีเดียว ท่านเขียนไว้ว่า

บัดนี้เหตุการณ์ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว คือ ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ และประเทศอเมริกาแล้ว แต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ และทหารญี่ปุ่นได้มาขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และจังหวัดพิบูลสงครามของไทย เมื่อเวลา ๖.๐๐ น. ของวันที่ ๘ ธันว์ ทหารไทยได้ต่อต้านปะทะกับทหารญี่ปุ่นอย่างสมเกียรติ ข่าวนี้ประกาศทางวิทยุของไทยในวันนี้ และมีประกาศอื่น ๆ อีกตลอดวัน

๑.ประกาศควบคุมแสงไฟ
๒.ประกาศใช้เสียงหวูดหรือไซเรน
๓.ประกาศงดงานฉลองรัฐธรรมนูญ
๔.ประกาศงดการหยุดในงานฉลองรัฐธรรมนูยของข้าราชการ
๕.ประกาศให้ราษฎรเตรียมน้ำเตรียมไฟไว้ในเวลาฉุกเฉิน อาจจะไม่มีใช้

ตอนบ่ายวันนี้รัฐบาลได้ประกาศว่า การที่ทหารไทยได้ปะทะกับทหารญี่ปุ่นเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงเศษนั้น ได้ยุติลงแล้ว โดยทูตญี่ปุ่นได้มาเจรจากับท่านนายกว่า กองทหารญี่ปุ่นขอผ่านทางเดินในดินแดนของไทย แต่มิได้ถือว่าไทยเป็นศัตรูของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นจะเคารพต่อความเป็นเอกราชของไทย รัฐบาลได้ตกลงยินยอมให้กองทัพผ่านไป

นั่นคือฉากแรกในวันแรก ที่เงาของสงคราม ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งนำความลำบากยากแค้นมาให้ประชาชนคนไทย ที่กำลังชื่นชมกับชัยชนะในกรณีพิพาทกับ อินโดจีนของฝรั่งเศส จนได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงมาอยู่ในอธิปไตยของประเทศไทยเมื่อต้นปี

แต่คราวนี้เป็นสงครามใหญ่ระดับโลก ซึ่งแตกต่างกันราวกับฟ้าดิน ซึ่งคนไทยทุกคนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เลย.

เริ่มแรกก็คือการพรางไฟ ซึ่งไฟฟ้าทุกดวงในบ้านต้องเอาผ้าสีน้ำเงินมาหุ้มโป๊ะไฟโดยรอบ ให้แสงไฟส่องตรงลงมาอย่างเดียว ไม่กระจายออกไปนอกห้องหรือนอกบ้าน ไฟฟ้าที่อยู่นอกบ้านจะต้องเลิกเปิด อย่างเด็ดขาด เวลากลางคืนสายตรวจของตำรวจ ที่ต้องเดินเท้าเพราะยังไม่มีรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ใช้ พบว่ามีบ้านไหนมีแสงไฟลอดออกมา ก็จะตักเตือนทันที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันภัยทางอากาศ โดยได้เริ่มมีการซ้อมป้องกันภัย หรือที่เรียกย่อว่า ซ.ป.อ.หลายครั้ง ให้ประชาชน ได้รู้จักสัญญาณมีภัยทางอากาศ โดยจะเปิดไซเรนจากโรงงาน หรือหอสัญญาณที่ทางการติดตั้งใหม่ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในวัด เสียงนั้นดังเป็นห้วง ๆ เหมือนเสียงสัญญาณของรถดับเพลิง และสัญญาณปลอดภัย ที่เป็นเสียงลากยาวท่อนเดียวตั้งแต่เริ่มจนจบ โดยที่รถดับเพลิงสมัยนั้น กลับไปใช้เสียงรัวระฆังแบบโบราณ สมัยที่รถดับเพลิงยังลากด้วยม้านั่นเอง

