สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

สารทำความเย็น R32

สารทำความเย็น R-32 กับการนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (แอร์บ้าน)

ในตอนนี้หลายๆท่านอาจจะเริ่มได้ยินการพูดถึงสารทำความเย็นแบบใหม่ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน สำหรับอาคารบ้านเรือน (แอร์บ้าน) ซึ่งนั่นก็คือสารทำความเย็นที่มีชื่อรหัสว่า R-32

ซึ่ง R-32 เป็นสารทำความเย็นอีกชนิด ซึ่งมันก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างได เพราะสารทำความเย็นตัวนี้ มีมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วแต่เพราะไม่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้งาน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย มันจึงไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักในปัจจุบัน แต่ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการในการหาสารทำความเย็นทดแทน ซึ่งมีเรื่องความคุ้มค่าเข้ามาร่วมด้วย จึงทำให้สารทำความเย็น R-32 ถูกนำขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และเริ่มนำมาใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “แอร์บ้าน”

โดยในเครื่องปรับอากาศที่จำหน่ายในตลาดบ้านเรานั้น สารทำความเย็นรหัส R-22 และ R-410a เป็นสารทำความเย็นตัวเดิม ที่มีใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในตอนนี้ แต่เพราะการเริ่มนำสารทำความเย็น R-32 มาใช้ในสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในบ้านเรา ในตอนนี้แวดวงเครื่องปรับอากาศในบ้านเราอาจจะถึงคราวของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเหมือนช่วงหลายปีก่อนที่เริ่มมีการนำ R-410a เข้ามาเริ่มใช้




เหตุที่กระแสของสารทำความเย็นตัวนี้เริ่มจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนหนึ่งนั้นมาจากโฆษณาเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่จากค่าย DAIKIN ซึ่งได้มีการเปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ ที่ใช้สารทำความเย็น R-32 เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง นั่นจึงทำให้ชื่อของ R-32 เริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป




ซึ่งในความจริงนั้นสารทำความเย็นตัวนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีคุณสมบัติ ข้อดี-ข้อเสีย และลักษณะทางกายภาพที่แปลกไปจากสารทำความเย็นอื่นหรือเปล่า และที่สำคัญมันดีจริงตามที่ผู้ผลิตอวดอ้างหรือไม่ วันนี้ผู้เขียนจึงขอรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสารทำความเย็นตัวนี้มาเขียนเป็นบทความชุดขึ้นมา เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคที่สนใจได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสารทำความเย็นตัวนี้


จุดเริ่มต้นของการใช้สารทำความเย็น R-32

สารทำความเย็น R-32เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีการพูดถึง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเองในตอนนี้ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ และโปรโมทกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศทั่วโลก

โดยประเทศที่เริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาระบบเครื่องปรับอากาศ ที่ใช้งานกับสารทำความเย็น R-32 อย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็คือประเทศญี่ปุ่นนั่นเองจึงไม่แปลกที่สารทำความเย็นตัวนี้ กำลังเป็นที่พูดถึงมากในประเทศญี่ปุ่น


และการใช้สารทำความเย็น R-32 ก็ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยเข้ามาทางผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่เป็นแบรนด์ของญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเริ่มมีการนำมาใช้งานในตลาดบ้านเราทำให้ผู้จัดจำหน่ายสารทำความเย็นรายใหญ่ของไทย อย่างทาง Blue Planet Refrigerant เริ่มให้ความสนใจ และได้ดำเนินการนำเข้าสารทำความเย็น R-32 เข้ามาในประเทศไทย เป็นรายแรกๆเพื่อเตรียมที่จะรองรับความต้องการใช้งานในอนาคต




ข้อมูลทางกายภาพเกี่ยวกับสารทำความเย็น R-32

R-32 หรือ HFC32 จัดอยู่ในกลุ่ม Single Substance หรือสารประกอบ

มีจุดเดือดที่ - 52 C (ติดลบ 52 องศาเซลเซียส)

ค่าแรงดัน(แรงดันไอ) ที่ระดับอุณหภูมิห้อง ของสารทำความเย็น R-32 จะอยู่ในระดับที่สูงสุด เมื่อเทียบกับสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ที่เรามีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

สำหรับสารทำความเย็นที่มีใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนในบ้านเรา 

ค่าแรงดันสารทำความเย็น (โดยประมาณ) ที่ระดับอุณหภูมิห้อง คือ

R-22 = 150 PSIG
R-410a = 250 PSIG
R-32 = 290 PSIG



ในส่วนของความสามารถในการนำพาความร้อน ของสารทำความเย็น R-32 คุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนนั้นจะสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบในส่วนของระบบเครื่องปรับอากาศด้วย เพราะประสิทธิภาพการทำงานของตัวเครื่องที่จะนำมาใช้งานจริงนั้น ตัวเครื่องและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดีไซน์ขึ้นมาอย่างถูกต้อง เป็นแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับสารทำความเย็น R-32 




ความแตกต่างระหว่าง R-32 เมื่อเทียบกับ R-22 และ R-410a

สารทำความเย็น R-32 เป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ที่ถูกออกแบบขึ้นมาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากสารทำความเย็น R-22 ซึ่งเป็นสารทำความเย็นตัวเก่า ที่มีส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศของโลกและด้วยความที่ว่า สารทำความเย็น R 32 นั้นจะมีปริมาณของ Fluorine ต่ำ ส่วนนี้จึงช่วดบรรเทาเรื่อง GWP (Global Warming Potential) ไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ด้วยเหตุผลที่ว่าสารทำความเย็น R-32 ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Single Substance หรือสารประกอบ ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้มันมีข้อแตกต่างกับ R-410a เพราะว่า R-410a เป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม Azeotrope หรือสารผสมสองชนิด

แต่สารทำความเย็น R-32 จะมีความคล้ายคลึงกับ R-22 ตรงที่ตัวมันเองไม่ได้อยู่ในรูปของสารผสมแบบที่เป็นอยู่ใน R-410a คุณสมบัติทางเคมีในสารประกอบคือ อัตราส่วนของส่วนประกอบจะคงที่ซึ่งจะแตกต่างไปจากสารผสม

ด้วยคุณสมบัติของสารประกอบทำให้เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-32 มีความสะดวกในการซ่อมบำรุงเหมือนที่เป็นอยู่ใน R-22

เพราะสารทำความเย็น R-22 และ R-32 อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสารประกอบ ทำให้การเติมเพิ่มเข้าไปในระบบภายหลัง สามารถทำได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบที่เกี่ยวกับองประกอบทางเคมี Composition Shift 

แต่ในกรณีของสารทำความเย็น R-410a เนื่องจากมันเป็นสารผสม ตรงจุดนี้เองหากมีการรั่วของระบบ หรือมีความต้องการที่จะเติมสารทำความเย็นเพิ่มเข้าไปในภายหลัง จะไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนแบบที่เคยทำใน R-22

ด้วยความที่ว่ามันเติมเพิ่มเข้าไปในของเดิมที่มีอยู่ในระบบไม่ได้ ทำให้การเติมสารทำความเย็น R-410a เข้าไปในภายหลัง จะต้องถ่ายสารทำความเย็นเก่าที่มีอยู่เดิมออกจากระบบทั้งหมดเสียก่อน แล้วจึงจะเติมของใหม่เข้าไปได้

ตรงจุดนี้เองจึงทำให้การซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ย่อมมีความสิ้นเปลืองกว่า R-32 และ R-22 เป็นแน่


ถ้าจะเทียบให้เห็นชัดๆคือ R-410a หากเกิดการรั่วซึมออกไปจากระบบ 30% คงเหลือในระบบเพียง 70% การจะเติมเข้าไปใหม่ให้เต็ม 100% ก็จะต้องถ่าย 70% ที่เหลืออยู่ทิ้งออกไปจากระบบเสียก่อน เพราะด้วยคุณสมบัติของมันที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถเติมเข้าไปตามส่วนที่ขาดหายได้ และของเดิมใช้งานไม่ได้ต้องทิ้งไปหมด แล้วจึงจะเติมเข้าไปใหม่ให้เต็ม 100%

ต่างจาก R-32 และ R-22 ตรงที่ ถ้าหายไปจากระบบ 30% เหลืออยู่ในระบบ 70% ก็เติมเพิ่มไปในระบบอีก 30% ตามส่วนที่ขาดหายไปได้





ข้อควรระวัง ของสารทำความเย็น R-32

แม้ว่าสารทำความเย็น R-32 จะมีข้อดีในหลายๆด้าน เมื่อเทียบกับ R-22 และ R-410aแต่สารทำความเย็น R-32 ก็ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายข้อแต่เรื่องที่เป็นด้านลบหรือโทษ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่นำสารทำความเย็น R-32 มาเป็นจุดขาย มักจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงในการประชาสัมพันธ์ หรือในการโฆษณาโปรโมทสินค้า ในกลุ่มที่ใช้สารทำความเย็น R-32 ทำให้บางครั้ง ผู้บริโภคเอง อาจจะขาดข้อมูลในด้านนี้และยังรวมไปถึงช่างแอร์บางส่วนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก็อาจจะขาดความเข้าใจและความระมัดระวัง ในอันตรายที่แฝงไว้ในสารทำความเย็น R-32 เป็นเหตุให้เสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


ข้อน่าเป็นห่วงและข้อควรระวังหลักๆ ของสารทำความเย็น R-32 ในแต่ละด้าน มีอยู่ด้วยกันดังนี้


ในด้านแรงดัน สารทำความเย็น R-32 นับว่าเป็นสารทำความเย็นที่มีแรงดันไอสูงที่สุดในบรรดาสารทำความเย็นที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศแยกส่วน(แอร์บ้าน)เมื่อเทียบที่ในระดับอุณหภูมิห้อง โดยแรงดันไอของสารทำความเย็น R-32 จะสูงประมาณ 290 PSIG และแรงดันไอของ R-410a จะอยู่ที่ประมาณ 250 PSIG และท้ายสุดคือ R-22 ซึ่งมีแรงดันต่ำสุดในกลุ่มนี้ คือที่ประมาณ 150 PSIG

