Group Blog
 
All Blogs
 

วันโทรทัศน์กองทัพบก

ย้อนอดีต

วันโทรทัศน์กองทัพบก

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อถึงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๔ ก็นึกถึงความหลังครั้งอดีต ที่ผ่านมาแล้วร่วม ๒๐ ปี วันนี้เคยเป็นวันกองทัพบก ต่อมาได้เป็นวันกองทัพไทย แต่บัดนี้เป็นปีแรก ที่ไม่ได้เป็นวันสำคัญของประเทศไทย ทั้งสองสถานะนั้นแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงย่อมมีได้เสมอ แม้ประวัติศาสตร์ที่เขียนกันมาเมื่อร้อยปีก่อน เมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

แต่วันสำคัญของทหารสื่อสาร ที่ไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าเวลาจะล่วงไปอีกกี่สิบปี หรือกี่ร้อยปี ก็คือ วันที่ ๒๕ มกราคม เป็นวันโทรทัศน์ของกองทัพบก ซึ่งได้เริ่มกิจการขึ้น เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว และคงจะอยู่คู่กับกองทัพบกตลอดไป ไม่กลายเป็นบริษัทมหาชน เหมือนสถานีอื่น ๆ เป็นแน่

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูอดีต ที่ได้จารึกไว้ในเอกสารของทหารสื่อสาร เมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ก่อกำเนิดมาครบ ๓๖ ปี ได้บันทึกไว้ว่า

สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ได้เริมวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานี ติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์ และเตรียมบุคลากรสำหรับปฎิบัติงาน ออกอากาศ จนสามารถเปิดสถานีได้ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นวันกองทัพบก

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 25 ม.ค. 54 15:45:24

ความคิดเห็นที่ 1

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เปิดสถานีโทรทัศน์กองทัพบก




ความคิดเห็นที่ 2

จุดเริ่มต้นของสถานีโทศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ)




ความคิดเห็นที่ 3

แล้วกองทัพบกก็มอบหมายให้ กรมการทหารสื่อสาร ดำเนินการบริหารกิจการของสถานี ซึ่งมีชื่อว่า สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ) ชื่อย่อ ททบ. และชื่อสากล HS A TV โดยมีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ตามลำดับ คือ

พลตรี เผชิญ นิมิบุตร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็นประธาน

พลจัตวา สุภชัย สุรวรรธนะ รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็นผู้อำนวยการ




ความคิดเห็นที่ 4

พันเอก การุณ เก่งระดมยิง หัวหน้ากองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิค

พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ หัวหน้ากอง โรงเรียนทหารสื่อสาร เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ




ความคิดเห็นที่ 5

สถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ขาวดำ)ช่อง ๗ ได้ดำเนินการต่อมาโดยมีเรื่องที่ประทับใจ หลายเรื่อง เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชีนีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม และทอดพระเนตรกิจการของ ททบ. -




ความคิดเห็นที่ 6

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนสถลมารค




ความคิดเห็นที่ 7

พ.ศ.๒๕๐๘ ต้อนรับนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย




ความคิดเห็นที่ 8

การถ่ายทอดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๐๙
และการถ่ายทอดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๑๓



ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๒๖




ภาพข่าวในรอบ ๓๐ ปีแรก

(




พระเอกของการถ่ายทอดโทรทัศน์ จากสถานที่ต่างๆ ไปสู่ท่านผู้ชม ในระบบขาวดำ เป็นกล้องถ่ายโทรทัศน์ รุ่นแรก ตั้งแต่เปิดสถานี พ.ศ.๒๕๐๑

๑.กล้องที่ใช้เลนส์ ๔ ขนาด เคลื่อนที่ถ่ายภาพในห้องส่งของสถานี


๒. กล้องประกอบด้วยเล็นส์ซูม เมื่ออยู่บนเครนที่ยกขึ้นสูงได้ประมาณ ๓ เมตร


๓. กล้องประกอบด้วยเลนส์ซูม เมื่อตั้งบนขาที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ในสนามมวย


รถถ่ายทอดนอกสถานที่ คันแรกที่ใช้ปฏิบัติงานพร้อมกับเครื่องส่งโทรทัศน์ชุดแรก
ออกอากาศตั้งแต่วันเปิดสถานี จากสวนอัมพร ไปยังสนามเป้า
พิธีสวนสนามที่ลานพระราชวังดุสิต และท่ายทอดมวยจากสนามมวยเวทีราชดำเนิน
และใช้ตลอดมาจนเปลี่ยนเครื่องส่งเป็นโทรทัศน์สี




สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เปลี่ยนเป็น ช่อง ๕ และออกอากาศเป็นภาพสี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗



ฝ่ายกำลังพล สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๓๑ ครบรอบ ๓๐ ปี



สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบ ๔๐ ปี
ตึกด้านล่างของภาพ คือสถานีเก่า ด้านบนของภาพ คือสถานีปัจจุบัน




ทั้งหมดคือการรำลึกถึง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในช่วงระยะเวลา ๕๓ ปี
ส่วนพระเอกที่เป็นดารานำตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ นั้น เชิญพบได้ ในภาพต่อไปครับ





จากบัดนี้ วันที่ ๒๕ มกราคม ทุกปี จะเป็นวันรำลึกถึง โทรทัศน์กองทัพบก เพียงประการเดียว ตลอดไปชั่วกาลนาน.




 

Create Date : 31 มีนาคม 2555    
Last Update : 15 เมษายน 2555 6:58:12 น.
Counter : 4680 Pageviews.  

นายพลตาดุ

บันทึกจากอดีต

นายพลตาดุหัวหน้าเสรีไทยสายตำรวจ

พ.สมานคุรุกรรม

บรรดาบุคคลในคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งในคณะนั้น ได้สมญานามว่า นายพลตาดุ ซึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้น โปลิศ โปลิศ โปลิศ พิมพ์เมื่อ มิถุนายน ๒๕๑๔ เรื่อง นักอพยพ ของ พลตำรวจตรี ชอบ สุนทรพิพิธ ได้กล่าวขวัญไว้ว่า

พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขณะนั้นประเทศไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ เพราะอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือการรบราฆ่าฟันกัน ที่ขนานนามเสียโก้หรูว่า สงครามมหาเอเซียบูรพา ท่านผู้นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบุคคลท่านแรก ที่ได้เริ่มปรับปรุงกิจการของกรมตำรวจ ให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง เที่ยงธรรม เป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น ท่านยังมีบุญคุณต่อชาติไทยอย่างประมาณค่ามิได้อีกด้วย ในฐานะที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และในขณะเดียวกันท่านก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะดำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ ท่านได้จัดตั้งหน่วยเสรีไทยฝ่ายตำรวจขึ้น ภายในประเทศสายหนึ่ง โดยท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาย และดำเนินการแบบใต้ดิน เหยียบจมูกทหารญี่ปุ่นมาตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในฐานะที่เกือบจะเรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือ ฯพณฯ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคนั้นนั่นเอง

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ได้รับสมญานามจากหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ตลอดจนบุคคลทั่วไปว่า นายพลตาดุ เป็นการเรียกขานแบบล้อเลียนทีเล่นทีจริง แต่เป็นการล้อเพราะรักนับถือ ไม่ใช่ล้อเลียนแบบดูหมิ่นเหยียดหยามแต่อย่างใด ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะท่านมีบุคลิกภาพอย่างนั้นจริง ๆ และท่านก็ไม่โกรธ ไม่สนใจที่ใครจะขนานสมญาให้ท่านอย่างใด