วันต่อมาก็เป็นการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นทหาร ได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดต่อไปในยามสงคราม เช่นห้ามไม่ให้เปิดรับวิทยุต่างประเทศ ให้มีเสียงดังได้ยินไปถึงบ้านคนอื่น เมื่อฟังแล้วไม่ให้นำข่าวนั้นไปเผยแพร่แก่คนอื่น ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ทำมาหากินไปตามปกติ ส่วนคนที่แตกตื่นอพยพออกจากบ้านเรือนไปนั้น ก็ให้กลับมายังถิ่นฐานบ้านเรือนของตนตามเดิมเหตุการณ์ทั่วไปก็ยังเป็นปกติอยู่ต่อมา นอกจากจะมีการส่งกองทหารผ่าน ไปทางทิศใต้ของประเทศไทยเท่านั้น แม้ราคาเครื่องอุปโภคบริโภคในตลาดจะสูงขึ้นบ้าง ก็ยังไม่เป็นที่เดือดร้อนเท่าไร

ถึงวันขึ้นปีใหม่ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งต้องงดการจัดงานปีใหม่ นอกจากการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง แต่มีการปราศรัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย และ พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทางวิทยุกระจายเสียง จากโตเกียวและพระนคร กับเพิ่มรายการภาษามาลายู ภาษาพม่า และภาษอินเดีย ขึ้นจากรายการปกติด้วย

จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๕ ชาวพระนครจึงประสบกับภาวะสงครามเป็นครั้งแรก จากบันทึกของแม่ เขียนไว้ว่า

ประมาณเวลา ๔ นาฬิกา เสียงระเบิดลูกแรกทำให้สะดุ้งตื่น พอลุกขึ้นนั่งก็ได้ยินเสียงหวูดอันตราย พร้อมกับเสียงระเบิด บึ้ม ๆ ๆ ๆ อีก ๖ ครั้ง (คนในบ้านเปิดประตูห้องนอน ออกมาดูที่นอกชาน) ก็เห็นเรือบินข้าศึกเปิดไฟแดง ทุกคนต่างเข้าใจว่าเรือบินของไทยขึ้นต่อสู้ เพราะเห็นยิงปืนกลด้วย เงียบไปสักครู่ก็บินกลับมาอีก เสียง ป.ต.อ. ยิงขับไล่กับเสียงระเบิดปนคละกันไป ไฟฉายส่องจับเห็นเรือบิน แต่ไม่ได้ถูกยิง แล้วเงียบไป เวลา ๕ นาฬิกาครึ่ง หวูดหมดอันตรายจึงดังขึ้น ต่างเข้าครัวหุงข้าวกินโดยไม่ได้นอนอีก นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรก ของกรุงเทพมหานคร

ขณะนั้นทั้งบ้านมีผู้อาศัยอยู่ห้าคน คือ น้าและพี่สาว ลูกของน้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน แม่และผมกับน้องสาว เป็นผู้อาศัย มีผู้ชายแต่ผมคนเดียวอายุเพิ่งจะ ๑๑ ขวบ แม่ได้บันทึกเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้นไว้อย่างละเอียดยิบ

ผลเสียหายฝ่ายเรามีดังนี้
๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย
๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้
๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย
๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน
๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตราย เพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล และบ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ
๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง
รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก

เช้าวันพฤหัสที่ ๘ นี้ ตามถนนหนทางช่างมีคนเดินไปมามากเหลือเกิน รถรางรถเมล์ ก็เต็มไปด้วยคนโดยสารจนแน่นขนัด รถจักรยาน(สามล้อถีบ)ก็ขึ้นราคาเป็นสองเท่า ทั้งนี้เพราะบ้างก็อพยพ บ้างก็จะไปดูสถานที่ถูกระเบิด บ้างก็จะไปเยี่ยมญาติที่บาดเจ็บ บ้างก็จะไปทำราชการ บ้างก็จะไปโรงเรียน เมื่อขึ้นรถไม่ได้ต่างก็เดินกันไป

เมื่อถึงวันที่ ๑๕ มกราคม๒๔๘๕ แม่ก็บันทึกต่อว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งถึงโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วไป ใจความว่า

ปีนี้ไม่มีการสอบ
ไล่ แต่ให้ตัดสินโดยถือเกณฑ์เวลามาเรียนร้อยละ ๖๐ เป็นสอบได้ และให้ปิดโรงเรียนจนกว่าจะสั่งให้เปิด คือปิดตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป

วันเสาร์ที่ ๒๔ มกร ๘๕ วันนี้เวลา ๒๐.๓๐ น. ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นแต่ไกล แล้วหวูดอันตรายจึงดังขึ้น เงียบอยู่ประมาณ ๒๐ นาที เครื่องบินก็มาปรากฏในพระนคร เสียงระเบิดอีก ๒ ครั้ง และเสียงปืนยิงหลายนัด แล้วมีเสียงไชโยทั่วไปทุกถนน เพราะยินดีที่เห็นเครื่องข้าศึกถูกปืน เงียบไปสักสิบนาที เครื่องบินก็ผ่านมาอีก เสียงปืนยิงอีก แล้วก็เงียบไปอีก ๒๐ นาที เครื่องบินก็ผ่านมาอีกเป็นครั้งที่สาม แล้วเงียบเลย เวลา ๒๒ น.จึงเปิดหวูดหมดอันตราย

วันอาทิตย์ ๒๕ มกร ๘๕ เช้าวันนี้ได้ความว่า เมื่อคืนนี้มีเครื่องบินข้าศึกมารบกวนพระนคร ๒ เครื่อง ถูกยิงตก ๑ เครื่อง ที่ตำบลตลาดพลูฝั่งธน อีก ๑ เครื่องก็เสียหาย อาจไม่ได้กลับถึงฐานทัพ ฝ่ายเราเสียหายคือ

๑.ตลาดชูชีพที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถูกระเบิดทำลาย ตลาดนี้เป็นของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ พอเสาร์ก็ถูกระเบิดตลาดพัง
๒.ตึกแถวของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งอยู่หน้าบ้านของท่าน ริมสะพานกษัตริย์ศึก
๓.วัดเลียบ ไม่เป็นอันตราย

ส่วนเครื่องบินข้าศึกที่ตกนั้น นักบินตายหมด เพราะเครื่องบินระเบิด ร่างกายไม่มีชิ้นดี เรื่องนี้ผมได้อ่านหนังสือสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต แต่งขยายความอย่างสนุกสนาน.

#############


ย้อนอดีจ

ชีวิตระหว่างสงคราม

พ.สมานคุรุกรรม

ตอนที่ ๒

๒๕ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นต้นไป เพราะประเทศทั้ง ๒ นี้ ได้รุกรานประเทศไทย ในระยะเดือนธันวาคม และมกราคม นี้ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ทางอากาศ ๓๐ ครั้ง ทางพื้นดิน ๓๖ ครั้ง สุดที่ประเทศไทยจะอดทนต่อไปได้ จึงประกาศสงคราม

สาเหตุที่อ้างนั้นทางอากาศพอจะรวม การที่มีเครื่องบินล้ำเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย ในเวลานั้นทั้งหมด แต่ทางพื้นดินนึกไม่ออกว่าอ้างเหตุใด ไม่มีใครอธิบายให้ทราบจนบัดนี้

จากนั้นก็มีการสร้างหลุมหลบภัยเป็นการใหญ่ ทั้งทางราชการและประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำรูปแบบของหลุมหลบภัย แบบเปิดก็คือการขุดดินลงไปให้ลึกพอที่จะปูเสื่อนั่งกับพื้นแล้วศีรษะไม่พ้นหลุม ถ้าบ้านไหนคนน้อยเนื้อที่น้อย ก็ขุดไม่ยาวนัก แต่ถ้ามีคนมากและมีที่กว้างเช่นโรงเรียนก็ขุดเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปหรือที่เรียกว่า ซิกแซ็ก หักมุมไปมา ส่วนที่ทางราชการสร้างในที่สาธารณะ จะเป็นคอนครีตทั้งด้านข้างและหลังคา ตั้งอยู่บนพื้นดินหรือลึกลงไปจากพื้นเพียงครึ่งเดียว มีทางเข้าออกสองทาง ปัจจุบันดูตัวอย่างของจริงได้ ที่ในสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ต่อมาในปลายสงครามได้มีการสร้างหลุมหลบภัยตั้งอยู่กลางถนนสายใหญ่ ๆ เป็นการก่อสร้างด้วยเสาและฝาไม้สองชั้น ระหว่างฝาไม้ก็บรรจุดินเหนียวอัดให้แน่น แต่ดูแล้วเหมือนบังเกอร์ในสนามรบมากกว่า