เพราะสารทำความเย็น R-32 มีแรงดันสูงมากสุด จึงมีความปลอดภัยน้อยสุดซึ่งน้อยกว่า R-410a และ R-22

ทำให้สารทำความเย็น R-32 ต้องถูกจัดเก็บในภาชนะที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมมาก และต้องเก็บในพื้นที่ร่มเท่านั้น ในส่วนของการบรรจุในภาชนะหรือถังที่มีปริมาตรความจุเท่ากัน สารทำความเย็น R-32 จะบรรจุได้น้อยกว่า R-410a กว่าครึ่งหนึ่งเพรามีขนาดของโมเลกุลที่ใหญ่กว่า R410a จึงบรรจุลงในภาชนะที่มีความจุขนาดเดียวกันได้เพียงร้อยละ 60 ของ R410a เท่านั้น นี่จึงทำให้ต้นทุนด้านภาชนะบรรจุและการขนส่งมีอยู่สูงขึ้นตามไปด้วย

และอีกสิ่งที่ต้องระวังมากๆ คือการแบ่งบรรจุ หรือการแบ่งเติม , แบ่งขายน้ำยาประเภทนี้ ต้องใช้ผู้ที่ผ่านการอบรมและต้องมีความชำนาญ ไม่ใช่จะให้ใครมาทำก็ได้ เพราะหากดำเนินการอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แรงดันในระดับนี้หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว




ในด้านของการติดไฟได้ เป็นอีกสิ่งที่น่ากลัวของสารทำความเย็น R-32 เพราะมันเป็นสารติดไฟได้ จัดอยู่ใน Class A2 คือติดไฟได้แต่ไม่รุนแรงเท่ากลุ่ม A3 อย่างเช่นพวก R-290 

เหตุที่มันติดไฟได้ ก็เนื่องด้วยองค์ประกอบของสารทำความเย็น R-32 ที่มีอะตอมของ Hydrogen จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับ R-410a ซึ่งจัดอยู่ใน Class A1

จึงทำให้ สารทำความเย็น R-32 สามารถลุกติดไฟได้ง่ายกว่า และยิ่งมีแรงดันที่มากกว่ามาเป็นตัวประกอบ ทำให้มีอันตรายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น สารทำความเย็น R-32 จึงต้องมีการจัดเก็บเป็นอย่างดีและระมัดระวังเป็นพิเศษ

ปล.การจำแนกสารเคมี จากความเป็นพิษและความสามารถในการติดไฟ ตามมาตรฐาน

A1หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ไม่ใช่สารติดไฟ
A2 หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ติดไฟได้
A3 หมายถึง มีความเป็นพิษต่ำ / ติดไฟได้ง่ายมาก
B1 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ไม่ใช่สารติดไฟ
B2 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ติดไฟได้
B3 หมายถึง มีความเป็นพิษ / ติดไฟได้ง่ายมาก




สรุป การนำสารทำความเย็น R-32 มาใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่จำหน่ายในประเทศไทยนั้น ณ เวลานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆในแวดวงเครื่องปรับอากาศของบ้านเรา 

การใช้งานปกติ สำหรับแอร์ที่ใช้ R-32 หากได้รับการติดตั้งถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะผู้ผลิตได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยในการใช้งานอยู้แล้วตามมาตรฐานบังคับ หากติดตั้งโดยทีมจากจากศูนย์บริการ หรือช่างจากร้านผู้จำหน่ายที่ได้ผ่านการอบรมมาแล้ว ก็มั่นใจในการใช้งานได้

แต่เนื่องจากสารทำความเย็น R-32 นั้นมีแรงดันที่สูงมาก (เกือบ 300 PSIG) และยังติดไฟได้ จึงทำให้มันยังคงมีอันตรายอยู่พอสมควร การให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุง โดยผู้ที่ขาดความรู้ความชำนาญถือเป็นการเสียงต่ออันตรายมากๆ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ช่างผู้ให้บริการ ควรให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก 

สำหรับช่างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบแอร์ ก็ควรตระหนักในด้านความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ซึ่งหากตัวของช่างเองไม่ได้ผ่านการอบรมโดยตรง หรือไม่มีความรู้ในรายละเอียดของ R-32 มากพอ ก็ไม่ควรจะรับงานแอร์ที่ใช้ R-32 เพราะการดันทุรังรับงานโดยที่รู้จักกับมันแค่งูๆปลาๆ ท้ายที่สุดอาจจะเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้



ท้ายที่สุดอยากพูดในส่วนความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติม 

เพราะหากท่านใดที่อ่านบทความจนมาถึงตอนนี้ บางท่านอาจจะสังเกตุเห็นว่าผู้เขียนเน้นยำด้านความปลอดภัยค่อนข้างมาก และอาจจะทำให้บางท่านมองว่าผู้เขียนกังวลเกินไปหรือเปล่า ซึ่งหากใครได้ผ่านการอบรบ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อมูลทางวิชาการ ของประเทศที่ใช้กันแล้วได้เขียนไว้ ก็จะเข้าใจในคุณสมบัติและตระหนักถึงอันตรายหากปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง

จริงอยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ต่างใช้ R-32 กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไป ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะมาตรฐานของประเทศเหล่านี้ เขายึดถือกันอย่างเคร่งครัด ตามคติของฝรั่งที่ว่า "Safety First" แต่การนำมาใช้ในบ้านเรานี้ท่านต้องเข้าใจ ว่ามาตรฐานงานช่างของไทยเรา โดยเฉพาะตามท้องถิ่นรอบนอก ส่วนมากโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยเน้นเรื่องความปลอดภัยสักเท่าไหร่ ยังคงมีมาตรฐานที่ต่ำและประมาทจนเกินไป นิยมใช้หลักการครูพักลักจำกันมา โดยที่ไม่ค้นคว้าเพิ่มเติมว่าที่จำกันมานั้นถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ถ้าจำที่ถูกมาก็ถือว่าดี แต่ถ้าจำที่ผิดๆมาใช้ก็อาจจะเจออุบัติเหตุได้ในวันใดวันหนึ่ง และการทำงานที่เกี่ยวกับแรงดันสูงๆนั้น มันก็มีความเสี่ยงอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว หากไม่ใส่ใจด้านความปลอดภัยมากที่ควร ก็อาจจะเจอเหตุการณ์เหมือนที่เป็นข่าว อย่างแอร์ระเบิดฉีกร่างดับ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดจากความประมาณรับงานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งนั้น ลำพังแค่ R-22 ที่แรงดันต่ำกว่าเกือบครึ่ง ก็เคยระเบิดมาแล้วในกรณีที่ซ่อมบำรุงโดยถ่ายแรงดันออกมาจากระบบไม่หมด แต่นี่ R-32 ทั้งแรงดันสูงทั้งติดไฟ ความเสียหายก็ย่อมมีมากกว่าเป็นแน่ 

ถ้าหากอยากแสดงออกในการช่วยกันรักโลก โดยเลือกใช้แอร์ที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ ตามแบบที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ก็ต้องรู้จักปรับวิถีรูปแบบการทำงานให้ได้มาตรฐานตามเขาด้วย จึงจะดีที่สุด






 

Create Date : 02 เมษายน 2557    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2558 9:31:25 น.
Counter : 26869 Pageviews.  

แผ่นกรองอากาศแอร์และการทำความสะอาด

สำหรับหน้าร้อนนี้ อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมีผลทำให้การใช้งานเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และสำหรับอาคารบ้านเรือนที่มีการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ การล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยที่ตัวคุณเองก็สามารถทำได้ไม่ต้องรอช่าง




หลายคนอาจจะสงสัยว่าการล้างแผ่นกรองอากาศนั้น จะมีผลกับเครื่องปรับอากาศอย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับแผ่นกรองอากาศกันเสียก่อน

แผ่นกรองอากาศภายในเครื่องปรับอากาศ (Filter Air Conditioner) หรือที่เรามักจะเรียกทับศัพท์กันว่า "ฟิลเตอร์แอร์" ถือเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง ที่อยู่ภายในชุดคอยล์เย็น (Fancoil Unit) ของเครื่องปรับอากาศ



โดยแผ่นกรองอากาศนั้นเปรียบเสมือนปราการด่านแรก ที่อากาศภายนอกซึ่งถูกดูดเข้ามาในเครื่องจะต้องผ่านเพื่อเข้าไปยังแผงทำความเย็น ซึ่งท้ายที่สุดจะถูกใบพัดโพรงกระรอกพัดออกมาในรูปของอากาศเย็น

โดยในขณะที่อากาศเคลื่อนที่ผ่านแผ่นกรองอากาศ ย่อมมีการนำเอาสิ่งแปลกปลอม อย่างเช่น ฝุ่นผง เศษละอองเกสร หรือแม้แต่สปอร์ของราชนิดต่างๆ เข้ามาด้วย และสิ่งแปลกปลอมที่ลอยมาพร้อมอากาศที่ถูกดูดเข้ามาด้วยพัดลมในชุดคอยล์เย็น สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็จะถูกดักจับไว้ด้วยเส้นใยที่ถูกถักทอและประกอบเข้ากันเป็นแผ่นกรองอากาศ หรือแผ่นฟิลเตอร์แอร์




แผ่นฟิลเตอร์แอร์จึงมีส่วนในการช่วยคัดกรองและกักเก็บสิ่งแปลกปลอม ที่ลอยปะปนมากับอากาศไม่ให้ฟุ่งกระจายออกไป รวมไปถึงยังช่วยลดสิ่งสกปรกที่จะเข้ามาเกาะในแผงทำความเย็น ซึ่งสิ่งสกปรกที่เข้ามาเกาะในแผงทำความเย็นนั้นมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการทำความเย็นของเครื่องลดลง และทำให้เครื่องต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

แต่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็เป็นเพียงประโยชน์ที่แผ่นฟิลเตอร์แอร์ ได้มีส่วนช่วยไว้ในระดับหนึ่งเท่านั้นแผ่นฟิลเตอร์เป็นเพียงส่วนประกอบเสริม ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อให้แอร์มีความสามารถเพิ่มขึ้น จากความสามารถหลักที่ใช้ในการทำความเย็น

