Group Blog
 
All Blogs
 

เบื้องหลังพระอนุสาวรีย์

ความหลังริมคลองเปรม

เบื้องหลังพระอนุสาวรีย์

“ วชิรพักตร์ “

ชื่อเรื่องตอนนี้มีนัยได้เป็นสองประการ คือเป็นการเล่าเรื่องเบื้องหลังของการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ หรือเป็นการเล่าถึงภาพด้านหลังของแท่นฐานพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสารก็ได้เช่นกัน

เมื่อกรมการทหารสื่อสารได้ตกลงใจที่จะก่อสร้าง และประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ ณ ค่ายสะพานแดง กรุงเทพมหานคร กับ ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่กระทุ่มแบน สมุทรสาคร ใน พ.ศ.๒๕๒๙ นั้น พลตรี ประจวบ อ่ำพันธุ์ เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง ได้เลือกแบบพระรูปจากภาพถ่ายของพระองค์ท่าน หลายแบบมาผสมผสานกัน เป็นพระรูป แต่งเครื่องแบบเต็มยศพลเอก ถอดพระมาลาพักไว้ที่พระเพลาขวา สูง ๒.๓๐ เมตร ประทับยืน อยู่บนแท่นฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑.๗๐ เมตร สูง ๓.๖๐ เมตร ตั้งบนลานหินวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๑.๔๐ เมตร

ในการนี้ได้มอบให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประติมากร พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก เป็นผู้ออกแบบแท่นฐานและภูมิทัศน์รอบพระอนุสาวรีย์ นายบุญเพ็ง โสณโชติ นายช่างโยธา กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างปั้นหล่อพระรูป มี พันเอก วิทยา งามกาละ เป็นประธาน กับกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างแท่นฐานพระอนุสาวรีย์ มี พันเอก ประเสริฐ โล่ห์ทอง เป็นประธาน

กรมการทหารสื่อสารได้ดำเนินการ ขอคำแนะนำในการสร้างพระอนุสาวรีย์ จากกรมศิลปากร ขอประทานอนุญาตจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร รายงานกองทัพบก ขออนุมัติสร้างพระอนุสาวรีย์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระอนุสาวรีย์ ผ่านกรมศิลปากร จนได้รับพระมหากรุณา พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามลำดับตั้งแต่ เมษายน ๒๕๒๙ ถึง พฤษภาคม ๒๕๓๐

และได้ดำเนินการปั้นหล่อพระอนุสาวรีย์ ตั้งแต่ มกราคม ๒๕๓๐ ถึง ธันวาคม ๒๕๓๐ ซึ่งขณะนั้น พลตรี ประจวบ อ่ำพันธุ์ เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร และได้แต่งตั้งให้ พันเอก จารุพันธุ์ บูรณสงคราม รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็น ประธานกรรมการจัดงานพิธีประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อ วันจันทร์ ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงได้ปรากฎเป็นศรีสง่าแก่เหล่าทหารสื่อสาร มาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว

กรมการทหารสื่อสารได้จัดให้มีพิธี วางพานพุ่มสักการะพระรูป ฯ ในวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม และวางพวงมาลาสักการะพระรูป ฯ ในวันสิ้นพระชนม์ ๑๔ กันยายน ของทุกปี แต่มีน้อยคนนัก ที่จะขึ้นไปบนลานพระอนุสาวรีย์ เพื่ออ่านข้อความที่จารึกไว้ทั้งสี่ด้าน ของแท่นฐานนั้น จึงขอคัดลอกมาเพื่อเป็นหลักฐาน ดังนี้

ด้านหน้าทางทิศใต้ มีข้อความว่า
พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
พระอนุสาวรีย์แห่งนี้ กรมการทหารสื่อสารสร้างไว้เป็นที่เคารพสักการะ
และเฉลิมพระเกียรติ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างสูง
ในฐานะที่ทรงก่อกำเนิดกิจการทหารสื่อสาร
อันเป็นประดุจมรดกอันล้ำค่า
ที่ทรงมอบไว้แก่กองทัพไทย และประเทศไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเททองหล่อพระอนุสาวรีย์
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๕.๐๙ นาฬิกา
เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

* * * * * * * *
ด้านขวาทางทิศตะวันออก มีข้อความว่า
พระประวัติสังเขป
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ประสูติเมื่อ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๔
พระนามเดิมพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด
ทรงศึกษาวิชาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
ในพุทธศักราช ๒๔๓๗ ทรงศึกษาวิชาโยธาธิการ ที่โรงเรียนแฮร์โรว์ วิชาวิศวกรรม ที่ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาการทหาร ที่แซตแฮมประเทศอังกฤษ จากนั้นได้ทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ ประเทศฝรั่งเศสระยะหนึ่ง จึงเสด็จกลับมาศึกษา ณ ประเทศอังกฤษจนสำเร็จ
ได้รับ MEMBER INSTITUTE OF CIVIL ENGiNEERS
ในพุทธศักราช ๒๔๔๗ จึงเสด็จกลับประเทศไทย
พระยศและตำแหน่งทางทหารครั้งหลังสุด ยศพลเอก เป็นจเรทหารบก และ จเรทหารช่าง
ตำแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ตำแหน่งทหาร คือ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ทรงอภิเษกสมรสกับ พระองค์เจ้าประภาวสิทธินฤมล มีพระโอรสและพระธิดา ๑๑ พระองค์
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ รวมพระชันษาได้ ๕๔ ปี ๗ เดือน ๒๒ วัน เป็นต้นสกุลฉัตรชัย

* * * * * * * * * *
ด้านซ้ายทางทิศตะวันตก มีข้อความว่า
กำเนิดทหารสื่อสาร
พุทธศักราช ๒๔๖๗ ขณะที่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารบกและจเรทหารช่าง ได้ทรงก่อกำเนิดการทหารสื่อสารขึ้น
ปรากฎในคำสั่งสำหรับทหารบก ที่ ๔๗/๔๔๖๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗
จัดให้มีกองโรงเรียนทหารสื่อสาร ในกรมจเรการช่างทหารบก
ให้แก้ไขถ้อยคำที่เคยเรียกว่า “พลสัญญา เครื่องสัญญา”เป็น “พลสื่อสาร ทหารสื่อสาร”
กำหนดให้มีชนิดทหารสื่อสาร ระบุให้ใช้สีเม็ดมะปราง เป็นสัญลักษณ์
เมื่อจัดตั้งชนิดทหารสื่อสารแล้ว กองโรงเรียนทหารสื่อสารได้ตั้งขึ้น
ณ เลขที่ ๑๔๙ ถนนพระรามที่ ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
และได้ปรับปรุงพัฒนา เป็นกรมการทหารสื่อสาร ในปัจจุบัน

เหล่าทหารสื่อสารถือเสมือนว่า สถานที่ตั้งกรมการทหารสื่อสารนี้
เป็นสถานที่ซึ่ง พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มอบไว้ให้
และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงสร้างพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ สำหรับบรรดาทหารสื่อสาร และประชาชนทั่วไป ได้เคารพสักการะ ตลอดกาลนาน

* * * * * * * * * *
และด้านหลังทางทิศเหนือ
เป็นแผ่นศิลาฤกษ์ ลงพระนามาภิไธย สิรินธร
และมีข้อความว่า
การดำเนินการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์
พระอนุสาวรีย์แห่งนี้ ดำเนินการปั้นพระรูปตั้งแต่ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
และก่อสร้างแท่นฐานในเดือนสิงหาคม สร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
ใช้เวลาสร้าง ๑ ปี เป็นจำนวนเงิน ๓,๔๐๓,๐๐๐ บาท
ดำเนินการสร้างด้วยดำริของ พลตรีประจวบ อ่ำพันธุ์ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการทหารสื่อสาร
พร้อมด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคณะข้าราชการเหล่าทหารสื่อสาร

ก่อสร้างโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมศิลปากร
พระรูป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์ เป็นประติมากร
แบบแปลนแท่นฐาน พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก เป็นผู้ออกแบบ

* * * * * * * * *
ครั้งแรก พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก ได้ออกแบบให้มีต้นสนหรือต้นอโศกอินเดีย โดยรอบ และมีสระน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่สี่มุม มีน้ำพุตรงกลางสระ ตามภาพแบบแปลน (ภาพ) แต่เมื่อจะเริ่มลงมือก่อสร้าง เจ้ากรมการทหารสื่อสาร มีดำริว่าสระน้ำนั้นจะรักษาความสะอาดได้ยาก และสิ้นเปลืองมาก จึงให้ทำเป็นสวนหย่อมแทน ดังที่ได้เห็นสวยงามอยู่ในปัจจุบัน (ภาพ)

