ความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงนี้ถือว่าสูงมากๆร้านแอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะถ้าเป็นร้านแอร์ขนาดใหญ่ ที่ทั้งจำหน่ายและรับติดตั้งช่วงนี้ก็จัดว่าเป็นช่วงรับทรัพย์กันถ้วนหน้า ทางด้านช่างแอร์ก็ต่างมีคิวงานแน่นจนแทบจะหาเวลาว่างกันไม่ได้เลย
ด้วยความต้องการเครื่องปรับอากาศที่มีมากมายในช่วงนี้ทำให้ช่างแอร์บางคนอาจจะใช้วิธีลัดเพื่อให้ขั้นตอนในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศถูกรวบรัดตัดตอนให้ใช้เวลาน้อยลงไปจากเดิมเพื่อจะได้รีบไปให้บริการลูกค้ารายต่อไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่มักจะถูกข้ามหรือตัดออกไป ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ ขั้นตอนที่มักถูกข้ามหรือตัดออกไป คือขั้นตอนของการทำสุญญากาศในระบบเครื่องปรับอากาศ ด้วยปั๊มสุญญากาศ Vacuum Pump หรือขั้นตอนที่ในวงการเครื่องปรับอากาศเรียกว่า "การแวคคั่ม"
ช่วงหน้าร้อนนี้ ผู้เขียนได้รับคำถามหนึ่งจากผู้ใช้ทางบ้าน เป็นคำถามในแนวเดียวกัน ที่ถูกถามมาจากผู้ใช้หลายท่าน ผ่านทางหลายๆช่องทาง
ซึ่งคำถามที่ว่านี้ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจาก...การติดตั้งแอร์ใหม่ แต่ช่างที่มาดำเนินการไม่ได้ทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ
ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ถามคำถามแนวนี้เข้ามาหลายท่าน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงไม่ใช่น้อย เพราะช่วงนี้นับว่าเป็นคิวทองของช่างแอร์ส่วนใหญ่ ซึ่งมีงานเข้ามาเยอะมาก งานที่มีเข้ามามากอาจทำให้ช่างแอร์บางราย เร่งรีบในการทำงานมากจนเกินไป จนทำให้ต้องข้ามขั้นตอนในการติดตั้งไป เพื่อร่นระยะเวลาให้ใช้เวลาน้อยลงและเสร็จงานเร็วขึ้นในแต่ละที่
การข้ามขั้นตอนที่สำคัญ อย่างขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญากาศ นับว่ามีความเสียงสูงในการใช้งานระยะยาว
เพราะในระบบทำความเย็นแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศที่ใช้กันในอาคารบ้านเรือน , เครื่องปรับอากาศรถยนตร์ หรือในตู้เย็น ตู้แช่ ก่อนที่จะจ่ายสารทำความเย็นให้เข้าสู่ระบบ จะต้องมีการดูดอากาศออกจากระบบด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม หากอากาศไม่ถูกนำออกไปจากระบบอย่างถูกวิธี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำความเย็น และอายุการใช้งานที่สั้นลง
เพื่อให้ผู้บริโภค ได้รู้ทันช่างแอร์(ส่วนน้อย)ที่มักง่าย ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความชุดนี้
อันดับแรก สำหรับหลายๆคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าการทำสุญญากาศในระบบเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ คืออะไร และต้องทำไปเพื่ออะไร
ซึ่งผู้เขียนก็จะขออธิบายเรื่องการทำสุญญากาศ ให้โดยคร่าวๆ
การทำสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum เป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การทำสุญญากาศจัดว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งขั้นตอนของการทำสูญญากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นในงานระบบเครื่องทำความเย็นแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็นของตู้เย็น-ตู้แช่ หรือระบบปรับอากาศในรถยนต์ การทำสุญญากาศถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น และในระบบของเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก อย่างเช่น 9000 BTU ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีกำลังทำความเย็นเป็นแสน BTU ก็ต้องมีการทำสุญญากาศภายในระบบ