สำหรับแอร์ที่ถูกเปิดใช้งานเป็นประจำแผ่นฟิลเตอร์ของแอร์ ก็ย่อมสกปรกมากขึ้นตามไปด้วย และยิ่งในกรณีที่บ้านหรืออาคารอยู่บริเวณริมถนนใหญ่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองค่อนข้างมากก็ย่อมทำให้แผ่นฟิลเตอร์แอร์สกปรกมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศมีสิ่งสกปรกเกาะอยู่จำนวนมาก ก็จะส่งผลให้ลมที่ถูกดูดเข้ามาถูกขัดขวาง

เพื่อช่วยให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประหยัดไฟขึ้น ผู้ใช้ควรทำการล้างแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศของแอร์โดยระยะเวลาที่เหมาะสมคือ ทุกๆสองสัปดาห์

ซึ่งในแอร์รุ่นปัจจุบันได้มีการออกแบบให้แผ่นฟิลเตอร์สามารถถอดออกได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องพึ่งเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ผู้ใช้เพียงแค่เปิดฝาครอบด้านหน้าแผงคอยล์เย็น 

แล้วจึงดึงแผงฟิลเตอร์ที่สอดอยู่ออกมา จากนั้นจึงทำการฉีดล้างด้วยน้ำเปล่า โดยอาจจะใช้น้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอกเพียงเล็กน้อย มาช่วยในการทำความสะอาด และอาจจะใช้แปรงสีฟันเก่าๆที่มีขนแปรงไม่หยาบและแข็งเกินไป มาช่วยแปรงที่บริเวณเส้นใยของแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศ แต่ไม่ควรใช้แปรงอย่างอื่นที่มีขนหยาบและแข็งมาขัดถู เพราะจะทำให้เส้นใยของแผ่นกรองอากาศขาดได้


และเมื่อล้างแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศเสร็จแล้ว หากไม่มีโบล์เวอร์เป่าลม ก็ควรนำไปผึ่งลมให้แห้ง แต่หลีกเลี่ยงการนำไปวางตากแดดโดยตรง เพราะแสงแดดอาจจะทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด และแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศอาจจะชำรุดได้ง่าย




 

Create Date : 30 มีนาคม 2557    
Last Update : 30 มีนาคม 2557 17:51:44 น.
Counter : 33091 Pageviews.  

เติมน้ำยาแอร์...คิดราคากันอย่างไร







บทความชุดนี้จะขอพูดว่าด้วยเรื่องของการเติมน้ำยาแอร์เพิ่มในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้แอร์หลายๆท่านได้เคยพบเจอกันมาแล้ว และส่วนใหญ่ก็มักมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ในเรื่องนี้

ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงบางครั้งก็เป็นเพราะการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่มักจะแสวงหากำไรเกินควร และอีกหลายๆครั้งก็มักจะเกิดจากการที่ผู้ใช้แอร์อาจจะเข้าใจผิดคิดไปเอง เพราะได้รับข้อมูลที่ผิดๆมาจากแหล่งอื่นๆ

ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงของแอร์บ้านมานานพอสมควรวันนี้จึงจะขอหยิบยกเอาปัญหาเรื่องของการเติมน้ำยาแอร์ มาเขียนเป็นบทความชุดนี้ขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเองไม่ขอพูดว่า ข้อมูลจากผู้เขียนเป็นข้อมูลที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น แต่อยากให้ผู้อ่านได้ลองอ่านและคิดตามไปพร้อมๆกัน จะเป็นการดีที่สุด

ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเริ่มต้นในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสารทำความเย็นและความรู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องขอสารทำความเย็นก่อนเพื่อที่ท่านจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน





สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ

น้ำยาแอร์ หรือสารทำความเย็น (Refrigerant) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบเครื่องทำความเย็น และระบบเครื่องปรับอากาศ โดยที่สารทำความเย็นจะเปรียบเสมือนตัวกลางสำหรับถ่ายเทความร้อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

สารทำความเย็นในระบบเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงสารทำความเย็นในเครื่องทำความเย็นทั่วๆ ไปจะมีแรงดันมากกว่าแรงดันบรรยากาศหลายเท่า เมื่อรั่วออกมาจะเดือดและระเหยเป็นไอทันที ทำให้ต้องอยู่ในระบบปิดหรือถังบรรจุที่ปิดผนึกมิดชิด อีกทั้งมันยังเป็นสสารที่สามารถอยู่ได้ทั้งในรูปของแก๊สและของเหลว ขึ้นกับความดันและอุณหภูมิ

ในระบบเครื่องปรับอากาศ(แอร์) ที่ใช้กันภายในอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงในอาคารสำนักงานต่างๆ สารทำความเย็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกับแอร์ในประเทศไทย คือสารทำความเย็นชนิดที่ใช้ชื่อรหัส R-22 ซึ่งมีประวัติการนำมาใช้งานในบ้านเรายาวนานหลายสิบปี

แต่เนื่องจากสารทำความเย็น R-22 มีส่วนผสมของสาร CFC ซึ่งสารตัวนี้เมื่อออกสู่บรรยากาศภายนอกจะทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุของสภาวะเรือนกระจก ทำให้เริ่มมีการคิดค้นและนำเอาสารทำความเย็นชนิดใหม่มาใช้ ซึ่งในตอนนี้ที่เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น สารทำความเย็นที่มีชื่อรหัสว่า R-410a

จึงทำให้ในตอนนี้สารทำความเย็นที่นำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศภาคครัวเรือนหรือแอร์บ้านมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ R-22 และ R-410a

สำหรับชุดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์แบบแยกส่วน ทีซื้อมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ใช้สารทำความเย็น R-22 และ R-410a จะมีสารทำความเย็นมาให้ในปริมาณที่เพียงพอ (สำหรับการติดตั้งที่เดินท่อไม่เกิน 4 เมตร) โดยผู้ผลิตจะอัดสารทำความเย็นไว้ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit

ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ หลังจากที่เราติดตั้งตัวเครื่องและได้เชื่อมต่อระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ทำสุญญากาศระบบและทดสอบจนมั่นใจว่าระบบไม่รั่ว ผู้ติดตั้งก็จะทำการเปิดวาล์วด้านท่อทางอัด(ท่อเล็ก) ให้สารทำความเย็นไหลเข้าสู้ท่อไปยังชุดคอยล์เย็น Fancoil Unit แล้วจึงเปิดวาล์วด้านท่อทางดูด(ท่อใหญ่) เพื่อเชื่อมต่อระบบให้ถึงกันอย่างสมบูรณ์




แรงดันของสารทำความเย็นในระบบ

ในเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-22 การจะตรวจสอบปริมาณสารทำความเย็นในภายหลัง ว่ายังคงมีสารทำความเย็นอยู่เพียงพอหรือไม่ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีแต่วิธีที่ให้ค่าออกมาแน่นอนและนิยมทำกันมากสุดคือการต่อเกจเมนิโฟลด์ เพื่อวัดค่าแรงดันของสารทำความเย็นในระบบ ซึ่งทั่วไปแล้วถ้าเป็นการวัดเพื่อตรวจสอบปริมาณสารทำความเย็น จะวัดแค่เพียงที่วาล์วลูกศรด้านท่อทางดูด(ท่อใหญ่) ซึ่งท่อนี้จะเป็นท่อของสารทำความเย็นที่อยู่ในสถานะแก๊ส และเป็นท่อด้านที่มีแรงดันต่ำขณะเดินเครื่อง

ส่วนท่ออีกด้านหนึ่งจะเป็นท่อทางอัด(ท่อเล็ก) มีสารทำความเย็นที่เป็นของเหลวแรงดันสูงมากไหลอยู่ เราจึงไม่สามารถต่อเกจเมนิโฟลด์เข้าไปในขนะที่เครืองทำงานอยู่ได้ เพราะแรงดันที่สูงอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ นกรณีแอร์ขนาดไม่ใหญ่มากท่อด้านนี้จึงไม่ค่อยจะได้ต่อใช้งานสักเท่าไหร่ ผู้ผลิตจึงเลือกที่จะไม่ใส่วาล์วลูกศรให้กับท่อทางอัด ของแอร์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนั่นเอง

ตามปกติแล้ว ค่าแรงดันสารทำความเย็นมาตรฐาน ตามตำราดั้งเดิมกำหนดไว้ที่ประมาณ 68-75 PSIG (ปอนด์ต่อตารางนิ้วเกจ) ซึ่งถ้าแรงดันที่วัดได้อยู่ในเกณฑ์ที่ว่านี้ ถือว่าผ่าน

สรุปก็คือ...ถ้าแรงดันน้ำยาไม่ต่ำกว่า 68 PSIG ถือว่าแอร์ยังมีน้ำยาเพียงพอแต่ เนื่องจากค่าดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานที่มีกำหนดมานานแล้ว ปัจจุบันนี้ส่วนมากจะกำหนดให้แรงดันน้ำยาแอร์ระดับต่ำสุดเป็น 70PSIG และ 78-80 PSIG เป็นค่าสูงสุด แต่ว่าต้องไม่ลืมดูค่ากระแสไฟฟ้าที่คอมเพรสเซอร์ใช้งานด้วย เพราะปริมาณและแรงน้ำยายิ่งมากมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ก็ยิ่งจะต้องขับโหลดหนักขึ้น ทำให้กินกระแสไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นค่าแรงดันควรจะอ้างอิงควบคู่กับค่ากะแสไฟฟ้าที่วัดได้ โดยกระแสไฟฟ้าที่วัดได้ต้องไม่ถึงระดับที่ระบุบนแผ่นป้าย Name plate


แต่ค่าแรงดันเองในบางครั้งก็อาจจะมีการคาดเคลื่อนอยู่บ้างปัจจัยที่ทำให้ค่าแรงดันที่วัดได้มีความคลาดเคลื่อนก็มีอยู่หลายๆปัจจัย เช่น

- อุณหภูมิแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งคอยล์ร้อน อุณหภูมิสูง = แรงดันสูง , อุณหภูมิต่ำ= แรงดันต่ำ

- แรงดันสูงเพราะคอยล์ร้อนสกปรกลมไม่สามารถผ่านได้เท่าทีควร

- แรงดันสูงเพราะพัดลมของชุด Condensing Unit มีรอบความเร็วที่ลดลงจากเดิม



การล้างแอร์และเติมน้ำยา

ในบ้างครั้งการเรียกใช้บริการล้างแอร์ที่มีการโฆษณาราคาค่าบริการที่ค่อนข้างถูก เช่นราคา 300 บาทซึ่งเป็นราคาที่นับว่าค่อนข้างถูกมากในปัจจุบัน เพราะในยุคนี้การล้างแอร์แบบใช้แรงดันน้ำฉีดล้างทำความสะอาดอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม หรือที่เรียกว่าการล้างใหญ่ เป็นการล้างที่ต้องใช้เวลาและแรงงานเยอะอัตราค่าบริการล้างในกรณีนี้ เฉพาะที่ต่างจังหวัดก็เริ่มต้นที่ 500-600 บาทแล้ว ซึ่งราคาในระดับ 300 ถ้าจะให้ล้างแบบละเอียดในราคานี้ผู้ประกอบการคงจะอยู่ยาก เนื่องจากมีต้นทุนด้านต่างๆที่สูงไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงานหรือค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในทุกๆวัน

การล้างแอร์ในราคาที่ถูกนี้ จึงมีแนวโน้มที่ว่า ถ้าไม่เป็นการล้างแบบผ่านๆ ก็อาจจะมีกลเม็ดหรือช่องทางการหารายได้เพิ่ม ซึ่งวิธีที่ช่างแอร์ที่อาจไม่ค่อยมีคุณธรรมนิยมใช้ คือการชาร์ทค่าบริการเพิ่มในรูปแบบของค่าน้ำยาโดยอ้างว่าแอร์ของลูกค้าน้ำยาขาด หรือน้ำยาไม่พอ ต้องเติมน้ำยาเพิ่ม ช่างบางรายวัดแรงดันน้ำยาและเติมให้ลูกค้าทันทีโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้าก่อนก็มี 

โดยราคาที่ช่างแจ้งกับลูกค้า มักจะบอกออกมาว่าค่าน้ำยา คิดราคาปอนด์ละ 20-40 บาท (ขึ้นกับช่างแต่ละราย) เติม 10 ปอนด์ก็โดนไปแล้ว 200 – 400 บาท โดยในบางครั้งก็อาจจะเป็นการเล่นกลแบบไม่ซื้อต่อผู้บริโภค ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนถือว่าเป็นการเอาเปรียบสังคม และยังเป็นภาพลบแก่วงการช่างแอร์ ทำให้ช่างแอร์ดีๆต่างพลอยโดนหางเลขไปด้วย




การป้องกันเพื่อไม่ให้โดนช่างที่ไม่ดีเอาเปรียบ

เคล็ดลับเบื้องต้นในการป้องกันตัว เพื่อไม่ให้โดนช่างแอร์ที่ไม่ดีเอาเปรียบ สามารถทำได้ โดยในแต่ละครั้งที่จะเรียกใช้บริการล้างแอร์ ควรเลือกใช้บริการจากร้านประจำ หรือร้านแอร์ที่มีหน้าร้านชัดเจน น่าเชื่อถือ สามารถตามได้สะดวกในกรณีมีปัญหา และอาจจะสอบถามเพิ่มเติมจากเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเคยใช้บริการมาก่อน

การล้างแอร์ในแต่ละครั้งก่อนการล้างทุกครั้ง หากเป็นทีมล้างแอร์มืออาชีพช่างจะทำการทดลองรันเครื่องดูก่อนเสมอ พร้อมกับสอบถามลูกค้าว่าแอร์เย็นปกติหรือไม่ และอาจจะมีการจดบันทึกแรงดันสารทำความเย็น และกระแสไฟฟ้าขณะเดินเครื่อง ไว้ก่อนที่จะลงมือถอดล้าง ซึ่งข้อมูลที่เก็บในข้างต้นนี้ก็เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในภายหลัง และภายหลังจากดำเนินการล้างเสร็จ ไปจนถึงการทดลองเดินเครื่องภายหลังที่ล้างเสร็จ ช่างที่ทำงานระดับมืออาชีพ ก็จะวัดแรงดันสารทำความเย็นกับการวัดค่ากระแสไฟฟ้าอีกครั้ง แล้วจึงแจ้งแรงดันน้ำยาที่วัดได้ให้ลูกค้าทราบเสมอ พร้อมทั้งยังมีการให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา ว่าควรจะเติมสารทำความเย็นเพิ่มไปหรือไม่

เพราะในบางครั้งถ้าแอร์สกปรกมากๆหากล้างเสร็จแล้วคอยล์ร้อนที่ถูกฉีดน้ำอย่างสะอาดจะระบายความร้อนได้ดีขึ้นมาก ทำให้ค่าแรงดันที่วัดได้ลดลงไปในระดับหนึ่งทั้งที่มันก็ไม่ได้รั่วออกจากระบบ ซึ่งจุดนี้เองที่ผู้เขียนก็เห็นสมควรให้วัดแรงดันไว้ทั้งก่อนและหลังการล้าง เพราะจะใช้อ้างอิงได้เป็นอย่างดี

ถ้าเดิมทีแอร์ของคุณยังเย็นดีอยู่แล้ว หากไปเจอช่างที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือหรือไม่เคยใช้บริการมาก่อน ควรจะบอกช่างไว้ก่อนว่า “แอร์ยังเย็นปกติดีอยู่ ล้างเสร็จตรวจเช็คน้ำยาได้เท่าไหร่ช่วยแจ้งให้ทราบก่อน”




น้ำยาแอร์ขาด...เป็นไปได้หรือไม่?

ที่ผ่านๆมาผู้เขียนมีโอกาสได้พบเห็นการให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะถูก จากสมาชิกท่านหนึ่งในบอร์ดพันทิป ที่มักจะออกมาแนะนำเสมอ เมื่อมีใครตั้งประเด็นที่เกี่ยวกับช่างมาล้างแอร์แล้วเติมน้ำยา โดยสมาชิกท่านนี้มักจะบอกเสมอว่า "ระบบแอร์เป็นระบบปิด ถ้าน้ำยารั่ว ไม่ว่ารอยรั่วจะเล็กหรือใหญ่ น้ำยาจะหายไปทันทีจนหมดทั้งระบบ" พร้อมทั้งในบางครั้งก็ได้มีการนำข้อมูล ที่เป็นราคาเฉพาะของน้ำยาแอร์ โดยเป็นราคาในตลาดซึ่งไม่รวมค่าบริการอื่นๆ มาให้ดู ทำให้หลายๆท่านที่ได้เห็น อาจพาลเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าโดนหลอก

ซึ่งสิ่งที่สมาชิกท่านนั้นแนะนำไปนั้น มันไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด และราคาในระดับนี้ คือราคาที่ลูกค้าสามรถหาซื้อได้จากร้านอะไหล่ แต่ต้องนำไปเติมด้วยตนเอง การแนะนำแบบดังกล่าวทำให้หลายๆท่านที่มาเปิดเจอ อ่านแล้วอาจจะเกิดความเข้าใจผิดและจำไปแบบผิดๆ

กรณีที่น้ำยาแอร์ขาดหายไปจากระบบแต่ไม่ได้รั่วออกหมดเช่นขาดหายไปจนแรงดันลดลงกว่าค่ามาตรฐาน 20-30 PSIG สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะเชื่ออะไรไป

เนื่องจากสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ที่อยู่ภายในระบบนั้น มีแรงดันสูงกว่าค่าแรงดันบรรยากาศหลายเท่า ทำให้มันพยายามที่จะหาทางออกเพื่อเล็ดลอดออกไปจากระบบตลอดเวลา และระบบท่อของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน จุดต่อระหว่างท่อที่เชื่อมต่อกันระหว่างส่วน Condensing Unit ไปยังส่วน Fancoil Unit ก็ใช้การบานปลายท่อแล้วสวมด้วยข้อต่อแฟร์นัทขันเกลียว ไม่ได้เป็นการเชื่อมบัคกรีท่อโลหะให้ติดกันด้วยความร้อน เหมือนจุดต่อในส่วนอื่นๆ 




และรวมถึงจุดที่ท่อบริการ (Service Valve) ตรงบริเวณด้านท่อทางอัด(ท่อใหญ่) ก็มีการติดตั้งจุดที่เรียกว่าวาล์วบริการสำหรับใช้ต่อสายเกจ ส่วนนี้จะใช้วาล์วลูกศรใส่เข้าไป โดยที่วาล์วลูกศรก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับจุกลมของยางล้อรถนั่นเอง ในวาล์วลูกศรนี้ก็จะมีซีลยางที่เรียกว่ายางโอริงอยู่ และเมื่อยางโอริงนี้ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบแอร์ ทำให้มันต้องพบเจอกับสภาวะที่เย็นจัดในขณะเดินเครื่อง เมื่อใช้ไปนานๆยางโอริงก็อาจจะมีการเสื่อมสภาพลงไปตามการใช้งาน 

บางครั้งที่เราไม่ได้ใช้งานแอร์นานๆด้านท่อทางดูดที่ยางโอริงอยู่จะไม่มีแรงดันต่ำเหมือนตอนเครื่องเดิน แต่แรงดันจะเท่ากันทั้งสองท่อ ซึ่งเมื่อสภาพเหมาะสมก็ทำให้แรงดันเล็ดรอดออกไปได้ รวมไปถึงในบางครั้งที่แอร์ไม่ได้ล้างมานาน แผงคอยล์ร้อนสกปรกมากแอร์ระบายความร้อนได้ไม่ดีในช่วงที่อากาศร้อนๆ ส่งผลให้แรงดันสูงเกินไป จนในบางครั้งก็อาจทำให้น้ำยาเล็ดลอดออกไปตามจุดต่อต่างๆหรือที่ยางโอริ่งก็เป็นไปได้

และยังรวมไปถึงในส่วนของรอยเชื่อมแต่ละจุดเอง ก็เป็นอีกสาเหตุของการซึมออกไปทีละน้อยๆเพราะในรอยเชื่อมบางจุด อาจจะเกิดรูพรุนหรือโพรงขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกกันว่ารูตามด จุดนี้ก็มีส่วนที่ทำให้น้ำยาซึมหายไปจากระบบได้เอง เมื่อสภาพโดยรวมเอื้ออำนวย

ถ้าที่อธิบายมาไม่เข้าใจ หรือยังเข้าใจไม่ชัดให้ลองนึกเปรียบเทียบง่ายๆ โดยเทียบกับแรงดันลมที่เติมเข้าไปในยางล้อรถ...ยางก็ไม่รั่วแต่ทำไมผ่านไปนานๆลมถึงอ่อน ???

การรั่วกับการซึม ไม่เหมือนกันการรั่วคือรั่วออกไปอย่างต่อเนื่องจนหมด แต่การซึมคือการเล็ดลอดออกไปทีละนิดเมื่อสภาพโดยรอบนั้นเอื้ออำนวย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆปัจจัย เพราะน้ำยาแอร์เองก็เป็นสสารที่อยู่ภายใต้ความกดดันสูง ย่อมที่จะหาหนทางออกมาสู่บรรยากาศได้ตลอดเวลา


แต่ก็ใช่ว่าน้ำยาแอร์จะต้องซึมหายออกจากระบบเสมอไปมีแอร์หลายๆเครื่องที่มีน้ำยาเต็มระบบ ไม่ต้องเติมเพิ่มเลยตลอดอายุการใช้งานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพและรูปแบบการติดตั้ง รวมไปถึงลักษณะการติดตั้งใช้งาน




ราคาค่าบริการเติมสารทำความเย็น

ราคาค่าบริการในการเติมสารทำความเย็น โดยทั่วไปแล้วหากเป็นการเติมสารทำความเย็นในภายหลัง มักจะคิดราคาในรูปแบบเป็น ราคา(บาท)/ปอนด์ซึ่งนี่คือรูปแบบหนึ่งของการคิดราคาค่าน้ำยาที่รวมค่าบริการแล้ว และอีกแบบหนึ่งก็อาจจะใช้รูปแบบของการเหมาจ่ายที่รวมค่าน้ำยาและค่าบริการแล้วเช่น ครั้งละ 300บาท เป็นต้น

การคิดราคาในรูปแบบ ราคา(บาท)/ปอนด์คือวิธีการที่นำยมมากที่สุดในปัจจุบันเพราะเป็นวิธีที่สะดวกและใช้เครื่องไม้เครื่องมือไม่มากทำให้ไม่ยุ่งยากหรือลำบากในการปฏิบัติงานในพื้นที่จำกัด

การคิดราคาที่ใช้คำเรียกกันว่า“ปอนด์” คำเรียกดังกล่าวมาจากคำในหน่วยวัดปอนด์ต่อตารางนิ้วเกจ PSIG ซึ่งเป็นค่าแรงดันสารทำความเย็นที่อ่านได้ จากหน้าปัดของเกจเมนิโฟลด์ และเป็นค่าที่นำมาใช้คิดค่าบริการเติมสารทำความเย็นของแอร์ จริงอยู่ที่ค่าดังกล่าวเป็นค่าของแรงดันไม่ใช่ค่าของจำนวนปริมาตร เหมือนกับที่ใช้ในการชั่งตวงวัดปริมาณของวัตถุอื่นที่ซื้อขายกันทั่วไป

แต่ค่าแรงดันนี้เองก็สามารถบอกถึงปริมาณสารทำความเย็นได้ เพราะถ้าสารทำความเย็นในระบบมีไม่เพียงพอ แรงดันที่วัดจากท่อทางดูดขณะเครื่องทำงานก็จะขึ้นมาไม่ถึงค่ามาตรฐาน

แม้ว่าใครหลายคนอาจจะมองว่าการคิดราคาในรูปแบบราคา(บาท)/ปอนด์ เหมือนถูกเอาเปรียบจากช่างแอร์ แต่ขอให้เข้าใจไว้ว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของหน่วยในการคิดราคาของน้ำยาแอร์ที่รวมค่าติดตั้งแล้ว ซึ่งบนโลกนี้มนุษย์ทุกคนทำงานหรือประกอบธุรกิจก็ต่างต้องการที่จะได้เงินมากๆกันทั้งนั้น ลูกค้าเองก็ควรจะเข้าใจผู้ให้บริการด้วย คุณจะเอาราคาขายที่เป็นราคา(บาท)/กิโลกรัม มาเปรียบเทียบกับราคาค่าให้บริการในการเติมน้ำยาแต่ละครั้งไม่ได้ เพราะราคาในระดับนั้นเป็นราคาที่คุณต้องซื้อน้ำยา ซื้อเกจแล้วปีนขึ้นไปเติมเอง ซึ่งในการบริการเติมน้ำยาแอร์นอกจากค่าน้ำยาแล้ว ยังต้องมีค่าแรง ค่าวิชาชีพค่าเชื้อเพลิงค่าความเสี่ยงความยากลำบากในการปฏิบัติงาน ฯลฯ รวมอยู่ด้วย

แต่ทางผู้ประกอบการหรือช่างแอร์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการก็ควรจะให้บริการโดยตั้งอยู่บนเหตุผลของความพอดีและความยุติธรรมไม่ควรที่จะตั้งราคาเติมน้ำยาแพงจนเกินความเป็นจริงและไม่ควรเติมน้ำยาโดยที่ไม่ได้แจ้งลูกค้าให้ทราบถึงรายละเอียดก่อนที่จะเติม

และที่สำคัญคือช่างที่ไม่ใช่มืออาชีพหรือช่างที่ขาดคุณธรรมที่ชอบเล่นกลกับลูกค้าด้วยการปล่อยน้ำยาทิ้งแล้วบอกว่าน้ำยาขาดการกระทำเช่นนี้จะส่งผลในระยะยาวช่างประเภทนี้จะได้งานแค่ช่วงแรกๆเท่านั้นสุดท้ายลูกค้าก็จะจำแล้วบอกต่อกันปากต่อปากจนสุดท้ายก็จะหมดทางทำมาหากิน




อัตราค่าบริการที่เหมาะสมจากร้านที่ให้บริการที่มีมาตรฐานและเป็นมืออาชีพ

ในร้านที่มีมาตรฐาน การออกให้บริการกับลูกค้าจะเลือกใช้สารทำความเย็นคุณภาพ ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่มีการบรรจุลงถังมาจากโรงงานผู้ผลิตหรือจำหน่ายมาพร้อมถังนั่นเอง และเมื่อใช้สารทำความเย็นหมดถังจะต้องนำถังที่หมดแล้วขายเพื่อรีไซเคิล หรือไม่ก็ส่งถังเปล่าขายคืนกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อบรรจุใหม่ เพราะวาล์วเดิมที่มากับถังประเภทนี้จะออกแบบให้ไม่สามารถนำมาเติมใหม่ด้วยตนเองได้(นอกเสียจากใช้การดัดแปลงด้วยตนเอง) ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสารทำความเย็น ซึ่งนี่ก็เป็นผลให้สารทำความเย็นแบบนี้มีคุณภาพที่ดีป้องกันการปนเปื้อนจากสารอื่นๆ




แต่บางครั้งผู้ให้บริการที่ไม่ได้เน้นควบคุมคุณภาพ ก็อาจจะเลือกใช้สารทำความเย็นแบบแบ่งบรรจุเองหรือแบ่งบรรจุจากถังขนาด 50 กิโลกรัม ซึ่งจะแบ่งขายเป็นกิโลกรัม โดยการนำถังเปล่าไปแบ่งเติมเอาเอง หาซื้อได้ที่ร้านขายอะไหล่ในท้องถิ่น การซื้อน้ำยาแอร์ในลักษณะนี้ อาจจะทำให้น้ำยาแอร์เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย และยากที่จะควบคุมคุณภาพ ในกรณีที่ซื้อจากผู้ขายที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีการนำน้ำยาแอร์คุณภาพไม่ดีมาปนขายก็เป็นได้




ราคาค่าเติมน้ำยานอกสถานที่ ในกรณีที่วัดแรงดันสารทำความเย็นแล้วพบว่าเหลืออยู่ได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งของแรงดันปกติ (เหลือไม่น้อยกว่า 40 PSIG) ราคามาตรฐานจะใช้การคิดแบบ ราคา(บาท)/ปอนด์โดยสารทำความเย็น R-22 ราคาจะอยู่ที่ 10-20 บาท/ปอนด์

แต่ในกรณีแอร์บ้านทั่วๆไปที่ไม่เดินท่อยาวมากๆ ก็ไม่ควรคิดราคาเกิน 20 บาทต่อปอนด์ เพราะถือว่าแพงเกินไป

และในอีกกรณีที่ใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายถ้าแรงดันสารทำความเย็นที่วัดได้เหลืออยู่ไม่น้อยไปกว่าครึ่งของค่าปกติ(เหลือไม่น้อยกว่า 40 PSIG) อาจคิดราคาเหมาจ่ายที่ 300 - 400 บาท

แต่ถ้าสารทำความเย็นที่วัดได้ต่ำกว่าครึ่ง คือต่ำกว่า 40 PSIG หรือการเติมใหม่ทั้งระบบทางที่ดีที่สุดควรใช้การชั่งน้ำหนักถังก่อนเติมและหลังเติมแล้วนำส่วนที่ขาดหายไปมาคิดราคารวมค่าบริการ จะเป็นวิธีที่ยุติธรรมที่สุดเพราะหากจะคิดราคาตามค่าแรงดันหน้าเกจ เป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว PSIG จะออกมาเป็นราคาที่แพงเกินความเป็นจริงถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป


ราคาขายส่ง(โดยประมาณ) เป็นราคาเฉพาะสารทำความเย็น ไม่รวมค่าบริการ


ราคาค่าบริการที่แนะนำ ในการเติมสารทำความเย็นทั้งระบบ หากคิดราคาในอัตราราคา(บาท)/น้ำหนัก(กก.) เมื่อรวมค่าบริการแล้ว สำหรับน้ำยา R-22 ราคาที่แนะนำควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 1,000 บาทซึ่งไม่ควรมากเกินกว่ากิโลกรัมละ 1,000 บาท และสำหรับน้ำยา  R-410a ราคาที่แนะนำควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,000 - 2,000 บาท และไม่ควรเกินกว่ากิโลกรัมละ 2,000 บาท ทั้งนี้ราคาให้บริการนั้น อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ให้บริการ และลักษณะของความอยากง่ายในแต่ละกรณี

ปล. นี่คือราคาแนะนำสำหรับร้านแอร์ที่มีมาตรฐานโดยรวมค่าแรง/ค่าบริการและค่าดำเนินการแล้ว ซึ่งผู้อ่านอย่าเพียงแค่เอาราคาขายส่งเฉพาะน้ำยามาเทียบ ในแอร์ขนาด 1 ตัน (12,000 BTU)จะใช้สารทำความเย็นประมาณ 1 กิโลกรัม



สำหรับเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ในบ้านเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเครื่องปรับอากาศในกลุ่มระบบ Inverter การเติมสารทำความเย็นจะต้องใช้วิธีการเติมโดยชั่งน้ำหนักตามข้อมูลที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้เท่านั้นไม่สามารถมาเติมเพิ่มเองได้ทีละนิดโดยอิงตามแรงดันที่วัดได้ในภายหลังที่ติดตั้งไปแล้ว เหมือนที่ทำใน R-22 เพราะระบบการทำงานของแอร์ Inverter มีรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไม่คงที่และแรงดันน้ำยาก็จะแปรผันอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงคุณสมบัติของน้ำยา R-410a ซึ่งเป็นสารผสมที่ผสมมาจากน้ำยาแอร์สองชนิด(R32 กับ R125 ในอัตราส่วน 50:50) การเติมน้ำยา R-410a จึงต้องเติมเข้าไปในระบบโดยใช้การชั่งน้ำหนัก และต้องเติมเข้าไปทีเดียว ไม่ควรมาเติมเพิ่มในภายหลัง ซึ่งกาจะเติมน้ำยา R-410a เพิ่มเข้าไปในระบบภายหลัง จะต้องทำการถ่ายน้ำยาของเดิมที่เหลือในระบบทิ้งเสียก่อนแล้วจึงจะเติมเข้าไปได้ 

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติมน้ำยา R-410a ได้ที่ลิงค์นี้ : //www.bloggang.com/viewblog.php?id=kanichikoong&date=17-07-2015&group=27&gblog=15





และก่อนที่จะจบบทความขอทิ้งท้ายเล็กน้อย เกี่ยวกับการให้บริการเติมน้ำยาแอร์รวมทั้งบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับแอร์

ในปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์บ้านมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีทั้งที่ให้บริการอย่างมีมาตรฐาน และไม่ค่อยจะมีมาตรฐาน และช่างแอร์เองก็มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป ซึ่งมันก็เป็นสัจธรรมของทุกสาขาวิชาชีพที่ต้องมีดีมีมีเลวปนกันไป แต่ที่ผ่านมา ช่างแอร์ที่ไม่ดีก็มักจะสร้างชื่อเสียสร้างความเสียหายให้วงการช่างแอร์มาโดยตลอด


ช่างแอร์ที่ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด หากท่านทำดีอยู่แล้วก็ขอให้ความดีที่ทำมานั้น ช่วยหนุนส่งให้ชีวิตและการงานรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป เพราะการให้บริการอย่างสุจริตถูกต้องตามมาตรฐานนั้น เป็นการให้เกียรติแก่ตนเอง ให้เกียรติแก่วิชาชีพของตน  

ส่วนช่างแอร์ที่ไม่ซื่อสัตย์ก็รีบปรับตัวในวันนี้ก็ยังไม่สาย อย่าปล่อยให้ความโลภมาบังตาจนทำให้วิชาชีพช่างแอร์ต้องมัวหมองด้อยค่าลง 


ผู้เขียนเองก็อยู่ในวงการแอร์มายาวนานพอสมควรรวมทั้งยังประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแอร์ และมีทีมงานช่างแอร์อยู่ภายใต้ความดูแล ที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้รับฟังปัญหามากมายจากหลายๆท่านมาบอกกล่าวให้ฟัง รวมถึงมาขอคำแนะนำ ผู้เขียนเองเข้าใจว่าผู้บริโภคทุกคนอยากได้การบริการที่ดี ในราคาที่สมเหตุสมผล ใจเขาใจเราคือสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมาโดยตลอด

แต่ในบางรายก็ต้องการราคาถูกๆ กับการบริการที่ดีๆ ก็ต้องเข้าใจว่าสองสิ่งนี้มันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ก่อนที่จะตัดสินหรือบอกว่าราคาค่าบริการนี้แพงหรือไม่ ควรพิจารณาให้ละเอียดก่อน อย่าเอาเพียงราคาค่าอะไหล่ที่คุณไปหาพบในอินเตอร์เน็ตมาเทียบ เพราะการออกให้บริการแต่ละครั้งล้วนมีค่าดำเนินการในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง, ค่าเชื้อเพลิง, ค่าวิชาชีพหรือค่าประสบการณ์ความรู้, ค่าความเสียงในการปฏิบัติงาน, และภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ และเราต่างก็เข้าใจกันดีว่าการประกอบกิจการไม่ว่ากิจการไหนๆต่างต้องการกำไร ทุกคนที่ทำงานไม่ว่าอาชีพไหนๆต่างก็อยากมีรายได้ที่น่าพอใจ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตั้งอยู่บนความพอดีทั้งสองฝ่ายด้วย




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2556    
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 8:30:31 น.
Counter : 185293 Pageviews.  

เบรกเกอร์ ทิชิโน่






ถ้าลองมองย้อนกลับไปในอดีต (ราวๆ 20-30 ปีก่อน) แอร์บ้านในยุคนั้นเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงมาก เมื่อเที่ยบกับค่าเงินปัจจุบัน แถมยังเป็นแอร์ที่มีหน้าตาเรียบๆรูปทรงทื่อๆ

อีกทั้งยังไม่มีลูกเล่นมากมายเหมือนแอร์ในปัจจุบัน รูปแบบของแอร์บ้านและแอร์สำนักงาน ที่ครองตลาดในยุคนั้นคงหนีไม่พ้นแอร์แบบตั้ง/แขวน ที่คอยล์เย็นหรือชุดที่ติดตั้งในอาคารมีรูปร่างเป็นตู้เหล็กทรงสี่เหลี่ยม ช่างแอร์ทั่วๆไปมักจะเรียกกันว่า "คอยล์เย็นรุ่นหน้าตรง" หรือ "ทรงกล่องไม้ขีด"




ภาพที่ 1 คอยล์เย็นรุ่นหน้าตรง หรือ ทรงกล่องไม้ขีด



และแอร์ชนิดนี้ ที่ติดตั้งในสมัยก่อน ก็จะนิยมใช้เบรกเกอร์ควบคุมที่เป็นสวิตซ์อัตโนมัติ หรือเรียกกันทั่วไปว่า "ทิชิโน่" ซึ่งมาจากคำว่า bticino ที่เป็นชื่อทางการค้าของผู้ผลิตสวิตซ์อัตโนมัติแบบดังกล่าว เป็นเจ้าแรกๆ แต่ภายหลังก็เริ่มมีผู้ผลิตหลายๆยี่ห้อ ที่ผลิตสินค้าแบบนี้ออกมา 



ภาพที่ 2 สวิตซ์อัตโนมัต (ทิชิโน่) 


สวิตซ์อัตโนมัติ ทิชิโน่ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสามารถพื้นฐานคล้ายคลึงกับ เซอร์กิต เบรกเกอร์ ทั่วๆไป คือมันสามารถปลดวงจรไฟฟ้าได้เองอัตโนมัติเมื่อมีการใช้กระแสไฟเกินพิกัด หรือเกิดการลัดวงจร 

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของสวิตซ์อัตโนมัติ ทิชิโน คือการทำงานที่รวดเร็วเม่นยำ เพราะระบบกลไกลภายในเป็นแบบที่รวมเอารูปแบบการทำงานสองอย่างไว้ในหนึ่งเดียว คือทริปด้วยอำนาจแม่เหล็กและผลของความร้อน รวมไปถึงมันยังสามารถปรับตั้งค่าพิกัดกระแสไฟฟ้าที่ใช้งานได้หลายระดับ โดยสามารถเลือกใช้แผ่นฟิวส์ หรือแผ่น shunt ที่แถมมาให้ เพื่อปรับตั้งค่ากระแสที่เหมาะสมต่อการใช้ 

ซึ่งแต่ละแผ่นจะมีขนาดที่แตกต่างกัน ได้แก่ 15 A , 20 A , 25 A และ 30 A นอกจากนี้ยังสามารถปรับตั้งค่าเปอร์เซ็นของพิกัดกระแสที่กำหนดบนแผ่น shunt ว่าต้องการให้พิกัดกระแสใช้งานอยู่ในระดับไหน โดยพิกัดกระแสที่ปรับตั้งจะเริ่มต้นที่ 3.75 A ไปจนถึง 30 A 




จุดเด่นในด้านพิกัดกระแสที่สามารถปรับตั้งได้นี้ ทำให้สวิตซ์อัตโนมัติ ทิชิโน่ เหมาะสมมากที่จะนำมาใช้ควบคุมแอร์ในสมัยก่อน เพราะแอร์ในยุคนั้นค่อนข้างจะกินกระแสสูง อีกทั้งช่วงเริ่มสตาร์ทคอมเพรสเซอร์ก็กระชากไฟค่อนข้างมาก เพราะใช้คอมเพรสเซอร์ลูกสูบ หากคอมเพรสเซอร์เกิดสตาร์ทไม่ออกก็จะสามารถตัดวงจรได้รวดเร็วก่อนที่คอมเพรสเซอร์จะเสียหาย ที่สำคัญราคาของแอร์ในยุคนั้นที่ค่อนข้างจะแพงมาก สวิตซ์อัตโนมัติ ทิชิโน่ ราคาตัวละ 300-400 บาท จึงเป็นทางเลือกที่คุ้มในการป้องกันความเสี่ยงของแอร์ยุคนั้น

แต่ในยุคปัจจุบัน ถ้าถามว่า สวิตซ์อัตโนมัติ ทิชิโน่ ยังคงมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้กับแอร์หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็บอกได้เลยว่า มันแทบจะไม่มีความจำเป็นแล้ว แอร์ที่ผลิตมาในปัจจุบันมีระบบป้องกันในส่วนวงจรไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และดีขึ้นกว่าแอร์ในอีต ดังนั้นใช้เพียงเบรกเกอร์แบบธรรมดา ก็พอแล้ว 



แต่ถ้าใครจะนำไปใช้งานกับแอร์ที่ติดตั้งใหม่ ก็สามารถนำไปใช้งานได้ไม่เสียหายอะไร แค่เพียงอาจจะเสียเงินเพิ่มขึ้นมา จากราคาเบรกเกอร์แบบปกติกว่าเท่าตัว




 

Create Date : 10 กันยายน 2556    
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 6:44:18 น.
Counter : 37512 Pageviews.  

