สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

ติดแอร์ใหม่...แต่ไม่ได้ทำการ แวคคั่มระบบด้วยปั๊มสุญญากาศ


ช่วงหน้าร้อนของทุกๆปีจะเป็นช่วงที่วงการเครื่องปรับอากาศคึกคักมากที่สุด ยิ่งมาในปีนี้ (พ.ศ.2556) อากาศดูเหมือนจะร้อนขึ้นกว่าปีก่อนๆส่งผลให้ชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่ แทบจะอยู่ไม่ได้ในช่วงกลางวันถ้าขาดเครื่องปรับอากาศหรือแอร์

เพราะอากาศมันช่างร้อนระอุเหลือเกินถ้าอยู่ตามชนบทก็คงจะออกไปหากิจกรรมคลายร้อนนอกบ้านได้ไม่ยากแต่สำหรับชีวิตคนเมืองที่ต้องทำงานอยู่ทั้งวันแถมอากาศข้างนอกก็รายล้อมไปด้วยมลพิษและความร้อนระอุที่พึงสุดท้ายของชีวิตคนเมืองคงจะหนีไม่พ้นเครื่องปรับอากาศหรือแอร์




ความต้องการเครื่องปรับอากาศในช่วงนี้ถือว่าสูงมากๆร้านแอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะถ้าเป็นร้านแอร์ขนาดใหญ่ ที่ทั้งจำหน่ายและรับติดตั้งช่วงนี้ก็จัดว่าเป็นช่วงรับทรัพย์กันถ้วนหน้า ทางด้านช่างแอร์ก็ต่างมีคิวงานแน่นจนแทบจะหาเวลาว่างกันไม่ได้เลย

ด้วยความต้องการเครื่องปรับอากาศที่มีมากมายในช่วงนี้ทำให้ช่างแอร์บางคนอาจจะใช้วิธีลัดเพื่อให้ขั้นตอนในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศถูกรวบรัดตัดตอนให้ใช้เวลาน้อยลงไปจากเดิมเพื่อจะได้รีบไปให้บริการลูกค้ารายต่อไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่มักจะถูกข้ามหรือตัดออกไป ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ ขั้นตอนที่มักถูกข้ามหรือตัดออกไป คือขั้นตอนของการทำสุญญากาศในระบบเครื่องปรับอากาศ ด้วยปั๊มสุญญากาศ Vacuum Pump หรือขั้นตอนที่ในวงการเครื่องปรับอากาศเรียกว่า "การแวคคั่ม"




ช่วงหน้าร้อนนี้ ผู้เขียนได้รับคำถามหนึ่งจากผู้ใช้ทางบ้าน เป็นคำถามในแนวเดียวกัน ที่ถูกถามมาจากผู้ใช้หลายท่าน ผ่านทางหลายๆช่องทาง

ซึ่งคำถามที่ว่านี้ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจาก...การติดตั้งแอร์ใหม่ แต่ช่างที่มาดำเนินการไม่ได้ทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ

ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ถามคำถามแนวนี้เข้ามาหลายท่าน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงไม่ใช่น้อย เพราะช่วงนี้นับว่าเป็นคิวทองของช่างแอร์ส่วนใหญ่ ซึ่งมีงานเข้ามาเยอะมาก งานที่มีเข้ามามากอาจทำให้ช่างแอร์บางราย เร่งรีบในการทำงานมากจนเกินไป จนทำให้ต้องข้ามขั้นตอนในการติดตั้งไป เพื่อร่นระยะเวลาให้ใช้เวลาน้อยลงและเสร็จงานเร็วขึ้นในแต่ละที่

การข้ามขั้นตอนที่สำคัญ อย่างขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญากาศ นับว่ามีความเสียงสูงในการใช้งานระยะยาว 

เพราะในระบบทำความเย็นแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศที่ใช้กันในอาคารบ้านเรือน , เครื่องปรับอากาศรถยนตร์ หรือในตู้เย็น ตู้แช่ ก่อนที่จะจ่ายสารทำความเย็นให้เข้าสู่ระบบ จะต้องมีการดูดอากาศออกจากระบบด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม หากอากาศไม่ถูกนำออกไปจากระบบอย่างถูกวิธี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำความเย็น และอายุการใช้งานที่สั้นลง

เพื่อให้ผู้บริโภค ได้รู้ทันช่างแอร์(ส่วนน้อย)ที่มักง่าย ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความชุดนี้


อันดับแรก สำหรับหลายๆคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าการทำสุญญากาศในระบบเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ คืออะไร และต้องทำไปเพื่ออะไร 

ซึ่งผู้เขียนก็จะขออธิบายเรื่องการทำสุญญากาศ ให้โดยคร่าวๆ


การทำสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum เป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การทำสุญญากาศจัดว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งขั้นตอนของการทำสูญญากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นในงานระบบเครื่องทำความเย็นแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็นของตู้เย็น-ตู้แช่ หรือระบบปรับอากาศในรถยนต์ การทำสุญญากาศถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น และในระบบของเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก อย่างเช่น 9000 BTU ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีกำลังทำความเย็นเป็นแสน BTU ก็ต้องมีการทำสุญญากาศภายในระบบ

การทำสุญญากาศในระบบทำความเย็น มีจุดประสงค์ก็เพื่อต้องการนำเอาอากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ(ในที่นี้คือท่อนำสารทำความเย็น)ออกไปทิ้งนอกระบบ ก่อนที่สารทำความเย็นจะถูกปล่อยเข้าสู่ระบบและเริ่มทำงาน

อากาศและความชื้นที่เข้าไปในระบบ ส่วนใหญ่จะเข้ามาในระหว่างที่ดำเนินการติดตั้ง เพราะในขณะที่ทำการติดตั้งและเดินท่อ เราไม่สามารถสร้างสภาวะแวดล้อมโดยรอบให้เป็นสุญญากาศได้ ระหว่างติดตั้งอากาศที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเข้าไปภายในท่อนำสารทำความเย็น ทำให้เราต้องมาดำเนินการทำสุญญากาศในภายหลัง เพื่อนำเอาอากาศที่เข้าไปก่อนหน้านี้ออกมาทิ้ง

เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีอากาศอยู่ในระบบทำความเย็น ก็เพราะ...อากาศที่เข้าไปในระบบทำความเย็นก็คืออากาศที่เราหายใจเข้าไปนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปในอากาศก็จะประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจนประมาณร้อยละ 78 แก๊สออกซิเจนประมาณร้อยละ 21 และแก๊สอาร์กอนประมาณร้อยละ 0.93 แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ประมารร้อยละ 0.03 นอกจากนั้นอีกประมาณร้อยละ 0.04 เป็นแก๊สอื่นๆตามปกติแล้วจะไม่มีอากาศแห้ง เนื่องจากอากาศทั่วๆไปเป็นอากาศชื้นที่มีไอน้ำปนอยู่ มีความชื้นที่ปนอยู่ก็คือละอองไอน้ำขนาดเล็กที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า 



ความชื้นจัดว่าเป็นตัวปัญหา หากมันเข้าไปอยู่ภายในระบบทำความเย็น และไม่ได้ถูกนำออกมาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ความชื้นมีหน่วยวัดเป็นไมครอน ความชื้นในระบบที่ยอมรับได้จะต้องต่ำกว่า 200 ไมครอน แต่หากความชื้นยังคงหลงเหลือในระบบมากกว่ากำหนด ก็จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น 


อันดับแรกสุดคือ ความชี้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบทำความเย็น เป็นตัวขัดขวางประสิทธิภาะในการทำความเย็น ทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ


และเมื่อความชื้นที่หลงเหลืออยู่ในระบบ ไปเจอกับสารทำความเย็นในระบบก็จะทำปฏิกิริยากัน จนเกิดเป็น กรดไฮโดรคลอริค ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเกลือที่สามารถกัดกร่อนโลหะต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายกับระบบท่อนำสารทำความเย็น อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ในระบบซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นชิ้นส่วนกลไกลภายในคอมเพรสเซอร์ ตัวน้ำมันหล่อลื่นเองยังมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดี และเมื่อมาเจอกับกรดไฮโดรคลอริค น้ำมันหล่อลื่นก็จะมีความหนืดมากขึ้น จนอาจก่อตัวเป็นตะกรัน ส่งผลให้ความสามารถในการหล่อลื่นของน้ำมันลดลงอย่างมาก และทำให้คอมเพรสเซอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง


ความชื้นที่มีอยู่ในระบบทำความเย็นหากมีอยู่ในปริมาณมากพอก็อาจจะทำให้ระบบอุดตันได้ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพรา...เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงานสารทำความเย็นที่ถูกอัดออกมาก็จะเดินทางเข้ามาแผงควบแน่น(แผงคอยล์ร้อน)และออกจากแผงคอยล์ร้อนไปยังตัวควบคุมสารทำความเย็น

สำหรับในตู้เย็น-ตู้แช่และเครื่องปรับอากาศภายในอาคารบ้านเรือน ตัวควบคุมสารทำความเย็นที่ใช้ เรียกว่า Capillary tube หรือท่อรูเข็มซึ่งเป็นท่อที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กมาก และเมื่อสารทำความเย็นไหลผ่าน Capillary tube ก็จะเกิดการระเหยหรือเข้าสู่กระบวนการเกิดความเย็นทันทีสารทำความเย็นที่ระเหยในระบบ จะมีอุณหภูมิต่ำมากและถ้ามีความชื้นหลงเหลือในระบบมากพอความชื้นเหล่านั้นก็จะจับตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็ง และอาจทำให้ Capillary tube เกิดการอุดตันและในที่สุดกระบวนการทำความเย็นก็จะหยุดชะงัก



ภาพ Capillary tube หรือ ท่อรูเข็ม



เบื้องต้นก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าอากาศและความชื้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับระบบทำความเย็น หากอากาศและความชื้นที่มีอยู่ในระบบ ไม่ได้รับการกำจัดออกอย่างถูกวิธี ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้

แต่การจะนำพาอากาศออกไปจากระบบทำความเย็น เพื่อให้อากาศและความชื้นถูกนำออกไปอย่างสมบูรณ์ จะต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ โดยใช้ระยะเวลาอย่างเหมาะสม


วิธีการนำอากาศและความชื้นออกจากระบบทำความเย็น วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือการดูดอากาศออกโดยใช้เครื่องทำสุญญากาศ หรือปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การดูดอากาศออกจากระบบโดยใช้ปั๊มทำสุญญากาศเป็นวิธีการมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และมีใช้กันมานานแล้ว




ขั้นตอนหลักๆในการทำสุญญากาศด้วยปั๊มสุญญากาศ หรือการแวคคั่ม Vacuum

ในเครื่องปรับอากาศรุ่นปัจจุบัน สำหรับเครื่องที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ทางผู้ผลิตได้ทำการอัดสารทำความเย็นมาให้จากโรงงานเรียบร้อยแล้ว โดยบรรจุในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit โดยมีปริมาณเพียงพอต่อการติดตั้งใช้งานด้วยท่อที่ให้มาพร้อมเครื่อง (ส่วนใหญ่จะให้มายาว 4 เมตร)

หลังจากติดตั้งตัวเครื่องเสร็จ และได้เดินท่อนำสารทำความเย็นรวมถึงเชื่อมต่อระบบเสร็จแล้ว ก่อนที่จะเปิดวาล์วให้สารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ต้องมีการทำสุญญากาศในส่วนของท่อที่ได้ติดตั้งไว้ก่อน จึงจะปล่อยสารทำความเย็นเข้าระบบได้

การทำสุญญากาศ หรือการดูดอากาศออกจากระบบ หลักๆที่ต้องใช้คือ ปั๊มทำสุญญากาศ Vacuum Pump และ เกจแมนิโฟลด์ หรือเกจวัดน้ำยา




