สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

ค่า SEER ที่แสดงบนเครื่องปรับอากาศ





บนฉลากแสดงประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศสำหรับเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่วางขายในบ้านเรา โดยเฉพาะในกรณีของแอร์ที่เป็นระบบ Inverter เริ่มมีการระบุค่าประสิทธิภาพแบบใหม่ SEER แทนการใช้ค่าแบบเดิม ซึ่งก็คือ EER 


เดิมทีการกำหนดค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศจะใช้ค่า EER (Energy Efficiency Ratio) เพื่อแสดงประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นๆโดยค่า EER เป็นการกำหนดอัตราส่วนของประสิทธิภาพ ระหว่าง ขีดความสามารถทำความเย็นสุทธิของเครื่องกับ พิกัดกำลังไฟฟ้ารวมที่ใช้ โดยอยู่ภายใต้สภาพการทำงานภายในสภาวะที่กำหนดขึ้น

แต่การกำหนดค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศโดยการใช้ค่า EER มีข้อเสียตรงที่ว่า ค่า EER เป็นค่าที่มาจากการทดสอบที่สภาพการทำงานในสภาวะหนึ่งเท่านั้นแต่ในการใช้งานจริง เครื่องปรับอากาศที่เราใช้งานกันนั้นโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ ไม่ได้ทำงานอยู่ภายในสภาวะเดียวตลอดทั้งปี 

ในแต่ละฤดูกาลหรือแต่ละช่วงเวลา ก็ย่อมมีสภาวะการทำงานที่ต่างกันออกไปสภาวะการทำงานที่แตกต่างกันนี้เองก็ย่อมมีผลให้รอบการทำงานของเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์มีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป และใช้พลังงานที่ไม่เท่ากัน 

ตรงนี้เองจึงทำให้ค่า EER ไม่สามารถนำมาใช้บอกประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ได้อย่างแม่นยำเท่าที่ควร



และนี่จึงทำให้มีการพัฒนารูปแบบการวัดค่าประสิทธิภาพแบบใหม่ ให้ใกล้เคียงสภาพการใช้งานจริงให้มากที่สุด จึงได้มีการนำเอาอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแต่ละฤดูกาลมาคำนวณร่วมด้วย เพื่อช่วยให้นำมาพยากรณ์ปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นนั่นเอง

การวัดค่าประสิทธิภาพแบบใหม่ หรือ SEER จึงได้ถูกนำมาใช้งานกับเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ แทนการใช้ค่า EER 


SEER คือ อัตราส่วนประสิทธิภาพของพลังงานตามฤดูกาล (Seasonal Energy Efficiency Ratio) อ้างอิงตามมาตรฐาน AHRI 210/240

ค่า SEER ของแต่ละเครื่องหมายถึง ค่าความสามารถในการทำความเย็นที่ส่งออกมาในระหว่างฤดูกาลหนึ่งๆ หารด้วยปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใส่เข้าไปในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งค่า SEER ยิ่งสูงเท่าไหร่ ก็แสดงว่าประสิทธิภาพของการใช้พลังงานอยู่ในระดับที่ดีเท่านั้น หรือประหยัดพลังงานนั้นเอง 




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2558    
Last Update : 6 ธันวาคม 2559 7:50:15 น.
Counter : 15115 Pageviews.  

ระบบหน่วงเวลาในแอร์บ้าน




          ในวงจรไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ แบบที่เราใช้งานกันอยู่ภายในครัวเรือน การหน่วงเวลาถือเป็นเงือนไขการทำงานขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็น และมีให้เห็นได้ในแอร์รุ่นปัจจุบัน 


เงื่อนไข ของการหน่วงเวลาในระบบแอร์บ้าน มีหลักการพื้นฐานคือ เมื่อเราเปิดสวิทช์จ่ายไฟให้กับแอร์ ทันทีที่กดรีโมทเพื่อสั่งการให้แอร์เริ่มทำงาน ส่วนของพัดลมในชุดคอยล์เย็นที่ติดตั้งในห้องก็จะเริ่มทำงาน แต่ส่วนของชุดคอยล์ร้อนที่อยู่ภายนอกอาคารจะยังไม่ทำงานในทันที ต้องรอจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยปกติกก็คือ 3-5 นาที และหลังจากผ่านไปแล้ว 3-5 นาที วงจรหน่วงเวลาก็จะหมดหน้าที่ลง และต่อไฟให้ชุดคอยล์ร้อนเริ่มทำงาน การทำความเย็นจึงเริ่มขึ้นเมื่อชุดคอยล์ร้อนเริ่มทำงาน


เหตุผล ที่ต้องมีเงื่อนไขการทำงานแบบหน่วงเวลา ก็เพื่อเป็นมาตรการเบื้องต้น ในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดกับตัวคอมเพรสเซอร์ในชุดคอยล์ร้อน ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีการหน่วงเวลาในส่วนนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์มีการทำงานแบบทันทีทันใด 

เพราะในขณะที่คอมเพรสเซอร์มีการทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง หากมีเหตุให้คอมเพรสเซอร์ต้องหยุดทำงานแบบกระทันหัน แล้วเริ่มทำงานใหม่ในทันทีทันใด ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่แอร์ทำงานอยู่ แล้วมีการปิดแล้วเปิดใหม่ทันที หรือในกรณีที่เกิดไฟตกไฟขัดข้องชั่วขณะในระหว่างที่แอร์ทำงานอยู่ การให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานต่อแบบทันทีทันใดนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะมอเตอร์ของคอมเพรสเซอร์ไม่สามารถเอาชนะแรงดันน้ำยาที่ไหลในระบบได้ ทำให้มันไม่สามารถสตาร์ทออกตัวใหม่ทันทีได้ ต้องรอเวลาสักพักหนึ่ง ให้แรงดันน้ำยาในระบบแอร์ทั้งสองด้านมีการถ่ายเทกันจนอยู่ในระดับที่เท่ากันทั้งระบบ คอมเพรสเซอร์จึงจะเริ้มเดินต่อได้อีกครั้ง

