Group Blog
 
All Blogs
 
เรียนไม่รู้จบ

ฉากชีวิต

เรียนไม่รู้จบ

“ เพทาย “

ผมเกิดมาในยุคที่ยังไม่มีโรงเรียนอนุบาล ผมจึงเริ่มเรียนหนังสือไทยด้วยการเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ลงบนพื้นดินที่ชุ่มน้ำในสวนฝั่งธนบุรี เมื่ออายุประมาณสามขวบกว่า เพราะแม่เป็นครู ที่ออกมาเอาดีด้วยการเป็นภรรยาของชาวสวน ซึ่งก็มีอดีตเป็นศึกษาธิการจังหวัดเหมือนกัน

ผมย้ายเข้ากรุงเทพมาอยู่แถวถนนราชดำเนินนอก ตรงข้ามกับสนามมวยเวทีราชดำเนิน และเข้าเรียนในโรงเรียนดำเนินศึกษา ในชั้น ป.๑ เมื่อมีอายุประมาณ ๕ ปี เพราะบ้านของคุณตาอดีตผู้พิพากษามีนิวาสถาน อยู่ในตรอกข้างโรงเรียนนายร้อย และโรงเรียนตั้งอยู่ที่ปากตรอก เรียนอยู่ที่นั่นจนถึงชั้น ป.๔ ทางโรงเรียนก็ย้ายจากที่ตั้งเดิม มาซื้อกิจการโรงเรียนวิสุทธิกษัตริย์ ซึ่งหันหน้าไปทางถนนชื่อเดียวกัน ส่วนด้านหลังมาชนกับรั้วบ้านผมพอดี และใช้ชื่อดำเนินศึกษาต่อไป ผมเรียนที่ใหม่อีกหนึ่งปีในชั้น ม.๑ จำเพื่อนได้เพียงคนเดียวที่นั่งโต๊ะคู่กัน ซึ่งต่อมาเขาสำเร็จโรงเรียนนายร้อยสำรอง ออกรับราชการเป็นร้อยตรี ในกรมพาหนะทหารบก ที่ผมเข้าทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ แล้วอีกไม่นานก็ห่างกันไป ตามเส้นทางของตน

ปีต่อมาได้ย้ายบ้านไปอยู่ทางถนนสามเสน ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิรพยาบาล จึงย้ายมาเข้าโรงเรียนมัธยมวัดสมอราย เมื่ออายุเพียง ๑๐ ปี ในชั้น ม.๒ ปีนั้นเป็นปีที่เริ่มสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผมผ่านมาถึงชั้น ม.๔ พอขึ้นไปเรียน ม.๕ โรงเรียนก็ปิด ให้ประชาชนอพยพออกจากจังหวัดพระนคร เพราะสงครามรุนแรงขึ้น ผมก็จำเพื่อนได้อีกคนหนึ่ง ซึ่งนั่งโต๊ะคู่กันอีก คนนี้ต่อมาเขาสำเร็จโรงเรียนนายร้อยทหารบก ที่ถนนราชดำเนิน เขารับราชการอยู่จนครบเกษียณอายุ ได้รับพระราชทานยศถึง พลเอก

ส่วนผมไม่ได้อพยพไปไหน เพราะเป็นชาวกรุงเทพทั้งตระกูล แต่ยากจนลง ต้อง เร่ขายขนมถ้วยตะไล พอเลี้ยงท้องให้รอด จนสงครามสิ้นสุดลง โรงเรียนเปิดก็สอบเข้าเรียนชั้น ม.๖ ได้ โดยมีความรู้ชั้น ม.๕ เพียงเทอมเดียว ในระหว่างเรียนซึ่งแบ่งออกเป็นสองรอบ ผมเข้าเรียนรอบบ่าย ตอนเช้าก็ต้องไปขายขนมเป็นค่าเล่าเรียน และเลี้ยงชีพในครอบครัว ซึ่งมีแม่ที่ป่วยไม่สามารถทำงานได้อีกคนหนึ่ง พอถึงเวลาสอบไล่จึงพลาดท่าได้คะแนนเพียง ๔๖ % ต้องเรียนซ้ำชั้นในปีถัดมา แต่เรียนอยู่ได้ไม่ถึงเทอม ก็ทนอดไม่ไหวต้องลาออกมาเป็นลูกจ้าง ที่กรมพาหนะทหารบก เมื่อมีอายุย่างเข้า ๑๖ ปี