เครื่องทำสุญญากาศ Vacuum Pump สำหรับงานระบบทำความเย็นมี 2 ชนิด


1. เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดา (Low Vacuum Pump) ใช้สำหรับดูดอากาศเพื่อทำสุญญากาศในระบบทำความเย็นทั่วไป เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อน อีกทั้งตัวเครื่องยังมีราคาถูก และเพียงพอต่อความต้องการในการใช้ทำสุญญากาศให้กับระบบทำความเย็นทั่วๆไป เครื่องทำสุญญากาศแบบธรรมดานี้จะมีความสามารถในการดูดอากาศให้เป็นสุญญากาศ ได้ต่ำสุดที่ 25-27 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) แต่ก็ถือว่าเพียงพอในงานเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ แบบทั่วๆไป

ภายหลังจากการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศแบบธรรมดา ความชื้นในระบบจะยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็มีเหลืออยู่ในปริมณที่ไม่มาก ซึ่งความชื้นที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย จะถูกจัดการด้วยอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Dryer Filter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการกรองสิ่งแปลกปลอมและดูดความชื้นในระบบเครื่องปรับอากาศ





2. เครื่องทำสุญญากาศแบบประสิทธิภาพสูง (High Vacuum Pump) เป็นเครื่องทำสุญญากาศที่มีประสิทธิภาพในการดูดสูง สามารถดูดอากาศออกจากระบบ ทำให้ระบบเป็นสุญญากาศได้ในระดับที่ตำไปกว่า 29-30 inHg (นิ้วปรอท) ซึ่งในระดับนี้เป็นระดับที่ต่ำมากๆจนถึงระดับที่เป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ (0 abs) ซึ่งเมื่อในระบบเป็นสุญญากาศที่สมบูรณ์ ความชึ้นและไอน้ำใน จะกลายเป็นแก๊สและถูกดูดออกไปจนแทบจะไม่มีความชื้นเหลืออยู่อีกเลย เครื่องแบบประสิทธิภาพสูงนี้ สามารถนำมาใช้กับงานระบบทำความเย็นได้ทุกประเภท แต่ตัวเครื่องมีราคาค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องแบบนี้ในงานที่เป็นกรณีเฉพาะ หรือมีใช้ในศูนย์บริการขนาดใหญ่ที่มีการเข้มงวดสูงในด้านมาตรฐานการให้บริการ



ในส่วนของระยะเวลาในการเดินเครื่องทำสุญญากาศ ส่วนใหญ่ให้อิงตามคู่มือการติดตั้งที่แนบมากับเครื่อง แต่ทั้งนี้จะอิงตามเวลาที่ผู้ผลิตแจ้งมาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งเครื่องทำสุญญากาศที่ใช้ ก็อาจมีกำลังในการดูดที่ไม่เท่ากัน ควรใช้การสังเกตค่าที่แสดงบนเกจแมนิโฟลด์ ซึ่งระหว่าที่ทำสุญญากาศ ค่าที่แสดงต้องอยู่ในสเกลที่บอกค่าสุญญากาศ ซึ่งมีหน่วยเป็น inHg (นิ้วปรอท)

โดยส่วนใหญ่ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ทำสุญญากาศ อยู่ที่ประมาณ 30 - 45 นาที





เบื้องต้น ก็ได้ทราบกันไปแล้ว ว่าการทำสูญญากาศด้วยเครื่องปั๊มสูญญากาศ ในระบบเครื่องทำความเย็น และ เครื่องปรับอากาศ ทำไปเพื่ออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

ซึ่งแม้ว่าขั้นตอนในการทำสูญญากาศ จะเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีความจำเป็น แต่ก็มีหลายครั้ง ที่ขั้นตอนนี้ถูกละเลยหรือถูกข้ามไป ในรายที่ดีหน่อยก็ใช้วิธีลัด โดยการนำสารทำความเย็นในระบบมาเป็นตัวไล่อากาศออกจากท่อ 


หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือไม่เข้าใจว่าการใช้สารทำความเย็นไล่อากาศออกจากระบบ หรือการไล่อากาศ คืออะไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเบื้องต้น เกี่ยวกับการไล่อากาศให้ผู้ที่ยังไม่ทราบได้เข้าใจ 


การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การไล่อากาศ" เป็นเทคนิควิธีลัด ที่ใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ วิธีนี้ถูกนำมาใช้แทนขั้นตอนการทำสูญญากาศด้วยปั๊มสูญญากาศ ซึ่งการไล่อากาศเป็นวิธีลัดที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นิยมใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง และชุดท่อที่ใช้ติดตั้ง ก็เป็นชุดท่อที่ใหม่แกะกล่องซึ่งไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน



การไล่อากาศจะทำภายหลังที่ติดตั้งชุดเครื่องปรับอากาศเข้าที่ และมีการเดินท่อนำสารทำความเย็นเชื่อมต่อ ระหว่างชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit และชุดคอยล์เย็น Fan coil Unit เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นผู้ติดตั้งจะทำการขันเพื่อเปิดวาล์วสารทำความเย็น โดยเปิดเพียงวาล์วของท่อทางอัด Discharge Line (ท่อเล็ก) ปล่อยให้แรงดันสารทำความเย็นไหลเข้าระบบ ผ่านชุดคอยล์เย็น แล้วกลับมารออยู่ที่วาล์วอีกด้านหนึ่งซึ่งยังไม่ถูกเปิด คือด้านท่อทางดูด Suction Line (ท่อใหญ่)

เมื่อสารทำความเย็นถูกเปิดเข้าระบบจากด้านท่อทางอัดแล้ว จึงทำการต่อเกจวัดแรงดันเข้าที่วาล์วลูกศร ซึ่งอยู่บริเวณเซอร์วิสวาล์วด้านท่อทางดูด แล้วใช้วาล์วที่เกจควบคุมการปล่อยสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศภายนอก แรงดันของสารทำความเย็นที่ถูกปล่อยออกมาจะนำพาอากาศที่ค้างอยู่ในระบบ และความชื้น(บางส่วน) ออกมาสู่บรรยากาศภายนอก 

การปล่อยสารทำความเย็นเพื่อไล่อากาศออกจาระบบ จะอาศัยการปล่อยแบบเป็นจังหวะ หยุด/ปล่อย โดยระยะเวลาและจำนวนครั้งในการปล่อยจะไม่มีกำหนดเป็นรูปแบบตายตัว ไม่มีระบุในตำราทฤษฎี แต่จะอาศัยการประมาณจากความชำนาญของช่าง


ในส่วนของสารทำความเย็นที่ถูกนำมาใช้เพื่อไล่อากาศ เป็นสารทำความเย็นที่ถูกอัดมาให้ในชุดคอยล์ร้อน Condensing Unit ซึ่งถูกอัดมาพร้อมกับตัวเครื่องโดยโรงงานผู้ผลิต




การไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น หากนำมาใช้ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ผลิตออกมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ยกชุด ไม่เคยถูกติดตั้งใช้งานมาก่อน การนำไปติดตั้งใช้งานใช้ท่อตามความยาวที่ผู้ผลิตให้มา โดยไม่มีการเชื่อมต่อท่อใดๆทั้งสิ้น เมื่อถูกติดตั้งใช้วิธีการไล่น้ำยาแทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม ซึ่งทำในระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เหมะสม อากาศที่ค้างอยู่ในระบบเกือบทั้งหมดจะถูกแรงดันสารทำความเย็น ดันออกจากระบบสู่บรรยากาศภายนอก แต่อาจจะมีความชื้นบางส่วนหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากในช่วงที่ติดตั้งมีการดูแลด้านความสะอาดที่ดี ความชื้นที่หลงเหลืออยู่ก็จะมีเหลืออยู่ไม่มาก และสุดท้ายความชื้อที่มีอยู่ไม่มากนี้ ก็จะถูกดักจับดูดซับด้วยตัวกรองความชื้นที่มีชื่อว่า Dryer Filter

หากเป็นไปตามเงือนไขที่กล่าวมา ส่วนใหญ่กว่า 80% จะไม่มีปัญหาในการใช้งานระยะยาว เครื่องปรับอากาศจะทำงานได้ปกติ มีความเย็นและใช้งานได้ตามปกตินานหลายปี 




แต่ในบางรายที่ใช้การไล่อากาศกับเครื่องปรับอากาศชุดเก่าและท่อเก่า ที่ผ่านการติดตั้งใช้งานมาก่อน หรือเป็นเครื่องปรับอากาศชุดใหม่ ที่ไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดในระหว่างการติดตั้ง รวมทั้งในกรณีที่มีการเชื่อมต่อท่อให้ยาวขึ้นกว่าเดิม การไล่อากาศถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นเกิดการอุดตันในระบบ อันมีสาเหตุมาจากความชื้นที่เหลืออยู่ในระบบมากจนตัวกรอง Dryer Filter ไม่สามารถจัดการได้หมด




การใช้สารทำความเย็นไล่อากาศในระบบ หรือ "การไล่อากาศ" หากนำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา ซึ่งเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-22 ยังถือว่าพอรับได้

แต่...หากนำไปใช้กับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410a ซึ่งเป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ กรณีนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่ง ให้นำวิธีลัดอย่างการไล่อากาศเข้ามาใช้ เพราะสารทำความเย็น R-410a มีลักษณะทางการยภาพต่างไปจากสารทำความเย็น R-22 อีกทั้งน้ำมันหล่อลื่นในระบบเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410a ยังเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ง่ายกว่า การติดตั้งอย่างผิดวิธี ไม่มีการทำสูญญากาศในระบบอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันในระบบได้ง่าย ซึ่งการซ่อมแซมก็จะทำได้ยากกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบที่ใช้ R-22



แต่ถึงอย่างไร ผู้เขียนก็ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้ใช้วิธีการไล่อากาศด้วยสารทำความเย็น แทนการทำสูญญากาศด้วยปั๊ม เพราะวิธีดังกล่าวเป็นขั้นตอนลัด ถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ยังไม่มีการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจัง และยังไม่มีมาตรฐานออกมารับรองอย่างเป็นทางการ

ซึ่งการออกให้บริการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกครั้ง ผู้ให้บริการควรใส่ใจในมาตรฐานการให้บริการ และให้บริการโดยยึดตามวิธีการที่เป็นหลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริการอย่ามีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไป








 

Create Date : 07 เมษายน 2556    
Last Update : 14 มีนาคม 2557 3:06:33 น.
Counter : 71640 Pageviews.  

คำถามสุดฮิต...แอร์ยี่ห้อไหนดี?

