แม้ว่าเรื่องการตรวจเช็คหรือตรวจซ่อมแอร์ จะเป็นหน้าที่ของช่างเทคนิคที่ต้องมาจัดการในกรณีที่แอร์เกิดมีปัญหาขึ้นมาแต่ในบางครั้ง เจ้าของบ้านเองแม้จะไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางในวิชาชีพทางด้านนี้ แต่ถ้าสนใจเรียนรู้ในขั้นพื้นฐาน ก็สามารถตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวท่านเองก่อนได้
เพราะว่าในปัจจุบัน เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลายๆบ้านในยุคปัจจุบันมีใช้กันอยู่ โดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่อยู่ในเมืองหรือในแถบชานเมือง ก็จัดได้ว่าจำเป็นต้องมีแอร์ไว้ใช้อย่างน้อยสุดก็หนึ่งเครื่อง และสำหรับบ้านที่มีแอร์ใช้งานอยู่ ก็ควรที่จะเรียนรู้การตรวจสอบแบบเบื้องต้นไว้บาง เพื่อที่จะช่วยรับมือในกรณีที่แอร์เกิดมีปัญหาได้ไม่มากก็น้อย
อาการแอร์ไม่เย็น
ปัญหาแอร์ไม่เย็นเป็นปัญหาสุดคลาสสิก ที่ผู้ใช้แอร์หลายๆท่านมักจะพบเจอ ซึ่งอาการของแอร์ไม่เย็นนี้คือกรณีที่เปิดแอร์ แล้วชุดคอยล์เย็นที่ติดตั้งในอาคารนั้นมีการทำงานปกติมีลมออกมาจากชุดคอยล์เย็น แต่เมื่อเปิดใช้งานไปเรื่อยๆอุณหภูมิในห้องกลับไม่เย็นลงตามที่ตั้งไว้เสียที
ก่อนอื่นเลยเมื่อเจอปัญหาแบบนี้ อันดับแรก ให้ท่านลองตรวจสอบที่ตัวรีโมทคอนโทรลหรือสวิทช์ปรับตั้งอุณหภูมิ ของแอร์เครื่องนั้นโดยตรวจสอบดูว่าโหมดการทำงานมีการตั้งไว้ที่โหมดอื่นนอกเหนือจากโหมดทำความเย็น (ModeCool) หรือเปล่า เพราะในบางกรณี อาจจะมีการเผลอปรับโหมดการทำงานเป็นโหมดพัดลม (Mode Fan) ก็เป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้เปิดแอร์แล้วจะมีแต่ลมธรรมดาออกมา(ไม่ใช่ลมเย็น)
แต่ถ้าหากท่านมั่นใจว่าได้ปรับโหมดการทำงานไว้ที่โหมดทำความเย็น (Mode Cool) แล้ว แต่แอร์ก็ยังไม่มีลมเย็นออกมาอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็ควรตรวจสอบในลำดับต่อไปคือการออกไปตรวจสอบภายนอกอาคาร ในบริเวณที่ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ของแอร์เครื่องดังกล่าว ติดตั้งอยู่ ซึ่งให้ลองสังเกตดูเบื้องต้น ว่าพัดลมที่ชุดคอยล์ร้อนทำงานอยู่หรือไม่
ถ้าหากพัดลมของชุดคอยล์ร้อนไม่มีการทำงาน อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของแอร์ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่ามอเตอร์พัดลมหรือคาปาซิเตอร์ของพัดลมมีปัญหาซึ่งในกรณีที่พัดลมชุดคอยล์ร้อนไม่ทำงาน แต่ได้ยินเสียงของคอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่ควรหยุดใช้งานเครื่องปรับอากาศทันทีเพราะอาการดังกล่าวทำให้แอร์ไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ซึ่งอาจจะทำให้คอมเพรสเซอร์พังในที่สุด ซึ่งถ้าคุณไม่มีความรู้ทางงานช่างไฟฟ้า ก็ควรจะเรียกช่างแอร์มาทำการตรวจสอบ จะดีที่สุด
แต่ถ้าเห็นว่าพัดลมของชุดคอยล์ร้อนทำงานอยู่หากเป็นไปได้ ควรเข้าไปสังเกตในบริเวณใกล้ๆกับชุดคอยล์ร้อน และให้ลองใช้มือสัมผัสกับลมที่ถูกเป่าออกมาถ้าพบว่าลมที่ออกมา เป็นลมที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่ได้เป็นลมร้อนก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน ซึ่งการที่คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นปัญหาที่มาจากคาปาซิเตอร์สตาร์ทของคอมเพรสเซอร์เสียทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์สตาร์ทไม่ออก