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส มีนามเดิมว่า บัตร พึ่งพระคุณ เกิดเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๓๗ ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๔๕๘ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๓/๔๒๐ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๕๘ เป็นนักเรียนทำการนายร้อย สังกัด กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน เช่น

นายจี๊ด ๒๑๕๔ ปืนใหญ่ที่ ๒ (พลเอก จิระ วิชิตสงคราม)
นายบัตร์ ๒๑๔๘ ปืนใหญ่ที่ ๓ (พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส)
นายแปลก ๒๑๗๕ ปืนใหญ่ที่ ๗ (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม)
นายผิน ๒๑๙๘ ราบที่ ๔ (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ)
นายมังกร ๒๕๗๕ ราบที่ ๓ (พลเอก มังกร พรหมโยธี)

ถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอดุลเดชจรัส พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะมียศ ร้อยเอก ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึง พ.ศ.๒๕๗๘ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตำรวจเอก และปีถัดมาก็ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นผู้บังคับการตำรวจสนาม ในสงครามอินโดจีน พ.ศ.๒๕๘๖ ได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๔๘๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ ๑๔

จากหนังสือเรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ เขียนโดย ๔๘๕ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในยามสงครามของ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ไว้ว่า

สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก ท่านได้คัดเลือกนายตำรวจบางคน เดินทางออกไปนอกประเทศ ร่วมกับนายทหารอากาศ ทหารบก ไปติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษ โดยไปทางเครื่องบินบ้างทางเรือดำน้ำบ้าง หลังจากได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว อเมริกาได้ส่งนักเรียนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกา มาโดดร่มลงในประเทศไทยก่อน ต่อมาอังกฤษจึงส่งนักเรียนไทยที่เรียนในอังกฤษ มาโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง และเดินทางเข้ามาโดยทางเท้าบ้าง

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

จากเรื่องนายพลผู้ซื่อสัตย์ ได้ดำเนินความต่อไปว่า

พวกนักเรียนไทยที่มาโดดร่มลงในประเทศไทยนี้ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินงานใต้ดิน บางคนก็ทำหน้าที่ส่งข่าววิทยุที่นำติดตัวมา บางคนก็ทำหน้าที่ประสานงาน โดยเดินทาง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกาและอังกฤษ บางครั้งก็ไปเพียงแค่อินเดีย ทางประเทศอเมริกาก็มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยอยู่ ทางอังกฤษคุณหลวงอดุลฯ ก็มอบให้ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ติดต่อกับอังกฤษ และคุณหลวงอดุลฯ ได้ส่งคุณบูรณศิลป์ อดุลเดชจรัส บุตรชายของท่านไปอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ติดต่อกับลอร์ดหลุยซ์เม้าท์แบตเท็น แม่ทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใกล้ชิด

ท่านได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ท่านได้ดำเนินการอยู่นี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอยู่เช่นเดียวกัน โดยต่างคนต่างทำ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอีกเหมือนกัน ทั้งสามท่านนี้ต่างคนต่างดำเนินงานของตนไป แต่คงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน คือต่อต้านญี่ปุ่น

และ นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เล่ารายระเอียดเพิ่มเติมว่า ท่านกับ บุญมาก เทศะบุตร์ ได้โดดร่มจากเครื่องบิน บี ๒๔ ลงที่ในป่าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๗ แต่พลัดกันไปคนละทาง ท่านถูกนำตัวไปพบกับหลวงอดุลฯ ในกรุงเทพ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๗ และได้แจ้งให้ทราบภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากทางสหรัฐอเมริกา ว่าให้มาติดต่อกับทางหลวงอดุลและหลวงประดิษฐ์โดยตรงโดยขอให้ร่วมมือกันทำงาน สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยในประเทศ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าอาวุธ การฝึกฝน การเมืองหลังสงคราม ฯลฯ แต่ถ้าหากไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่ทางสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือ เพราะงานจะมีอุปสรรคอย่างแน่นอน คุณหลวงอดุล ฯ จึงตัดสินใจพาวิมลเข้าพบหลวงประดิษฐ์ ที่บ้านของ นายดิเรก ชัยนาม รองเมือง ซอย ๒ จึงเป็นอันว่าหลวงอดุลกับหลวงประดิษฐ์ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันทำงานตั้งแต่วันนั้น จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มปรากฏผลงานในประเทศของเสรีไทยสายอเมริกา และเป็นวันที่ได้กำลังตำรวจทั้งประเทศมาร่วมด้วย

กลับมาที่เรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ อีกครั้งหนึ่ง

การดำเนินงานของคุณหลวงอดุลฯ นั้น ท่านได้กระทำโดยแบ่งการปฏิบัติออกไปเป็นเรื่องเป็นรายไป คนหนึ่งรับมอบงานไปปฏิบัติอย่างหนึ่ง โดยคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าผู้นั้นมีหน้าที่อย่างไร ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่ต้องแบ่งงานกันเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความลับรั่วขึ้นก็จะเกิดเสียหายเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว งานของคนอื่น ๆ ไม่เสียไปด้วย เพราะการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ถ้าใช้คน ๆ เดียวทำแล้วถ้าความลับแตกออก และถูกญี่ปุ่นจับตัวไปหรือถูกฆ่าตาย งานก็เสียหมด จึงจำเป็นต้องแยกงานกันทำ แต่ก็เป็นโชคของประเทศไทยอย่างมาก ที่ความลับต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำไปแล้ว ญี่ปุ่นจับไม่ได้เลย บางครั้งฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยท่าน ว่าทำการต่อต้านแบบใต้ดิน เคยส่งคนออกทำการสืบสวนแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ญี่ปุ่นได้ส่งคนเข้ามาดูว่าคุณหลวงอดุลฯ ทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันหรือเปล่า โดยทำทีว่ามาเยี่ยมคำนับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในวังปารุสกวันบ้าง และด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นมาดูก็คงเห็นคุณหลวงอดุลฯ นั่งทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันมิได้หายไปไหน ในการดำเนินงานของท่านนั้น ท่านได้ออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนจนตลอดสว่างทุกคืน แม้ท่านจะต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัด ท่านก็ไปตอนกลางคืน สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสงสัยท่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีหลักฐานที่จะทำอะไรได้

ท่านเป็นคนรอบคอบการที่จะเดินทางไปไหน ๆ ท่านไม่ใช้เส้นทางซ้ำกันเลย ท่านเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และท่านไม่เคยยอมบอกใครว่าท่านจะไปไหน แม้คนที่นั่งรถไปกับท่านด้วยกัน ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เมื่อไปถึงที่แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าไปไหน ด้วยความรอบคอบนี้ท่านจึงปลอดภัย และทำการกู้ประเทศไทยจนสำเร็จ ท่านได้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกญี่ปุ่นตลอดเวลาสงคราม นักเรียนไทยที่มาจากอเมริกาและอังกฤษ โดยโดดร่มลงมาก็ดี โดยทางน้ำทางบกก็ดี ท่านได้เอาตัวมาเก็บไว้ที่กองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ทำประหนึ่งว่าเอาตัวควบคุมไว้ทำการสอบสวน ฐานโดดร่มลงมาในประเทศไทย แต่ในเวลากลางคืนท่านได้พาพวกนี้ไปทำการส่งวิทยุ ติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดสถานที่ส่งวิทยุไว้หลายแห่งด้วยกัน เสร็จแล้วก็นำตัวกลับมาคุมไว้ที่ สันติบาลตามเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จับอะไรไม่ได้