ในฐานะที่ผู้เขียน อยู่ในแวดวงของเครื่องปรับอากาศ ก็เป็นธรรมดาที่มักจะถูกถามในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ


แต่จากสถิติที่ถูกถามมา...ไม่ว่าจะถามกันแบบซึ่งๆหน้า หรือถามทางโทรศัพท์ รวมไปถึงถามใน weblog และถามมาทาง E-Mail แม้กระทั่งใน Line ก็ยังมีคนมาถามไปแล้ว
คำถามที่ผู้เขียนเจอมากที่สุดนับครั้งไม่ถ้วน เห็นจะหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า..."แอร์ยี่ห้อไหนดี?"
รองลงมาก็จะมาในแนวของ..."จะติดแอร์ใหม่ รบกวนช่วนแนะนำยี่ห้อ รุ่น และขนาด" ถามแบบมาครบเซ็ท




คำถามที่ว่า..."แอร์ยี่ห้อไหนดี?" เป็นคำถามที่ง่ายที่สุดสำหรับคนทั่วๆไปโดยเฉพาะคนที่จะซื้อแอร์ใหม่ 
แต่สำหรับผู้เขียน...คำถามแบบนี้ รวมทั้งคำถามที่อยู่ในเชิงนี้ เป็นคำถามที่ตอบยากมากๆ ผู้เขียนจัดว่าคำถามแบบนี้เป็นคำถามโลกแตกในแวดวงเครื่องปรับอากาศ 
คนถาม ถามออกมาง่ายๆโดยไม่ได้คิดอะไรมาก
คนตอบ คิดไม่ออกบอกไม่ถูก ต้องอธิบายกันยาวไป




เหตุที่ว่าคำถามที่ถามว่า..."แอร์ยี่ห้อไหนดี?" เป็นคำถามที่ผู้เขียนตอบยากมากๆ เหตุผลก็เพราะการที่ผู้เขียนเองได้คลุกคลีในแวดวงเครื่องปรับอากาศหรือแอร์นี่เอง 
การที่อยู่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศ ผู้เขียนได้คลุกคลีอยู่กับเครื่องปรับอากาศค่อนข้างจะครอบคลุมเกือบทุกด้าน ขาดแต่เรื่องระบบเครื่องปรับอากาศแบบชิลเลอร์ขนาดใหญ่ที่ผู้เขียนไม่ค่อยจะมีโอกาศได้สัมผัสจริง เพราะมันอยู่นอกเหนือสายงานที่ทำปกติ และอยู่นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา
แต่ในส่วนของเครื่องปรับอากาศทั่วไป ผู้เขียนเองได้คลุกคลีอยู่กับการจำหน่าย และงานติดตั้ง-ซ่อมบำรุง ซึ่งในส่วนงานติดตั้งและซ่อมบำรุงตัวผู้เขียนเองก็มักจะลงไปลุยในหน้างานจริงด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
สิ่งเหล่านี้ที่ผู้เขียนได้พบเจอได้สัมผัส มันทำให้ได้รู้ได้เห็นในสินค้าหลายยี่ห้อหลายรุ่น ได้เห็นว่าแต่ละยี่ห้อมันก็มีทั้งที่ดีและที่มีปัญหาให้ต้องแก้ไข 
แต่ละแบรนด์แต่ละตัวก็มีข้อแตกต่างกันไป มีข้อดี ข้อด้อย ที่ไม่เหมือนกัน 



ในบางรุ่นที่คนส่วนใหญ่เชียร์กันว่าดี ไม่มีปัญหา ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเสมอไป ถ้าใครได้ลองเข้ามาอยู่ในแวดวงเครื่องปรับอากาศก็คงจะได้เห็น
หรือในบางรุ่นออกแบบมาดี มีความน่าสนใจ แต่หลายคนก็อาจร้องยี้เมื่อได้ยินชื่อแบรนด์ เหมือนกับการตีตนไปก่อนไข้ 

พูดกันตามความเป็นจริงคือ..."คนไทยเราติดแบรนด์" ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว
แต่ในปัจจุบันเราจะให้วิธีการเหมารวมแบบยกแบรนด์ตัดสินว่ามันดีหรือห่วยเพียงแค่ที่ชื่อแบรนด์มันก็อาจจะดูไม่แฟร์กับผู้ผลิตสักเท่าใดนัก เพราะยังไม่ทันไม่ทันลงสนามแสดงความสามารถก็ถูกตัดสินว่าแพ้แล้ว...เปรียบอีกอย่างก็เหมือนการที่ตัดสินคนเพียงเพราะมองที่นามสกุล
"มองให้ดี มองให้ชัด ใช้เหตุผลมาตัดสิน ไม่ใช่ให้อารมณ์มาตัดสิน"

ตลาดเครื่องปรับอากาศในบ้านเรา ปัจจุบันนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก ผู้ผลิตแต่ละรายก็ต่างพัฒนาสินค้าของตนเองเพื่อแข่งขันกันในตลาด
เครื่องปรับอากาศ รุ่นที่ดีในทุกวันนี้ มีอยู่ในหลายยี่ห้อ ก่อนซื้อควรหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศด้วยตัวเองก่อน 

สำหรับใครที่อยากหาเครื่องปรับอากาศใหม่สักเครื่อง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองเข้าไปดูบทความนี้เพิ่มเติมก็ได้ คลิ๊ก เพื่อไปยังบทความ
โดยอันดับแรกคือต้องรู้ความต้องการเบื้องต้นของตัวเอง และ งบประมาณที่มี ข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับการเลือกใช้ให้เหมาะสม...ถ้าไม่รู้ก็สามารถถามผู้รู้ได้
ถ้าได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความต้องการ รูปแบบรวมถึงขนาดที่จะต้องใช้แล้ว ก็ลองเปิดแผ่นพับหรือแคทตาล็อกของเครื่องขึ้นมาดู เลือกสินค้าตัวที่สนใจ(ขนาดเดียวกัน) มาสัก 3-4 เครื่อง หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ลองเปรียบเทียบเบื้องต้นในเรื่องข้อมูลจำเพาะ ประสิทธิภาพ ราคา และถามใจตัวเองว่า...ส่วนตัวชอบแล้วชอบอันไหน 

สุดท้ายถ้าตัดสินใจไม่ได้จริงๆ ก็ลองนำตัวเลือกที่สนใจไปขอคำแนะนำจากผู้รู้...แบบนี้ยังจะดีเสียกว่าการตั้งคำถามว่า..."แอร์ยี่ห้อไหนดี"






 

Create Date : 11 มีนาคม 2556    
Last Update : 21 มีนาคม 2556 14:26:50 น.
Counter : 197851 Pageviews.  

แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟส ต่างกันอย่างไร ?

ผู้เขียนเชื่อว่ามีหลายคนที่สงสัยว่า...แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟสต่างกันอย่างไร แล้ว 1 เฟส กับ 3 เฟส ในแอร์ที่จริงแล้วมันคืออะไร ???

วันนี้ผู้เขียนก็เลยขอหยิบยกเรื่อง แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟสมาเขียนเป็นบทความเพื่อเป็นการไขข้อข้องใจให้สำหรับคนที่สงสัยหรือยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร และต่างกันอย่างไร

เพราะบ่อยครั้งที่ผมเจอใครต่อใครหลายๆคนเข้ามาถามในทำนองที่ว่า...แอร์ 1 เฟส และ 3 เฟสมันมีข้อแตกต่างกันตรงไหนและจะซื้อแบบไหนไปใช้ได้บ้าง

อีกทั้งยังมีหลายๆคนที่รู้แล้วว่า...แอร์ 1 เฟส และ 3 เฟสมันมีข้อแตกต่างกันตรงไหนแต่ยังมีความเข้าใจที่ผิดๆเรื่องการใช้งานอยู่

สำหรับใครที่มีความสงสัยหรือรู้แบบไม่ถูกต้องบทความคงจะได้เป็นประโยชน์แก่ท่านแต่...ถ้าใครที่รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องอยู่แล้วผ่านไปเลยก็ได้ครับ




แอร์ 1 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟส อันที่จริงแล้ว...มันก็คือแอร์ หรือเครื่องปรับอากาศ (Airconditioner) ที่เราทั้งหลายรู้จัก และมีใช้อยู่นั่นเอง

แต่...คำว่า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ที่พ่วงท้ายมาคือคำเรียกระบบไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานกับแอร์เครื่องนั้นๆ

ซึ่งก่อนอื่นเราต้องมารู้จักระบบไฟฟ้าที่มีใช้กันในประเทศไทยก่อน...เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่มีใช้ในประเทศไทยในส่วนของระบบแรงต่ำที่การไฟฟ้าฯจ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทตั้งแต่บ้านไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ และ ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์




ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ หรือ ระบบ Single Phase 220 V เป็นระบบที่อยู่ในลำดับสุดท้ายของระบบจำหน่ายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนครหลวงซึ่งการไฟฟ้าฯจะไม่ทำการแปลงแรงดันลงไปกว่านี้อีกแล้วซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่มีใช้กันมากที่สุดในบ้านพักอาศัยขนาดเล็กจนถึงกลางและยังรวมไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยอื่นๆ เช่น ห้องเช่า/หอพัก หรือ ร้าน/แผงค้าขาย


เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในระบบ 1 เฟส 220 โวลต์




ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ มีสายไฟ 2 สาย ประกอบไปด้วยสายเฟสหรือสายมีศักย์(L)ที่เมื่อเทียบกับพื้นดินจะมีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์(โดยเฉลี่ย) และ สายนิวทรัลหรือสายศูนย์(N)ที่เมื่อเทียบกับพื้นดินจะมีแรงดันไฟฟ้า 0 โวลต์

เมื่อเทียบศักย์ไฟฟ้าระหว่างสายทั้งสองจะได้ค่าความต่างศักย์หรือแรงดันไฟฟ้าที่ 220 โวลต์ เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ มีความถี่ 50 Hz. ระบบดังกล่าวยังนิยมเรียกว่าระบบ 1 เฟส 2 สาย

ปล. สายเฟสหรือสายที่มีศักย์ไฟฟ้า (L) เป็นสายที่มีแรงดันไฟฟ้าการสัมผัสหรือจับสายเฟสโดยตรง เป็นอันตรายถึงชีวิต การหาสายเฟสทดสอบง่ายๆด้วยไขควงลองไฟหากแตะปลายไขควงแล้วไฟที่ด้ามไขควงสว่าง แสดงว่านั่นคือสายเฟสหรือสายมีไฟส่วนสายนิวทรัล(N) ในสภาวะปกติจะมีแรงดันไฟฟ้าเป็นศูนย์สัมผัสได้ (แต่ก็ไม่ควรไปสัมผัสเล่น) เมื่อแตะปลายไขควงลองไฟบนสายนิวทรัลสภาวะที่ระบบไฟฟ้าปกติ ไฟที่ด้ามไขควงจะไม่สว่างแต่ถ้าแตะปลายไขควงบนสายนิวทรัลแล้วมีไฟสว่าง แสดงว่ามีความผิดปกติในระบบไฟฟ้าอาจจะมีการต่อสลับหรือสายนิวทรัสมีการต่อไม่แน่น-หลวม



ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ หรือ ระบบ Three Phase 380 V เป็นระบบไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ในระบบจำหน่ายแรงต่ำของการไฟฟ้าฯ เป็นระบบที่เหนือกว่าระบบ 1 เฟส

กลุ่มลูกค้าผู้ขอใช้งานระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ได้แก่บ้านพักอาศัยขนาดกลางและใหญ่ อาคารพานิชย์ ร้านค้า สำนักงานและโรงงานขนาดเล็กเป็นต้น


เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในระบบ 3 เฟส 380 โวลต์


มุมเฟสในไฟระบบสามเฟส จะแตกต่างกัน 120 องศา


ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ ประกอบไปด้วย สายเฟสหรือสายมีศักย์(L) จำนวน 3 เส้น สายแต่ละเส้นมีชื่อเรียกที่ต่างกันไป เช่น R - S - T หรือ L1 – L2 – L3 แต่ละเส้นมีมุมต่างเฟสกัน 120 องศา หรือ 1/3 ลูกคลื่นของไฟฟ้ากระแสสลับ แต่การนำมาใช้งาน จำเป็นต้องมีสายนิวทรัล(N) เดินมาควบคู่กับสายเฟสทั้ง3 ด้วย


ในระบบ 3 เฟส สายเฟสแต่ละสายเมื่อเทียบกับพื้นดินแต่ละเส้นจะมีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์(โดยเฉลี่ย) แต่เมื่อจับคู่สายเฟสเทียบระหว่างสายเฟสกับสายเฟสจะได้แรงดันไฟฟ้า 380 โวลต์(โดยเฉลี่ย) และเมื่อจับเอาสายเฟส 1 สาย กับสายนิวทรัล 1 สาย เราจะได้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส 220 โวลต์ มาใช้งาน กล่าวคือ...ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าในระบบ3 เฟส 380 โวลต์สามารถแยกย่อยเพื่อใช้งานเป็นระบบ 1 เฟสได้ และยังสามารถจับเอาสายเฟสทั้ง 3 มาใช้เป็นระบบ 3 เฟส สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก มอเตอร์ 3 เฟส และ หม้อแปลง 3 เฟส

ระบบไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจำหน่ายให้กับผู้ใช้รายย่อยประเภทแรงต่ำก็จ่ายออกมาในระบบ 3 เฟส ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ขอใช้ไฟแบบ 1 เฟสก็ค่อยไปแยกออกมาเฟสใดเฟสหนึ่งเพื่อเข้าระบบของตน หรือผู้ใช้ไฟฟ้ารายไหนขอใช้ไฟแบบ 3 เฟส ก็เชื่อมต่อสายทั้ง 4 เส้นเข้าระบบของตน โดยจะมีสายเฟส 3 เส้น กับสายนิวทรัล 1 เส้น หลายๆคนจึงมักเรียกว่าระบบ 3 เฟส 4 สาย



เมื่อรู้จักกับระบบไฟเบื้องต้นไปแล้วคราวนี้เราก็มาเข้าเนื้อหาของแอร์ 1 เฟส และ 3 เฟส

แอร์ 1 เฟส และ แอร์ 3 เฟสแบ่งตามระบบไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ซึ่งคอมเพรสเซอร์จัดว่าเป็นส่วนที่สำคัญและใช้พลังงานมากสุดของแอร์แต่ละชุด

ในแอร์ขนาดเล็กที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 33,000 BTU โดยทั่วไปแล้ว มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ที่ใช้ในระบบ จะเป็นแบบที่ใช้กับระบบไฟฟ้า1 เฟส 220 โวลต์

ในส่วนของชุดมอเตอร์พัดลม Fan coil Unit  (คอยล์เย็น)และพัดลม Condensing Unit  (คอยล์ร้อน)จะใช้มอเตอร์ 1 เฟส 220 โวลต์ เช่นกัน ซึ่งแอร์แบบนี้จัดอยู่ในกลุ่มของแอร์เฟส หรือ แอร์เฟสเดียว สามารถติดตั้งได้ทุกแห่งหนที่มีระบบไฟฟ้าตั้งแต่ 1 เฟสและ 3 เฟส เข้าถึง แต่...หากเลือกแอร์ 1เฟสขนาดใหญ่มาใช้งานควรตรวจสอบขนาดของเครื่องวัดไฟฟ้า(มิเตอร์)ที่การไฟฟ้าฯติดตั้งให้ว่ามีขนาดเพียงพอที่จะรองรับหรือไม่หากใช้ไฟฟ้าจำนวนมากเกินกว่าขนาดมีเตอร์จะรับไหวอาจจะทำให้มิเตอร์ได้รับความเสียหายได้

แอร์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส จะมีคอมเพรสเซอร์หลายแบบให้เลือกใช้งานตามขนาดทำความเย็นและลักษณะการติดตั้งรวมไปถึงการใช้งาน



ในส่วนของแอร์ที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟสเป็นแอร์แบบแยกส่วนที่มีขนาดตั้งแต่ 33,000 หรือ 36,000 BTU เป็นต้นไป เนื่องด้วยเป็นแอร์แบบแยกส่วนที่มีขนาดทำความเย็นสูงการใช้ระบบไฟ 1 เฟสมาขับเคลื่อนมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ที่มีขนาดใหญ่อาจจะทำให้มีกระแสใช้งานสูงเกินไปรวมถึงได้กำลังที่ไม่มากและไม่เพียงพอจึงต้องมีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ที่มีกำลังสูงกว่า ที่ใช้ระบบไฟ 3 เฟสซึ่งมีเฉพาะส่วนของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์เท่านั้น ที่ต้องการไฟฟ้าระบบ 3 เฟสมาขับเคลื่อน แต่...ในส่วนอื่นๆอย่างเช่นอุปกรณ์และวงจรในภาคควบคุมยังคงใช้ไฟ 1เฟสเป็นตัวควบคุมระบบ รวมถึงพัดลม Fan coil Unit (คอยล์เย็น) และพัดลม Condensing Unit (คอยล์ร้อน) ยังคงใช้มอเตอร์ระบบไฟ 1 เฟสอยู่




คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในแอร์ 3 เฟสสำหรับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่มีขนาดไม่เกิน 150,000 BTU จะเป็นคอมเพรสเซอร์แบบปิดสนิทเช่นเดียวกับคอมเพรสเซอร์ที่ใช้กับไฟ 1 เฟส โดยที่คอมเพรสเซอร์ 3 เฟสจะมีขนาดใหญ่กว่า และยังไม่ต้องใช้คาปาซิเตอร์หรือรีเลย์ช่วยในการสตาร์ทออกตัว



ในอดีต แอร์ 3 เฟสจะใช้คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบเป็นตัวดูดอัดสารทำความเย็นแต่ในปัจจุบันกำลังถูกแทนที่ด้วยคอมเพรสเซอร์แบบสโครลซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า ประหยัดพลังงานกว่า และทำงานได้นุ่มนวลกว่า




ในส่วนคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ ทางผู้ผลิตจะไม่ค่อยนิยมผลิตแบบ 3 เฟสขนาดใหญ่ออกมาวางขาย คอมเพรสเซอร์ของแอร์แบบทั่วไปที่เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ระบบไฟ 3 เฟส จะมีผลิตออกมาเพียงไม่กี่ขนาด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ระบบไฟ 3 เฟส 380 โวลต์ ของยี่ห้อง SCI (คอมฯมิตซูบิชิ) มีขนาดทำความเย็น 35,000 BTU เพียงขนาดเดียวที่ใช้ระบบไฟ 3 เฟส และถือเป็นขนาดที่สูงสุดในบรรดาคอมเพรสเซอร์โรตารี่ที่ SCI ผลิตและจำหน่าย

แต่ถ้าดูในตลาดคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ยังมีคอมเพรสเซอร์โรตารี่ 3 เฟสขนาดเล็กผลิตออกมาแต่มีจุดประสงค์เพื่อใช้กับแอร์ที่มีระบบควบคุมแบบอินเวอร์เตอร์เท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์ของแอร์อินเวอร์เตอร์ไม่ว่าจะแบบ AC Inverter หรือ DC Inverter ก็จะเป็นคอมเพรสเซอร์ 3 เฟส แต่ที่มันรับไฟ 1 เฟสจากแหล่งจ่ายในบ้านคุณมาใช้ได้ เพราะระบบ Inverter จะมีหน้าที่หลักในการควบคุมรอบการทำงานโดยการแปลงความถี่ทางไฟฟ้า โดยจะรับเอาไฟฟ้า 1 เฟสจากแหล่งจ่ายไฟในบ้าน มาทำการแปลงตามรูปแบบการทำงานที่กำหนด ก่อนจะส่งให้คอมเพรสเซอร์ 



สำหรับใครที่ต้องการติดแอร์ 3 เฟส ก่อนอื่นต้องตรวจสอบก่อนว่าระบบไฟฟ้าภายในอาคารของท่านยื่นขอใช้ไฟจากการไฟฟ้าในรูปแบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส

ถ้าระบบไฟฟ้าในอาคาร/บ้านเรื่องของคุณมีการยื่นขอใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส จากการไฟฟ้าฯและห้องที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศมีขนาดกว้างมีความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศขนาดให ญ่(ประมาณ 35,000 BTU ขึ้นไป) การเลือกใช้แอร์ 3 เฟสถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม และยังช่วยเรื่องการบาลานซ์โหลดไฟฟ้าในแต่ละเฟสให้มีความสมดุลใกล้เคียงกันได้ 

บางคนอาจมีความเข้าใจที่ผิดๆอยู่...มีหลายคนที่เข้าใจว่าแอร์ 3 เฟส ประหยัดไฟกว่าแอร์ 1 เฟสมาก เมื่อเทียบกันในขนาดทำความเย็นที่เท่ากัน ซึ่งนั่น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง 

เพราะความจริงแล้วในขนาดทำความเย็นที่เท่ากัน แอร์ 3 เฟส ก็ไม่ได้กินไฟน้อยกว่าแอร์ 1 เฟส อัตราการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกันไม่มีใครประหยัดมากกว่ากันอย่างมีนัยสำคัญ จะกินไฟเท่าไหร่มากกว่าหรือน้อยกว่า ให้เทียบตัวเลขกำลังไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งแอร์ 3 เฟส กับแอร์ 1 เฟส ที่มีขนาดทำความเย็นเท่าๆกัน ก็ใช้กำลังไฟฟ้าในปริมาณที่ใกล้เคียงพอๆกัน

ซึ่งส่วนที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในเรื่องของการใช้สิ้นเปลืองพลังงาน ส่วนใหญ่มักจะมาจากการอ่านข้อมูลบนแผ่นพับหรือโบชัวร์ ซึ่งจะมีตารางแสดงข้อมูลรายละเอียดของตัวเครื่องไว้ และคนส่วนใหญ่ที่อาจจะยังไม่เข้าใจมากพอ ก็มักจะไปเอาค่ากระแสใช้งานในตารางมาเปรียบเทียบ


ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างตารางแสดงข้อมูลของแอร์แบบตั้งแขวนยี่ห้อหนึ่งมาให้ดูประกอบการอธิบาย


ยกตัวอย่างแอร์ในรุ่น 36,000 BTU แบบที่ใช้กับระบบไฟ 1 เฟส 220 โวลต์ และ 3 เฟส 380 โวลต์


ตามข้อมูลที่แสดง รุ่นที่ใช้กับระบบไฟ 1 เฟส จะมีอัตราการกินกระแสไฟฟ้า ของชุด outdoor อยู่ที่ 15.7 A และในส่วนของรุ่นที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส อัตราการกินกระแสของชุด outdoor อยู่ที่ 5.25 A ซึ่งในจุดนี้เองมักเป็นต้นเหตุให้หลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าแอร์ 3 เฟส ประหยัดไฟกว่าแอร์ 1 เฟส มาก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว...ตามที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น คือระบบไฟ 3 เฟสประกอบด้วยสายเฟสหรือสายมีศักย์จำนวน 3 เส้นดังนั้นกระแสไฟฟ้าของแอร์ 3 เฟส ที่แสดงในตารางข้อมูล (5.25 A

ค่า 5.2 A ที่แสดงอยู่ในข้อมูลของแอร์ที่ใช้กับระบบ 3 เฟส เป็นค่ากระแสไฟฟ้าเฉลี่ยที่มีอยู่ในสายเฟสแต่ละสาย (กระแสในแต่ละเฟส)

แอร์ตัวนี้เป็นระบบไฟ 3 เฟส ทั้ง 3 เฟส ตั้งแต่ L1 - L2 และ L3 ต่างก็มีกระแสไหลในสาย อยู่ที่ราวๆ 5.2 A เหมือนกันทั้งสามสาย เพราะมอเตอร์ 3 เฟส ที่ขับคอมเพรสเซอร์อยู่นั้น ในขณะที่ทำงานมันจะดึงกระแสไฟมาจากทั้ง 3 เฟส เฉลี่ยเฟสละเท่าๆกันนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีของระบบเฟสเดียวกระแสที่ใช้งานทั้งหมดจะถูกดึงมาจากสายเฟสเส้นเดียว เทียบแล้วจำนวนกระแสในสายมันจึงดูเหมือนว่าจะเยอะกว่า


ในส่วนของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มาตรวัดหน่วยไฟฟ้า ในกรณีที่บ้านหลังนั้นขอใช้ไฟฟ้าระบบ 3 เฟส การคิดค่าไฟฟ้าก็ต้องเอาค่ากระแสเฉลี่ยทั้ง 3 เฟสมารวมกัน


