เติมน้ำยาแอร์...คิดราคากันอย่างไร
บทความชุดนี้จะขอพูดว่าด้วยเรื่องของการเติมน้ำยาแอร์เพิ่มในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้แอร์หลายๆท่านได้เคยพบเจอกันมาแล้ว และส่วนใหญ่ก็มักมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ในเรื่องนี้ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงบางครั้งก็เป็นเพราะการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่มักจะแสวงหากำไรเกินควร และอีกหลายๆครั้งก็มักจะเกิดจากการที่ผู้ใช้แอร์อาจจะเข้าใจผิดคิดไปเอง เพราะได้รับข้อมูลที่ผิดๆมาจากแหล่งอื่นๆ ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงของแอร์บ้านมานานพอสมควรวันนี้จึงจะขอหยิบยกเอาปัญหาเรื่องของการเติมน้ำยาแอร์ มาเขียนเป็นบทความชุดนี้ขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเองไม่ขอพูดว่า ข้อมูลจากผู้เขียนเป็นข้อมูลที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น แต่อยากให้ผู้อ่านได้ลองอ่านและคิดตามไปพร้อมๆกัน จะเป็นการดีที่สุด ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเริ่มต้นในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสารทำความเย็นและความรู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องขอสารทำความเย็นก่อนเพื่อที่ท่านจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน
สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ น้ำยาแอร์ หรือสารทำความเย็น (Refrigerant) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบเครื่องทำความเย็น และระบบเครื่องปรับอากาศ โดยที่สารทำความเย็นจะเปรียบเสมือนตัวกลางสำหรับถ่ายเทความร้อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สารทำความเย็นในระบบเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงสารทำความเย็นในเครื่องทำความเย็นทั่วๆ ไปจะมีแรงดันมากกว่าแรงดันบรรยากาศหลายเท่า เมื่อรั่วออกมาจะเดือดและระเหยเป็นไอทันที ทำให้ต้องอยู่ในระบบปิดหรือถังบรรจุที่ปิดผนึกมิดชิด อีกทั้งมันยังเป็นสสารที่สามารถอยู่ได้ทั้งในรูปของแก๊สและของเหลว ขึ้นกับความดันและอุณหภูมิ ในระบบเครื่องปรับอากาศ(แอร์) ที่ใช้กันภายในอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงในอาคารสำนักงานต่างๆ สารทำความเย็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกับแอร์ในประเทศไทย คือสารทำความเย็นชนิดที่ใช้ชื่อรหัส R-22 ซึ่งมีประวัติการนำมาใช้งานในบ้านเรายาวนานหลายสิบปี แต่เนื่องจากสารทำความเย็น R-22 มีส่วนผสมของสาร CFC ซึ่งสารตัวนี้เมื่อออกสู่บรรยากาศภายนอกจะทำลายชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุของสภาวะเรือนกระจก ทำให้เริ่มมีการคิดค้นและนำเอาสารทำความเย็นชนิดใหม่มาใช้ ซึ่งในตอนนี้ที่เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น สารทำความเย็นที่มีชื่อรหัสว่า R-410a