หากฝืนให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานต่อทันทีทันใด โดยที่ไม่รอให้แรงดันในระบบนิ่งเสียก่อน ก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์สตาร์ทไม่ออก กินกระแสไฟฟ้าสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว และท้ายที่สุดก็จะส่งผลทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลงก็เป็นได้

ซึ่งคอมเพรสเซอร์ถือเป็นส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบแอร์ การที่คอมเพรสเซอร์ชำรุดเสียหายนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียวสำหรับแอร์เครื่องนั้น




ในอดีต แอร์ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในช่วงประมาณ กว่า 30 ปีที่แล้ว ระบบควบคุมทางไฟฟ้าส่วนใหญ่ ไม่ได้ทันสมัยเหมือนเช่นที่เราเห็นในแอร์ปัจจุบัน แม้กระทั่งกลไกลการควบคุมความเย็นยังเป็นระบบแมคานิค ซึ่งแอร์ในยุคนั้น มีคำเตือนที่ผู้ใช้งานต้องจำไว้เลย ว่าต้องรอเวลา 3-5 นาที ก่อนที่จะเปิดแอร์ใหม่อีกครั้ง เพราะในระบบควบคุมของแอร์ยุคก่อนนั้น ไม่มีวงจรหน่วงเวลามาให้ การปิดแล้วเปิดแอร์แบบทันทีทันใด ก็จะเจอปัญหาคอมเพรสเซอร์สตาร์ทออกตัวไม่ได้ กินกระแสสูงมาก แอร์ในยุคนั้นหลายแห่งจึงมักติดตั้งควบคู่กับสวิทช์อัตโนมัติที่เรียกว่า "เบรกเกอร์ ทิชิโน่" ซึ่งเป็นเบรกเกอร์ที่สามารถปรับตั้งความละเอียดในการตัดวงจรได้ดีกว่าเบรกเกอร์แบบธรรมดา ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้คอมเพรสเซอร์กินกระแสสูงนานเกินไปจากการสตาร์ทออกตัวไม่ได้

แอร์รุ่นเก่าแบบที่ไม่มีระบบหน่วงเวลา



แต่สำหรับแอร์ยุคหลังๆมา ถือว่าโชคดีและสะดวกขึ้นกว่าในอดีต เพราะได้มีการติดตั้งอุปกรณ์หน่วงเวลา หรือใส่ภาคหน่วงเวลารวมเอาไว้ในแผงวงจรควบคุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องมาคอยนั่งรอว่าปิดแอร์ไปแล้วครบ 3-5 นาทีหรือยังจึงจะเปิดใหม่ได้ แอร์ยุคหลังๆ นับตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน ล้วนมาพร้อมวงจรหน่วงเวลา เป็นมาตรฐานที่ไม่ว่ายี่ห้อไหนต่างก็มีใช้งานกันเป็นที่เรียบร้อย


การหน่วงเวลาของแอร์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกันหลักๆ 2 รูปแบบ 

แบบที่ 1 คือภาคหน่วงเวลาที่ถูกตั้งโปรแกรมรวมเอาไว้ในบอร์ดควบคุมหลักของแอร์ โดยผู้ผลิตได้เขียนโปรแกรมการหน่วงเวลา ใส่ลงไปในชิฟคอนโทรลเลอร์ของแอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราจะพบได้ในแอร์สมัยใหม่ ที่มีลูกเล่นและฟังชั่นครบครัน

แบบที่ 2 คือการติดตั้งตัวหน่วงเวลา (Timer Delay) หรือเรียกว่าเป็นตัวหน่วงเวลาแบบภายนอก ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวหนึ่ง โดยจะติดตั้งเข้าไปในวงจรไฟฟ้าของชุดคอยล์ร้อนแอร์ ซึ่งต่อตัวหน่วงเวลาอนุกรมไว้กับสายคอนโทรล หากยังไม่ครบระยะเวลาที่กำหนดชุดคอยล์ร้อนก็จะยังไม่ทำงาน แต่เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ตัวหน่วงเวลาก็จะยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เพื่อจ่ายไฟเข้าไปยังคอยล์แม่เหล็กของแมกเนติก ซึ่งแมกเนติกนี้ก็คือตัวตัดต่อระบบไฟฟ้าของชุดคอยล์ร้อนทั้งชุด








เทคนิคเล็กน้อยก่อนจะจบบทความชุดนี้ 

สำหรับการหน่วงเวลาในแอร์ยุคปัจจุบัน หากท่านปิดแอร์ด้วยรีโมทคอนโทรลเพียงอย่างเดียว แม้ว่าแอร์จะหยุดทำงานแล้ว แต่บอร์ดควบคุมของวงจรแอร์ยังมีกระแสไฟฟ้าปริมาณเพียงเล็กน้อยไปเลี้ยงวงจรไว้ เพื่อให้แอร์อยู่ในสถานะ Standby เตรียมพร้อมที่จะทำงานต่อในครั้งต่อไป และเมื่อท่านมาเปิดแอร์อีกครั้งหนึ่งด้วยรีโมทคอนโทรล หากปิดแอร์ไปแล้วเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3-5 นาที การมาเปิดใหม่อีกครั้ง ชุดคอยล์ร้อนด้านนอกอาคารก็จะทำงานพร้อมกันทันที แอร์ก็จะทำความเย็นได้ทันที ไม่ต้องรอหน่วงเวลาอยู่ 

ในทางกลับกัน หากทันปิดแอร์ด้วยรีโมทคอนโทรล แล้วตามด้วยปิดเบรกเกอร์ ตัดการจ่ายไฟของแอร์ เมื่อท่านกลับมาเปิดแอร์อีกครั้ง ไม่ว่าจะปิดไปแล้วกว่าครึ่งวัน ก็ต้องรอหน่วงเวลาก่อน 3-5 นาที เพราะกระบวนการต่างๆต้องเริ่มใหม่หมดนั่นเอง

ซึ่งสำหรับแอร์ในห้องนอนที่ต้องเปิดทุกๆเย็นและปิดในทุกๆเช้า หากใช้งานเป็นประจำทุกวัน ปิดแค่ที่รีโมทก็ถือว่าเพียงพอ เพราะเมื่อมาเปิดใหม่อีกครั้งในตอนเย็น แอร์ก็จะทำความเย็นได้ในทันที ไม่ต้องรอการหน่วงเวลาอยู่




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2558    
Last Update : 11 มิถุนายน 2558 23:12:13 น.
Counter : 40690 Pageviews.  