เวลาที่การไฟฟ้าฯ คิดค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นหน่วยหรือยูนิตนั้น หน่วยการการใช้ไฟฟ้าในแต่ละหน่วยก็จะมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง  และสำหรับระบบ 
3 เฟส ก็จะมีสูตรการคิดคำนวณค่ากำลังไฟฟ้า (มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์) ดังนี้
kW. = [ แรงดัน (V)   x   
กระแส (A)   x   sqrt{,,}3   cos เพาเวอร์เฟคเตอร์ (PF) ]  ÷ 1,000


สูตรการคิดต่ากำลังไฟฟ้าที่มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ ในระบบ 1 เฟส และ ระบบ 3 เฟส



ดังนั้น...เมื่อรวมๆกันแล้ว อัตราการใช้ไฟฟ้าจริงๆของแอร์ 3 เฟสและแอร์ 1 เฟส ถือว่าใกล้เคียงกัน ในบางครั้ง...แอร์ เฟสอาจจะประหยัดไฟกว่าอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าประหยัดกว่าเล็กน้อยไม่มีใครประหยัดกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

การจะเลือกใช้ แอร์ 1 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟส ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยความต้องการใช้งาน และลักษณะของระบบไฟฟ้าที่มีรองรับอยู่

เพราะแอร์ระดับที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแอร์ที่มีขนาดทำความเย็น เกินกว่า 30,000 BTU ขึ้นไป ซึ่งหากเจ้าของสถานที่มีแผนจะติดแอร์ขนาดใหญ่สำหรับทำความเย็นในพื้นที่กว้างๆ ลองตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่ขอใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นระบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส 

ซึ่งถ้ามีระบบ 3 เฟส รองรับอยู่แล้ว การติดแอร์เครื่องใหญ่ที่มีขนาดเกินกว่า 36,000 BTU ก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยให้การบาลานซ์เฟสทำได้ง่าย ไม่หนักไปที่เฟสใดเฟสหนึ่งมากเกินไปนั่นเอง





 

Create Date : 13 มกราคม 2556    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2558 1:00:30 น.
Counter : 172672 Pageviews.  

เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A

สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ ที่เริ่มมีการนำมาใช้กันในเครื่องปรับอากาศ ในแวดวงเครื่องปรับอากาศบ้านเรา การนำสารทำความเย็น R-410A มาใช้ จัดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับช่างแอร์-ช่างเครื่องเย็น เนื่องจากมีความแตกต่างจากสารทำความเย็นแบบเดิมๆในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติ องค์ประกอบทางเคมี ระดับแรงดัน รูปแบบวิธีการชาร์ทสารทำความเย็น ฯลฯ



ตัวผมเองเดิมที เมื่อก่อนตอนที่เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A เพิ่งเริ่มเปิดตัวในตลาด ผมเองก็ไม่ค่อยรู้รายละเอียดอะไรมากในเรื่องของสารทำความเย็น R-410A จนกระทั่ง ทีมช่างของที่ร้านได้เข้าร่วมรับฟังการอบรมเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งหนึ่ง ผมจึงถือโอกาสเข้าร่วมรับฟังเพื่อเก็บข้อมูลด้วย
ซึ่งจากการที่ผมได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงของเครื่องปรับอากาศ พบว่ามีหลายคนทั้งที่เป็นช่างแอร์ และ เป็นผู้ใช้งานทั่วไป ได้สอบถามมาทางผม เยอะพอสมควร ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A อย่างที่บอกไปครับ สารทำความเย็น R-410 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการแอร์ตามต่างจังหวัด ซึ่งลองมองย้อนกลับไป สำหรับใครที่มีโอกาศได้ร่ำเรียนมาในวิชาที่เกี่ยวกับเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ จะพบว่าตำราเรียนในสมัยก่อนแทบจะไม่เคยพูดถึงเรื่องราวของสารทำความเย็น R-410A ช่างที่ให้บริการในงานเครื่องปรับอากาศ R-410A ส่วนใหญ่จะเป็นพวกช่างที่สังกัดร้านตัวแทนจำหน่ายของแต่ละยี่ห้อ และบริษัทผู้ผลิตก็จะเรียกไปอบรมก่อนที่จะออกให้บริการกับลูกค้า ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A จึงไม่ค่อยแพร่หลาย ต้องอาศัยช่างเฉพาะจากศูนย์บริการในงานติดตั้งและบำรุงรักษา

วันนี้ผมจึงขอรวบรวมเขียนบทความเชิงวิชาการ พูดถึงเนื้อหาในภาพรวมของสารทำความเย็น R-410A


ความเป็นมา ของสารทำความเย็น R-410A
ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี คศ.1990 สารทำความเย็นชนิด R-407C ได้ถูกออกแบบขึ้น โดยมีค่าการทำความเย็นและแรงดันที่ใกล้เคียงกับสารทำความเย็นชนิด R-22 ที่มีใช้กันในระบบเครื่องปรับอากาศ นานหลายสิบปี 
แต่การออกแบบนั้น ก็มีสิ่งท้าทายว่าจะออกแบบอย่างไรให้มีประสิทธิภาพด้านการแลกเปลี่ยนความร้อน และใช้พลังงานในการทำความเย็น เทียบเท่ากับระบบที่ใช้สารทำความเย็นชนิด R-22 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารทำความเย็นชนิด R-407C  จะไม่ใช่สารทำความเย็นในอุดมคติ ตามที่คาดหวังไว้ แต่ก็เป็นที่นิยมในตลาดเครื่องปรับอากาศของทางฝั่งยุโรป เนื่องจากคุณสมบัติของสารทำความเย็นชนิดนี้ คือ การไม่ทำลายชั้นโอโซน ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสามารถใช้ได้กับระบบที่ใช้สารทำความเย็นชนิด R-22 เดิมได้ เพียงแก้ไขเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนข้อด้อยของสารทำความเย็นชนิดนี้ คือความไม่เสถียรในบางสถานะของสัดส่วนและคุณสมบัติของน้ำยา และประสิทธิภาพที่ลดลงเล็กน้อยจาก R-22 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกรายใหญ่หลายรายจากญี่ปุ่นได้ร่วมมือและสนับสนุนที่จะใช้สารทำความเย็นชนิด R-407C กับระบบปรับอากาศที่ส่งเข้าตลาดยุโรป 
สำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศของญี่ปุ่นนั้น ความนิยมส่วนใหญ่ในตลาดมุ่งไปยังการใช้สารทำความเย็นชนิด R-410A แทน




ซึ่งตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแต่ละค่าย เริ่มนำสารทำความเย็น R-410A มาใช้ในผลิตภัณฑ์รุ่นท็อป อย่างเช่นเครื่องปรับอากาศระบบ Inverter ของยี่ห้อต่างๆ


การบรรจุสารทำความเย็น R-410A 

โดยปกติเมื่อเทียบด้วยถังบรรจุขนาด 10 กิโลกรัมนั้นให้คำนวณการบรรจุดังนี้

ถ้าเป็น R-22 บรรจุได้ Maximum 10 กิโลกรัม

ถ้าเป็น R-410A บรรจุได้ Maximum 7 กิโลกรัม


 - ราคาสารทำความเย็นอาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในภาพ ขึ้นอยู้กับร้านค้าผู้จำหน่าย -


ถ้าย้อนไปในเมื่อ 40 - 50 ปีที่แล้ว ในยุคแรกเริ่มที่ประเทศไทยได้รู้จักและเริ่มมีเครื่องปรับอากาศใช้งาน สารทำความเย็นที่เราใช้กันในเครื่องปรับอากาศ จากอดีตจนถึงปัจจุบันใช้สารทำความเย็นที่มีรหัส R-22



แต่สารทำความเย็น R-22 เป็นสารทำความเย็นในกลุ่ม คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมันจะขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก เป็นสาเหตุหนึ่งของสภาวะเรื่อนกระจก หรือสภาวะโลกร้อน ที่เราได้ประสบพบเจอกันในตอนนี้ จึงมีการคิดค้นสารทำความเย็นแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้ทดแทนสารทำความเย็น R-22

สารทดแทน R-22 แบ่งเป็นสามกลุ่ม

กลุ่ม Propane Series
ตัวอย่างเช่น R-290  โดยนำมา combine กับ R-600a เพื่อเพิ่มความสามารถด้าน COP และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Co.. 22 หรือ Re.. 22 หรือ R-431A เป็นต้น เรียนว่าเป็น "สารติดไฟ" ปริมาณการใช้น้อยกว่าร้อยละ 50 เพราะมีขนาดของโมเลกุลโตกว่า HFCs ประหยัดไฟกว่าเพราะไม่มีส่วนผสมของ Fluorine
สรุป ลุกติดไฟได้ง่าย ประหยัดค่าไฟฟ้า ใช้ปริมาณน้ำยาน้อยกว่า น้ำยาราคาแพงมากและไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ผู้ขายน้อยราย เป็นสินค้ากึ่งผูกขาด

กลุ่ม Zeotropics
- แบบที่ใช้แทนสารทำความเย็น R-22 ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันคอมเพรสเซอร์ (ในกรณีเดินท่อระยะใกล้) ได้แก่ R-417A, R-424A, R-422D
- แบบที่ใช้ต้องเปลี่ยนน้ำมันคอมเพรสเซอร์ และคอมเพรสเซอร์ต้องออกแบบมาเฉพาะ ได้แก่ R407C, R427A
- แบบที่ต้องได้การออกแบบมาโดยเฉพาะทั้งระบบ ได้แก่ R-410A

กลุ่ม Inorganic Compounds
R-744 หรือคาร์บอนไดออกไซด์ แรงดันสูงมากอาจเป็นอันตรายได้ เปลี่ยนสถานะได้ทั้งสาม 3 สถานะคือ ก๊าซ, ของแข็งและของเหลวการดีไซน์ระบบยุ่งยากกว่า
R-717 หรือแอมโมเนีย มีราคาถูก ในเขตเมืองห้ามใช้ ต่างจังหวัดก็เริ่มมีการควบคุมในบางพื้นที่ และเมื่อรั่วจะเป็นพิษแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง การสูดดมในปริมาณเข้มข้น เพียงเวลาไม่เกิน 15 อาจทำให้หมดสติได้ ซึ่งสารทำความเย็นประเภทแอมโมเนีย ส่วนใหญ่จะมีใช้งานในโรงน้ำแข็งขนาดใหญ่ 



ปัจจุบันหน่วยงานในระดับนาๆชาติต่างให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดการประชุมหารือกันในระดับนานาชาติ เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆขึ้นมาควบคุม ยกตัวอย่างเช่น

สนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol)
เป็นการประชุมภายใต้กรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติ ได้มีการกำหนดให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งรวมไปถึงสารทำความเย็นบางชนิด เช่น R11, R12, R22, 134A เป็นสารที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ)
ปัจจุบันหลายประเทศในโลก ไม่อนุญาตให้ใช้ R-11, R-12, R-22,R-134A

สนธิสัญญามอนทรีออล (Montreal Protocol)
มีข้อตกลงให้เลิกใช้สาร CFC (R11, R12) และลด-เลิก ใช้สาร HCFC (R-22) ในยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 และห้ามนำเข้าเครื่องทำความเย็นที่ใช้สาร HCFC (R-22)
ในส่วนทางด้านรัฐบาลไทย ได้มีมติให้ยกเลิกใช้สารทำลายบรรยากาศโอโซน คือสาร CFC (R-11, R-12) และเริ่มแผนลด-เลิก ใช้สาร HCFC (R-22) ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2553 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
และคาดว่าในอนาคต เครื่องปรับอากาศที่ผลิตเพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย จะเริ่มทยอยกันเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นแบบใหม่กันหมด และสารทำความเย็น R-22 ก็จะเริ่มลดจำนวนการผลิตลงเรื่อยๆ

แม้ว่าสารทำความเย็นที่สามารถใช้ทดแทน R-22 มีอยู่หลายชนิด แต่ที่กำลังมาแรงในแวดวงเครื่องปรับอากาศของบ้านเรา เห็นจะเป็นสารทำความเย็น R-410A

