สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ LG Dual Cool [Sponsor Review] (ตอนที่ 3 - ตอนจบ)



มาถึงรีวิวตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นรีวิวการนำแอร์เครื่องนี้มาติดตั้งจริงแล้ว 
ครั้งนี้ผมเลือกที่จะนำแอร์เครื่องนี้มาติดที่ห้องนั่งเล่นที่อยู่ในออฟฟิต ซึ้งเป็นห้องที่มีขนาดประมา 22.5 ตารางเมตร (4.5 x 5 เมตร) มีประตูกระจกบานสไลด์คู่อยู่สองด้าน ซึ่งถ้าติดแอร์แล้วปิดประตู ต้องมีการเปิดเข้าออกอยู่บ่อยๆแน่
ขนาดแอร์18,000 BTUของแอร์เครื่องนี้ที่ผมได้มา ก็เป็นแอร์ที่มีขนาดเหมาะสุดแล้วจะนำมาติดเข้าในห้องนี้


ขั้นตอนแรกสุดหลังจากที่หาจุดติดตั้งที่เหมาะสมได้ ก็ถอดแผงเหล็กหลังชุดคอยล์เย็น ซึ่งเป็นแผ่นติดตั้งที่ใช้รองรับชุดคอยล์เย็นเข้ากับกำแพงถอดแผงนี้ออกมาเพื่อจะนำไปวัดจุดที่จะติดตั้ง


เมื่อนำแผ่นติดตั้งชุดคอยล์เย็นมาวางแนบกับกำแพงและทำการวัดระยะ รวมไปถึงตั้งแนวตัวเครื่องด้วยระดับน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จึงทำการกำหนดจุดเจาะยึดบนกำแพงให้เหมาะสมและมีความแน่นหนาพอที่จะรับน้ำหนักชุดคอยล์เย็นทั้งชุดได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย

หลังจากที่ยึดแผ่นติดตั้งชุดคอยล์เย็นเข้าที่อย่างแน่นหนาและตรวจสอบอีกครั้งว่ามีแนวระดับที่ถูกต้องแล้ว ก็วัดระยะห่างเพื่อเจาะรูที่จะให้ท่อแอร์ทะลุออกไปนอกตัวอาคาร



แล้วจากนั้นก็ยกชุดคอยล์เย็นขึ้นไปแขวนกับแผ่นติดตั้งที่ติดไว้ก่อนหน้าสอดท่อให้ทะลุออกไปนอกอาคารผ่านทางรูที่เจาะไว้ ส่วนสายเมนสำหรับจ่ายไฟให้แอร์ก็เดินสายไฟมารอที่ชุดคอยล์เย็นได้เลยเพราะแอร์รุ่นนี้กำหนดให้สายเมนที่จ่ายไฟเข้าต่อเข้ากับสายไฟที่ออกมาจากชุดคอยล์เย็นการติดตั้งครั้งนี้ผมเดินสายไฟแบบง่ายๆไม่ยุ่งยาก เพราะเป็นการติดใช้กันเองเลยใช้สายไฟ VAF ขนาด 2 x 2.5 เดินสายจากเบรกเกอร์ขนาด15 A โดยสายถูกเดินลอยแนบมาตามขอบกำแพง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วไม่ต้องถึงขั้นเดินสายแบบร้อยท่อหรือร้อยราง

แล้วจากนั้นก็ออกไปเตียมติดตั้งชุดคอยล์ร้อยโดยติดตั้งไว้บนขาแขวนที่ยึดเข้ากับกำแพง พอติดตั้งชุดคอยล์ร้อนเสร็จเรียบร้อยก็จัดการในส่วนของท่อน้ำยา โดยต่อท่อทองแดงเข้ากับจุดต่อท่อที่ต่อเข้าชุดคอยล์เย็นแล้วมาต่อเข้ากับจุดที่ต่อกับชุดคอยล์ร้อนและทำการเดินสายไฟเชื่อต่อเครื่องด้านนอกเข้ากับเครื่องด้านในแล้วเก็บงานพันท่อให้ดูเรียบรอยพอประมาณ เป็นอันเสร็จกระบวนการติดตั้ง

ซึ่งแอร์เครื่องนี้ก็ติดตั้งไม่ยากแถมพื้นที่ติดตั้งก็เข้าถึงได้ไม่ยาก ชุดคอยล์ร้อนก็ไม่ได้เอาไว้สูงไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปติด ระยะการเดินท่อแอร์ก็สั้นๆไม่ยุ่งยากใช้เวลาราวๆสองชั่วโมงการติดตั้งเดินท่อก็เสร็จ โดยการติดตั้งครั้งนี้ผมทำคนเดียวเสียส่วนใหญ่แต่ก็มีลูกมือมาช่วยในขั้นตอนที่ยกชุดคอยล์ร้อนขึ้นไปติดเพราะผมไม่มีความสามารถพอจะแบกชุดคอยล์ร้อนทั้งชุดออกมาติดบนขาแขวนได้ด้วยตัวคนเดียวสงสัยว่าสกิลการแบกของหนักของผมยังไม่พอแน่ๆ แต่วันที่แอร์เครื่องนี้มาส่งนั้น ระหว่างที่ผมกำลังตรวจเรื่องใบรับของอยู่หันไปเห็นว่าพี่คนที่ขับรถบรรทุกมาส่งแอร์เขาลากคอยล์ร้อนออกมาพอดี ทางผมก็ไม่มีคนอื่นช่วยยกเพราะตอนแอร์มาส่งยังเช้าเกินมีแต่เสมียนผู้หญิงมาช่วยเปิดร้านก่อนใครจะให้ไปช่วยยกก็จะกลายเป็นว่าผมโหดร้ายอีกผมจึงวางใบรับของที่กำลังตรวจเช็ค กำลังจะวิ่งออกไปช่วยยก แต่ไม่ทัน พี่คนที่เขาขับรถบรรทุกมาส่งแอร์ถือว่าแข็งแรงมากจัดการโซโล่ยกลังที่ใส่คอยล์ร้อนแอร์เครื่องนี้ลงมาจากรถบรรทุกยกอ้อมรถที่จอดหน้าร้านขึ้นมาวางในร้านได้ด้วยตัวคนเดียว ผมนี่นับถือเลยผมถามพี่เขาว่าทำไมไม่รอผมจะออกไปช่วยแล้ว พี่คนส่งของเขาบอกว่า “กลัวจะไม่ทันการเดี๋ยวพี่จ่าผ่านมาเจอรถบรรทุกจอดหน้าร้านแบบซ้อนเลนซ์อยู่งานเข้าแน่”ผมฟังแล้วทั้งฮาทั้งขอคาราวะในพละกำลัง


คอยล์ร้อนที่ติดตั้งเสร็จแล้วและผ่านการทำสุญญากาศระบบด้วยแว็คคัมปั๊มเป็นเวลา 30 นาที เป็นที่เรียบร้อยก็จัดการเปิดวาล์วที่เซอร์วิสวาล์ว โดยเริ่มจากเปิดวาล์ท่อเล็กจนสุดตามด้วยวาล์วของท่อใหญ่ เพื่อปล่อยให้แรงดันน้ำยา R410a ที่ใส่มาให้ในชุดคอยล์ร้อนไหลเข้าสู่ระบบครบวงจร น้ำยาที่ให้มากับแอร์เครื่องนี้นั้นมีอยู่เต็มจำนวนที่แอร์ต้องการใช้ หากเดินท่อแอร์ไม่เกิน 4 เมตรคือถ้าไม่มีการต่อท่อเพิ่ม ใช้ท่อไม่เกินความยาวของท่อที่ให้มาก็ไม่ต้องเติมน้ำยาเพิ่มเลย

หลังจากเปิดน้ำยาให้ไหลในระบบครบวงจรน้ำยาแล้วก็เอาแคลมป์มิเตอร์มาเตรียมคล้องที่สายไฟ เพื่อที่จะรอดูค่ากระแสเมื่อเครื่องทำงานแล้วก็สั่งเปิดเครื่องได้เลย



เมื่อชุดคอยล์ร้อนเริ่มทำงานคอมเพรสเซอร์จะสตาร์ทแบบค่อยๆหมุนออกตัวเพราะเข็มมิเตอร์ที่วัดค่ากระแสมันค่อยๆสวิงขึ้นถือเป็นการเริ่มเดินเครื่องแบบนิ่มนวล ค่อยๆเริ่มจากรอบต่ำๆขึ้นไปรอบสูงสุดช่วยลดไฟกระชากในช่วงสตาร์ทได้