ในกรณีนี้หากมีแคลมป์มิเตอร์วัดกระแสอยู่ เมื่อนำมาวัดกระแสไฟฟ้าที่ชุดคอยล์ร้อน ก็จะพบว่าเข็มมิเตอร์บนหน้าปัด สวิงขึ้นสูงแล้วตกลงมาโดยจะขึ้นลงแบบต่อเนื่องก็แสดงว่าคอมเพรสเซอร์สตาร์ทไม่ออก และสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากคาปาซิเตอร์สตาร์ทของคอมเพรสเซอร์มีปัญหา ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ถ้าคุณไม่มีความรู้ทางงานช่างไฟฟ้าหรือช่างแอร์ก็จำเป็นจะต้องเรียกช่างแอร์มาทำการตรวจสอบและแก้ไข
อาการแอร์ไม่เย็นเพราะน้ำยาแอร์ไม่พอ
เมื่อแอร์เกิดไม่เย็นโดยที่มีความเป็นไปได้ว่าน้ำยาแอร์ไม่พอ สัญญาณเบื้องต้นที่เจ้าของบ้านสามารถสังเกตและตรวจสอบได้ด้วยตัวท่านเอง คือการสังเกตที่วาล์วบริการ (Service Valve) ของแอร์ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่กับชุดคอยล์ร้อนที่ติดตั้งนอกบ้าน โดยส่วนนี้จะเป็นส่วนของวาล์วที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อท่อนำสารทำความเย็นหรือท่อน้ำยา ซึ่งเป็นท่อสำหรับเชื่อมต่อ ระหว่างชุดคอยล์ร้อนที่อยู่นอกบ้าน กับชุดคอยล์เย็นที่อยู่ในบ้าน
หากสังเกตเห็นว่ามีน้ำแข็งเกาะที่บริเวณวาล์วบริการ (Service Valve) ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าสารทำความเย็นหรือน้ำยา ที่อยู่ในระบบ มีปริมาณไม่เพียงพอ
โดยในกรณีที่แอร์มีสารทำความเย็นหรือน้ำยาอยู่ในปริมาณที่เพียงพอ และกระบวนการทำความเย็นเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามวัฏจักรการทำความเย็น ที่บริเวณวาล์วบริการ (Service Valve) จะต้องไม่มีน้ำแข็งแกะ แต่จะมีหยดน้ำกลั่นตัวจากความชื้นในอากาศเกาะอยู่ ซึ่งหากเห็นว่าที่บริเวณดังกล่าว มีหยดน้ำที่กลั่นตัวเกาะอยู่ ก็แสดงว่าระดับปริมาณสารทำความเย็น ยังมีอยู่ปกติ
การบำรุงรักษาแอร์ในระยะยาว
และท้ายที่สุดหากแอร์เครื่องนั้น ถูกเปิดใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็ควรได้รับการดูแลและการบำรุงรักษา ในแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งนี้เพื่อเป็นการคงประสิทธิภาพการทำงาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและยังเป็นการลดการใช้พลังงานลง รวมถึงยังช่วยยืดอายุของแอร์ได้
โดยการบำรุงรักษาเบื้องต้นที่ท่านสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือการถอดแผ่นกรองอากาศ (Filter) ที่อยู่ทางด้านลมเข้า ของชุดคอยล์เย็น ออกมาล้างทำความสะอาดเพื่อขจัดฝุ่นละอองที่สะสมอยู่ โดยฝุ่นละอองที่สะสมอยู่นั้นจะเป็นเหมือนสิ่งกีดขวางคอยขัดขวางช่องทางการไหลของอากาศที่ถูกดูดเข้าไป โดยการถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้าง ในกรณีที่เปิดใช้งานแอร์เป็นประจำ ก็ควรถอดออกมาล้างทำความสะอาดในทุกๆ 2-4 สัปดาห์ แล้วตากให้แห้งในที่ร่มก่อนจะใส่กลับเข้าไป
นอกจากการถอดล้างแผ่นกรองอากาศแล้วการล้างใหญ่โดยช่างผู้ชำนาญการก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก ช่วยให้แอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของแอร์ได้
โดยในกรณีที่แอร์เครื่องนั้นมีการเปิดใช้งานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ควรมีการล้างใหญ่โดยช่างผู้ชำนาญการ เมื่อครบรอบระยะเวลาการใช้งานทุกๆ 1 ปี หรือ ทุกๆ 1 ปีครึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะค่ะ เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