Group Blog
 
All Blogs
 
น่าเสียดาย (ความหลังฯ)

ความหลังโคนต้นไทร

น่าเสียดาย

“ วชิรพักตร์ “

เมื่อกิจการโทรทัศน์เริ่มเป็นที่รู้จัก และกำลังศึกษากันอยู่ในประเทศไทยนั้น ผมยังทำงานอยู่ที่กรมพาหนะทหารบก ค้าขายของในร้านสหกรณ์หัวมุมสะพานแดงอยู่อย่างขะมักเขม้น จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ โดยบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มีชื่อย่อว่า ท.ท.ท.หรือ ไทยทีวี ช่อง ๔ นั้น ผมก็เพิ่งจะเริ่มเข้ารับราชการเป็น สิบโท ในค่ายสะพานแดงได้ไม่กี่เดือนเอง

สมัยนั้นเครื่องรับโทรทัศน์ยังมีน้อย และราคาแพงมาก จึงมีผู้ซื้อหามาดูกันประปราย ส่วนมากจะมีอยู่ตามร้านค้าใหญ่ ๆ เปิดเอาไว้เรียกลูกค้าที่ยังไม่เคยดู อย่างแถวสวนอ้อยบ้านผม ผู้มีอันจะกิน ที่มีความสามารถซื้อโทรทัศน์ไว้ประดับบ้าน ก็มีจำนวนน้อยเต็มที นอกจากร้านค้าของชำร้านหนึ่ง ซึ่งเอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านที่ยังขาดแคลน ได้เข้าไปอาศัยดูด้วย โดยการเก็บค่าไฟฟ้าคนละสลึง ผมก็เลยไม่ค่อยจะได้พบได้เห็น ว่าโทรทัศน์เขามีอะไรดี ๆ อยู่ในจอสี่เหลี่ยมผืนผ้านั้นบ้าง

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๐๐ กึ่งพุทธกาล พร้อม ๆ กับทางการลงมือก่อสร้างสะพาน กรุงธน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงวัดราชผาติการาม หรือที่ชาวสวนอ้อยเรียกกันติดปากว่าวัดส้มเกลี้ยง กองทัพบกก็ได้มอบให้กรมการทหารสื่อสารจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นบ้าง ผมก็เพียงแต่ทราบข่าวว่า เขาไปก่อสร้างกันอยู่แถว ๆ สนามเป้า ในเขตของกองพลทหารม้า ซึ่งฟังดูเป็นบ้านนอกมากสำหรับผม ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพออกมาถึงสามเสนแล้ว

มีเพื่อนนักเรียนนายสิบ รุ่นเดียวกันบ้างรุ่นน้องบ้าง ไปร่วมกิจกรรมนี้อยู่หลายคน เขาเปิดเป็นสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ขาวดำ ช่อง ๗ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ ซึ่งเป็นวันกองทัพบก ที่เวทีสวนอัมพร ทั้ง ๆ ที่อาคารสถานียังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี ทางสโมสรนายทหารสื่อสาร ก็เปิดร้านขายเครื่องรับโทรทัศน์ไว้ก่อนแล้ว แต่เป็นคนละยี่ห้อกับ ไทยทีวี ช่อง ๔ ผมก็ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ที่กองกำลังพล แต่ตอนนี้ได้เลื่อนเป็น สิบเอก ติดสามบั้งบนแขนซ้ายแล้ว

อยู่มาวันหนึ่งในต้นปี พ.ศ.๒๕๐๓ หัวหน้ากองก็เรียกขึ้นไปถามว่า ถ่ายรูปเป็นใช่ไหม ผมก็ว่าพอถ่ายได้เพราะเล่นกล้องถ่ายรูปมา ตั้งแต่เริ่มสำเร็จออกจากโรงเรียนนายสิบ มีกล้องเล็นส์คู่ที่ได้เป็นของขวัญจากญาติผู้ใหญ่ประจำตัว ถ่ายมั่วไปหมดตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้า วัวควาย สาระพัดสัตว์ในเขาดิน ไปจนวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง

ท่านก็ว่างั้นไปทำงานทีวี ช่อง ๗ ผมก็ปฏิเสธว่า ผมเป็นทหารสื่อสารที่ไม่รู้เรื่องอิเล็กทรอนิคอะไรเลย ท่านก็ปลอบว่าไม่เป็นไรหรอก ให้ไปถ่ายกล้องโทรทัศน์ มันก็เหมือนถ่ายรูปนั่นแหละ ผมก็เลยไปพร้อมกันสามคน เป็นพนักงานกล้อง ททบ.ตั้งแต่บัดนั้นมา

ด้วยหนังสือส่งตัวแผ่นเท่าฝ่ามือ ผมก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการทีวี ของสื่อสาร ทหารบก ตั้งแต่ตอนที่หัวหน้าฝ่ายเทคนิค ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการคนแรก ยังโด่งดังเป็นพลุแตก จนกระทั่งหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ที่มีแต่คนเรียกว่าผู้การโด่งดังไล่ขึ้นมา จนล้ำหน้าไปไกล โดยที่ท่านทั้งสองก็ไม่ได้รู้จักผม มากไปกว่าคนกล้องชั้นปลายแถว ที่ต้องทำงานหนักเท่ากับภารโรง หรือคนงานใช้แรงงาน ที่เคยเป็นมาในอดีต

เพราะสมัยนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ในด้านโทรทัศน์ ยังไม่ได้พัฒนาให้กระทัดรัดสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ กล้องถ่ายโทรทัศน์ตัวเดียวต้องช่วยกันยกถึงสามคนอย่างหนักแอ้ด ขากล้องสามขาใหญ่เทอะทะ ตั้งอยู่บนฐานสามเหลี่ยม มีลูกล้อสามล้อที่พร้อมจะหมุนไปทางไหนก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ทิศทางที่เราต้องการ สายกล้องโตเท่าข้อมือ ม้วนหนึ่งแบกคนเดียวก็แทบทรุด เวลาถ่ายทำรายการสดในห้องส่ง ก็พอจะรู้สึกสนุกได้บ้าง

ตั้งแต่สารคดีที่มีคนคุยกัน ๒ - ๓ คน ในเรื่องที่เป็นวิชาความรู้ จนถึงรายการดนตรีทั้งที่มีวงดนตรี และที่มีแต่นักร้อง ยืนร้องกับฉากต้นไม้ กองฟาง หรือริมระเบียงข้างสวน แล้วก็ละครในห้องแคบ ๆ ที่ไม่ต้องใช้ผู้แสดงมากมาย

แต่ถ้าต้องออกไปถ่ายทอดนอกสถานที่ พนักงานกล้องสามคนกับผู้ช่วยอีกสองคน ก็จะต้องช่วยกันแบกหามอุปกรณ์เหล่านั้น ขึ้นรถไปยังสถานที่ซึ่งจะถ่ายทอด อย่างสนามมวยเวทีราชดำเนิน หรือสนามศุภชลาศรัย หรือลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็ช่วยกันยกขนไปติดตั้งให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานในจุดที่กำหนด บางทีต้องแบกไปพักไปตั้งสามสี่ครั้ง จึงจะถึงจุดที่กำหนดให้ตั้งกล้อง

ตั้งกล้องเสร็จตรวจสอบการทำงานทางเทคนิคแล้ว พอถึงเวลาออกอากาศ ก็ยืนประจำกล้องละคน ถ่ายทำไปตั้งแต่ต้นจนจบรายการนั้น ไม่ว่าจะเป็นเวลากี่ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีการผลัดไปกินน้ำหรือไปฉี่กันเลย เมื่อจบรายการก็ยังต้องช่วยกันรื้อถอดถอนอุปกรณ์ ออกเป็นชิ้นส่วนอย่างเดิม แล้วก็ช่วยกันหามขึ้นรถกลับสถานี สุดท้ายก็ช่วยกันประกอบ และติดตั้งไว้ในห้องส่งอย่างเก่า เพื่อปฏิบัติงานในวันรุ่งขึ้นต่อไป นั่นแหละจึงจะหมดภารกิจ