ผมจึงจำเพื่อนรุ่นเดียวกัน และรุ่นที่เขาเลื่อนขึ้นมาเรียนด้วย ไม่ได้เลย นอกจากคนเดียวที่อยู่ซังฮี้ด้วยกัน เขาเป็นพนักงานชั้นผู้ใหญ่ อยู่ในธนาคารแห่งชาติ จนไม่มีทางจะเลื่อนขั้นอีกแล้ว จึงลาออกมาใช้ชีวิตอย่างสำราญ ก่อนที่บ้านเมืองจะทรุดโทรม ภายหลังเพื่อนคนนี้ได้แนะนำให้รู้จักเพื่อนร่วมรุ่น อีกกว่าสามสิบคน มีอาชีพแตกต่างกันไป ตั้งแต่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ธนาคาร ก่อสร้าง การรถไฟ ศุลกากร นายแพทย์ นักร้อง นายอำเภอ ช่างวิทยุ กิจการขนส่ง ไปรษณีย์ และนักสะสมพระเครื่อง แต่อยู่มาจนถึงปัจจุบันเพียงสิบกว่าคน

พออายุครบ ๒๑ ปี ต้องเข้ารับการคัดเลือกเข้ารับราชการ ทหารกองประจำการ ก็ขอผ่อนผันเพื่อหาเลี้ยงมารดาซึ่งกำลังป่วยหนัก และมีลูกชายเพียงคนเดียว เมื่อได้รับการผ่อนผัน ก็ขอลาราชการไปอุปสมบท จึงได้เข้าเรียนนักธรรม สอบได้นักธรรมตรีสนามวัด คือสอบในวัดที่บวช มีวิชาที่เรียน ๔ วิชา คือ ธรรมะหมวดต่าง ๆ ในหนังสือนวโกวาท พุทธประวัติ วินัย และแต่งกระทู้ หรือเรียงความตามหัวข้อธรรมะ ได้คะแนนเต็ม ๓ ทั้ง สี่วิชา และสอบได้เท่ากันทุกองค์ในจำนวน นวกะภิกษุ ซึ่งมีอยู่เพียง ๕ รูป

เมื่อครบพรรษาลาสิกขาออกมาแล้ว แม่ก็ถึงแก่ความตาย ปีถัดมาไม่มีห่วงอะไรอีกแล้ว จึงสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ โดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง ได้เป็นทหารราบ แต่ทางราชการให้ลาพักครั้งละสามเดือน รวม ๔ ครั้ง อีกหนึ่งปีต่อมาเมื่ออายุ ๒๓ ปี จึงเข้าสังกัด กองร้อยกองบัญชาการ กองทัพที่ ๑ เป็นพลทหารอยู่ปีเดียวก็สมัครเข้าเป็น นักเรียนนายสิบเหล่าทหาร สื่อสาร ในโรงเรียนนายสิบทหารสื่อสาร มีเพื่อนนักเรียน ๑๐๘ คน แต่รู้จักสนิทสนมกันมากไม่ถึง ๑๐ คน เรียนอยู่หกเดือนและฝึกงานอีกหกเดือน ก็สำเร็จหลักสูตร ผมสอบได้ ๘๐.๒๐ % ได้ลำดับที่ ๘ มีโอกาสสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง แต่ความรู้ไม่จบ ม.๖ จึงไม่มีสิทธิ์ เพียงแต่ได้ยศสิบโทเท่านั้น มาถึงบัดนี้ทุกคนก็รับราชการจนเกษียณอายุหมดแล้ว ปรากฏว่ามียศสูงสุด พันเอกพิเศษ ๒ หรือ ๓ คน พันเอกธรรมดา หลายคนเหมือนกัน ส่วนผมได้เป็นประธานรุ่นอยู่ถึง ๑๔ ปี เพิ่งจะพ้นหน้าที่เมื่อปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุนี่เอง

ในระหว่างที่ออกรับราชการเป็นนายสิบอยู่นั้น ก็ได้พยายามที่จะเรียนกวดวิชา ในโรงเรียนผู้ใหญ่ ซึ่งเปิดสอนเวลาค่ำ เพื่อสมัครสอบเอาวุฒิชั้น ม.๖ ให้ได้ อย่างที่ในสมัยนี้เรียกว่าการศึกษานอกโรงเรียนนั้นเอง ตอนแรกก็เรียนที่โรงเรียนศิริศาสน์ ศรีย่าน ต่อมาก็ไปเรียนที่โรงเรียนแม้นศรีพิทยาลัย สะพานดำ พยายามอยู่ ๒ ปี ก็สมัครเข้าสอบที่กรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ปีกึ่งพุทธกาล สอบได้เป็นอันดับที่ ๘๓ ในจำนวนผู้เข้าสอบทั้งประเทศ ซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด บางทีอาจจะมีผู้สอบได้เกิน ๕๐ % เพียง ๘๓ คนก็ได้