รีโมทแอร์ครอบจักรวาล (Universal Remote)

สำหรับท่านใดที่เจอปัญหา รีโมทแอร์ของเดิมไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเมื่อเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ ส่วนมากแล้วก็มักจะลงเอยที่การหาซื้อรีโมทแอร์ใหม่มาเปลี่ยน

 

 

ในส่วนของรีโมทคอนโทรลอันใหม่ที่จะซื้อมาใช้แทนของเดิมนั้น หากเป็นสมัยก่อนก็คงต้องสั่งซื้อรีโมทยี่ห้อเดิม จากร้านแอร์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งราคารีโมทของแท้ที่สั่งซื้อจากศูนย์บริการโดยตรง ก็มีราคาที่ค่อนข้างแพงอยู่พอสมควร

หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องหาซื้อรีโมทมือสอง จากร้านแอร์ที่มีอะไหล่ของเก่าเก็บไว้ ซึ่งก็ใช่ว่าจะหาซื้อได้ง่ายๆ และต่อให้ซื้อมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าคุณภาพในระยะยาวจะเป็นเช่นใด

 

 

อีกหนึ่งทางเลือก เพื่อช่วยเซฟเงินในกระเป๋า สำหรับท่านใดที่กำลังจะหาซื้อรีโมทแอร์อันใหม่มาทดแทนของเดิม คือการเลือกซื้อ รีโมทแอร์แบบ Universal หรืออาจจะเรียกว่า “รีโมทแอร์ครอบจักรวาล” ซึ่งเป็นสินค้าจากจีนที่มีเข้ามาวางขายในตลาดบ้านเราเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว

 

ตัวอย่างรีโมทแอร์แบบ Universal ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

 

 

รีโมทแอร์แบบ Universal คืออะไร ?

รีโมทแอร์แบบ Universal ("ยูนิเวอร์เซล") หรืออาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า "รีโมทแอร์ครอบจักรวาล" เป็นรีโมทที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ โดยที่รีโมทเพียงตัวเดียว สามารถใช้ได้กับแอร์หลากหลายรุ่น/ยี่ห้อ

โดยเบื้องต้นนั้น สามารถใช้ควบคุมการทำงานขั้นพื้นฐานได้ครอบคลุม แทบทุกฟังชั่น ไม่ว่าจะเป็น การเปิดปิด, การปรับเพิ่ม-ลดอุณหภูมิ, การปรับความเร็วของพัดลม, การเลือกโหมดการทำงานหลัก, การตั้งเวลาเปิด-ปิด และ การปรับบาสวิง

 

 

ทีเด็ดหลักๆ ของรีโมทแอร์แบบ Universal สรุปก็คือ ตัวมันเองเพียงอันเดียว สามารถใช้งานได้กับแอร์หลายรุ่นหลายยี่ห้อ เรียกได้ว่าครอบคลุมการนำไปใช้กับแอร์แบรนด์ดังได้แทบจะทุกยี่ห้อ โดยการปรับตั้งรหัสรุ่นให้ตรงกับแอร์ที่จะใช้งาน ตามรหัสที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้ ว่าแอร์ยี่ห้อนี้-รุ่นนี้ แทนด้วยรหัสใด

 

ภาพด้านล่างนี้ เป็นตัวอย่าง ของการกำหนดรหัส Model Codes จากรีโมทแอร์แบบ Universal ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งยี่ห้อที่แสดงนี้ก็คือยี่ห้อที่ใช้งานร่วมกันได้ 

 

 

หลักการทำงานของรีโมทแอร์แบบ Universal

ในส่วนของหลักการทำงานของรีโมทแอร์แบบ Universal อธิบายแบบคร่าวๆก็คือ รีโมทคอนโทรแบบไร้สายที่ใช้สำหรับควบคุมการทำงานของแอร์ โดยทั่วไปนั้นจะใช้การส่งสัญญาณเข้าหาภาครับเพื่อนำส่งคำสั่งควบคุมการทำงาน โดยอาศัยการส่งสัญญาณในรูปของแสงอินฟาเรด (Infrared) ซึ่งทุกคำสั่งที่กดบนตัวรีโมท จะมีรูปแบบของสัญญาณที่ถูกเข้ารหัส และในแต่ละคำสั่งก็จะมีการส่งสัญญาณในแบบเฉพาะ และแอร์แต่ละยี่ห้อ ก็ยังใช้รูปแบบคำสั่งที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เพื่อป้องกันการรบกวนซึ่งกันและกันโดยไม่ตั้งใจ

โดยในรีโมทแอร์แบบ Universal ได้มีการเก็บบันทึกรูปแบบการสั่งการของแอร์ยี่ห้อต่างๆเอาไว้แล้ว สามารถเรียกใช้งานได้ด้วย Model Codes

ผู้ใช้งานก็เพียงแค่ตั้ง Model Codes ที่ตัวรีโมท ให้มีค่าตรงกับยี่ห้อแอร์ของตน ซึ่งเปรียบเทียบได้จากคู่มือที่ติดมากับรีโมท เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานได้เทียบเท่ากับรีโมทของเดิม

 

 

สำหรับคุณผู้อ่านท่านใดสนใจ รีโมทแอร์แบบ Universal หรือรีโมทแอร์ครอบจักวาล โดยต้องการหาซื้อมาใช้แทนรีโมทแอร์ของเดิมที่ชำรุดใช้การไม่ได้ ก็สามารถหาซื้อได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น ร้านขายอะไหล่แอร์, ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป, หรือเดินหาแถวๆ คลองถม บ้านหม้อ รับรองว่ามีแน่นอน และนอกจากนี้ก็ยังมีวางขายอยู่ในโซนฮาร์ดแวร์ของห้างค้าปลีกด้วยเช่นกัน สนนราคาขายก็ตกอันละประมาณ 200 - 500 บาท 

แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ควรดูรายละเอียดหลังกล่องบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน ว่ามียี่ห้อแอร์ของคุณรวมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะรีโมทพวกนี้บางครั้งเห็นหน้าตารูปทรงคล้ายๆกัน แต่ก็อาจจะเป็นคนละรุ่นหรือคนละโมเดลก็เป็นได้ ซึ่งก็อาจจะมีรุ่นที่รองรับได้ต่างกันออกไป

 

 

 




 

Create Date : 07 เมษายน 2558    
Last Update : 29 ธันวาคม 2566 15:58:23 น.
Counter : 86319 Pageviews.  

แอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดาน


บทความชุดนี้ขอหยิบยกเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์แบบซ่อนในฝ้าเพดาน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการติดตั้งแอร์ที่มักจะพบเห็นได้ตามสถานที่ต่างๆ โดยบทความชุดนี้ก็จะขอพูดถึงสิ่งที่ควรทราบและควรทำความเข้าใจ สำหรับท่านที่ต้องการติดตั้งแอร์ลักษณะนี้ที่บ้านของท่าน



ภาพแสดงตัวอย่างการติดตั้งแอร์แบบฝังซ่อนในสถานที่ต่างๆ


หากลองสังเกตเวลาไปยังสถานที่ต่างๆเช่น ห้องพักโรงแรม, โรงพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานต่างๆตลอดจนที่พักอาศัยส่วนบุคคลอย่างเช่น คอนโดห้องชุด และบ้านพักอาศัยที่ตกแต่งอย่างหรูหราสวยงาม สถานที่เหล่านี้มักจะติดตั้งแอร์ แบบที่ซ่อนชุดคอยลย์เย็นไว้ภายในฝ้าเพดาน ซึ่งดูเรียบร้อยสวยงาม มองเห็นแค่เพียงช่องลมเข้าและช่องลมออกเท่านั้น



รูปแบบของแอร์ที่ใช้ติดตั้งในลักษณะนี้

การติดตั้งแอร์แบบฝังในฝ้าเพดาน ตามหลักแล้วจะใช้แอร์แบบที่เรียกว่า แอร์คอยล์เปลือยซ่อนในฝ้า หรือ แอร์เปลือย (Ceiling Concealed Type)

ซึ่งแอร์แบบนี้ออกแบบมาเป็นการเฉพาะ สำหรับการนำไปติดตั้ง ในลักษณะที่ต้องการซ่อนชุดคอยล์เย็นไว้ในฝ้าเพดาน ผู้ผลิตจึงได้ออกแบบและผลิตชุดคอยล์เย็นให้อยู่ในลักษณะเปลือยเปล่า มองจากภายนอกก็จะเห็นส่วนของโครงและอุปกรณ์หลักๆขอคอยล์เย็น ไม่มีส่วนห่อหุ้มหรือฝาครอบภายนอก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ส่วนคอยล์เย็นที่ถูกนำไปติดตั้งก็จะถูกซ่อนไว้ในฝ้าเพดาน จึงไม่จำเป็นต้องมีส่วนครอบปิดเพื่อความสวยงาม และเป็นการตัดลดมูลค่าราคาต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป แต่สำหรับส่วนชุดคอยล์ร้อนของแอร์แบบคอยล์เปลือยซ่อนในฝ้า ยังคงเป็นแบบเดียวกันเหมือนกับที่ใช้กับแอร์แยกส่วนแบบอื่นๆ



ตัวอย่างชุดคอยล์เย็น ของแอร์แบบคอยล์เปลือย (Ceiling Concealed Type)






หากเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย โดยรวมแล้วแอร์แบบคอยล์เปลือยซ่อนในฝ้า ก็มีพื้นฐานแบบเดียวกับแอร์แบบตั้ง/แขวน (Floor/Ceiling Type) ส่วนประกอบเบื้องต้นภายในโดยรวมแล้วก็มีความคล้ายคลึงกัน

ซึ่งอันที่จริงแล้วแอร์แบบคอยล์เปลือยซ่อนในฝ้า ในสมัยก่อนอาจจะเรียกกันว่าเป็นแอร์โรงงาน เพราะส่วนใหญ่เน้นขายโดยตรงให้กับกลุ่มลูกค้าโครงการหรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ซื้อเหมาครั้งละหลายๆเครื่อง อย่างเช่น การนำไปใช้ติดตั้งกันในโรงแรม แต่ช่วงหลังๆมาเริ่มมีการนำมาใช้ในบ้านเรือนมากขึ้น จึงมีสินค้าออกมาให้เลือกหลากหลาย


ภาพเปรียบเทียบแอร์สองแบบ


หน้ากากช่องลมแอร์

ในกรณีของแอร์แบบซ่อนในฝ้าเพดาน หลังจากที่ติดตั้งเสร็จแล้ว เราจะมองเห็นแค่เพียงหน้ากากหรือช่องลม ซึ่งเป็นช่องทางที่ใช้ในการส่งลมเท่านั้น โดยหลักๆช่องลมจะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน คือส่วนสำหรับลมออกและลมที่กลับเข้ามา





หน้ากากช่องลมออก (Supply Air Grille) เป็นส่วนจ่ายลมเย็นออกมายังพื้นที่ใช้สอย โดยติดตั้งอยู่บริเวณด้านลมออกของชุดคอยล์เย็น แบบที่นิยมใช้กันจะเป็นช่องลมที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำมาจากอลูมิเนียม มีทั้งแบบที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ และแบบสำเร็จรูปที่พร้อมนำมาติดตั้ง