พวกนักเรียนไทยเหล่านั้นเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณยอด บุรี คุณประทาน เปรมกมล คุณธนา โปษะยานนท์ คุณการุณ เก่งระดมยิง เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดีเพราะเคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนเหล่านี้ด้วยคนหนึ่ง พวกเสรีไทยเหล่านี้ไหมุนเวียนกันออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่งวิทยุแจ้งที่พักของกองทหารญี่ปุ่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินหรือเรือดำน้ำ เข้ามารับทหารที่บาดเจ็บเพราะเครื่องบินตก เป็นต้น และบางคราวมีราชการลับที่จะต้องหารือ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ท่านก็ได้ส่งเสรีไทยเหล่านี้บางคน ออกไปทำการติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง ฝ่ายอังกฤษส่วนมากท่านได้จัดส่ง คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเสรีไทยฝ่ายอังกฤษออกไปเจรจา ฝ่ายอเมริกาท่านก็จัดส่ง คุณการุณ เก่งระดมยิง ออกไปเจรจา การเดินทางนั้นส่วนมากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนัดให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมารับ โดยมาลงที่สนามบินลับที่สร้างขึ้นในเวลากลางคืน

คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนที่รอบคอบในการทำงานใต้ดินนี้ ท่านได้ทำบัญชีรายชื่อไว้ว่าผู้ใดบ้างที่ได้ร่วมมือทำงานอยู่ด้วย ทั้งผู้ที่โดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และผู้ที่อยู่ ณ ต่างประเทศ เพราะท่านมองเห็นการไกลว่า ต่อไปอาจมีผู้แอบอ้างว่าได้ร่วมมือทำงานใต้ดินกับท่าน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้วย่อมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนั้น จนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒) บัญชีนี้ก็ยังอยู่ในมือท่าน ตลอดจนหลักฐานในการทำงานใต้ดินที่สำคัญ ๆ คงเก็บอยู่ที่ท่าน ด้วยผลงานอันดีเด่นที่ได้กระทำเพื่อประเทศชาติแล้วนี้ หลังจากสงครามสงบแล้ว อเมริกาได้ช่วยจนกระทั่งประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อันคุณงามความดีของท่านนี้สุดที่คนไทยจะลืมเสียได้ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยกู้ประเทศไทยไว้ในยามที่บ้านเมืองคับขันเต็มไปด้วยศัตรู หากการทำงานของท่านพลาดไปเพียงนิดเดียว บ้านเมืองก็จะพินาศ แม้แต่ชีวิตของท่านเองก็คงไม่รอดไปได้

การกระทำทั้งสิ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ทางฝ่ายสัมพันธมิตรรู้เรื่องดี ที่ท่านกล้าเสี่ยงอันตรายโดยไม่ย่นย่อ เมื่อหลังจากสงครามยุติลงแล้ว รัฐบาลอเมริกาได้มอบเหรียญตราชั้นสูง เมดอลออฟฟรีดอม ชั้นสูงสุดให้ โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ได้นำไปมอบให้ถึงที่บ้านพักของท่าน ในประเทศไทยดูเหมือนจะมีท่านแต่ผู้เดียว ที่ รัฐบาลอเมริกันนำเหรียญตราไปมอบให้ถึงบ้านพัก

และก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ขณะนั้นคุณหลวงอดุลฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏว่าเหตุการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น คุณหลวงอดุลฯ เห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ดำเนินการปราบปรามกันอย่างจริงจัง พวกราษฎรได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนได้ข่าวมาว่าจะมีผู้ทำการรัฐประหาร ดังนั้นคุณหลวงอดุลฯ จึงได้ขอให้รัฐบาลเรียกผู้บัญชาการทหารบก เรือ อากาศ อธิบดีกรมตำรวจ และผู้ก่อการอาวุโส ไปร่วมกันทำการประชุม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๙๐

ใจความของการประชุมนั้นมีสาระสำคัญคือ คุณหลวงอดุลฯ ได้เล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถูกผู้มีอำนาจคอร์รัปชั่น จนเป็นเหตุให้เกิดข้าวของต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น และทางการเฉยเมยไม่ทำการปราบปราม และคุณหลวงอดุล ฯ บอกว่า ได้ข่าวว่าจะมีผู้คิดรัฐประหาร และถ้ามีผู้ทำการรัฐประหารขึ้นจริง คุณหลวงอดุลฯ จะไม่ทำการปราบปราม โดยไม่ต้องการให้ทหารไทยฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง ไม่ต้องการให้คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง

ต่อมาในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก็เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งมี พลโท ผิน ชุณหวัน (ยศในขณะนั้น) นายทหารนอกประจำการเป็นหัวหน้า ในการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ทางคณะรัฐบาลอันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการต่อสู้ หรือทำการปราบปรามแต่ประการใด และในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์อยู่นั้น คุณหลวงอดุลฯ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงได้ออกคำสั่งให้ทหารบกทุกเหล่าและทุกกรมกองให้ตั้งอยู่ในความสงบ และห้ามเคลื่อนกำลังออกนอกที่ตั้งเป็นอันขาด และให้ฟังคำสั่งของท่านแต่ผู้เดียว ท่านไม่ได้สั่งให้ทำการต่อสู้แต่ประการใด

ส่วนตัวท่านได้ออกตรวจตราตามที่ต่าง ๆ จนมาถึงสนามหลวง ท่านได้พบรถถังแล่นออกจากที่ตั้งมาถึงสนามหลวง ๓-๔ คัน ท่านจึงตรงไปยังรถถังนั้น และได้ออกคำสั่งให้ผู้ควบคุมรถถัง นำรถถังกลับไปยังที่ตั้งเดิมทันที ผู้ควบคุมรถถังก็ได้นำรถถังเคลื่อนที่กลับไปท่านจึงออกตรวจต่อไปไม่ได้ติดตามไปดูว่า รถถังเหล่านั้นจะกลับไปจริงหรือไม่ เมื่อท่านตรวจไปถึงหน้าทำเนียบท่าช้าง ท่านได้พบรถถังอีก ๒-๓ คันได้มาจอดอยู่หน้าทำเนียบ และคันหนึ่งได้ใช้ปืนยิงไปที่หน้าประตูทำเนียบ ท่านจึงตรงเข้าไปที่รถถังนั้น และได้เรียกผู้ควบคุมรถถังนั้นลงมาจากรถ และท่านใช้มือตบหน้านายทหารผู้นั้น ฐานขัดขืนคำสั่ง แล้วท่านจึงสั่งให้นำรถถังกับไปยังที่ตั้ง ผู้ควบคุมรถถังจึงนำรถถังกลับไป ท่านจึงตระเวนไปตรวจตราที่อื่น ๆ ต่อไป

ท่านเล่าให้ฟังว่า เพราะท่านไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงไม่ทำการปราบปราม เพียงแต่สั่งให้กำลังทหารตั้งอยู่ในความสงบ ณ ที่ตั้งเท่านั้น ดังนั้นการทำ รัฐประหารจึงสำเร็จเรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด เมื่อได้ตั้งคณะ รัฐบาลใหม่ขึ้นเรียบร้อยแล้ว ทางคณะรัฐบาลใหม่ยังคงให้ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป และก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี ดังนั้นท่านจึงได้ยื่นความจำนงต่อรัฐบาล ขอลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และใน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี



แม้ท่านจะมีอำนาจวาสนา ได้ดำรงตำแหน่งอันสูงส่งเพียงใดก็ตาม นายพลตงฉินผู้นี้ก็คงปฏิบัติตนเป็นผู้ถือสันโดษอย่างจริงจัง ท่านเป็นผู้ที่ไม่ทะเยอทะยาน ไม่แสวงหาลาภยศ ใด ๆ อีก คงดำรงชีวิตอยู่ในแบบสมถะ โดยอาศัยอยู่ที่บ้านพักหลังเล็ก ๆ ในบริเวณวังปารุสกวันแต่เพียงคนเดียว กับสุนัขตัวโปรด ๑ ตัว และผู้รับใช้ใกล้ชิดคู่ใจอีก ๑ คนเท่านั้น ท่านไม่รับแขกทั่ว ๆ ไป แต่ท่านก็ยินดีที่จะพบปะสนทนาเป็นครั้งคราว กับมิตรสนิทบางท่าน และนายตำรวจบางนายที่ท่านรู้จักคุ้นเคย เพราะเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านมาก่อน ในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอยู่ ท่านดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยวเช่นนี้ตลอดมา

ตามปกติถ้าผู้ใดมองเห็นนัยตาของท่านแล้ว ย่อมต้องนึกว่าท่านเป็นคนดุ แต่ธาตุแท้ของท่านนั้นเป็นคนมีเมตตาจิตอย่างสูง ท่านไม่เคยพยาบาทมาตรร้ายใครเป็นเรื่องส่วนตัวเลย ผู้ที่ทำผิดกฎหมายท่านก็ว่าไปตามกฎหมาย ไม่เคยเอาเรื่องส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ท่านเป็นคนที่ชอบความซื่อสัตย์ ไม่ยอมกินไม่ยอมโกง แม้แต่จะมีโอกาสอำนวยให้ หรือมีอำนาจที่จะทำได้ ท่านก็ไม่ยอมทำ ท่านได้ปฏิบัติตัวของท่านคงเส้นคงวามาตลอด ท่านถืออุดมคติว่า Honesty is best Policy

ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ

##########




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2555 5:55:33 น.
Counter : 1259 Pageviews.  

เพลงชาติไทย

บันทึกจากอดีต

เพลงชาติไทย

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นยุคที่วัฒนธรรมกำลังเฟื่องฟู หรือยุคมาลานำไทยเป็น มหาอำนาจ นั้น ได้มีประกาศเป็นรัฐนิยมให้ประชาชน ยืนตรงเคารพธงชาติในเวลาชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เมื่อบรรเลงเพลงชาติทางวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ ตามเวลาแปดนาฬิกาตรง ทุกวัน แม้แต่พระสงฆ์องคเจ้าซึ่งกำลังฉันจังหันเช้า ก็ต้องวางช้อนส้อมนั่งสงบรำลึกถึงประเทศชาติ โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งประชาชนก็ได้ประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน

ในสมัยแรกนั้น แม้แต่จระเข้ในบ่อเขาดินวนาก็ยังมีข่าวว่าผงกหัวชูคอขึ้นเคารพธงชาติ และต่อมาแม้เมื่อเวลาได้ผ่านจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงครามเกาหลี และสงครามเวียตนามมาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังรักษาวัฒนธรรม การเคารพธงชาตินี้อยู่ โดยตำรวจจราจรจะเป่านกหวีด ห้ามการ
จราจรทุกชนิด ทุกสี่แยก เมื่อได้ยินเพลงชาติ จากสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์

ต่อมาจึงค่อยเลือนหายไป โดยจะทำความเคารพเฉพาะเมื่อผ่านหน่วยทหารหรือตำรวจ ที่กำลังชักธงขึ้นสู่ยอดเสา เท่านั้น และในที่สุดเมื่อการจราจรติดขัดมาก จึงไม่มีใครหยุดเคารพธงชาติกันให้เห็นในท้องถนนอีกเลย

มีบางเสียงกระแหนะกระแหนว่า ความรักชาตินั้นมิได้อยู่ที่การยืนตรงเคารพธงชาติเท่านั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริง ดังนั้นเวลานี้จึงมีผู้ยืนเคารพธงชาติกันเฉพาะในโรงพยาบาลของทหาร ที่จำเป็นต้องเข้าไปพึ่งบริการของเขาเท่านั้น

เพลงชาติสำหรับประเทศไทยนั้น จะมีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่มีใครยืนยัน ดูเหมือนจะมีแต่เพลงสรรเสริญพระบารมีเท่านั้น ที่ใช้แทนเพลงชาติด้วย แต่ที่เป็นทำนองสากลมีโน้ตเป็นหลักฐานนั้นได้กำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากคณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยได้เพียง ๕ วัน เท่านั้น

ตามสูจิบัตรการแสดงคอนเสิร์ตเสียงดนตรีสี่แผ่นดินครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ กล่าวว่า นาวาเอก หลวงนิเทศกลกิจ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือได้ขอร้อง ให้ศาตราจารย์ พระเจนดุริยางค์ แต่งทำนองเพลงที่คึกคักเข้มแข็งแบบทหารให้คล้ายคลึง กับเพลงชาติฝรั่งเศสและมอบหมายให้ ขุนวิจิตรมาตรา ประพันธ์เนื้อร้องนำออกบรรเลง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยวงดุริยางค์ทหารเรือ จนได้รับการประกาศรับรองว่าเป็นเพลงชาติ เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๗๗

เมื่อสมัยผมเป็นเด็กเคยได้ยิน และร้องเพลงนี้ด้วย แต่จำได้เพียงสอง สามวรรค คือ

ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ด้วยรักษาสามัคคีทวีชัย.....

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๘๒ ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย จึงต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงเสียใหม่ โดยใช้ทำนองเดิม และมีการประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาตินี้ด้วย

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ได้เขียนบันทึกความเป็นมาของเนื้อร้องเพลงชาติปัจจุบัน ไว้ว่า

........วันหนึ่งในราวต้นเดือนกันยายน ๒๔๘๒ ขณะฉันออกจากห้องทำงานกรมเสมียนตรา ในกระทรวงกลาโหม เดินตามระเบียงจะไปรับประทานอาหารที่สโมสรกลาโหม บังเอิญพบกับท่าน พลโท มังกร พรหมโยธี (ขณะนั้นยศเป็นพันเอก) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังจะเดินไปรับประทานอาหาร ณ ที่เดียวกัน หลังจากฉันทำความเคารพท่านตามวินัยแล้ว ท่านก็เรียกฉันไปเดินร่วมสนทนากับท่านด้วย

ท่านปราศรัยขึ้นก่อนว่า

"คุณหลวงเห็นประกาศ ประกวดเพลงชาติของ สำนักงานโฆษณาการแล้วหรือยัง ?"

ฉันตอบสนองว่า

"เห็นแล้วครับ"

ท่าน

"แล้วคุณหลวงจะแต่งส่งเข้าประกวดกับเขาบ้างไหม ?"

ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า

"เห็นจะไม่ส่ง เพราะหาเวลาไม่ใคร่ได้ ทั้งเกรงความสามารถจะไม่พอ ด้วยไม่คุ้นกับทำนองเพลงสากลนัก"

ท่านยิ้มแล้วว่า

"เชื่อผมเถอะ ผมแนะนำให้เข้าประกวด ผมอยากขอให้คุณหลวงช่วยทหารบก ซึ่งเป็นเหล่าของคุณหลวง คือแต่งเพลงชาติประกวดเอารางวัล ๑,๐๐๐ บาท และชื่อเสียงให้แก่กองทัพบกของเรา ผมจะให้เครื่องมือ คืออนุญาตให้ทดลองร้องเข้ากับแตรวงของ ร.พัน.๓ ได้ ทั้งจะให้พวกนายทหารที่เป็นเพลงสากล กับทำนองดนตรีสากลมาช่วยด้วย จะขัดข้องไหม ?"

ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แต่ทันใดนั้น เลือดแห่งความรู้สึกรักหมู่คณะซึ่งเป็นนิสัยเดิมของฉันก็ฉีดแรงขึ้น ฉันจึงตอบไปทันทีว่า

"ตกลงครับท่าน ร.ม.ต. ผมตั้งใจว่าจะไม่แต่งแล้ว แต่เมื่อท่าน ร.ม.ต.ขอร้องให้ช่วยหมู่คณะผมก็ไม่รังเกียจ เพราะผมพร้อมที่จะเสียสละให้แก่ส่วนรวมอยู่ทุกเมื่อ"

เป็นอันตกลง หลังจากนั้น ท่าน ร.ม.ต.ก็ส่งกองแตรวงของ ร.พัน.๓ ให้รับรองฉัน ในการไปทดลองเนื้อเพลง ตลอดมาโดยลำดับวาระและกรณี

หลังจากคิดอยู่ ๓ วัน ฉันก็ตกลงใจว่า เนื้อร้องนี้จะให้มีข้อความเหล่านี้บรรจุลงให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คือ

ความเป็นชาติไทย การรวมไทย การรักษาเอกราชของชาติ การรวมรักษาความสามัคคีของประชาชนอย่างพี่น้องเป็นภราดรภาพ ศีลธรรมของพลเมือง ความรักสงบของไทย แต่พร้อมที่จะรบทุกเมื่อ ในเมื่อถูกข่มเหง การสร้างชาติ การปลุกใจให้รักชาติ

ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านเห็นไหมว่า ข้อความทั้งหมดนั้นจะต้องบรรจุลงให้ได้เต็ม ในคำร้อยกรองเพียง ๘ วรรค หรือ ๔ คำกลอนเท่านั้น !

ในที่สุด ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๖ ดังนี้

รัฐนิยมฉบับที่ ๖

เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะว่าชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึงได้ประกาศให้ประชาชน เข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก บทเนื้อร้องเสนอ ให้คณะ ร.ม.ต.วินิจฉัย คณะ ร.ม.ต.ได้ประชุมปรึกษา พิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามแบบเพลงของกองทัพบก โดยได้แก้ไขเล็กน้อย

จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

๑. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองของ พระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่ในกรมศิลปากร

๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดังต่อไปนี้


ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐผไทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกอยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ไชโย.

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

คุณหลวงสารานุประพันธ์ ยังได้บันทึกไว้ในท้ายเรื่องของท่านว่า

......ฉันรู้สึกปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ฐานที่อย่างน้อยที่สุด ก็นับว่าได้ทำประโยชน์ แก่ประเทศชาติที่รักของฉัน ไว้พอเป็นอนุสาวรีย์สืบไปชั่วนิรันดรกาล ฉันสำนึกในบุญคุณของราชการทหารอยู่มิรู้วาย ในการที่ได้กรุณาจารึกข้อความ ลงในสมุดประวัติประจำตัวของฉัน ซึ่งยังปรากฎอยู่จนบัดนี้คือ ในช่อง "ความชอบ.นราชการ" บันทึกว่า "แต่งเนื้อและทำนองเพลงชาติไทยใหม่ ให้แก่กองทัพบกโดยมิขอรับตอบแทนอย่างใด"
และในช่อง "รับผลอย่างใด" บันทึกว่า "ประกาศเป็นรัฐนิยมฉบับที่ ๖"

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ รวมอายุได้ ๕๗ ปี

เพลงชาติไทย ซึ่งใช้เป็นทางราชการมาได้กว่า ๕๐ ปีแล้ว บัดนี้จะฟังได้จากสถานีวิทยุ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่ง ในเวลา ๐๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น.ทุกวัน แม้ว่าขณะนั้นโทรทัศน์กำลังถ่ายทอด รายการสำคัญขนาดไหนก็ตาม ทำให้มีผู้ชมบ่นออกมาหลายราย เพราะทำให้เขาอดดูรายการติดต่อกันไปตั้งหลายวินาที

และในอีกกรณีพิเศษหนึ่งนั้น เราก็จะได้ฟังในรายการชกมวยชิงแชมเปี้ยนโลก ซึ่งจัดขึ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยผู้ชมซึ่งเป็นคนไทยที่อยู่ในสนามมวยจะร้องตาม เมื่อทางสนามเปิดเพลงชาติของนักมวยนั้น แม้นักมวยชาวไทย จะจำเนื้อเพลงนี้ได้ไม่ค่อยจะแม่นยำนักก็ตาม แต่ก็สามารถจะจูงใจให้นักมวยต่างประเทศคู่ชก ต้องพยายามที่จะร้องเพลงชาติของตนด้วยเกือบทุกครั้ง.

##########





 

Create Date : 17 มกราคม 2555    
Last Update : 12 กันยายน 2555 18:02:06 น.
Counter : 851 Pageviews.  

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ฯ

ความหลังริมคลองเปรม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร
กับพระอนุสาวรีย์ พระบิดาเหล่าทหารสื่อสาร

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งเป็นปีที่เหล่าทหารสื่อสาร มีอายุครบ ๖๐ ปี ผู้ช่วยเจ้ากรมการทหารสื่อสาร อดีตผู้ฝึกนักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๔๙๗ รุ่นของผม ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๖๐ ปีเหล่าทหารสื่อสาร ในเวลาที่ผมเป็น พันตรี ประจำแผนกของกองกำลังพล ได้มีชื่อเป็น ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกลาง มีหน้าที่บันทึกการประชุม และอยู่ในคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือทีระลึกด้วย

ในงานนี้ได้มีคณะอนุกรรมการแผนกต่าง ๆ หลายแผนก ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของงาน แต่ท่านได้เรียกผมไปใช้งานในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการใดทำ ตามบันทึกการประชุม หลายครั้งหลายหน และในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ท่านประธานได้ปรารภว่า อยากจะสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร แต่มีเวลาเพียงหกเดือนไม่สามารถดำเนินการได้

จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๙ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านเดิม ได้ดำริที่จะสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อีกครั้งหนึ่ง โดยได้แต่งตั้ง รองเจ้ากรมคนใหม่ เป็นประธานในการดำเนินการจัดสร้างและประดิษฐาน พระอนุสาวรีย์ ในกรมการทหารสื่อสาร และค่ายกำแพงเพชรอัครโยธินด้วย

คราวนี้ผมได้เลื่อนเป็น พันโท แล้วไปครองตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ โดยไม่ได้มีชื่อในคณะกรรมการใด ๆ ในงานนี้ แต่โดยตำแหน่งหลัก ได้กำหนดไว้ว่าให้เป็นนายทหารประวัติศาสตร์ของกรมการทหารสื่อสารด้วย จึงได้รับคำสั่งด้วยวาจา ให้ติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด และถ่ายรูปเก็บเป็นประวัติศาสตร์ไว้ทุกขั้นตอน

ภาพ ๑



งานชิ้นแรกของผมก็คือการเปิดประวัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อหาว่าทายาทของพระองค์ท่านเป็นผู้ใด แล้วนำท่านประธานกรรมการ ไปกราบทูลของประทานอนุญาตสร้างและประดิษฐานอนุสาวรีย์

ท่านเจ้ากรมได้กราบทูลรายละเอียดต่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร และกราบเรียน ท่านผู้หญิง ฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี (หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรชัย) ตามที่ได้ส่งหนังสือขอประทานอนุญาตล่วงหน้ามาแล้วเมื่อ เดือนกันยายน ๒๕๒๙ ซึ่งได้ทรงประทานอนุญาตตามคำขอของ กรมการทหารสื่อสาร