กระแสไฟฟ้าที่วัดได้สูงสุดขึ้นไปที่ประมาณ7.2 Aซึ่งจากที่ผมเฝ้าสังเกตคือมันไม่สูงมากเกินไปกว่านี่อีกแล้วนี่เป็นกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในช่วงที่แอร์ทำงานแบบเร่งรอบสูงสุดเพื่อเร่งให้ห้องเย็นเร็วค่ากระแสที่ใช้จริงถือว่าน้อยกว่าที่บอกไว้บนเนมแพลตเพราะบนเนมแพลตระบุว่ากระแสสูงสุดที่ 10



จากนั้นรอบการทำงานก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆซึ่งก็แสดงว่าในห้องเริ่มเย็นลงแล้วและรอบการทำงานก็ค่อยๆปรับลงลงให้สัมพันธ์กับอุณหภูมิ สังเกตได้จากค่ากระแสที่วัดได้เข็มมิเตอร์ค่อยๆตกลงมาเรื่อยๆมีช่วงหนึ่งตกลงมาและค้างที่ค่านี้อยู่พักหนึ่งซึ่งก็อ่านค่ากระแสได้ 3.6 A และลงมาที่ 3.4 A แล้วผมก็ลองเข้ามาด้านในห้องเพื่อดูความเย็นในห้องซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงใกล้ๆบ่ายโมง แดดด้านนอกร้อนมากตอนเปิดเครื่องนั้นผมตั้งค่าอุณหภูมิไว้ที่ 23 องศาเซลเซียส และก็เคยออกมาวัดกระแสช่วงตอนกลางคืนหลังพระอาทิตย์ตก ช่วงที่ห้องเย็นแล้วและข้างนอกไม่ร้อนเท่าตอนกลางวันแอร์เครื่องนี้สามารถเดินรอบต่ำที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 2 A นิดๆ



เข้ามาด้านในห้องเย็นฉ่ำสบายเลย และท่าจะเห็นว่าที่ด้านขวาของแอร์มีตัวเลขเรืองแสงปรากฏอยู่ บอกอุณหภูมิ23 องศาเซลเซียส ซึ่งตรงนั้นมันคือตัวเลขที่มาจากการที่หลอด LEDของจอแสดงผลในชุดคอยล์เย็น ที่ส่งแสงออกมากระทบที่หน้ากากแอร์โดยจะเห็นตัวเลขเฉพาะเมื่อตอนที่เราเปิดแอร์เท่านั้น ตอนที่แอร์ยังปิดอยู่บริเวณนี้จะเป็นสีขาวไม่ต่างอะไรกับส่วนอื่นๆบนหน้ากากแต่ถ้าใครเอาแอร์รุ่นนี้ไปติดในห้องนอน หากต้องการห้องมืดๆไร้แสงรบกวน ก็สามารถปรับระดับความสว่างของแสงไฟแสดงผลลงมาได้หรือไม่ก็ปิดไฟแสดงผลไปเลยก็สามารถทำได้ครับโดยการปรับความสว่างนี้ก็สามารถทำได้โดยกดปุ่มบนรีโมทแอร์ครับ


การแสดงผลไม่ได้ทำได้แค่แสดงค่าอุณหภูมิแต่ยังแสดงผลค่าอื่นๆได้อีก อย่างในภาพคือผมสั่งให้มันทำงานแบบเต็มกำลังการแสดงผลก็จะเป็น Po และยังมีการแสดงผลตอนที่เรากดเลือกสปีทพัดลมด้วยซึ่งแอร์รุ่นนี้จะมีสปีทพัดลมให้เลือกถึง 5 ความแรง และแบบลมออโต้ซึ่งเวลาเรากดสั่งสปีทพัดลมมันก็จะบอกที่บนหน้าจอด้วยว่าตอนนี้สปีทไหนโดยแสดงผลเป็น F1, F2, F3, F4 และ F5



ส่วนของแรงดันน้ำยาR410aในระบบ ซึ่งในกรณีของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ค่าแรงดันน้ำยาในขณะที่เครื่องทำงานมันย่อมแปรผันไปตามรบการทำงานของคอมเพรสเซอร์เราคงไปยึดติดค่าแรงดันน้ำยาแบบตายตัวไม่ได้ อย่างในภาพนี้ก็เป็นค่าแรงดันในช่วงที่เครื่องทำงานไปได้สักพักหนึ่งแล้วซึ่งแรงดันก็อยู่ที่ประมาณ 125 PSIG กระแสไฟฟ้าที่วัดได้ก็ตามเกณฑ์โดยรวมทุกอย่างโอเคไม่มีปัญหาครับ



ติดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็จัดการออกมาเก็บงานและเก็บเครื่องไม้เครื่องมือด้านนอกให้เรียบร้อย

สังเกตเห็นว่าชุดคอยล์ร้อนทำงานได้เงียบพอสมควรช่วงเร่งรอบนั้นอาจจะได้ยินเสียงลมแรงสักหน่อย แต่ไม่ถึงกับดังมากเท่าไหร่แต่พอห้องเริ่มเย็นในช่วงที่รอบลดลงเสียงลมจากพัดลมของชุดคอยล์ร้อนก็เหมือนจะเบาลงด้วย เสียงก็ยิ่งเงียบลงไปอีกซึ่งก็แสดงว่าพัดลมด้านนอกก็มีการออกแบบให้ปรับรอบการหมุดได้ตามความเหมาะสม



สรุปแล้วแอร์เครื่องนี้ที่เขาส่งมาให้ลองใช้ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจครับทำงานได้ค่อนข้างเงียบ ยิ่งถ้าปรับสปีทพัดลมแบบออโต้พอห้องเริ่มเย็นพัดลมก็จะหมุนด้วยสปีทเบา เสียงพัดลมสปีทเบาก็จะเงียบลง จนบางครั้งที่ผมเองนึกได้ว่ามันเงียบจนต้องเงยดูว่ามันยังทำงานอยู่อีกหรือเปล่าส่วนเรื่องการกินไฟก็ถือว่าใช้พลังงานไม่ค่อยมาก และสุดท้ายคือเย็นฉ่ำทั่วทั้งห้องดีครับ

ในภาพจะเห็นว่าแอร์ไปติดหลบอยู่เกือบติดมุมห้องที่เอาไปติดจุดนี้ก็เพราะผนังฝั่งนี้จากมุมอีกด้านมาถึงช่วงกลางห้องก็เป็นตู้สูงจรดเพดานถัดมาก็เป็นหิ้งพระด้วย เหลือแต่บริเวณใกล้มุมห้องที่พอจะติดได้ในแนวผนังด้านนี้ แต่ถึงจะติดหลบมุมแบบนี้แต่ความเย็นก็กระจายได้ทั่วทั้งหองไม่มีปัญหาครับสำหรับแอร์เครื่องนี้


หมดแล้วครับรีวิวหวังว่าที่นำมารีวิวให้รับชม คงจะพอมีประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ หรือมีประโยชน์กับใครที่กำลังมองหาแอร์เครื่องใหม่อยู่นะครับ

ขอบคุณที่ติดตามรับชม รีวิวชุดนี้ก็ต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้สวัสดีครับ



รีวิว...เครื่องปรับอากาศ LG Dual Cool ก็ได้จบลงแต่เพียงเท่านี้

กลับไปอ่านรีวิว ตอนที่ 2 >>>CLICK<<<

กลับไปอ่านรีวิว ตอนที่ 1 >>>CLICK<<<








 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2559    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2559 17:30:03 น.
Counter : 7805 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ LG Dual Cool [Sponsor Review] (ตอนที่ 2)







มาถึงรีวิว ตอนที่ 2 ซึ่งผมก็จะแกะให้ดูด้านในชุดคอยล์เย็นว่าภายในจะมีลักษณะเป็นอย่างไร



แต่ก่อนอื่นอยากพูดถึงเรื่องการแกะฝาครอบชุดคอยล์เย็นอย่างถูกต้องก่อนเพราะที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้พบเจอมาบ่อยมากในกรณีของแอร์ที่มีปัญหามาจากการถอดชิ้นส่วนและฝาครอบ ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง และทำให้แอร์ทำงานไม่เหมือนเดิมจนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากแอร์ที่ผลิตมาไม่ดี

จึงอยากฝากถึงช่างบางส่วนหรือท่านใดที่ต้องไปถอดประกอบฝาครอบแอร์รุ่นนี้หากไม่เคยถอดแกะฝาครอบแอร์รุ่นนี้มาก่อนแนะนำว่าให้หยิบเอกสารคู่มือประกอบการติดตั้งที่ให้มากับแอร์ แล้วทำตามคำแนะนำในคู่มือคือทางออกที่ดีที่สุดแล้วครับ