จึงทำให้ในตอนนี้สารทำความเย็นที่นำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศภาคครัวเรือนหรือแอร์บ้านมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ R-22 และ R-410a สำหรับชุดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์แบบแยกส่วน ทีซื้อมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ใช้สารทำความเย็น R-22 และ R-410a จะมีสารทำความเย็นมาให้ในปริมาณที่เพียงพอ (สำหรับการติดตั้งที่เดินท่อไม่เกิน 4 เมตร) โดยผู้ผลิตจะอัดสารทำความเย็นไว้ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ หลังจากที่เราติดตั้งตัวเครื่องและได้เชื่อมต่อระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ทำสุญญากาศระบบและทดสอบจนมั่นใจว่าระบบไม่รั่ว ผู้ติดตั้งก็จะทำการเปิดวาล์วด้านท่อทางอัด(ท่อเล็ก) ให้สารทำความเย็นไหลเข้าสู้ท่อไปยังชุดคอยล์เย็น Fancoil Unit แล้วจึงเปิดวาล์วด้านท่อทางดูด(ท่อใหญ่) เพื่อเชื่อมต่อระบบให้ถึงกันอย่างสมบูรณ์
แรงดันของสารทำความเย็นในระบบ ในเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-22 การจะตรวจสอบปริมาณสารทำความเย็นในภายหลัง ว่ายังคงมีสารทำความเย็นอยู่เพียงพอหรือไม่ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีแต่วิธีที่ให้ค่าออกมาแน่นอนและนิยมทำกันมากสุดคือการต่อเกจเมนิโฟลด์ เพื่อวัดค่าแรงดันของสารทำความเย็นในระบบ ซึ่งทั่วไปแล้วถ้าเป็นการวัดเพื่อตรวจสอบปริมาณสารทำความเย็น จะวัดแค่เพียงที่วาล์วลูกศรด้านท่อทางดูด(ท่อใหญ่) ซึ่งท่อนี้จะเป็นท่อของสารทำความเย็นที่อยู่ในสถานะแก๊ส และเป็นท่อด้านที่มีแรงดันต่ำขณะเดินเครื่อง ส่วนท่ออีกด้านหนึ่งจะเป็นท่อทางอัด(ท่อเล็ก) มีสารทำความเย็นที่เป็นของเหลวแรงดันสูงมากไหลอยู่ เราจึงไม่สามารถต่อเกจเมนิโฟลด์เข้าไปในขนะที่เครืองทำงานอยู่ได้ เพราะแรงดันที่สูงอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ ในกรณีแอร์ขนาดไม่ใหญ่มากท่อด้านนี้จึงไม่ค่อยจะได้ต่อใช้งานสักเท่าไหร่ ผู้ผลิตจึงเลือกที่จะไม่ใส่วาล์วลูกศรให้กับท่อทางอัด ของแอร์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนั่นเอง ตามปกติแล้ว ค่าแรงดันสารทำความเย็นมาตรฐาน ตามตำราดั้งเดิมกำหนดไว้ที่ประมาณ 68-75 PSIG (ปอนด์ต่อตารางนิ้วเกจ) ซึ่งถ้าแรงดันที่วัดได้อยู่ในเกณฑ์ที่ว่านี้ ถือว่าผ่าน สรุปก็คือ...ถ้าแรงดันน้ำยาไม่ต่ำกว่า 68 PSIG ถือว่าแอร์ยังมีน้ำยาเพียงพอแต่ เนื่องจากค่าดังกล่าวเป็นค่ามาตรฐานที่มีกำหนดมานานแล้ว ปัจจุบันนี้ส่วนมากจะกำหนดให้แรงดันน้ำยาแอร์ระดับต่ำสุดเป็น 70PSIG และ 78-80 PSIG เป็นค่าสูงสุด แต่ว่าต้องไม่ลืมดูค่ากระแสไฟฟ้าที่คอมเพรสเซอร์ใช้งานด้วย เพราะปริมาณและแรงน้ำยายิ่งมากมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ก็ยิ่งจะต้องขับโหลดหนักขึ้น ทำให้กินกระแสไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นค่าแรงดันควรจะอ้างอิงควบคู่กับค่ากะแสไฟฟ้าที่วัดได้ โดยกระแสไฟฟ้าที่วัดได้ต้องไม่ถึงระดับที่ระบุบนแผ่นป้าย Name plate