ส่วนการปั้นพระรูปนั้น เมื่อแรกได้เลือกที่จะสร้างโรงปั้นหล่อ บริเวณหลังห้องเยี่ยมญาติ ตรงข้ามกองรักษาการณ์ ซึ่งเป็นที่ดินว่างซึ่งจะต้องเทพื้นคอนกรีตอย่างแข็งแรง เพื่อรองรับพระรูปที่มีน้ำหนักมาก และจะต้องทุบพื้นทิ้งเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ให้เป็นสนามหญ้าดังเดิม อีกทั้งอยู่ใกล้ถนนพระราม ๕ อาจเกิดแรงสั่นเสทือนจากรถที่แล่นบนถนน จึงย้ายไปสร้างโรงบนสนามบาสเกตบอล ข้างสโมสรนายสิบสื่อสาร ซึ่งมีพื้นคอนกรีตแข็งแรงอยู่แล้ว

ขั้นตอนการดำเนินการปั้นนั้น ประติมากรได้เล่าไว้ว่า

หลังจากได้ทำสัญญากับกรมการทหารสื่อสารแล้ว ท่านเจ้ากรมได้กรุณาสร้างโรงปั้นให้ และได้รับความสะดวกทุก ๆ ด้าน จึงได้เริ่มงานปั้นพระรูป โดยใช้ดินเหนียวปั้นหุ่น ก่อนที่จะขึ้นดินเป็นรูป ก็จะต้องผูกเหล็กโดยดัดเหล็กให้เป็นไปตามโครงสร้าง ของกายวิภาคมนุษย์ จากนั้นก็ผูกคลอสเพื่อยึดดินไม่ให้ร่วงหล่น

ขนาดพระรูปเป็นขนาดใหญ่กว่าจริงคือเท่าครึ่ง ส่วนพระรูปนี้ตั้งใจให้สูงกว่าเท่าครึ่งไปอีกประมาณ ๑๐ ซ.ม. เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งมีบริเวณกว้างขวาง เมื่อปั้นดินตามลักษณะกายวิภาคแล้ว ก็มีคณะกรรมการจากกรมศิลปากรมาตรวจ ซึ่งได้ติและแก้ไขจนพอใจแล้ว จึงปั้นการแต่งกาย สวมเครื่องแบบและเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น ครุย เหรียญ สายสะพาย สายยงยศ กระบี่ หมวก รองเท้า และรายละเอียดอื่น ๆ ตลอดจนความเหมือนของพระพักตร์ คณะกรรมการชุดที่สองก็มาตรวจอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าดีแล้วก็อนุมัติให้หล่อเป็นปลาสเตอร์ เพื่อเตรียมหล่อเป็นทองเหลืองต่อไป

สิ่งที่ต้องระวังมากในการทำงาน คือการรักษาดินเหนียวให้อยู่ในสภาพที่ปั้นได้ดี ไม่แข็งตัวและไม่ร่วงหล่น เวลานั้นเป็นระยะเดือนเมษายน อากาศร้อนอบอ้าวมาก ดินมีรอยร้าวต้องคอยนวดและรักษาดิน ด้วยผ้าชุบน้ำและคลุมด้วยผ้าพลาสติก อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือมีพระรูปอยู่ด้านเดียว จึงต้องใช้จินตนาการทางด้านข้างและด้านหลัง ต้องใช้ภาพใน อิริยาบท อื่น ๆ มาประกอบ แม้พระพักตร์ของท่านก็ยังต้องอาศัยพระรูป ตอนที่มีพระชันษามากแล้วมาประกอบ ซึ่งก็พอแก้ปัญหาไปได้ ทำให้ปั้นพระพักตร์ได้ไม่ขัดตา แลดูเหมือนพระองค์จริงด้วย ในระยะนี้ท่านเจ้ากรมได้กรุณามาติชม และได้ทูลเชิญพระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาของ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มาทอดพระเนตรด้วย พระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตร ทรงพอพระทัยมาก และตรัสชมว่าปั้นได้เหมือนเสด็จพ่อ ทำให้ดีใจจนหายเหนื่อย

พระรูปที่ได้ปั้นนี้ ดูแล้วมีความรู้สึกไม่ขัดตาในท่ายืน และการแสดง อิริยาบทสบาย ๆ มีองค์ประกอบที่สวยงาม และแปลกกว่าอนุสาวรีย์อื่น ๆ อยู่บ้าง ตั้งแต่พระพักตร์ที่ดูหนุ่มแน่น มีพระลักษณะเป็นนักปราชญ์ ทรงภูมิรู้ พระทัยดีมีเมตตา โดยเฉพาะท่ายืนจับกระบี่ ทรงเสื้อคลุมครุย มีลักษณะองอาจสง่าผ่าเผย และดูกระฉับกระเฉงมีชีวิต เมื่อประกอบกับแท่นฐาน ที่ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางพื้นที่โล่งกว้าง คาดว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่ประทับตาประทับใจแก่ผู้พบเห็น ชวนให้เกิดความเลื่อมใส น่าเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง

นั่นคือเบื้องหลังของการสร้างพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของทหารสื่อสาร พระองค์นี้ ด้วยความสามารถของบุคลสองท่าน ผู้ที่มีความสำคัญที่สุด คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์

พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก

ซึ่งมีชื่อจารึกอยู่ด้านหลังของพระอนุสาวรีย์ และจะคงทนต่อดินฟ้าอากาศ และอยู่ในความทรงจำของทหารสื่อสารต่อไป อีกนับศตวรรษ

###############




 

Create Date : 25 กันยายน 2550    
Last Update : 25 กันยายน 2550 10:20:53 น.
Counter : 719 Pageviews.  

สื่อสารกับการดนตรี (ความหลังฯ)

ความหลังริมคลองเปรม

สื่อสารกับการดนตรี

“ วชิรพักตร์ "


เครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทเสียงสัญญาณ เพราะฉะนั้นดนตรีกับการสื่อสารจึงแยกกันไม่ออก ท่านอาจจะสงสัยว่า นักดนตรีนั้นเป็นเหล่าดุริยางค์ สังกัดกรมสวัสดิการทหารบกต่างหาก ก็ถูกต้อง แต่เสียงแตรเดี่ยวที่ทหารทุกกรมกอง ได้ยินอยู่เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงสามทุ่มนั้น ก็คือเสียงสัญญาณ ที่เกิดจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า แตรเดี่ยว

เมื่อมีการสวนสนามในพิธีสาบานธงก็ดี หรือการสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ก็ดี ก่อนที่ทหารจะจัดแถวเป็นรูปขบวนสวนสนาม จะมีทหารคนหนึ่งวิ่งออกมาเป่าแตรเป็นเพลงสั้น ๆ ซ้ำกัน ๒ จบ นั่นก็คือเสียงสัญญาณสั่งให้จัดแถว และเมื่อการสวนสนามเสร็จสิ้นลงแล้ว ทหารคนเดิมก็จะออกมาเป่าแตรเป็นเพลงสั้น ๆ อีกเพลงหนึ่ง นั่นก็คือเสียงสัญญาณสั่งให้เลิกแถว และแม้เมื่อกองทหารกำลังเดินแถวสวนสนามอยู่ ด้วยเพลงมาร์ชอะไรก็ตาม ท่านรู้หรือไม่ว่า เสียงกลองใหญ่ที่ดังเป็นจังหวะอยู่นั้น ก็คือเสียงสัญญาณที่กำหนดให้ทหารในแถว ตบเท้าซ้ายขวาซ้าย ให้พร้อมเพรียงกันนั่นเอง

แตรเดี่ยวที่ทหารออกมาเป่าเป็นสัญญาณ ในเวลาสวนสนามนั้นเป็นแตรเดี่ยวของทหารม้า สำหรับทหารสื่อสารนั้น มีรูปร่างคล้ายกับแตรทรัมเปต ที่เห็นกันอยู่ในวงดนตรีต่าง ๆ แต่สั้นกว่า และมีลูกสูบสำหรับให้นิ้วกดปิดเปิดเป็นเสียงต่าง ๆ เพียงนิ้วเดียว ไม่เหมือนแตรทรัมเปตซึ่งมีถึงสามนิ้ว แตรเดี่ยวที่มีนิ้วเดียวนี่แหละ ที่บรรเลงเป็นเพลงต่าง ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่แตรปลุก แตรเคารพ แตรรับประทานอาหาร แตรเดินเปลี่ยนกองรักษาการณ์ แตรเกิดเหตุสำคัญ และสุดท้ายก็คือแตรนอน