อย่าใช้วิธีการถอดด้วยการเดาสุ่มเอามั่วๆเพราะท้ายที่สุด บางท่านถอดแบบผิดๆ ซึ่งถอดให้ตายมันก็ไม่ออกและคนถอดอาจจะเริ่มหัวเสีย ออกแรงขืนหรือใช้อะไรมางัดให้มันออกท้ายที่สุดก็อาจจะนำมาซึ่งการแตกหักเสียหายของชื้นส่วนจำพวกตัวจับล็อคและทำให้การประกอบกลับไม่สามารถทำให้เป็นเหมือนเดิมได้อาจจะมีการสั่นสะเทือนหรือเสียงผิดปกติเมื่อเปิดแอร์แล้วท้ายที่สุดคนที่แกะพังก็มักจะบอกเจ้าของแอร์ว่าแอร์ตัวนี้ห่วย ออกแบบมาไม่ดีบอกกันต่อๆว่าแอร์ห่วย ทั้งที่จริง บ่อยครั้งที่ผมเจอเรื่องแบบนี้ พอลองตรวจเช็ตอย่างละเอียดก็พบว่าแอร์ไม่ได้ห่วยหรือออกแบบมาไม่ดีแต่เพราะช่างหรือคนที่มาทำก่อนหน้าต่างหากที่ห่วย

ภาพข้างล่างนี้คือคำแนะนำที่ผมถ่ายมาจากคู่มือที่ให้มากับเครื่องนะครับเป็นขั้นตอนเริ่มต้นเลย สำหรับการถอดหน้ากากแอร์รุ่นนี้คือก่อนอื่นต้องเริ่มจากการถอดชิ้นล่างสุด






ภาพการถอดฝาครอบส่วนแรกอ้างอิงตามคู่มือเลยครับ ถอดได้ไม่ยากถ้าทำตามที่ผู้ผลิตบอกมา


แล้วจะพบสลักเกลียวที่ยึดตัวหน้ากากหลักซึ่งเป็นชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวถ้าจะถอดหน้ากากชิ้นใหญ่ออก ก็ให้คลายสกรูสองด้านออกแล้วค่อยๆยกออกครับ


โดยรวมแล้วการถอดหน้ากากที่ครอบตัวเครื่องออก วิธีการไม่ซับซ้อน ดูตามคู่มือไม่กี่ขั้นตอนก็สามารถถอดได้ไม่ยากครับ แกะล้างใหญ่ก็ทำได้สบายๆ

และแอร์รุ่นนี้เหมือนจะออกแบบให้ใช้ชิ้นส่วนเป็นชิ้นใหญ่ๆหรือชิ้นหลักๆเพียงไม่กี่ชิ้นไม่มีชิ้นส่วนจุกจิกมากชิ้น ไม่มีสายไฟเส้นเล็กๆต่อออกมายังส่วนหน้ากากอย่างเช่นแอร์บางรุ่นที่มีพวกจอแสดงผล หรือมีพวกไฟแสดงสถานะติดมาบนหน้ากากเวลาจะถอดล้างแต่ละทีก็ต้องคอยระวังพวกสายไฟเอาไว้อย่างมาก


มาดูกันที่ส่วนด้านในของชุดแฟนคอยล์ยูนิต หรือชุดคอยล์เย็น


ภาพรวมของชุดคอยล์เย็นด้านใน



สำหรับส่วนสำคัญในชุดคอยล์เย็นอย่างส่วนของแผงอีวาปอเรเตอร์(แผงคอยล์เย็น) ในชุดคอยล์เย็นของแอร์รุ่นนี้เป็นแผงแบบท่อและครีบโดยแผงแบบนี้ถือเป็นรูปแบบมาตรฐานที่แอร์ทั่วไปต่างก็ใช้แผงแบบนี้ในชุดคอยล์เย็นภายในครีบอลูมิเนียมที่เรียงซ้อนกันอยู่นี้ ก็จะมีท่อทองแดงสอดผ่านท่อทองแดงที่สอดอยู่ภายในขดไปมา ก็คือท่อทางเดินของน้ำยาแอร์น้ำยาแอร์จะถูกส่งมาจากกระบวนการอัด และควบแน่น รวมไปถึงถูกลดแรงดันจากภายในชุดคอยล์ร้อย จะถูกส่งมาตามท่อเพื่อมาทำการและเปลี่ยนความร้อนที่แผงนี้โดยเมื่อน้ำยาแอร์ไหลผ่านแผงอีวาปอเรเตอร์ น้ำยาจะดึงเอาความร้อนรอบๆทำให้บริเวณแผงมีอุณหภูมที่ต่ำลงซึ่งก็คือความเย็นที่ได้จากกระบวนการและเปลี่ยนความร้อนนั่นเองครับ



และนี่ก็คือส่วนของท่อทองแดงที่สอดเข้าไปในครีบฟิลคอยล์ของชุดอีวาปอเรเตอร์น้ำยาที่จะทำให้แอร์มีความเย็น ก็จะไหลไปตามท่อพวกนี้ ซึ่งท่อจะบังคับให้น้ำยาไหลไปทั่วบริเวณที่เป็นแผงอีวาปอเรเตอร์



ตรงบริเวณท่อส่วนโค้งที่ติดอยู่กับแผงอีวาปอเรเตอร์(แผงคอยล์เย็น)ทางผู้ผลิตได้มีการเคลือบสีที่มีคุณสมบัติป้องกันการผุกร่อน มาให้ด้วย 

ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้มาพูด ทั้งๆที่บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นแค่ท่อที่ถูกทาสีก็เพราะท่อส่วนโค้งนี้ เป็นส่วนที่ใช้การเชื่อมเข้าไปในกระบวนการผลิตและคอยล์เย็นของแอร์แบบติดผนังแทบทุกตัวที่วางขายอยู่ในท้องตลาดจะมีการเชื่อมท่อส่วนโค้งนี้เข้าไปด้วยกันทั้งนั้น รอยเชื่อมนี้หากไม่มีการตรวจสอบและไม่มีการป้องกันการกัดกร่อนที่ดีพอในระยะยาวก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้น้ำยารั่วซึมออกมาได้เช่นกัน



ส่องเข้าไปดูทางด้านในช่องลมออกก็จะเห็นส่วนที่เป็นครีบบานสวิงที่ใช้สำหรับปรับทิศทางลมในแนว ซ้าย-ขวาถัดไปก็จะเป็นส่วนของซี่ใบพัดโพรงกระรอกซึ่งเป็นใบพัดที่ทำหน้าที่หลักในการดูดเอาอากาศเข้ามาผ่านตามร่องของครีบอลูมิเนียมบนแผงอีวาปอเรเตอร์แล้วเป่าเป็นลมเย็นส่งออกมาจากชุดคอยล์เย็น


ในส่วนของใบพัดโพรงกระรอกที่อยู่ภายในชุดคอยล์เย็นของแอร์เครื่องนี้ได้มีการออกแบบให้ใบพัดมีรูปทรงที่ช่วยลดเสียงรบกวนในขณะที่เครื่องทำงานซึ่งผู้ผลิตได้อธิบายไว้ว่าเป็นเทคโนโลยีการออกแบบใบพัดแบบเยื้องศูนย์ ที่ออกแบบมาเพื่อลดความกดดันบนพื้นผิวของใบพัดเมื่อกระทบกับลมจึงทำให้การหมุนเวียนของอากาศดีขึ้นและช่วยลดระดับเสียงให้เงียบลง





สำหรับการล้างแอร์แบบที่เรียกว่าการล้างใหญ่ที่ต้องถอดส่วนต่างๆลงมาฉีดล้างทำความสะอาดนั้นถาดรองน้ำทิ้งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควรจะต้องถอดลงมาล้างแต่แอร์บางรุ่นก็มีถาดน้ำทิ้งที่ถอดแยกไม่ได้เพราะมันติดเป็นส่วนเดียวกับฐานตัวเครื่อง ซึ่งนั้นจะทำให้การล้างใหญ่เป็นเรื่องยากขึ้นเพราะการล้างใหญ่ที่ถูกต้องนั้น จะต้องมีการถอดใบพัดโพรงกระรอกออกมาล้างให้สะอาดซึ่งหากแอร์รุ่นไหนที่ถาดรองน้ำทิ้งในคอยล์เย็นถอดไม่ได้ การจะถอดใบพัดออกมาล้างก็จะยุ่งยากขึ้นไปอีกแต่จากที่ได้ตรวจเช็คดูก็ถือว่าโชคที่ว่ารุ่นนี้สามารถถอดถาดรองน้ำทิ้งแยกออกมาล้างได้ครับการถอดล้างใหญ่จึงไม่ยุ่งยากเท่าไหร่

