Group Blog
 
All Blogs
 
เบื้องหลังพระอนุสาวรีย์

ความหลังริมคลองเปรม

เบื้องหลังพระอนุสาวรีย์

“ วชิรพักตร์ “

ชื่อเรื่องตอนนี้มีนัยได้เป็นสองประการ คือเป็นการเล่าเรื่องเบื้องหลังของการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ หรือเป็นการเล่าถึงภาพด้านหลังของแท่นฐานพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสารก็ได้เช่นกัน

เมื่อกรมการทหารสื่อสารได้ตกลงใจที่จะก่อสร้าง และประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ ณ ค่ายสะพานแดง กรุงเทพมหานคร กับ ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่กระทุ่มแบน สมุทรสาคร ใน พ.ศ.๒๕๒๙ นั้น พลตรี ประจวบ อ่ำพันธุ์ เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง ได้เลือกแบบพระรูปจากภาพถ่ายของพระองค์ท่าน หลายแบบมาผสมผสานกัน เป็นพระรูป แต่งเครื่องแบบเต็มยศพลเอก ถอดพระมาลาพักไว้ที่พระเพลาขวา สูง ๒.๓๐ เมตร ประทับยืน อยู่บนแท่นฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑.๗๐ เมตร สูง ๓.๖๐ เมตร ตั้งบนลานหินวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๑.๔๐ เมตร

ในการนี้ได้มอบให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประติมากร พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก เป็นผู้ออกแบบแท่นฐานและภูมิทัศน์รอบพระอนุสาวรีย์ นายบุญเพ็ง โสณโชติ นายช่างโยธา กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างปั้นหล่อพระรูป มี พันเอก วิทยา งามกาละ เป็นประธาน กับกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างแท่นฐานพระอนุสาวรีย์ มี พันเอก ประเสริฐ โล่ห์ทอง เป็นประธาน

กรมการทหารสื่อสารได้ดำเนินการ ขอคำแนะนำในการสร้างพระอนุสาวรีย์ จากกรมศิลปากร ขอประทานอนุญาตจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร รายงานกองทัพบก ขออนุมัติสร้างพระอนุสาวรีย์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระอนุสาวรีย์ ผ่านกรมศิลปากร จนได้รับพระมหากรุณา พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามลำดับตั้งแต่ เมษายน ๒๕๒๙ ถึง พฤษภาคม ๒๕๓๐

และได้ดำเนินการปั้นหล่อพระอนุสาวรีย์ ตั้งแต่ มกราคม ๒๕๓๐ ถึง ธันวาคม ๒๕๓๐ ซึ่งขณะนั้น พลตรี ประจวบ อ่ำพันธุ์ เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร และได้แต่งตั้งให้ พันเอก จารุพันธุ์ บูรณสงคราม รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็น ประธานกรรมการจัดงานพิธีประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อ วันจันทร์ ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงได้ปรากฎเป็นศรีสง่าแก่เหล่าทหารสื่อสาร มาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว

กรมการทหารสื่อสารได้จัดให้มีพิธี วางพานพุ่มสักการะพระรูป ฯ ในวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม และวางพวงมาลาสักการะพระรูป ฯ ในวันสิ้นพระชนม์ ๑๔ กันยายน ของทุกปี แต่มีน้อยคนนัก ที่จะขึ้นไปบนลานพระอนุสาวรีย์ เพื่ออ่านข้อความที่จารึกไว้ทั้งสี่ด้าน ของแท่นฐานนั้น จึงขอคัดลอกมาเพื่อเป็นหลักฐาน ดังนี้

ด้านหน้าทางทิศใต้ มีข้อความว่า
พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
พระอนุสาวรีย์แห่งนี้ กรมการทหารสื่อสารสร้างไว้เป็นที่เคารพสักการะ
และเฉลิมพระเกียรติ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างสูง
ในฐานะที่ทรงก่อกำเนิดกิจการทหารสื่อสาร
อันเป็นประดุจมรดกอันล้ำค่า
ที่ทรงมอบไว้แก่กองทัพไทย และประเทศไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเททองหล่อพระอนุสาวรีย์
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๕.๐๙ นาฬิกา
เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