อีกสามปีต่อมา อายุ ๒๙ ปี เข้าเรียนในหลักสูตรการศาสนาและศีลธรรมทหาร ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ ๙๕ % เป็นที่ ๑ เสียด้วย ไม่เสียแรงที่เป็นถึงนักธรรมตรี วัดบูรณศิริมาตยาราม

พออายุได้ ๓๖ ปี มียศเป็น จ่าสิบเอก มาแล้ว ๕ ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนทหารสื่อสาร หลักสูตรนายสิบอาวุโส รุ่นแรกของกองทัพบก มีนักเรียน ๘๐ นาย ซึ่งตอนแรกครูอาจารย์เกรงว่าจะเป็นพวกแก่แดด ปกครองยาก แต่ปรากฏว่านักเรียนก็กลัวจะสอบตก แล้วจะไม่
มีสิทธิสอบเลื่อนเป็นนายทหารสัญญาบัตร จึงเรียบร้อยตลอดเวลา ๒ เดือนที่เรียนกันอย่างหนัก เพราะทุกคนได้เลิกร้างการเรียน มานานกว่า ๑๐ ปี จนอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนรูปขวดมีน้ำครึ่งหนึ่งบนกระดานดำ แล้วให้นักเรียนทายว่าขวดอะไร ปรากฏว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอบว่าขวดเหล้าอาจารย์จึงบอกว่าพวกเธอทั้งหลาย เหมือนขวดยาขวดนี้ คือตัวยานั้นตกตะกอนนอนก้นแล้ว มีแต่น้ำใส ๆ อยู่ข้างบน ทางราชการจึงจับพวกเธอเข้ามาอบรม เป็นการเขย่าขวดให้ตัวยาลอยขึ้นมา ใช้ประโยชน์ได้อีก พวกเราจึงพากันสาธุด้วยความโล่งอก

นักเรียนรุ่นนี้เมื่อรับราชการจนเกษียณอายุ ได้เป็น พันเอก และ พันเอกพิเศษหลายคน แต่เป็นนายพลหนึ่งคน

ส่วนผมนั้นสอบได้ ๘๙.๒๐ % เป็นที่ ๑๑ แต่ถึงปีรุ่งขึ้นเข้าสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตร กลับได้ ๘๔.๔๖ % เป็นที่ ๑ ในจำนวน ๕ คนที่สอบได้ จากผู้เข้าสอบทั้งสิ้น ๒๐๐ คน เป็นม้ามืดที่เพื่อนฝูงประหลาดใจมาก ถึงกับลือกันว่าเป็นเด็กเส้นไปเลย

ผมรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรต่อมาอีก ๓ ปี ยศร้อยโทเต็มขั้น ก็เข้าเรียนในหลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่าทหารสื่อสาร คราวนี้มีนักเรียน ๔๔ นาย

ในรุ่นนี้เพื่อนคนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวที่เด่นชัด คือมีผมบางมากจนอาจารย์ให้สมญานามว่าไอเซนเฮาว์ เขาไปสุดทางที่พันโท แต่ได้รับเกียรติอันสูงส่ง โดยได้จารึกชื่อไว้ที่ฐานพระอนุสาวรีย์ของ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร ในฐานะผู้ออกแบบ บริเวณพระอนุสาวรีย์ ชื่อของเขาจะคงอยู่ ณ ที่นั้นตลอดกาล

ส่วนอีกสองคน เป็นพันตรี คนหนึ่ง เป็นพันโท คนหนึ่ง เขาทั้งสองเป็นเพื่อนแก้วเพื่อนก๊งของผม ทั้งในเวลาเรียนและเวลาต่อมา แล้วเขาก็หนีผมไปสู่โลกอื่นทั้งสองคน รายแรกด้วยโรคตับเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ อายุ ๔๕ ปีเศษ รายหลังด้วยโรคมะเร็งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ อายุ ๔๗ ปีเศษ และมีอีกคนหนึ่งเป็นนักเรียนนอก ไม่สนิทสนมกับผมเท่าไรนัก เขาอยู่รับราชการต่อมาจนได้เป็นนายพล แต่ก็ถึงแก่กรรมก่อนเกษียณอายุ เป็นเวลานานหลายปีเช่นกัน