และด้านในชุดคอยล์เย็นในส่วนที่อยู่ทางด้านขวาสุดของตัวคอยล์เย็น ก็จะเป็นส่วนของบล็อกคอนโทรลซึ่งเป็นกล่องโลหะที่เก็บแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ด้านใน ส่วนนี้เรียกได้ว่าเป็นโมดูลของส่วนควบคุมทางไฟฟ้าก็ว่าได้ซึ่งแอร์รุ่นนี้ก็ออกแบบให้แผงวงจรส่วนที่มีความสำคัญถูกเก็บไว้อย่างดีในกล่องป้องกัน



และสำหรับส่วนที่เห็นในภาพว่ามีกรอบสี่เหลี่ยมสีดำที่มีเลข88 และสัญลักษณ์ต่างๆ ปรากฏอยู่นั้น ก็เป็นส่วนของไฟ LEDที่ใช้แสดงผลขณะที่เครื่องทำงาน คือการแสดงผลที่แอร์รุ่นนี้ใช้มีหลักการพื้นฐานโดยให้ LED สว่างขึ้นมาตามสถานะที่เป็นโดยสำแสงที่ส่งออกมาจากส่วนนี้ก็จะไปกระทบกับผิวของหน้ากากเกิดการสะท้อนแสงเป็นตัวเลขและสถานะ ปรากฏบนหน้ากากซึ่งหน้ากากที่เห็นว่าเป็นสีขาวทีเรียบๆ เมื่อแอร์ทำงานก็มีตัวเลขปรากฏให้เห็นเลย




ดูคอยล์เย็นกันไปแล้วคราวนี้มาต่อกันด้วยการแกะรีวิวดูในส่วนของชุดคอยล์ร้อนหรือเรียกอีกชื่อก็คือชุดคอนเด็นซิ่งยูนิต (Condensing Unit)


เตรียมแกะกล่องบรรจุออก



ยกกล่องบรรจุขึ้นก็จะเห็นดังเช่นในภาพ ชุดคอยล์ร้อนมีพลาสติกคลุมมาให้โดยถูกวางอยู่บนฐานรองรับที่เป็นโฟมกันกระแทกมีซองพลาสติกสีเขียวขนาดใหญ่พาดอยู่ที่ชุดคอยล์ร้อนภายในซองสีเขียวนั้นบรรจุท่อทองแดงหุ้มฉนวนที่ใช้ในการติดตั้งมาให้จำนวน 2 ชุด


ด้านหลังชุดคอยล์ร้อนก็จะมีท่ออีกชุดอยู่ในซองสีเขียวด้วยเช่นกัน



ชุดท่อทองแดงหุ้มฉนวนที่ให้มาพร้อมกับชุดคอยล์ร้อนเป็นชุดท่อทองแดงเฉพาะที่ใช้ได้กับแอร์รุ่นนี้ขนาดนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราอาจจะเคยเห็นแอร์รุ่นอื่นยี่ห้ออื่นที่มีห่อแถมให้มาด้วย โดยบรรจุท่อเอาไว้ในกล่องกระดาษแยกไปอีกกล่อง เวลาซื้อแอร์ 1เครื่อง ก็จะได้สินค้ามา 3 กล่อง แต่แอร์รุ่นนี้ท่อที่แถมมาใส่ให้มาในกล่องเดียวกันพร้อมกับชุดคอยล์ร้อน

ใครที่คุ้นเคยกับท่อแอร์ที่แยกบรรจุมาให้อีกกล่องพอมาซื้อแอร์รุ่นนี้หรือรุ่นอื่น และเมื่อได้รับสินค้าแล้วเห็นว่ามันมีแค่กล่อง 2กล่อง ก็ไม่ต้องตกใจว่าร้านแอร์ลืมให้ท่อมานะครับลองแกะกล่องบรรจุชุดคอยร้อนดูก่อนก็ได้ ซึ่งถ้าแกะมาแล้วไม่เจอท่อม้วนมาให้อันนี้ก็ต้องโทรกลับไปถามที่ร้านเลยจะดีที่สุดครับ


ชุดท่อที่ให้มามีอยู่ด้วยกัน2 ชุด แต่ละชุดก็ม้วนมาให้อย่างที่เห็นในภาพ โดยม้วนท่อม้วนแรกนั้นเป็นท่อทองแดงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง¼ นิ้ว ยาว 4 เมตร และอีกม้วนคือ ท่อทองแดงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ½ นิ้ว ยาว 4 เมตร โดยม้วนท่อทั้งสองที่ให้มามีการหุ้มฉนวนโฟมยางสีขาวมาให้เกือบเต็มความยาวท่อและที่ปลายของท่อแต่ละม้วนก็ได้มีการใส่แฟร์นัทและบานท่อมาให้พร้อมที่จะนำไปเชื่อมต่อกับตัวแอร์ได้ในทันที



ด้านข้างชุดคอยล์ร้อนจะมีห่อใส่ยางรองกันกระแทกแปะมาให้ด้วยนะครับ



นี่ก็จะเป็นหน้าตาของชุดคอยล์ร้อนแอร์รุ่นนี้ 

ขนาดของชุดคอยล์ร้อนแอร์เครื่องนี้โดยรวมก็ถือว่าออกแบบมาได้อย่างมั่นคงแข็งแรงดี ตัวถังภายนอกส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กแผ่นเคลือบสีกันสนิมจะมีก็แต่บางส่วนที่เป็นวัสดุอื่น อย่างตรงตระแกรงหน้าที่ปิดใบพัดของพัดลมระบายความร้อนที่เป็นพลาสติกเหมือนกับรุ่นอื่นๆในปัจจุบันและในส่วนฐานล่างของตัวชุดคอยล์ร้อน ซึ่งเป็นฐานที่รองรับทุกสิ่งไว้นั้น ส่วนนี้ทำมาจากอลูมิเนียมแบบหนาป้องกันไม่ให้เกิดสนิมหากมีน้ำขังอยู่

เรื่องของขนาดโดยรวมของชุดคอยล์ร้อนนั้นถือว่ามีขนาดใหญ่ และเป็นขนาดที่เหมาะสมดีแล้ว กับขนาดแอร์ 18,000BTU

ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองชอบแอร์ที่คอยล์ร้อนมีขนาดใหญ่ ในทางกลับกันผมไม่ชอบแอร์ที่ผู้ผลิตบีบขนาดชุดคอยล์ร้อนให้เล็กเกินเพราะบางยี่ห้อที่เจอมาคอยล์ร้อนนับวันจะถูกผลิตออกมาเล็กลงมากเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกันที่ผลิตออกมาในยุคก่อนๆอย่างแอร์ 18,000 BTU ของบางยี่ห้อชุดคอยล์ร้อนที่ผลิตออกมาในยุคปัจจุบัน มันมีขนาดเทียบเท่ากับชุดคอยล์ร้อนที่เคยใช้กับแอร์ขนาด12,000 BTU ในรุ่นก่อนๆ การที่ชุดคอยล์ร้อนมีขนาดเล็กลงไปจากเดิมมากนั้นทางผู้ผลิตก็มักจะมีเหตุผลที่ผมมองว่าเป็นข้อแก้ต่าง โดยมักจะบอกว่าขนาดเล็กลงช่วยให้ประหยัดพื้นที่หรือเป็นการดีไซน์เพื่อลดความเทอะทะ แต่ผมเองในฐานนะที่ขายแอร์มาแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อและได้ลงไปติดเองมาพอสมควรผมมองว่ามันคือการลดต้นทุนของผู้ผลิตครับ

เพราะการที่ชุดคอยล์ร้อนมีขนาดเล็กลงผู้ผลิตย่อมประหยัดค่าวัตถุดิบอย่างเหล็กลงไปได้พอสมควรและยังประหยัดค่ากล่องบรรจุ รวมไปถึงประหยัดค่าขนส่งลงไปอีก เพราะชุดคอยล์ร้อนเล็กลงกล่องก็เล็กตามมีพื้นที่ให้บรรทุกได้เพิ่มขึ้นอีก