ตัวอย่างของหน้ากากช่องลมออกที่นิยมนำมาใช้งาน




หน้ากากช่องลมกลับ (Return Air Grille) เป็นส่วนที่แอร์ใช้ดูดอากาศภายในห้องกลับเข้ามา จึงมักมีแผ่นฟิลเตอร์กรองอากาศติดตั้งรวมอยู่ด้วย แผงหน้ากากที่ใช้ติดตั้งในด้านลมกลับจะมีลักษณะเป็นแผงรูปสี่เหลี่ยมบานเกล็ดที่เรียงซ้อนกัน โดยจะเป็นบานเกล็ดแบบติดตายไม่สามารถปรับองศาได้ 

มักจะติดตั้งไว้บริเวณด้านใต้ขอชุดคอยล์เย็น เพื่อให้อากาศในห้องถูกดูดเข้ามายังพัดลมได้สะดวก และส่วนหน้ากากทางด้านช่องลมกลับนี้ ยังจะใช้เป็นช่องเซอร์วิส สำหรับการทำความสะอาดบำรุงรักษาและตรวจสอบซ่อมแซมเบื้องต้น โดยที่ไม่ต้องเปิดหรือรื้อแผ่นฝ้าเพดาน



ตัวอย่างของหน้ากากช่องลมกลับที่นิยมนำมาใช้งาน


สิ่งที่ควรทราบก่อนติดแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดาน

สิ่งที่ควรทราบไว้หากต้องการจะติดตั้งแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดาน อันดับแรกคือเรื่องงบประมาณทั้งการติดตั้งและการซ่อมบำรุง ซึ่งแอร์แบบซ่อนในฝ้าย่อมมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่แพงกว่าแอร์แบบปกติอยู่แล้ว เพราะการปฏิบัติงานมีความยุ่งยากมากกว่า ซึ่งเรทราคาค่าบริการที่ช่างจะเรียกเก็บอาจจะแตกต่างกันไม่คงที่ตายตัว จะมากน้อยขึ้นตามความยากง่ายในแต่ละงาน 

และควรเรียกใช้บริการจากร้านตัวแทนจำหน่ายหรือศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน ดูน่าเชื่อถือเพราะต้องอาศัยช่างที่มีประสบการณ์มาติดตั้ง

หากเรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา ก็ไม่มีเรื่องต้องให้กังวลแต่หากเน้นจำกัดงบประมาณก็ไม่ควรจะเลือกติดตั้งแอร์ประเภทนี้เสียตั้งแต่แรก



ตัวอย่างการติดตั้งแอร์ประเภทนี้


การติดแอร์ประเภทนี้ สำหรับอาคารขนาดกลางถึงอาคารขนาดใหญ่นั้นไม่ค่อยมีปัญหาอะไรในระหว่างติดตั้ง เพราะการติดตั้งในอาคารเหล่านี้ โดยทั่วไปเป็นการดำเนินการภายใต้ความดูแลของบริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารมีการออกแบบวางแผน และกำหนดรายละเอียดขั้นตอนของงานไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ระหว่างดำเนินการก็มีการควบคุมและตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบโดยตรง งานแอร์และงานตกแต่งภายในของอาคารเหล่านี้จึงมักดำเนินการเสร็จ ปิดงานได้ตามแผนที่วางไว้

แต่สำหรับบ้านพักอาศัยที่ต้องการติดตั้งแอร์แบบฝังซ่อนไว้ในฝ้าเพดาน ทางที่ดีที่สุดควรเริ่มวางแผนเสียตั้งแต่ตอนเริ่มขั้นตอนออกแบบตกแต่งภายใน บอกความต้องการของท่านให้กับสถาปนิกส์หรืออินทีเรียที่ทำหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายใน แล้วจึงทำการติดต่อร้านแอร์

ที่ต้องเริ่มงานตั้งแต่แรกๆ เพราะงานติดตั้งแอร์แบบซ่อนในฝ้า จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกับขั้นตอนการติดตั้งฝ้าเพดาน เพราะคอยล์เย็นของแอร์จะถูกยกขึ้นไปแขวนไว้ในระหว่างการติดตั้งโครงคร่าวของฝ้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบท่อแอร์และระบบท่อน้ำทิ้งของแอร์ร่วมด้วย เพื่อให้สามารถซ่อนส่วนต่างๆได้อย่างเรียบร้อยสวยงาม จึงต้องดำเนินการส่วนเหล่านี้ไปพร้อมๆกับงานฝ้าเพดาน ซึ่งทีมช่างแอร์ กับทีมของช่างฝ้า ควรมีการประสารงานกันอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้งานต้องติดขัดหรือสะดุดเพราะต่างฝ่ายต่างรอกันอยู่



การบำรุงรักษาเบื้องต้น

แอร์ทุกประเภททุกแบบที่ถูกติดตั้งและใช้งาน ล้วนต้องมีการบำรุงรักษาเหมือนกันหมด และกรณีที่เป็นแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าก็เช่นกัน ย่อมต้องมีการบำรุงรักษาเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

ประเด็นเรื่องการบำรุงรักษานี้หลายๆท่านคงมักจะเคยได้ยินกันต่อๆมา ว่าแอร์แบบฝังซ่อนนั้นมีความยุ่งยากและลำบากในขั้นตอนการบำรุงรักษา

ซึ่งอันที่จริงแล้วการบำรุงรักษาแอร์ประเภทนี้ ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าแอร์แบบทั่วๆไปอยู่บ้าง เพราะตัวเครื่องมันถูกซ่อนในฝ้าเพดาน การเข้าถึงตัวเครื่องเพื่อทำการซ่อมบำรุงก็ย่อมมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะช่องทางที่จะเข้าถึงได้โดยที่ไม่ทำความเสียหากับฝ้าเพดาน หลักๆก็มีเพียงช่องทางที่เป็นส่วนของช่องลมกลับนั่นเอง ดังนั้นในการติดตั้งแอร์ประเภทนี้ ควรออกแบบให้ขนาดของช่องลมกลับมีความกว้างเพียงพอที่จะทำการบำรุงรักษาขั้นต้นได้ และควรมีขนาดพอให้สามารถถอดเอาถาดรองน้ำทิ้งลงมาได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดแผ่นฝ้าเพดาน

การติดแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดาน กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ใช้งานระยะยาวได้อย่างราบรื่น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่การเลือกช่างแอร์ซึ่งควรเลือกช่างจากร้านตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ และเป็นช่างที่มากประสบการณ์มาติดตั้งจะช่วยให้แอร์ที่ติดตั้งออกมาเรียบร้อยสวยงาม ใช้งานต่อเนื่องได้ย่างราบรื่นและถึงคราวต้องบำรุงรักษาก็สามารถทำได้ง่าย งานไม่บานปลาย


การล้างแอร์ประเภทนี้

ในส่วนของการล้างแอร์หากเป็นการถอดล้างครั้งใหญ่ โดยการฉีดน้ำล้างแผงคอยล์ที่ชุดคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นในกรณีของแอร์แบบทั่วไปที่ถูกใช้เป็นประจำควรมีการล้างใหญ่ทุกๆ 1 ปี

แต่สำหรับแอร์แบบฝังซ่อนนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว ชุดคอยล์เย็นแบบเปลือยของแอร์แบบฝังซ่อน มักจะไม่ต้องการการดูแลบำรุงรักษาบ่อยมากเท่าแอร์แบบธรรมดาทั่วไปส่วนหนึ่งก็เพราะว่าระยะห่างของร่องครีบฟิลที่ชุดคอยล์เย็นของแอร์ประเภทนี้ไม่ได้เรียงถี่ชิดกันมากเท่ากับร่องครีบฟิลของแอร์แบบติดผนัง และการออกแบบของแอร์ประเภทนี้จะออกแบบให้พัดลมเป่าไปกระทบกับแผงคอยล์โดยตรง เพื่อให้ได้ลมเย็นออกมา ทำให้แผงคอยล์เย็นของแอร์ประเภทนี้มีโอกาสน้อย ที่จะมีสิ่งสกปรกไปสะสมจนอุดตัน จนทำให้ลมไม่ผ่าน 

ต่างกับแอร์แบบติดผนัง ที่ออกแบบให้ดูดอากาศที่ไหลเข้ามาผ่านทางร่องครีบของแผงคอยล์ และเมื่อใช้ไปสักพักร่องครีบที่เรียงถี่กว่าก็จะมีสิ่งสกปรกไปเกาะอยู่ และสะสมจนอุดตันทำให้อากาศไม่สามารถถูกดูดผ่านเข้ามาได้

แอร์ที่ติดฝังซ่อนในฝ้าเพดานกรณีที่เปิดใช้เป็นประจำ ควรจะมีการล้างใหญ่ที่ชุดคอยล์ร้อน ทุกๆ 1 ปี เพื่อให้คอยล์ร้อนสามารถระบายความร้อนได้สะดวก แต่ในส่วนของชุดคอยล์เย็นการล้างใหญ่อาจจะไม่จำเป็นต้องทำทุกๆ 1 ปี เพราะแผงคอยล์เย็นตันได้ยากกว่า และการล้างใหญ่ที่ชุดคอยล์เย็นนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากกว่า เพราะในขั้นตอนการล้างคอยล์เย็นนั้นจะต้องมีการป้องกันพื้นที่ให้ดี โดยการใช้ผ้าใบหรือแผ่นพลาสติกมาป้องกันพื้นที่โดยรอบ เพื่อไม่ให้ฝ้าเพดานเปียกและบวมในระหว่างที่ฉีดน้ำล้างชุดคอยล์เย็น

คอยล์เย็นจึงเป็นส่วนที่ทุกๆ 2-3 ปี ค่อยมาล้างใหญ่ก็ยังได้ แต่เน้นล้างแผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์ที่ติดทางด้านลมกลับเป็นประจำทุกๆ 2-4 สัปดาห์ ก็เพียงพอ



สรุป

สำหรับท่านใดที่ต้องการจะติดตั้งแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดานที่บ้านของท่านเอง ควรเตรียมงบประมาณให้พร้อม และควรจะตัดสินใจตั้งแต่แรกเริ่มสร้างบ้าน และควรจะเลือกใช้บริการจากร้านตัวแทนจำหน่ายแอร์หรือศูนย์บริการที่ดูมีมาตรฐานน่าเชื่อถือ 

และถ้าหากมีใครมาโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ ว่าการเลือกติดแอร์แบบฝังซ่อนในฝ้าเพดาน ไม่ดี มีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเป็นความต้องการของเจ้าของบ้านเองโดยที่เจ้าของบ้านก็มีงบประมาณพร้อม ก็ติดตั้งไปเลย ไม่ต้องไปสนใจเสียงโต้แย้งหรือเสียงวิจารณ์จากคนอื่น เพราะนี่คือบ้านของท่านเอง เงินของท่านเอง ถ้าอยากทำก็ทำไปเลยตามใจปรารถนา




 

Create Date : 06 เมษายน 2558    
Last Update : 7 เมษายน 2558 0:58:01 น.
Counter : 84374 Pageviews.  

การเดินท่อแอร์โดยใช้ท่อสั้นกว่าที่ให้มา





ในกรณีที่เราซื้อแอร์ใหม่ ชุดแอร์ที่ซื้อมาใหม่นั้น มักจะมีการแถมท่อทองแดงหุ้มฉนวนมาให้จำนวนสองเส้น โดยท่อแต่ละเส้นก็มีความยาวที่ประมาณ 4 เมตร ท่อที่ให้มาด้วยพร้อมกับแอร์ก็เพื่อนำมาใช้เป็นท่อทางเดินสารทำความเย็น(ท่อน้ำยา) เชื่อมต่อระหว่าง ชุดคอยล์เย็น (
Fan coil Unit) และ ชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) แต่ในการติดตั้งจริง บางครั้งท่อที่ต้องใช้จริงก็ไม่ถึง 4 เมตร เพราะระยะทางห่างกันไม่มาก 



