Group Blog
 
All Blogs
 

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๗) นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๗)

นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔

พ.สมานคุรุกรรม

พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เล่าประวัติของท่านไว้เองว่า ต้นตระกูลของท่านคือ พระยา ยมราช (แบน) ในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปกำกับการกรุงกัมพูชา ต่อมามีเหตุการณ์เจ้าแผ่นดินเขมรและเจ้านายเขมรฆ่าฟันแย่งราชสมบัติกัน จึงมีพระบรมราชโองการเรียกตัวพระยายมราช(แบน)เข้ามาจำขังไว้ที่กรุงธนบุรี

ครั้นเมื่อประเทศญวนได้กรีฑาทัพเข้ามาบุกรุกเขมร พระเจ้าตากสินก็มีพระบรมราชโองการให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กรีฑาทัพออกไปช่วยเขมรป้องกันทัพญวนที่เข้ามารุกราน เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ขอพระยายมราช(แบน)ไปในกองทัพด้วย โดยเหตุที่เป็นผู้ชำนาญการทางภาคนั้น

เมื่อมีใบบอกไปแจ้งกองทัพไทยที่กัมพูชาว่า เกิดเรื่องที่เมืองไทย พระยาสรรค์คิดขบถจับพระเจ้าตามสินไว้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็แบ่งกองทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งนำกลับเมืองไทย อีกส่วนหนึ่งให้พระยายมราช(แบน) เป็นผู้กำกับทัพอยู่ที่กัมพูชา

เมื่อเจ้าพระยามหากษัริย์ศึกปราบดาภิเศกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว พระยายมราช(แบน) ก็ติดราชการคุมเมืองเขมรอยู่ทางโน้น

ต่อมาอีกแผ่นดินเขมรว่างกษัตริย์ มีเจ้านายเขมรเป็นผู้มีสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ชื่อนักองเอง อายุเพียงห้าขวบ พระยายมราช(แบน) เกรงจะเกิดการรบราฆ่าฟันกันอีก จึงส่งตัวนักองเองเข้ามาถวายที่กรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๑ ก็ทรงรับไว้อุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรม แล้วมีพระบรมราชโองการให้พระยายมราช(แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการกรุงกัมพูชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปกครองเขมรในฐานะผู้สำเร็จราชการตลอดมา

จนกระทั่งนักองเองได้บรรลุนิติภาวะ ได้ทรงผนวชที่กรุงเทพฯ เป็นนาคหลวงเสร็จแล้วก้เสด็จกลับไปครองราชสมบัติเขมร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๑ จึงแบ่งดินแดนเขมรคือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ มงคลบุรี และระสือ ห้าจังหวัดมาขึ้นกับราชอาณาจักรไทยเสีย และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการทั้ง ๕ จังหวัดนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

คราวนี้ตระกูล “อภัยวงศ์” ก็ได้รับใช้แผ่นดินตลอดจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๕ มีเจ้าพระยาคฑาธรธรณินทร์ (เยีย) และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ได้ช่วยกันรักษาพระราชอาณาจักรให้ตลอดรอดฝั่งมา จนตอนหลังเขมรก็กลายเป็นประเทศในอารักขาของฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสก็พยายามจะเอาแผ่นดินเหล่านี้กลับคืน จึงขอตั้งกงศุลขึ้นที่จังหวัดพระตะบอง แล้วก็หาเรื่องหาราวต่าง ๆ ตระกูลอภัยวงศ์ก็ช่วยกันผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดมา

จนกระทั่งถึง ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ฝรั่งเศสเอาทหารเข้ามา เอาเรือรบสองลำเข้ามาปิดปากอ่าวไทย ทางเราได้ปืนดีครูดี ก็ยิงจมไปลำหนึ่ง เลยตกลงเจรจากันไปเจรจากันมานาน ท่านก็คงทราบพงศาวดารตอนนั้นแล้ว ว่าเราต้องใช้เงินให้เขาดูเหมือนล้านกว่า หรือสามล้านกว่าบาทนี่แหละ เวลานั้นก็นักว่ามากมาย และเพื่อเป็นประกันการใช้หนี้ ฝรั่งเศสก็เข้ามายึดจันทบุรีตราดเอาไว้ แต่ทหารฝรั่งเศสแทนที่จะถอนออกไปหมดกลับยังยึดตราดอยู่และขอเจรจาเรื่องมณฑลบูรพาต่อไป ทางไทยเราไม่มีหนทางที่จะทำอย่างอื่น ต้องเอากุ้งฝอยแลกปลากะพง

ตามที่ผู้ใหญ่เล่าให้ผมฟังนั้น ได้มีพระบรมราชโองการเรียกเจ้าคุณพ่อของผมลงมากรุงเทพฯ และทรงรับสั่งถามความเห็น เจ้าคุณพ่อของผมก็กราบบังคมทูลว่า เราควรที่จะเอาจังหวัดที่เป็นของไทยไว้ ส่วนจังหวัดที่เป็นเขมรถ้าจำเป็นจะต้องเสีย ก็ควรจะยอมเสียจังหวัดที่เป็นเขมร รักษาจังหวัดไทยไว้ดีกว่า ก็เป็นอันตกลงทำสัญญาคืนมณฑลบูรพาให้แก่เขมรไป (ความจริงให้ฝรั่งเศส)

ท่านเล่าต่อไปว่าสำหรับเจ้าคุณพ่อของท่านนั้น ฝรั่งเศสจะให้อยู่ต่อไป เกียรติยศเกียรติศักดิ์เคยมีมาอย่างไร ก็จะขอให้อย่างนั้น แต่เจ้าคุณพ่อของท่านไม่ยอมอยู่ อ้างว่ามีเจ้านายแต่เพียงคนเดียว จึงอพยพกลับมาเมืองไทย ในขณะที่ท่านมีอายุเพียงสี่ขวบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุราโปรดเก้า ฯ ให้เกณฑ์คนเกณฑ์เกวียนไปรับ ต้องเดินทางมาเป็นแรมเดือนกว่าจะถึงเมืองปราจีนบุรี และในคราวนั้นยังมีพลเมืองเขมรติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก แล้วครอบครัวของท่านก็ตั้งรกรากอยู่ที่ปราจีนบุรี จังหวัดนี้จึงเป็นที่ตั้งต้นชีวิตของท่านตั้งแต่นั้นมา

จากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เล่าประวัติการศึกษาของท่านไว้ว่า ในเยาว์วัยนายควงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนอภัยพิทบาตร ต่อมาได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ย้ายไปโรงเรียนอัสสัมชัญ สอบได้ชั้น ๓ แผนกฝรั่งเศส เมื่ออายุ ๑๕ ปี ได้ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ในแผนกวิศวกรรมโยธา สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ฝึกงานในประเทศนั้น

ที่ประเทศฝรั่งเศสนี้เองที่ท่านได้พบปะเพื่อนฝูงหลายคนที่ต่อมาได้ร่วมกันเป็นคณะราษฎร ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย

หลังจากนั้นเมื่อ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แล้ว ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ใน พ.ศ.๒๔๘๖ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงไปแล้ว ท่านจอมพลบอกว่าตนไม่ได้ลาออก และหาใบลานั้นไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านก็ไม่ไปประชุมตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ท่านเล่าไว้ว่า

พอผมไปถึงท่านจอมพลก็ทำหน้าตึงกับผมเชียว เขาถามว่าทำไมเวลาประชุมคณะรัฐมนตรีคุณหลวงไม่มา ผมบอกว่าธุระอะไรผมจะต้องมาเมื่อเราลาออกแล้ว จะมาประชุมหาเรื่องอะไรอีก จอมพลก็ว่าคุณหลวงรู้มาได้ยังไงว่าผมลาออก ผมก็บอกว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ ฯ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)ให้ใบลาผมดูนี่ ก็ต้องจัดการเรื่องลาออกให้มันเรียบร้อยซี แล้วจึงประชุมกันใหม่ ไม่ยังงั้นก็ไม่ถูกเรื่อง

เขาก็โกรธใหญ่เขาบอกว่าผมไม่อยากให้คุณหลวงทำงานกับผมหรอก ผมก็ตอบว่าผมไม่ได้ของานทำนี่ มาขอผมเองต่างหาก เอ้า....ผมลาออก แล้วผมก็เขียนใบลาเดี๋ยวนั้น ส่งให้แล้วเดินออกจากที่ประชุมทันที

บทบาทของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ในวิกฤตการณ์สมัย จอมพลแปลก(หลวงพิบูลสงคราม) วางแผนสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจนั้น ท่านได้แสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงในวิธีการของ ”ท่านผู้นำ” และวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจอมพลแปลก จนกระทั่งท่านจอมพลต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ ระหว่างนั้นยังไม่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

ที่เขามาเกณฑ์ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่าเขาชอบขี้หน้าผม เขาจึงเอาตำแหน่งนี้มาประเคนให้ผมหรอก แต่เรื่องมันจำเป็นที่ไม่มีใครกล้ารับ เพราะกลัวหลวงพิบูล ฯ กันหมด และนิสัยของผมมันก็ชอบทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ

ขณะนั้นก็เกิดข่าวเขย่าขวัญเกี่ยวแก่ท่าทีของหลวงพิบูล ฯ ว่าทหารทางลพบุรีจะยกมายึดพระนครบ้าง พวกทหารสนับสนุนหลวงพิบูลบ้างล้วนแต่เป็นข่าวที่บั่นทอนกำลังใจของผู้ที่ไม่ใช่ฝ่ายหลวงพิบูล ฯทั้งสิ้น

ผมจึงไปปรึกษาหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น เขามีความเห็นว่าทางที่ดี ผมควรจะไปเจรจากับหลวงพิบูล ฯ เองในค่ายทหารลพบุรี ผมก็เห็นชอบด้วย และตกลงว่าจะไปคนเดียว แต่ขุนศรีศรากรซึ่งเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล อาสาจะนำทางไปด้วย

การเดินทางไปเจรจาครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตกลงกันได้เรียบร้อย แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาทหารทั่วราชอาณาจักร และกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยไม่ไว้วางใจ ถ้าเราไม่แก้ไขเสีย กองทัพไทยกับกองทัพญี่ปุ่นก็อาจจะต้องปะทะกัน พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี จึงประกาศให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ท่านสรุปว่า หลวงพิบูล ฯ คงจะโกรธผมไปพักหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ผมทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน อย่างไรก็ตามในคือวันที่ประกาศนั้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทางทหารเรือเขาขอให้ผมไปนอนที่กองทัพเรือ คือนอนบนโต๊ะทำงานของผู้บัญชาการทหารเรือ โดยไม่มีฟูก พอตื่นเช้าก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว

นี่แหละสภาพการเป็นนายกของผม

ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบต่อมาจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ท่านจึงเป็นอันดับที่ ๔ ของประเทศไทย ด้วยประการฉะนี้.