แต่ในด้านประสิทธิภาพการใช้งานจริงขนาดชุดคอยล์ร้อนที่เล็กๆเพื่อให้ได้การทำความเย็นระดับเดิมก็ต้องชดเชยด้วยการทำแผงควบแน่นให้หนาขึ้นโดยมักจะซ้อนแผงสองชั้นซึ่งแผงสองชั้นจะอุดตันง่ายและล้างให้สะอาดยากแอร์ระบายความร้อนไม่ดีเมื่อใช้ไป ท้ายสุดก็ไม่พ้นเรื่องของการกินไฟเพิ่มขึ้น นอกจากการออกแบบแผงควบแน่นสองชั้นชดเชยแล้วบางครั้งก็ยังไปชดเชยที่การออกแบบให้มอเตอร์พัดลมหมุนเร็วและเป่าลมออกมาแรงขึ้นซึ่งเสียงลมก็จะดังขึ้นอย่างชัดเจน



บริเวณด้านหลังของชุดคอยล์ร้อนก็จะมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กที่ถูกเจาะรูสีเหลี่ยมหลายๆรูเรียงกันเป็นตารางช่วยป้องกันไม่ไห้แผงควบแน่นที่อยู่ด้านในได้รับความเสียหาย หากมีอะไรมากระแทก

สำหรับช่องว่างที่เห็นด้านหลังนี้มีไว้ก็เพื่อเป็นช่องอากาศ สำหรับให้อากาศไหลผ่านได้สะดวกโดยอากาศจะถูกพัดลมด้านในดูดเข้ามาผ่านแผงควบแน่นเพื่อระบายความร้อนให้กับน้ำยาที่ไหลไปมาผ่านแผงควบแน่นน้ำยาแอร์ที่ถูกระบายความร้อนออกไปก็จะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวแรงดันสูงกลายเป็นไอแรงดันสูงและพร้อมเข้าสู่อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ลดแรงดันเพื่อให้เกิดการทำความเย็นขึ้น


มาถอดดูกันในส่วนของชุดคอยล์ร้อนโดยเริ่มจากการคลายสกรูที่ยึดฝาครอบด้านบนออกเพื่อถอดฝาครอบส่วนด้านบนออกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งฝาครอบส่วนนี้ยึดด้วยสกรู 9 ตัวคือ หลัง 2 ตัว ด้านข้างซ้ายขวาข้างละ 2 ตัว และด้านหน้าอีก 3 ตัว เมื่อคลายสกรูยึดออกแล้วเปิดฝาออกซึ่งก็จะเห็นเหมือนในภาพ



เมื่อเปิดฝาครอบด้านบนแล้วก็สามารถเปิดฝาปิดด้านหน้าออกได้  หลังจากคลายสกรูเปิดฝาหน้าแล้วก็เห็นส่วนที่อยู่ด้านใน ตามที่แสดงในภาพ



ด้านในชุดคอยล์ร้อนก็จะเป็นแผงควบแน่น พัดลมระบายความร้อน ชุดบอร์ดควบคุมระบบอินเวอร์เตอร์และคอมเพรสเซอร์ที่ถูกห่อไว้ด้วยผ้าห่มคอมเพรสเซอร์



ในส่วนของแผงระบายความร้อนCondenserที่อยู่ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit เป็นแบบที่ผลิตมาจากอลูมิเนียมทั้งแผง

ซึ่งนี่เป็นแผงระบายความร้อนแบบใหม่แทนแบบเก่าที่เป็นท่อทองแดงสอดไว้ในแผงครีบอลูมิเนียม เป็นแผงที่ผู้ผลิตหลายแบรนด์ในตอนนี้เริ่มเปลี่ยนมาใช้กันหลายเจ้าแล้ว

ถ้าพูดในเรื่องประสิทธิภาพการนำมาใช้งานกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนชนิดระบายความร้อนด้วยอากาศ พบว่าแผงระบายความร้อนอลูมิเนียมทั้งชุดจะมีประสิทธิภาพการดึงความร้อนออกจากสารทำความเย็นได้ดีกว่าเพราะการไหลเวียนของสารทำความเย็นนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีพื้นที่สัมผัสที่มากกว่า (ตามหลักการ Coefficient Heat transfer)

แต่แผงแบบนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่เหมาะสมกับการนำไปติดตั้งใช้งานในบริเวณพื้นที่ใกล้แนวชายฝั่งเพราะไอเกลือจากทะเลอาจจะกัดกร่อนทำให้แผงอลูมิเนียมมีอายุการใช้งานที่สั้นลงซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางผู้ผลิตได้ให้คำแนะนำ พร้อมทั้งให้แนวทางการแก้ไขในคู่มือการติดตั้ง


ส่วนของพัดลมระบายความร้อนเป็นใบพัดพลาสติกแข็ง ซึ่งขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แบบปิดสนิท



ส่วนที่มีความซับซ้อนอย่างแผงควบคุมของระบบอินเวอร์เตอร์ถูกเก็บไว้ภายในกล่องบรรจุอย่างมิดชิดป้องกันสัตว์อย่างหนูหรือจิ้งจกเข้าถึงบอร์ดวงจรควบคุม เพราะที่ผ่านมาแอร์บางรุ่นเคยมีกรณีความเสียหายของบอร์ดวงจร เพียงเพราะว่าจิ้งจกเข้าไปเดินบนส่วนที่เป็นลายวงจรขอบอร์ดควบคุมแล้วทำให้เกิดการลัดวงจรของแผงควบคุม ซึ่งนำความเสียหายมาสู่ผู้ใช้เพราะต้องสั่งแผงวงจรมาเปลี่ยนใหม่ยกแผง ราคาก็สูงถึงหลายพันบาทต่อแผง


แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมระบบอินเวอร์เตอร์ของแอร์รุ่นนี้ยังมีความทนทานขึ้น โดยเฉพาะการทนต่อแรงดันไฟฟ้าที่สูงเกินพิกัดปกติซึ่งผู้ผลิตออกแบบให้มันทนได้สูงสุดถึง 450 V



ส่วนของคอมเพรสเซอร์แอร์รุ่นนี้ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าห่มคอมเพรสเซอร์ถึงสองชั้นช่วยให้ลดเสียรบกวนที่จะออกมาภายนอกในขณะที่เครื่องทำงาน


ผมลองสอดกระจกเงาเข้าไปส่องดูฉลากที่ติดอยู่ด้านในคอมเพรสเซอร์เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับคอมเพรสเซอร์ของแอร์เครื่องนี้ 


ซึ่งแอร์เครื่องนี้ใช้มอเตอร์กระแสตรง (DC Motor) เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนกลไกภายในซึ่งการใช้มอเตอร์กระแสตรงเป็นตัวขับเคลื่อนกลไกภายในคอมเพรสเซอร์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่แอร์อินเวอร์เตอร์ของค่ายยักษ์ใหญ่หลายยี่ห้อนำมาใช้งานกับแอร์ของตนเพราะมอเตอร์กระแสตรง เมื่อนำมาใช้กับชุดควบคุมอินเวอร์เตอร์จะช่วยให้ลดการสูญเสียพลังงานลงทำให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพราะไม่ต้องมีขั้นตอนการแปลงกระแสไฟฟ้าไปมาหลายขั้นตอน ส่วนที่เห็นว่าข้อมูลบนฉลากระบุว่าเป็นมอเตอร์3 เฟส 380 โวลต์ (3 PH 380 V) นั่นก็หมายถึงคอมเพรสเซอร์ตัวนี้ใช้มอเตอร์ที่ใช้กับระบบไฟ3 เฟส แต่ชุดแอร์เครื่องนี้ยังคงรับไฟระบบ 1 เฟส แบบที่เราใช้กันในบ้านทั่วไปส่วนไฟ 3 เฟสที่จ่ายเข้ามอเตอร์นั้นได้มาจากการแปลงภายในแผงควบคุมระบบอินเวอร์เตอร์ จาก 1 เฟส220 โวล์ เป็น 3 เฟส 380 โวล์ และยังเป็นกระแสตรงตามแบบที่มอเตอร์ต้องการ


เทคโนโลยีของคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในแอร์รุ่นนี้

เป็นเทคโนโลยีที่มีชื่อว่าDualInverter Compressor (ดูโอ อินเวอร์เตอร์ คอมเพรสเซอร์)โดยเป็นโรตารี่คอมเพรสเซอร์ที่มีการออกแบบให้มีใบพัดโรเตอร์จำนวนสองชุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นจากโรตารี่คอมเพรสเซอร์แบบดั้งเดิมที่ใช้ใบพัดโรเตอร์เพียงชุดเดียวในการสร้างกำลังให้กับกระบวนการดูดและอัดสารทำความเย็น
เมื่อมีสองใบพัดโรเตอร์ที่คอยทำงานร่วมกัน คอมเพรสเซอร์โรตารี่แบบนี้ จึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะในรอบการหมุนแต่ละครั้ง ก็จะได้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราวๆเท่าตัวส่งผลให้ประสิทธิภาพดีขึ้นใช้พลังงานน้อยลง และเสียงเงียบขึ้นขณะทำงานเพราะใบพัดที่เพิ่มเข้ามา ยังมีส่วนช่วยถ่วงสมดุลให้การหมุนของแกนเพลา เป็นไปอย่างนุ่มนวลมากยิ่งขึ้นคอมเพรสเซอร์แบบนี้จึงมีเสียงที่เงียบลงในขณะทำงาน และการสั่นสะเทือนก็น้อยลงด้วย 