วาระนั้นเป็นครั้งที่สาม ที่ผมนายทหารตัวเล็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระราชวงศ์ชั้นสูง ซึ่งจะต้องไปเฝ้ากราบทูล เพื่อให้ทรงทราบรายละเอียดอื่น ๆ ในโอกาสต่อไปอีกหลายครั้ง โดยมีนายทหารชั้นประทวนที่ร่วมงานกันมาอย่างใกล้ชิด ไปเป็นเพื่อนแก้เขินทุกครั้ง เพราะไม่เคยเข้าเฝ้าเจ้านายพระองค์ใดมาก่อน นอกจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ เนื่องในการที่ทรงจัดการแสดงโขนวันทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปี ตอนองคตสื่อสาร ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่ทรงถือสาในการพูดราชาศัพท์ไม่คล่องของผมเลย

แล้วผมก็ได้ทราบว่าพระองค์หญิงท่านนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านไม่ทรงถือพระองค์ ทรงมีพระดำรัสอย่างกันเอง จนทรงคุ้นเคยกับทหารสื่อสารผู้ประสานงานนอกตำแหน่ง ทั้งสองคนนี้เป็นอันดี อย่างที่ไม่มีวันจะลืมพระกรุณาของพระองค์ท่านเลย

การดำเนินงานสร้างและประดิษฐาน พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของทหารสื่อสาร จึงได้เริ่มขึ้นเมื่อเหล่าทหารสื่อสารมีอายุ ๖๒ ปี ตามลำดับ

โดยได้เริ่มการดำเนินงานตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๙ กรมการทหารสื่อสาร ขอความร่วมมือในการสร้างพระอนุสาวรีย์จากกรมศิลปากร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และมอบให้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงมาเป็นผู้ให้คำแนะนำทุกขั้นตอน

ต่อมากรมการทหารสื่อสารได้รับคำแนะนำ จากกรมศิลปากร ให้แต่งตั้งประติมากร ผู้ปั้นหล่อพระรูป และผู้ควบคุมการก่อสร้าง กับเห็นชอบในแบของอนุสาวรีย์ และบริเวณแท่นฐานกับภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งนายทหารสื่อสารเป็นผู้ออกแบบ

ประติมากรได้เริ่มดำเนินการปั้นพระรูปด้วยดินเหนียว และถอดแบบเป็นปูนปลาสเตอร์ แล้วจึงถ่ายแบบเป็นรูปขี้ผึ้ง หุ้มด้วยดินทรายก่อนที่จะเททอง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมกรมการทหารสื่อสารอีกหลายครั้ง คือ เมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๐ ได้เสด็จไปยังโรงปั้นหล่อ และทอดพระเนตรรูปปั้นพระบิดาซึ่งยังเป็นดินเหนียวแล้ว ทรงพอพระทัยมาก

๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน พิธีวางศิลาฤกษ์พระอนุสาวรีย์ และเททองหล่อพระรูป ณ กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง พระวรวงศ์เธอ พระองคเจ้าวิมลฉัตร ก็ได้เสด็จไปในงานพิธีนี้ด้วย

๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ณ ค่ายสะพานแดง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ก็ได้เสด็จไปร่วมงานนี้อีกครั้งหนึ่ง

เวลา ๑๖.๐๙ น.สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดพระวิสูตรคลุมพระอนุสาวรีย์

เวลา ๑๖.๒๗ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลา ๑๖.๔๐ น. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร และ หม่อมเจ้า ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ทรงวางพวงมาลา ถวายสักการะพระอนุสาวรีย์พระบิดา แล้วเสด็จกลับ

และหลังจากนั้น เมื่อถึงวันประสูติของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ๒๔ มกราคม และวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ตลอดเวลา ๔ ปีต่อมา ผมก็ได้เป็นผู้นำบัตรทูลเชิญเสด็จ
ในงานทั้งสองครั้งนั้นทุกปี จนกระทั่งผมได้เกษียณอายุราชการ ใน ตุลาคม ๒๕๓๕

บัดนี้ กาลเวลาได้ล่วงมาจากวันที่เริ่มดำเนินงานถึง ๒๔ ปีเศษแล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะครบเสี้ยวศตวรรษ ของการประดิษฐานพระอนุสาวรีย์พระองค์นี้

ในวันที่ผมมีอายุครบ ๖๐ ปี ได้จัดพิมพ์หนังสือ แจกเป็นของชำร่วยในงานทำบุญและอำลาชีวิตทหาร ผมก็นำไปถวายพระองค์หญิงที่พระตำหนักด้วย ท่านทรงทอดพระเนตรแล้วก็มีหนังสือชมเชยว่าเขียนได้ดี ในวาระขึ้นปีใหม่ผมก็ส่งหนังสือเป็น ส.ค.ส.ไปถวายพระองค์ท่านเสมอ และได้รับบัตร ส.ค.ส.จากพระองค์ท่านด้วย พระกรุณานี้ฝังใจผมให้จดจำมิรู้ลืม

ภาพ ๒



ตามพระประวัติของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ในหนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ได้บันทึกไว้ว่า

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร เป็นพระธิดาองค์สุดท้ายในพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นสี่ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์)

ภาพแทรก



ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๔ ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้อง ร่วมพระบิดาเดียวกัน รวม ๑๒ พระองค์ ทั้งหมดได้สิ้นพระชนม์ และสิ้นชีพิตักษัย ไปแล้วทุกพระองค์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร นับว่าเป็นหนึ่งในเจ้านายชุดสุดท้ายที่ได้เข้าพระราชพิธีเกศากัณฑ์ตามโบราณราชประเพณีเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ก่อนที่พระราชพิธีนี้จะถูกยกเลิกไป

ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชินี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑

ภาพ ๓




พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ทรงสมรสกับนาวาโทหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย ร.น. พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และหม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ (ดิสกุล) วุฒิชัย ทรงมีโอรส-ธิดา ๒ คน คือ หม่อมราชวงศ์เฉลิมฉัตร วุฒิชัย และหม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร (วุฒิชัย) สวัสดิวัตน์

ภาพ ๔




ได้เสด็จเข้ารักษาพระอาการประชวร ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ และสิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๖.๔๔ น. วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า สิริรวมพระชันษา ๘๘ ปี

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงพระศพ และทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา ๗ วัน ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ สรงน้ำพระศพ ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ และพระราชทานเพลิง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ วัดเทพศิรินทราวาส

ภาพ ๕



จึงขอบันทึกไว้ด้วยความเคารพเทิดทูนจากใจจริง ไว้ ณ โอกาสนี้.





 

Create Date : 17 มีนาคม 2554    
Last Update : 17 มีนาคม 2554 5:49:00 น.
Counter : 3891 Pageviews.  

