Group Blog
 
All Blogs
 
สื่อสารกับการดนตรี (ความหลังฯ)

ความหลังริมคลองเปรม

สื่อสารกับการดนตรี

“ วชิรพักตร์ "


เครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทเสียงสัญญาณ เพราะฉะนั้นดนตรีกับการสื่อสารจึงแยกกันไม่ออก ท่านอาจจะสงสัยว่า นักดนตรีนั้นเป็นเหล่าดุริยางค์ สังกัดกรมสวัสดิการทหารบกต่างหาก ก็ถูกต้อง แต่เสียงแตรเดี่ยวที่ทหารทุกกรมกอง ได้ยินอยู่เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงสามทุ่มนั้น ก็คือเสียงสัญญาณ ที่เกิดจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า แตรเดี่ยว

เมื่อมีการสวนสนามในพิธีสาบานธงก็ดี หรือการสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ก็ดี ก่อนที่ทหารจะจัดแถวเป็นรูปขบวนสวนสนาม จะมีทหารคนหนึ่งวิ่งออกมาเป่าแตรเป็นเพลงสั้น ๆ ซ้ำกัน ๒ จบ นั่นก็คือเสียงสัญญาณสั่งให้จัดแถว และเมื่อการสวนสนามเสร็จสิ้นลงแล้ว ทหารคนเดิมก็จะออกมาเป่าแตรเป็นเพลงสั้น ๆ อีกเพลงหนึ่ง นั่นก็คือเสียงสัญญาณสั่งให้เลิกแถว และแม้เมื่อกองทหารกำลังเดินแถวสวนสนามอยู่ ด้วยเพลงมาร์ชอะไรก็ตาม ท่านรู้หรือไม่ว่า เสียงกลองใหญ่ที่ดังเป็นจังหวะอยู่นั้น ก็คือเสียงสัญญาณที่กำหนดให้ทหารในแถว ตบเท้าซ้ายขวาซ้าย ให้พร้อมเพรียงกันนั่นเอง

แตรเดี่ยวที่ทหารออกมาเป่าเป็นสัญญาณ ในเวลาสวนสนามนั้นเป็นแตรเดี่ยวของทหารม้า สำหรับทหารสื่อสารนั้น มีรูปร่างคล้ายกับแตรทรัมเปต ที่เห็นกันอยู่ในวงดนตรีต่าง ๆ แต่สั้นกว่า และมีลูกสูบสำหรับให้นิ้วกดปิดเปิดเป็นเสียงต่าง ๆ เพียงนิ้วเดียว ไม่เหมือนแตรทรัมเปตซึ่งมีถึงสามนิ้ว แตรเดี่ยวที่มีนิ้วเดียวนี่แหละ ที่บรรเลงเป็นเพลงต่าง ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่แตรปลุก แตรเคารพ แตรรับประทานอาหาร แตรเดินเปลี่ยนกองรักษาการณ์ แตรเกิดเหตุสำคัญ และสุดท้ายก็คือแตรนอน

ประชาชนคนที่ไม่เคยเป็นทหาร ก็จะได้ยินแตรนี้ก็เมื่อได้ไปในงานพระราชทานเพลิงศพทหารเท่านั้น ทางกองทัพเรือเคยนำนักเรียนดุริยางค์กองใหญ่ เป่าแตรเดี่ยวล้วน ๆ เป็นเพลงต่าง ๆ ที่ใช้อยู่เป็นประจำ เอามาเรียงกันเข้าทำนองเม็ดเล่ย์ของฝรั่ง เมื่อวันกีฬากองทัพเรือปีไหนจำไม่ได้เสียแล้ว ฟังแล้วจิตใจฮึกเหิมดีมาก