###########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
มิถุนายน ๒๕๔๘

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑




Create Date : 22 ธันวาคม 2551
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2552 21:55:59 น.

Counter : 50 Pageviews.




 

Create Date : 08 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:56:15 น.
Counter : 649 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๖) เมื่อทหารสื่อสารเป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องเล่าจากอดีต (๑๖)

เมื่อทหารสื่อสารเป็นนายกรัฐมนตรี

พ.สมานคุรุกรรม

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้อ่านในต่วยตูนมาแล้ว ว่ามีนายทหารบกหลายเหล่าเช่นทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารราบ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาในอดีต คราวนี้จึงอยากจะให้ท่านได้รู้จักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารสื่อสารกันบ้าง

นายทหารสื่อสารผู้ซึ่งได้เป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ถึงสี่สมัยนี้ ได้เล่าเรื่องของการสื่อสารในกองทัพบกไว้ใน ต่วยตูน ฉบับ ธันวาคม ๒๕๔๐ ปักษ์แรก ซึ่งต้องขออนุญาตท่าน บก.สส.คัดลอกมาเตือนความจำท่านผู้อ่านอีกครั้ง ดังนี้

“…….ผมขอพูดถึงเรื่องเครื่องสื่อสารของทหารในสมัยนั้นสักหน่อย ความจริงเครื่องสื่อสารของทหาร ระหว่างสงครามอินโดจีนนั้น ใช้ไม่สะดวกเลย และเกิดขลุกขลักกันใหญ่ ต้องใช้เครื่องสื่อสารของกรมไปรษณีย์ ถึงแม้เราจัดเครื่องของกรมไปรษณีย์ส่งไปให้แล้ว แต่ก็ยังไม่พอใช้ และมีขลุกขลักในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก หลวงพิบูล ฯ เวลานั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เรียกผมเข้ากองประจำการ ผมไม่เคยเป็นทหารมาก่อน เพราะวัดหน้าอกแล้วมันไม่ได้ขนาด ครั้นผมไปเข้าประจำการ ก็มีพลเรือนเพียงผมคนเดียวที่นั่งทำงานร่วมกับนายทหาร…………..
………. ต่อมาอีกสักอาทิตย์หนึ่ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ผมเป็น พันตรี แล้วก็ถูกส่งไปชายแดน คราวนี้มันก็ยุ่งกันใหญ่ ทหารเขาเรียกผู้บังคับกอง ผมก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาเรียกใคร เขาต้องมาดึงเสื้อจึงรู้ การเคารพเราเคยแต่เปิดหมวก ทีนี้มันต้องตาเบ๊ะ เผลอไปจะเปิดหมวกแต่โดนแก๊ปเข้า เลยว่ากันยุ่งไปหมด………
……….ผมไปชายแดนกับเขา ไปจนถึงศรีโสภณ แต่ไม่ได้รบอะไรกับเขา เพราะผมมีหน้าที่เฉพาะการสื่อสาร ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยเมื่อตกลงสงบศึกแล้ว ผมก็ได้เป็นผู้ไปรับมอบดินแดนคืน และไปชักธงช้างในพิธีรับมอบดินแดนด้วย เพราะเมื่อก่อนนี้เราใช้ธงช้าง คือธงที่บิดาผมต้องชักลงมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมจึงไปชักธงช้างขึ้นด้วยตนเอง………..”

เมื่ออ่านมาถึงแค่นี้ ท่านก็คงจะทราบแล้วว่า นายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นั่นเอง

ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๔๕ ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา

ท่านสำเร็จการศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส แล้วได้ออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จวิชาวิศวกรรมโยธา จากเอโกลซังตรัล เดอ ลียอง (ECOLE CENTRALE DE LYON)

ท่านได้เล่าถึงการศึกษาในต่างประเทศไว้ว่า

“ ระหว่างที่ผมไปถึงฝรั่งเศสนั้น เป็นปี ค.ศ.๑๙๑๙ (พ.ศ.๒๔๖๒) คือเลิกสงครามใหม่ ๆ (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ผมไปอยู่ได้สัก ๒ หรือ ๓ ปี ผมก็พบนักเรียนไทยคนหนึ่ง เขาเป็นนักเรียนกฎหมายเพิ่งไปจากเมืองไทย พบกันที่สถานทูต เพราะทางสถานทูตนั้น เวลาหยุดพักเรียนก็อนุญาตให้เราเข้าปารีส สำหรับผมถูกส่งให้ไปอยู่เมืองตูร์ ภาคกลางของฝรั่งเศส แต่ทว่าเวลาพักเรียนอีสเตอร์ หรือวันหยุดต่าง ๆ เขาก็ให้เข้ามาเที่ยวปารีส จึงมาพบหนุ่มคนนั้น นักเรียนกฎหมายคนนี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาสัก ๒ ปี ผมก็พบนายทหารหนุ่มอีกคนหนึ่งเป็นร้อยโท คือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ เพราะฉะนั้นเพื่อนเราเวลานั้นก็มี ร.ท.แปลก นายปรีดี นายควง นายชม จารุรัตน์ (เป็นหลวงคหะกรรมเวลานี้ ) นายเอนก ศาสตราภัย เราเป็นเพื่อนรักกัน “

เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากลับประเทศไทยแล้ว ก็ได้รับราชการอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านก็ได้ร่วมมือกับเพื่อน ๆ ของท่าน ที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศส ทำการปฏิวัติในนามของ “คณะราษฎร์”

การเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น ก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น เช่นการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือปฏิรูปการปกครองในสมัยต่อ ๆ มา คือมีการเปลี่ยนย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหลายหน่วยงาน ขณะที่นายควงและครอบครัวกำลังพักผ่อนอยู่ที่หัวหิน ทางราชการก็ได้มีคำสั่งเรียกตัวให้กลับกรุงเทพ และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ค่อนข้างนาน และได้รับเงินเดือนตำแหน่งนายช่างกำกับการโทรศัพท์ ซึ่งต่ำกว่าตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่งมีการปรับปรุงกรมไปรษณีย์โทรเลขในเวลาต่อมา ท่านจึงได้รับเงินเดือนตำแหน่งอธิบดีตามปกติเมื่อ กันยายน ๒๔๗๘

อันกรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ตั้งแต่เสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้ตั้งพระทัยไว้ว่า จะสร้างตึกไปรษณีย์กลางที่บางรัก นายควงจึงได้ดำเนินการไปตามพระดำริ เริ่มด้วยการจัดสร้างตึกไปรษณีย์ ณ ที่กำหนดไว้เดิม ความจริงอธิบดีก่อนหน้านายควง ก็ได้พยายามของบประมาณที่จะดำเนินการตามนั้นตลอดมา แต่ก็มีข้อขัดข้องเสมอ เพิ่งจะมาสำเร็จในสมัยนี้

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จงใจจะทิ้งระเบิดตึกไปรษณีย์กลางนี้หลายครั้ง แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ลูกระเบิดไม่ถูก จึงได้มีเสียงโจษจันไปว่า เมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ครุฑสองตัวที่อยู่มุมตึกด้านหน้าจะบินขึ้นไปปกป้องตึกนี้ไว้ ทำให้ลูกระเบิดพลาดเป้าหมายทุกครั้ง จนทำให้วัดที่อยู่ใกล้เคียงต้องรับเคราะห์แทน ครั้นสงครามสงบแล้วมีนักหนังสือพิมพ์บางนายได้ไปถามนายควงว่า

“ เมื่อสร้างตึกนี้ได้ลงของดีอะไรไว้ ลูกระเบิดจึงคลาดแคล้วไปหมด “

นายควงทำหน้าขึงขังตอบว่า

“ มีซิคุณ เมื่อเวลาสร้างตึกนี้ไม่มีใครไปกินกำไรซักสตางค์ แล้วนั่นไม่ใช่ของดีหรือ“

ในสมัยนั้นการกระจายเสียงยังขึ้นอยู่กับกรมไปรษณีย์ ฯ มีสถานีวิทยุพญาไท และสถานีวิทยุกระจายเสียง ศาลาแดง หลวงชำนิกลการเป็นหัวหน้าแผนกกระจายเสียง ขึ้นอยู่กับกองช่างวิทยุ มี พ.อ.พระอร่ามรณชิต เป็นนายช่างกำกับการ เมื่อได้เกิดมีการกบฏยกกำลังมาจากนครราชสีมานั้น วิทยุกระจายเสียงเป็นกำลังโฆษณาอันสำคัญของรัฐบาล เมื่อได้เห็นความสำคัญของการกระจายเสียงเช่นนั้น รัฐบาลจึงได้โอนการกระจายเสียง มาอยู่กับสำนักโฆษณาการในภายหลัง

เมื่อสงครามอินโดจีนสงบลง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนในมณฑลบูรพาเดิม จากรัฐบาลอินโดจีนในเดือน กรกฎาคม ๒๔๘๔ เมื่อจะออกเดินทางไปปฏิบัติราชการ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบคำอำลาของ พันตรี ควง อภัยวงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า

“……..โดยเฉพาะนายพันตรีควง อภัยวงศ์ รัฐมนตรีและประธานกรรมการรับโอนดินแดนด้านบูรพานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกเต็มตื้นในถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว สำหรับตัวท่านเองและสำหรับท่านเจ้าคุณบิดาของท่านว่า เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ท่านเจ้าคุณบิดาได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทย กลับสู่ประเทศไทย ด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้ท่านผู้เป็นบุตร ได้มีโอกาสอัญเชิญธงไทย กลับไปสู่ที่เดิม เป็นการสนองเกียรติประเทศชาติและรัฐบาล ทั้งเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้า ของท่านเจ้าคุณบิดาอีกด้วย………..”