ข่าวน่าคิด

ย้อนอดีต

ข่าวน่าคิด

พ.สมานคุรุกรรม

รายการทางโทรทัศน์ใน พ.ศ.นี้ มักจะมีข่าวแปลก ๆ ที่เรียกว่า สะเก็ดข่าว บ้าง เก็บตก บ้าง คดีเด็ด และชื่ออื่น ๆ อีกบ้าง ทางหนังสือพิมพ์รายวันก็มีเหมือนกัน แต่มักจะเป็นข่าวเล็ก ๆ ในหน้าหลังสุดเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่คัดลอกเอามาเล่าคราวนี้ เป็นข่าวในหน้า ๑ ทีเดียว ไม่รู้ว่าจะอนุโลมเข้ากับข่าวทางโทรทัศน์ที่กล่าวข้างต้นหรือไม่

รายแรกเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. มีเด็กชายสามคนพี่น้อง อายุประมาณ ๑๒ – ๑๔ ปี คือ ด.ช.ชาติ กับ ด.ช.เกียรติ และ ด.ช.ศักดิ์ ซึ่งคู่แรกเป็นฝาแฝด ได้พากันหนีโรงเรียนไปเที่ยวที่เขาดินวนาหรือสวนสัตว์ดุสิต แล้วก็เดินชมสัตว์ต่าง ๆ ไปตามรายทางจนถึงบ่อจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งเรียกว่าตะโขง กำลังนอนผึ่งลมกันอยู่ ๔ – ๕ ตัว บ่อนั้นกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๖ เมตร และขอบบ่อสูงเพียงเอว ภายในบ่อมีเหรียญบาทจากผู้ที่โยนลงไปเพื่อสะเดาะเคราะห์ มากมาย ด.ช.เกียรติ เกิดอยากได้เงินมาซื้อขนมแบ่งกันกิน จึงปีนข้ามขอบบ่อเข้าไปหมายจะเก็บเงินเหล่านั้น บังเอิญมีจระเข้ตัวหนึ่งยาวประมาณสามเมตรเหลือบเห็นผู้บุกรุก จึงกระโดดเข้างับแขนหมายจะเขมือบเป็นเหยื่อ แต่เด็กชายสะบัดหลุดได้ แล้วตะกายมาที่ขอบบ่อ พอดีพระภิกษุรูปหนึ่งยืนอยู่ใกล้ขอบบ่อจึงช่วยดึงตัวข้ามขอบบ่อมาได้ แล้วให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะได้รับบาดแผลที่แขนเหวอะหวะ

พระอธิการวอน โชติยาโณ ผู้ช่วยเหลือเด็ก ได้เล่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับแจ้งความว่า อาตมาเห็นเข้า พอหายจากตกตลึงก็พอดี ด.ช.เกียรติ แกสะบัดมือหลุดจากปากจระเข้ อาตมาเลยตัดสินใจเอื้อมมือไปฉุดเอาแกออกมาจากบ่อ รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของจระเข้ไปได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่จระเข้ตัวนั้นกำลังตั้งท่าจะพุ่งตัวเข้ามาขย้ำซ้ำสอง

เด็กทั้งสามคนพี่น้องคงจะจดจำ เรื่องที่น่าหวาดเสียวนี้ ไว้เป็นบทเรียนสอนใจจนบัดนี้เป็นแน่

รายต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. นางนาค (นามสมมุติ) หญิงชราอายุ ๗๙ ปีอยู่บ้านไม่มีเลขที่ ตำบลบางศรีเมือง เขตเทศบาลเมืองนนทบุรี ได้หอบสังขารเข้าแจ้งความกับนายร้อยเวร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองว่า ก่อนที่จะนำความมาแจ้งนี้ ได้ถูกชายคนหนึ่ง อายุประมาณ ๓๐ ปี คนข้างบ้าน ได้บุกเข้าฉุดหมายจะปลุกปล้ำ และข่มขืนกระทำชำเรา ในขณะที่นางกำลังเดินเข้าซอยบ้าน ด้วยความตกใจกลัวจึงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ จากชาวบ้านใกล้เคียง ชายผู้นั้นจึงตกใจวิ่งหนีไป ตามถนนหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งและลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว ก็ออกติดตามจับกุมตัวคนร้ายอย่างกวดขัน แต่ก็ไม่ได้ร่อยรอยประการใด

เมื่อตำรวจสอบสวนต่อไปว่า เหตุใดจึงคิดว่าคนร้ายจะข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายจึงบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันชายผู้นี้เคยบุกเข้าปลุกปล้ำข่มขืนกระทำเชาเราตน จนสำเร็จความใคร่ไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่นางไม่ได้แจ้งความและไม่ติดใจจะเอาเรื่อง แต่มาคราวนี้ยอมไม่ได้เพราะเป็นการกระทำต่อหน้าประชาชน และเป็นเวลากลางวันแสก ๆ ซึ่งทำให้อับอายมาก เพราะนางก็อายุ แก่มากแล้วไม่น่าจะทำกันเช่นนี้เลย

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องพยายามสืบสวนติดตาม เพื่อนำตัวชายผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่รู้จัก กาละเทศะรายนี้ มาดำเนินคดีให้ได้ต่อไป


รายต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ปีเดียวกัน เวลา ๑๒.๐๐ น. นายบุญสม อายุ ๔๐ ปี ได้พาเด็กชายทุย (นามสมมุติ) อายุ ๘ ขวบ ทั้งสองอยู่บ้านตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เข้าแจ้งต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง อำเภอเมือง ให้จับนายจุ้ย (นามสมมุติ) อายุ ๒๙ ปี ซึ่งเป็นบิดาของ ด.ช.ทุย เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม มีคนร้ายลอบเข้าไปโจรกรรมในอู่รถของนายบุญสม สิ่งของที่ถูกลักขโมยไปมีคีมคีบหัวเชื่อมไฟฟ้า ๕ ตัว และหม้อน้ำรถยนต์ รวมราคาทั้งหมด ๔๐๐๐ บาท โดยที่นายบุญสมไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร

แต่ ด.ช.ทุย ได้มาหานายบุญสมที่บ้าน แจ้งให้ทราบว่าคนร้ายรายนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้เป็นบิดาของตนเอง และมีผู้ร่วมมือด้วยอีกคนหนึ่ง จึงรีบมาแจ้งความตามที่ ด.ช.ทุย บอก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรุดไปจับตัวนายจุ้ยกับเพื่อนได้โดยละม่อมที่บ้านและนำตัวมาสอบสวน ทั้งสองก็ให้การสารภาพตลอดข้อหา นายจุ้ยผู้นี้เคยถูกจับเข้าคุก ฐานลักทรัพย์ชาวบ้านมาสองสามครั้งแล้วไม่เข็ดหลาบ ออกจากคุกก็ประพฤติตัวเช่นเดิมอีก ตำรวจจึงคุมตัวนายจุ้ยกับเพื่อนไว้ดำเนินคดีต่อไป

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวน ด.ช.ทุย เพิ่มเติม จึงได้ทราบว่าการที่มาเป็นพยานให้นายบุญสมครั้งนี้ ก็เพราะแค้นที่นายจุ้ยผู้พ่อทอดทิ้ง ไม่เอาใจใส่เลี้ยงดู ปล่อยให้อยู่กับยายตลอดมา และหลังจากโจรกรรมทรัพย์สินมาได้แล้ว ก็บังคับให้ ด.ช.ทุยนำไปขายตามร้านรับซื้อของเก่า โดยเจ้าตัวไม่เต็มใจอยู่เสมอ เมื่อได้เงินมาแล้วก็เอาไปซื้อเหล้ากิน ครั้นเมาแล้วก็ด่าว่าตนเองกับยายทุกครั้ง สร้างความเจ็บแค้นให้เป็นอย่างมาก

ที่สำคัญก็คือนายจุ้ยนี้เป็นพ่อเลี้ยง เพราะ ด.ช.ทุยเป็นลูกติดแม่ที่มาเป็นเมียนายจุ้ยเท่านั้น เมื่อได้รับความคับแค้นใจ จึงอาสามาเป็นพยานให้นายบุญสมจับนายจุ้ยดังกล่าว เรื่องนี้ไม่ทราบว่า เมื่อนายทุยพ้นโทษออกมาคราวนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับ ด.ช.ทุย อีก