แต่ค่าแรงดันเองในบางครั้งก็อาจจะมีการคาดเคลื่อนอยู่บ้างปัจจัยที่ทำให้ค่าแรงดันที่วัดได้มีความคลาดเคลื่อนก็มีอยู่หลายๆปัจจัย เช่น - อุณหภูมิแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งคอยล์ร้อน อุณหภูมิสูง = แรงดันสูง , อุณหภูมิต่ำ= แรงดันต่ำ - แรงดันสูงเพราะคอยล์ร้อนสกปรกลมไม่สามารถผ่านได้เท่าทีควร - แรงดันสูงเพราะพัดลมของชุด Condensing Unit มีรอบความเร็วที่ลดลงจากเดิม
การล้างแอร์และเติมน้ำยา ในบ้างครั้งการเรียกใช้บริการล้างแอร์ที่มีการโฆษณาราคาค่าบริการที่ค่อนข้างถูก เช่นราคา 300 บาทซึ่งเป็นราคาที่นับว่าค่อนข้างถูกมากในปัจจุบัน เพราะในยุคนี้การล้างแอร์แบบใช้แรงดันน้ำฉีดล้างทำความสะอาดอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม หรือที่เรียกว่าการล้างใหญ่ เป็นการล้างที่ต้องใช้เวลาและแรงงานเยอะอัตราค่าบริการล้างในกรณีนี้ เฉพาะที่ต่างจังหวัดก็เริ่มต้นที่ 500-600 บาทแล้ว ซึ่งราคาในระดับ 300 ถ้าจะให้ล้างแบบละเอียดในราคานี้ผู้ประกอบการคงจะอยู่ยาก เนื่องจากมีต้นทุนด้านต่างๆที่สูงไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงานหรือค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในทุกๆวัน การล้างแอร์ในราคาที่ถูกนี้ จึงมีแนวโน้มที่ว่า ถ้าไม่เป็นการล้างแบบผ่านๆ ก็อาจจะมีกลเม็ดหรือช่องทางการหารายได้เพิ่ม ซึ่งวิธีที่ช่างแอร์ที่อาจไม่ค่อยมีคุณธรรมนิยมใช้ คือการชาร์ทค่าบริการเพิ่มในรูปแบบของค่าน้ำยาโดยอ้างว่าแอร์ของลูกค้าน้ำยาขาด หรือน้ำยาไม่พอ ต้องเติมน้ำยาเพิ่ม ช่างบางรายวัดแรงดันน้ำยาและเติมให้ลูกค้าทันทีโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้าก่อนก็มี โดยราคาที่ช่างแจ้งกับลูกค้า มักจะบอกออกมาว่าค่าน้ำยา คิดราคาปอนด์ละ 20-40 บาท (ขึ้นกับช่างแต่ละราย) เติม 10 ปอนด์ก็โดนไปแล้ว 200 400 บาท โดยในบางครั้งก็อาจจะเป็นการเล่นกลแบบไม่ซื้อต่อผู้บริโภค ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนถือว่าเป็นการเอาเปรียบสังคม และยังเป็นภาพลบแก่วงการช่างแอร์ ทำให้ช่างแอร์ดีๆต่างพลอยโดนหางเลขไปด้วย
การป้องกันเพื่อไม่ให้โดนช่างที่ไม่ดีเอาเปรียบ เคล็ดลับเบื้องต้นในการป้องกันตัว เพื่อไม่ให้โดนช่างแอร์ที่ไม่ดีเอาเปรียบ สามารถทำได้ โดยในแต่ละครั้งที่จะเรียกใช้บริการล้างแอร์ ควรเลือกใช้บริการจากร้านประจำ หรือร้านแอร์ที่มีหน้าร้านชัดเจน น่าเชื่อถือ สามารถตามได้สะดวกในกรณีมีปัญหา และอาจจะสอบถามเพิ่มเติมจากเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเคยใช้บริการมาก่อน การล้างแอร์ในแต่ละครั้งก่อนการล้างทุกครั้ง หากเป็นทีมล้างแอร์มืออาชีพช่างจะทำการทดลองรันเครื่องดูก่อนเสมอ พร้อมกับสอบถามลูกค้าว่าแอร์เย็นปกติหรือไม่ และอาจจะมีการจดบันทึกแรงดันสารทำความเย็น และกระแสไฟฟ้าขณะเดินเครื่อง ไว้ก่อนที่จะลงมือถอดล้าง ซึ่งข้อมูลที่เก็บในข้างต้นนี้ก็เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในภายหลัง และภายหลังจากดำเนินการล้างเสร็จ ไปจนถึงการทดลองเดินเครื่องภายหลังที่ล้างเสร็จ ช่างที่ทำงานระดับมืออาชีพ ก็จะวัดแรงดันสารทำความเย็นกับการวัดค่ากระแสไฟฟ้าอีกครั้ง แล้วจึงแจ้งแรงดันน้ำยาที่วัดได้ให้ลูกค้าทราบเสมอ พร้อมทั้งยังมีการให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา ว่าควรจะเติมสารทำความเย็นเพิ่มไปหรือไม่ เพราะในบางครั้งถ้าแอร์สกปรกมากๆหากล้างเสร็จแล้วคอยล์ร้อนที่ถูกฉีดน้ำอย่างสะอาดจะระบายความร้อนได้ดีขึ้นมาก ทำให้ค่าแรงดันที่วัดได้ลดลงไปในระดับหนึ่งทั้งที่มันก็ไม่ได้รั่วออกจากระบบ ซึ่งจุดนี้เองที่ผู้เขียนก็เห็นสมควรให้วัดแรงดันไว้ทั้งก่อนและหลังการล้าง เพราะจะใช้อ้างอิงได้เป็นอย่างดี ถ้าเดิมทีแอร์ของคุณยังเย็นดีอยู่แล้ว หากไปเจอช่างที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือหรือไม่เคยใช้บริการมาก่อน ควรจะบอกช่างไว้ก่อนว่า แอร์ยังเย็นปกติดีอยู่ ล้างเสร็จตรวจเช็คน้ำยาได้เท่าไหร่ช่วยแจ้งให้ทราบก่อน
น้ำยาแอร์ขาด...เป็นไปได้หรือไม่? ที่ผ่านๆมาผู้เขียนมีโอกาสได้พบเห็นการให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะถูก จากสมาชิกท่านหนึ่งในบอร์ดพันทิป ที่มักจะออกมาแนะนำเสมอ เมื่อมีใครตั้งประเด็นที่เกี่ยวกับช่างมาล้างแอร์แล้วเติมน้ำยา โดยสมาชิกท่านนี้มักจะบอกเสมอว่า "ระบบแอร์เป็นระบบปิด ถ้าน้ำยารั่ว ไม่ว่ารอยรั่วจะเล็กหรือใหญ่ น้ำยาจะหายไปทันทีจนหมดทั้งระบบ" พร้อมทั้งในบางครั้งก็ได้มีการนำข้อมูล ที่เป็นราคาเฉพาะของน้ำยาแอร์ โดยเป็นราคาในตลาดซึ่งไม่รวมค่าบริการอื่นๆ มาให้ดู ทำให้หลายๆท่านที่ได้เห็น อาจพาลเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าโดนหลอก ซึ่งสิ่งที่สมาชิกท่านนั้นแนะนำไปนั้น มันไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด และราคาในระดับนี้ คือราคาที่ลูกค้าสามรถหาซื้อได้จากร้านอะไหล่ แต่ต้องนำไปเติมด้วยตนเอง การแนะนำแบบดังกล่าวทำให้หลายๆท่านที่มาเปิดเจอ อ่านแล้วอาจจะเกิดความเข้าใจผิดและจำไปแบบผิดๆ กรณีที่น้ำยาแอร์ขาดหายไปจากระบบแต่ไม่ได้รั่วออกหมดเช่นขาดหายไปจนแรงดันลดลงกว่าค่ามาตรฐาน 20-30 PSIG สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะเชื่ออะไรไป เนื่องจากสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ที่อยู่ภายในระบบนั้น มีแรงดันสูงกว่าค่าแรงดันบรรยากาศหลายเท่า ทำให้มันพยายามที่จะหาทางออกเพื่อเล็ดลอดออกไปจากระบบตลอดเวลา และระบบท่อของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน จุดต่อระหว่างท่อที่เชื่อมต่อกันระหว่างส่วน Condensing Unit ไปยังส่วน Fancoil Unit ก็ใช้การบานปลายท่อแล้วสวมด้วยข้อต่อแฟร์นัทขันเกลียว ไม่ได้เป็นการเชื่อมบัคกรีท่อโลหะให้ติดกันด้วยความร้อน เหมือนจุดต่อในส่วนอื่นๆ