ประชาชนคนที่ไม่เคยเป็นทหาร ก็จะได้ยินแตรนี้ก็เมื่อได้ไปในงานพระราชทานเพลิงศพทหารเท่านั้น ทางกองทัพเรือเคยนำนักเรียนดุริยางค์กองใหญ่ เป่าแตรเดี่ยวล้วน ๆ เป็นเพลงต่าง ๆ ที่ใช้อยู่เป็นประจำ เอามาเรียงกันเข้าทำนองเม็ดเล่ย์ของฝรั่ง เมื่อวันกีฬากองทัพเรือปีไหนจำไม่ได้เสียแล้ว ฟังแล้วจิตใจฮึกเหิมดีมาก

เสียงสัญญาณของทหารสื่อสาร นอกจากแตรแล้วก็มี เครื่องตีหรือเคาะ เช่น เกราะ ฆ้อง กลอง ระฆัง หรือม้าล่อของจีนในสมัยโบราณ ในปัจจุบันก็มีนกหวีดที่ใช้กันมากที่สุด พลทหารกองประจำการจะได้ยินเสียงนกหวีดอยู่ตลอดเวลา มากกว่าเสียงแตรเสียอีก ได้ยินตั้งแต่ยังไม่ลืมตาจนถึงเวลาหลับตาลงทีเดียว

แต่สื่อสารหรือที่ถูกก็คือกรมการทหารสื่อสารนั้น ได้เกี่ยวข้องกับดนตรีที่ไม่ใช่เสียงสัญญาณ โดยบังเอิญหรือเจตนาก็ไม่ทราบ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๑ มีการแก้ไขอัตรากำลัง จัดให้มีหมวดดุริยางค์ ขึ้นอยู่กับศูนย์การทหารสื่อสาร ศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารม้า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ นั่นแหละ

ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจึงได้พิจารณาหาบุคคล ที่มีความรู้ทางดนตรีมาบรรจุลงในอัตราที่ได้ตั้งไว้ แต่นักดนตรีที่จะยอมเข้ามาเป็นนายสิบหรือลูกจ้างนั้น หาไม่ได้ง่ายนัก เพราะในสมัยนั้นวงดนตรีมีเกลื่อนตลาด ทั้งลูกกรุง ลูกทุ่ง คอมโบ และวงสตริงที่มีกีตาร์ล้วน ๆ แต่เรียกแทนชื่อวงของฝรั่งว่าชาโดว์ ซึ่งมาจากคำว่า SHADOW ทำให้นักดนตรีมีงานให้เลือกมากมาย และมีเงินเดือนแพงกว่ามาเป็นทหารทั้งนั้น

จนถึงประมาณ พ.ศ.๒๕๐๒ ท่าน พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ท่านเล่าไว้ในหนังสือต่วยตูนว่า ท่านถูกผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเรียกไปสั่ง ให้จัดตั้งวงดนตรีของทหารสื่อสารขึ้นให้ได้ ท่านก็ดำเนินการตามคำสั่งนั้นด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ จนเกิดผลสำเร็จเป็นวงดนตรีสากล มีชื่อเป็นทางการว่า สื่อสารสังคีต ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องเจ็ดขาวดำ ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเป็นสถานีที่สองในประเทศไทย โดยมีนักดนตรีมืออาชีพเป็นหัวหน้าวง ทั้งแต่งเพลง ทั้งแยกเสียงประสาน และเล่นดนตรีเองด้วย ไม่ทราบว่าได้บรรจุอยู่ในอัตราหรือจ้างเป็นพิเศษ วงนี้ก็มีชื่อเสียงพอสมควร

ต่อมาคงจะมีการเปลี่ยนแปลง ตัวผู้บังคับบัญชาหน่วย ที่ควบคุมหมวดดุริยางค์ ก็เลยเกิดเป็นวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมาอีกวงหนึ่งซึ่งมีท่าน พันเอก เพ็ชร์ เสียงก้อง เป็นผู้อำนวยการ ให้ชื่อเป็นทางการว่าวง มิตรสายฟ้า วงลูกทุ่งนี้ดูเหมือนจะดังมากกว่าวงสากลเสียอีก เพราะสมัยที่ สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังยังมีชีวิตอยู่ วงดนตรีลูกทุ่งแพร่หลายมากในต่างจังหวัด ไม่ทราบว่ามีกี่สิบวง นักร้องก็แต่งตัวให้เป็นที่สะดุดตา และยังไม่มีหางเครื่องมาแย่งความสนใจด้วย และวงมิตรสายฟ้านี้ นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนายสิบและลูกจ้างที่อยู่ในอัตราของทางราชการ ค่าตัวก็คงจะไม่แพงนัก ส่วนนักร้องก็คัดมาจากลูกหลานของนายสิบนายทหารในกรม ที่เห็นว่ามีแววนักร้อง มีหน่วยก้านดีใจถึงทำนองนี้ มาฝึกหัดฝึกฝนกันไป ได้ทราบภายหลังว่าดังขนาดรับงานทางต่างจังหวัด มีคิวยาวเหยียดยังกับวงอาชีพเหมือนกัน

วงดนตรีทั้งสองวงนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับทุกสิ่งในโลกคือมีเจริญมีเสื่อม เมื่อเจริญมาถึงขีดสุดแล้ว ก็ต้องค่อย ๆ ทรุดต่ำลง จนเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อาจเป็นด้วยผู้อำนวยการทั้งสองท่าน ต่างก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของราชการ จนเกษียณอายุไปก็เป็นได้

ผมจึงจดจำเอามาจารึกไว้เป็นความหลัง ให้ทหารสื่อสารในยุคไฮเทคได้ทราบไว้เป็นอุทาหรณ์

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๐๑ มีการเปลี่ยนอัตราอีกคือ หมวดดุริยางค์ ไปสังกัด กองร้อยบริการ มาจนถึงทุกวันนี้ ก็เลยมีแต่ผู้บังคับหมวด ซึ่งมียศเพียงร้อยโทหรือร้อยเอกคนเดียว ที่เป็นผู้ควบคุมดูแล วงดนตรีที่เหลืออยู่ก็คือวงดนตรีไทยเดิม ซึ่งใช้บรรเลงในงานที่เกี่ยวกับพิธีสงฆ์ เช่น งานวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม หรืองานทำบุญฉลองพระนวกะของสื่อสาร กับงานอำลาชีวิตทหารสื่อสาร และงานครบรอบวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่องห้าสี.. ขออภัยช่องห้า นำคุณค่าสู่สังคมไทย ๒๕ มกราคม เท่านั้น นักดนตรีและนักร้องที่เหลืออยู่ ก็ล้วนแต่มีอายุมากขึ้นจนใกล้เกษียณกันแล้วทั้งนั้น

ส่วนดนตรีสากล ก็เหลือเพียงเครื่องอีเลคโทนตัวเดียว และมีนักดนตรีที่จะบรรเลงได้เพียงคนเดียวเหมือนกัน เคราะห์ดีที่ยังไม่ต้องใช้เครื่องเสียง เปิดแผ่นดิสค์ แทนการบรรเลงอย่างที่ชอบหลอกกัน ในงานทั่วไปสมัยคอมพิวเตอร์นี้

ขอย้อนกลับมาเล่าถึงแตรเดี่ยว เสียงสัญญาณของทหารสื่อสาร ที่ยังยืนยงคงอยู่คู่เหล่า เมื่อก่อนนี้กองบริการมีอัตรานายสิบแตรเดี่ยวอยู่เพียงคนเดียว เดิมมีอาชีพเป็นลิเกตัวตลกตามพระ แกเป่าแตรเดี่ยวได้ไพเราะ มีจังหวะจะโคน และเสียงไม่หลงไม่เพี้ยน ตรงกันกับที่ทหารเหล่าอื่น ๆ โดยเฉพาะทหารราบ แต่แกจะเป่าคนเดียวตลอดไปก็คงจะสิ้นชีพเสียก่อนเกษียณแน่ จึงมีการฝึกพลแตรเดี่ยวขึ้น เพื่อให้สืบทอดวิชาเป่าแตรต่อไป โดยการคัดเลือกเอามาจาก ทหารกองประจำการปีที่ ๒ ซึ่งสมัครใจ และมีความสามารถที่จะเป่าแตรนิ้วเดียวให้เป็นเสียงได้ถึงเกือบสิบเพลง โดยแกเองเป็นผู้ฝึกสอน

เวลาสอนก็ไม่ยาก แกก็พาทหารไปฝึกเป่า ด้านหลังกรมใกล้ที่ควบคุม หรือมุมรั้วริมคลองเปรมประชากร สมัยที่ยังไม่มีการปลูกแฟลท นายทหาร และสถานีดาวเทียมอย่างเดี๋ยวนี้ พลทหารก็หัดเป่าให้มีเสียงเสียก่อน เพราะถ้าเป่าไม่เป็นมันจะดังฟู่ ๆ พอได้หลายเสียงแล้ว แกก็บอกทำนองเพลงให้ ยกตัวอย่างแตรรับประทานอาหารดีกว่า เพราะฟังกันชินหูทุกเที่ยงวัน แกจะทำเสียงแตรด้วยปากว่า

แต แต แต๊ด แตแหร่...แต แต แต๊ด แตแหร่...แต แต แร แต๊ดแต...แต๊ดแต ซึ่งมักจะมีเด็กในกรมทหารใส่เนื้อร้องว่า...กินคาวเซียะเถอะหน่า กินคาวเซียะเถอะหน่า.. คนละชาม ซ้องชาม ซ้ามชาม...