เสียงสัญญาณของทหารสื่อสาร นอกจากแตรแล้วก็มี เครื่องตีหรือเคาะ เช่น เกราะ ฆ้อง กลอง ระฆัง หรือม้าล่อของจีนในสมัยโบราณ ในปัจจุบันก็มีนกหวีดที่ใช้กันมากที่สุด พลทหารกองประจำการจะได้ยินเสียงนกหวีดอยู่ตลอดเวลา มากกว่าเสียงแตรเสียอีก ได้ยินตั้งแต่ยังไม่ลืมตาจนถึงเวลาหลับตาลงทีเดียว

แต่สื่อสารหรือที่ถูกก็คือกรมการทหารสื่อสารนั้น ได้เกี่ยวข้องกับดนตรีที่ไม่ใช่เสียงสัญญาณ โดยบังเอิญหรือเจตนาก็ไม่ทราบ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๑ มีการแก้ไขอัตรากำลัง จัดให้มีหมวดดุริยางค์ ขึ้นอยู่กับศูนย์การทหารสื่อสาร ศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารม้า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ นั่นแหละ

ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจึงได้พิจารณาหาบุคคล ที่มีความรู้ทางดนตรีมาบรรจุลงในอัตราที่ได้ตั้งไว้ แต่นักดนตรีที่จะยอมเข้ามาเป็นนายสิบหรือลูกจ้างนั้น หาไม่ได้ง่ายนัก เพราะในสมัยนั้นวงดนตรีมีเกลื่อนตลาด ทั้งลูกกรุง ลูกทุ่ง คอมโบ และวงสตริงที่มีกีตาร์ล้วน ๆ แต่เรียกแทนชื่อวงของฝรั่งว่าชาโดว์ ซึ่งมาจากคำว่า SHADOW ทำให้นักดนตรีมีงานให้เลือกมากมาย และมีเงินเดือนแพงกว่ามาเป็นทหารทั้งนั้น

จนถึงประมาณ พ.ศ.๒๕๐๒ ท่าน พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ท่านเล่าไว้ในหนังสือต่วยตูนว่า ท่านถูกผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเรียกไปสั่ง ให้จัดตั้งวงดนตรีของทหารสื่อสารขึ้นให้ได้ ท่านก็ดำเนินการตามคำสั่งนั้นด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ จนเกิดผลสำเร็จเป็นวงดนตรีสากล มีชื่อเป็นทางการว่า สื่อสารสังคีต ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องเจ็ดขาวดำ ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเป็นสถานีที่สองในประเทศไทย โดยมีนักดนตรีมืออาชีพเป็นหัวหน้าวง ทั้งแต่งเพลง ทั้งแยกเสียงประสาน และเล่นดนตรีเองด้วย ไม่ทราบว่าได้บรรจุอยู่ในอัตราหรือจ้างเป็นพิเศษ วงนี้ก็มีชื่อเสียงพอสมควร

ต่อมาคงจะมีการเปลี่ยนแปลง ตัวผู้บังคับบัญชาหน่วย ที่ควบคุมหมวดดุริยางค์ ก็เลยเกิดเป็นวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมาอีกวงหนึ่งซึ่งมีท่าน พันเอก เพ็ชร์ เสียงก้อง เป็นผู้อำนวยการ ให้ชื่อเป็นทางการว่าวง มิตรสายฟ้า วงลูกทุ่งนี้ดูเหมือนจะดังมากกว่าวงสากลเสียอีก เพราะสมัยที่ สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังยังมีชีวิตอยู่ วงดนตรีลูกทุ่งแพร่หลายมากในต่างจังหวัด ไม่ทราบว่ามีกี่สิบวง นักร้องก็แต่งตัวให้เป็นที่สะดุดตา และยังไม่มีหางเครื่องมาแย่งความสนใจด้วย และวงมิตรสายฟ้านี้ นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นนายสิบและลูกจ้างที่อยู่ในอัตราของทางราชการ ค่าตัวก็คงจะไม่แพงนัก ส่วนนักร้องก็คัดมาจากลูกหลานของนายสิบนายทหารในกรม ที่เห็นว่ามีแววนักร้อง มีหน่วยก้านดีใจถึงทำนองนี้ มาฝึกหัดฝึกฝนกันไป ได้ทราบภายหลังว่าดังขนาดรับงานทางต่างจังหวัด มีคิวยาวเหยียดยังกับวงอาชีพเหมือนกัน