ที่บ้านผมไม่มีที่ดินว่างพอจะขุดเป็นหลุมหลบภัยได้ และมีผู้ชายอกสามคืบอย่างผมคนเดียว จึงอาศัยปูเสื่อนอนนอกชายคาเวลาหลบภัย เท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านรั้วติดกันมีเงินมาก ได้ซื้อหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่เขาทำขาย เป็นรูปทรงเหมือนถังส้วมใต้ดินของอาคารขนาดใหญ่สมัยนี้ แต่ทำด้วยคอนกรีตหนาเตอะ หลุมชนิดนี้ใช้พื้นที่ไม่กว้าง แต่ต้องขุดหลุมลึกแล้วก็วางถังลงไปเอาดินกลบ เหลือแต่ปากปล่องซึ่งกว้างพอที่คนจะหย่อนตัวลงไปได้ทีละคน ภายในตรงกลางป่องออกไปมีที่นั่งรอบถังพอสำหรับคนประมาณ ๖ -๗ คน บ้านเขามีคนเหลือจากอพยพอยู่น้อย ก็เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านข้างเคียงอาศัยหลบภัยด้วย แล้วก็อัดกันเข้าไปขนาดให้เด็กนั่งซ้อนตักผู้ใหญ่ด้วย อากาศจึงไม่ค่อยพอหายใจ ผมจึงขออนุญาตไม่ลง ขอนอนหงายข้างปากหลุม ซึ่งมองดูเหตุการณ์บนท้องฟ้าได้สบาย

อย่านึกว่าผมเป็นคนกล้าหาญ ความจริงผมก็กลัวเหมือนกับคนอื่น ๆ กลัวตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียงสัญญาณภัยทางอากาศแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการสั่นไปทั้งตัว พูดออกมาเสียงสั่นเครือ กระดูกหัวเข่ากระตุกงึก ๆ อาการนี้เป็นขึ้นเอง และบังคับให้หยุดไม่ได้ บางคนพอได้ยินเสียงสัญญาณ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเสียงหวอมา กำลังจะวิ่งไปลงหลุมหลบภัย เกิดปวดท้องฉี่ขึ้นมาทันทีก็ได้ ชาวบ้านทุกคนจะเตรียมห่อสมบัติที่จำเป็นหรือมีค่าของตนไว้ทุกวัน พอได้ยินเสียงหวอ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็คว้าห่อหรือกระเป๋าสมบัติติดตัวไปด้วยเสมอ และทีขาดไม่ได้ก็คือพระเครื่อง ไม่ว่าจะพวงเล็กหรือพวงใหญ่ต้องมีติดตัวทุกคน อย่างผมไม่เคยมีสายสร้อยคอ ก็เอาพระเครื่องใส่ถุงผ้าเล็ก ๆ เอาเข็มกลัดติดกับเสื้อไปด้วยทุกที ที่ร้ายกว่านั้นบางคนก็มีผ้ายันต์ผูกคอหรือตัดเป็นเสื้อกั๊ก ถ้าผืนใหญ่ก็ทำเป็นธง พอมีเสียงเครื่องบินผ่านมาใกล้ จะได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ แข่งกันอื้ออึง คนมีธงยันต์ก็โบกธงเหมือนจะปัดลูกระเบิดได้ พอเสียงเครื่องบินผ่านพ้นไปแล้วจึงค่อยมีเสียงพูดคุยกันบ้าง

เรื่องทิศทางของเครื่องบินนี้ สัมพันธ์กับทิศทางของลูกระเบิดด้วย ถ้าเครื่องบินผ่านเราไปทางด้านข้าง ไม่ต้องกลัวมาก เพราะลูกระเบิดไม่ลงตรงที่เราอยู่แน่นอน ถ้าเครื่องบินผ่านมาตรงหัวเป๊ะ ต้องสวดมนต์ภาวนาตั้งแต่เห็นมัน จนกว่ามันจะมาถึงกลางศีรษะ จึงจะพ้นภัย เพราะรู้มาว่าลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมานั้น มันจะวิ่งลงไปข้างหน้าเครื่องบินเสมอ ดังนั้นเมื่อมันมาอยู่ตรงหัวเรา ลูกระเบิดมันต้องไปตกห่างเราแน่ ๆ