การทำสุญญากาศในระบบทำความเย็น มีจุดประสงค์ก็เพื่อต้องการนำเอาอากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ(ในที่นี้คือท่อนำสารทำความเย็น)ออกไปทิ้งนอกระบบ ก่อนที่สารทำความเย็นจะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบและเริ่มทำงาน
อากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ ส่วนใหญ่จะเข้ามาในระหว่างที่ดำเนินการติดตั้ง เพราะในขณะที่ทำการติดตั้งและเดินท่อ เราไม่สามารถสร้างสภาวะแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสุญญากาศได้ ระหว่างติดตั้งอากาศที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเข้าไปภายในท่อนำสารทำความเย็น ทำให้เราต้องมาดำเนินการทำสุญญากาศในภายหลัง เพื่อนำเอาอากาศที่เข้าไปก่อนหน้านี้ออกมาทิ้ง
เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีอากาศอยู่ในระบบทำความเย็น ก็เพราะ...อากาศที่เข้าไปในระบบทำความเย็นก็คืออากาศที่เราหายใจเข้าไปนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปในอากาศก็จะประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจนประมาณร้อยละ 78 แก๊สออกซิเจนประมาณร้อยละ 21 และแก๊สอาร์กอนประมาณร้อยละ 0.93 แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ประมารร้อยละ 0.03 นอกจากนั้นอีกประมาณร้อยละ 0.04 เป็นแก๊สอื่นๆตามปกติแล้วจะไม่มีอากาศแห้ง เนื่องจากอากาศทั่วๆไปเป็นอากาศชื้นที่มีไอน้ำปนอยู่ มีความชื้นที่ปนอยู่ก็คือละอองไอน้ำขนาดเล็กที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ความชื้นจัดว่าเป็นตัวปัญหา หากมันเข้าไปอยู่ภายในระบบทำความเย็น และไม่ได้ถูกนำออกมาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ความชื้นมีหน่วยวัดเป็นไมครอน ความชื้นในระบบที่ยอมรับได้จะต้องต่ำกว่า 200 ไมครอน แต่หากความชื้นยังคงหลงเหลือในระบบมากกว่ากำหนด ก็จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น
อันดับแรกสุดคือ ความชี้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบทำความเย็น เป็นตัวขัดขวางประสิทธิภาะในการทำความเย็น ทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
และเมื่อความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบ ไปเจอกับสารทำความเย็นในระบบก็จะทำปฏิกิริยากัน จนเกิดเป็น กรดไฮโดรคลอริค ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเกลือที่สามารถกัดกร่อนโลหะต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายกับระบบท่อนำสารทำความเย็น อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ในระบบซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นชิ้นส่วนกลไกลภายในคอมเพรสเซอร์ ตัวน้ำมันหล่อลื่นเองยังมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดี และเมื่อมาเจอกับกรดไฮโดรคลอริค น้ำมันหล่อลื่นก็จะมีความหนืดมากขึ้น จนอาจก่อตัวเป็นตะกรัน ส่งผลให้ความสามารถในการหล่อลื่นของน้ำมันลดลงอย่างมาก และทำให้คอมเพรสเซอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง
ความชื้นที่มีอยู่ในระบบทำความเย็นหากมีอยู่ในปริมาณมากพอก็อาจจะทำให้ระบบอุดตันได้ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพรา...เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงานสารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาก็จะเดินทางเข้ามาแผงควบแน่น(แผงคอยล์ร้อน)และออกจากแผงคอยล์ร้อนไปยังตัวควบคุมสารทำความเย็น
สำหรับในตู้เย็น-ตู้แช่และเครื่องปรับอากาศภายในอาคารบ้านเรือน ตัวควบคุมสารทำความเย็นที่ใช้ เรียกว่า Capillary tube หรือท่อรูเข็มซึ่งเป็นท่อที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กมาก และเมื่อสารทำความเย็นไหลผ่าน Capillary tube ก็จะเกิดการระเหยหรือเข้าสู่กระบวนการเกิดความเย็นทันทีสารทำความเย็นที่ระเหยในระบบ จะมีอุณหภูมิต่ำมากและถ้ามีความชื้นหลงเหลือในระบบมากพอความชื้นเหล่านั้นก็จะจับตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็ง และอาจทำให้ Capillary tube เกิดการอุดตันและในที่สุดกระบวนการทำความเย็นก็จะหยุดชะงัก