ตกลงกลางวันทำงานที่สื่อสารสะพานแดง กลางคืนก็ทำงานที่ ททบ.สนามเป้า วนเวียนอยู่เช่นนี้ด้วยความสนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่มีรายได้น้อยนิดเดียว พอเป็นค่าน้ำมังสวิรัตดื่มแก้เหนื่อยหลังงานหนัก ไปจนตลอดเดือนเท่านั้น

ผมสนุกสนานกับงานโทรทัศน์อยู่จนถึง พ.ศ.๒๕๑๕ ได้ยศร้อยเอก อายุเข้า ๔๐ ปี สังขารร่วงโรยลง เพราะทำงานหนักและอดนอนอยู่เสมอ แถมโรคใส้เลื่อนที่เคยผ่าตัดข้างขวาไปแล้ว เกิดมาเป็นข้างซ้ายขึ้นใหม่อีก เวลายืนถ่ายทำรายการสดนาน ๆ จะปวดหลังแทบจะทิ้งกล้องลงนอนกลิ้ง จึงขอลาออกกลับมาทำงานทางสะพานแดงด้านเดียว นายก็ไม่ว่าอะไร ผมก็เลยได้ พักผ่อนอยู่หลายปี

พอดีสงครามอินโดจีนยุคใหม่เข้มข้นขึ้น เวียตนามเหนือชนะเวียตนามใต้ ขับไล่สหรัฐอเมริกากลับบ้าน ลาวฝ่ายซ้ายรุกเงียบยึดรัฐบาลฝ่ายเป็นกลางและฝ่ายขวาได้ เขมรแดงก็เข้าพนมเปญ ไล่ต้อนเขมรสีหนุเตลิดไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ คอมมิวนิสต์จ่ออยู่ที่ชายแดนด้านบูรพา

ผมเห็นท่าไม่ดีจึงพาตัวเองเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้หมอช่วยผ่าตัดใส้เลื่อนเสีย ต่อไปจะสู้หรือจะหนีก็จะได้วิ่งสะดวกหน่อยละ ไม่ทันไรแผลก็หายหมอไล่กลับบ้านได้ แต่เผอิญเป็นปีที่น้ำท่วมกรุงเทพมากที่สุด ในยุคหลังกึ่งพุทธกาลคือ พ.ศ.๒๕๑๘ ผมโขยกเขยกกลับบ้านแล้ว แทนที่จะได้พักผ่อน กลับต้องลุกขึ้นวิดน้ำที่ท่วมบ้านถึง ๓๐ ซ.ม.อยู่หลายอาทิตย์ เพราะน้ำขึ้นลงเป็นเวลาเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่แล้วสงครามอินโดจีนก็สงบลง พวกประเทศตะวันตกที่คาดว่าประเทศไทย จะเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากอินโดจีน ก็ผิดหวังหน้าแตกไปตาม ๆ กัน ส่วนผมก็เลยไม่ต้องไปราชการสงครามกับใครเขาสักที จนแล้วจนรอด

ในระหว่างนั้นเอง ผมก็ได้เขียนเรื่องเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับเบื้องหลังการถ่ายทำโทรทัศน์ ให้ชื่อว่า ทหารทีวี ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร รายสองเดือน ติดต่อกันถึง ๑๒ ตอน เป็นเวลา ๒ ปี จนมีผู้สนใจใคร่รู้ว่าผู้เขียนเป็นใคร จึงได้รู้เรื่องเบื้องหลังที่สมัยนั้นไม่ค่อยจะมีคนรู้เท่าไรนัก บ้างก็เดาว่าคงจะเป็นผู้กำกับรายการคนใดคนหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๔ คน

ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ เปลี่ยนผู้บริหารชั้นสูงสุด ทั้งสะพานแดงและสนามเป้าพร้อม ๆ กัน ท่านก็ปรับปรุงผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกครั้งใหญ่ หัวหน้ากองคนใหม่ของผม ก็ได้ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ททบ. ท่านก็เอาผมไปช่วยงานด้วย โดยกรุณาให้ตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่าย ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่ร้อยเอก ก็เลยเป็นผู้บริหาร ททบ.ที่มีอาวุโสน้อยที่สุด ตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึงวาระย้ายเข้าประจำมณฑลทหารบก ก็ยังได้อยู่เป็นที่ปรึกษาต่อไปอีก ๓ เดือน จึงได้ลาพักก่อนเกษียณอายุราชการ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมคิดว่างานโทรทัศน์เป็นงานอดิเรก ไม่ใช่อาชีพยั่งยืนเหมือนงานหลักที่ทำทางสะพานแดง จึงทำไปกินไปใช้ไปไม่ได้เคยคิดสะสม ตั้งแต่เป็นสิบเอกจนถึงร้อยโท ในช่วงเวลา ๑๐ ปี จึงอยากจะเก็บออมไว้บ้าง จะเอาเบี้ยเลี้ยงฝากออมสินหรือ ก็ไม่ค่อยจะได้เหลือสักเดือน ก็เลยคิดหาวิธีใช้สิทธิ์กู้เงินออมทรัพย์ได้ครั้งละ ๑๐๐๐ บาท เอาไปซื้อสลาก ออมสินพิเศษ ฉบับละ ๒๐ บาท ชุดละ ๒๕ ฉบับ งวดละ ๒ ชุด ผ่อนใช้เงินกู้เดือนละ ๑๐๐ บาท ฝ่ายการเงินก็หักเบี้ยเลี้ยงไป เลยไม่รู้สึกอะไร

พอครบ ๑๐ เดือน ก็กู้ไปซื้อต่ออีก แต่ก็ไม่ปรากฎว่าที่ฝากไว้แล้วจะอยู่ได้นาน ต้องตามไปกู้เอามาใช้อีก ดีที่ว่าหมายเลขที่เรากู้ไปแล้ว ยังมีโอกาสถูกรางวัลได้ตลอดเวลา ๓ ปี เป็นการเปิดช่องให้โชคได้มีหนทางเล็ดลอดเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้าง ถ้าบังเอิญจะมี ถ้าไม่มีก็แล้วไปไม่ขาดทุน

ขณะนี้ผมเขียนกลอนไปลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร มีความยาว ๘ บท ดังนี้

อันเงินทองนั้นหนาของหายาก
แสนลำบากสู้ทนเที่ยวขวนขวาย
ต้องตรากตรำลำเค็ญไม่เว้นวาย
เมื่อจะจ่ายควรดำริค่อยตริตรอง

ค่าเช่าบ้านการไฟฟ้าประปาก่อน
ค่อยผันผ่อนอย่าค้างขัดจัดสนอง
ด้วยเป็นหลักพักอาศัยได้ครอบครอง
เป็นหอห้องให้ซุกนอนไม่ร้อนใจ

ส่วนที่สองสำคัญกว่าเรื่องอาหาร
ตุนข้าวสารถ่านน้ำปลาอย่าเหลวไหล
พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไป
ถึงยากไร้ยังไม่อดไม่หมดตัว

ส่วนที่สามเสื้อผ้าเครื่องอาภรณ์
ผ้าห่มนอนหมอนมุ้งกันยุงมั่ว
ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในครอบครัว
ดูให้ทั่วหาไว้ใช้ให้ถาวร

ส่วนที่ สี่ เป็นค่ายารักษาโรค
ยังมีโชคไม่เจ็บไข้เก็บไว้ก่อน
ถึงคราวป่วยฉวยมาใช้ไม่ม้วยมรณ์
ไม่ต้องนอนงอก่อรอความตาย

ส่วนที่ห้าค่ารื่นเริงบันเทิงสุข
เที่ยวสนุกหนังละครทุกข์ร้อนหาย
ทั้งวิทยุทีวีดีมากมาย
เว้นอบายสี่ตัวอย่ามัวเมา