ในกรณีที่ชุดคอยล์เย็น (Fan coil Unit) และชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ถูกติดตั้งในระยะที่ใกล้กันมากๆ หรือแบบประมาณว่า ท่อที่ออกจากคอยล์เย็น พอทะลุกำแพงออกมากก็เจอชุดคอยล์ร้อนเลย ซึ่งกรณีลักษณะนี้ท่อทองแดงยาวประมาณ 4 เมตร ที่มาพร้อมเครื่องจะต้องเหลืออยู่มากกว่าครึ่งแน่นอน

ช่างที่ติดตั้งแอร์โดยทั่วไปหากเจอกรณีดังกล่าวก็จะมีวิธีจัดการอยู่สองวิธีด้วยกัน คือ ตัดท่อส่วนที่เกินออกไป หรือไม่ก็ขดม้วนท่อส่วนที่เกินมาเก็บหลบเอาไว้ด้านข้างหรือด้านหลังคอยล์ร้อน ซึ่งจะใช้วิธีไหน ก็ขึ้นกับประสบการและดุลยพินิจของช่างแต่ละราย


แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกรณีที่เดินท่อสั้นมากๆ มีท่อส่วนเกินเยอะช่างทั่วไปก็มักจะใช้การตัดส่วนเกินออกเสียมากกว่า เพราะท่อส่วนเกินที่ตัดออกมานั้น ช่างสามารถเก็บกลับไปใช้ประโยชน์ในงานอื่นๆได้อีก หรือไม่ก็เอาไปรวมๆกันขายเป็นทองแดงก็ได้ราคาดีไม่น้อย และอีกเหตุผลหนึ่งที่เจ้าของแอร์ฟังแล้วรู้สึกโอเคกว่า ก็คือเหตุผลเรื่องความสวยงามนั่นเอง เพราะมุมมองเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นว่า การติดตั้งแบบที่ท่อเดินเข้าเครื่องพอดี ย่อมดูดีกว่าการขดม้วนท่อที่เหลือไว้

แต่หากท่านใดที่ว่าจ้างช่างมาติดแอร์ให้ แล้วหลังจากที่ติดตั้งเสร็จกลับพบว่าช่างเดินท่อแอร์โดยขดม้วนท่อที่เหลือเอาไว้ใกล้ๆกับคอยล์ร้อน ก็อาจจะตกใจหรือรู้สึกรับไม่ได้ จนอยากจะโวยวายว่าช่างรายนี้ขี้เกียจหรือทำงานชุ่ย 

ซึ่งถ้าเจอเช่นนี้ อย่าเพิ่งตกใจหรือโวยวายใส่ช่าง และไม่ต้องกังวลจนต้องเรียกช่างมาแก้งานทันที เพราะการติดตั้งโดยขดม้วนท่อที่เหลือเอาไว้ ทั้งๆที่ถ้าหากช่างจะตัดท่อส่วนเกินออกไปเก็บไว้ใช้เองก็สามารถทำได้ แต่ก็กลับเลือกขดท่อเก็บไว้ให้แทน ก็แสดงว่าช่างได้พิจารณาแล้วว่าระยะมันสั้นเกินหากจะตัดท่อออกเลย และอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่างที่ม้วนท่อไว้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าช่างที่มาติดตั้งให้นั้น เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมจากผู้ผลิตแอร์มาแล้วก็เป็นได้ เพราะการอบรมทางด้านเทคนิคที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายได้จัดขึ้น ก็พบว่าบ่อยครั้งที่วิทยากรผู้บรรยายมักจะแนะนำให้ใช้วิธีการม้วนท่อส่วนเกินเอาไว้แทนการตัดทิ้ง

ผู้ผลิตแอร์บางยี่ห้อ ก็ได้แนะนำให้ใช้วิธีการม้วนท่อเป็นขด แทนการตัดท่อส่วนที่เหลือออกไป เพราะการม้วนท่อขดเก็บไว้จะทำให้ระยะทางที่น้ำยาแอร์ไหลผ่าน มีอยู่พอดีตรงตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดและออกแบบมา ทั้งนี้ผู้ผลิตแอร์บางรายก็อาจจะไม่ได้แนะนำในส่วนนี้เอาไว้ ซึ่งจะทำแบบไหนก็ขึ้นกับความเห็นสมควรของช่างผู้มีประสบการณ์


หากจะพูดกันตามตรง ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ ตามหลักการแล้วการที่แอร์แต่ละเครื่องจะถูกผลิตออกมาเพื่อวางจำหน่ายและใช้งานจริง ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายได้ออกแบบและคำนวณรายละเอียดส่วนต่างๆไว้หมดแล้วไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้ท่อ ซึ่งท่อที่ผู้ผลิตได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่องนั้นย่อมมีขนาดและความยาวที่เหมาะสม ตรงตามการออกแบบที่สุดแล้ว

โดยความยาวท่อประมาณ 4 เมตร ที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละยี่ห้อได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่อง ก็เป็นระยะความยาวท่อโดยประมาณ ที่ผู้ผลิตคิดคำนวณออกมาแล้วเห็นว่าว่าเหมาะสมที่สุด และในกรณีที่ซื้อแอร์มาใหม่ส่วนใหญ่ทุกยี่ห้อจะบรรจุสารทำความเย็น(น้ำยาแอร์) มาให้พร้อมที่ในชุดคอยล์ร้อนเพียงพอต่อการนำไปติดตั้งใช้งานได้ทันที

ปริมาณน้ำยาแอร์ที่ใส่มาให้ในแอร์แต่ละเครื่องจะเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน อิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 - 5 เมตร และส่วนใหญ่ก็มักจะเผื่อสำหรับการติดตั้งที่ต้องต่อท่อเพิ่มได้อีกประมาณไม่เกิน 10 - 15 เมตร ซึ่งหากเพิ่มท่อมากกว่าที่ระบุมาในคู่มือ ก็จะต้องเพิ่มน้ำยาตามสัดส่วนที่กำหนดในคู่มือ เพราะระยะความยาวของท่อที่ใช้นั้นมีผลโดยตรงกับปริมาณน้ำยาและประสิทธิภาพที่ได้