แต่แกไม่ได้บอกทั้งหมดทีเดียว แกเล่นบอกทีละวรรค ทหารก็ต้องเป่าซ้ำแล้วทวนอีกอยู่จนคล่องแคล่ว จึงจะบอกวรรคใหม่ให้ เป็นเวลาหลายวันกว่าจะจบเพลง แล้วจึงจะให้เป่าจริงคู่กับแกเอง

เมื่อทหารรุ่นนี้ถึงคราวปลดจากกองประจำการ แกก็ต้องฝึกทหารรุ่นที่เข้าใหม่ต่อไปอีก ตามตำแหน่งหน้าที่ ต่อมาแกเลยไม่ฝึกเอง ให้ทหารผลัดที่จะปลดเป็นผู้สอนรุ่นน้องต่อไป ตัวแกก็นอนฟังหรือนอนหลับไปเลย จนกระทั่งแกได้ไปราชการพิเศษนอกหน่วย แล้วก็เลยหายหน้าไป อาจจะเลื่อนยศขึ้นไปไหนต่อไหนแล้วก็ได้

ต่อมาครูเก่าก็รับหน้าที่ฝึกแตรเดี่ยวให้แก่ทหารรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะไม่มีการบรรจุนายสิบแตรเดี่ยวอีก เสียงก็เพี้ยนไปเรื่อย ๆ นานปีเข้าก็เพี้ยนมากขึ้น จนเดี๋ยวนี้ฟังแล้วไม่ค่อยรู้ว่าเป็นเพลงอะไรแน่ คล้ายแตรนอนไปหมด เพราะยานเต็มที

เรื่องนี้ผมเคยคุย กับผู้บังคับหมวดดุริยางค์คนหนึ่ง ถามว่าแตรสัญญาณเหล่านี้ใครเป็นคนคิดแต่ง และมีโน้ตถาวรหรือไม่ แกบอกว่ามี อยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบก ผมก็ขอร้องเป็นส่วนตัวว่า ช่วยเอาแตรดี ๆ เป่าให้ถูกต้องลงเทปไว้ ให้เป็นบรรทัดฐาน แล้วเอามาฝึกทหารจะไม่ดีกว่าหรือ เสียงจะได้ไม่เพี้ยนไปเพี้ยนมาตามครูฝึก ผู้หมวดท่านก็ว่าดี แต่ยังไม่ทันได้ทำ ก็ย้ายเลื่อนอัตราไปอยู่ที่อื่นเสียก่อน

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับเหล่าทหารสื่อสารก็คือ เพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ไม่มีใครทราบว่า เพลงมาร์ชของทหารสื่อสารที่แท้จริงนั้น เป็นอย่างไรแน่ เพราะร้องกันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๗ รวมได้สัก ๔-๕ เพลง แต่มีท่านหนึ่งที่จำได้มากที่สุด คือ พันโท สถิตย์ พจนานนท์ ท่านจะต้องเป็นต้นเสียงเสมอ เมื่อมีการร้องเพลงในงานเลี้ยงทุกคราว แล้วก็ตามด้วยเพลงประจำตัวคือ The river of no retern. หลังจากที่ท่านเกษียณอายุแล้ว ผมเคยขอให้ท่านช่วยเขียนเนื้อเพลงมาร์ชทหารสื่อสารต่าง ๆ ที่ท่านจำได้ ตลอดจนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลงพิมพ์ไว้ใน นิตยสารทหารสื่อสารด้วย

เพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ที่ใช้ร้องกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีเนื้อร้องไม่ค่อยจะตรงกันนัก ขณะนั้นสถานีวิทยุ จส.๑๐๓ แต่ไปสังกัดกองการสื่อสารใช้เป็นเพลงเปิดสถานี แต่ก็ได้ฟังไม่จบเพลงสักที ผมก็อาศัยความคุ้นเคยกับนักร้องของหมวดดุริยางค์ ที่เสียงดีที่สุดของเรา ทั้ง ๆ ที่สาวไปมากแล้ว ให้ช่วยร้องอัดเสียงลงเทป ไว้เป็นหลักฐานให้ที เธอก็จัดการให้ โดยหน้าหนึ่งเป็นการขับร้องหมู่ อีกหน้าหนึ่งเป็นดนตรีล้วน ๆ ดูเหมือนจะใช้วงดนตรีของกองดุริยางค์ทหารบกบรรเลง พร้อมกันนั้นก็ได้เขียนโน้ตเพลงที่ถูกต้องมาให้ด้วย

ตอนนั้นผมยังเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ จึงจัดการขึ้นบัญชีไว้เป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์เสียเลย เผื่อว่ามีใครสงสัยว่าเนื้อร้องอย่างไหนถูก ทำนองตอนนั้นเป็นอย่างไร ก็จะได้ถ่ายสำเนาเอาไปใช้ได้ โดยไม่ต้องไปหาที่ไหนอีก

ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านนักร้องที่กรุณาร้องนำหมู่เท่าที่จำได้ก็คือ คุณสุวารี เอี่ยมไอ กับ คุณราษี ไชยมี ไว้ในโอกาสนี้ด้วย ส่วนท่านที่เป็นผู้บังคับหมวดดุริยางค์อยู่ในขณะนั้น ป่านนี้ท่านคงไปเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่ทราบ

ดังนั้น ถ้าใครจะมาว่า สื่อสารไม่มีดนตรีการ ละก็ ช่วยกันเถียงหน่อยนะครับ.

###########

นิตยสารทหารสื่อสาร
มกราคม ๒๕๓๘





 

Create Date : 24 กันยายน 2550    
Last Update : 24 กันยายน 2550 10:50:39 น.
Counter : 1803 Pageviews.  

วิทยุและโทรทัศน์ของทหาร

ความหลังริมคลองเปรม

วิทยุและโทรทัศน์ของทหาร

“ วชิรพักตร์ “

ในช่วงเวลาก่อนที่ทหารสื่อสารจะครบรอบ ๘๑ ปี ได้มีข่าวการถึงแก่กรรมของนายทหารสื่อสาร สองท่าน ซึ่งในอดีตบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่ง ของเหล่าทหารสื่อสาร และกรมการทหารสื่อสาร แม้ว่าท่านจะได้พ้นจากกรมการทหารสื่อสาร ไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม ผลงานที่ท่านทิ้งไว้ให้เหล่าทหารสื่อสารนั้น ก็ยังคงเจริญงอกงามอยู่จนถึงปัจจุบัน ท่านคือ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์

เมื่อ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง เริ่มเข้ารับราชการในกรมจเรทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น ผมยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในรั้วสีม่วง มุมสะพานแดงแห่งนี้ ท่านเป็นผู้เริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงของกรมจเรทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นสถานีที่สามของประเทศไทย รองจากกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมประชาสัมพันธ์

สถานีวิทยุ จส.๑ ที่มีท่านเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ทั้งการปรับปรุงเครื่องส่ง ทั้งการจัดรายการออกอากาศ และเป็นโฆษกด้วยทุกวัน เสียงของท่านจึงดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ขาดสาย จนได้รับสมญาว่า โฆษกเสียงเสน่ห์

ผมเคยเข้าชมรายการสดของท่านซึ่งจัดขึ้นที่ชั้นบน ของอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสารในปัจจุบัน ชื่อรายการอะไรก็จำไม่ได้ โดยมี คุณบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และ คุณ.บุญเลิศ เสมาชัย ขณะนั้นยังเป็นนายทหารประทวนทั้งคู่เป็นผู้ช่วย กับมี พลทหาร สุกิตต์ มหาชานันท์ เป็นผู้ตีฆ้องโหม่งเปิด รายการ ซึ่งรายการที่ว่านี้ได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ จส.๑ และได้มีผู้สนใจติดตามชมและฟังเป็นอันมาก จนต้องขยับขยายไปจัดรายการสดที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และที่อื่น ๆ นอกสถานที่หลายครั้ง รายการที่เด่นดังมากก็คือรายการต้อนรับวีรบุรุษ ยศร้อยตรี จากกองทหารไทยในสงครามเกาหลี ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้และภายหลังท่านก็ได้เป็นนายพล

สถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑ ได้ดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ.๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของสถานี ซึ่งมีภาพอยู่ใน นิตยสารทหารสื่อสารฉบับที่ ๕ ปีที่ ๕ ซึ่งได้เก็บไว้เป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ในพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร หมายเลข สส.๑๙๖ แล้ว

พอถึง พ.ศ.๒๕๐๐ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือ ททท.ช่อง ๔ ได้เปิดมาแล้ว ๒ ปี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.ช่อง ๗ ขึ้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเครื่องส่ง จนเปิดสถานีได้ในวันกองทัพบก ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ และรับหน้าที่ดำเนินรายการแต่เพียงผู้เดียวอีกตามเคย

ถึง พ.ศ.๒๕๐๒ พลจัตวา สุภชัย สุรวรรธนะ รองเจ้ากรมการทหารสื่อสารในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ และมีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง จึงเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคเพียงตำแหน่งเดียว และให้ พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารสื่อสาร ศูนย์การทหารสื่อสาร เป็น หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ท่านผู้นี้ได้เริ่มปรับปรุงห้องส่ง แสง เสียง ฉาก และเชิญผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านภาพยนตร์ และละคร รวมทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียง มาร่วมมือกันจัดรายการสาระและบันเทิง ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จนทำให้สถานีมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้ชม ทัดเทียมกับสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ ซึ่งได้ดำเนิน กิจการมาก่อนถึง ๓ ปี

บุคคลที่ได้ช่วยงานด้านจัดรายการเป็นอย่างมากคือ พันตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ประจำกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร ได้ทรงร่วมงานกับหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ในการปรับปรุงครั้งนี้ อย่างเต็มที่ โดยที่ทรงเป็นผู้ชำนาญการนิพนธ์ บทละครและภาพยนตร์ ซึ่งได้สร้างผลงานอันมีชื่อเสียงไว้มากมาย

ถึงเดือน สิงหาคม ๒๕๐๕ สายอากาศของสถานีขัดข้อง ต้องหยุดออกอากาศเป็นเวลา ๗ วัน ฝ่ายเทคนิคได้ตรวจพบข้อบกพร่องแล้ว หัวหน้าฝ่ายเทคนิคจึงต้องเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ที่ เสียหายจากต่างประเทศ ไปกลับในสองวัน และปีนเสาอากาศสูง ๓๐๐ ฟุตขึ้นไปแก้ไขด้วยตนเอง จนสำเร็จเรียบร้อย ออกอากาศได้เป็นปกติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการได้ทรงเล่าเรื่องจากความทรงจำไว้ในหนังสือที่ระลึก ททบ.ครบรอบ ๓๔ ปี ว่า

วันหนึ่ง พ.อ.ม.จ.มุรธาภิเศก รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ทรงเรียกข้าพเจ้าไปพบ ขณะที่ข้าพเจ้ารับราชการกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร มีรับสั่งว่า ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดรายการสถานี โทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ) จาก พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็น พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เนื่องจาก พ.อ.ถาวร เป็นนายทหารมาตรฐานของกรมการทหารสื่อสาร คงจะไม่มีประสบการณ์ในด้านการบันเทิง จึงอยากให้ข้าพเจ้าไปช่วยรายการที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ)

ข้าพเจ้าได้ไปพบ พ.อ.ถาวร ตามคำสั่ง คุณถาวรมองหน้าข้าพเจ้าแล้วบอกกล่าวว่า ขณะนี้ทางสถานีฯกำลังต้องการปรับปรุงรายการ ที่ดูยังล้าหลังอยู่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ สถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ในครั้งนั้น มีอยู่สองสถานีคือ สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ และของเรา สถานีทดลองของทหารบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ว่าข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ที่จะปรับปรุงให้ดีทัดเทียมเขา

มองตามสถานการณ์ สถานีของเรายังด้อยกว่าเขามาก ประการแรกสถานีกองทัพบกยังอยู่ในฐานะทดลอง ได้รับงบประมาณที่เรียกว่าปัดเศษ ส่วนสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสถานีมาตรฐานมีงบประมาณเป็นที่แน่นอน จึงสามารถใช้เงินจ้างเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายจัดรายการ ได้อย่างไม่จำกัด ฝ่ายของกองทัพบกใช้ เจ้าพนักงานที่เป็นทหาร ส่วนใหญ่เป็นนายทหารชั้นประทวน ผิดกันไกลกับชองเขาที่มีสาว ๆ หน้าแฉล้มอย่าง อารีย์ นักดนตรี ซึ่งมีความงามลือเลื่องเป็นโฆษก ในขณะของเรามีแต่โฆษกชาย ที่จัดว่าเป็นเอกคือ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร ซึ่งยืมตัวมาจากกรมแผนที่ทหารบก

คณะบริหารของ พ.อ.ถาวร มีอยู่สามคนด้วยกัน คือคุณถาวรหนึ่ง คุณบัลลังก์เป็นสอง และข้าพเจ้าเป็นสาม เราแบ่งหน้าที่กันทำ คือคุณถาวรเป็นหัวหน้าบริหารงาน ควบคุมรายการมโนสาเร่ เช่นรายการสัมมนานักสืบ ฯลฯ ส่วนคุณบัลลังก์ควบคุมรายการข่าว และเป็นโฆษกประจำสถานี ส่วนข้าพเจ้านั้นได้รับหน้าที่ควบคุมรายการบันเทิง อันเป็นเรื่องใหญ่น่าหนักใจ เพราะรายการบันเทิงเป็นรายการใหญ่ ที่จะต้องสร้างความนิยมให้กับสถานี

ตามปกติในสมัยนั้น แต่ละสถานีจะออกอากาศตั้งแต่เวลา หนึ่งหรือสองทุ่ม โดยมีรายการข่าว รายการสารคดี ฯลฯ ปิดท้ายด้วยรายการใหญ่ คือรายการละครซึ่งแสดงสด ๆ บนเวทีในห้องถ่าย สมัยนั้นยังไม่มีการ อัดเทปล่วงหน้า หากไม่มีละครก็ใช้ภาพยนตร์แทน

การจัดรายการละครต้องลงทุนลงแรงสูงเพื่อล่อตาคนดู โดยเฉพาะบริษัทการค้าที่อุปถัมภ์รายการ พูดสั้น ๆ ก็คือการให้เงินเพื่อสถานีจะทรงชีวิตอยู่ได้ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ รุดหน้าสถานีกองทัพบก แทบมองไม่เห็นหลัง ประการแรกเขามีโฆษกหน้าแฉล้มหลายคน แวดล้อมผู้จัดรายการ (คุณจำนง รังสิกุล) ส่วนของเรานอกจาก โฆษกเอกคุณบัลลังก์ เราก็มีแต่นายสิบสาวเช่น คุณรำไพ ปรีเปรม และคนอื่นอีก

วันหนึ่งคุณถาวรหัวหน้าฝ่ายจัดรายการก็ประกาศลั่น...จะลั่นกลองรบ โดยจัดรายการสุดท้าย(ละคร)ให้ดัง โดยมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าจัดละครใหญ่ ที่ไม่ต้องใช้เงินมากนักสักเรื่อง เอาให้ดังทีเดียว เป็นเรื่องหนักใจข้าพเจ้าไม่ใช่น้อย เพราะการจัดละครใหญ่ จำเป็นต้องมีเงินใหญ่ด้วย ข้าพเจ้าคิดไปคิดมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็ลงมือเขียนละคร(ใหญ่) ขึ้นเรื่องหนึ่งโดยอาศัยเรื่องของ ยาขอบ ชื่อ เป็นไทยต้องสู้ ชื่อเหมาะดี แต่ฐานะของเราไม่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อคุณถาวรประกาศลั่นกลองรบ ข้าพเจ้าก็จะต้องเป็นคนตีกลองให้ดัง

เรื่องนี้ต้องใช้คนแสดงมากนับเป็นสิบ ได้มอบบทนางเอกสาวจีนให้ สุพรรณ บูรณพิมพ์ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นนางเอกในเรื่อง และไปชวน ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ตัวพระรามชื่อดัง(สมัยนั้น) มาเป็นพระเอก ส่วนตัวประกอบอื่น ๆ เลือกคัดมาจากพวกเราในสถานีเช่น ศรีนวล แก้วบัวสาย นักพากย์ประจำสถานี รำไพ ปรีเปรม คนสวย(ที่สุดของเรา) เป็นน้องสาวนางเอก ส่วนตัวละครอื่น ๆ เก็บตกเอาจากนายทหารนายสิบในสถานี (เพราะไม่มีเงินจะจ้างตัวประกอบอาชีพ) เรื่องเครื่องแต่งกายก็เป็นปัญหา เพราะละครเรื่องนี้เป็นเรื่องในยุคที่คนไทยยังอยู่น่านเจ้าติดกับเมืองจีน การแต่งกายเต็มไปด้วนสีสรรค์ เคราะห์ดีอีกที่เจ้าของงิ้วคณะหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนรักใคร่ของข้าพเจ้า รับอุปถัมภ์เครื่องแต่งกาย(งิ้ว)ทั้งหมด และยังให้คนมาช่วยแต่งกาย แต่งหน้า ตัวละครให้เป็นงิ้วอีกด้วย