ภาพ Capillary tube หรือ ท่อรูเข็ม
เบื้องต้นก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าอากาศและความชื้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับระบบทำความเย็น หากอากาศและความชื้นที่มีอยู่ในระบบ ไม่ได้รับการกำจัดออกอย่างถูกวิธี ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้
แต่การจะนำพาอากาศออกไปจากระบบทำความเย็น เพื่อให้อากาศและความชื้นถูกนำออกไปอย่างสมบูรณ์ จะต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยใช้ระยะเวลาอย่างเหมาะสม
วิธีการนำอากาศและความชื้นออกจากระบบทำความเย็น วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือการดูดอากาศออกโดยใช้เครื่องทำสุญญากาศ หรือปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การดูดอากาศออกจากระบบโดยใช้ปั๊มทำสุญญากาศเป็นวิธีการมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และมีใช้กันมานานแล้ว
ขั้นตอนหลักๆในการทำสุญญากาศด้วยปั๊มสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum
ในเครื่องปรับอากาศรุ่นปัจจุบัน สำหรับเครื่องที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ทางผู้ผลิตได้ทำการอัดสารทำความเย็นมาให้จากโรงงานเรียบร้อยแล้ว โดยบรรจุในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit โดยมีปริมาณเพียงพอต่อการติดตั้งใช้งานด้วยท่อที่ให้มาพร้อมเครื่อง (ส่วนใหญ่จะให้มายาว 4 เมตร)
หลังจากติดตั้งตัวเครื่องเสร็จ และได้เดินท่อนำสารทำความเย็นรวมถึงเชื่อมต่อระบบเสร็จแล้ว ก่อนที่จะเปิดวาล์วให้สารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ต้องมีการทำสุญญากาศในส่วนของท่อที่ได้ติดตั้งไว้ก่อน จึงจะปล่อยสารทำความเย็นเข้าระบบได้
การทำสุญญากาศ หรือการดูดอากาศออกจากระบบ หลักๆที่ต้องใช้คือ ปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump และ เกจแมนิโฟลด์ หรือเกจวัดน้ำยา
เครื่องทำสุญญากาศ Vacuum Pump สำหรับงานระบบทำความเย็นมี 2 ชนิด
1. เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดา (Low Vacuum Pump) ใช้สำหรับดูดอากาศเพื่อทำสุญญากาศในระบบทำความเย็นทั่วไป เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อน อีกทั้งตัวเครื่องยังมีราคาถูก และเพียงพอต่อความต้องการในการใช้ทำสุญญากาศให้กับระบบทำความเย็นทั่วๆไป เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดานี้จะมีความสามารถในการดูดอากาศให้เป็นสุญญากาศ ได้ต่ำสุดที่ 25-27 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) แต่ก็ถือว่าเพียงพอในงานเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ แบบทั่วๆไป
ภายหลังจากการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศแบบธรรมดา ความชื้นในระบบจะยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็มีเหลืออยู่ในปริมณที่ไม่มาก ซึ่งความชื้นที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย จะถูกจัดการด้วยอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Dryer Filter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการกรองสิ่งแปลกปลอมและดูดความชื้นในระบบเครื่องปรับอากาศ