เสียงของลูกระเบิดก็ทำให้เราขวัญเสีย แทบสติแตกไปเลยก็ได้ ถ้ามันตกไกลเรา ก็จะได้ยินเสียงระเบิดเหมือนฟ้าร้อง ถ้ามันใกล้หน่อยก็พอจะได้ยินเสียงโลหะแหวกอากาศ แต่ถ้าใกล้มากเสียงมันดังแหลมยาวบรรยายไม่ถูก เมื่อถึงพื้นมันจะเงียบไปอึดใจหนึ่ง แล้วก็ระเบิดดังแก้วหูแทบแตก แผ่นดินสะเทือน แล้วก็มีเศษดินเศษหินหรือถ้าถูกบ้านเรือน ก็มีเศษไม้ลอยกระจายไป เหมือนอย่างที่ได้ดูในหนัง แต่มันน่ากลัวมาก เพราะถ้ามันโดนเรา ก็จะเจ็บและตายจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น

การทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก จากฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เมื่อแรกเป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์ใบพัด ลำไม่โต และมาเวลาเดือนหงาย ทิ้งระเบิดไม่แม่นยำ สังเกตจากบริเวณใกล้เคียงกับจุดยุทธศาสตร์ เช่น วัดเลียบใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า วัดสร้อยทองใกล้กับสะพานพระรามหก วัดอะไรใกล้กับไปรษณีย์กลาง ย่านชุมชนใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง หมู่บ้านปากคลองบางกอกน้อย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี (แถวบ้านสวนของอังศุมาลิน) ต่างก็โดนลูกระเบิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง บางคืนแสงไฟไหม้สว่างท้องฟ้า มองจากสวนอ้อยแลเห็นถนัด แล้วเดาถูกทุกที

แล้วก็มาถึงวันอังคาร ๒๗ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหตุการณ์เป็นปกติ เวลา ๒๐.๑๕ น.มีเครื่องบินผ่านเข้ามา แต่ไม่มีเสียงหวอ เวลา ๒๐.๓๐ น.มีเสียงระเบิดขึ้นแต่ไกล หวูดอันตรายก็ดังขึ้น ขณะนี้เครื่องบินแล่นอย่างเร็วผ่าน ร.พัน.๙ (ปัจจุบันเป็นกรมทหารมหาดเล็ก ร.๑ พัน.๔)ไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสียงดังบึ้ม ๆ ก็ดังขึ้น บ้านเราอยู่ใกล้ ร.พัน.๙ จึงเห็นการระเบิดของลูกระเบิดเพลิงสว่างจ้าขึ้น ๒ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่รอดูต่อไปอีก เพราะขวัญเสีย ๆ แล้ว จูงลูกไปลงหลุมหลบภัยหลังบ้านนายอ๋อย ขณะนั้นเสียงระเบิดเสียงปืนประสานกันอยู่พัก ๆ แล้วก็เงียบไป เวลา ๒๓ นาฬิกาจึงเปิดหวูดหมดอันตราย รวมเวลาระหว่างอันตราย ๒ ชั่วโมงครึ่ง

น่าสงสารเด็กที่อยู่ในหลุมหลบภัย ถูกปลุกลงมานั่งให้ยุงกินกันใหญ่ มีเด็กจากบ้านอื่น ๕ คน บ้านเรา ๒ คน คอยหวูดจนง่วงนอนรวมกันเป็นกลุ่ม

วันพุธ ๒๘ มกร ๘๕ รุ่งเช้าขึ้นจึงได้ความว่า เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเมื่อคืนนี้ ๒ เครื่อง ได้ทิ้งระเบิดหลายแห่งมากว่า ๑๐ ลูก ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมด้าน ๔ ลูก ระเบิด ๒ ลูก โดนหลังคาตรงมุมด้านหลังพระที่นั่งพังและโหว่ไปหน่อย ทหารรักษาการตาย ๓ คน

ต่อมามีบันทึกว่า หลุมหลบภัยทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำฝน แต่เคราะห์ดีที่ตอนกลางคืนอากาศมืดมัวไม่แจ่มใส เครื่องบินข้าศึกจึงไม่มา มิฉะนั้นก็จะต้องไปนั่งแช่น้ำอยู่ในหลุม และสรุปว่า ในเดือนมกราคมนี้ เครื่องบินข้าศึกได้มารบกวนในพระนครรวม ๖ ครั้ง คือมาทิ้งระเบิด ๓ ครั้ง ในวันที่ ๘- ๒๔- ๒๗ มกราคม