พันตรีควง อภัยวงศ์ได้นำธงช้างอันเป็นธงไทยเดิม ไปชักขึ้นที่หน้ามุขตึกเรสิดังต์ซึ่งเป็นที่ทำการด้วย การเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก มีไม่น้อยคนที่ยืนดูด้วยน้ำตาคลอ และในตอนเช้าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔ กองระวังหน้าของกองทัพบูรพา ภายใต้การนำของ พันโท ไชย ประทีปเสน ก็เคลื่อนเข้าสู่พระตะบอง และวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ มีการสวนสนาม พลโทมังกร พรหมโยธี แม่ทัพภาคบูรพาเป็นผู้รับความเคารพ เมื่อการรับมอบดินแดนได้ปฏิบัติไปเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพ

ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ และได้รับพระราชทานยศ พันตรี เหล่าทหารสื่อสาร ตามแจ้งความทหาร เรื่อง ตั้งนายทหารพิเศษ ที่ ๑๒๖/๑๐๖๗๒ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๔ ซึ่งมีความว่า

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์ ) เป็นนายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร และให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก ตั้งแต่ ๕ มี.ค.๘๔ เป็นต้นไป ลงนามโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมาท่านได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ เมื่อ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ ท่านจึงเป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่นั้นมา

ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ ต่อจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙ ครั้งที่สาม หลังการกระทำรัฐประหาร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้ว คณะทหารได้มาเชิญท่านให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และครั้งสุดท้าย เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑

พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๐๖.๐๔ น ด้วยโรคมะเร็งที่ปอด เมื่อมีอายุประมาณ ๖๖ ปี พระธรรมกิตติโสภณ วัดเบญจมบพิตร ได้แสดงพระธรรมเทศนา เมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๑๑ มีความตอนหนึ่งว่า

ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอดีต ๔ สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้ง และที่สำคัญเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตลอดมา ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และสามารถใช้คุณธรรมนั้น อำนวยประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นได้ ความดีประการอื่น ๆ จะขอยกไว้ จะกล่าวเฉพาะความดีที่ปรากฎในทางการเมืองเท่าที่ทราบได้

คือการที่ท่านพันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้มีชีวิตรุ่งเรืองในทางการเมืองโดยลำดับมา นับตั้งแต่เป็นนักการเมืองผู้น้อย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งโดยการแต่งตั้งและเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรีทั้งช่วยว่าการ และว่าการกระทรวงหลายกระทรวง เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๔ สมัย ถึงแม้ผลงานจะปรากฎไม่มาก เพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน บางสมัยก็เป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นผลงานที่จัดว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมหาศาล ก็มีปรากฎอยู่ คือในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งถ้าหากไม่ได้ท่านพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อาจจะทำให้สถานการณ์ของประเทศชาติยุ่งยากหลายประการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจและทราบกันดีแล้วโดยทั่วไป ถึงผลงานที่ท่านสามารถแก้ไขสถานการณ์ ให้เป็นที่เรียบร้อยดีงาม มิได้มีความยุ่งยากแต่ประการใด

ท่านเป็นนักการเมืองที่รู้แพ้รู้ชนะและรู้ให้อภัย เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการให้ท่านเป็น ท่านก็เป็น เมื่อต้องการให้ท่านออกจากตำแหน่ง ท่านก็ยินดี มิได้ติดใจที่จะต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด ชีวิตความเป็นไปของท่านจึงเป็นปกติโดยลำดับมา มิได้ผ่านคุกตรางเท่าที่ควร หรือมิได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ไหน คงมีชีวิตเป็นปกติอยู่ในประเทศไทยตลอดมา มิได้มีความเดือดร้อนแต่ประการใด

โดยเฉพาะในฐานะแห่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้เหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นประการใด คือทั้งสมัยที่มีระบบพรรคการเมือง หรือไม่มีพรรคการเมืองอย่างไร ท่านก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตลอดกาล เป็นที่ไว้วางใจของลูกพรรคตลอดมา นับได้ว่าเป็นนักการเมืองที่หาได้ยากท่านหนึ่ง ซึ่งควรเป็นที่ตั้งแห่งความยกย่องสรรเสริญ เป็นบุคคลที่มีปัญญาไหวพริบฉลาดดี สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่เรียบร้อย แม้สถานการณ์จะเป็นไปในเวลาที่คับขัน

ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ชื่นบานสนุกสนาน สามารถทำให้บุคคลอื่นคลายทุกข์และความกังวลต่าง ๆ ได้เป็นอันดี เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็งสามารถระงับความดีใจเสียใจได้ คือในเวลาได้รับการยกย่อง ก็ไม่แสดงความดีใจ ในเวลาที่ถูกลดจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่เสียใจ คงปฏิบัติตนเป็น พันตรีควง อภัยวงศ์ ตลอดมา เพียงเท่านี้ก็เป็นกล่าวสรุปได้ว่า พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้มีคุณธรรมความดีอยู่ในตน และ สามารถนำความดีนั้น ออกใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น และแก่ประเทศชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยสมควรแก่กาลสมัย ฯ

ในคราวที่ท่านได้รับพระราชทานยศทหารนั้น ได้มีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับพระราชทานยศ นายพันตรี เหล่าทหารสื่อสาร หลังจากท่าน นายพันตรี ควง อภัยวงศ์ เพียง ๓ วันเท่านั้น คือ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็น กรมประชาสัมพันธ์ จึงควรที่ท่านอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นนักเขียนประจำในนิตยสารที่มีระดับฉบับนี้ จะได้ค้นคว้าหาประวัติของท่านผู้นี้ มาเล่าสู่ท่านผู้อ่านบ้าง

เพราะในการสมัครเข้ารับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยหนึ่ง ท่านทั้งสองได้เป็นคู่แข่งที่สำคัญ โดยมีคำขวัญว่า เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง

ซึ่งท่านผู้อ่านที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ยังคงจำกันได้ดี มาจนทุกวันนี้.

###########

นิตยสารต่วยตูน
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ปักษ์แรก



Create Date : 25 ธันวาคม 2551
Last Update : 25 ธันวาคม 2551 5:38:49 น.

Counter : Pageviews. 4 comments

Add to


มีความสุขในวันปีใหม่และตลอดไปนะคะคุณเจียวต้าย



โดย: teansri วันที่: 26 ธันวาคม 2551 เวลา:11:13:41 น.







ขอบคุณครับ
ขอให้คุณมีความสุขตลอดปีเช่นกันครับ.



โดย: เจียวต้าย IP: 58.9.222.221 วันที่: 26 ธันวาคม 2551 เวลา:15:27:54 น.













๏ นับรู้ หนูลับ แล้ว.................................วัวมา
เร้าเคลื่อน เลื่อนเข้า หา.......................ผ่องแผ้ว
วายศก วกใส่ ลา....................................ปีเก่า
ยวนเพื่อน เยือนผวน แล้ว..............ส่งน้อมพรกัน ๚

๏ วันเปลี่ยน เวียนปั่น ข้าม.........................ลาปี
เติมส่ง ตรงเสริม ศรี............................ร่วมแต้ม
ล้วนเผ่า เราผวน มี................................สานสุข
ซัดหลัก ศักราช แย้ม...........เคลื่อนคล้อยลาจาก ๚

๏ จับรัก จักรับ ร้อย...........................เรียงกลอน
ร่างส่ง ลง,สั่ง พร...................................เพื่อให้
มอบติด มิตรตอบ วอน............................เวียนสู่
เทพสั่ง ทั้ง,เสพ ไซร้............................สุขรื้นชีวี ๚

๏ ดีผล ดล,พี่ น้อง.................................ทบพูน
จิตมาก จาก,มิตร กูล............................ช่วยเกื้อ
สานต่อ เสาะเติม คูณ...........................ตามแต่ง
เพื่อนมั่ง พรั่งเหมือน เอื้อ.............พวกพ้องรอบตัว ๚

๏ ครัวรอบ ครอบรั้ว ยั่ง.............................ยืนยง
ใสดั่ง สั่งได้ ตรง...............................แหล่งเหย้า
ไอหนุน อุ่น,ไหน จง..................................เจือสู่
ไร้โศก โรคใส่ เร้า.........................ป่วยไข้ลาเมิน ๚

๏ งานเดิน เงินดั้น เพียบ........................เนืองนอง
ทรัพย์เพิ่ม เสริมพับ กอง.........................มากแท้
รับจาก ลากจับ ครอง............................ครอบอยู่
ซ้ำชุก สุขฉ่ำ แม้...............................ผ่านพ้นปีวัว ๚ะ๛

Happy New Year นะคร้า










โดย: คนมีแผลพ่อแม่ไม่รัก วันที่: 27 ธันวาคม 2551 เวลา:12:53:39 น.







ขออภัยที่เพิ่งเปิดเข้ามาเห็น

ขอบคุณมากครับ
ขอให้คุณมีความสุขคิดสิ่งใดได้สมความปรารถนา
ตลอดปีใหม่นี้ครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:8:36:19 น.









 

Create Date : 08 เมษายน 2553    
Last Update : 21 เมษายน 2553 8:55:23 น.
Counter : 959 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๔) วีรชน ๘ ธันวาคม

เรื่องเล่าจากอดีต (๔)

วีรชน ๘ ธันวาคม

พ.สมานคุรุกรรม


เรื่องราวของกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ เพื่อต้องการเดินทัพ ผ่านประเทศไทยไปโจมตีมาลายูและสิงคโปร์ เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง ร.ศ.๑๖๐ นั้น มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทย เทียบเท่ากับเหตุการณ์ ที่เรือรบฝรั่งเศสบุกรุก ผ่านอ่าวไทยเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เดือนแปด ปีมะเส็ง เช่นเดียวกัน

เรื่องราวของทั้งสองเหตุการณ์นั้น ได้มีผู้บันทึกอย่างเป็นทางการ และเป็นเรื่องเล่าขานกันมานานจนถึงบัดนี้

ในเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นั้นมีเหตุการณ์อย่างใดบ้าง ก็มีผู้เขียนให้อ่านกันมากมาย ตลอดเวลา ๖๐ ปีที่ผ่านมา สรุปได้ว่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการรบที่รุนแรงที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่แพ้การรบของทหารอากาศที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกัน

พลตรี ชาย อุบลเดชประชารักษ์ ได้เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก อมร อมรเสนีย์ (หลวงอมรเสนีย์ ทศ อัมรานนท์ ) เมื่อสามสิบปีก่อน พอสรุปได้ว่า

ขณะเมื่อทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังประมาณหนึ่งกองพล ได้ทยอยลงจากเรือระบายพลขึ้นฝั่งที่บริเวณท่าแพ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายนอก ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ซึ่งอยู่แนวหน้าสุด ได้ทราบถึงการยกพลขึ้นบกของข้าศึกก่อน และได้รวบรวมกำลังพลจาก กองรักษาการณ์ จังหวัดทหารบกนครศรีธรรมราช เข้ายับยั้งต่อสู้ต้านทานข้าศึกเป็นหน่วยแรกที่ท่าแพ แล้วกำลังพลทั้งหมดของกองพันนี้ จึงจัดกำลังตั้งรับที่หน่วยของตนนั้นเอง