* * * * * * * *
ด้านขวาทางทิศตะวันออก มีข้อความว่า
พระประวัติสังเขป
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ประสูติเมื่อ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๔
พระนามเดิมพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด
ทรงศึกษาวิชาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
ในพุทธศักราช ๒๔๓๗ ทรงศึกษาวิชาโยธาธิการ ที่โรงเรียนแฮร์โรว์ วิชาวิศวกรรม ที่ทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาการทหาร ที่แซตแฮมประเทศอังกฤษ จากนั้นได้ทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ ประเทศฝรั่งเศสระยะหนึ่ง จึงเสด็จกลับมาศึกษา ณ ประเทศอังกฤษจนสำเร็จ
ได้รับ MEMBER INSTITUTE OF CIVIL ENGiNEERS
ในพุทธศักราช ๒๔๔๗ จึงเสด็จกลับประเทศไทย
พระยศและตำแหน่งทางทหารครั้งหลังสุด ยศพลเอก เป็นจเรทหารบก และ จเรทหารช่าง
ตำแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ตำแหน่งทหาร คือ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ทรงอภิเษกสมรสกับ พระองค์เจ้าประภาวสิทธินฤมล มีพระโอรสและพระธิดา ๑๑ พระองค์
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ รวมพระชันษาได้ ๕๔ ปี ๗ เดือน ๒๒ วัน เป็นต้นสกุลฉัตรชัย

* * * * * * * * * *
ด้านซ้ายทางทิศตะวันตก มีข้อความว่า
กำเนิดทหารสื่อสาร
พุทธศักราช ๒๔๖๗ ขณะที่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารบกและจเรทหารช่าง ได้ทรงก่อกำเนิดการทหารสื่อสารขึ้น
ปรากฎในคำสั่งสำหรับทหารบก ที่ ๔๗/๔๔๖๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗
จัดให้มีกองโรงเรียนทหารสื่อสาร ในกรมจเรการช่างทหารบก
ให้แก้ไขถ้อยคำที่เคยเรียกว่า “พลสัญญา เครื่องสัญญา”เป็น “พลสื่อสาร ทหารสื่อสาร”
กำหนดให้มีชนิดทหารสื่อสาร ระบุให้ใช้สีเม็ดมะปราง เป็นสัญลักษณ์
เมื่อจัดตั้งชนิดทหารสื่อสารแล้ว กองโรงเรียนทหารสื่อสารได้ตั้งขึ้น
ณ เลขที่ ๑๔๙ ถนนพระรามที่ ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
และได้ปรับปรุงพัฒนา เป็นกรมการทหารสื่อสาร ในปัจจุบัน

เหล่าทหารสื่อสารถือเสมือนว่า สถานที่ตั้งกรมการทหารสื่อสารนี้
เป็นสถานที่ซึ่ง พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มอบไว้ให้
และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงสร้างพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ สำหรับบรรดาทหารสื่อสาร และประชาชนทั่วไป ได้เคารพสักการะ ตลอดกาลนาน

* * * * * * * * * *
และด้านหลังทางทิศเหนือ
เป็นแผ่นศิลาฤกษ์ ลงพระนามาภิไธย สิรินธร
และมีข้อความว่า
การดำเนินการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์
พระอนุสาวรีย์แห่งนี้ ดำเนินการปั้นพระรูปตั้งแต่ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
และก่อสร้างแท่นฐานในเดือนสิงหาคม สร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
ใช้เวลาสร้าง ๑ ปี เป็นจำนวนเงิน ๓,๔๐๓,๐๐๐ บาท
ดำเนินการสร้างด้วยดำริของ พลตรีประจวบ อ่ำพันธุ์ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการทหารสื่อสาร
พร้อมด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคณะข้าราชการเหล่าทหารสื่อสาร

ก่อสร้างโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมศิลปากร
พระรูป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์ เป็นประติมากร
แบบแปลนแท่นฐาน พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก เป็นผู้ออกแบบ

* * * * * * * * *
ครั้งแรก พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก ได้ออกแบบให้มีต้นสนหรือต้นอโศกอินเดีย โดยรอบ และมีสระน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่สี่มุม มีน้ำพุตรงกลางสระ ตามภาพแบบแปลน (ภาพ) แต่เมื่อจะเริ่มลงมือก่อสร้าง เจ้ากรมการทหารสื่อสาร มีดำริว่าสระน้ำนั้นจะรักษาความสะอาดได้ยาก และสิ้นเปลืองมาก จึงให้ทำเป็นสวนหย่อมแทน ดังที่ได้เห็นสวยงามอยู่ในปัจจุบัน (ภาพ)

ส่วนการปั้นพระรูปนั้น เมื่อแรกได้เลือกที่จะสร้างโรงปั้นหล่อ บริเวณหลังห้องเยี่ยมญาติ ตรงข้ามกองรักษาการณ์ ซึ่งเป็นที่ดินว่างซึ่งจะต้องเทพื้นคอนกรีตอย่างแข็งแรง เพื่อรองรับพระรูปที่มีน้ำหนักมาก และจะต้องทุบพื้นทิ้งเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ให้เป็นสนามหญ้าดังเดิม อีกทั้งอยู่ใกล้ถนนพระราม ๕ อาจเกิดแรงสั่นเสทือนจากรถที่แล่นบนถนน จึงย้ายไปสร้างโรงบนสนามบาสเกตบอล ข้างสโมสรนายสิบสื่อสาร ซึ่งมีพื้นคอนกรีตแข็งแรงอยู่แล้ว