เรื่องระเบิดเพลิงนี้ผมเคยเห็นด้วยตนเองครั้งหนึ่ง แถวถนนสุโขทัย บริเวณที่ตรงกับ ร.พัน.๙ สมัยนั้นเป็นถนนไม่กว้างมีต้นมะขามปลูกสองข้างทางเป็นระยะเท่า ๆ กัน ลูกระเบิดเพลิงเป็นท่อนเล็ก ๆ กว้างประมาณข้อมือ รูปหกเหลี่ยมยาวประมาณศอก เขาว่ามันลงมาเป็นพวงใหญ่แล้วแตกแยกกระจายออก เกิดเพลิงจากฟอสฟอรัส ที่เห็นนั้นมันปักอยู่ในดินข้างถนน มีรอยไฟไหม้ขาดครึ่ง ๆ นับสิบลูก แต่ข้างถนนไม่มีเชื้อเพลิง จึงมอดดับไปเอง มีบางลูกที่ลงตรงคลังของทหาร มีเสียงระเบิดดังตลอดคืน

ต่อมาตอนปลายสงคราม ในคืนเดือนมืด มีสิ่งแปลกใหม่มาแสดงให้เราชมอีกคือ พลุส่องแสง ที่เขาทิ้งลงมาจากเครื่องบิน แล้วมีร่มชูชีพกางลอยลงมาช้า ๆ แสงไฟสว่างจ้า ขนาดเราเห็นหน้ากันได้ถนัด หรือจะอ่านหนังสือก็ได้ สว่างยิ่งกว่าพระจันทร์ ประมาณลูกละ ๑๕ นาที คราวนี้เขาก็ไม่จำเป็นต้องรอข้างขึ้นเดือนสว่างกลางเวหาอีกแล้ว ข้างแรมเดือนมืดตื๋อก็มาได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือระเบิดเวลา หวอปลอดภัยขึ้นนานแล้วไม่มีเสียงเครื่องบินแล้ว แต่ยังมีเสียงระเบิดดังเป็นระยะจนถึงเช้า อย่างที่สามนี้จริงหรือเท็จไม่ทราบ เขาว่าลูกระเบิดมีโซ่ร้อยเป็นพวง ทิ้งที่สะพานพระรามหก ลูกระเบิดธรรมดาลอดรางรถไฟลงไประเบิดใต้น้ำ สะพานก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขนานเหมือนตอนหลัง พอโดนลูกระเบิดพวงเข้าตอนสงครามใกล้จบ โซ่ทำให้ลูกระเบิดค้างอยู่บนโครงเหล็ก เล่นเอาหักกลางทิ่มลงไปในแม่น้ำทั้งสองด้าน เรื่องนี้ไม่มีใครยืนยัน ทั้งทางเอกสารหนังสือที่เขียนให้อ่านภายหลัง หรือคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์จริง

ในสมัยปัจจุบันเราคนไทยได้ดูการถ่ายทอดสด สงครามอ่าวหรือสงครามอิสราเอลรบกับอียิปต์ ทางโทรทัศน์ หรือเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐอเมริกา หรือสงครามอัฟกานิสถาน ส่วนใหญ่เราก็ดูกันเหมือนดูหนัง แต่ใครจะขนลุกด้วยความสยองเหมือนอย่างผมเองบ้างก็ไม่ทราบ เพราะผมรู้ว่านั่นมันของจริง กระสุนจริง ลูกระเบิดและจรวดจริง ตึกพังจริงและคนตายจริง ๆ ไม่ใช่การแสดง

ผลของสงครามที่คนกรุงเทพได้รับ ตลอดเวลา ๔ ปี ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จุดจบ ไม่ได้มีแต่ภัยทางอากาศเท่านั้น ภัยจากการเกิดข้าวยากหมากแพง สินค้าประเภทอุปโภคขาดแคลนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ของสำคัญเช่น น้ำมันเบ็นซิน น้ำมันก๊าด สบู่ ยาสีฟัน ไม้ขีดไฟ เสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องอะไหล่รถยนต์ และพวกเครื่องก่อสร้าง เช่นเหล็กเส้น ปูนซีเมนต์ น็อต ตะปู ฯลฯ