2. เครื่องทำสุญญากาศแบบประสิทธิภาพสูง (High Vacuum Pump) เป็นเครื่องทำสุญญากาศที่มีประสิทธิภาพในการดูดสูง สามารถดูดอากาศออกจากระบบ ทำให้ระบบเป็นสุญญากาศได้ในระดับที่ตำไปกว่า 29-30 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งในระดับนี้เป็นระดับที่ต่ำมากๆจนถึงระดับที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) ซึ่งเมื่อในระบบเป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ ความชึ้นและไอน้ำใน จะกลายเป็นแก๊สและถูกดูดออกไปจนแทบจะไม่มีความชื้นเหลืออยู่อีกเลย เครื่องแบบประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถนำมาใช้กับงานระบบทำความเย็นได้ทุกประเภท แต่ตัวเครื่องมีราคาค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องแบบนี้ในงานที่เป็นกรณีเฉพาะ หรือมีใช้ในศูนย์บริการขนาดใหญ่ที่มีการเข้มงวดสูงในด้านมาตรฐานการให้บริการ
ในส่วนของระยะเวลาในการเดินเครื่องทำสุญญากาศ ส่วนใหญ่ให้อิงตามคู่มือการติดตั้งที่แนบมากับเครื่อง แต่ทั้งนี้จะอิงตามเวลาที่ผู้ผลิตแจ้งมาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งเครื่องทำสุญญากาศที่ใช้ ก็อาจมีกำลังในการดูดที่ไม่เท่ากัน ควรใช้การสังเกตค่าที่แสดงบนเกจแมนิโฟลด์ ซึ่งระหว่าที่ทำสุญญากาศ ค่าที่แสดงต้องอยู่ในสเกลที่บอกค่าสุญญากาศ ซึ่งมีหน่วยเป็น inHg (นิ้วปรอท)
โดยส่วนใหญ่ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ทำสุญญากาศ อยู่ที่ประมาณ 30 - 45 นาที
เบื้องต้น ก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าการทำสูญญากาศด้วยเครื่องปั๊มสูญญากาศ ในระบบเครื่องทำความเย็น และ เครื่องปรับอากาศ ทำไปเพื่ออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ซึ่งแม้ว่าขั้นตอนในการทำสูญญากาศ จะเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีความจำเป็น แต่ก็มีหลายครั้ง ที่ขั้นตอนนี้ถูกละเลยหรือถูกข้ามไป ในรายที่ดีหน่อยก็ใช้วิธีลัด โดยการนำสารทำความเย็นในระบบมาเป็นตัวไล่อากาศออกจากท่อ
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือไม่เข้าใจว่าการใช้สารทำความเย็นไล่อากาศออกจากระบบ หรือการไล่อากาศ คืออะไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเบื้องต้น เกี่ยวกับการไล่อากาศให้ผู้ที่ยังไม่ทราบได้เข้าใจ
การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การไล่อากาศ" เป็นเทคนิควิธีลัด ที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ วิธีนี้ถูกนำมาใช้แทนขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ ซึ่งการไล่อากาศเป็นวิธีลัดที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นิยมใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง และชุดท่อที่ใช้ติดตั้ง ก็เป็นชุดท่อที่ใหม่แกะกล่องซึ่งไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน
การไล่อากาศจะทำภายหลังที่ติดตั้งชุดเครื่องปรับอากาศเข้าที่ และมีการเดินท่อนำสารทำความเย็นเชื่อมต่อ ระหว่างชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit และชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นผู้ติดตั้งจะทำการขันเพื่อเปิดวาล์วสารทำความเย็น โดยเปิดเพียงวาล์วของท่อทางอัด Discharge Line (ท่อเล็ก) ปล่อยให้แรงดันสารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ผ่านชุดคอยล์เย็น แล้วกลับมารออยู่ที่วาล์วอีกด้านหนึ่งซึ่งยังไม่ถูกเปิด คือด้านท่อทางดูด Suction Line (ท่อใหญ่)
เมื่อสารทำความเย็นถูกเปิดเข้าระบบจากด้านท่อทางอัดแล้ว จึงทำการต่อเกจวัดแรงดันเข้าที่วาล์วลูกศร ซึ่งอยู่บริเวณเซอร์วิสวาล์วด้านท่อทางดูด แล้วใช้วาล์วที่เกจควบคุมการปล่อยสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศภายนอก แรงดันของสารทำความเย็นที่ถูกปล่อยออกมาจะนำพาอากาศที่ค้างอยู่ในระบบ และความชื้น(บางส่วน) ออกมาสู่บรรยากาศภายนอก
การปล่อยสารทำความเย็นเพื่อไล่อากาศออกจาระบบ จะอาศัยการปล่อยแบบเป็นจังหวะ หยุด/ปล่อย โดยระยะเวลาและจำนวนครั้งในการปล่อยจะไม่มีกำหนดเป็นรูปแบบตายตัว ไม่มีระบุในตำราทฤษฎี แต่จะอาศัยการประมาณจากความชำนาญของช่าง