เมื่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ของหน่วยทหารภาคใต้ ได้รับรายงานแล้ว ก็จัดกำลังกองพันทหารราบที่ ๓๙ เข้าเสริมกำลังทหารปืนใหญ่ กองพันทหารพาหนะเป็นปีกขวา กองพันทหารสื่อสารป้องกันปีกซ้าย หน่วยยุวชนทหารเป็นแนวหนุน แล้วก็เปิดฉากการยิงต้านทานข้าศึก ที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ซึ่งกำลังดาหน้าเข้ามา ด้วยอาวุธทุกชนิดที่มี จากระยะที่ห่างกันเพียงประมาณ ๑๐๐ เมตร

ทหารปืนใหญ่เมื่อตั้งยิงได้แล้ว ก็ส่งกระสุนเข้าถล่มข้าศึก จนกระสุนเลยไปตกถึงเรือระบายพลและเรือรบ ที่อยู่ในทะเล และเมื่อข้าศึกรุกเข้ามาใกล้ทุกที จนถึงระยะ ๕๐ เมตร ปืนใหญ่ไม่สามารถยิงได้ พลประจำปืนก็ต้องใช้อาวุธปืนเล็กยาวยิงร่วมกับทหารราบด้วย

ทหารไทยได้ยึดแนวต้านทานไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ก็ไม่ได้ถอยร่นลงมา จนในที่สุดก็ถึงระยะประชิด ทั้งสองฝ่ายก็ประหัตประหารกันด้วยอาวุธสั้น ทั้งดาบปลายปืนและดาบซามูไร จนได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กรุงเทพ ฯ ให้หยุดยิง และยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปได้ หลังจากที่ได้สู้รบกันเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง โดยฝ่ายข้าศึกไม่สามารถเข้ายึดที่ตั้งทางทหาร ของมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้เลย

ผลของการรบครั้งนี้ จากรายงานของ พลตรี หลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ถึงผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ ๑๙ และ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ แจ้งว่า

ในการสู้รบป้องกันอธิปไตยของชาติ เมื่อ ๘ ธันวาคม นั้น กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้ทำการปะทะต้านทานข้าศึกไว้ มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในโรงทหารได้เป็นผลสำเร็จ มีกำลังพลที่สมควรได้รับความชมเชยหลายคน เช่น

พันเอก หลวงอมรเสนีย์ ผู้บังคับทหารปืนใหญ่ กองพลที่ ๖ ได้นำทหารไปจัดขบวนรบแนวหน้าที่สุด เพื่อต่อต้านข้าศึกเป็นหน่วยแรก และคงอำนวยการอยู่ ณ ที่นั้นจนถึงเวลาสงบการรบ นับว่าได้ฝ่าอันตรายอย่างกล้าหาญ เพราะปรากฏว่าผู้ที่ไปด้วยและอยู่ในแนวเดียวกันนั้น ได้ถูกอาวุธถึงแก่กรรม และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

พันตรี หลวงราญรอนสงคราม รองเสนาธิการมณฑลทหารบก ได้นำทหารในกองบัญชาการ ไปจัดขบวนรบในแนวหน้า พร้อมกับ พันเอก หลวงอมรเสนีย์ และได้อำนวยการรบอยู่ตลอดเวลา ด้วยความองอาจกล้าหาญยิ่ง จนตนเองได้ถูกกระสุนข้าศึก ถึงแก่กรรมลงในขณะนั้น

ร้อยเอก ชาย ไชยกาล นายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการ ได้รับอาสานำปืนกลหนักส่วนหนึ่งซึ่งส่งมาจาก กองพันทหารราบที่ ๓๙ ซึ่งขณะนั้นไม่มีผู้บังคับบัญชา ไปทำการตั้งยิงในแนวหน้า และได้อำนวยการยิงอยู่ด้วยความกล้าหาญ และฝ่าอันตรายจนถึงเวลาสงบการสู้รบ

จ่าสิบตรี ผ่อง พ่วงดวงงาม ผู้บังคับกองรักษาการณ์ภายนอก ได้นำทหารในกองรักษาการณ์ไปต่อต้านข้าศึกเป็นกองแรก ทำให้หน่วยได้มีเวลาเตรียมตัวและปรับกำลังได้ทันเวลา จนตนเองถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัส

พันโท หลวงประหารริปูราบ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ได้อำนวยการรบให้แก่กองพันของตนอย่ากล้าหาญ จนตนเองถูกยิงกระสุนทะลุหมวกเหล็ก แต่ลูกกระสุนแฉลบไป ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะไม่สาหัส

ร้อยเอก สวัสดิ์วงศ์ บูรณะสมิต ผู้บังคับกองร้อย ได้นำทหารราบหมวดแรกไปถึงแนวหน้า แล้วช่วยทหารปืนใหญ่ต่อสู้ข้าศึก จนผู้ใต้บังคับบัญชาเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่สามารถทำการรบได้ ต้องทำหน้าที่เป็นพลยิงปืนกลเบาต่อไปด้วยตนเอง จนได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึก

สิบตรี เจริญ สินสมบัติ ได้รับคำสั่งจาก ผู้บังคับกองร้อย ให้นำหมู่ขึ้นไปด้านขวาของแนวยิง ขณะเคลื่อนที่ก็ถูกปืนกลฝ่ายญี่ปุ่นยิงที่แขนซ้าย ได้รับบาดเจ็บ แต่เขาก็ยังนำลูกหมู่เข้ายึดแนวที่หมายได้ ขณะนั้นผู้บังคับหมู่และพลยิงปืนกลเบาเสียชีวิต จึงเข้าไปทำหน้าที่พลยิง ทั้ง ๆ ที่แขนซ้ายบาดเจ็บ จนถูกยิงอีกครั้งที่ขมับล้มพับสิ้นสติไป

สิบตรี ขัน ศรีดี ผู้บังคับหมู่ ๒ หมวด ๑ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับกองร้อย ให้นำกำลังขึ้นไปทางด้านซ้ายของหมวด ขณะเคลื่อนที่ก็ถูกยิงที่เท้าซ้าย แต่เขาก็ยังนำลูกหมู่เคลื่อนที่ต่อไป ตนเองคลานด้วยเท้าขวาประกอบกับแขนทั้งสอง จนถึงแนวที่กำลังยิงกันอยู่ ขณะนั้นทหาร ญี่ปุ่นได้เคลื่อนที่เข้ามาทางด้านซ้าย มีปืนกลเบาอยู่ใกล้ตัวเขา แต่พลประจำปืนเป็นอันตรายไปหมด เขาจึงได้เข้าประจำปืนทำการยิงต่อสู้ จนกระสุนหมดจึงได้นำปืนถอยมาข้างหลัง เพื่อจะเอากระสุนจากพลกระสุนที่เสียชีวิตแล้ว จึงถูกกระสุนปืนของทหารญี่ปุ่นกลางอก ถึงแก่ชีวิต

สิบตรี พ่วง พารา รองผู้บังคับหมวด ๑ ได้นำรถยนต์บรรทุกปืนกลหนัก จากกองพันทหารราบที่ ๓๙ ขึ้นไปแนวหน้า โดยมี ร้อยตรี พรหมมา คำหงษ์ เป็นผู้บังคับหมวด เมื่อถึงแนวยิง ผู้บังคับหมวดได้สั่งให้ไปบังคับบัญชา หมู่ ๒ นำปืนกลหนักเข้าที่ตั้งยิง ทางด้านขวาของถนน ในขณะที่มีกระสุนปืนจากทหารญี่ปุ่นยิงเข้ามาอย่างหนาแน่น จนสามารถนำปืนตั้งยิงได้แล้วก็อำนวยการยิงของหมู่ปืนกลหนัก พร้อมทั้งตนเองก็ใช้ปืนเล็กประจำกายยิงต่อสู้ข้าศึก จนกระทั่งถูกยิงจากข้าศึก สิ้นชีวิตในที่รบนั้นเอง

กองพันทหารราบที่ ๓๙ นี้ เป็นกำลังรบหลักและได้รับความเสียหายมากที่สุด มีนายสิบและพลทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งปรากฏชื่อถึง ๓๓ นาย

ร้อยตรี ประยงค์ ไกรกิตติ ผู้บังคับหมวด กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ได้อำนวยการให้ทหารนำปืนใหญ่ออกตั้งยิงได้สำเร็จ ในขณะที่ข้าศึกกำลังบุกเข้ามาอย่างหนาแน่น และทำการยิงอย่างเผาขน ต่อสู้ข้าศึกด้วยความทรหดอดทน จนตนเองถูกกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึกถึงแก่กรรมในที่รบ หน่วยทหารปืนใหญ่นี้ มีนายสิบและพลทหารเสียชีวิตที่ปรากฏชื่อ ๕ นาย

ร้อยตรี เฉลิม สุทธิรักษ์ ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองพันทหารสื่อสารที่ ๖ ได้ร่วมกับทหารสื่อสาร ซึ่งสู้รบกับข้าศึกด้วยปืนเล็กยาว ทางปีกซ้ายของแนวรบ โดยตนเองยิงข้าศึกด้วยปืนพกประจำตัวจนกระสุนหมด และเมื่อเสนาธิการมณฑลทหารบก นำคำสั่งหยุดรบขึ้นไปถึงแนวหน้า ก็ได้ช่วยวิ่งไปแจ้งคำสั่งหยุดยิงให้ทหารทราบ หลายครั้งหลายหนนับว่าเป็นการฝ่าอันตรายยิ่ง

ร้อยเอก ขุนนวมมณฑนะโยธิน ผู้บังคับทหารพาหนะ มณฑลทหารบกที่ ๖ ได้นำกำลังพลไปรักษาปีกขวา และอำนวยการรบ จนกระทั่งตนเองถูกอาวุธถึงแก่กรรมในที่รบ

กำลังพลของหน่วยเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ ๖ ได้ทำการรักษาพยาบาล ทั้งทหารที่ป่วยอยู่เดิม และผู้ที่บาดเจ็บในการสู้รบ ตลอดเวลาที่อยู่ในย่านการยิง โดยมิได้คิดถึงอันตรายที่จะบังเกิดแก่ตน มีนายสิบและพลทหารปรากฏชื่อได้รับการยกย่อง ๑๓ นาย

ยังมีหน่วยอื่น ๆ เช่นสารวัตรทหาร และยุวชนทหารโดยการนำของ ร้อยเอก สอาด ขมะสุนทร และครอบครัวนายทหารนายสิบ ซึ่งอยู่แนวหลังได้ช่วยเหลือในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของแนวหน้าเป็นอย่างดี

และ นายพิชาญ ดโนทัย ครูโรงเรียนชายประจำจังหวัด กับข้าราชการพลเรือนอีกหลายนาย ได้อาสาช่วยเหลือ ในขณะที่มีการสู้รบอยู่ด้วย