ส่วนที่หกเก็บออมไว้อย่าใช้หมด
เผื่อคราวอดภายหน้าอย่าโง่เขลา
สะสมไว้ให้คุณอุ่นใจเรา
ต้องฝากเข้าออมสินไม่กินทุน

ส่วนสุดท้ายใช้เสริมสร้างทางกุศล
คราวอับจนบุญอำนวยช่วยเกื้อหนุน
ทำดีไว้ไม่เสื่อมศรีมีแต่คุณ
ช่วยค้ำจุนชีวิตใหม่ให้สุขเอย.

ผมจึงใช้กลอนเป็นนามแฝง ในการซื้อสลากออมสินทีละวรรค ซึ่งผมทำอยู่ได้หลายงวดจนถึงงวดที่ ๑๑

วันหนึ่งเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นพนักงานแสงของสถานีโทรทัศน์ ก็แอบมากระซิบว่า ผมถูกสลากออมสินรางวัลที่ ๑ ผมยังไม่เชื่อเพราะใช้นามแฝงเขาจะรู้ได้อย่างไร เขาก็ยืนยันว่าเขาไปฝากเงินกับเพื่อนที่เป็นร้อยโท เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นทหารสื่อสาร จึงถามถึงชื่อผมและบอกความลับให้ จนถึงตอนค่ำผมเป็นคนถ่ายผลการออกสลากรางวัลออมสินพิเศษ งวด ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๓ ออกอากาศ เห็นหมายเลขอะไรจำไม่ได้ อยู่ในกลุ่ม ท.๘๓๙๗๔๕๓ - ๘๓๙๗๔๗๗ นามแฝง พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไป

เท่านั้นแหละรีบฝากให้เจ้าเพื่อน ซึ่งเป็นพนักงานแสงคนเดิม ช่วยถ่ายกล้องแทนให้ที ตัวเองบึ่งกลับไปบอกแม่บ้านให้ช่วยดีใจ แถมยืมเงินมาตั้งวงฉลองอยู่ที่ร้านข้าวต้มสนามเป้า แล้วก็เข้ามาบอกเพื่อนพ้องที่ร่วมงานคืนนั้นว่า ใครว่างให้ออกไปฉลองที่ร้านนั้น ถึงเวลาก็กลับมาทำงาน ผลัดเปลี่ยนกันไปฉลองทั้งคืนจนปิดสถานี ยังหมดไปไม่ถึงพันบาทเลย

ผมได้เงินรางวัลในคราวนั้น เป็นจำนวนสามแสนห้าหมื่นบาท ซึ่งช่วยให้ผมดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ขาดแคลนต่อมา จนถึงวันนี้ แต่ก็ไม่ได้งอกเงยออกไปเกินกว่านั้นเลย และยังคงไม่มีที่ดิน ไม่มีบ้าน ไม่มีรถเก๋งเหมือนเดิม จนเพื่อน ๆ รุมกันหาว่าผมโง่ น่าเสียดายที่มีเงินแล้วใช้ไม่เป็น

ผมทำงานในสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ สองคาบ รวมเวลาเกือบ ๓๐ ปี จึงมีเรื่องเกี่ยวกับโทรทัศน์ที่น่าจะเล่าได้มากมาย แต่บังเอิญท่านหัวหน้าฝ่ายจัดรายการของผม ท่านได้เอาไปเขียนเล่าเสียหมด จนไม่เหลืออะไรที่จะให้ผมเล่าได้อีกแล้ว

เพียงแต่ว่าเรื่องนับร้อยเรื่องที่ท่านเขียนนั้น ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวกับผมเลยแม้แต่นิดเดียว เท่านั้น

น่าเสียดายจริ๊ง.

###########

จาก นิตยสารต่วยตูน
พฤษภาคม ๒๕๔๓ ปักษ์หลัง




Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2550 9:16:32 น. 0 comments
Counter : 987 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.