รถยนต์ส่วนบุคคลต้องจอดเพราะขาดน้ำมัน รถของทางราชการก็ต้องใช้อย่างประหยัด รถโดยสารก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แก๊ส ที่ผลิตจากเตาถ่านขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ท้ายรถ เหลือแต่รถรางและรถสามล้อถีบเท่านั้น ที่ให้บริการได้ดีไม่เปลี่ยนแปลง แต่สามล้อหรือรถเมล์ก็ขึ้นราคาเช่นกัน

ส่วนเครื่องบริโภคหรืออาหารการกินนั้น แม้จะไม่ขาดแคลน แต่ก็มีราคาแพงขึ้นเป็นลำดับทั้งข้าวสาร ข้าวเหนียว พืชผักผลไม้ หมู เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ จนทางราชการแนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารทุกบ้าน โดยเฉพาะการเพาะถั่วงอก ที่ใช้กินกับก๋วยเตี๋ยว และผัดไทย หรือ ผัดกับเต้าหู้โดยไม่ต้องปักป้ายว่าอาหารเจ

ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๕ ผมมีอายุ ๑๑ ปี แม่บันทึกเรื่องสงครามไว้ ดังนี้

วันอังคาร ๑๐ มีน ๘๕ วันนี้ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ประกาศข่าว ย่างกุ้งแตกแล้ว และชวาขอยอมแพ้ แก่ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๘ มีน ทางราชการได้ชักชวนประชาชน ให้ชักธง ๓ วัน คือธงไตรรงค์คู่กับธงอาทิตย์อุทัย และประกาศเลิกพรางแสงไฟ เฉพาะรถราง รถยนต์เมล์ประจำทาง ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เป็นต้นไป

วันเสาร์ ๒๑ มีน ๘๕ ตั้งแต่ชะวาและย่างกุ้งอยู่ในปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ในจังหวัดพระนครไม่มีหวูดภัยทางอากาศอีกเลย แต่ยังพรางไฟอยู่ตามเคย เพราะยังไม่ไว้วางใจว่าจะปลอดภัย โดยมันอาจจะมาด้วยป้อมบินก็ได้ ป้อมบินนี้จุคนตั้ง ๑๒๕ คน และจุน้ำมันได้มาก สามารถไปทางไกลได้ แต่ยังไม่เคยเยี่ยมโฉมหน้าเข้ามาเลย ขอเดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย จงบันดาลอย่าให้ป้อมบินของข้าศึกเข้ามาได้เลย เจ้าประคุณ

เวลาผ่านไปจนถึง วันเสาร์ ๒ พฤษภ ๘๕ แม่บันทึกต่อว่า วันนี้ ร.ร.เปิดเรียน และ ร.ร.ราษฎร์ทุกโรงเรียนก็เปิดเหมือนกันหมด แต่ ร.ร.รัฐบาลเปิด ๑๘ พฤษภาคม

วันอาทิคย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ก็มีข่าวร้ายว่า พี่สาวลูกของน้าไปเที่ยวสระบุรีและสิงห์บุรี ประสบอุบัติเหตุป่วยหนัก ถูกส่งตัวมารักษาที่วชิรพยาบาล มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง สาหัสมาก เพราะเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ตั้งแต่สะดือลงไปไม่มีความรู้สึก ช่วยตนเองไม่ได้ น้าจึงต้องอยู่เฝ้าตลอดทั้งวันทั้งคืน พี่สาวรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนถึง ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ จึงกลับมานอนรักษากันเองที่บ้าน แต่อาการก็คือทรงกับทรุด และสุดท้ายก็เสียชีวิตเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ อายุได้ ๒๔ ปี

เราจึงเหลือกันอยู่เพียง ๔ คนคือ น้า แม่ ตัวผมและน้องหญิงเท่านั้น ผจญกรรมกันไปจนกว่าสงครามจะสงบ โดยที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าเมื่อไร และเราจะรอดปลอดภัยอยู่จนถึงเวลานั้นหรือไม่กาลเวลาข้างหน้ายังอีกยาวนานนัก จนมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางเลย

#############



Create Date : 12 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2556 10:17:02 น. 0 comments
Counter : 993 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.