ส่วนด้านจังหวัดปัตตานี กองพันทหารราบที่ ๔๒ ได้ทำการสู้รบกับข้าศึกอย่างกล้าหาญ จนได้รับความเสียหายทั้งอาวุธ กระสุน และเครื่องยุทโธปกรณ์ เป็นจำนวนมาก มีทหารเสียชีวิตหลายนาย รวมทั้ง พันโท ขุนอิงคยุทธบริหาร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๔๒ ด้วย

แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้รับความดีความชอบ หรือเกียรติยศสรรเสริญ หรือเหรียญตราแต่ประการใด นอกจากหนังสือชมเชยของผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพียงฉบับเดียว

ทั้งนี้ก็เพราะข้าศึกศัตรูที่เราต่อสู้อย่างสุดใจขาดดิ้นนั้น ได้กลายมาเป็นมหามิตร ร่วมวงศ์ไพบูลย์กันต่อไป จนสิ้นสงครามมหาเอเซียบูรพา และประกาศสันติภาพเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

ต่อมาจึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการสู้รบอันกล้าหาญของทหารไทยในภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรูปทหารขนาดประมาณสองเท่าตัวคน แต่งเครื่องแบบสนามครบครัน ยืนถือปืนในท่าประจัญบาน หันหน้าไปทางท่าแพ ซึ่งเป็นจุดที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ประดิษฐานอยู่ในเขตทหารตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ ๖ กิโลเมตร อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้มีการนำอัฐิของบรรดาทหารหาญที่เสียชีวิตในการสงครามครั้งนี้ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และปัตตานี มาบรรจุพร้อมทั้งจารึกชื่อเอาไว้ที่ฐานของอนุสาวรีย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๑๖ คน การก่อสร้างและตกแต่งแล้วเสร็จและมีพิธีเปิด เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๙๒ มีชื่อว่า อนุสาวรีย์วีรไทย ๒๔๘๔ และได้มีพิธีกล่าวสดุดี วางพวงมาลา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับทหารหาญ ที่เสียสละชีวิตเป็นชาติพลี ในวันที่ ๘ ธันวาคม ของทุก ๆ ปี มาจนถึงทุกวันนี้.

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มีสาส์นในวันที่ระลึกวีรชน เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ มีความตอนหนึ่งว่า

ท่านพี่น้องทหารและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย กองทัพบกถือว่า วันที่ ๘ ธันวาคมนี้ เป็นวันที่ระลึกสำคัญยิ่งวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวไทยและชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพี่น้องชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะในวันดังกล่าวนี้ วีรชนผู้กล้าหาญซึ่งได้สูญเสียชีวิตไป ดังได้จารึกนามปรากฏอยู่ ณ อนุสาวรีย์วีรไทยนี้ ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนเลือดเนื้อและชีวิต ต่อสู้กับอริราชศัตรูที่ยกมาย่ำยีประเทศชาติ ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพื่อรักษาไว้ซึ่ง อิสรภาพ เสรีภาพ ของชาติ ศาสนา และพระบรมเดชานุภาพ ของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า ให้ดำรงคงอยู่ตลอดมา

อันวีรกรรมที่ท่านผู้กล้าหาญทั้งหลายได้กระทำไว้ ในสมัยดังกล่าวมานั้น นับได้ว่าเป็นวีรกรรมที่มีค่ายิ่ง ควรแก่การเคารพบูชา น่าสรรเสริญเป็นที่สุด เป็นเยี่ยงอย่างแบบฉบับอันดี ที่พวกเราและอนุชนจะพึงจดจำ และยึดถือไว้เป็นหลักประจำใจปฏิบัติเจริญรอยตาม

แม้ว่าท่านวีรชนผู้กล้าหาญทั้งหลาย ที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ศาสนา และราชพลี มาด้วยความองอาจกล้าหาญนี้ สรีระร่างกายเท่านั้นที่ได้สูญหายไปจากโลก แต่ชื่อเสียงคุณงามความดีของท่านเหล่านี้หาได้สูญหายไปด้วยไม่ ตรงกันข้ามเกียรติประวัติ ชื่อเสียงคุณงามความดี ยังดำรงจารึกอยู่ในความทรงจำ ของปวงขนชาวไทยตลอดไป ชั่วกัลปาวสาน.

#############

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๑๙ เมษายน ๒๕๔๘

นิตยสารทหารปืนใหญ่
เมษายน ๒๕๔๙

มุมประว้ติศาสตร์ ห้องสมุด
๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๑











Create Date : 28 สิงหาคม 2550
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2552 22:00:06 น.

Counter : 209 Pageviews. 1 comments

Add to







อ้าวยังไม่มีใครมาออกความเห็นเลยหรือครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:19:03:12 น.






 

Create Date : 27 มีนาคม 2553    
Last Update : 5 มกราคม 2555 16:44:03 น.
Counter : 999 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๓) โรดิโอเหนือฟ้ากรุงเทพ

เรื่องเล่าจากอดีต (๓)

โรดิโอเหนือฟ้ากรุงเทพ

พ.สมานคุรุกรรม


เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในวันเพ็ญเดือนหกของทุกปี ชาวพุทธต่างก็ไปทำบุญเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัย ที่วัดใกล้บ้านกันเป็นประจำ บรรยากาศอบอวลไปด้วยกลิ่นธูปควันเทียน

แต่มีอยู่ปีหนึ่งที่วันวิสาขบูชา ได้กลายเป็นวันแห่งความพินาศ ของกรุงเทพมหานคร บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก ความกลัว และความตาย ทั่วทุกแห่งหนเกลื่อนไปด้วยทรากศพและคลุ้มไปด้วยควันไฟ

วันนั้นคือวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๗ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก รัตนโกสินทร์ศก ๑๖๓ ซึ่งเมื่อกาลเวลาได้ล่วงมาถึงบัดนี้ ก็เป็นเวลากว่า ๕๐ ปีแล้ว

มีชาวบ้านย่านสามเสน ได้บันทึกไว้ด้วยอักขระสมัยมาลานำไทยเป็นมหาอำนาจ และด้วยสำนวนแบบชาวบ้านผู้ไม่ประสีประสา กับการปฏิบัติการอันดุเดือดของฝูงบินมฤตยู ผู้ทำให้วันนั้นกลายเป็นวิสาขบูชาเลือด โดยพาดหัวตัวโตว่า

ข้าสึกโจมตีพระนครเวลากลางวัน และมีรายละเอียด ดังนี้

....วันนี้เป็นวันวิสาขะบูชา ราสดรชักทงชาติขึ้นสู่ที่สูงทุกบ้านทุกเรือน เหล่าพุทธ มามะกะทั้งหยิงชาย ต่างก็ชักชวนกันไปวัดเพื่อฟังเทสน์ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ก็มีเครื่องบินข้าสึกผ่านเข้ามาประมาน ๔๐ เครื่อง พวกประชาชนต่างก็ตื่นเต้นปลาดใจ มองดูการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน แต่ไม่สู้จะหวาดกลัว เพราะคิดเสียว่าเขาเข้ามากลางวันหลายครั้งแล้วแต่ไม่เคยทิ้งระเบิดเลย เคยเข้ามา ๓ เครื่องบ้าง ๕ เครื่องบ้างเสียงแต่ปืนฝ่ายเรายิง

ครั้งนี้แม้จะมามากมายก็คงจะเลือกทิ้งแต่จุดสำคัน ดังนั้นจึงไม่ไคร่จะพากันลงหลบภัยดังเช่นกลางคืน แต่ผิดคาด พอเขาเข้ามาครู่เดียว ก็ทิ้งระเบิดปัง ๆ ทีเดียว ทิ้งไม่เลือกที่เสียด้วย กระจายกันออกไปหมู่ละ ๕ ลำ มีเรือนำอีก ๑ ลำ เจ้าเรือนำขีดวงที่ไหน เจ้าบริวารก็ทิ้งบอมที่นั่น ตำบนหนึ่ง ๆ ทิ้งระเบิดลงมาไม่ต่ำกว่า ๒๕ ลูก หลุมระเบิดต่อหลุมระเบิดจดกันก็มี การเขียนวงเครื่องหมายกะที่ให้ทิ้ง คือพ่นควันออกทางหางและทางปีกทั้ง ๒ ข้าง แล้วบินวงโค้ง ฝ่ายเจ้าบริวารก็กะจายแถวเรียง ๑ ดากันประเคนระเบิดมหาวินาสลงมา เสียงบึ้ม ๆ เปรี้ยงปร้าง โผงผาง กราว ๆ แทบหูดับ บ้านเรือนกะเทือนไหวโยกเยก ล้มระเนระนาด ที่ยังซงอยู่ได้ก็หลังคาทะลุปรุโปร่ง

นับว่าเป็นการโจมตีครั้งไหย่ และหนักที่สุดกว่าทุก ๆ ครั้ง ที่ถูกมาแล้ว ลูกระเบิดที่ทิ้ง มีทั้งระเบิดเพลิง ระเบิดทำลาย และระเบิดสังหาร ๕ วันมาแล้วก็ยังเก็บสพไม่หมด เพราะถูกเรือนทับบ้าง ดินทับบ้าง มากต่อมาก ขุดรื้อหากันทุกวัน......

ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ สรศัลย์ แพ่งสภา ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือชื่อ " หวอ..ชีวิตไทยในไฟสงครามโลกครั้งที่ ๒" โดยสำนักพิมพ์สารคดี ในบทที่ ๒๒ ข้ามากลางวันก็ได้ แจ้งสถานที่ถูกลูกระเบิดถล่ม มีความว่า

.....วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๗ วันนี้ต้องพูดถึงกันหน่อยละครับ เราถูกเล่นงานหนัก ฝูงบิน บี-๒๙ จำนวนมากกว่า ๓๐ เครื่อง เข้ามาถล่มกรุงเทพ เมื่อเวลา ๑๑.๒๐ น. แหงนขึ้นดูเห็นลูกระเบิด หลุดจากท้องเจ้ายักษ์ใหญ่ป้อมบิน ร่วงพรูลงมาเป็นสาย ระเบิดสะเทือนเลื่อนลั่นทั่วกรุง ไม่รู้หวังผลอะไร ลูกระเบิดลงเปรอะไปหมด ทำเนียบรัฐบาล สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม กรมเตรียมการทหาร (วังกรมหลวงชุมพร) สวนมิสักวัน เขาดินวนา ร.พัน.๙ หลังวชิราวุธวิทยาลัย บริเวณโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา) สี่แยกซังฮี้ถึงชุมชนสวนอ้อยตรงข้ามวชิรพยาบาล บริเวณสนามเป้าถึงปากซอยอารี ถนนพหลโยธิน ย่านโรงงานรถไฟมักกระสัน อาคารถนนราชดำเนินกลาง โรงงานทำหมวก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ใกล้โรงกรอง น้ำสามเสน หน้าสถานทูตญี่ปุ่น บริเวณเชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร โรงเรียนเพาะช่าง พื้นที่หลังโรงพักจราจร พื้นที่สี่แยกบ้านหม้อ บริเวณสี่แยกเฉลิมกรุงพังเป็นแถบไปถึงสี่กั๊กพระยาศรี (ฝั่งร้านกรุงเทพฯบรรณาคาร) โรงเลื่อยเฮี้ยงเฮงหลง เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ถนนพะเนียง สี่แยกจักรพรรดิพงษ์ ถนนหลานหลวง ละแวกหลังวัดโสมนัสวิหาร พื้นที่สี่แยกราชประสงค์ หน้าโรงเรียนตำรวจ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลตำรวจ) ละแวกสถานทูตอังกฤษ และโรงเรียนมาแตร์ถึงซอย รื่นฤดี สุขุมวิท พื้นที่ตรอกจันทร์สะพาน ๓-๔ สถานีรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง ละแวกสถานีกล้วยน้ำไทและบ้านกล้วย โรงฟอกหนัง คลองเตย พื้นที่ตำบลคลองตันและพื้นที่ตำบลบางกะปิ ฝั่งธนบุรีมีละแวกศิริราชพยาบาล ย่านรถไฟบางกอกน้อย ศาลาเทศบาลธนบุรี บริเวณท่าพระ บริเวณวัดบุบผาราม วัดขุนจันทร์ ตลาดพลู พื้นที่บางขุนนนท์ บางปะกอก บริเวณวัดอัปสรสวรรค์ ฯลฯ ระเบิดไม่ได้ลงตรงเป้าหมายหลักที่ไหนสักแห่ง ชาวพาราเดือดร้อนสาหัสสากรรจ์

รายละเอียดของการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ ได้ปรากฎอยู่ในหนังสือนาวิกศาสตร์ของ ราชนาวิกสภา ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่ง พล.ร.ต.วิโรจน์ ศุภกาญจน์ ได้แปลและเรียบเรียง จากบทที่ ๗ ชื่อ Rodeo Over Bangk0k จากหนังสือเรื่อง B-29 The Plane That Won The War โดย พันตรี Gene Gurney แห่งกองทัพอากาศสหรัฐ และผู้เรียบเรียงให้ชื่อภาษาไทยว่า เมื่อกองบิน บี - ๒๙ ออกศึกครั้งแรกเหนือกรุงเทพ ซึ่งพอจะสรุปความให้เข้ากับเรื่องที่เล่ามาแล้วได้ ดังนี้

.....เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักแบบ บี-๒๙ รุ่นแรก จำนวน ๑๓๐ ลำ สังกัดหน่วยบัญชาการบินทิ้งระเบิดที่ ๒๐ ได้เดินทางมาถึงสนามบินในรัฐเบงกอลทางภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย ตั้งแต่ ๒ เมษายน ถึง ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๗

เครื่องบินแบบ บี-๒๙ หรือป้อมบินยักษ์นี้ มีลำตัวยาว ๙๓ ฟุต ๒ นิ้ว ความยาวระหว่างปลายปีกทั้งสองข้าง ๑๔๑ ฟุต ๙ นิ้ว เครื่องยนต์ทั้งสี่เครื่อง มีกำลังเครื่องละ ๒,๒๐๐ แรงม้า ที่ระดับน้ำทะเล บรรทุกลูกระเบิดได้หนัก ๒,๒๐๐ ปอนด์ จะบินได้ไกล ๕,๓๓๓ ไมล์ ในระดับความสูง ๒๕,๐๐๐ ฟุต ความเร็วสูงสุด ๒๘๒ ไมล์ ต่อชั่วโมง เป็นเครื่องบินรบแบบแรก ที่มีการปรับความดันอากาศในลำตัวเครื่องบิน ให้เท่ากับความดันอากาศ ที่ระดับน้ำทะเล เมื่อบินสูง ๑๐,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป มีป้อมปืนกลอากาศ ขนาด .๕๐ นิ้ว (๑๒.๗ ม.ม.) จำนวน ๕ ป้อมที่โป่งออกมานอกลำตัว คือด้านหัว ด้านข้างทั้งสอง ใต้ท้อง และปลายหาง รอบตัวของเครื่องบินจึงไม่มีมุมอับกระสุนเลย

เครื่องบินชุดนี้เพิ่งออกมาจากโรงงานผลิตของบริษัทโบอิง โดยมีเวลาฝึกในสหรัฐอเมริกาเพียง ๑๘ ชั่วโมง กองทัพอากาศสหรัฐมีแผนที่จะใช้เครื่องบินแบบนี้ เป็นกองกำลังทางอากาศยุทธศาสตร์ ไปโจมตีที่หมายในประเทศญี่ปุ่นและที่หมายทางยุทธศาสตร์ ในดินแดนยึดครองของญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๗

กรุงเทพฯเป็นเป้าโจมตีที่ดีเลิศสำหรับการซ้อมมือ บี-๒๙ ที่บินออกจากสนามบินสี่แห่งในรัฐเบงกอล สามารถบินตรงเข้าหาเป้าได้เลย ระยะทางบินไปกลับจากฐานทัพในรัฐเบงกอล ประมาณ ๒,๐๐๐ ไมล์ จะเป็นการทดสอบขีดความสามารถ ทางยุทธการข้อหนึ่งของ บี-๒๙ ซึ่งเป็นการบินเหนือผิวน้ำ โดยมีดินแดนของประเทศพม่าเป็นที่หมาย ในการบินไปหาเป้า และกลับฐานทัพนั้น เป็นตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นสำหรับการปฏิบัติการโจมตี ภาคตะวันตกของญี่ปุ่นในอนาคต ซึ่งเส้นทางบินจะถูกจำกัด เพราะต้องผ่านหรือเฉียด ดินแดนที่ข้าศึกยึดครอง

กรุงเทพฯเป็นต้นทางภาคพื้นดินของญี่ปุ่นในการส่งสิ่งอุปกรณ์ ไปยังแนวรบในประเทศพม่า โรงงานซ่อมรถไฟที่มักกะสัน จึงต้องกลายเป็นเป้าหมายอันดับแรกในการโจมตี นอกจากนี้ความต้องการของพันธมิตร ที่จะปฏิบัติการตัดเส้นทางคมนาคมทางรถไฟ รวมทั้งการโจมตีโรงงานรถไฟพม่าที่อินเซน ทางด้านเหนือของนครย่างกุ้ง ทำให้โรงงานซ่อมรถไฟที่มักกะสัน มีความสำคัญมากขึ้นเป็นพิเศษ อีกประการหนึ่งโรงงานซ่อมรถไฟมักกะสันนั้น ตั้งอยู่โดดเด่นใน ทุ่งนานอกเขตชุมชน ซึ่งง่ายต่อการเล็งทิ้งระเบิด และสามารถทำการถ่ายภาพความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดครั้งแรกของ บี-๒๙ได้ทุกแง่ทุกมุม โดยไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียง ดังนั้น การประเมินค่าความเสียหายของเป้าหมายแห่งนี้ จะสามารถทำได้ง่าย แต่มีความถูกต้องในระดับสูง

จากแผนยุทธการข้างต้น เครื่องบิน บี-๒๙ จำนวน ๑๐๐ ลำ จึงได้ออกเดินทางจากสนามบินทั้งสี่แห่ง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๗ ตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลา ๐๗.๓๐ น.ในประเทศไทย บี-๒๙ เครื่องหนึ่ง ที่ขึ้นจากสนามบินชาคูเลีย ได้ตกลงที่ปลายทางวิ่งเพียงเล็กน้อย ลูกระเบิดขนาด ๕๐๐ ปอนด์เกิดระเบิดขึ้น เครื่องบินจึงแหลกเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย และทหารประจำเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด อีกเครื่องหนึ่งนั้นเครื่องกลไกขัดข้องไม่สามารถเคลื่อนที่ออกจากลานจอดได้

อีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาเครื่องบินทั้ง ๙๘ ลำ ก็บินอยู่ในอากาศระดับความสูง ๕,๐๐๐ ฟุต ความเร็วเดินทาง ๒๑๐ ไมล์/ชั่วโมง เป็นรูปขบวนฝูงละ ๔ ลำถือเข็ม ๑๔๒ องศา ไปยังจุดบินเข้าหาเป้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพ ในเวลาต่อมา เครื่องบิน บี-๒๙ ที่เครื่องกลไกขัดข้องอีก ๑๘ ลำ บินต่อไปไม่ได้ ก็ได้รับอนุญาตให้กลับสนามบินของตนได้ จึงเหลืออีก ๘๐ ลำที่มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง

ขณะที่ กองบิน บี-๒๙ กำลังบินอยู่ในหมอกหนาทึบ ปรากฏว่าเครื่องขัดข้องอีก ๓ ลำ ต้องบินกลับสนามบินในประเทศอินเดีย จึงเหลืออยู่ ๗๗ ลำ เมื่อถึงฝั่งอ่าวไทยก็ไต่ขึ้นสู่ ระดับ ๒๕,๐๐๐ ฟุต ทำความเร็วได้ ๒๐๐ ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่ออยู่เหนือบริเวณเกาะสามเกาะ (ซึ่งน่าจะเป็นเกาะสีชัง เกาะไผ่ และเกาะล้าน) อันเป็นจุดรวมพลแล้ว ก็เลี้ยวขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งมีเมฆคลุมพื้นที่เบื้องล่างถึงเจ็ดในสิบส่วน

ปรากฏว่าเมฆหนาคลุมอยู่เบื้องบนโรงงานรถไฟมักกะสัน ดังนั้นเครื่องบินส่วนใหญ่จึงหันไปเตรียมทิ้งระเบิดโดยวิธีเล็งจำลองในจอเรดาร์ ซึ่งปรากฎว่าสะพานเหล็กสายหนึ่ง (น่าจะเป็นสะพานพระราม ๖ ซึ่งอยู่ทางทิศ ๓๕๕ ของโรงงานรถไฟมักกะสัน ห่างประมาณ ๔.๕ ไมล์) ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่เกือบทิศเหนือตรง และห่างจากโรงงานรถไฟมักกะสันไม่มากนัก และสะท้อนสัญญาณคลื่นเรดาร์แรงมาก จนปรากฎภาพในจอเรดาร์อย่างชัดเจน จึงใช้สะพานนี้เป็นที่หมายสำหรับเล็งจำลองเพื่อทิ้งระเบิดครั้งนี้