และรวมถึงจุดที่ท่อบริการ (Service Valve) ตรงบริเวณด้านท่อทางอัด(ท่อใหญ่) ก็มีการติดตั้งจุดที่เรียกว่าวาล์วบริการสำหรับใช้ต่อสายเกจ ส่วนนี้จะใช้วาล์วลูกศรใส่เข้าไป โดยที่วาล์วลูกศรก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับจุกลมของยางล้อรถนั่นเอง ในวาล์วลูกศรนี้ก็จะมีซีลยางที่เรียกว่ายางโอริงอยู่ และเมื่อยางโอริงนี้ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบแอร์ ทำให้มันต้องพบเจอกับสภาวะที่เย็นจัดในขณะเดินเครื่อง เมื่อใช้ไปนานๆยางโอริงก็อาจจะมีการเสื่อมสภาพลงไปตามการใช้งาน บางครั้งที่เราไม่ได้ใช้งานแอร์นานๆด้านท่อทางดูดที่ยางโอริงอยู่จะไม่มีแรงดันต่ำเหมือนตอนเครื่องเดิน แต่แรงดันจะเท่ากันทั้งสองท่อ ซึ่งเมื่อสภาพเหมาะสมก็ทำให้แรงดันเล็ดรอดออกไปได้ รวมไปถึงในบางครั้งที่แอร์ไม่ได้ล้างมานาน แผงคอยล์ร้อนสกปรกมากแอร์ระบายความร้อนได้ไม่ดีในช่วงที่อากาศร้อนๆ ส่งผลให้แรงดันสูงเกินไป จนในบางครั้งก็อาจทำให้น้ำยาเล็ดลอดออกไปตามจุดต่อต่างๆหรือที่ยางโอริ่งก็เป็นไปได้ และยังรวมไปถึงในส่วนของรอยเชื่อมแต่ละจุดเอง ก็เป็นอีกสาเหตุของการซึมออกไปทีละน้อยๆเพราะในรอยเชื่อมบางจุด อาจจะเกิดรูพรุนหรือโพรงขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกกันว่ารูตามด จุดนี้ก็มีส่วนที่ทำให้น้ำยาซึมหายไปจากระบบได้เอง เมื่อสภาพโดยรวมเอื้ออำนวย ถ้าที่อธิบายมาไม่เข้าใจ หรือยังเข้าใจไม่ชัดให้ลองนึกเปรียบเทียบง่ายๆ โดยเทียบกับแรงดันลมที่เติมเข้าไปในยางล้อรถ...ยางก็ไม่รั่วแต่ทำไมผ่านไปนานๆลมถึงอ่อน ??? การรั่วกับการซึม ไม่เหมือนกันการรั่วคือรั่วออกไปอย่างต่อเนื่องจนหมด แต่การซึมคือการเล็ดลอดออกไปทีละนิดเมื่อสภาพโดยรอบนั้นเอื้ออำนวย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆปัจจัย เพราะน้ำยาแอร์เองก็เป็นสสารที่อยู่ภายใต้ความกดดันสูง ย่อมที่จะหาหนทางออกมาสู่บรรยากาศได้ตลอดเวลา
แต่ก็ใช่ว่าน้ำยาแอร์จะต้องซึมหายออกจากระบบเสมอไปมีแอร์หลายๆเครื่องที่มีน้ำยาเต็มระบบ ไม่ต้องเติมเพิ่มเลยตลอดอายุการใช้งานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพและรูปแบบการติดตั้ง รวมไปถึงลักษณะการติดตั้งใช้งาน
ราคาค่าบริการเติมสารทำความเย็น ราคาค่าบริการในการเติมสารทำความเย็น โดยทั่วไปแล้วหากเป็นการเติมสารทำความเย็นในภายหลัง มักจะคิดราคาในรูปแบบเป็น ราคา(บาท)/ปอนด์ซึ่งนี่คือรูปแบบหนึ่งของการคิดราคาค่าน้ำยาที่รวมค่าบริการแล้ว และอีกแบบหนึ่งก็อาจจะใช้รูปแบบของการเหมาจ่ายที่รวมค่าน้ำยาและค่าบริการแล้วเช่น ครั้งละ 300บาท เป็นต้น การคิดราคาในรูปแบบ ราคา(บาท)/ปอนด์คือวิธีการที่นำยมมากที่สุดในปัจจุบันเพราะเป็นวิธีที่สะดวกและใช้เครื่องไม้เครื่องมือไม่มากทำให้ไม่ยุ่งยากหรือลำบากในการปฏิบัติงานในพื้นที่จำกัด การคิดราคาที่ใช้คำเรียกกันว่าปอนด์ คำเรียกดังกล่าวมาจากคำในหน่วยวัดปอนด์ต่อตารางนิ้วเกจ PSIG ซึ่งเป็นค่าแรงดันสารทำความเย็นที่อ่านได้ จากหน้าปัดของเกจเมนิโฟลด์ และเป็นค่าที่นำมาใช้คิดค่าบริการเติมสารทำความเย็นของแอร์ จริงอยู่ที่ค่าดังกล่าวเป็นค่าของแรงดันไม่ใช่ค่าของจำนวนปริมาตร เหมือนกับที่ใช้ในการชั่งตวงวัดปริมาณของวัตถุอื่นที่ซื้อขายกันทั่วไป แต่ค่าแรงดันนี้เองก็สามารถบอกถึงปริมาณสารทำความเย็นได้ เพราะถ้าสารทำความเย็นในระบบมีไม่เพียงพอ แรงดันที่วัดจากท่อทางดูดขณะเครื่องทำงานก็จะขึ้นมาไม่ถึงค่ามาตรฐาน แม้ว่าใครหลายคนอาจจะมองว่าการคิดราคาในรูปแบบราคา(บาท)/ปอนด์ เหมือนถูกเอาเปรียบจากช่างแอร์ แต่ขอให้เข้าใจไว้ว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของหน่วยในการคิดราคาของน้ำยาแอร์ที่รวมค่าติดตั้งแล้ว ซึ่งบนโลกนี้มนุษย์ทุกคนทำงานหรือประกอบธุรกิจก็ต่างต้องการที่จะได้เงินมากๆกันทั้งนั้น ลูกค้าเองก็ควรจะเข้าใจผู้ให้บริการด้วย คุณจะเอาราคาขายที่เป็นราคา(บาท)/กิโลกรัม มาเปรียบเทียบกับราคาค่าให้บริการในการเติมน้ำยาแต่ละครั้งไม่ได้ เพราะราคาในระดับนั้นเป็นราคาที่คุณต้องซื้อน้ำยา ซื้อเกจแล้วปีนขึ้นไปเติมเอง ซึ่งในการบริการเติมน้ำยาแอร์นอกจากค่าน้ำยาแล้ว ยังต้องมีค่าแรง ค่าวิชาชีพค่าเชื้อเพลิงค่าความเสี่ยงความยากลำบากในการปฏิบัติงาน ฯลฯ รวมอยู่ด้วย แต่ทางผู้ประกอบการหรือช่างแอร์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการก็ควรจะให้บริการโดยตั้งอยู่บนเหตุผลของความพอดีและความยุติธรรมไม่ควรที่จะตั้งราคาเติมน้ำยาแพงจนเกินความเป็นจริงและไม่ควรเติมน้ำยาโดยที่ไม่ได้แจ้งลูกค้าให้ทราบถึงรายละเอียดก่อนที่จะเติม และที่สำคัญคือช่างที่ไม่ใช่มืออาชีพหรือช่างที่ขาดคุณธรรมที่ชอบเล่นกลกับลูกค้าด้วยการปล่อยน้ำยาทิ้งแล้วบอกว่าน้ำยาขาดการกระทำเช่นนี้จะส่งผลในระยะยาวช่างประเภทนี้จะได้งานแค่ช่วงแรกๆเท่านั้นสุดท้ายลูกค้าก็จะจำแล้วบอกต่อกันปากต่อปากจนสุดท้ายก็จะหมดทางทำมาหากิน
อัตราค่าบริการที่เหมาะสมจากร้านที่ให้บริการที่มีมาตรฐานและเป็นมืออาชีพ ในร้านที่มีมาตรฐาน การออกให้บริการกับลูกค้าจะเลือกใช้สารทำความเย็นคุณภาพ ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่มีการบรรจุลงถังมาจากโรงงานผู้ผลิตหรือจำหน่ายมาพร้อมถังนั่นเอง และเมื่อใช้สารทำความเย็นหมดถังจะต้องนำถังที่หมดแล้วขายเพื่อรีไซเคิล หรือไม่ก็ส่งถังเปล่าขายคืนกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อบรรจุใหม่ เพราะวาล์วเดิมที่มากับถังประเภทนี้จะออกแบบให้ไม่สามารถนำมาเติมใหม่ด้วยตนเองได้(นอกเสียจากใช้การดัดแปลงด้วยตนเอง) ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสารทำความเย็น ซึ่งนี่ก็เป็นผลให้สารทำความเย็นแบบนี้มีคุณภาพที่ดีป้องกันการปนเปื้อนจากสารอื่นๆ
แต่บางครั้งผู้ให้บริการที่ไม่ได้เน้นควบคุมคุณภาพ ก็อาจจะเลือกใช้สารทำความเย็นแบบแบ่งบรรจุเองหรือแบ่งบรรจุจากถังขนาด 50 กิโลกรัม ซึ่งจะแบ่งขายเป็นกิโลกรัม โดยการนำถังเปล่าไปแบ่งเติมเอาเอง หาซื้อได้ที่ร้านขายอะไหล่ในท้องถิ่น การซื้อน้ำยาแอร์ในลักษณะนี้ อาจจะทำให้น้ำยาแอร์เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย และยากที่จะควบคุมคุณภาพ ในกรณีที่ซื้อจากผู้ขายที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีการนำน้ำยาแอร์คุณภาพไม่ดีมาปนขายก็เป็นได้
