สายดินสำหรับแอร์
ในส่วนของเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ที่ใช้กันอยู่ในอาคารบ้านเรือน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องนำมาติดตั้งใช้งานอยู่กับที่ และในกรณีของแอร์รุ่นปัจจุบันที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา บริเวณจุดต่อสายไฟเข้าเครื่องนั้น ทางผู้ผลิตก็ได้กำหนดจุดสำหรับต่อสายดินเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายท่านที่เกิดข้อสงสัย ว่า...แอร์ที่ติดตั้งนั้นควรจะต้องต่อสายดินหรือไม่ ?
ซึ่งในเรื่องของสายดินนี้ ถ้าพูดถึงระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัยในปัจจุบัน หากเป็นบ้านที่สร้างขึ้นในช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมานี้ แทบทุกบ้านที่ก่อสร้างหรือทำการปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งระบบ จะต้องดำเนินการติดตั้งระบบสายดินควบคู่กับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งใช้งาน ตามข้อบังคับของการไฟฟ้าฯ และเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
และเป็นที่ทราบกันดีว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้งานกันอยู่ภายในบ้าน หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ติดตั้งอยู่กับที่หรือกึ่งอยู่กับที่ ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีโครงภายนอกเป็นโลหะ มีส่วนที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้หรือมีส่วนสัมผัสที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่เชื่อมถึงกับผู้ใช้งานโดยตรง จะต้องมีการติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ซึ่งหาจะพิจารณาจากข้อมูลที่มาจากโรงงานผู้ผลิต กรณีของแอร์นั้น เรื่องการต่อสายดินให้กับแอร์ดูจะเหมือนจะยังไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญมากนัก และก็ไม่ได้มีการกำหนดเป็นคำเตือนข้อบังคับให้ต้องต่อสายดินแสดงให้เห็นชัดเจนเหมือนที่เห็นกันบนฉลากของเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ผู้ผลิตหลายรายได้เขียนคำแนะนำเรื่องการต่อสายดินรวมไว้ในเอกสารประกอบการติดตั้งที่มีมาให้ สำหรับในการติดตั้งแอร์แบบที่พบเห็นได้ทั่วๆไป ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเน้นในเรื่องของมาตรฐานสักเท่าไหร่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่นิยมติดตั้งระบบสายดินให้กับแอร์ โดยอาจจะใช้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงเช่น...ส่วนคอยล์เย็นของแอร์ที่ติดตั้งในปัจจุบัน มีฝาครอบเป็นพลาสติกไม่นำไฟฟ้าและมักจะติดตั้งในระดับที่สูงจนการใช้งานปกติแทบจะไมมีการสัมผัสหรือเข้าถึงและแม้แต่ส่วนคอยล์ร้อนเองถึงแม้จะเป็นโลหะหุ้มแต่การติดตั้งใช้งานปกตินั้นตำแหน่งที่วางคอยล์ร้อนก็เป็นตำแหน่งที่ผู้ใช้ทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าถึงอยู่แล้วความเสี่ยงเรื่องที่ผู้ใช้งานจะโดนไฟดูดจึงเหมือนจะมีน้อย และยิ่งการใช้งานปกติก็มักจะควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่สัมผัสกับผู้ใช้งานในกรณีแบบที่ใช้งานกันปกติทั่วๆไปจึงแทบจะไม่มีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายจากไฟดูด สายดินของแอร์จึงยังไม่ค่อยได้รับการนึกถึงความสำคัญเท่าที่ควร หรือจะต้องรอให้เกิดเหตุขึ้นก่อนจึงจะมีใครเห็นความสำคัญของมัน
และบ่อยครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พบมาก็คือกรณีที่ระบบไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นมีระบบสายดินพร้อมตรงตามข้อบังคับของการไฟฟ้าและทางช่างที่มาดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าก็ได้มีการติดตั้งเป็นเบรกเกอร์วงจรย่อยแยกออกมาให้ในตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้กับแอร์โดยเฉพาะและได้มีการเดินสายเมนไฟพร้อมกับสายดินมารอไว้ยังจุดที่เผื่อไว้ให้สำหรับการติดแอร์ภายหลังแต่เมื่อช่างแอร์ได้มาติดตั้งแต่ในภายหลัง กลับต่อเฉพาะสายเมนสำหรับจ่ายไฟให้แอร์แต่สายดินที่ถูกเดินมารอไว้ร่วมด้วยแต่แรกกลับถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ต่อเข้ากับจุดต่อสายดินของแอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายและสายดินของวงจรย่อยที่ใช้กับแอร์นั้นก็ถูกปล่อยไว้เปล่าประโยชน์