สารทำความเย็นรหัส R-410A เป็นสารทำความเย็นในกลุ่ม Hydro Fluoro Carbon (HFC) ข้อแตกต่างที่ทำให้สารทำความเย็น R-410A ดีกว่า R-22 ก็ตรงที่ R-410A เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะไม่ทำลายชั้นโอโซน รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อนได้ดีกว่า มีความเสถียรในด้านของสัดส่วนและคุณสมบัติ และใช้ในปริมาณที่น้อยลง R-410A จึงมีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า

แต่มีข้อเสียตรงที่ สารทำความเย็น R-410A ติดไฟได้ และในตอนนี้ยังคงมีราคาแพง การให้บริการค่อนข้างยุ่งยาก ช่างในท้องตลาดส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับ R-410A รวมทั้งช่างที่จะมาให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A ควรผ่านการอบรมและแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ หรือบริษัทที่นำเข้าสารทำความเย็นตัวนี้ ก่อนที่จะออกให้บริการลูกค้า

ข้อมูลทางเทคนิคของสารทำความเย็น R-410A

Category : HFC
Formula : CH2F2 / CHF2CF3
Boiling point : -48.5 c
Purity : 99.95%
Lubricants : POE, ABCategory : HFC

ความดันไอที่อุณหภูมิ 90F = 272.8 psig (bubble point) และ 271.2 psig (dew point)

ค่าแรงดันที่วัดได้ ตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับสารทำความเย็น R-410A
ด้านแรงดันต่ำ 0.15-0.25 MPa(1.5-2.5 กก/ตร.ซม, 21-36 PSIG)
ด้านแรงดันสูง 1.37-1.57 MPa(14-16 กก/ตร.ซม, 199-228 PSIG)

ในตอนนี้มีหลายคน ถามผมอยู่บ่อยๆ ในเรื่องของการวัดระดับแรงดันของสารทำความเย็น R-410A จะใช้เมนิโฟลด์ เกจของ R-22 ได้หรือไม่?

ผมขอตอบในที่นี้เลยนะครับว่า “ไม่ได้” เพราะสารทำความเย็น R-410A มีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 – 1.6 เท่า เมนิโฟลด์ เกจ ต้องเป็นแบบเฉพาะที่ออกแบบมาให้รองรับสารทำความเย็น R-410A เท่านั้น และคอมเพรสเซอร์ที่ใช้ก็ต้องเป็นแบบเฉพาะที่ผลิตมาไว้ใช้กับสารทำความเย็น R-410A โดยตรง

และที่วาล์วลูกศรก็ต่อเข้ากันไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากวาล์วลูกศรของ R-410A เป็นวาล์วลูกศรที่ใช้กับท่อขนาด 3/8” ส่วนวาล์วลูกศรของ R-22 เป็นวาล์วลูกศรที่ใช้กับท่อขนาด 1/4" ทางผู้ผลิตได้ทำขนาดให้แตกต่างกันเพื่อป้องการการพลาด ใช้เมนิโฟลด์ เกจ ผิดชนิด
ส่วนใครที่คิดจะหาทางลัด โดยการดัดแปลงทำข้อต่อเสริมให้เสียบสายเกจของ R-22 เข้ากับวาล์วลูกศรของ R-410A ได้นั้น กรณีนี้ไม่แนะนำอย่างเด็ดขาด ต่อให้คุณทำข้อต่อเพื่อดัดแปลงในการต่อสายเกจ จากด้าน Low ที่วาล์วลูกศรของ R-410A แล้ววัดค่ากับเกจ R-22 ด้านเกจ Hight ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการใช้งานที่ผิดประเภทอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้




การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A

เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ปัจจุบันเริ่มมีเข้ามาวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รุ่น Inverter และผมก็คาดว่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา หรือแบบ Inverter ผู้ผลิตก็จะทยอยเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็น R-410A กันหมด และจะส่งผลให้ สารทำความเย็น R-22 ค่อยๆหายไปจากตลาด คงเหลือไว้เพียงส่วนน้อย เพื่อใช้เป็นสารทำความเย็นสำหรับเติมเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า และสารทำความเย็น R-410A ก็จะมีการผลิตและวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น และอาจทำให้มีราคาถูกลงกว่าที่เป็นอยู่
ในขณะนี้(พ.ศ. 2555)สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นเบอร์ใหม่ ในกรุงเทพและปริมณฑลหรือตามหัวเมืองใหญ่ๆไม่น่าจะมีปัญหา แต่สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ต่างจังหวัด หรือซื้อเครื่องปรับอากาศ R-410A มาจากที่อื่นแล้วจะมาติดตั้งในพื้นที่ ก่อนอื่นท่านควรจะสอบถามร้านให้บริการติดตั้งแอร์ในละแวกใกล้เคียง ว่ามีความสามารถและอุปกรณ์พร้อมในการให้บริการหรือไม่

เพราะตอนนี้ปัญหาที่ผมได้ทราบมา คือ ร้านแอร์ตามท้องถิ่นนอกเมืองไม่มีเกจวัดแรงดันสารทำความเย็น R-410A ไว้ให้บริการ และช่างบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบเครื่องทำความเย็น R-410A
ซึ่งช่างที่จะออกให้บริการในงานเครื่องปรับอากาศ Inverter ที่ใช้สารทำความเย็น R-410A ควรได้รับการอบรมหรือแนะนำจากฝ่ายเทคนิคของบริษัทผู้ผลิตแอร์ เพื่อที่จะได้ออกให้บริการได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย


คำถามที่พบบ่อยในเรื่องที่เกี่ยวกับสารทำความเย็น R-410A

เครื่องทำความเย็นที่ เดิมใช้ R-22 จะเปลี่ยนมาใช้ R-410A ได้ไหม ?
โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถทำได้ ถ้าคอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆในระบบ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับ R-410A โดยเฉพาะ เพราะส่วนของคอยล์ อาจรับแรงดันของสารทำความเย็น R-410A ไม่ได้ คุณสมบัติแรงดัน และเทอร์โมไดนามิคของ R-410A ทำให้คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ ต้องถูกออกแบบใหม่โดยเฉพาะ คอมเพรสเซอร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ R-22 หากนำไปใช้กับสารทำความเย็น R410-A จะทำให้มอเตอร์งานเกินกำลังและทำให้ได้รับความเสียหาย หากเครื่องพยายามปั๊ม R-410A ในระบบปรับอากาศ 


น้ำมันคอมเพรสเซอร์ R-410 กับ R-22 ชนิดเดียวกันหรือไม่ ?
น้ำมันที่ใช้ในระบบ R-22 เป็นชนิดที่แตกต่างกับของระบบ R-410A การใช้งานต้องเลือกใช้น้ำมันที่ผลิตมาโดยเฉพาะ 


การปฏิบัติงาน ซ่อม บำรุงรักษา และติดตั้ง เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A มีข้อควรระวัง ซึ่งเป็นรายละเอียดเพิ่มเติม อะไรบ้าง?
ปัญหาในเรื่องของความชื้นและสารปนเปื้อน 
- เรื่องของความชื้น เนื่องจากน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ในระบบ เป็นประเภทโพลีออลเอสเตอร์ (POE) ซึ่งดูดซึมความชื้นในอัตราที่เร็วและสูงกว่าน้ำมันที่ใช้ในระบบทำความเย็นแบบเดิมๆ ดังนั้นระยะเวลาที่ ภายในคอมเพรสเซอร์จะสัมผัสถูกบรรยากาศจึงสั้นกว่ามาก หลักการปฏิบัติที่ดีคือไม่ควรดึงจุกที่อุดปลายท่อของคอมเพรสเซอร์ออกจนกว่า คอมเพรสเซอร์จะติดตั้งเรียบร้อย จึงจะเอาออกเพื่อเชื่อมต่อระบบ...และขั้นตอนการทำสูญญากาศระบบ สำหรับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญและละเลยไม่ได้ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410Aต้องทำสูญญากาศระบบด้วยปั๊มทำสุญญากาศ(vacuum pump)ตามระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น! จริงอยู่ที่ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ R-22 บางครั้งเรายังพบการใช้วิธีลัดโดยการใช้น้ำยาที่ให้มาในระบบไล่อากาศแทนการใช้ปั๊มทำสูญญากาศ(vacuum) แต่ในกรณีของ R-410A เราจะใช้วิธีการเอาน้ำยาในระบบมาไล่อากาศแบบนั้นไม่ได้ เพราะความชื้นในระบบที่ถูกกำจัดออกไปไม่หมด จะมีผลต่อการทำงานของเครื่อง และส่งผลต่อการทำความเย็นด้วย
- อีกอย่างที่เราควรระวังในการปฏิบัติงาน ซ่อบำรุงหรือติดตั้ง เครื่องทำความเย็นที่ใช้ R-410A คือเรื่องสารปนเปื้อนในระบบ เพราะว่าน้ำมันโพลีออลเอสเตอร์ (POE) ที่ใช้ในระบบนั้น มีความสามารถในการเป็นตัวทำความสะอาดชั้นดี ซึ่งจะพาคอปเปอร์ออกไซด์ และสารปนเปื้อนอื่นๆให้ไหลไปปะปนในระบบได้ง่าย อาจทำให้เกิดการอุดตันของอุปกรณ์ในระบบ 
- ทั้งการควบคุมความชื้นและสารปนเปื้อนควรจะเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญมาก ในขณะที่ปฏิบัติงาน ติดตั้ง และซ่อมบำรุง เครื่องทำความเย็นที่ใช้ R-410A 


ในอนาคต หากมีการใช้งานสารทำความเย็น R-410A อย่างแพร่หลาย แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นใช้สารทำความเย็นรหัสไหน

เบื้องต้น ข้อมูลสารทำความเย็นที่เครื่องปรับอากาศเครื่องนั้นใช้ ทางผู้ผลิตได้แสดงรายละเอียดไว้บนแผ่นป้าย (Name Plate) ที่ติดด้านข้างของเครื่อง ยิ่งถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A ปัจจุบันผู้ผลิตจะติดป้ายขนาดใหญ่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ "New Refrigerant HFC410A" แต่ถ้าไม่มีป้ายแสดง ก็ให้สังเกตจากวาล์วลูกศรที่ใช้เสียบเกจวัดแรงดัน(หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต) หัววาล์วลูกศรของ R-22 จะเป็นขนาด 1/4" ส่วนหัววาล์วลูกศรของ R-410A จะเป็นขนาด 3/8"

การชาร์ทน้ำยาเข้าสู่ระบบ ใช้การตวงวัดปริมาตรแบบไหน ?
ในการชาร์ทน้ำยาเข้าสูระบบ สำหรับสารทำความเย็น R-410A จะใช้วิธีการชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั้งดิจิตอล โดยอ้างอิงปริมาณน้ำยาจากข้อมูลที่ทางผู้ผลิตให้มา และหากมีการเดินท่อเพิ่มจากความยาวที่กำหนด จะต้องนำความยาวท่อในส่วนที่เพิ่มขึ้น มาคำนวนหาค่าน้ำหนักของสารทำความเย็นที่จะต้องใส่เพิ่มไปการชาร์ทน้ำยาเข้าสู่ระบบ




สรุป : สารทำความเย็น R-410A เป็นสารทำความเย็นแบบใหม่ที่นำมาใช้แทนสารทำความเย็น R-22 มีแรงดันสูงกว่า R-22 ประมาณ 1.5 - 1.6 เท่า ราคาในตอนนี้ยังถือว่าแพง และติดไฟได้ ที่สำคัญ...ไม่สามารถใช้เกจของ R-22 มาวัดแรงดันของ R-410A ได้...ต้องซื้อเกจตัวใหม่ที่รองรับ R-410 ในตอนนี้ช่างที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบทำความเย็นที่ใช้ R-410A ยังมีน้อย ช่างที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ R-410A ทางที่ดีควรจะได้รับการฟังบรรยายอบรม เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้ R-410A

และเนื่องด้วยสารทำความเย็น R-410A นั้น เป็นส่วนผสมของ HFC-35 และ 120 ในอันตราส่วน 1:1 โดยสารทำความเย็นชนิดนี้จะปราศจากคลอรีน ไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลก และมีประสิทธิภาพดีกว่าสารทำความเย็นแบบ R-22 ถึง 10% การใช้งานในประเทศไทย ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25-35 องศาเซลเซียสนั้น เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-410A นั้น จะช่วยประหยัดพลังงาน และค่าไฟต่อปีได้ดีกว่าเครื่องปรับอากาศ R-22 




 

Create Date : 03 เมษายน 2555    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2556 12:55:12 น.
Counter : 45618 Pageviews.  