ในแอร์รุ่นอินเวอร์เตอร์ที่เน้นในด้านการประหยัดพลังงานมาเป็นหลักจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีของคอมเพรสเซอร์ ให้มีประสิทธิภาพมาขึ้นจากเดิม นั่นก็เพราะว่าหัวใจหลักที่ทำให้แอร์กินไฟใช้พลังงานมากก็คือตัวคอมเพรสเซอร์นั่นเอง
เพราะถ้าเทียบจากพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ชุดเครื่องปรับอากาศทั้งชุดต้องใช้ในขณะทำงานราวๆกว่า 80
% ของทั้งหมด คือพลังงานที่ถูกส่งไปใช้ในการขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ดังนั้นแอร์อินเวอร์เตอร์ที่ผลิตออกมาหากผู้ผลิตต้องการชูจุดเด่นในเรื่องการประหยัดไฟก็จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบและพัฒนาคอมเพรสเซอร์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม


ซึ่งเท่าที่ทราบมา ในปัจจุบันทางค่าย LG ก็มีสายการผลิตคอมเพรสเซอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งผลิตทั้งคอมเพรสเซอร์ของแอร์และของตู้เย็น-ตู้แช่ สายการผลิตก็ถือว่ามีกำลังการผลิตที่ใหญ่พอสมควร

ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงใช้พลังงานอย่างประหยัด ในตอนนี้ผมคาดว่าทาง LGก็น่าจะมีความสามารถไม่น้อยไปจากคู่แข่งเจ้าตลาด เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าประกาศว่ารับประกันคอมเพรสเซอร์นานถึง 10 ปี เป็นแน่



มาดูกันต่อที่ในส่วนของจุดเชื่อมต่อระหว่างชุดคอยล์ร้อนและชุดคอยล์เย็นจะอยู่บริเวณด้านข้างของชุดคอยล์ร้อน มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน


ส่วนแรกอยู่ด้านบนเป็นส่วนเชื่อมต่อทางไฟฟ้าซึ่งจะมีสายเชื่อมต่อหลักๆที่จำเป็นต้องเชื่อมต่อเพื่อให้เครื่องทำงาน จำนวน 3 สายคือ สายแหล่งจ่ายไฟ 220V (L-N) และสายคอนโทรลที่ใช้ส่งสัญญาณจากคอยล์เย็นเพื่อสั่งการทำงานของชุดคอยล์ร้อนที่ติดตั้งด้านนอกอาคาร



ส่วนที่สองซึ่งอยู่ถัดลงมาด้านล่างเป็นส่วนที่ใช้เชื่อมต่อระบบท่อน้ำยา ซึ่งจะมีฝาครอบปิดอยู่ โดยเมื่อเปิดฝาครอบออกจะพบเซอร์วิสวาล์วทองเหลือง ท่อทั้งสองจะถูกเชื่อมต่อเข้าที่จุดนี้แล้วไปเชื่อมต่อเข้าที่ท่อจากคอยล์เย็นอีกครั้งเพื่อให้ระบบท่อน้ำยาของทั้งสองส่วนเชื่อมถึงกันอย่างสมบูรณ์




และความเห็นส่วนตัวผมหลังจากที่ได้ถอดดูส่วนประกอบภายใน ของชุดคอยล์เย็น และชุดคอยล์ร้อน

โดยภาพรวมก็ถือว่าเป็นรุ่นที่ทางLGออกแบบมาค่อนข้างดีชุดคอยล์เย็นใช้วัสดุพลาสติกที่จัดว่ามีคุณภาพค่อนข้างดีเลยทีเดียวและยังออกแบบให้การถอดแกะเพื่อซ่อมบำรุงหรือทำความสะอาด สามารถทำได้ไม่ยากส่วนของชุดคอยล์ร้อนก็มีขนาดที่เหมาะสม การออกแบบโดยรวของคอยล์ร้อนถือว่าผ่าน

แต่...ก็ใช่ว่าอะไรจะเพอร์เฟคสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่างยังไงผมก็ต้องขอติหน่อย ซึ่งนี่มาจากมุมมองในฐานะที่ผมเองก็เป็นช่างโดยอยากจะพูดในเรื่องการออกแบบชุดคอยล์ร้อนซึ่งผมเห็นว่ามันใช้การยึดด้วยสกรูค่อนข้างมากไปนิด ลองนึกถึงกรณีที่ถ้าหากว่าแอร์เครื่องนี้ต้องนำชุดคอยล์ร้อนไปติดตั้งในที่สูงการขึ้นไปถอดฝาครอบเพื่อล้างทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงชิ้นส่วนภายในและการถอดฝาครอบเซอร์วิสวาล์วเพื่อต่อท่อหรือต่อเกจวัดแรงดันการขันสกรูหลายๆจุดบนที่สูงๆหรือในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงมันก็อาจจะค่อนข้างลำบากไปหน่อย

และอีกเรื่องคือคู่มือส่วนที่เป็นคูมือการติดตั้งที่ให้มาดูเหมือนจะค่อนข้างประหยัดกระดาษไปหน่อย อีกทั้งตัวหนังสือก็ค่อนข้างเล็กไปนิดแต่หรือว่าทางผู้ผลิตเข้าใจว่าช่างแอร์เมืองไทยโดยทั่วไปมีอยู่ไม่กี่รายที่สนใจจะอ่านคู่มือเลยพิมพ์มาแบบให้พอใช้ได้สำหรับช่างรายใดที่สนใจจะอ่านมันก่อน

ที่ติมานี่ก็เป็นข้อเสียที่มาจากการมองในมุมมองช่างแอร์นะครับไม่ได้เป็นข้อเสียร้ายแรงที่จะส่งผลต่อการใช้งานโดยตรง ส่วนผู้ใช้งานทั่วไป เรื่องพวกนี้ก็ไม่ส่งผลต่อตัวท่านแน่เพราะผู้ใช้งานที่ไม่ได้เป็นช่างก็คงไม่ขึ้นไปขันสกรูถอดตัวเครื่องเป็นแน่รวมถึงคู่มือการติดตั้งถ้าไม่ใช่ช่างที่ติดตั้งมันก็ไม่จำเป็นสักเท่าไหร่



เนื้อหายังไม่หมด

อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 3 >>>CLICK<<<

กลับไปอ่านรีวิว ตอนที่ 1 >>>CLICK<<<





 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2559    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2559 17:31:05 น.
Counter : 13935 Pageviews.  

รีวิว...เครื่องปรับอากาศ LG Dual Cool [Sponsor Review] (ตอนที่ 1)






สวัสดีครับทุกๆท่าน

หน้าร้อนปีนี้หลายพื้นที่ก็นับว่าร้อนระอุทำลายสถิติกันไปเลยทีเดียว และอากาศร้อนๆแบบนี้วิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันก็ต่างหันมาพึ่งพาเครื่องปรับอากาศหรือแอร์มากขึ้นเรื่อยๆและจะว่าไปก็เหมือนเป็นธรรมเนียมกันไปแล้ว ที่หน้าร้อนของทุกๆปีวงการแอร์บ้านเราจะคึกคักมาเป็นพิเศษ ร้านแอร์หลายๆที่ก็มีลูกค้าเข้าไม่ขาดสายช่างแอร์ก็มีคิวงานยาวกันจนทำไม่ทัน ส่วนในระดับผู้นั้นทางผลิตแอร์เองก็คึกคักไม่แพ้กันเพราะผู้ผลิตหลายเจ้าโดยเฉพาะแบรนด์ดังๆยักษ์ใหญ่ก็มีการจัดโปรโมทแบบไม่มีใครยอมใครบางเจ้าก็ใช้ช่วงหน้าร้อนเป็นฤกษ์งามยามดีในการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างเช่นแอร์ที่ผมจะนำมารีวิวให้ชมกันนี้ ก็เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้