เบรกเกอร์ที่ใช้กับแอร์



เบรกเกอร์ (Breaker) หรือเรียกอย่างเต็มๆว่า Circuit Breaker เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าในกลุ่มสวิตซ์อัตโนมัติ ที่นำมาใช้ควบคุมการเปิด/ปิดวงจรไฟฟ้า และนอกจากจะใช้เป็นสวิตซ์แล้ว ภายในเบรกเกอร์ก็ยังมีกลไกการทำงานที่สามารถปลดวงจรได้เองอัตโนมัติ เมื่อเกิดสภาวะการใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดที่กำหนด (Over load) และเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit)

สำหรับเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ เบรกเกอร์นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับแอร์มาโดยตลอด แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายๆคนมองข้าม และละเลยที่จะให้ความสนใจ วันนี้ weblog KanichiKoong [AC&EE] จึงขอนำเสนอบทความว่าด้วยเรื่องของ "เบรกเกอร์ที่ใช้กับแอร์"


เบรกเกอร์ที่นำมาใช้ควบคุมแอร์ หากไม่ได้มีการกำหนดเป็นกรณีพิเศษ ช่างที่ติดตั้งมักจะนิยมใช้เป็น เซฟตี้เบรกเกอร์ (Safety Breaker) ซึ่งเป็นเบรกเกอร์แบบ 2 Pole มีคุณสมบัติพื้นฐาน สามารถตัดวงจรหรือทริปเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัดที่กำหนดไว้

เซฟตี้เบรกเกอร์ จัดว่าเป็นเบรกเกอร์ในกลุ่มที่มีขนาดเฟรมเล็ก ราคาไม่แพง มีขนาดให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 5(6), 10, 15(16), 20, 25, 30(32) และ 40 A มีค่าทนกระแสลัดวงจรสูงสุด (IC) =1,500 A (1.5 kA.) 

เนื่องจากเป็นเบรกเกอร์เฟรมเล็ก และค่าทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่ไม่มาก ทำให้เซฟตี้เบรกเกอร์ ไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นเบรกเกอร์ควบคุมระบบไฟฟ้ารวมของอาคารบ้านเรือน แต่เหมาะที่จะนำไปใช้ควบคุมเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือวงจรย่อยที่ใช้กระแสไฟฟ้าไม่มาก







โดยทั่วไปในการติดตั้งแอร์ เซฟตี้เบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานอีกหนึ่งอย่าง ที่ได้ถูกรวมไว้ ในรายการอุปกรณ์ประกอบติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็จะมาพร้อมกับกล่องหรือฝาครอบพลาสติก

งานติดตั้งแอร์ทั่วๆไปนั้น เดิมทีนั้นการเลือกใช้ เซฟตี้ เบรกเกอร์ หลักๆจะมีอยู่ 2 เกรด คือ

เกรดคุณภาพค่อนข้างดี ซึ่งจะพบได้ในกรณีที่เป็นร้านแอร์หรือศูนย์บริการ ที่มีการให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้ เซฟตี้ เบรกเกอร์ ของ Panasonic ซึ่งเบรกเกอร์แบรนด์นี้ ได้รับความนิยมมานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยที่ยังคงใช้ชื่อแบรนด์เดิมคือ National 

โดยในปัจจุบัน มีราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 90-100 บาท

และใช้ร่วมกับกล่องฝาครอบพลาสติก ราคาประมาณ 15-20 บาท






เกรดคุณภาพต่ำลงมา ในกรณีนี้มักพบเจอได้จากร้านที่ไม่ใส่ใจรายละเอียดหรือคุณภาพมากนัก และเน้นแต่การลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการลดต้นทุนที่ว่านี้ก็จะลดในอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ รวมทั้งเบรกเกอร์ด้วย ซึ่งเกรดของ เซฟตี้ เบรกเกอร์ ที่ร้านประเภทนี้เลือกมาใช้ติดให้ลูกค้า จะอยู่ในระดับที่คุณภาพต่ำ และมีราคาถูกถึงถูกมาก

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ถ้าเป็น เซฟตี้ เบรกเกอร์ เกรคต่ำลงมา มักจะนิยมใช้เป็นของ TP 79 หรือยี่ห้ออื่นๆที่ราคาใกล้เคียงกับ และบางรายอาจจะใช้เบรกเกอร์ของจีนที่ทำเลียนแบบก็มี

เซฟตี้ เบรกเกอร์ของ TP 79 จะมีรูปทรงภายนอกและสีที่ดูเหมือนกับ เซฟตี้ เบรกเกอร์ Panasonic ถ้าหากผู้ใช้งานทั่วไปไม่สังเกตุก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นของ Panasonic แต่ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเหมือนกัน แต่คุณภาพวัสดุที่ใช้กลับไม่เหมือนกัน เบรกเกอร์ราคาถูกก็ย่อมใช้วัสดุเกรดต่ำลงมาตามราคา 

เซฟตี้เบรกเกอร์ของ TP 79 จะมีราคาประมาณ 50-60 บาท

และก็จะมาพร้อมกล่องฝาครอบพลาสติก ราคาประมาณ 15-20 บาท




ส่วนบางร้านหรือช่างแอร์รายย่อยบางราย ที่เน้นลดต้นทุนลงมาอีก ก็อาจจะใช้เบรกเกอร์เกรดต่ำมาก ซึ่งเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพที่มาจากจีน เพราะในปัจจุบัน เบรกเกอร์จีนแดงพวกนี้ เริ่มจะเข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่ถูกจนน่ากลัว ซึ่งมีราคาขายส่งจากร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าบางแห่ง เริ่มต้นที่ตัวละ 20-30 บาท ซึ่งราคาในระดับนี้เรื่องคุณภาพคงไม่มีเหลือให้พูดถึง


แต่ส่วนตัวผู้เขียนเอง เห็นว่าการที่เราจะลงทุนจ่ายแพงขึ้นอีกสักนิด เพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพกว่า โดยเฉพาะในการจ่ายแพงกว่าขึ้นมานิดหน่อย เพื่อให้ได้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ก็จะคุ้มค้าในระยะยาว และก็ทำให้การนำไปใช้งานมีความปลอดภัยมากกว่า

ซึ่งในตอนนี้ผู้เขียนยังให้ของ Panasonic เป็นตัวเลือกที่ยังจัดว่าดีอยู่ แต่ถ้าในวันใด Panasonic ปรับลดคุณภาพลงไปจนรับไม่ได้ ก็คงต้องเลิกคบหาเป็นแน่


สำหรับการเลือกขนาดของเบรกเกอร์ที่ใช้กับแอร์นั้น ให้พิจารณาจากขนาดทำความเย็นของแอร์ ว่ามีขนาดกี่ BTU ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับการเลือกขนาดสายไฟที่จ่ายไฟให้แอร์ ต้องมีขนาดที่เหมาะสมด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว การเลือกขนาดเบรกเกอร์และสายไฟของผู้เขียนเอง จะดูในส่วนของความเหมาะสม ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมา เรื่องขนาดสายไฟของแอร์นั้น เห็นควรจะต้องเผื่อไว้ให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย เพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกเปิดใช้งานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ และจะต้องใช้ไปอีกร่วมสิบปี โดยที่ไม่มีใครมานั่งใส่ใจนึกถึงสายไฟระหว่างที่ใช้งาน 

รวมไปถึงในการติดตั้งแอร์ส่วนใหญ่นั้น แอร์หลายๆรุ่นที่มีการออกแบบให้การต่อสายเมนไฟเข้าไปอยู่ที่ส่วนคอยล์ร้อน การติดตั้งจึงมักจะจะนำสายเมนที่จ่ายไฟให้กับแอร์ติดตั้งร่วมกันกับท่อนำยาแอร์ แล้วพันทั้งหมดรวมไว้ด้วยกันด้วยเทปพันท่อแอร์ และตลอดอายุการใช้งานนั้นมันก็จะอยู่ภายในนั้นร่วมกับท่อแอร์ จึงควรที่จะเผื่อเหลือในเรื่องขนาดสายไฟไว้สักเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรเผือขนาดสายมากเกินเพราะมันเปินการสิ้นเปลืองโดยไม่ใช่เหตุ

สำหรับการเลือกสายไฟ ที่ผู้เขียนและคนรอบข้างนำมักจะไปใช้เป็นเกณฑ์ ก็ดังที่แสดงในตารางข้างล่างนี้






นอกจากนี้ ยังมีหลายๆท่าน มักจะถามผู้เขียนเกี่ยวกับเบรกเกอร์แอร์ โดยที่แต่ละท่านถามมานั้นก็จะเป็นคำถามเกี่ยวกับเบรกเกอร์แอร์ แต่ก็จะมีประเด็นในเรื่องที่แตกต่างกันไป และในส่วนนี้ผู้เขียนจะขอหยิบยกเอาตัวอย่างคำถามหลักๆ ที่เจอถามกันบ่อยๆมาอธิบายให้ฟัง ต่อไปนี้



- บ้านโครงการมีการเดินสายไฟโดยให้เบรกเกอร์แอร์แต่ละห้อง ไปรวมอยู่ที่ตู้เดียวกันต้องติดเบรกเกอร์แอร์เพิ่มที่แต่ละห้องหรือไม่ ?