เครื่องปรับอากาศ INVERTER (แอร์อินเวอร์เตอร์)





ในปัจจุบัน กระแสของการประหยัดพลังงาน หรือผู้เขียนขอเรียกว่า “เทรน ECO” กำลังมาแรงแซงทางโค้ง ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาด ต่างงัดกลยุธออกมาอย่างเมามันส์ เพื่อจะนำมาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งในช่วงเวลานี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า INVERTER (อินเวอร์เตอร์) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่เข้ากระแสของการประหยัดพลังงาน ที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้านำมาใช้กับสินค้า

ยกตัวอย่างเช่น

“ปั๊มน้ำระบบอินเวอร์เตอร์ ช่วยให้การทำงานของเครื่องปั๊มน้ำสมดุลกับการใช้น้ำ ทำให้คุณประหยัดพลังงาน”

“ตู้เย็นระบบอินเวอร์เตอร์ ช่วยให้เครื่องทำงานตามปริมาณสิ่งของที่แช่ ลดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์”

“เครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ นวัตกรรมใหม่ของเครื่องปรับอากาศ ที่มอบทั้งความเย็นสบาย และการประหยัดพลังงานอย่างสูงสุด”


คำโฆษณาตามตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นคำพูดที่ฟังแล้วดูดี น่าประทับใจ นึกถึงเทคโนโลยีที่ไฮเทค ล้ำอนาคต แต่มีหลายคน ที่ยังไม่เข้าใจ ว่าแท้จริงแล้วระบบอินเวอร์เตอร์ มีหลักการทำงานอย่างไร ผู้บริโภคหลายท่าน มีความรู้สึกคล้อยตามคำโฆษณา ยอมควักกระเป๋าเพื่อจ่ายเงินแพงกว่า เพราะคิดว่าสิ่งที่ได้มา คือเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต 

ซึ่งข้อเท็จจริงของระบบอินเวอร์เตอร์จะเป็นเช่นไร ผู้เขียนได้นำข้อมูลมารวบรวมและเขียนเป็นบทความฉบับออกมา เพื่อให้ท่านที่ยังไม่รู้จักระบบอินเวอร์เตอร์ได้ทำความเข้าใจ





ซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ ผู้เขียนขอกล่าวถึงเนื้อหาสาระในเรื่องข้อมูลเบื้องต้น ของคำว่า INVERTER (อินเวอร์เตอร์) และหลักการทำงานของ อินเวอร์เตอร์ เพราะมันเป็นรากฐานแรกสุด ก่อนที่เราจะไปรู้จักเครื่องปรับอากาศ Inverter เราต้องรู้ก่อน...ว่าอะไรคืออินเวอร์เตอร์ และอินเวอร์เตอร์คืออะไร

ตัวแปลงไฟ INVERTER และ CONVERTER

หลายท่านคงเคยได้ยินหรือมีใช้งานอยู่แล้ว สำหรับตัวแปลงไฟ Inverter ซึ่งเป็นตัวแปลงไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ 12V DC ให้เป็นไฟบ้าน 220V AC เป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้า มีวงจรเป็นแบบ Switching ที่ใช้สำหรับเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ โดย ไฟฟ้ากระแสตรงที่จะ นำมาทำการเปลี่ยนนั้นมาจาก แบตเตอรี่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรง หรือแผงโซล่าเซลล์ก็ได้ ไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้มานั้น จะเหมือนกับไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งจ่ายไฟภายในบ้าน (ปลั๊กไฟในบ้าน) ซึ่งหลายท่านอาจจะนึกออก ว่ามันก็คือตัวแปลงไฟที่มีในรถยนต์ เอาไว้เสียบไฟจากที่จุดบุหรี่ในรถ แล้วแปลงออกมาเป็นไฟบ้าน (AC 220V) ออกมาไว้เพื่อชาร์จแบตของ โน๊ตบุ๊ค หรือ กล้องดิจิตอล



และตัวแปลงไฟ Inverter ยังมีบทบาทสำคัญในชุมชนที่ห่างไกล หรือพื้นที่ ที่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ เข้าไปไม่ถึง กล่าวคือ ตัวแปลงไฟ Inverter นี่เองที่เป็นหัวใจหลักของระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ ซึ่งตัวแปลงไฟ Inverter จะมีหน้าที่ช่วยแปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอร์รี่ที่รับไฟมาจากแผงโซล่าเซลล์ แปลงมาเป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า

สรุปคือ Inverter มีหลักการทำงาน คือ แปลงไฟฟ้า กระแสตรง (Direct Current) เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current)



มี Inverter แล้ว ก็ต้องมีสิ่งที่ตรงข้ามกัน ซึ่งก็คือ Converter เพราะ Converter เป็นระบบทางไฟฟ้าที่มีหลักการทำงานในทางกลับกัน ก็คือ การแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current) มาเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current) เรียกว่า Converter 
โดย Converter เป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ที่ใช้สำหรับเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นไฟฟ้ากระแสตรง โดยไฟฟ้ากระแสสลับที่จะ นำมาทำการเปลี่ยนนั้น มาจากแหล่งกำเนิด ไฟฟ้ากระแสสลับทั่วไปหรือเต้ารับแหล่งจ่ายไฟภายในบ้าน



ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ในกลุ่มของ DC Power Supply ที่แปลงไฟฟ้าจากเต้ารับภายในบ้านออกมาเป็นไฟฟ้ากระแสตรงสำหรับนำมาใช้งาน ซึ่งตัวแปลงไฟฟ้า หรือ adapter สำหรับชาร์จไฟให้แบตเตอร์รี่ ก็จัดอยู่ในกลุ่มของ Converter



ระบบ Inverter และ Converter ยังมีบทบาทสำคัญในการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ต้องการป้องกันความเสียหายจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้า เพราะเนื่องจากในปัจจุบัน กระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในประเทศไทยในบางพื้นที่ บางครั้งอาจจะมีความไม่แน่นอนในส่วนของเสถียรภาพของการรักษาระบบ และ ปริมาณแรงเคลื่อนที่อาจมีปัญหาที่เรียกว่า “แรงดันตก” ซึ่งปัญหาในการจ่ายไฟ อาจมาจากสาเหตุที่หลากหลายในระบบจำหน่ายของการฟ้าฯ ส่งผลให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในงานภาคธุรกิจที่สำคัญๆ หรือ ระบบฐานข้อมูล จำเป็นต้องมีการป้องกันจาก ความผิดปกติของ กระแสไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหาย ต่องานนั้นๆได้ 

การนำระบบ Inverter และ Converter มาใช้ป้องกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น UPS ( Uninterruptible Power Supply ) ซึ่งตัว UPS เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อ แก้ปัญหาเหล่านี้อย่าง เช่น ไฟเกิน, ไฟตก, ไฟดับ, คลื่นรบกวน ฯลฯ โดยจะทำงานร่วมกับ แบตเตอรี่ที่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าสำรองทันที ทีไฟฟ้าเกิดดับ ซึ่งแบตเตอรี่นี้จะจ่ายไฟฟ้า ที่เพียงพอที่จะทำให้มีเวลาในการเก็บรักษาข้อมูล และจัดการปิดระบบอย่างถูกต้องเพื่อรักษาระบบ




จากรูป กระแสไฟฟ้า 220 V AC จะจ่ายเข้าไปยังส่วน rectify และ transformer ในส่วนนี้จะทำการเปลี่ยนแปลงจาก ไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง แล้วลดระดับแรงดันไฟฟ้ามาให้เท่ากับแรงดันของแบตเตอรี่ โดยจะมี multiplexer ซึ่ง ที่สภาวะปกติ mux ตัวนี้ จะสวิทช์ให้ไฟจาก rectify ผ่านออกไปยัง อินเวอร์เตอร์ แต่ถ้ากระแสไฟฟ้าดับ mux จะทำการสับสวิทช์เพื่อเปลี่ยนมาใช้ไฟจากแบตเตอรี่โดยทันที ต่อจากนั้นไฟฟ้ากระแสตรงจะเข้าสู่อินเวอร์เตอร์ โดยอินเวอร์เตอร์ก็จะเปลี่ยน ไฟกระแสตรงนั้นให้เป็นไฟกระแสสลับซึ่งปรับความถี่ได้ โดยไฟกระแสสลับที่ออกมาจากอินเวอร์เตอร์ก็จะป้อนสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยที่ไฟกระแสสลับที่ได้ออกมาจะถูกนำไปป้อนกลับมาทำการเปรียบเทียบกับความถี่อ้างอิงค่าหนึ่ง แล้วนำผลจากการเปรียบเทียบไปควบคุมการกำเนิดความถี่ของอินเวอร์เตอร์เพื่อให้ได้ไฟฟ้ากระแสสลับที่มีความถี่คงที่และถูกต้อง ตามที่เครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับต้องการ



ระบบ INVERTER ที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า

ระบบ INVERTER ที่ใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้จัดว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ตามที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโฆษณาเอาไว้ เพราะเนื่องจากระบบ INVERTER เป็นเทคโนโลยีในระบบควบคุมทางไฟฟ้า ที่ถูกคิดค้นมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว
ในการนำเอา ระบบ INVERTER มาใช้ในงานควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีหลักการทำงานโดย 
ใช้ชุดควบคุม INVERTER เป็นตัวปรับค่าความถี่ (frequency) ที่จ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเหนี่ยวนำ (โหลด L) ซึ่งก็ได้แก่ มอเตอร์เหนี่ยวนำ , หม้อแปลงไฟฟ้า และตัวเหนี่ยวนำ เป็นต้น(แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการใช้ Inverter ควบคุมมอเตอร์เหนี่ยวนำ)

โดยปกติแล้ว ระบบไฟฟ้าที่ใช้กันบนโลกจะมีความถี่มาตรฐานที่ 50 Hz. และ 60 Hz. ในส่วนระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ที่เราใช้กันทั่วไป จะเป็นระบบที่มีความถี่ที่ 50 Hz. แต่เมื่อความถี่ที่จ่ายเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเหนี่ยวนำ มีการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลทำให้เส้นแรงแม่เหล็กมีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีของมอเตอร์เหนี่ยวนำ การเปลี่ยนแปลงของเส้นแรงแม่เหล็กจะมีผลต่อรอบการหมุนของมอเตอร์
การควบคุมด้วยระบบควบคุม แบบ INVERTER ยังสามารถนำมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท ขดลวดสนามแม่เหล็ก เช่น มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ หม้อแปลงออโต้ และ เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เป็นต้น