ในส่วนของสารทำความเย็นที่ถูกนำมาใช้เพื่อไล่อากาศ เป็นสารทำความเย็นที่ถูกอัดมาให้ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ซึ่งถูกอัดมาพร้อมกับตัวเครื่องโดยโรงงานผู้ผลิต
การไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น หากนำมาใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ผลิตออกมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ยกชุด ไม่เคยถูกติดตั้งใช้งานมาก่อน การนำไปติดตั้งใช้งานใช้ท่อตามความยาวที่ผู้ผลิตให้มา โดยไม่มีการเชื่อมต่อท่อใดๆทั้งสิ้น เมื่อถูกติดตั้งใช้วิธีการไล่น้ำยาแทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม ซึ่งทำในระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เหมะสม อากาศที่ค้างอยู่ในระบบเกือบทั้งหมดจะถูกแรงดันสารทำความเย็น ดันออกจากระบบสู่บรรยากาศภายนอก แต่อาจจะมีความชื้นบางส่วนหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากในช่วงที่ติดตั้งมีการดูแลด้านความสะอาดที่ดี ความชื้นที่หลงเหลืออยู่ก็จะมีเหลืออยู่ไม่มาก และสุดท้ายความชื้อที่มีอยู่ไม่มากนี้ ก็จะถูกดักจับดูดซับด้วยตัวกรองความชื้นที่มีชื่อว่า Dryer Filter
หากเป็นไปตามเงือนไขที่กล่าวมา ส่วนใหญ่กว่า 80% จะไม่มีปัญหาในการใช้งานระยะยาว เครื่องปรับอากาศจะทำงานได้ปกติ มีความเย็นและใช้งานได้ตามปกตินานหลายปี
แต่ในบางรายที่ใช้การไล่อากาศกับเครื่องปรับอากาศชุดเก่าและท่อเก่า ที่ผ่านการติดตั้งใช้งานมาก่อน หรือเป็นเครื่องปรับอากาศชุดใหม่ ที่ไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดในระหว่างการติดตั้ง รวมทั้งในกรณีที่มีการเชื่อมต่อท่อให้ยาวขึ้นกว่าเดิม การไล่อากาศถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นเกิดการอุดตันในระบบ อันมีสาเหตุมาจากความชื้นที่เหลืออยู่ในระบบมากจนตัวกรอง Dryer Filter ไม่สามารถจัดการได้หมด
การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือ "การไล่อากาศ" หากนำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา ซึ่งเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-22 ยังถือว่าพอรับได้
แต่...หากนำไปใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410a ซึ่งเป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ กรณีนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่ง ให้นำวิธีลัดอย่างการไล่อากาศเข้ามาใช้ เพราะสารทำความเย็น R-410a มีลักษณะทางการยภาพต่างไปจากสารทำความเย็น R-22 อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นในระบบเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ยังเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ง่ายกว่า การติดตั้งอย่างผิดวิธี ไม่มีการทำสูญญากาศในระบบอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันในระบบได้ง่าย ซึ่งการซ่อมแซมก็จะทำได้ยากกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบที่ใช้ R-22
แต่ถึงอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้ใช้วิธีการไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น แทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม เพราะวิธีดังกล่าวเป็นขั้นตอนลัด ถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ยังไม่มีการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจัง และยังไม่มีมาตรฐานออกมารับรองอย่างเป็นทางการ
ซึ่งการออกให้บริการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกครั้ง ผู้ให้บริการควรใส่ใจในมาตรฐานการให้บริการ และให้บริการโดยยึดตามวิธีการที่เป็นหลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการอย่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไป