รีวิวเครื่องปรับอากาศ Daikin inverter รุ่น Ekira [Sponsor Review] (ตอนที่2)
เริ่มโดยการแกะดูชุดคอยล์เย็นกันเป็นอันดับแรก และนี่ก็คือกล่องที่บรรจุชุดคอยล์เย็น (Fan coil Unit) 
 เปิดกล่องออกมาก็จะพบชุดคอยล์เย็นที่วางอยู่บนฐานโฟมกันกระแทก และมีซองพลาสติกจำนวน 2 ซอง ซึ่งซองหนึ่งเป็นส่วนของช่างผู้ติดตั้ง ที่จะต้องนำมาอ่านทำความเข้าใจ และอีกซองหนึ่งเป็นส่วนของผู้ใช้งาน ซึ่งจะมีคู่มือการใช้งาน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น ตัวรีโมทคอนโทรล แผ่นฟอกอากาศ และชิ้นส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โฉมหน้าของชุดคอยล์เย็นหลังจากที่นำพลาสติกห่อหุ้มออกไป  แอร์เครื่องนี้ แม้มันจะให้ความรู้สึกเรียบๆเมื่อดูผิวเผิน แต่ก็มาพร้อมลูกเล่นฟังชั่นที่แพรวพราวมากมาย...เห็นหน้าเรียบๆ ฟังชั่นเพียบนะจ๊ะ  พูดถึงดีไซด์ของแอร์เครื่องนี้ ก็มาแนวเรียบหรูดูล้ำสมัย ซึ่งมีการการันตีด้วยรางวัล เรท ดอท อวอร์ด ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากสถาบัน เรท ดอท ดีไซน์ ประเทศเยอรมนี อีกด้วย
ได้เวลาเจาะลึก ถอดชำแหละ แกะดูส่วนประกอบภายในชุดคอยล์เย็น  ส่วนด้านหน้าของแอร์ มีแผ่นหน้ากากทึบสีเทาปิดอยู่ โดยจะเห็นว่ามีเส้นแบ่งหน้ากากของแอร์เป็นส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งหน้ากากสองแผ่นนี้จะเป็นสองชิ้นแยกจากกัน  พลิกดูด้านบน ก็จะเห็นกับตะแกรงที่เป็นช่องลมกลับ ซึ่งขณะที่แอร์ทำงาน ช่องที่อยู่ด้านบนนี้ ก็จะเป็นช่องทางสำหรับดูดอากาศในห้องเข้ามา โดยอากาศจะถูกดักไว้ด้วยแผ่นกรองด้านในอีกชั้นหนึ่ง แล้วจากนั้นอากาศที่ถูกดูดเข้ามาก็จะไหลผ่านแผงครีบอลูมิเนียมที่มีท่อน้ำยาขดอยู่ เมื่ออากาศไหลผ่านและสัมผัสกับแผงครีบอลูมิเนียม ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อน น้ำยาแอร์ดึงเอาความร้อนในอากาศออกมา ทำให้อากาศมีอุณหภูมิลดต่ำลง แล้วอากาศที่เย็นก็จะถูกใบพัดโพรงกระรอกเป่าออกไปยังพื้นที่ในห้องนั่นเอง
 แต่เนื่องจากรูปทรงที่ล้ำสมัยของแอร์เครื่องนี้ และเพราะว่าผมเองก็ไม่ได้เป็นคนออกแบบหรือผลิตด้วย นั่นจึงทำให้การจะถอดแกะแอร์ที่มีรูปทรงที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยแบบนี้ จำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดต่างๆกันก่อน ซึ่งก็ศึกษาจากคู่มือที่ให้มากับแอร์นั่นเอง ซึ่งแอร์เครื่องนี้ ทางผู้ผลิตได้บอกวิธีการถอดประกอบชุดคอยล์เย็นไว้อย่างชัดเจน รวมอยู่ในคู่มือประกอบการติดตั้ง หลังจากที่ผมอ่านทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ส่วนหนึ่งก็เพราะในคู่มือได้อธิบายมาได้ค่อนข้างชัดเจน
แง้มฝาหน้าออกมาดูกันก่อน เปิดออกมาก็พบว่ามีแผ่นกระดาษสอดไว้ด้านใน ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษที่มีการเขียนคำเตือน สำหรับเน้นย้ำช่างผู้ติดตั้ง  เนื้อหาบนแผ่นกระดาษ หลักๆก็เพื่อเตือนให้ผู้ที่ติดตั้งไม่ลืมที่จะดึงแผ่นกระดาษแข็งสีน้ำตาลที่สอดอยู่ในช่องบานสวิงออกมา ก่อนที่จะติดตั้งใช้งานจริง เพราะแผ่นกระดาษที่สอดอยู่นั้น เป็นการป้องกันไม่ให้กลไกและชิ้นส่วนของบานสวิงได้รับการกระทบกระเทือนหรือเสียหาในขณะที่กำลังขนย้าย นี่ถือเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ผู้ผลิตก็ไม่มองข้าม จะเห็นว่าในแผ่นกระดาษนี้เน้นการใช้ภาพช่วยสื่อความให้กะทัดรัดและเข้าใจง่าย เหมือนว่าผู้ผลิตเขารู้ว่าช่างแอร์บ้านเรา โดยทั่วไปมักไม่ค่อยชอบอ่านคำแนะนำที่เขาบรรยายเป็นตัวหนังสือยาวๆ  นี่คือแผ่นกระดาษแข็งสีน้ำตาลที่สอดอยู่ในบานสวิง ซึ่งต้องเอาออกก่อนจะติดตั้งใช้งาน เมื่อนำแผ่นกระดาษแข็งที่ล็อกบานสวิงออก ก็พร้อมนำมาติดตั้งใช้งานได้แล้ว
 ส่วนล่างของแผ่นหน้ากากแอร์ สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ โดยในขณะที่เปิดเครื่อง ส่วนนี้จะเลื่อนขึ้นด้านบนเองโดยอัตโนมัติ พร้อมกับแผ่นหน้ากากส่วนบนที่จะยกตัวขึ้นเล็กน้อยเพื่อเป็นช่องทางให้เครื่องดูดอากาศเข้ามา แค่แผ่นหน้ากากที่แรกเห็นก็ดูเรียบๆเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ที่ไหนได้ กลับมีลูกเล่นที่ซ่อนไว้ภายใต้รูปทรงที่เรียบๆ และข้างในก็มีการติดตั้งกลไกและมอเตอร์ซ่อนเอาไว้ด้วย อันนี้ถ้าไม่รู้วิธีการถอดที่ถูกต้อง ไม่ได้ดูตามคู่มือ ก็ไม่ควรไปแกะหรือดึงออกแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะบางคนอาจจะคิดว่าแค่แผ่นหน้ากากธรรมดาที่แปะติดอยู่กับที่เฉยๆมาถึงก็จับดึงออกได้เลย แต่ผมทดสอบที่แผ่นหน้ากากส่วนล่าง โดยลองดึงมันออกมาแบบตรงๆ เพราะเห็นว่ามีกลไกคอยรองรับ ก็อยากรู้ว่ากลไกมันจะบอบบางหรือเปล่า ตอนแรกก็แอบเป็นห่วงอยู่ เพราะถ้าทำออกมาไม่แข็งแรงพอ อาจจะมีปัญหาในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ไปจ้างช่างมาล้าง แล้วโชคไม่ดีไปเจอช่างมือใหม่ที่ไม่ค่อยชำนาญมาล้างให้ แล้วฝืนดึงออกมา ผมกลัวว่ามันจะพัง แต่จากที่ผมลองทดสอบออกแรงดึงมัน โดยพยายามแรงดึงออกมามากพอสมควรมันก็ไม่ออกไม่มีอะไรเสียหาย กลไกก็ยังปกติ ประเด็นนี้จึงนับว่าสอบผ่านไม่ต้องเป็นห่วง แต่ถ้าเจอช่างบ้าพลังไปผืนดึงหรือพยายามงัดมันจนแตกหักและหลุดออกมา ถ้าเจอแบบนี้ ช่างคนที่แกะมันพังนั้นคงต้องเลิกเป็นช่างแอร์แล้วนะผมว่า
 เมื่อแผ่นหน้ากากชิ้นล่างเลื่อนขึ้นไปสุดแนวของมัน ก็จะเผยให้เห็นวงกลมสีขาวๆที่มุมขวาของเครื่อง ซึ่งนี่คือส่วนที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนและตรวจจับการเคลื่อนไหวของบุคคล หรือ Intelligent - Eyeเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสอบหาจุดที่มีแหล่งความร้อนและการเคลื่อนไหวซึ่งก็คือจุดที่มีคนอยู่นั่นเอง โดยนำมาสั่งการให้บานสวิงทำการปรับทิศทางของการส่งลมเย็นไปในลักษณะที่เหมาะสม เพื่อความรู้สึกสบายของผู้ที่อยู่ในห้อง และในช่วงที่เรานอนหลับหรือไม่มีคนอยู่ในห้อง ซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมในห้อง เป็นช่วงที่เซ็นเซอร์ตัวนี้ตรวจจับไม่พบความเคลื่อนไหวเลย ระบบควบคุมก็จะประมวลผลและสั่งการให้แอร์ทำงานแบบประหยัดพลังงานขึ้นไปอีก ลดการใช้พลังงานในส่วนที่ไม่จำเป็น ส่วนช่องวงกลมสีขาวด้านใต้เครื่อง จะเป็นภาครับสัญญาณคลื่นอินฟาเรดที่ส่งมาจากตัวรีโมทคอนโทรล และยังสามารถใช้เป็นปุ่มเปิดปิดเครื่องในกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย โดยในขณะที่เครื่องทำงาน ที่ขอบของวงกลมสีขาวนี้ก็ยังมีแสงไฟสีน้ำเงินสว่างขึ้นมา เพื่อแสดงสถานะของการทำงานนั่นเอง เรื่องการนำเซ็นเซอร์ตรวจจับบุคคลเข้ามาใช้นั้น จะว่าไปแล้ว ในบ้านเราตอนนี้ก็มีแอร์บางรุ่นเท่านั้น ที่นำซ็นเซอร์ตรวจจับบุคคลมาใช้ ซึ่งก็อาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ของ Mitsubishi ก็จะใช้ชื่อว่า Move-eye หรือ Panasonic ก็จะใช้ชื่อว่า Human sensor และของ Daikin ที่ใช้ในแอร์เครื่องนี้ ก็มีชื่อเรียกว่า Intelligent-Eye (ตาอัจฉริยะ)  ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไร โดยรวมแล้วมันก็ใช้หลักการที่คล้ายคลึงกัน คือตรวจหาตำแหน่งบุคคล เพื่อควบคุมการใช้พลังงานให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถ้าเซ็นเซอร์นี้มีอยู่ในแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ มันก็จะผสานการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการใช้พลังงานได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่ถ้าหากเป็นแอร์แบบดั้งเดิมหรือแบบธรรมดาที่ใช้การตัด-ต่อคอมเพรสเซอร์ เราอาจจะไม่เห็นการนำเซ็นเซอร์นี้มาใช้ เพราะการเอาเซ็นเซอร์ตัวนี้ใส่ไปในแอร์แบบธรรมดา ก็แทบจะไม่มีประโยชน์เลยในด้านการประหยัดพลังงาน ใส่ไปก็เหมือนจะเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น และด้วยเหตุผลด้านการประหยัดพลังงาน แอร์ Daikin รุ่น Ekira ที่รีวิวอยู่นี้ เป็นแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ ที่ทางผู้ผลิตได้จับเอาเซ็นเซอร์ตัวนี้เข้ามาใส่ไว้ ช่วยให้แอร์เครื่องนี้สารมารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีค่าประสิทธิภาพ (BTU/ชั่วโมง/วัตต์) หรือ SEER = 22.25 ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายๆเจ้า
 บางสวิงหลักที่ติดในแนวนอน มีอยู่ด้วยกันสองอัน ทำหน้าที่ส่งลมในแนวขึ้น-ลง และกำหนดระยะการส่งลมไปแบบ ใกล้-ไกล นอกจากนี้ยังปรับในแนวข้างหรือที่เรียกว่าสวิงแบบ ซ้าย-ขวา ได้อีกด้วย เพราะการที่จะให้ระบบตาอัจฉริยะ Intelligent-Eye ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่ออกแบบมา ก็ต้องมีการทำงานร่วมกับบานสวิง ซึ่งบานสวิงก็เป็นเหมือนตัวกำหนดทิศทางในการจ่ายลมเย็น สำหรับแอร์ที่เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บานสวิงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่จำเป็น แอร์รุ่นนี้จึงออกแบบให้มีรูปแบบการส่งลมเย็นที่ควบคุมได้อย่างละเอียด ครอบคลุมทั้งแนวยาว แนวกว้าง และแนวระดับความสูง ลักษณะเป็นแบบ 3 มิติ
 ด้วยความที่แอร์เครื่องนี้ออกแบบมาให้บานสวิงครอบคลุมการส่งลมเย็นในแบบ 3 มิติ มอเตอร์ที่ขับบานสวิงจึงใส่มาให้ถึง 3 ตัว มอเตอร์ตัวที่ 1 และ 2 สำหรับขับเคลื่อนบานสวิงหลักที่ติดตั้งอยู่ในแนวนอน ซึ่งเป็นบานสวิงแบบ 2 ชิ้น และแต่ละบานก็แยกมอเตอร์ขับเคลื่อนออกจากกันอย่างอิสระ มอเตอร์ตัวที่ 3 เป็นตัวขับเคลื่อนกลไกอีกส่วนที่ใช้สำหรับปรับทิศทางลมไปด้านซ้ายและขวา ซึ่งอยู่ด้านในช่องลมออก
 แผ่นหน้ากากอันใหญ่ที่เป็นส่วนบน สามารถถอดออกมาได้ทั้งแผ่น ซึ่งแผ่นดังกล่าวทำมาจากพลาสติก ผิวสัมผัสเรียบเนียน เนื้อพลาสติกที่นำมาใช้มีความหนาและความยืดหยุ่นพอสมควร คุณภาพพลาสติกก็จัดว่าโอเค ซึ่งถ้าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ได้เอาไปใช้งานแบบพิสดาร ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะแตกหักง่าย
 ด้านประสิทธิภาพในการกรองอากาศ ตามที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลมา ว่า... เป็นแผ่นกรองอากาศ Titanium Apatite Photocatalyst 2 ที่ช่วยขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แบคทีเรียและดักจับอนุภาคเชื้อราขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งความเห็นของผมเอง ก็ไม่อยากให้คาดหวังอะไรมากจนเกินไปกับระบบฟอกอากาศที่มีมาพร้อมกับแอร์ เพราะผมเคยเจอบางคนที่เลือกซื้อแอร์โดยเอาข้อมูลเรื่องระบบฟอกอากาศมาเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจ ซึ่งนี่ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะต้องไม่ลืมว่านี่มันคือแอร์ มีหน้าที่ทำความเย็นภายในห้อง ไม่ใช่มีหน้าที่หลักสำหรับการฟอกอากาศ หากท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ เช่นท่านที่เป็นภูมิแพ้ ต้องการอากาศบริสุทธิ์ ก็คงต้องพึ่งเครื่องฟอกอากาศมาช่วยจัดการ จะดีกว่าการคาดหวังที่ระบบฟอกอากาศในตัวแอร์ เพราะหลักๆที่ควรมีในแอร์ คือแผ่นกรองหรือฟิลเตอร์ที่ใช้กรองเศษฝุ่น เท่านี้ก็โอเคแล้ว การฟอกอากาศด้วยวิธีอื่นที่ใส่มาในแอร์ก็ให้ถือเสียว่ามีมาให้ก็ดีกว่าไม่มี แค่อย่าไปคาดหวังกับมันมากก็พอ ถ้าพิจารณาตามภาพ ก็จะเห็นว่าแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศของแอร์เครื่องนี้ มีความละเอียดสูงมาก ถักทอด้วยเส้นใยที่เล็กและละเอียด มันจึงดูค่อนข้างบางและโปรงใส โดยรวมแล้วความละเอียดของเส้นใย ก็ช่วยให้สามารถดักจับฝุ่นละอองและอนุภาคได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องขยันถอดมาล้างบ่อยๆ เพราะเส้นใยยิ่งละเอียดมันก็ยิ่งตันเร็วจากเศษฝุ่นที่มันดักจับไว้ได้นั่นเอง
 ตอนที่กำลังจะถอดฝาครอบ ผมก็แปลกใจเล็กน้อยที่มองเห็นสกรูยึดฝาครอบ บริเวณด้านล่างของเครื่อง ที่แปลกใจก็เพราะแอร์แบบติดผนังโดยส่วนใหญ่นั้น โดยปกติเรามักจะไม่เห็นสกรูที่ยึดฝาครอบคอยล์เย็นส่วนที่อยู่ตรงขอบล่างนี้ เพราะมันจะถูกซ่อนเอาไว้โดยมีชิ้นส่วนที่เป็นฝาเล็กๆปิดไม่ให้เห็นหัวสกรู แต่ก็เหลือบไปเห็นถุงเล็กๆที่มาพร้อมกับซองที่ใส่คู่มือประกอบการติดตั้ง หยิบมาดูจึงได้รู้ว่านี่คือฝาปิดชองสกรูที่คิดว่าไม่มีนั่นเอง ผมคิดว่าผู้ผลิตคงกลัวว่าช่างที่ติดตั้งอาจจะคิดว่าแอร์เครื่องนี้ทำจุดยึดที่ต่างออกไปไม่มีสกรูยึดในส่วนนี้ จึงได้แยกฝาปิดช่องใสสกรูมาให้ต่างหาก แทนที่จะใส่มาพร้อมบนตัวแอร์เหมือนแอร์เครื่องอื่นๆ ช่วยให้ง่ายต่อการสังเกต นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจจะดูเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นสิ่งผู้ผลิตไม่มองข้าม  ตรงนี้คือด้านข้างซ้ายของชุดคอยล์เย็น ซึ่งเมื่อถอดฝาครอบด้านข้างออก ก็จะเจอกับแผ่นพลาสติกใสที่มีกลไกและฟันเฟืองอยู่ภายใน กลไกพวกนี้เปรียบเหมือนความลับที่ทำให้แผ่นหน้ากากทั้งสองเคลื่อนที่ขึ้นในขณะที่เครื่องทำงาน และเคลื่อนที่กลับลงมาปิดตามเดิมภายหลังจากปิดเครื่อง
 มาที่ด้านขวาของชุดคอยล์เย็น เมื่อเปิดฝาครอบตรงนี้ออก ก็จะเห็นมอเตอร์ขนาดเล็กที่อยู่มุมบนตัวเครื่อง ซึ่งนี่คือมอเตอร์หลักที่จะคอยขับเคลื่อนกลไกให้หน้ากากของแอร์ยกตัวขึ้นลงได้อัตโนมัติ โดยมอเตอร์ที่ติดตรงนี้ ได้มีการต่อแกนหมุนที่เป็นโลหะยาวซ่อนเอาไว้ด้านใน แกนที่ว่านี้เป็นส่วนเชื่อมต่อไปถึงกลไกฟันเฟืองที่อยู่ด้านซ้ายที่แสดงอยู่ในภาพก่อนหน้านั่นเอง
 จากนั้นจึงทำการถอดส่วนหลักที่เป็นฝาครอบชุดคอยล์เย็น และฝาปิดด้านข้างทั้งสองด้าน ตัวฝาครอบชุดคอยล์เย็นผลิตจากพลาสติกที่คุณภาพค่อนข้างจัดว่าดีเลยทีเดียว ให้ความรู้สึกแข็งแรงไม่เปราะบาง
เมื่อถอดฝาครอบออก ก็จะเหลือส่วนที่เรียกว่าเป็นฐานรองรับอันหลักของตัวเครื่อง ซึ่งมีอุปกรณ์ต่างๆ ติดตั้งอยู่บนฐานนี้  
ซูมเข้ามาดูที่แผงครีบฟิลของคอยล์เย็น หรือที่เรียกว่า อีวาปอเรเตอร์ (Evaporator) เป็นแบบท่อและครีบ แบบมาตรฐานเหมือนที่เห็นกันในแอร์ติดผนังรุ่นอื่นๆ ซึ่งแผงนี้จะมีท่อทองแดงสอดผ่านอยู่ในแผ่นฟิลคอยล์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นอลูมิเนียมบางๆ โดยขณะแอร์ทำงาน น้ำยาจะไหลผ่านท่อทองแดงที่ขดไปมาด้านในครีบ และครีบฟิลคอยล์ที่วางเรียงซ้อนกันถี่ๆนี้ ก็มีไว้เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของโลหะ ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนความร้อน ระหว่างอากาศที่ไหลผ่านเข้ามากระทบ กับ น้ำยาที่ไหลในท่อ

ด้านข้าง จะมีแผ่นพลาสติกสีขาวที่ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง อันดับแรกคือมีหน้าที่หลักในการรองรับแผงคอยล์เย็นทั้งแผงให้อยู่กับที่ รวมทั้งยังช่วยให้หยดน้ำที่กลั่นตัวอยู่ผิวของบนส่วนที่อยู่ริมสุดไหลลงไปตามถาดรองน้ำที่อยู่ด้านล่าง และอีกหน้าที่สำคัญที่แผ่นสีขาวนี้ทำอยู่ ก็คือการทำหน้าที่เป็นตัวล็อกบูทยางรองรับแกนใบพัดโพรงกระรอกให้อยู่กับที่ บนจุดรองรับที่ฐานเครื่อง
 ด้านซ้ายก็จะมีแผ่นสีขาวสำหรับปิดจุดต่อท่อ และถัดไปทางขวาก็จะเป็นกล่องที่รวมวงจรควบคุมทางไฟฟ้า หรือ Box Control โดยมีการออกแบบให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์บรรจุอยู่ภายในกล่องที่ค่อนข้างมิดชิด ส่วนนี้ยังเป็นจุดต่อของสายจ่ายไฟและสายคอนโทรลที่เชื่อมต่อมาจากชุดคอยล์ร้อน โดยปลายสายจะนำมาต่อที่เทอร์มินอลบนกล่องนี้ ซึ่งบอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในกล่องนี้ จะมีชิปประมวลผลรวมอยู่ด้วย ทุกคำสั่งที่เราป้อนให้ผ่านทางรีโมทคอนโทรไร้สาย จะถูกตัวรับนำเข้ามาประมวลผลภายในกล่องนี้ ในขณะที่แอร์ทำงาน ส่วนควบคุมในชุดคอยล์เย็นจะมีการส่งข้อมูลหรือติดต่อกับบอร์ดวงจรที่อยู่ในคอยล์ร้อนตลอดเวลา เพราะสองส่วนที่อยู่ภายในและภายนอก ก็ต้องมีการส่งข้อมูลถึงกัน เพื่อรายงานค่าผลต่างของอุณหภูมิที่วัดได้ กับอุณหภูมิที่ตั้งไว้บนรีโมท ซึ่งวงจรควบคุมรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ต้องการข้อมูลดังกล่าวเพื่อที่จะใช้เป็นตัวกำหนดรอบการทำงานนั่นเอง
พลิกให้เห็นในส่วนของด้านหลังชุดคอยล์เย็น   หลังจากได้แกะดูการออกแบบชุดคอยล์เย็นของแอร์เครื่องนี้แล้ว โดยรวมถือว่า ทางผู้ผลิตได้มีการออกแบบมาค่อนข้างดีเลยทีเดียว มีการใส่ใจเรื่องดีไซน์และสอดแทรกฟังชั่นและกลไกต่างๆไว้อย่างครบครัน ตรงจุดนี้ก็ถือว่าช่วยตอบสนองวิถีชีวิตของกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบความไฮเทคได้เป็นอย่างดี คุณภาพวัสดุที่นำมาผลิตขึ้นรูปเป็นส่วนประกอบของชุดคอยล์เย็น ทางผู้ผลิตก็เลือกใช้วัสดุคุณภาพดีสมราคา และนอกจากนี้ทางผู้ผลิตก็ยังใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆแม้ในจุดที่เราคาดไมถึงด้วย
เนื้อหายังไม่หมด อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 3 >>>CLICK<<< กลับไปอ่านรีวิว ตอนที่ 1 >>>CLICK<<<
Create Date : 01 พฤศจิกายน 2558 | | |
Last Update : 5 เมษายน 2559 18:53:28 น. |
Counter : 3334 Pageviews. |
| |
|
|
|