กรณีเป็นบ้านโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์ ปัจจุบันบ้านโครงการพวกนี้หรืออาคารอื่นๆที่ก่อสร้างใหม่ นิยมเอาเบรกเกอร์ที่ควบคุมแอร์ในห้องต่างๆ มาติดตั้งเรียงรวมกันไว้ในตู้ควบคุมไฟฟ้า Consumer Unit , Load Center เพราะว่าการนำไปรวมไว้ภายในตู้เดียวกัน ทำให้สามารถทำงานงาย และงานออกมาเรียบร้อยไม่ต้องตามเก็บหลายจุด

ซึ่งถ้าหากบ้านใครที่เป็นเช่นนี้แล้ว ก็ให้แล้วไป ไม่ต้องไปแก้ไขเพิ่มเพราะจะเป็นการยุ่งยากและงานบานปลาย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งแบบเดินสายไฟฝังผนัง ดังนั้นในการติดเบรกเกอร์ย่อยให้แอร์ตามห้องต่างๆ ก็ย่อมต้องมีการเพิ่มสายไฟนอกเหนือจากของเดิมที่มี และเพื่อความสวยงามก็อาจจะต้องกรีดผนัง-รื้อฝ้า มีงานปูน งานสี งานฝ้า รออยู่อีกมากนอกเหนือจากงานไฟฟ้า 

แต่ถ้าใครไม่ติดขัดเรื่องงบ และงานที่มีหลายขั้นตอน หากอยากจะแยกจริงๆ ก็สามารถทำได้ 

แต่หากถามว่า กรณีนี้จำเป็นจะต้องมาติดแยกเพิ่มที่ในห้องต่างๆอีกหรือเปล่า ก็ตอบได้เลยว่า "ไม่จำเป็น"






- จากคำถามข้างบน หากเบรกเกอร์แอร์แต่ละห้องทุกตัวรวมไว้ที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า การไปเปิดปิดอาจจะไม่สะดวก วิธีแก้ควรทำเช่นใด ?

กรณีนี้ เพื่อความสะดวกแนะนำให้ควรแยกว่า แอร์ของห้องหรือของส่วนไหนบ้างต้องเปิดใช้งานเป็นประจำทุกวัน และเครื่องไหนที่นานๆจะได้เปิดใช้สักครั้ง

และสำหรับแอร์ที่เปิดใช้งานเป็นประจำทุกๆวัน อย่างเช่นแอร์ห้องนอน ที่ในทุกๆวันต้องเปิดตั้งแต่ตอนค่ำไปปิดอีกครั้งตอนเช้าของอีกวัน หากไม่สะดวกที่จะเดินไปปิด-เปิดเบรกเกอร์แอร์เครื่องนี้ ที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า ก็แนะนำว่าปิดด้วยรีโมทอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว

และสำหรับแอร์ที่นานๆจะเปิดสักครั้งเช่นแอร์ห้องนอนแขกหรือห้องนอนญาติผู้ใหญ่ ที่นานๆท่านจะมาพักสักครั้ง รวมถึงแอร์ห้องรับแขกที่อาจจะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดที่ไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งในวันธรรมดานั้นไม่ได้มีการใช้เลย อันนี้สมควรที่จะปิดเบรกเกอร์หลังจากที่ใช้เสร็จ แล้วจะใช้งานเมื่อไหร่ก็ค่อยเดินไปเปิดที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า

หรือถ้าในวันใดมีพายุฝนฟ้าคะนองก็ควรจะปิดเบรกเกอร์เพื่อป้องกันเบื้องต้น


ส่วนตัวผู้เขียนเองก็ขอแชร์ประสบการณ์ด้านนี้ในการใช้งานเอง ซึ่งก็เป็นลักษณะการใช้งานในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งโดยส่วนตัวนั้น ที่บ้านหลังปัจจุบันรวมทั้งที่อาคารสำนักงานร้านค้า ผู้เขียนได้ออกแบบระบบไฟฟ้าด้วยตนเอง ในตอนออกแบบก็กำหนดให้เบรกเกอร์ย่อยที่ใช้ควบคุมแอร์แต่ละเครื่อง ไปรวมไว้ในที่เดียว ซึ่งจะเป็นตู้ Load Center ที่ใช้เป็นแผงควบคุมยอยในแต่ละชั้น ในนี้ก็จะมีวงจรย่อยของแอร์ แสงสว่าง เต้ารับ และอื่นๆรวมอยู่ด้วยกัน

และในการใช้งานประจำวัน ของที่สำนักงานก็จะมาเปิดตัวที่ใช้ประจำในทุกๆเช้า และพอเสร็จงานทุกเย็นก็ไล่ปิดเบรกเกอร์แอร์ทุกอัน รวมทั้งเบรกเกอร์วงจรอื่นๆที่ไม่ต้องใช้แล้ว

แต่ในส่วนที่บ้านผู้เขียนเอง เบรกเกอร์แอร์ห้องอื่นๆไม่ค่อยได้ใช้ประจำก็จะปิดเอาไว้หมด ยกเว้นเบรกเกอร์แอร์ของห้องนอนจะไม่เคยปิดเลย จะปิดก็ต่อเมื่อกรณีที่จะไปต่างจังหวัดหรือไม่มีใครอยู่บ้านหลายวัน ส่วนเหตุผลที่ผู้เขียนไม่ปิดเบรกเกอร์แอร์ห้องนอนเลย เพราะมันก็ต้องใช้งานประจำทุกวันอยู่แล้วจึงไม่ปิด และอีกเหตุผลก็เพื่อต้องการให้คอมเพรสเซอร์ทำงานทันทีที่กดรีโมทเปิดแอร์ การปิดแอร์ด้วยการปิดเบรกเกอร์ตามนั้น เมื่อมาเปิดเบรกเกอร์และกดรีโมทเปิดแอร์ จะต้องรอหน่วงเวลาคอมเพรสเซอร์ 3-5 นาที ทำให้ห้องเย็นช้ารู้สึกไม่ค่อยทันใจเวลาที่กลับมาเหนื่อยๆ 

และอีกกรณีหนึ่ง หากใครที่ใช้แอร์เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ เหมือนที่ผู้เขียนเองใช้อยู่ในห้องนอนนั้น ทางที่ดีแนะนำว่าควรสังเกตรูปแบบการทำงานของแอร์ที่ใช้ด้วย เพราะแอร์อินเวอร์เตอร์ในบางรุ่น เมื่อเรากดปิดแอร์จากรีโมท แม้ชุดคอยล์เย็นในห้องจะปิดแล้ว แต่ระบบควบคุมมันจะยังสั่งการให้พัดลมที่ชุดคอยล์ร้อนนอกบ้านทำงานต่อไปสักระยะ เพื่อระบายความร้อนที่ยังคงสะสมอยู่ เป็นการยืดอายุให้กับส่วนควบคุมระบบอินเวอร์เตอร์




- ใช้สวิตซ์เปิดปิดไฟธรรมดา มาควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ได้ไหม?

การใช้สวิตซ์เปิดปิดหลอดไฟแบบธรรมดา มาควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ ตัวอย่างเช่นการนำสวิตซ์เปิดปิดไฟ ถ้าเป็นสวิทช์ไฟของที่มีคุณภาพ ก็จะมีพิกัดทนกระแสได้ถึง 16 A ซึ่งหากจะนำสวิทช์ไฟแบบนี้มาควบคุมเครื่องปรับอากาศ ขนาดไม่เกิน 18000 BTU หากพิจารณาจากข้อมูลทางเทคนิค ก็อาจจะดูแล้วเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะแอร์ระดับนี้มีอัตราการกินกระแสที่น้อยกว่าพิกัดสูงสุดของสวิตซ์

แต่ในความเป็นจริง ผู้เขียนไม่อยากแนะนำให้นำสวิตซ์แบบเปิดปิดไฟทั่วไป มาใช้ควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ เนื่องจากมันดูไม่ค่อยเหมาะสม จริงอยู่ที่กระแสใช้งานอยู่ในระดับที่สวิตซ์เอาอยู่ แต่แอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ใช้มอเตอร์ ซึ่งเมื่อมีการตัดต่อวงจรขณะมอเตอร์ทำงาน ก็อาจจะทำให้กระแสไฟฟ้าเกิดสภาวะกระชาก 

และสวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดา หากนำมาใช้ควบคุมแอร์โดยตรง ตัวสวิตซ์มักมีอายุการใช้งานไม่นานก็มีปัญหาต้องเปลี่ยนใหม่ 

แต่เหตุผลที่บางท่านอยากใช้สวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดาแทนเบรกเกอร์นั้น ก็เพื่อเหตุผลด้านความสวยงาม เนื่องจากไม่อยากให้มีเบรกเกอร์ที่อยู่ในกล่องติดลอยเหมือนที่ใช้ทั่วไป

ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องความสวยงาม เพราะเดี๋ยวนี้ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าเขามีอีกทางเลือกมาให้ ในกรณีดังกล่าวแล้วคือใช้หน้ากาก และชุดประกอบเบรกเกอร์แบบติดฝัง ซึ่งมีขนาดหน้ากากเท่ากันกับหน้ากากสวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดาทั่วไป และสามารถนำมาติดตังฝังเข้าไปในผนังตามรูปแบบที่ติดตั้งสวิตซ์และเต้ารับได้ด้วย











 

Create Date : 08 กันยายน 2556    
Last Update : 14 กันยายน 2558 7:57:25 น.
Counter : 83418 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.