แต่ถ้าเป็นกรณีที่ระยะการเดินท่อที่สั้นมากๆระยะของท่อที่ใช้มีไม่ถึง 1 เมตร การตัดท่อส่วนเกินออก จะทำให้ระยะของท่อสั้นเกินไปเยอะ อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ เพราะต้องไม่ลืมว่าปริมาณน้ำยาที่ใส่มาให้จากโรงงานนั้นอ้างอิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 - 5 เมตร แต่เมื่อท่อที่ใช้จริงถูกตัดออกไปมากเกินกว่าครึ่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิมตามที่ผู้ผลิตให้มา ย่อมมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนสถานะของน้ำยาแอร์อย่างแน่นอน

เนื่องจากในกระบวนการทำความเย็นของแอร์ คือน้ำยาในระบบที่ถูกฉีดลดแรงดันแล้วจะมีการระเหยเปลี่ยนสถานะจากของเหลวระเหยเป็นไอ กระบวนการระเหยเปลี่ยนสถานะของน้ำยาจะดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบๆเข้ามาทำให้บริเวณนั้นเกิดอุณหภูมิต่ำลง แล้วจากนั้นไอของน้ำยาที่ระเหยแล้วก็จะถูกดูดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์ เพื่อเริ่มกระบวนการอัดออกไปและเริ่มวัฏจักรใหม่อีกครั้ง

และการที่ท่อแอร์ถูกตัดออกไปเกินกว่าครึ่ง แต่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิม เมื่อน้ำยาแอร์มีระยะทางให้ไหลไปสั้นลงกว่าเดิมมากๆ ก็จะมีผลทำให้น้ำยาบางส่วนระเหยไม่ทันหมด ก็ต้องเข้าสู่คอมเพรสเซอร์แล้ว  แต่เนื่องจากลิ้นของคอมเพรสเซอร์แอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ดูดน้ำยาในสถานะแก๊สหรือไอเข้ามาเท่านั้น การที่น้ำยาระเหยไม่ทันหมด ทำให้มีน้ำยาบางส่วนที่มีสถานะเป็นของเหลวอยู่ ถูกดูดเข้าไปในคอมเพรสเซอร์ด้วย และนี่จะส่งผลเสียทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งค่าแรงดันที่วัดได้จากท่อทางดูดจะมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานไปเยอะ และกระแสไฟฟ้าที่แอร์ใช้งานก็ย่อมมีค่าสูงตามไปด้วย

ในกรณีของแอร์รุ่นที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุุบัน ส่วนใหญ่คอมเพรสเซอร์จะเป็นแบบโรตารี่ ซึ่งที่ด้านข้างของคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่จะมีส่วนที่เป็นเหมือนถังแคปซูลขนาดเล็กติดอยู่ ซึ่งนั่นก็คือส่วนของถังพักน้ำยา (Accumulator) โดยถังพักน้ำยาจะเป็นเหมือนปราการด่านสุดท้ายที่ป้องกันสารทำความเย็นเหลวที่ระเหยไม่หมดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าถังพักน้ำยาก็มีระดับขีดความสามารถในการจัดการน้ำยาเหลวที่ไหลปนเข้ามา ซึ่งการออกแบบถังพักน้ำยาหลักๆจะเน้นไว้สำหรับรองรับน้ำยาเหลวที่เป็นสถานะไม่ทันเพราะแผงคอยล์มีประสิทธิภาพลดลงจากความสกปรกที่เกิดขึ้น ยิ้งแผงคอยล์แอร์สกปรกมากๆ น้ำยาก็มีอุปสรรค์ในการแลดเปลี่ยนความร้อน ส่งผลโดยตรงต่อการกลายสถานะไม่หมด และยิ่งมาเจอระยะท่อทางกลับที่สั้นมากๆ หากน้ำยาเหลวมีกลับเข้ามามากเกินไปก็คงไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่


ภาพตัดแสดงชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ โดยหมายเลข 3 คือ
ถังพักน้ำยา (Accumulator)



หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินท่อน้ำยาในระยะที่สั้นมากๆ อย่างเช่นใช้ท่อไม่ถึง 1 เมตร (ที่เหลือตัดออก) ก็ควรพิจารณาดูค่าแรงดันน้ำยาที่วัดได้ควบคู่กับค่ากระแส ซึ่งในขณะที่เดินเครื่องถ้าค่าแรงดันที่วัดได้มาอยู่ที่ระดับเกินกว่า 85 PSIG ก็ควรปล่อยน้ำยาส่วนเกินออกจากระบบบ้าง เพราะน้ำยาที่มีมากเกินความต้องการ มันก็ย่อมเป็นโหลดหรือเป็นภาระให้คอมเพรสเซอร์มายิ่งขึ้น ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนัก กินไฟมากขึ้น และในระยะยาวก็มีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าเดิมด้วย

แต่หากเป็นไปได้ถ้าไม่ติดขัดเน้นความสวยงามมากเป็นพิเศษในบริเวณที่วางชุดคอยล์ร้อน การติดแอร์ที่มีระยะของท่อสั้นมาก ท่อส่วนที่เหลือนั้นจะใช้วิธีการขดม้วนเก็บไว้ในบริเวณใกล้ๆชุดคอยล์ร้อน ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าในด้านประสิทธิภาพ เพราะเราได้ใช้ความยาวท่อที่เหมาะสมที่สุดตามที่ผู้ผลิตกำหนดมา ไม่ต้องมีการปล่อยน้ำยาทิ้งแต่ประการใด ส่วนจะขดท่อได้สวยไม่สวยขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง ซึ่งช่างบางรายก็ทำงานออกมาได้เนี๊ยบเก็บงานได้มิดชิด และนอกจากนี้การม้วนท่อส่วนที่เกินไว้ ก็มีข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าหากแอร์เครื่องนี้มีการย้ายไปติดที่อื่นในอนาคต การขดท่อม้วนเก็บไว้ก็ช่วยให้ท่อของเดิมสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้อีก 





 

Create Date : 13 มีนาคม 2558    
Last Update : 13 มิถุนายน 2559 14:02:41 น.
Counter : 61744 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.