ขั้นตอนการดำเนินการปั้นนั้น ประติมากรได้เล่าไว้ว่า

หลังจากได้ทำสัญญากับกรมการทหารสื่อสารแล้ว ท่านเจ้ากรมได้กรุณาสร้างโรงปั้นให้ และได้รับความสะดวกทุก ๆ ด้าน จึงได้เริ่มงานปั้นพระรูป โดยใช้ดินเหนียวปั้นหุ่น ก่อนที่จะขึ้นดินเป็นรูป ก็จะต้องผูกเหล็กโดยดัดเหล็กให้เป็นไปตามโครงสร้าง ของกายวิภาคมนุษย์ จากนั้นก็ผูกคลอสเพื่อยึดดินไม่ให้ร่วงหล่น

ขนาดพระรูปเป็นขนาดใหญ่กว่าจริงคือเท่าครึ่ง ส่วนพระรูปนี้ตั้งใจให้สูงกว่าเท่าครึ่งไปอีกประมาณ ๑๐ ซ.ม. เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งมีบริเวณกว้างขวาง เมื่อปั้นดินตามลักษณะกายวิภาคแล้ว ก็มีคณะกรรมการจากกรมศิลปากรมาตรวจ ซึ่งได้ติและแก้ไขจนพอใจแล้ว จึงปั้นการแต่งกาย สวมเครื่องแบบและเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น ครุย เหรียญ สายสะพาย สายยงยศ กระบี่ หมวก รองเท้า และรายละเอียดอื่น ๆ ตลอดจนความเหมือนของพระพักตร์ คณะกรรมการชุดที่สองก็มาตรวจอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าดีแล้วก็อนุมัติให้หล่อเป็นปลาสเตอร์ เพื่อเตรียมหล่อเป็นทองเหลืองต่อไป

สิ่งที่ต้องระวังมากในการทำงาน คือการรักษาดินเหนียวให้อยู่ในสภาพที่ปั้นได้ดี ไม่แข็งตัวและไม่ร่วงหล่น เวลานั้นเป็นระยะเดือนเมษายน อากาศร้อนอบอ้าวมาก ดินมีรอยร้าวต้องคอยนวดและรักษาดิน ด้วยผ้าชุบน้ำและคลุมด้วยผ้าพลาสติก อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือมีพระรูปอยู่ด้านเดียว จึงต้องใช้จินตนาการทางด้านข้างและด้านหลัง ต้องใช้ภาพใน อิริยาบท อื่น ๆ มาประกอบ แม้พระพักตร์ของท่านก็ยังต้องอาศัยพระรูป ตอนที่มีพระชันษามากแล้วมาประกอบ ซึ่งก็พอแก้ปัญหาไปได้ ทำให้ปั้นพระพักตร์ได้ไม่ขัดตา แลดูเหมือนพระองค์จริงด้วย ในระยะนี้ท่านเจ้ากรมได้กรุณามาติชม และได้ทูลเชิญพระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาของ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มาทอดพระเนตรด้วย พระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตร ทรงพอพระทัยมาก และตรัสชมว่าปั้นได้เหมือนเสด็จพ่อ ทำให้ดีใจจนหายเหนื่อย

พระรูปที่ได้ปั้นนี้ ดูแล้วมีความรู้สึกไม่ขัดตาในท่ายืน และการแสดง อิริยาบทสบาย ๆ มีองค์ประกอบที่สวยงาม และแปลกกว่าอนุสาวรีย์อื่น ๆ อยู่บ้าง ตั้งแต่พระพักตร์ที่ดูหนุ่มแน่น มีพระลักษณะเป็นนักปราชญ์ ทรงภูมิรู้ พระทัยดีมีเมตตา โดยเฉพาะท่ายืนจับกระบี่ ทรงเสื้อคลุมครุย มีลักษณะองอาจสง่าผ่าเผย และดูกระฉับกระเฉงมีชีวิต เมื่อประกอบกับแท่นฐาน ที่ตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางพื้นที่โล่งกว้าง คาดว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่ประทับตาประทับใจแก่ผู้พบเห็น ชวนให้เกิดความเลื่อมใส น่าเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง

นั่นคือเบื้องหลังของการสร้างพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของทหารสื่อสาร พระองค์นี้ ด้วยความสามารถของบุคลสองท่าน ผู้ที่มีความสำคัญที่สุด คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันต์ สารากรบริรักษ์

พันตรี สมเกียรติ หอมเอนก

ซึ่งมีชื่อจารึกอยู่ด้านหลังของพระอนุสาวรีย์ และจะคงทนต่อดินฟ้าอากาศ และอยู่ในความทรงจำของทหารสื่อสารต่อไป อีกนับศตวรรษ

###############



Create Date : 25 กันยายน 2550
Last Update : 25 กันยายน 2550 10:20:53 น. 12 comments
Counter : 717 Pageviews.