สำหรับผม ในครั้งนั้นสอบได้ ๘๘.๓๘ % เป็นที่ ๔ และอยู่ต่อมาจนอายุได้ ๔๓ ปี มียศร้อยเอกเต็มขั้น ก็ได้เข้าเรียนในหลักสูตรชั้นนายพันเหล่าทหารสื่อสาร คราวนี้มีนักเรียนแค่ ๓๓ นาย แต่หลักสูตรนี้มีนายทหารที่สำเร็จจาก รร.จปร.เกือบครึ่ง การสอนมุ่งที่จะให้นายทหารเหล่านี้ มีความรู้พอที่จะสอบเข้า โรงเรียนเสนาธิการ ได้ การเรียนจึงมีความเข้มข้นอย่างมาก

พอถึงเวลาไปฝึกภาคสนาม ก่อนจะเข้าที่ตั้งเขาชะโงก ต้องเดินทางเที่ยวสำรวจภูมิประเทศ ด้านตะวันออกตั้งแต่ชลบุรี สัตหีบ ระยอง จันทบุรี ตราด เกาะช้าง แล้วจึงย้อนมา อู่ตะเภา กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ปราจีนบุรี นครนายก แต่การเดินทางอันยาวนานนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความเครียดแต่ประการใด เพราะเหตุว่ามีการแอบกินของมึนเมา ทำให้นัดเรียนมีความสนุกสนานร่าเริงตลอดทาง

นักเรียนทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นสี่ชุด ชุดไหนจะได้ที่หนึ่งนั้นจำไม่ได้แล้ว แต่ใน พ.ศ.๒๕๔๓ หัวหน้าชุดคนหนึ่ง เป็นพลโทอยู่กรมยุทธศึกษาทหารบก อีกคนหนึ่ง เป็นพลตรี แต่ได้เป็นนายก คือนายกสมาคมนักเรียนเก่าราชาธิวาส ส่วนอีกคนหนึ่งนั้น เป็นพันเอกพิเศษอยู่นานไม่ยอมขยับเขยื้อน จนได้เป็นพลตรีก่อนเกษียณ และตนสุดท้าย เป็นพลตรี จากกองทัพภาคที่ ๓ เข้ามาเป็น เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านที่ ๑๕ และเป็นหัวหน้าเหล่าท่านที่ ๒๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐

เมื่อจบการศึกษาครั้งนั้นแล้ว ทั้งหมดก็มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ตามลำดับ ส่วนตัวผมเองต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคตับ และต้องเลิกดื่มเหล้าตั้งแต่บัดนั้น เหลืออยู่เพียงแค่เบียร์เติมโซดาหรือน้ำแข็งเท่านั้น ที่ทำให้รอดมาได้ถึงบัดนี้

นึกว่าจะหมดเรื่องเรียนกันแล้ว แต่พออายุได้ ๕๘ ปี เตรียมพร้อมที่จะเกษียณ เจ้านายเกิดส่งให้ไปเรียน หลักสูตรนายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร ที่กรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด คราวนี้เป็นการเรียนที่ค่อนข้างพิศดาร เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย นักเรียนก็มาจากที่ต่างกัน อายุต่างกันตั้งแต่ ๓๐ ปี จนถึง ๕๘ ปี ความรู้พื้นฐานก็ต่างกัน และชั้นยศต่างกัน คือ ทหารบก ๒๔ คน ทหารเรือ ๓ คน ทหารอากาศ ๒ คน ตำรวจ ๑ คน และกรมป่าไม้ อีก ๑ คน รวม ๓๑ คน เป็นหญิง ๖ คน ชาย ๒๕ คน มีตั้งแต่ยศ ร้อยตรี จนถึง นาวาเอกพิเศษ ครบทุกชั้นยศ

ที่น่าแปลกก็คือ ผู้ที่เข้าเรียนมีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ เพียงไม่กี่คน ส่วนอีกหลายคน อยู่ในตำแหน่งที่ไม่น่าจะต้องมาเรียนอย่างเช่น หัวหน้าแผนกรังสีกรรม ประจำแผนกฝึกกำลังสำรอง ผู้บังคับหมวดทหารราบ นายทหารพยาบาลห้องผ่าตัด นายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพล ผู้ช่วยนายทหารการข่าว นายทหารรหัส ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน ผู้ตรวจการณ์ทางอากาศ อนุศาสนาจารย์ และนักวิชาการป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งได้ทราบว่าเมื่อเรียนจบไปแล้ว ก็ไม่ได้ย้ายเข้าตำแหน่งที่ใช้ความรู้ที่เรียนไปเลย เรียกว่าส่งคนมาเรียนตามโควต้า ที่ได้รับเท่านั้น