นั่นก็คือค่ายผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง LG ที่เพิ่งเปิดตัวแอร์รุ่นใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า Dual Cool (ดูโอคูล)ซึ่งหลังจากที่แอร์รุ่นนี้เปิดตัวออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการได้ไม่นานทางผู้ผลิตก็ใจดีกรุณาส่งแอร์รุ่นนี้มาให้ที่ร้านผมเพื่อให้เอามาทดสอบและทดลองใช้งาน

และผมเลยถือโอกาสนำมาทำเป็นกระทู้รีวิวเลยก็แล้วกันเพราะเห็นว่าเป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว อาจมีใครสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจรีวิวนี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์ช่วยเป็นหนึ่งในข้อมูลที่เอาไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจได้

แต่ก่อนรีวิวก็ขอชี้แจงเกี่ยวกับแอร์เครื่องนี้ก่อนว่ามันเป็นแอร์ที่ผมได้รับมาจากทาง บริษัท แอลจีอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเขาส่งมาให้ผมทดลองใช้โดยผมไม่ได้จ่ายตังซื้อเอง ก็เลยบอกไว้ขั้นต้นแบบตรงไปตรงมาเลยว่าเป็นรีวิวแบบ Sponsor Review แต่เนื้อหารีวิวผมเขียนขึ้นเองตามสิ่งที่ได้สัมผัสจริง รีวิวไม่ได้มีใครมาสั่งมาจ้างให้เขียนและรูปแบบการรีวิวจะจะขอทำตามสไตล์เดิมแบบที่เคยทำมาในครั้งก่อนๆคือไหนๆแล้วจะรีวิวทั้งทีก็ขอชำแหละแกะออกมาให้ดูในส่วนต่างๆกันไปเลยตรงไหนดีไม่ดีก็จะได้พิจารณาไปพร้อมๆกันตามเนื้อผ้าและรีวิวการนำไปติดตั้งจริงให้ดูด้วย จะพยายามให้ข้อมูลให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านผู้อ่านที่สนใจกำลังมองหาแอร์เครื่องใหม่




ก่อนจะรีวิวแอร์เครื่องที่ได้มานั้นขอพูดถึงข้อมูลที่ผู้ผลิตได้ให้ไว้กันก่อน เกี่ยวความสามารถของแอร์รุ่นนี้เพราะบางท่านอาจจะอย่างรู้ว่าแอร์รุ่นนี้ที่เพิ่งเปิดตัวมาใหม่นั้นมีจุดเด่นอะไรที่จะมานำเสนอบ้างและมีอะไรที่จะนำไปสู้กับแอร์อินเวอร์เตอร์ของค่ายอื่นๆได้บ้างเพราะคู่แข่งในกลุ่มแอร์อินเวอร์เตอร์ในปัจจุบันก็มีอยู่มากเพราะมีออกมาวางจำหน่ายหลายรุ่นหลายยี่ห้อในตลาดแอร์บ้านเรา

สำหรับข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแอร์เครื่องที่จะนำมารีวิวนี้ก็มีดังนี้ครับ

ยี่ห้อ : LG

ชื่อรุ่น Dual Cool

รหัสรุ่น ID18J

ระบบการทำงาน : อินเวอร์เตอร์ (Inverter)

ขนาดทำความเย็น(ขนาดจริง) : 18,200 BTU/Hour

ค่าประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานตามฤดูกาล (SEER) 18.50

แหล่งจ่ายระบบไฟฟ้าที่ใช้งาน : ระบบไฟ 1 เฟส 220 โวลต์ 50 เฮิร์ต

กำลังไฟฟ้า 1,510 วัตต์ (สูงสุด 2,250 วัตต์)

กระแสไฟฟ้า 7.0 แอมแปร์ (สูงสุด 10.0 แอมแปร์)

สารทำความเย็นที่บรรจุมาในระบบ R410a (850 กรัม)




ข้อมูลโดยภาพรวมของแอร์รุ่นนี้เป็นแอร์รุ่นที่ทางผู้ผลิตระบุว่า มีจุดเด่นหลักๆตรงที่ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็วทันใจ และประหยัดพลังงานได้สูงสุดถึง 70%เมื่อเทียบกับแอร์ระบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่ใช่ระบบอินเวอร์เตอร์

ซึ่งตัวเลขเปอร์เซ็นด้านการประหยัดพลังงานของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะพบว่ามันมีวิวัฒนาการที่เรียกได้ว่านับวันก็ยิ่งมีการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถให้ประหยัดไฟมากขึ้นกว่าเดิมจากเมื่อก่อนตอนที่แอร์ระบบอินเวอร์เตอร์เริ่มมีเข้ามาวางขายในตลาดบ้านเราตัวเลขเปอร์เซ็นการประหยัดพลังงานที่เปรียบเทียบกับแอร์ระบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่ใช้อินเวอร์เตอร์ในยุคแรกๆเห็นจะอยู่ที่ประมาณ 30%และการประหยัดก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามการพัฒนาเทคโนโลยีเมื่อราวๆปีสองปีที่ผ่านมาผมเองเคยเห็นตัวเลขการประหยัดพลังงานที่ผู้ผลิตระบุมากสุดก็ราวๆ 50% มาปีนี้พัฒนาไปอีกจนประหยัดถึง 70% แล้ว ซึ่งถ้าตัวเลขนี้ไม่มีอะไรผิดพลาดก็ถือว่ามันประหยัดพลังงานมากๆเมื่อเทียบกับแอร์ในยุคก่อนๆ


และนอกเหนือจากจุดเด่นหลักๆเรื่องเย็นเร็วและประหยัดพลังงานแล้ว ข้อมูลอื่นๆที่ผู้ผลิตให้ไว้ก็มีดังภาพที่อยู่ด้านล่างนี้




เริ่มต้นการรีวิวโดยอันดับแรกสุด มาดูชุดเครื่องปรับอากาศที่ส่งมาให้ โดยตัวเครื่องปรับอากาศ 1 ชุดจะถูกแยกบรรจุมาในกล่องกระดาษ 2 กล่อง




กล่องแรก เป็นกล่องที่มีขนาดเล็กกว่าซึ่งภายในกล่องในนี้จะบรรจุชุดแฟนคอยล์ยูนิต หรือชุดคอยล์เย็น



กล่องอีกใบหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น แน่นอนว่ามันต้องเป็นกล่องที่บรรจุชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตหรือชุดคอยล์ร้อน



แต่การรีวิวครั้งนี้ผมจะเริ่มแกะให้ดูเริ่มต้นจากชุดแฟนคอยล์ยูนิต หรือชุดคอยล์เย็น เป็นอันดับแรก


นี่คือสิ่งที่บรรจุมาภายในกล่องทันทีที่เราเปิดกล่องมาก็จะพบชุดคอยล์เย็นที่ถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิดโดยที่ชุดคอยล์เย็นจะถูกบรรจุในลักษณะที่ลอยอยู่ในกล่องรองรับไว้ด้วยฐานวางที่เป็นโฟมกันกระแทก



จากนั้นจึงทำการยกชุดคอยล์เย็นออกมาจากกล่องโดยยกออกมาพร้อมฐานวางที่เป็นโฟมกันกระแทก



บนตัวเครื่องที่นำออกมาจะพบว่ามีซองบรรจุคู่มือแนะนำการถอดแอร์และใบรับประกันนอกจากนี้ยังมีอีกซองหนึ่งที่แปะไว้อยู่ตรงกลางภายในซองนี้จะบรรจุแผ่นกรองอากาศของ 3M มาให้



สิ่งที่ใส่มาให้นั้นประกอบไปด้วยรีโมทคอนโทรไร้สาย, ที่เก็บรีโมท, แบตเตอรี่ (AAA) 1.5 V จำนวน 2 ก้อน, สกรูสำรอง, คู่มือการติดตั้ง, คู่มือการใช้งาน, ใบรับประกัน,คู่มือแนะนำการถอดประกอบฝาครอบและแผ่นกรองอากาศ, แผ่นกรองอากาศของ 3 M



สำหรับแผ่นกรองอากาศของ 3 ที่ให้มากับตัวแอร์นั้น เป็นอุปกรณ์เสริมที่ให้มาโดยจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้โหมดฟอกอากาศในแอร์เครื่องนี้ ซึ่งกลไกหลักๆที่มีให้มาในตัวแอร์คือระบบฟอกอากาศด้วยการปล่อยประจุไอออน