การฝึกซ้อมทำกันอย่างเคร่งเครียด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างหน้าใหม่หมด ละครในคืนนั้นต้องระดมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร นายสิบ แม้แต่ภารโรง ก็ต้องเข้าฉากเป็นตัวประกอบ ผู้ที่เข้ามาติดต่อสถานีในคืนนั้นต้องแปลกใจเป็นอันมาก เพราะอยู่ ๆ ก็พบนายทหารเวร นายสิบเวร กลายสภาพเป็นตัวงิ้วแทนเครื่องแบบ นับว่าสนุกดี

หลังจากความสำเร็จในละครเรื่อง เป็นไทยต้องสู้ แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องรับภาระอันหนักโดยมีหน้าที่ต้องเขียนเรื่อง และจัดละครรายการสุดท้าย เดือนละเรื่องสองเรื่องเป็นประจำ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ก็ลืมหน้าอ้าปาก ต่อสู้กับสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ ได้

ท่านได้เล่าว่ามีละครอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งได้เชิญ พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ กับ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร เป็นผู้แสดงเอก ท่านทั้งสองเกี่ยงว่า

เมื่อข้าพเจ้าเกณฑ์พวกท่านแสดง ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่แสดงเสียเอง ? ข้าพเจ้าจึงต้องเข้าร่วมแสดง แต่ไม่ได้เป็นนายพล หากเป็นพลทหารให้ชื่อว่า พลทหารขาว ทหารคนใช้ของท่านนายพล นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา คณะละคร อ.ถ.บ. (อนุสร, ถาวร, บัลลังก์) ก็เกิดขึ้นและเป็นเจ้าของรายการละครที่ข้าพเจ้าจัดขึ้น

ท่านยังจำได้ว่าบทละครที่ท่านเขียนให้แสดงในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ) รวมทั้งสิ้นถึง ๒๔ เรื่อง

ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของสถานี โดยมี พลตรี ประสิทธิ์ ชื่นบุญ ผู้อำนวยการในขณะนั้น และ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง หัวหน้าฝ่ายเทคนิค กราบบังคมทูลถวายรายงานต่าง ๆ ให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

ในปีต่อมา พันเอก การุณก็ได้เริ่มจัดรายการ ป็อปท็อป บันไดดารา และ๒๐ คำถาม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.ช่อง ๗ ติดต่อกันไปเป็นเวลานับสิบปี และมีลูกศิษย์ในด้านการดำเนินรายการโทรทัศน์หลายคน ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นนายพลหญิง และ สมาชิกวุฒิสภา เป็นนักแสดง เป็นพิธีกร ก็มี

แต่ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้เริ่มเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นคนแรกนั้น ได้ย้ายไปรับราชการทาง กองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๕ สุดท้ายเป็นผู้อำนวยการ กองวิทยุกระจายเสียง กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ในอัตราพันเอกพิเศษ

และได้ลาออกจากราชการ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ประมาณ ๑ ปี หลังจากที่ได้พ้นราชการทหารแล้ว ก็ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก และรักษาตัวอยู่นานจนอาการดีขึ้นบรรดาคณะศิษย์สามารถจัดงานวันเกิดครบ ๗๒ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๒ และครบ ๘๔ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ สุดท้ายได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ อายุ ๘๕ ปีเศษ

ส่วนคณะ อ.ถ.บ.นั้น เมื่อองค์ผู้ทรงก่อตั้งได้ย้ายไปรับราชการ นอกกรมการทหาร สื่อสารแล้ว ก็เลิกรากันไป ผู้ร่วมงานนั้น พลโท บัลลังก์ ขมะสุนทร ต่อมาได้เป็น เจ้ากรมแผนที่ทหาร เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๗ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ ทรงเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ทรงได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และสิ้นพระชนม์เมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๔๑ พระชนมายุประมาณ ๘๓ พรรษา

พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ในตำแหน่ง สำรองราชการ กองบังคับการทหารสื่อสาร มณฑลทหารบกที่ ๒ และได้เข้าร่วมในการปฏิบัติราชการสงครามอินโดจีน จนถึงสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี

หลังสงครามได้เข้ารับราชการในกรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ตำแหน่งสุดท้าย รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสื่อสาร กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๑๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐

เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ปฏิบัติหน้าที่นี้จนถึง พ.ศ.๒๕๑๙ ตำแหน่งสุดท้ายเป็น รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๒๐ แล้วไปเป็นผู้ชำนาญการกองทัพบก

เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๔ และได้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของโทรทัศน์ไว้มากมาย จนอายุประมาณ ๘๒ ปีเศษ ก็ได้รับรางวัล นราธิป เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ อายุ ๘๔ ปีเศษ

ภารกิจหลักของทหารสื่อสารนั้น เดิมก็มีเพียงการนำสาร ทัศนสัญญาณ โทรศัพท์ โทรเลข และวิทยุในทางยุทธวิธีเท่านั้น ต่อมากองทัพบกจึงได้เพิ่มภารกิจด้านวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ขึ้นในกรมการทหารสื่อสาร

ดังนั้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้ปฏิบัติภารกิจทั้งสองนี้เป็นคนแรก ในเหล่าทหารสื่อสาร

และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ คนแรกของสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก และได้ปฏิบัติงานอยู่ยาวนานเกือบ ๒๐ ปี
จึงสมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ของทหารสื่อสาร อย่างแท้จริง.

#############


นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๔๘

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุด
๑๓ มกราคม ๒๕๕๒





 

Create Date : 23 กันยายน 2550    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2552 22:10:51 น.
Counter : 572 Pageviews.  

เรื่องของโทรทัศน์ (ความหลังโคนต้นไทร)

ความหลังโคนต้นไทร

เรื่องของโทรทัศน์

“ วชิรพักตร์ “


โทรทัศน์ในประเทศไทย

กิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ โดยที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แต่การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ในครั้งนั้นได้ระงับไป เนื่องจากปัญหางบประมาณ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ บริษัทเอกชนได้นำอุปกรณ์การส่งโทรทัศน์ เข้ามาแสดงให้ประชาชนชม ที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยทดลองออกอากาศเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๕ เป็นการถ่ายทอดสดการแสดงดนตรี ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ จากห้องส่ง วิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ส่งภาพไปยังทำเนียบรัฐบาล และตั้งเครื่องรับให้ประชาชนชมในบริเวณใกล้เคียงด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์ มาออกอากาศสาธิตให้ประชาชนชม โดยการถ่ายทอดมวยจากเวทีมวยราชดำเนิน ในการชกระหว่าง จำเริญ ทรงกิตติรัตน์ กับ จิมมี เปียต รองแชมเปี้ยนโลกรุ่นแบนตัมเวท

กับถ่ายทอดในงานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ และงานปีใหม่ ทั้งได้นำไปแสดงให้ประชาชน จังหวัดพิษณุโลกได้ชม ในงานประจำปีของโรงพยาบาลพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ อีกด้วย

จนถึง พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในรูปของบริษัท ชื่อว่า บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีส่วนราชการและ องค์การรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล เป็นผู้ถือหุ้น โดยได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารที่ทำการ และสถานีส่งโทรทัศน์ขึ้นที่บริเวณวังบางขุนพรหม ได้ติดตั้งอุปกรณ์การส่งโทรทัศน์ แล้วเสร็จเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๘ การดำเนินงานในครั้งนั้น ใช้เจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น

วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธี เปิดสำนักงานและที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทย ที วี ช่อง ๔ อันเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถานีแรกของผืนแผ่นดินใหญ่ในเอเซีย ด้วยเครื่องส่งโทรทัศน์ที่มีกำลังส่งออกอากาศ ๑๐ กิโลวัตต์ ขาวดำ ระบบ ๕๒๕ เส้น มีชื่อย่อว่า ท.ท.ท. และได้ดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๐ จึงได้ยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า อสมท.