 


โดย: โสมรัศมี วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:15:23:49 น.  

 
ยินดีอย่างยิ่งครับ
ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชม
ไม่มีอะไรจะติเลยหรือครับ.


โดย: เจียวต้าย (เจียวต้าย ) วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:18:41:58 น.  

 
อยากทราบประวัติอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยมากเลยค่ะ


โดย: สายไหม IP: 203.148.192.120 วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:10:02:23 น.  

 
ผมเล่าเรื่อง พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ก็เพราะผมมีส่วนในการก่อสร้างนิดหน่อยครับ

สำหรับอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าพาหุรัดฯ ผมเคยเห็นอยู่แว่บ ๆ จะลองค้นหาดูครับ.


โดย: เจียวต้าย (เจียวต้าย ) วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:18:34:51 น.  

 
เล่าเรื่องได้ดีมาก แต่เสียดายมากเป็นร้อยเท่ทวุคูณ ที่ไมมีภาพพระอนุสาวรีย์เลย


โดย: สัมพันธ์ IP: 125.25.143.134 วันที่: 26 ธันวาคม 2550 เวลา:21:03:05 น.  

 
ความจริงผมมีภาพพระอนุสาวรีย์เป็นปึกเลยครับ
แต่เอามาลงในนี้ไม่เป็นครับ

ถ้าอยู่ในกรุงเทพจะไปดูด้วยตนเองก็ได้ครับ
อยู่ในกรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง ถนนพระราม ๕ เขตดุสิต ครับ

ขออขอบคุณที่สนใจครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 28 ธันวาคม 2550 เวลา:6:49:04 น.  

 
อ่านแล้วทำทำให้ชื่นชมเสด็จในกรมฯ ยิ่งขึ้น แต่หากจะมีภาพพระอนุสาวรีย์ดังกล่าว จะสมบูรณ์ยิ่ง


โดย: สัมพันธ์ IP: 125.25.133.125 วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:6:16:33 น.  

 
ผมดีใจที่มีผู้สนใจเรื่องราวของท่าน
ผู้เป็นพระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร

ถ้าจะกรุณาบอกที่อญุ่ซึ่งส่งไปรษณีย์ได้
ผมยินดีที่จะรวบรวมพระประวัติและพระอนุสาวรีย์ของท่านส่งมาให้ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:9:46:16 น.  

 
ขอบคุณอย่างยิ่งเชียว ครับ
กรุณาส่งเพียงพระประวัติ และภาพถ่ายพระอนุสาวรีย์ก็ขอบคุณยิ่งแล้ว อย่าส่งพระอนุสาวรีย์ไปให้เลยนะครับ
ที่อยู่นะครับ

สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์
๒๖/๓๙ ซอยงามวงศ์วาน ๑๙ ถนนงามวงศ์วาน
อ.เมืองนนทบุรี ๑๑๐๐๐

ขอบคุณอีกครั้งครับ


โดย: สัมพันธ์ IP: 125.25.131.93 วันที่: 2 มิถุนายน 2551 เวลา:19:53:08 น.  

 
พี่เจียวต้าย

ไม่ต้องกังวลเรื่องพระประวัติ และ รูปพระอนุสาวรีย์ เสด็จในกรมฯ นะครับ

หากมีเวลาขอเชิญชม //widetalks.multiply.com ซักหน่อน ประมาณต้นเดือนกันยาฯ จะลงเรื่อง วันบุรฉัตร (ลงก่อนนานเกินไปไม่ดี) ระหว่างนี้เชิญอ่านเรื่องอิ่นๆ ไปพลางๆ และกรุณา แสดงความเห็น และ แนะนำด้วย จักขอบพระคุณยิ่งครับ


โดย: สัมพันธ์ IP: 125.25.150.211 วันที่: 15 สิงหาคม 2551 เวลา:14:08:59 น.  

 
ผมต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง
ที่ไม่ได้เข้ามาดูเป็นเวลาร่วมสองเดือน
เรื่องและรูปการก่อสร้างและประดิษฐานพระอนุสาวรีย์
ผมจะรวบรวมมาให้ในเร็ว ๆ นี้ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 23 สิงหาคม 2551 เวลา:6:46:52 น.  

 
รูปภาพ


โดย: 14516 IP: 58.8.93.163 วันที่: 12 มีนาคม 2552 เวลา:10:54:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.