สำหรับเรื่องระบบฟอกอากาศบนแอร์รุ่นนี้ข้อมูลของระบบฟอกอากาศผมขออ้างอิงตามข้อมูลที่ผู้ผลิตได้ให้ไว้ในเว็บไซด์นะครับใครสนใจก็ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเอาจากแหล่งอื่นๆ
เพราะส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยจะให้ความสนใจเกี่ยวกับระบบฟอกอากาศในแอร์ทุกเครื่องอยู่แล้วสิ่งเดียวที่ผมให้ความสนใจคือเรื่องของประสิทธิภาพในการทำความเย็นเป็นหลักครับ

และอีกอย่างจะให้ผมมาพูดถึงประสิทธิภาพของระบบฟอกอากาศแบบลงลึกก็คงไม่ได้หรอก เพราะผมเองไม่ได้มีห้องแลปทดลองทางด้านนี้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่จะมาตรวจวัดประสิทธิภาพตามมาตรฐานและตัวผมเองก็ไม่อาจจะแยกแยะความรู้สึกได้ว่ามันมีประสิทธิภาพในระดับใดด้วย




นี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของชุดแฟนคอยล์ยูนิตหรือชุดคอยล์เย็น ภายหลังจากที่ลอกฟิล์มพลาสติกออกหมดแล้ว


ลักษณะภายนอกของชุดคอยล์เย็นโดยรวมถ้าพูดจากความเห็นส่วนตัวผมนั้น ผมเห็นว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างสวยดีดูแล้วให้ความรู้สึกเรียบหรูทันสมัยดี 

ส่วนท่านอื่นจะมองว่าอย่างไรนั้นก็ขึ้นกับมุมมองและสไตล์ความชอบส่วนตัว


หากจะพูดถึงคุณภาพของพลาสติกที่ใช้เป็นกรอบนอกของชุดคอยล์เย็นในแอร์รุ่นนี้ ถือว่าใช้พลาสติกเกรดคุณภาพค่อนข้างดีเลยทีเดียว เป็นพลาสติกหนาแต่ไม่เปราะแตกหักง่าย มีพื้นผิวที่มันเงาช่วยให้ง่ายต่อการทำความสะอาดและโดยเฉพาะส่วนของหน้ากากแผ่นใหญ่ที่ปิดด้านน้าตัวเครื่องจะมีความมันเงามากเป็นพิเศษ เพราะมีชั้นนอกที่ใสและมันเงาครอบอยู่ 

จากที่เห็นก็คาดว่าพลาสติกที่ใช้ครอบภายนอกชุดคอยล์เย็นของแอร์เครื่องนี้ผ่านกระบวนการเคลือบให้เงาหลายขั้นตอน ผิวจึงมันเงาทำความสะอาดได้ง่ายและน่าจะคงความขาวไว้ได้นานโดยที่ไม่ชิงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก่อน


ผิวหน้าของตัวเครื่องที่เป็นพลาสติกแต่ก็เงาดุจกระจก


ข้อมูลรายละเอียดที่แสดงบนฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ของแอร์เครื่องนี้


ข้อมูลฉลากประหยัดไฟเบอร์5 ที่ออกโดยกระทรวงพลังงานปัจจุบันกำหนดให้แอร์ที่มีประสิทธิภาพเข้าตามข้อกำหนดและได้รับการรับรองด้วยฉลากที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ“ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5” จะต้องแสดงค่าประสิทธิภาพที่เรียกว่าค่าประสิทธิภาพตามฤดูกาล หรือค่า SEER

ซึ่งจากเดิมที่ใช้การแสดงค่าค่าประสิทธิภาพแบบEERแต่เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการเปลี่ยนมาใช้การแสดงค่า SEER แทนของเดิม เพราะค่าแบบ SEER เป็นการวัดประสิทธิภาพการทำงานของแอร์โดยนำเอาตัวแปรเรื่องฤดูกาลเข้ามาใช้ในการคิดคำนวณด้วยเพราะในกรณีของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์นั้น มีการทำงานด้วยรอบที่แปรผันตามอุณหภูมิและฤดูกาลแต่ละฤดูก็มีผลมากต่อการทำงานของแอร์อินเวอร์เตอร์ ค่าของเดิมที่ใช้เป็น EERหากจะใช้เพื่อบอกประสิทธิภาพแอร์ที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์จึงไม่ค่อยมีความแม่นยำเข้าใกล้ความเป็นจริงสักเท่าไหร่ จึงถูกแทนที่ด้วย SEER ซึ่งค่า SEER ยิ่งมากก็ยิ่งแสดงว่ามีประสิทธิภาพมากซึ่งก็คือการทำงานที่ใช้พลังงานน้อยลง ประหยัดไฟยิ่งขึ้นนั้นเอง

และเมื่อพิจารณาค่า SEERของแอร์เครื่องนี้ ซึ่งเป็นแอร์ที่มีขนาดทำความเย็นในระดับ 18,000 BTU/Hour ค่า SEER ที่ให้นั้นอยู่ที่ 18.50 ซึ่งนี่ถือว่าเป็นระดับที่สูงพอสมควรเลยถ้าลองเอาไปเทียบกับแอร์ที่มีขนาดทำความเย็นในระดับเดียวกัน

เพราะต้องไม่ลืมว่าในกรณีของแอร์ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ยิ่งใช้พลังงานมากและค่าประสิทธิภาพที่เกี่ยวกับการประหยัดไฟก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆตามขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้แอร์ที่มีขนาดใหญ่ๆที่เราเห็นกันตามอาคารสำนักงานหรือห้างร้านต่างๆ ไม่ค่อยจะเห็นว่ามีฉลากเบอร์ 5 แสดงอยู่


บานสวิงที่ใช้ปรับทิศทางการส่งลมในแนวขึ้น - ลง มีลักษณะเป็นบานสวิงชิ้นเดียว


บานสวิงหลักสามารถเปิดอ้าได้ในองศาที่กว้างพอสมควรบานสวิงได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถส่งลมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมได้ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล

นอกจากนี้ยังมีส่วนของบานเกล็ดที่ส่ายไปมาได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อควบคุมทิศทางการส่งลมในแนวซ้าย-ขวาแอร์เครื่องนี้จึงสามารถปรับทิศทางการส่งลมเย็นด้วยรีโมท ได้ทั้งแนว ขึ้น-ลง และซ้าย-ขวา


และแอร์รุ่นนี้ก็มีระบบฟอกอากาศแบบปล่อยประจุไอออนมาให้ด้วย โดยสามารถเลือกสั่งการทำงานของระบบนี้ได้ที่ปุ่ม Plasma (พลาสม่า) ที่อยู่บนรีโมทโดยระบบฟอกอากาศแบบนี้จะเป็นการปล่อยประจุออกมาเพื่อดักจับฝุ่นและกำจัดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้

และหากสังเกตในภาพที่มุมบนขวาในส่วนที่เป็นช่องเก็บบานสวิงหลักจะเห็นว่ามีส่วนหนึ่งที่เป็นเหมือนปุ่ม มีลักษณะเป็นรูปตัว U ซึ่งนั่นก็คือปุ่มเปิดปิดฉุกเฉิน ในกรณีที่เปิดปิดด้วยรีโมทคอนโทรลไม่ได้



ส่วนของแผ่นกรองอากาศหรือแผ่นฟิลเตอร์แอร์ของแอร์เครื่องนี้จะปิดอยู่ที่ด้านบนตัวเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนของช่องดูดลมกลับเข้ามา 



เส้นใยที่ถักทอบนแผ่นกรองอากาศเป็นเส้นใยที่มีความละเอียดสูง ซึ่งนี่ก็ช่วยให้สามารดักจับฝุ่นผงได้เป็นจำนวนมากแต่ก็ต้องไม่ลืมถอดมาล้างทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะหากเปิดใช้ต่อเนื่องทุกๆวันก็ควรถอดมาล้างบ่อยๆทุกๆ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ



แอร์รุ่นนี้ออกแบบแผ่นกรองอากาศให้เป็นแบบชิ้นเดียวการถอดออกมาล้างทำความสะอาดก็ทำได้ได้ไม่ยากเลยคุณแม่บ้านเองก็สามารถขึ้นไปถอดมันลงมาล้างได้ด้วยตัวเองเมื่อล้างเสร็จก็เพียงผึ่งลมให้แห้ง แล้วก็เอากลับไปใส่เข้าที่ตามเดิมทำได้ง่ายๆไม่รอต้องคนมาทำให้อื่น




เนื้อหายังไม่หมด

อ่านรีวิวต่อ ตอนที่ 2 >>>CLICK<<<




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2559    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2559 17:52:16 น.
Counter : 5315 Pageviews.  


KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.