วงดนตรีทั้งสองวงนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับทุกสิ่งในโลกคือมีเจริญมีเสื่อม เมื่อเจริญมาถึงขีดสุดแล้ว ก็ต้องค่อย ๆ ทรุดต่ำลง จนเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อาจเป็นด้วยผู้อำนวยการทั้งสองท่าน ต่างก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของราชการ จนเกษียณอายุไปก็เป็นได้

ผมจึงจดจำเอามาจารึกไว้เป็นความหลัง ให้ทหารสื่อสารในยุคไฮเทคได้ทราบไว้เป็นอุทาหรณ์

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๐๑ มีการเปลี่ยนอัตราอีกคือ หมวดดุริยางค์ ไปสังกัด กองร้อยบริการ มาจนถึงทุกวันนี้ ก็เลยมีแต่ผู้บังคับหมวด ซึ่งมียศเพียงร้อยโทหรือร้อยเอกคนเดียว ที่เป็นผู้ควบคุมดูแล วงดนตรีที่เหลืออยู่ก็คือวงดนตรีไทยเดิม ซึ่งใช้บรรเลงในงานที่เกี่ยวกับพิธีสงฆ์ เช่น งานวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม หรืองานทำบุญฉลองพระนวกะของสื่อสาร กับงานอำลาชีวิตทหารสื่อสาร และงานครบรอบวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่องห้าสี.. ขออภัยช่องห้า นำคุณค่าสู่สังคมไทย ๒๕ มกราคม เท่านั้น นักดนตรีและนักร้องที่เหลืออยู่ ก็ล้วนแต่มีอายุมากขึ้นจนใกล้เกษียณกันแล้วทั้งนั้น

ส่วนดนตรีสากล ก็เหลือเพียงเครื่องอีเลคโทนตัวเดียว และมีนักดนตรีที่จะบรรเลงได้เพียงคนเดียวเหมือนกัน เคราะห์ดีที่ยังไม่ต้องใช้เครื่องเสียง เปิดแผ่นดิสค์ แทนการบรรเลงอย่างที่ชอบหลอกกัน ในงานทั่วไปสมัยคอมพิวเตอร์นี้

ขอย้อนกลับมาเล่าถึงแตรเดี่ยว เสียงสัญญาณของทหารสื่อสาร ที่ยังยืนยงคงอยู่คู่เหล่า เมื่อก่อนนี้กองบริการมีอัตรานายสิบแตรเดี่ยวอยู่เพียงคนเดียว เดิมมีอาชีพเป็นลิเกตัวตลกตามพระ แกเป่าแตรเดี่ยวได้ไพเราะ มีจังหวะจะโคน และเสียงไม่หลงไม่เพี้ยน ตรงกันกับที่ทหารเหล่าอื่น ๆ โดยเฉพาะทหารราบ แต่แกจะเป่าคนเดียวตลอดไปก็คงจะสิ้นชีพเสียก่อนเกษียณแน่ จึงมีการฝึกพลแตรเดี่ยวขึ้น เพื่อให้สืบทอดวิชาเป่าแตรต่อไป โดยการคัดเลือกเอามาจาก ทหารกองประจำการปีที่ ๒ ซึ่งสมัครใจ และมีความสามารถที่จะเป่าแตรนิ้วเดียวให้เป็นเสียงได้ถึงเกือบสิบเพลง โดยแกเองเป็นผู้ฝึกสอน