ราคาค่าเติมน้ำยานอกสถานที่ ในกรณีที่วัดแรงดันสารทำความเย็นแล้วพบว่าเหลืออยู่ได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งของแรงดันปกติ (เหลือไม่น้อยกว่า 40 PSIG) ราคามาตรฐานจะใช้การคิดแบบ ราคา(บาท)/ปอนด์โดยสารทำความเย็น R-22 ราคาจะอยู่ที่ 10-20 บาท/ปอนด์ แต่ในกรณีแอร์บ้านทั่วๆไปที่ไม่เดินท่อยาวมากๆ ก็ไม่ควรคิดราคาเกิน 20 บาทต่อปอนด์ เพราะถือว่าแพงเกินไป และในอีกกรณีที่ใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายถ้าแรงดันสารทำความเย็นที่วัดได้เหลืออยู่ไม่น้อยไปกว่าครึ่งของค่าปกติ(เหลือไม่น้อยกว่า 40 PSIG) อาจคิดราคาเหมาจ่ายที่ 300 - 400 บาท แต่ถ้าสารทำความเย็นที่วัดได้ต่ำกว่าครึ่ง คือต่ำกว่า 40 PSIG หรือการเติมใหม่ทั้งระบบทางที่ดีที่สุดควรใช้การชั่งน้ำหนักถังก่อนเติมและหลังเติมแล้วนำส่วนที่ขาดหายไปมาคิดราคารวมค่าบริการ จะเป็นวิธีที่ยุติธรรมที่สุดเพราะหากจะคิดราคาตามค่าแรงดันหน้าเกจ เป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว PSIG จะออกมาเป็นราคาที่แพงเกินความเป็นจริงถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป
ราคาขายส่ง(โดยประมาณ) เป็นราคาเฉพาะสารทำความเย็น ไม่รวมค่าบริการ
ราคาค่าบริการที่แนะนำ ในการเติมสารทำความเย็นทั้งระบบ หากคิดราคาในอัตราราคา(บาท)/น้ำหนัก(กก.) เมื่อรวมค่าบริการแล้ว สำหรับน้ำยา R-22 ราคาที่แนะนำควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 1,000 บาทซึ่งไม่ควรมากเกินกว่ากิโลกรัมละ 1,000 บาท และสำหรับน้ำยา R-410a ราคาที่แนะนำควรอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,000 - 2,000 บาท และไม่ควรเกินกว่ากิโลกรัมละ 2,000 บาท ทั้งนี้ราคาให้บริการนั้น อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นที่ให้บริการ และลักษณะของความอยากง่ายในแต่ละกรณี ปล. นี่คือราคาแนะนำสำหรับร้านแอร์ที่มีมาตรฐานโดยรวมค่าแรง/ค่าบริการและค่าดำเนินการแล้ว ซึ่งผู้อ่านอย่าเพียงแค่เอาราคาขายส่งเฉพาะน้ำยามาเทียบ ในแอร์ขนาด 1 ตัน (12,000 BTU)จะใช้สารทำความเย็นประมาณ 1 กิโลกรัม
สำหรับเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ในบ้านเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเครื่องปรับอากาศในกลุ่มระบบ Inverter การเติมสารทำความเย็นจะต้องใช้วิธีการเติมโดยชั่งน้ำหนักตามข้อมูลที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้เท่านั้นไม่สามารถมาเติมเพิ่มเองได้ทีละนิดโดยอิงตามแรงดันที่วัดได้ในภายหลังที่ติดตั้งไปแล้ว เหมือนที่ทำใน R-22 เพราะระบบการทำงานของแอร์ Inverter มีรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไม่คงที่และแรงดันน้ำยาก็จะแปรผันอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงคุณสมบัติของน้ำยา R-410a ซึ่งเป็นสารผสมที่ผสมมาจากน้ำยาแอร์สองชนิด(R32 กับ R125 ในอัตราส่วน 50:50) การเติมน้ำยา R-410a จึงต้องเติมเข้าไปในระบบโดยใช้การชั่งน้ำหนัก และต้องเติมเข้าไปทีเดียว ไม่ควรมาเติมเพิ่มในภายหลัง ซึ่งกาจะเติมน้ำยา R-410a เพิ่มเข้าไปในระบบภายหลัง จะต้องทำการถ่ายน้ำยาของเดิมที่เหลือในระบบทิ้งเสียก่อนแล้วจึงจะเติมเข้าไปได้ อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติมน้ำยา R-410a ได้ที่ลิงค์นี้ : //www.bloggang.com/viewblog.php?id=kanichikoong&date=17-07-2015&group=27&gblog=15