บานประตูห้องบรรทุกลูกระเบิด ที่ท้องเครื่องบินเปิดอ้าเต็มที่ แล้วลูกระเบิดทำลาย กับพวงลูกระเบิดเพลิง ก็หล่นลงตามกันเป็นสาย ไปสู่เป้าที่อยู่ข้างล่าง ทหารประจำเครื่องบิน บี-๒๙ เห็นเครื่องบินขับไล่ข้าศึกหลายเครื่อง กำลังขับไต่ขึ้นมา นอกจากนี้ก็มองเห็นกลุ่มระเบิด และควันของกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน อย่างหนาแน่นในท้องฟ้า การยุทธในท้องฟ้าเหนือบางกอก ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

บี-๒๙ บินเข้าโจมตีจากทุกทิศ ในระดับสูงที่ต่างกัน มีเครื่องบินขับไล่ข้าศึกเพียงเก้าเครื่อง ที่แสดงท่าทีว่าจะขัดขวางการโจมตี แต่หลังจากพลประจำป้อมปืนใน บี-๒๙ ยิงสกัดไปไม่กี่นัด เครื่องบินขับไล่ก็บินไปแอบในหมอกซึ่งไกลเกินระยะยิงหวังผล ถึงกระนั้นก็ยังมีการยืนยันว่า เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นถูกยิงเสียหายสองเครื่อง และอีกหนึ่งเครื่องน่าจะได้รับความเสียหาย กลุ่มระเบิดของกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน ค่อนข้างหนาแน่น แต่ว่าขาดความแม่นยำ มี บี-๒๙ ลำเดียวได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ที่ส่วนหางจากสะเก็ดระเบิด ของกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน

บี-๒๙ ลำแรกปลดลูกระเบิดเมื่อเวลา ๑๒.๒๒ น. และลำสุดท้ายผละจากเป้าเมื่อเวลา ๑๔.๐๒ น.ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย รวมเวลาที่ บี-๒๙ จำนวน ๗๗ ลำ ใช้เวลาโจมตี ๑๘๐ นาที เฉลี่ยแล้วโรงงานมักกะสันถูกโจมตีด้วยลูกระเบิดหนัก ๑๐,๐๐๐ ปอนด์ ทุก ๆ ๑ นาที ๑๘ วินาที

เครื่องบิน บี-๒๙ กองนี้แม้ไม่ได้รับอันตรายจากการเข้าโจมตี แต่ได้สูญเสียในขณะเดินทางกลับ ๔ ลำ โดยเครื่องหนึ่งขัดข้องตกที่ตำบลอิวจี ใต้นครคุนมิงประมาณ ๖๐ ไมล์ ทหารประจำเครื่องบินโดดร่มชูชีพได้ปลอดภัย เครื่องที่สองน้ำมันหมดต้องร่อนลงที่สนามบินคัมคัม ใกล้นครกัลกัตตา ทหารประจำเครื่องปลอดภัย เครื่องที่สามลงทะเล ห่างจากสนามบินจิตตะกอง ประมาณ ๑๐๐ ไมล์ ทหารประจำเครื่องบินเสียชีวิต ๒ นาย ลำสุดท้ายต้องร่อนลงในทะเลฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล เพราะเครื่องขัดข้อง นักบินยศพันตรี และนายสิบพนักงานวิทยุตายคาที่นั่ง

สรุปว่าในยุทธการคราวนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรสูญเสียเครื่องบิน บี-๒๙ มูลค่า ประมาณลำละ ๑ ล้านดอลลาห์ ไป ๕ ลำ เสียชีวิตทหารรวม ๑๕ นาย

อีกสองสามวันต่อมา ทหารประจำเครื่องบิน บี-๒๙ ที่กลับจากภารกิจที่กรุงเทพ ก็ได้ดูภาพถ่ายทางอากาศ ที่เครื่องบินลาดตระเวนตรวจการณ์ ไปถ่ายภาพผลของการทิ้งระเบิด โรงงานรถไฟมักกะสัน ปรากฎว่าอาคารที่เป็นที่ตั้งหน่วยงานสำคัญของโรงงาน ซึ่งเป็นที่หมายหลักของการโจมตี ด้วยลูกระเบิดที่มีน้ำหนักถึง ๗๗๐,๐๐๐ ปอนด์ ยังคงยืนหยัดอยู่ตระหง่านเป็นปกติ.........

ดังนั้นถ้าจะมีคำถามว่า ทำไมเครื่องบิน บี-๒๙ กองนี้ จึงได้ทิ้งระเบิดเปะปะไปทั่วกรุงเทพ ในวันวิสาขบูชาเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ได้วางแผนไว้เป็นอย่างดี และไม่มีใครหาญเข้ามาขัดขวางด้วย เพราะมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่า ไม่รู้กี่สิบเท่า

คิดว่าคำตอบที่ถูกต้อง น่าจะเป็นเพราะว่า เครื่องบินก็สร้างขึ้นใหม่ นักบินและทหารประจำเครื่องก็มือใหม่ เพิ่งปฏิบัติงานเป็นครั้งแรกบนท้องฟ้าเหนือดินแดน ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน และทุกคนก็คงอยากจะรีบกลับไปยังฐานทัพ ซึ่งอยู่ห่างนับพันไมล์โดยเร็ว และปลอดภัย จึงต่างก็รีบปล่อยวัตถุอันตรายที่บรรทุกมาให้หมด ๆ ไปอย่างรวดเร็ว เลยทำให้ การแสดงบนท้องฟ้าเหนือกรุงเทพ กลายเป็นการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง โดยใช้พื้นที่ของกรุงเทพเป็นสนามฝึกไปโดยปริยาย

คนไทยนับร้อยนับพันคนในกรุงเทพธนบุรี จึงต้องได้รับเคราะห์กรรมที่เขาทุ่มเทลงมาให้ โดยไม่มีทางต่อสู้แต่อย่างใด เพราะในการสงครามนั้นย่อมไม่มีใครจะปราณีใคร

แล้วเราจะไม่จำไว้เป็นบทเรียนกันบ้างเลยเชียวหรือ.

##########

นิตยสารโล่เงิน
กันยายน ๒๕๔๐

โต๊ะประวัติศาสตร์ ห้องสมุดพันทิป
๑๕ เมษายน ๒๕๔๘








Create Date : 27 สิงหาคม 2550
Last Update : 20 กันยายน 2550 9:33:04 น.

Counter : 140 Pageviews. 6 comments

Add to







อ่านแล้วทำให้รู้สึกแย่กับสงครามและคนญี่ปุ่นมากๆ เมื่อกี้ไปอ่านเรื่องข้างบนแต่เม้นไม่ได้อีกแล้วค้าบ



โดย: ข้าวโพด IP: 121.55.242.19 วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:17:38:16 น.







ข้างบนแก้ไขแล้วครับ

เรื่องนี้มีตัวผมร่วมแสดงด้วยครับ
คือนอนคว่ำหน้าอยู่ใต้ถุนบ้าน ที่สวนอ้อยครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:18:38:50 น.







กำลังนึกสงสัยอยู่ว่าซอยสวนอ้อยน่ะบ้านคุณเจียวต้าย แต่ไม่นึกว่าจะทันรุ่นนั้นค้าบ



โดย: ข้าวโพด IP: 202.123.145.203 วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:11:13:11 น.







ในวันนั้น ลูกระเบิดได้คร่าชีวิตเพื่อนผมไปคนหนึ่ง

ส่วนบ้านผมหลังคากระเบื้องแตกดูโปร่งฟ้า
เพราะมีลูกหนึ่งตกห่างไปไม่ไกลนัก
มันขุดเอาดินดาลมาทุ่มใส่หลังคาบ้านผมครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 12 มีนาคม 2551 เวลา:17:17:20 น.







น่าสงสารประชาชนไม่ได้รู้เห็นด้วยกับสงคราม

แต่ก็ตกเป็นเหยื่อของสงคราม

ถ้าเปลี่ยนเอาเงินการทำสงครามมาทำกองทุน

ยูนิเซฟ คนในโลกคงมีความสุขกันถ้วนหน้า

เพราะค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ ลำละล้านดอล



โดย: พี่แต้ วันที่: 1 เมษายน 2551 เวลา:12:23:31 น.







ฝ่ายที่ก่อสงคราม เขาอยากจะครองโลก
แต่ประมาณการกำลังฝ่ายตรงข้ามผิดพลาดครับ

ถ้าอเมริกาจะเอาชนะญี่ปุ่นด้วยการรบธรรมดา
เขาคิดว่าต้องสูญเสียทหารอีกหลายแสน

เขาจึงทิ้งระเบิดปรมาณู เอาชีวิตคนญี่ปุ่นไปแทน
และประมาณการของเขาถูกต้อง จึงชนะสงครามครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:19:01:49 น.






 

Create Date : 26 มีนาคม 2553    
Last Update : 18 เมษายน 2553 21:18:23 น.
Counter : 1054 Pageviews.  

เรื่องเล่าจากอดีต (๒) กลยุทธย้อนยุค

เรื่องเล่าจากอดีต (๒)

กลยุทธย้อนยุค

พ.สมานคุรุกรรม


พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ฯ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้นได้โปรดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร ขึ้นไปครองเมืองลพบุรี ส่วน สมเด็จ พระบรมราชาธิราชเจ้า พระเชษฐาโปรดให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จสวรรคต พ.ศ.๑๙๑๒ สมเด็จพระราเมศวร จึงเสด็จจากเมืองลพบุรี ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา อยู่ได้ปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราช ก็เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระราเมศวรก็อัญเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติแทนแล้วพระองค์เองก็ถวายบังคมลา กลับไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม

จนถึง พ.ศ.๑๙๒๕ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าทองลั่น พระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์ได้เพียง ๗ วัน สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จมาจากเมืองลพบุรี จับกุมเอาพระเจ้าทองลั่นไปพิฆาตเสียที่วัดโคกพระยา แล้วก็ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อไป

อีก ๒ ปีต่อมา สมเด็จพระราเมศวร ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตามพระราชพงศาวดาร ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ ได้บรรยายไว้ว่า

.......สมเด็จพระราเมศวรให้เลียบพลไว้ ยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ตั้งค่ายหลวงใกล้คูเมือง ๑๕๐ เส้น ให้นายทัพนายกองตั้งค่ายล้อม และแต่งการปล้นเอาจงได้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงปืนใหญ่ออกมา ถูกกำแพงเมืองพังประมาณห้าวา พระเจ้าเชียงใหม่ ขึ้นยืนถือพัชนีอยู่บนเชิงเทิน ให้ทหารเอาหนังสือผูกลูกธนูยิงลงมา ในหนังสือนั้นว่า ขอพระราชทานให้งดสักเจ็ดวัน จะนำเครื่องพระราชบรรณาการ ออกไปจำเริญพระราชไมตรี