วิชาที่เรียนก็ตรงตามชื่อของหลักสูตร จึงมีครูอาจารย์ภายนอกหลายท่าน ที่มาบรรยายพิเศษ ในเรื่องพิพิธภัณฑ์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์ไทย เท่าที่จำได้ มีท่านหนึ่งเป็นดอกเตอร์ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงพัฒนาการ และอีกท่านหนึ่งเป็น นักประพันธ์สตรีที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งอยู่จนถึงปัจจุบัน ทุกวันตอนบ่ายต้องออกไปดูงาน พิพิธภัณฑ์ทั่วกรุงเทพ และออกต่างจังหวัด ทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนจบหลักสูตร ๒ เดือนได้วุฒิบัตรกันทุกคนแต่จำไม่ได้ว่าใครได้ที่หนึ่ง เพราะความจำใกล้จะเสื่อมแล้ว สุดท้ายก็มีการอำลาจากกันไป อย่างอาลัยอาวรณ์บนเรือสำราญ ที่ล่องไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา

อยู่ต่อมาอีกจนย้ายไปประจำมณฑลทหารบก แต่ยังช่วยราชการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกอยู่ อีก ๖ เดือนก็จะเกษียณอายุ ทางสถานีสั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้งาน ครบทุกฝ่าย และบริษัทจะต้องจัดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ให้ใช้เครื่องได้ด้วย ฝ่ายของผมส่งชื่อเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าแผนก ความรู้ปริญญาตรีไปเข้าอบรม แต่นายเกิดเปลี่ยนใจเอาตัวไว้ใช้งาน แล้วให้ผมไปอบรมแทน เพื่อกลับมาสอนเจ้าหน้าที่ผู้นั้นและผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง ผมก็จำใจต้องไปฝึกอบรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับเสมียน และช่างเท็คนิค โดยที่ความรู้ภาษาอังกฤษได้กลับคืนไปหาครูหมดแล้ว

ทางบริษัทอบรมโปรแกรมอะไรก็จำไม่ได้ เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ฟังก็ไม่ออก จดก็ไม่ทัน พอเลิกเรียนแต่ละวันต้องให้ลูกน้องที่รู้ภาษาคอมพิวเตอร์ แปลเป็นภาษาไทยแล้วจดเอาไว้ เรียนอยู่ประมาณ ๑ เดือน อึดอัดแทบตาย แต่ก็ได้ความรู้เบื้องต้นของการใช้คอมพิวเตอร์ มาสอนลูกน้องได้ ตามความประสงค์ของนาย พอให้ใช้แทนเครื่องพิมพ์ดีดได้ ก็พอดีหมดเวลาที่จะอยู่ทำงาน จึงขอลาพักสามเดือนก่อนเกษียณ ไม่ทราบว่าลูกน้องมีความรู้เพิ่มขึ้นไปถึงไหนแล้ว แต่สำหรับผมได้ประโยชน์ในการใช้ความรู้นั้น มาพิมพ์เครื่องของลูกชาย ได้ต้นฉบับมากมายตั้งแต่เริ่มเกษียณ จนถึงบัดนี้

ขณะที่บันทึกเรื่องนี้ ผมได้เกษียณอายุราชการมากว่าสิบปีแล้ว ไม่ต้องเข้าเรียนหลักสูตรใดใดของทางราชการอีก แต่กำลังอบรมบ่มนิสัยให้เลิกละความชั่ว ตั้งใจกระทำความดี และฝึกจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เช่นความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความอยากเป็น ความอยากมี ความอยากเด่น ความดีใจเมื่อสมหวัง ความเสียใจเมื่อผิดหวัง ความอดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดจากความแก่ และความเจ็บป่วย ซึ่งอยู่ในหลักสูตรของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมครูผู้ชนะโลก เมื่อกว่าสองพัน ห้าร้อยปีมาแล้ว

และคงจะลาลับไปก่อนที่จะเรียนจบ เป็นแน่แท้.


##########


Create Date : 22 เมษายน 2552
Last Update : 22 เมษายน 2552 12:47:36 น. 0 comments
Counter : 701 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.