และก่อนที่จะจบบทความขอทิ้งท้ายเล็กน้อย เกี่ยวกับการให้บริการเติมน้ำยาแอร์รวมทั้งบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับแอร์ ในปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์บ้านมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีทั้งที่ให้บริการอย่างมีมาตรฐาน และไม่ค่อยจะมีมาตรฐาน และช่างแอร์เองก็มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป ซึ่งมันก็เป็นสัจธรรมของทุกสาขาวิชาชีพที่ต้องมีดีมีมีเลวปนกันไป แต่ที่ผ่านมา ช่างแอร์ที่ไม่ดีก็มักจะสร้างชื่อเสียสร้างความเสียหายให้วงการช่างแอร์มาโดยตลอด
ช่างแอร์ที่ให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด หากท่านทำดีอยู่แล้วก็ขอให้ความดีที่ทำมานั้น ช่วยหนุนส่งให้ชีวิตและการงานรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป เพราะการให้บริการอย่างสุจริตถูกต้องตามมาตรฐานนั้น เป็นการให้เกียรติแก่ตนเอง ให้เกียรติแก่วิชาชีพของตน ส่วนช่างแอร์ที่ไม่ซื่อสัตย์ก็รีบปรับตัวในวันนี้ก็ยังไม่สาย อย่าปล่อยให้ความโลภมาบังตาจนทำให้วิชาชีพช่างแอร์ต้องมัวหมองด้อยค่าลง
ผู้เขียนเองก็อยู่ในวงการแอร์มายาวนานพอสมควรรวมทั้งยังประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแอร์ และมีทีมงานช่างแอร์อยู่ภายใต้ความดูแล ที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้รับฟังปัญหามากมายจากหลายๆท่านมาบอกกล่าวให้ฟัง รวมถึงมาขอคำแนะนำ ผู้เขียนเองเข้าใจว่าผู้บริโภคทุกคนอยากได้การบริการที่ดี ในราคาที่สมเหตุสมผล ใจเขาใจเราคือสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่ในบางรายก็ต้องการราคาถูกๆ กับการบริการที่ดีๆ ก็ต้องเข้าใจว่าสองสิ่งนี้มันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ก่อนที่จะตัดสินหรือบอกว่าราคาค่าบริการนี้แพงหรือไม่ ควรพิจารณาให้ละเอียดก่อน อย่าเอาเพียงราคาค่าอะไหล่ที่คุณไปหาพบในอินเตอร์เน็ตมาเทียบ เพราะการออกให้บริการแต่ละครั้งล้วนมีค่าดำเนินการในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง, ค่าเชื้อเพลิง, ค่าวิชาชีพหรือค่าประสบการณ์ความรู้, ค่าความเสียงในการปฏิบัติงาน, และภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ และเราต่างก็เข้าใจกันดีว่าการประกอบกิจการไม่ว่ากิจการไหนๆต่างต้องการกำไร ทุกคนที่ทำงานไม่ว่าอาชีพไหนๆต่างก็อยากมีรายได้ที่น่าพอใจ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตั้งอยู่บนความพอดีทั้งสองฝ่ายด้วย
Create Date : 02 ตุลาคม 2556 |
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 8:30:31 น. |
|
51 comments
|
Counter : 185788 Pageviews. |
|
|