ต่อมากองทัพบกได้จัดตั้ง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ขึ้นเป็นแห่งที่ ๒ ในประเทศไทย ด้วยความดำริของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก โดยได้กำหนดให้มี แผนกวิทยุโทรทัศน์ ขึ้นใน กองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ และได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกให้เป็น ประธานคณะกรรมการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ มีหน้าที่วางโครงการจัดตั้งวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก กับวางแผนอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานทั้งปวง ให้ทันเปิดกิจการได้ ในวันกองทัพบก

คณะกรรมการจึงได้วางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการและสถานีส่งโทรทัศน์ ณ บริเวณกองพลทหารม้า สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๐ และได้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เครื่องส่งและเครื่องรับ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ๒๕๐๐ การก่อสร้างอาคารและติดตั้งอุปกรณ์ได้แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมกราคม ปีถัดมา

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เปิดออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ ด้วยกำลังออกอากาศ ๕ กิโลวัตต์และเพิ่ม ๑๒ เท่าที่สายอากาศบนเสาสูง ๓๐๐ ฟุต ระบบ ๕๒๕ เส้น ขาวดำ ช่อง ๗ ชื่อสากล HS A TV ชื่อย่อ ททบ.

ต่อมาได้มีการก่อตั้ง สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ตามลำดับ คือ

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ โดยบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี เปิดสถานีเมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๐ เป็นเครือของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

สถานี ไทยทีวี สี ช่อง ๙ ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ได้รับมอบกิจการโทรทัศน์ จากบริษัทไทยโทรทัศน์ มาดำเนินการต่อ ในระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี ตั้งแต่ ๙ เมษายน ๒๕๒๐

สถานีโทรทัศน์ อสมท.ช่อง ๓ โดยบริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี เปิดสถานีเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ อยู่ในความควบคุม ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็นอิสระขึ้นในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ และได้ก่อตั้งสถานีส่งขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี โดยรวมกิจการส่วนภูมิภาคเป็นสถานีเครือข่าย เปิดสถานีเมื่อ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๑

สถานีโทรทัศน์ ไอทีวี ของบริษัทสยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด
ระบบ UHF ๖๒๕ เส้น ภาพสี เปิดสถานีเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙

วิวัฒนาการของ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในรอบ ๔๐ ปี

กิจการโทรทัศน์กองทัพบก ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ นั้น ได้ก้าวหน้าต่อมาเป็นลำดับ ตามกำลังงบประมาณที่หาได้แต่ละปี ดังนี้

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้เปลี่ยนจากสถานีทดลองซึ่งออกอากาศสัปดาห์ละ ๓ วัน เป็นสถานีถาวร ออกอากาศตลอดสัปดาห์ และปรับปรุงการบริหาร โดยแบ่งออกเป็น ๖ ฝ่ายคือ ฝ่ายธุรการ ฝ่ายตรวจรายการ ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายจัดรายการ ฝ่ายข่าว และฝ่ายการเงิน มี รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็นผู้บริการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานี ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็นผู้อำนวยการ อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.๒๕๐๓ ห้องส่งเดิมมีขนาด ๑๕๐๐ ตารางฟุต ไม่เพียงพอแก่การแสดงที่เพิ่มขึ้นจึงสร้างห้องส่งที่ ๒ ขนาดพื้นที่ ๓๐๒๔ ตารางฟุต และปรับปรุงคุณภาพของเครื่องส่งทั้งทางภาพและทางเสียง ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น

พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ขยายรัศมีการส่งออกไป โดยตั้งเครื่องทรานเลเตอร์ เริ่มที่จังหวัดลพบุรี เพื่อสนับสนุนการฝึกธนะรัชต์ และเริ่มจัดรายการภาคกลางวันตั้งแต่ มิถุนายน ๒๕๐๖

พ.ศ.๒๕๐๘ ก่อสร้างอาคารสำนักงานของส่วนอำนวยการ เมื่อ ๒๙
กรกฎาคม ๒๕๐๘ และจัดตั้งสถานีวิทยุกระเสียง F.M.ความถี่ ๙๔ เมกกะเฮิร์ซ เพื่อถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ จากฟิล์มภาพยนต์ที่ฉายทาง ททบ.

๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ
พระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานีเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรกิจการของสถานี

พ.ศ.๒๕๐๙ จัดหารถบันทึกเทปโทรทัศน์ เป็นรถถ่ายทอดนอกสถานที่ คันที่ ๒ ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกภาพเพื่อถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๕ ซึ่ง ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ครั้งแรก เมื่อ ธันวาคม ๒๕๐๙ โดยร่วมมือกับบริษัทไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ เป็นการเริ่มต้นทำงานร่วมกันของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๑๐ ได้ก่อสร้างห้องส่งที่ ๓ ขนาดพื้นที่ ๔๐๐ ตารางเมตร ให้ติดต่อกับห้องส่งที่ ๒ และได้ก่อสร้างอาคารจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ กับ อาคารห้องสมุดและห้องอาหาร ในบริเวณสถานีโทรทัศน์สนามเป้า กับได้สร้างสถานีถ่ายทอดสัญญาณในส่วนภูมิภาค เพิ่มขึ้นอีกสองจังหวัด

บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ร่วมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ทดลองส่งโทรทัศน์สี ระบบ ๖๒๕ เส้น ในช่อง ๗ เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ โดยถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทย จากเวทีบริเวณงานวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งสามารถรับภาพขาวดำในระบบ ๖๒๕ เส้นทางช่อง ๙ และได้เปิดเป็นสถานีโททัศน์สีกองทัพบก เมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๐

พ.ศ.๒๕๑๑ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ทำสัญญายกเครื่องส่ง โทรทัศน์สีกำลังออกอากาศ ๕๐๐ วัตต์ ให้แก่กองทัพบก และทำสัญญาเช่าเพื่อดำเนินการบริหาร สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก

ได้ก่อตั้ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่ออำนวยการปฏิบัติงาน
ของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ทรท.เมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑

พ.ศ.๒๕๑๒ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุจำกัด ได้สร้างเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ ๑๐ กิโลวัตต์ และเสาอากาศสูง ๕๗๐ ฟุต และเครื่องส่งวิทยุ F.M. ๑ กิโลวัตต์ มอบให้กองทัพบก เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๑๒

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ได้ถ่ายทอดการส่งมนุษย์ไปลงบน
ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ด้วยยานอะพอลโล ของสหรัฐอเมริกา โดยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒

พ.ศ.๒๕๑๓ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่บริเวณหลัง สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนพหลโยธิน เพื่อดำเนินการเป็นเอกเทศ เมื่อ มิถุนายน ๒๕๑๓

พ.ศ.๒๕๑๕ เริ่มโครงการถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีส่ง สนามเป้า ไปยังเครือข่ายต่างจังหวัดโดยระบบไมโครเวฟ แทนเครื่องทรานเลเตอร์

พ.ศ.๒๕๑๖ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ด้วยการถ่ายทอดโทรทัศน์ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัส เพื่อระงับเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายอันร้ายแรงที่สุดในประเทศไทยเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๙๓๐ ให้สงบลงได้โดยฉับพลัน

พ.ศ.๒๕๑๗ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ จากระบบ ๕๒๕ เส้น ขาวดำ ช่อง ๗ เป็นระบบ ๖๒๕ เส้น ช่อง ๕ โดยออกอากาศเป็นภาพขาวดำ ตั้งแต่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๗ และได้ออกอากาศเป็นภาพสี เมื่อ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ ในการถ่ายทอดพิธีสวนสนามของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ก่อสร้างสถานีถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ เริ่มแรกจากจังหวัดนคร สวรรค์

พ.ศ.๒๕๑๘ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เพิ่มกำลังส่งออกอากาศ ของสถานีหลัก สนามเป้า จาก ๒๐๐ กิโลวัตต์ เป็น ๔๐๐ กิโลวัตต์ และเปิดสถานีถ่ายทอดที่จังหวัดนครสวรรค์ กับเริ่มก่อสร้างสถานีถ่ายทอดที่จังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ.๒๕๑๙ เปิดสถานีถ่ายทอดจังหวัดนครราชสีมา และจัดหารถถ่าย ทอดนอกสถานที่ คันที่ ๓ และรถบันทึกเทปโทรทัศน์ เป็นคันที่ ๔

พ.ศ.๒๕๒๕ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ได้ขอใช้บริการดาวเทียมปาลาป้า ร่วมกับสถานีโทรทัศน์สี กับเริ่มก่อสร้างสถานีถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม ในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

พ.ศ.๒๕๒๗ ถึง พ.ศ.๒๕๓๘ ได้เปิดสถานีเครือข่ายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบ ๔๐ ปี ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการ และสถานีส่งโทรทัศน์หลัก ในพื้นที่เดิม สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เสร็จเรียบร้อย เป็นอาคารสูง ๑๐ ชั้น ซึ่งรวมเอาสำนักงาน ส่วนบริหาร ส่วนปฏิบัติการ และส่วนสนับสนุน รวมกันไว้ในอาคารเดียวกัน

สำหรับส่วนปฏิบัติการนั้น มีห้องส่งโทรทัศน์ถึง ๔ ห้อง ขนาด ๑๔๐ ตารางเมตร ๒ ห้อง ขนาด ๔๐๐ ตารางเมตร ๑ ห้อง และ ขนาด ๕๒๐ ตารางเมตร อีก ๑ ห้อง พร้อมด้วยห้องควบคุมทางเทคนิค อย่างสมบูรณ์

ซึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะ สามารถสนองความต้องการของผู้ชมทุกระดับ และสนองวัตถุประสงค์ของกองทัพบก ในการที่จะเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เข้าถึงประชาชนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้ในที่สุด.