ทางที่ดีที่สุดนั้น หากว่าบ้านหลังไหนที่มีระบบสายอยู่พร้อมแล้ว และยิ่งถ้ามีการต่อสายดินมารองรับถึงที่จุดติดตั้งช่างแอร์ที่มาติดตั้งต่อในภายหลัง ก็ควรที่จะต่อระบบสายดินนั้นให้กับแอร์ที่ติดตั้งด้วยเพื่อเสริมความปลอดภัยให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก และเพื่อความถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน อย่าคิดแต่เพียงว่าสายดินที่ต่อนั้นคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและทำให้กำไรลด เพราะต้นทุนที่เพิ่มเข้ามามันก็ไม่กี่บาท ช่างแอร์บางราย ประเภทที่ว่าต้นทุนอะไรลดได้ก็ลดๆให้หมดลดไว้ก่อน แต่ก็ไม่เห็นว่าใครจะได้เป็นเศรษฐีขึ้นมา
ต่อสายดินให้แอร์แล้วเครื่องตัดไฟจะทริปหรือเปล่า? คำถามแบบนี้เมื่อก่อนผู้เขียนมักพบเจออยู่บ่อยๆ ซึ่งมันมีที่มาที่ไปจากการที่ช่างแอร์บางรายก็อาจจะยังมีความเชื่อที่ผิดๆ อาจจะเริ่มมาจากที่ได้ยินต่อๆกันมาหรือจากไหนก็ตามแต่ ว่าการต่อสายดินให้กับแอร์ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นมีการติดตั้งเครื่องตัดไฟหรือเบรกเกอร์แบบป้องกันไฟดูดควบคุมอยู่เมื่อต่อสายดินให้กับแอร์แล้วจะทำให้เบรกเกอร์แบบที่ป้องกันไฟดูดปลดวงจรออกเองเพราะมีไฟรั่วลงดิน ซึ่งนั่นถือเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะในกรณีของแอร์ปกติแบบที่ใช้กันอยู่ มีมาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดไว้แล้วโดยขณะทำงานในสภาวะปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วออกมาสู่โครงโลหะหรือถ้ามีก็ต้องน้อยมากๆจนไม่สามารถรู้สึกได้เมื่อสัมผัสโครงโลหะและก็ต้องน้อยจนไม่มีผลให้อุปกรณ์ป้องกันแบบที่ใช้กันปกติตรวจจับเจอและสั่งให้ทริปวงจรได้ ดังนั้นการไม่ต่อสายดินให้แอร์โดยอ้างเหตุผลเรื่องเครื่องตัดไฟทำงานถือเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแอร์ที่ติดตั้งใหม่และสภาพสมบูรณ์ปกติการใช้งานปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟรั่วขณะทำงาน หรือมีก็ต้องมีน้อยมากๆ
ต่อสายดินให้แอร์จะเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่มีหลายท่านสงสัยอยู่ซึ่งก็อ้างอิงตามที่ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องที่ว่าเครื่องตัดไฟจะทริปหรือเปล่า เพราะแอร์สภาพปกติจะไม่มีกระแสไฟฟ้ารั้วลงดิน หรือรั่วก็อยู่ในระดับที่น้อยมากซึ่งนั่นไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จะส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มจนเห็นได้
สายดินของแอร์ระบบ Inverter หากเป็นแอร์ระบบ Inverterผู้เขียนอยากจะเน้นให้ต้องต่อสายดินไว้ด้วยจะเป็นการดี โดยเฉพาะบ้านที่มีระบบสายดินอยู่แล้วจะต้องต่อสายดินให้แอร์ด้วยในกรณีที่ติดตั้งแอร์ระบบ Inverter เพราะแอร์ระบบ Inverter เป็นแอร์ที่มีภาคควบคุมทางไฟฟ้าที่ซับซ้อนขึ้นมาจากแอร์แบบธรรมดาหลายเท่า ซึ่งภาคควบคุมที่ว่านี้จะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีทั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภาคกำลังและภาคควบคุมที่ต้องทำงานร่วมกัน ในระหว่างที่แอร์ทำงานนั้นจะเกิดคลื่นสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าร่วมด้วย การต่อสายดินในแอร์ระบบ Inverter จะช่วยกำจัดปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าได้มาก ตลอดจนเป็นการป้องกันชิ้นส่วนในวงจรอิเล็กทรอนิกส์อันแสนบอบบาง ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ในกรณีที่มีฟ้าผ่าลงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
สรุปคือหากบ้านหลังไหนที่มีการติดตั้งระบบสายดินอยู่ในระบบไฟฟ้าแล้ว การติดแอร์เพิ่มในภายหลังก็ควรจะต่อสายจากจุดต่อสายดินของเครื่องปรับอากาศเข้ากับระบบสายดินของบ้าน เพื่อเป็นการเสริมการป้องกันให้ดียิ่งขึ้น และยังป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย ส่วนบ้านหลังไหนที่ไม่มีระบบสายดินอยู่หากจะติดตั้งสายดินเพิ่มเฉพาะของแอร์ ก็สามารถทำได้แต่ในกรณีที่จะไม่ติดตั้งสายดินให้กับแอร์ หากท่านได้พิจารณาแล้วว่าชิ้นส่วนตัวโครงโลหะของเครื่อง ในจุดที่ติดตั้งนั้นอยู่ในระดับที่ผู้ใช้งานทั่วไปในสภาวะปกติไม่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสหรือเข้าถึงโดยตรง การติดตั้งโดยไม่มีระบบสายดินก็ถือว่าสามารถยอมรับได้ในระดับหนึ่ง
Create Date : 21 ตุลาคม 2557 |
Last Update : 7 มีนาคม 2560 19:28:32 น. |
|
5 comments
|
Counter : 57892 Pageviews. |
|
|
ตามอ่านอยู่เรื่อยๆนะครับ