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ เวลา ๑๒.๓๐ น. พระวินัยธร วัดท้ายเมือง ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี อายุ ๕๘ ปี ได้เข้าแจ้งกับนายร้อยเวร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี ว่าเมื่อคืนนี้เวลา ๐๐.๑๐ น.ได้มีคนร้าย ๒ คนบุกเข้าไปขโมยเอาวัวที่ทางวัดเลี้ยงไว้ สองตัวหลบหนีไปหนึ่งตัว ซึ่งมีเด็กวัดจำคนร้ายได้ว่า เป็นคนทำงานในโรงฆ่าสัตว์จังหวัดนนทบุรี โดยได้นำวัวขึ้นรถปิคอัพไป เข้าใจว่าจะเอาไปฆ่าในโรงฆ่าสัตว์เป็นแน่

หลังจากได้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้นำกำลังรุดไปตรวจสอบที่โรงฆ่าสัตว์ทันที แต่ได้พบวัวมากมายซึ่งเจ้าทุกข์ก็จำไม่ได้ว่า ตัวไหนเป็นวัวของวัดที่หายไป ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบทะเบียนรถปิคอัพตามที่เด็กจำได้ ว่าเป็นของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในถนนสีลม ก็ปรากฏว่าได้ย้ายไปที่อื่นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องสืบหาตัวคนร้าย ในทางอื่นต่อไป

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ ธันวาคม ก็ได้เค้าว่า รถปิคอัพคันนั้น นางม่วง (นามสมมุติ) บ้านอยู่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ได้ซื้อไปจากบริษัทดังกล่าว และให้นายเจริญ (นามสมมุติ) ผู้เป็นสามีขับรับจ้างอยู่ระหว่างอำเภอไทรน้อยกับอำเภอบางบัวทอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ไปจับกุมตัวนายเจริญ มาสอบสวนที่ สภ.อ.เมืองนนทบุรี

นายเจริญได้ให้การว่า เมื่อเย็นวันที่ ๒๓ ธันวาคม นายไชยกับนายรส (นามสมมุติทั้งคู่) ได้มาว่าจ้างรถของตนในราคา ๕๐๐ บาท จากอำเภอบางบัวทอง ให้มาจอดที่วัดท้ายเมือง นานประมาณ ๒ ช.ม. แล้วทั้งสองนายก็จูงวัวมาขึ้นรถ ให้ตนขับไปที่ท่าน้ำบางบัวทอง ซึ่งตนไม่ได้รู้เห็นในการขโมยวัวตัวนี้แต่อย่างใดเลย และเชื่อว่าวัวตัวนี้น่าจะยังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ยึดรถคันนี้ไว้ และออกติดตามหาวัวของกลางและคนขโมยทั้งสองต่อไป

ต่อมาถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบจากคำให้การของคนขับรถแล้ว จึงติดตามหาตัวนายไชย (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นพนักงาน ซี.๓ ฝ่ายการเงิน และนายรส(นามสมมุติอีกเหมือนกัน) คนงานโรงงานฆ่าสัตว์ นนทบุรี โดยแบ่งกำลังออกเป็น ๓ สาย เพื่อไปจับกุมตัวการทั้งสอง และผู้ร่วมมืออีกสองคน

เจ้าหน้าที่ได้ไปจับกุมตัวนายไชยได้ที่ทำการประปานนทบุรี ถนนติวานนท์ ขณะกำลังนั่งกินเหล้าอยู่กับเพื่อน เมื่อคนขับรถชี้ตัวนายไชยถึงกับหน้าซีด และยอมสารภาพว่าตนเป็นผู้วางแผน และหลังจากขโมยวัวมาแล้ว ได้ให้นายรสนำไปขาย แต่จนขณะที่ถูกจับกุมก็ยังไม่ได้พบกันเลย คาดว่าวัวคงจะอยู่ที่บ้านนายรส เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปที่บ้านนายรส คงพบแต่ภรรยาซึ่งบอกว่านายรสกับลูกชายออกจากบ้านไป ตั้งแต่เมื่อวานยังไม่กลับ

เจ้าหน้าที่จึงออกติดตามไปจนพบนางจัน แม่ค้าขายเนื้อวัวในตลาดบางบัวทอง ซึ่งได้เปิดเผยว่า นายรสได้จูงวัวมาขายให้ในราคาสามพันบาท แต่ตนไม่กล้าซื้อไว้เพราะเป็นราคาที่ถูกมาก โดยปกติวัวจะมีราคาซื้อขายตัวละเจ็ดพันกว่าบาท นายรสจึงจูงวัวกลับไป เจ้าหน้าที่ตำรวจนนทบุรีก็ยังไม่ละความพยายาม ได้ร่วมมือกับตำรวจบางบัวทอง ติดตามหาร่องรอยต่อไปตามทุ่งนาข้ามคลองเขมรเดินตัดทุ่งไปอีกไม่นาน ก็พบเชือกสนตะพายวัวผูกอยู่กับต้นกล้วยบริเวณโคกกล้วยใกล้กับโรงระหัด วิดน้ำของนายแย้ม อยู่ที่ตำบลและอำเภอบางบัวทอง เมื่อตรวจบริเวณรอบ ๆ ก็พบรอยเลือดสาดกระเซ็นติดอยู่ตามใบตอง และบริเวณนั้นหลายแห่ง กับพบหนังวัวสดทั้งผืนพับผูกเชือกเรียบร้อย ซ่อนอยู่ใต้กอสวะ เจ้าหน้าที่พยายามลงงมหาหัววัว ที่คาดว่าคนร้ายจะทิ้งไว้ในน้ำ แต่ไม่พบจึงนำเชือกสนตะพายและหนังวัวกลับมาที่ สภ.บางบัวทอง

เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าจะมีผู้ร่วมมือฆ่าวัวอีกไม่น้อยกว่าสามคน พร้อมกับได้สืบทราบว่า นายรสได้นำเนื้อวัวลงเรือมุ่งหน้าหนีขึ้นฝั่งเหนืออำเภอบางบัวทอง ผ่านประตูน้ำคลองพระอุดม ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอปากเกร็ด นนทบุรี เชื่อว่าจะนำเนื้อวัวไปขายให้ชาวบ้านแถวนั้นเป็นแน่ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดตามไปจับกุมตัวให้ได้ในไม่ช้านี้

เมื่อนายไชยทราบว่าวัวถูกฆ่าแล้ว ถึงกับร่ำไห้ออกมาด้วยความเสียใจ พร้อมกับบอกว่านายรสไม่น่าฆ่าวัวเลย ให้เอาไปขายกลับเอาไปฆ่าทิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคุมตัวผู้ต้องหาที่จับได้แล้ว ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่วัดท้ายเมือง ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่ทราบข่าวพากันแห่ไปดูเป็นจำนวนมาก และร้องด่าสาปแช่งคนใจร้ายที่ขโมยวัวของวัดไปฆ่าในครั้งนี้

มูลเหตุที่มีผู้สนใจในข่าวการขโมยวัวตัวหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต ที่ตำรวจจะให้ความสนใจติดตามอย่างกวดขัน จนได้ตัวผู้กระทำผิดรายนี้ได้ภายในเวลาไม่นานนั้น เพราะวัวตัวนี้เป็นหนึ่งในจำนวนทั้งหมด ๗ ตัว ที่มีผู้ใจบุญซื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ นำมาถวายวัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ของตนเอง และทางวัดได้ติดต่อไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายในหลวง ก็มาถูกคนร้ายขโมยไปเสียก่อน ผู้กำกับการตำรวจภูธรนนทบุรี จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอเมืองนนทบุรี ติดตามจับกุมคนร้ายมาให้ได้โดยด่วน จนสามารถคลี่คลายคดีได้ในเวลาไม่นาน.

#########




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 9:23:24 น.
Counter : 703 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.