##########

หนังสือที่ระลึก ครบรอบ ๔๐ ปี สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕
๒๕ มกราคม๒๕๔๑




 

Create Date : 23 กันยายน 2550    
Last Update : 23 กันยายน 2550 8:49:16 น.
Counter : 1306 Pageviews.  

ความหลังโคนต้นไทร

บันทึกจากอดีต

ความหลังโคนต้นไทร

“วชิรพักตร์”

บริเวณหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ สนามเป้า มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่มีผู้ใดทราบ เมื่อสร้างอาคารสถานีโทรทัศน์หลังแรกขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ได้เห็นต้นไทรต้นนี้เติบโตอยู่ในพื้นที่แล้ว

บังเอิญผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม ในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งนี้เป็นเวลานานพอสมควร ทั้งในระดับผู้ใช้แรงงาน และในระดับผู้บริหาร เมื่อเวลาที่ผมจะเล่าเรื่องความหลังของอดีตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ผมจึงใช้ชื่อว่า ความหลังโคนต้นไทร

ผมได้มาปฏิบัติราชการ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.ช่อง ๗ ขาวดำ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๐๓ ในตำแหน่ง พนักงานกล้องโทรทัศน์

ซึ่งผมก็ได้ใช้กำลังกายและสติปัญญาอันน้อย ทำงานตามหน้าที่อย่างดีที่สุด ทั้งในและนอกสถานี จนถึง มกราคม ๒๕๑๕ จึงขอลาออกกลับไปปฏิบัติงาน ทางกรมการทหารสื่อสารด้านเดียว เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำกับงานหนักได้

ครั้นถึงเดือน ตุลาคม ๒๕๑๙ ขณะมียศร้อยเอก ผู้บังคับบัญชาได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้มาปฏิบัติงาน ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ททบ.อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งในคราวนี้ผมต้องใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถ ช่วยบริหารงานด้านบุคลากร ให้เกิดคุณานุประโยชน์แก่กำลังพลและสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก อย่างสุดความสามารถ ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนั้น และตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายกำลังพล กับตำแหน่งกรรมการ คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึก ของสถานีทุกปี

ในช่วงสุดท้าย ผมได้ปฎิบัติงานที่สำคัญคือได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงประวัติของสถานีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ ถึง พ.ศ.๒๕๓๐

และจัดทำบัญชีรายชื่อ ผู้ที่มาปฏิบัติงานทางสถานีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ ถึง พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นจำนวนประมาณพันกว่าคน บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์

ผมได้ปฏิบัติงานอยู่จนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๕ จึงได้ขอลาพักก่อนที่จะพ้นตำแหน่งไป เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการ

หลังจากนั้นผมก็ยังเขียนเรื่องของอดีตมาลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกอีกหลายปีในชื่อชุด ความหลังโคนต้นไทร ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผมอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก อันเป็นสถาบันที่ผมรัก

จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบ ๔๐ ปีของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกได้มีหนังสือเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็ยอมรับเกียรตินั้นด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และท่านเลขานุการคณะกรรมการก็ได้กรุณาเดินทางมา ปรึกษาหารือด้วยตนเอง ผมก็รับจะช่วยในเรื่องที่ผู้อื่นทำไม่ได้ เช่น

ประวัติและวิวัฒนาการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในรอบ ๔๐ ปี
ประวัติบุคคลสำคัญของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในรอบ ๔๐ ปี

เรื่องแรกนั้นใคร ๆ ก็ไม่สามารถเขียนได้ ถ้าไม่ได้มีการเรียบเรียง
ไว้ก่อนมาตามลำดับในแต่ละปี แต่ผมเองนั้นได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการสถานี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ ให้เรียบเรียงประวัติของสถานี ฯ ในวาระครบรอบ ๓๐ ปี ในฐานะที่เป็นนายทหารประวัติศาสตร์ ของกรมการทหารสื่อสาร

ซึ่งก็ได้บันทึกจากเอกสารที่เขาจะเอาไปเผาไฟ ๑ ตู้เต็ม ๆ ใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน ก็ได้ประวัติของสถานี ฯ เป็นหนังสือหนาประมาณร้อยกว่าหน้า ได้นำเรียนผู้อำนวยการ ฯ เพื่อขออนุมัติใช้เป็นเอกสารราชการ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติให้พิมพ์แจกจ่ายไว้ฝ่ายละ ๑ เล่ม

แต่ในคราวนั้นหาไม่พบเลยแม้แต่ฝ่ายเดียว นอกจากที่ผมได้เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว จึงได้นำ มาตรวจทานและเขียนเพิ่มเติมจนครบรอบ ๔๐ ปี

ส่วนเรื่องหลังนั้น ได้เขียนขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารสถานี ฯ ครั้งใหญ่ โดยที่ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ ฯ อีกต่อไป จึงได้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ทราบว่า ทหารสื่อสาร ผู้ใดบ้าง ที่มีความสำคัญในการก่อตั้งสถานี ฯ และสร้างความเจริญงอกงามติดต่อกันมา เป็นเวลาถึง ๓๖ ปี

แต่ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ในขณะนั้นไม่อยากจะให้เป็นที่สะเทือนใจผู้หนึ่งผู้ใด จึงให้เอาไปลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับประจำเดือน มกราคม ๒๕๓๗ ในคราวนี้จึงได้นำมาตรวจทาน และเพิ่มเติมชื่อของท่านผู้บริหาร ปีที่ ๓๗-๔๐ แล้วก็ส่งไปลงพิมพ์ได้เลย

ซึ่งผู้บริหารของสถานี ฯ ชุดนี้ก็ยินดีที่ได้รับทราบ ความเป็นมาของสถานี ฯ ซึ่งท่านไม่เคยได้ทราบมาก่อน

ทั้งสองเรื่องนั้น เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ ที่จะอยู่คู่กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ไปชั่วกาลนาน และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของผู้เขียน

ความภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือได้เคยเขียนเรื่องลงหนังสือที่ระลึกของ ททบ.ตั้งแต่ได้ทราบว่า ทางสถานี ฯ จะสร้างอาคารใหม่ สูง ๑๐ ชั้นเป็นที่ทำงานของทุกฝ่าย รวมกันอยู่ภายในตึกเดียว ไม่กระจัดกระจายเหมือนเดิม

ผมก็ได้เตือนผู้บริหารว่าขอให้นึกถึงท่าน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ให้กำเนิดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกบ้าง ควรจะหาเนื้อที่สร้างอนุสาวรีย์ไว้ ในมุมใดมุมหนึ่งของอาคารใหม่ ให้เป็นรูปปั้นครึ่งตัวแบบฝรั่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังคำนึงถึง ผู้มีพระคุณอันสูงสุด ที่ได้สร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดในการ ประสานความสัมพันธ์อันดี ระหว่างทหารกับประชาชนไว้ ด้วยสายตาอันยาวไกล

บัดนี้ ความคิดนั้นได้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว โดยมีอนุสาวรีย์ของท่าน สถิตย์อยู่บนชั้น ๑๐ ของอาคารใหม่ ซึ่งได้เปิดเป็นทางการ เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๑ ครบรอบ ๔๐ ปี ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สถานีโทรทัศน์แห่งที่ ๒ ของประเทศไทย ซึ่งจะคงอยู่ ชั่วกาลนิรันดร

และผมจะเก็บความภาคภูมิใจที่เป็นผู้หนึ่ง ซึ่งได้เสนอความคิดอันนี้ แก่ผู้บริหาร ไว้เป็นอนุสรณ์ส่วนตัวของผม ว่าได้มีโอกาสแสดงกตัญญูกตเวทิตา ต่อผู้มีพระคุณ อันยิ่งใหญ่ของกองทัพบกแล้ว

แม้ว่าจะไม่มีใครจดจำได้เลยก็ตาม.

##############




 

Create Date : 22 กันยายน 2550    
Last Update : 22 กันยายน 2550 21:42:16 น.
Counter : 1258 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.