พระเจ้าอยู่หัวจึ่งปรึกษาด้วยมุขมนตรีว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้มีหนังสือออกมาดังนี้ ควรจะงดไว้หรือประการใด มุขมนตรีนายทัพนายกองปรึกษาว่า เกลือกพระเจ้าเชียงใหม่จะเตรียมการมิทันจึ่งคิดกลอุบายมา ขอพระราชทานให้ปล้นเอาเมืองจงได้

สมเด็จพระเจ้าอยู่ตรัสว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ เขาไม่รบแล้วเราจะให้รบนั้น มิควร ถึงมาตรว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะมิได้คงอยู่ในสัตยานุสัตย์ก็ดี ใช่ว่าจะพ้นมือทหารเรานั้น เมื่อไรมี

ฝ่ายในเมืองเชียงใหม่นั้นก็ตีแตะบังที่กำแพงทลายแล้วนั้นให้ก่อขึ้น ครั้นถ้วนเจ็ดวันแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่มิได้แต่งเครื่องจำเริญพระราชไมตรีออกมา นายทัพนายกองข้าทหารร้องทุกข์ว่า ข้าวในกองทัพ ทะนานละสิบสลึงหาที่ซื้อมิได้ จะขอพระราชทานเร่งปล้น

พระเจ้าอยู่หัวบัญชาตามนายทัพนายกอง ทรงพระกรุณาสั่ง ให้เลิกกองทัพเสีย ด้านหนึ่ง ให้เร่งปล้น ณ วันจันทร์เดือนสี่ ขึ้นสี่ค่ำ เพลาสามทุ่มสองบาท เดือนตก เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยระดมทั้งสามด้าน เอาบันไดหกพาดปีนกำแพงขึ้นไป

พระเจ้าเชียงใหม่ต้านทานมิได้ ก็พาครอบครัวอพยพหนีออก เพลา ๑๑ ทุ่ม ทหารเข้าเมืองได้ ได้แต่ นักสร้าง บุตรพระเจ้าเชียงใหม่องค์หนึ่งมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวตรัสต่อนักสร้างว่า พระเจ้าเชียงใหม่บิดาท่านหาสัตย์มิได้ เราคิดว่าจะออกมาหาโดยสัตย์ เราจะให้ครองราชสมบัติ ตรัสดั่งนั้นแล้วก็ให้นักสร้างถวายสัตยานุสัตย์ พระเจ้าอยู่หัวก็ให้แบ่งไพร่พลเมืองไว้พอสมควรน เหลือนั้นให้กวาดครัวอพยพหญิงชายลงมา ให้นักสร้างลงมาส่งเสด็จถึงเมืองสว่างคบุรี ทรงพระกรุณาให้นักสร้าง กลับขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่...............


การศึกในครั้งนี้เป็นเรื่องน่าแปลก ที่กลยุทธซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ นำมาใช้กับสมเด็จพระราเมศวร แห่งกรุงศรีอยุธยานี้ เกิดไปคล้ายคลึงกับกลยุทธสมัยสามก๊กในแผ่นดินจีน เมื่อประมาณ พ.ศ.๗๙๕ อย่างไม่น่าเชื่อ โดยที่ จูกัดเก๊ก มหาอุปราชของ พระเจ้าซุนเหลียง แห่ง ง่อก๊ก ได้ยกกองทัพจากเมืองกังตั๋ง ไปป้องกันเมืองตังหินซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน ที่ถูก สุมาเจียว น้องชาย สุมาสู มหาอุปราชของ พระเจ้าโจฮอง แห่งวุยก๊ก ยกทัพมาล้อมไว้

ปรากฎว่าทัพหน้าเมืองกังตั๋ง เข้าตีกองทัพของสุมาเจียวที่ล้อมเมืองตังหินแตกพ่ายไปอย่างยับเยิน จูกัดเก๊กก็ระเริงในชัยชนะ จึงยกกองทัพตามไปจะตีเมืองลกเอี๋ยง ราชธานีของ วุยก๊กบ้าง แต่ไปติดอยู่ที่เมืองซินเสีย ซึ่งเป็นหน้าด่านเหมือนกัน ฝ่ายเตียวเต๊ก ผู้รักษาด่านเห็นท่าจะทานไม่ไหว จึงปิดประตูเมืองตั้งรับอยู่อย่างเข้มแข็ง

ในวรรณคดีเรื่องสามก๊กฉบับของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เล่าความตอนนี้ ไว้ว่า

ฝ่ายจูกัดเก๊กก็สั่งทหารว่าเร่งหักเข้าไปจงได้ เร่งให้ทำลายกำแพงทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าผู้ใดหลบหนีแชเชือนมิเป็นใจด้วยราชการ จะตัดศรีษะเสีย ทหารทั้งปวงก็เร่งรีบทำลายกำแพงทั้งกลางวันกลางคืน ฝ่ายกำแพงด้านเหนือนั้นเห็นจะทำลาย เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว

เตียวเต๊กเห็นดังนั้น จึงคิดกลอุบายแต่งหนังสือ ให้คนถือไปถึงจูกัดเก๊กว่า ธรรมเนียมเมืองวุยก๊ก ถ้าข้าศึกมาตีและผู้รักษาเมืองป้องกันไว้ได้ถึงร้อยวันแล้ว ไม่มีกองทัพเมืองหลวงมาช่วยเลย ผู้รักษาเมืองนั้นเห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน ก็พาทหารออกไปยอมเข้าด้วยข้าศึกพี่น้องซึ่งยังอยู่ในเมืองนั้น ก็หาเป็นโทษไม่ ข้าพเจ้าอุตส่าห์รักษาด่านมาได้ประมาณเก้าสิบวันแล้ว ไม่เห็นกองทัพมาช่วยเลย ขอท่านงดให้ข้าพเจ้าสักสิบห้าวัน แต่พอข้าพเจ้าจัดแจงการซึ่งจะได้พา ทหารออกไปเข้าด้วยท่าน จูกัดเก๊กก็เชื่อ จึงมิให้ทหารทำลายกำแพง

ฝ่ายเตียวเต๊กครั้นลวงจูกัดเก๊กดังนั้น ก็เร่งให้แต่งกำแพงด้านเหนือซึ่งยับเยินไปนั้นมั่นคงแล้ว ก็ให้ทหารถืออาวุธไปเตรียมพร้อมอยู่บนเชิงเทิน แล้วเตียวเต๊กจึงร้องบอกจูกัดเกว่า

" เสบียงอาหารของกูยังบริบูรณ์อยู่ จะเลี้ยงทหารอีกสักปีหนึ่งกูก็หากลัวไม่ กูจะยอมไปเข้าด้วยเอง เหล่าชาติสุนัขเมืองกังตั๋งนั้นมิชอบ "

จูกัดเก๊กได้ฟังก็โกรธนัก จึงสั่งทหารให้เร่งเข้าทำลายกำแพง
ทหารเตียวเต๊กก็ยิงเกาทัณฑ์ลงมาถูกจูกัดเก๊กที่หน้าผาก จูกัดเก๊กตกม้าลง ทหารก็อุ้มเข้าไปในค่าย จูกัดเก๊กมีความแค้นนัก ก็สั่งให้ทหารเร่งเข้าทำลายกำแพง

นายหมวดนายกองจึงว่า บัดนี้ทหารทั้งปวงมาอยู่ช้านานนัก กินน้ำกินอาหารผิดสำแดงป่วยเจ็บลงเป็นอันมาก ซึ่งท่านจะเข้าไปรบเห็นไม่ได้ท่วงที จูกัดเก๊กโกรธจึงว่า ถ้าผู้ใดมิเป็นใจด้วยราชการบอกป่วย ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย ทหารทั้งปวงได้ยินดังนั้น กลัวตายก็หนีไปเป็นอันมาก

ชัวหลิม นายทหารผู้ใหญ่ก็พาทหารพรรคพวกของตัวหนีไปเมืองวุยก๊ก มีทหารเข้าไปบอกจูกัดเก๊กว่าทหารหนีเบาบางไปแล้ว ชัวหลิมทหารผู้ใหญ่ก็ยกทหารหนีไปด้วย จูกัดเก๊กได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ ขี่ม้าไปเที่ยวตรวจดูทหารเห็นเบาบางไป ซึ่งยังอยู่นั้นก็เป็นไข้พุงโร หน้าบวมผอมเหลืองไปเป็นอันมาก ก็สั่งให้ล่าทัพกลับไปเมืองกังตั๋ง......

เนื้อความที่ได้แคะออกมา ให้อ่านข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า เป็นกลยุทธอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าผลของการรบเท่านั้นที่กลับตรงกันข้าม ในสามก๊ก กองทัพฝ่ายเข้าตีเมื่อเสียรู้ฝ่ายตั้งรับแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ ต้องพ่ายแพ้ถอยกลับบ้านเมืองไปอย่างบอบช้ำ แต่ในพงศาวดารไทย ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งเข้าตีสามารถเอาชนะเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายตั้งรับได้อย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะ บุญญาบารมีของแม่ทัพ และการแสดงออกในลักษณะของความเป็นผู้นำ ที่แตกต่างกัน นั้นเอง.

#########

นิตยสารทหารสื่อสาร
มกราคม ๒๕๔๐

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘




Create Date : 26 สิงหาคม 2550
Last Update : 20 กันยายน 2550 9:33:37 น.

Counter : Pageviews. 4 comments

Add to







คุณเจียวต้ายช่างหาเรื่องมาเปรียบเทียบกันได้เหมาะเจาะจริงๆ



โดย: ข้าวโพด IP: 121.55.242.19 วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:17:43:33 น.







ต้องอ่านหนังสือมาก ๆ แล้วจดบันทึกไว้
บางทีพบเรื่องที่น่าสนใจ แต่ลืมไปแล้วว่ามาจากหนังสือเล่มไหน
ก็เทียบกันไปติดครับ.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:18:40:19 น.







ของเราให้เวลา 7 วัน ถือว่าไม่นานเกินไป

แต่สามก๊ก ต้องใช้เวลาถึงครึ่งเดือนถือว่าเนินนานจนเสียการก็เป็นได้ครับ



โดย: พี่แต้ วันที่: 1 เมษายน 2551 เวลา:12:10:31 น.







ข้าศึกขอพักตั้งร้อยวัน ก็ดันไปเชื่อด๊าย.



โดย: เจียวต้าย วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:18:57:23 น.






 

Create Date : 26 มีนาคม 2553    
Last Update : 18 เมษายน 2553 6:11:28 น.
Counter : 783 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.