เวลาสอนก็ไม่ยาก แกก็พาทหารไปฝึกเป่า ด้านหลังกรมใกล้ที่ควบคุม หรือมุมรั้วริมคลองเปรมประชากร สมัยที่ยังไม่มีการปลูกแฟลท นายทหาร และสถานีดาวเทียมอย่างเดี๋ยวนี้ พลทหารก็หัดเป่าให้มีเสียงเสียก่อน เพราะถ้าเป่าไม่เป็นมันจะดังฟู่ ๆ พอได้หลายเสียงแล้ว แกก็บอกทำนองเพลงให้ ยกตัวอย่างแตรรับประทานอาหารดีกว่า เพราะฟังกันชินหูทุกเที่ยงวัน แกจะทำเสียงแตรด้วยปากว่า

แต แต แต๊ด แตแหร่...แต แต แต๊ด แตแหร่...แต แต แร แต๊ดแต...แต๊ดแต ซึ่งมักจะมีเด็กในกรมทหารใส่เนื้อร้องว่า...กินคาวเซียะเถอะหน่า กินคาวเซียะเถอะหน่า.. คนละชาม ซ้องชาม ซ้ามชาม...

แต่แกไม่ได้บอกทั้งหมดทีเดียว แกเล่นบอกทีละวรรค ทหารก็ต้องเป่าซ้ำแล้วทวนอีกอยู่จนคล่องแคล่ว จึงจะบอกวรรคใหม่ให้ เป็นเวลาหลายวันกว่าจะจบเพลง แล้วจึงจะให้เป่าจริงคู่กับแกเอง

เมื่อทหารรุ่นนี้ถึงคราวปลดจากกองประจำการ แกก็ต้องฝึกทหารรุ่นที่เข้าใหม่ต่อไปอีก ตามตำแหน่งหน้าที่ ต่อมาแกเลยไม่ฝึกเอง ให้ทหารผลัดที่จะปลดเป็นผู้สอนรุ่นน้องต่อไป ตัวแกก็นอนฟังหรือนอนหลับไปเลย จนกระทั่งแกได้ไปราชการพิเศษนอกหน่วย แล้วก็เลยหายหน้าไป อาจจะเลื่อนยศขึ้นไปไหนต่อไหนแล้วก็ได้

ต่อมาครูเก่าก็รับหน้าที่ฝึกแตรเดี่ยวให้แก่ทหารรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะไม่มีการบรรจุนายสิบแตรเดี่ยวอีก เสียงก็เพี้ยนไปเรื่อย ๆ นานปีเข้าก็เพี้ยนมากขึ้น จนเดี๋ยวนี้ฟังแล้วไม่ค่อยรู้ว่าเป็นเพลงอะไรแน่ คล้ายแตรนอนไปหมด เพราะยานเต็มที

เรื่องนี้ผมเคยคุย กับผู้บังคับหมวดดุริยางค์คนหนึ่ง ถามว่าแตรสัญญาณเหล่านี้ใครเป็นคนคิดแต่ง และมีโน้ตถาวรหรือไม่ แกบอกว่ามี อยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบก ผมก็ขอร้องเป็นส่วนตัวว่า ช่วยเอาแตรดี ๆ เป่าให้ถูกต้องลงเทปไว้ ให้เป็นบรรทัดฐาน แล้วเอามาฝึกทหารจะไม่ดีกว่าหรือ เสียงจะได้ไม่เพี้ยนไปเพี้ยนมาตามครูฝึก ผู้หมวดท่านก็ว่าดี แต่ยังไม่ทันได้ทำ ก็ย้ายเลื่อนอัตราไปอยู่ที่อื่นเสียก่อน

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับเหล่าทหารสื่อสารก็คือ เพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ไม่มีใครทราบว่า เพลงมาร์ชของทหารสื่อสารที่แท้จริงนั้น เป็นอย่างไรแน่ เพราะร้องกันมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๗ รวมได้สัก ๔-๕ เพลง แต่มีท่านหนึ่งที่จำได้มากที่สุด คือ พันโท สถิตย์ พจนานนท์ ท่านจะต้องเป็นต้นเสียงเสมอ เมื่อมีการร้องเพลงในงานเลี้ยงทุกคราว แล้วก็ตามด้วยเพลงประจำตัวคือ The river of no retern. หลังจากที่ท่านเกษียณอายุแล้ว ผมเคยขอให้ท่านช่วยเขียนเนื้อเพลงมาร์ชทหารสื่อสารต่าง ๆ ที่ท่านจำได้ ตลอดจนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลงพิมพ์ไว้ใน นิตยสารทหารสื่อสารด้วย

เพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ที่ใช้ร้องกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีเนื้อร้องไม่ค่อยจะตรงกันนัก ขณะนั้นสถานีวิทยุ จส.๑๐๓ แต่ไปสังกัดกองการสื่อสารใช้เป็นเพลงเปิดสถานี แต่ก็ได้ฟังไม่จบเพลงสักที ผมก็อาศัยความคุ้นเคยกับนักร้องของหมวดดุริยางค์ ที่เสียงดีที่สุดของเรา ทั้ง ๆ ที่สาวไปมากแล้ว ให้ช่วยร้องอัดเสียงลงเทป ไว้เป็นหลักฐานให้ที เธอก็จัดการให้ โดยหน้าหนึ่งเป็นการขับร้องหมู่ อีกหน้าหนึ่งเป็นดนตรีล้วน ๆ ดูเหมือนจะใช้วงดนตรีของกองดุริยางค์ทหารบกบรรเลง พร้อมกันนั้นก็ได้เขียนโน้ตเพลงที่ถูกต้องมาให้ด้วย

ตอนนั้นผมยังเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ จึงจัดการขึ้นบัญชีไว้เป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์เสียเลย เผื่อว่ามีใครสงสัยว่าเนื้อร้องอย่างไหนถูก ทำนองตอนนั้นเป็นอย่างไร ก็จะได้ถ่ายสำเนาเอาไปใช้ได้ โดยไม่ต้องไปหาที่ไหนอีก

ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านนักร้องที่กรุณาร้องนำหมู่เท่าที่จำได้ก็คือ คุณสุวารี เอี่ยมไอ กับ คุณราษี ไชยมี ไว้ในโอกาสนี้ด้วย ส่วนท่านที่เป็นผู้บังคับหมวดดุริยางค์อยู่ในขณะนั้น ป่านนี้ท่านคงไปเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่ทราบ

ดังนั้น ถ้าใครจะมาว่า สื่อสารไม่มีดนตรีการ ละก็ ช่วยกันเถียงหน่อยนะครับ.

###########

นิตยสารทหารสื่อสาร
มกราคม ๒๕๓๘





Create Date : 24 กันยายน 2550
Last Update : 24 กันยายน 2550 10:50:39 น. 13 comments
Counter : 1805 Pageviews.

 
แก้ ตรง All Blogs หัวข้อที่3 งับ นาp ต้องเป็น นายมิใช่หรืองับ


โดย: ผิดครับผิด IP: 125.26.119.127 วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:21:25:27 น.  

 
ขอบคุณครับ.


โดย: เจียวต้าย (เจียวต้าย ) วันที่: 19 ตุลาคม 2550 เวลา:5:36:15 น.  

 
อารายเนี้ยม้ายรู้เรื่อง คิคิ


โดย: คิคิ IP: 203.113.55.207 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2550 เวลา:9:51:44 น.  

 
อยากได้เนื้อเพลงมาร์ชทหารสื่อสาร กับเพลงมาร์ชทหารสื่อสาร ช่วยกรุณาส่งเมล์ได้ไหมครับ
dolphins999@gmail.com


โดย: wood IP: 124.121.161.107 วันที่: 26 มกราคม 2551 เวลา:23:33:04 น.  

 
ผมออกจากราชการมานานแล้ว
ไม่ทราบว่าเขาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพิพิธภัณฑ์ไปอย่างไร
เพลงมาร์ชทหารสื่อสารบังอยู่ที่เดิมหรือไม่

ขอความกรุณาคุยกันทางหลังไมค์ด้วยครับ


โดย: เจียวต้าย วันที่: 27 มกราคม 2551 เวลา:16:58:11 น.  

 
อยากได้เนื้อเพลง มาร์ชทหารสื่อสาร ครับ
กลัวว่า จะซาบสูญ
จาก
Thangmo.v@thaimail.com


โดย: ฅนโคราช IP: 118.174.116.100 วันที่: 10 สิงหาคม 2551 เวลา:22:54:41 น.  

 
ลองติดต่อกับ พิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร กองวิทยาการ
กรมการทหารสื่อสาร ดูซิครับ

ไม่ทราบคุณฅนโคราช เป็นทหารสื่อสารหรือเปล่าครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:8:58:35 น.  

 
อยากได้เพลงมาร์ทหารสื่อสารเอาไว้เปิดที่สถานีวิทยุครับ
ไม่ทราบว่ามีรึเปล่า ถ้ามีรบกวนส่งให้ด้วยครับที่
anthotdata@gmail.com


โดย: anthotdata IP: 61.7.132.73 วันที่: 24 กันยายน 2551 เวลา:17:29:59 น.  

 
มาร์ชสื่อสาร (พ.ศ.2511)
สื่อสารทหารบกไทย นักรบเกริกไกร
ทั้งกายและใจ บากบั่นภารกิจ
ชีวิตนี้พลีให้ แก่กองทัพบกไทย
ร่วมใจป้องกันพารา เหล่าวีรชน อุทิศตนมีค่า
ช่วยปกปักษ์รักษา อาณาจักรไทยยืนนาน
วชิรจักร นั่นคือเครื่องหมายของเหล่า
ภารกิจเรา อำนวยข่าวสาร
ว่องไว เฉียบพลัน รวดเร็วทันการ คล่องปานสารฟ้า
รบเราไม่หวั่น หมายประจันนำหน้า
สู้จนสิ้นชีวา ผลาญปัจจา วอดวาย
*เราชายฉกรรจ์ สื่อสารมีค่าในทุกเหล่า
เหมือนดังเรา แบ่งเบาภารไกล
เราสื่อสารให้ ใกล้ ไกล ทุกเหตุการณ์
ต่อธงไชยเฉลิมพล ต่างคนขอปฏิญาณ
ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาร ถวายชีวันต่อ องศ์ภูมินทร์ *


โดย: นนส.แดน จันทรานนท์ พวต.1/11 IP: 125.26.78.224 วันที่: 9 มกราคม 2553 เวลา:3:18:55 น.  

 
เรียนมาจนจบยังไม่เคยได้ยินเพลงมาร์ทหารสื่อสารเลยคับ


โดย: นนส. IP: 125.24.124.94 วันที่: 10 เมษายน 2553 เวลา:17:54:10 น.  

 
ขออภัยคุณ anthotdata ที่ปล่อยให้รอมาสองปี ผมเพิ่งเห็นเดี๋ยวนี้เองครับ


คุณ นนส.แดน จันทรานนท์ พวต.1/ลองติดต่อ พ.อ.ประจวบ เบี้ยวทุ่งน้อย ที่ กองกำลังพล สส.ดู เขาก็ พวต.เหมือนกันครับ


คุณ นนส. ไม่ทราบว่าปัจจุบันคุณอยู่ที่หน่วยไหน ลองติดต่อ พ.อ.ประจวบ ดูซิครับ.




โดย: เจียวต้าย วันที่: 12 เมษายน 2553 เวลา:9:48:05 น.  

 
ขอด้วยคับใครมมี ช่วยหน่อยคับ wirun_2880734@hotmail.com


โดย: นายสิบ เด็กๆๆ IP: 110.77.244.30 วันที่: 17 มกราคม 2555 เวลา:7:39:25 น.  

 
ใครเป็นผู้ประพันธ์มาร์ชทหารสื่อสาร ฉบับปัจจุบันหรือครับ อยากทราบมากครับ


โดย: EggLord62 IP: 110.168.207.46 วันที่: 17 ตุลาคม 2565 เวลา:18:46:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.