การควบคุมความเร็วรอบคอมเพรสเซอร์ ด้วยระบบ INVERTER

การนำ Inverter มาใช้ในเครื่องปรับอากาศ จะนำมาใช้ในการควบคุมความเร็วรอบในส่วนของมอเตอร์ตอมเพรสเซอร์ ซึ่งก่อนอื่น เราต้องมาทำความรู้จักกับ การปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ด้วยระบบอินเวอร์เตอร์โดยหลักการเบื้องต้นของมอเตอร์ จัดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ใช้ในการแปลงพลังงานไฟฟ้า ไปเป็นพลังงานกล โดยนำพลังงานที่ได้นี้ไปทำ การขับเคลื่อนระบบกลไกลต่างๆตามความต้องการ ความเร็วของมอเตอร์ สามารถกำหนดได้โดย
1. แรงบิดของโหลด
2. จำนวนขั้วของมอเตอร์
3. ความถี่ของแหล่งจ่ายไฟที่ใช้กับมอเตอร์
4. แรงดันที่จ่ายให้กับมอเตอร์
ความเร็วของมอเตอร์สามารถหาได้จากสูตร ดังต่อไปนี้

ความเร็วรอบ N = {[120 * ความถี่ f (Hz)] / จำนวนขั้ว P} * (1-S)

โดย 1-S กำหนดโดยโหลด

จากสูตรข้างต้นจะพบว่า ถ้าความถี่ของแหล่งจ่ายไฟ เปลี่ยนแปลงไปก็มีผลทำให้มอเตอร์ มีความเร็วเปลี่ยนแปลงได้ด้วย แต่เมื่อทำการเปลี่ยนความถี่ โดยให้แรงดันคงที่ จะมีผลทำให้เกิดฟลักส์ แม่เหล็กเพิ่มมากขึ้นจนอิ่มตัว ซึ่งอาจทำให้มอเตอร์ ร้อนจนเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นจึงต้องทำการเปลี่ยน แรงดันควบคู่ไปกับความถี่ด้วย และการที่จะเปลี่ยนแปลง ความถี่ของแหล่งจ่ายไฟ สามารถทำได้โดย การใช้อินเวอร์เตอร์

หลักการควบคุมของระบบอินเวอร์เตอร์ กล่าวคือแหล่งจ่ายไฟกระแสสลับ จ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ ไปยังคอนเวอร์เตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนไฟฟ้า กระแสสลับให้เป็น ไฟฟ้ากระแสตรง แล้วนำไฟฟ้ากระแสตรง ที่ได้ต่อเป็นอินพุตเข้าไปในวงจรอินเวอร์เตอร์ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงนี้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่สามารถเลือกความถี่ได้ เพื่อไปควบคุมมอเตอร์ ให้มีความเร็วตามต้องการได้




การเปลี่ยนขนาดแรงดัน ของอินเวอร์เตอร์ตามความถี่ โดยวิธีการแปรรูปคลื่นของแรงดัน สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. วิธีแปรขนาดแรงดันของไฟตรง (PAM : Pulae Amplitute Modulation)
2. วิธีแปรความกว้างของพัลส์ที่ใช้เปิด-ปิดทรานซิสเตอร์ (PWM : Pulae Width Modulation)
- เป็น Square Wave
- เป็น Sine Wave
โดยแต่ละวิธีจะทำให้เกิดผลต่อมอเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป


วิธี PWM แบบ Sine Wave นั้นจะมีการเปิด-ปิดทรานซิสเตอร์หลายๆครั้งในหนึ่งไซเคิลหรือใน 1 ลูกคลื่นของไฟฟ้า และการเปิด-ปิดในแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน จำนวนการเปิด-ปิดใน 1 วินาที เรียกว่าความถี่แคเรียร์ (Carrier Frequency) ซึ่งวิธี PWM แบบ Sine Wave มีรูปแบบควบคุมการเปิด-ปิดสวิตช์ 3 แบบ

ส่วนคอนเวอร์เตอร์
คอนเวอร์เตอร์จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ประกอบไปด้วย
1. ส่วนของคอนเวอร์เตอร์ ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรง โดยกลุ่มของไดโอด
2. ส่วนของคอนเดนเซอร์ ทำหน้าที่กรองกระแส(ลด ripple) โดยใช้ตัวเก็บประจุ
3. วงจรจำกัดกระแสอินรัช(IN RUSH CURRENT SUPPRESSION) ทำหน้าที่จำกัดกระแส ขณะที่มีการเปิดสวิตช์ของอินเวอร์เตอร์เป็นครั้งแรก


การควบคุมมอเตอร์ด้วยอินเวอร์เตอร์

1. การสตาร์ท ทำได้โดยให้สัญญาณตั้งความถี่แก่อินเวอร์เตอร์ด้วยความถี่สตาร์ท มอเตอร์ก็จะผลิตแรงบิด จากนั้นอินเวอร์เตอร์จะค่อย ๆ เพิ่มความถี่ขึ้นไป จนกระทั่งแรงบิดของมอเตอร์สูงกว่าแรงบิดของ โหลด มอเตอร์จึงเริ่มหมุน 

2. การเร่งความเร็วและการเดินเครื่องด้วยความเร็วคงที่ หลังจากสตาร์ทอินเวอร์เตอร์และมอเตอร์แล้ว ความถี่ในระยะเริ่มออกตัวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนถึงความถี่ที่ต้องการ ช่วงเวลาในการเพิ่มความถี่นี้คือเวลาการเร่งความเร็ว และเมื่อความ ถี่ขาออกเท่ากับความถี่ที่ต้องการ การเร่งความเร็วก็จบ อินเวอร์เตอร์จะเข้าสู่การทำงานในช่วงเวลาการเดินเครื่อง ด้วยความเร็วคงที่ 

3. การลดความเร็ว ทำได้โดยตั้งความถี่ให้ต่ำกว่าความถี่ขาออก อินเวอร์เตอร์จะลดความถี่ลงมาเรื่อย ๆ ตามช่วง เวลาการลดความเร็วที่ได้ตั้งไว้ ในขณะลดความถี่ ความเร็วรอบของมอเตอร์จะมีค่ามากกว่าความถี่ขาออกของอินเวอร์เตอร์ มอเตอร์จะทำงาน เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตไฟจ่ายกลับไปให้อินเวอร์เตอร์ (regeneration) ทำให้แรงดันไฟตรง (แรงดัน คร่อม คอนเดนเซอร์) มีค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้นภายในอินเวอร์เตอร์จะมีวงจรที่ทำหน้าที่รับพลังงานที่เกิดจากการ regeneration ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการเบรคมอเตอร์ วงจรนี้เรียกว่า วงจรเบรคคืนพลังงาน

พลังงานที่เกิดจากการ regeneration จะป้อนกลับมาชาร์จประจุที่คอนเดนเซอร์ ทำให้แรงดันตกคร่อม มีค่าสูงขึ้น ถ้าแรงดันสูงกว่าค่าที่กำหนด ทรานซิสเตอร์ ในวงจรเบรคจะทำงาน ทำให้มีกระแส ไหลผ่านตัวต้านทานเบรค ทำให้ตัวต้านทานร้อน เป็นการเผาผลาญพลังงานที่เกิดจากการ regeneration และพลังงานที่เก็บสะสมใน คอนเดนเซอร์ ก็จะถูกคายออกมาด้วย ทำให้แรงดันตกคร่อม มีค่าลดลง เมื่อลดลงต่ำกว่าค่าที่กำหนด ทรานซิสเตอร์ จะหยุดทำงาน กระแสะเบรคก็จะหยุดไหล

ในช่วงการลดความเร็วจะทำงานในลักษณะนี้หลาย ๆ ครั้ง ถ้าพลังงานมีค่าน้อย (แรงบิดที่จำเป็นสำหรับการลด ความเร็วมีขนาดเล็ก) อัตราการใช้งานวงจรเบรคก็จะต่ำ บางครั้งอาจจะไม่ทำงานเลยก็มี
อัตราการใช้งานวงจรเบรคนี้ ได้รับการออกแบบโดยการพิจารณาในแง่ของการระบายความร้อนไว้ที่ 2-3 % เท่านั้น ถ้ามีการใช้เบรคบ่อย หรือใช้เบรคนานเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาการระบายความร้อนของตัวต้านทาน และอาจ ทำให้ทรานซิสเตอร์เสื่อมได้ 

4. การหยุด อินเวอร์เตอร์จะลดความถี่ลงจนถึงระดับหนึ่ง และจะผลิตไฟตรงเข้าไปในมอเตอร์เพื่อทำงานเป็นเบรค จนมอเตอร์หยุด เรียกว่า การเบรคด้วยไฟตรง
แนวคิดในการเลือกขนาดอินเวอร์เตอร์ ถ้าคิดว่าอินเวอร์เตอร์ เหมือนกับแหล่งจ่ายไฟที่ใช้จ่ายพลังงานเพื่อขับมอเตอร์ ก็จะคิกว่ายิ่งเลือกอินเวอร์เตอร์ ขนาดยิ่งใหญ่เท่าใดก็ยิ่งดี สามารถติดตั้งสวิทช์ ที่เอาท์พุตของอินเวอร์เตอร์ เพื่อเปิดปิดจ่ายกระแส ให้มอเตอร์ได้ทันที เหมือนกับแหล่งจ่ายไฟ แต่แนวความคิดนี้ ไม่ถูกต้องเนื่องจาก ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง และอินเวอร์เตอร์มีขนาดใหญ่ เกินความจำเป็น 


----------------------------------------------------


หลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์

เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ เป็นการนำเอาระบบควบคุมอินเวอร์เตอร์ มาเป็นตัวปรับความเร็วรอบของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ซึ่งจะทำให้คอมเพรสเซอร์ ทำงานอยู่เกือบตลอดเวลาในช่วงที่เปิดใช้งาน(แต่ถ้าอุณหภูมิห้องลดต่ำกว่าที่ตั้งไว้มาก คอมเพรสเซอร์ก็จะตัดการทำงานเช่นกัน) ถึงแม้ว่าคอมเพรสเซอร์ทำงานเกือบตลอดเวลา แต่การทำงานจะมีความเร็วรอบในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน ความเร็วที่แตกต่างนี้มีผลในการควบคุมอุณหภูมิของห้อง ซึ่งต่างจากเครื่องปรับอากาศแบบทั่วไป ที่ใช้การควบคุมอุณหภูมิโดยการ ให้คอมเพรสเซอร์เดินเพื่อทำความเย็น และเมื่อความเย็นในห้อง ถึงจุดที่ตั้งไว้แล้ว ตัวควบคุมอุณหภูมิก็จะตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ การใช้งานจึงมีการ เดิน-หยุด อยู่ตลอดเวลา




การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ แบบธรรมดา กับ แบบอินเวอร์เตอร์

เครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาที่มีใช้กันทั่วไป ใช้การควบคุมอุณหภูมิโดยอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ อาจจะเป็นเทอร์โมสตาทแบบแมคคานิก หรือ เทอร์โมสตาร์ทแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ว่าแบบแมคคานิคหรืออิเล็กทรอนิกส์ ก็มีหลักการทำงานที่เหมือนกัน หลักการทำงานของเทอร์โมสตาท คือ ตรวจวัดอุณหภูมิภายในห้อง แล้วสั่งการให้คอมเพรสเซอร์ทำงานตามที่ตั้งอุณหภูมิไว้ ประมาณว่า เมื่ออุณหภูมิห้องสูงกว่าที่ตั้งไว้ 1-2 องศา ก็จะต่อไฟภาคควบคุม ให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน ห้องก็จะเย็นลง เมื่ออุณภูมิในห้องลดลง ถึงระดับที่ตั้งไว้ เทอร์โมสตาทก็จะตัดไฟให้คอมเพรสเซอร์หยุดเดิน ซึ่งในการควบคุมอุณหภูมิแบบทั่วๆไป คอมเพรสเซอร์ก็จะ เดินเต็มกำลัง และ หยุด เมื่อถึงอุณหภูมิที่ตั้ง ส่งผลให้อุณหภูมิอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยคงที่ หลายคนอาจจะรู้สึกเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวในช่วงที่แอร์ เดินและหยุด และที่สำคัญ การเดิน – หยุดของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ทำให้ค่อนข้างกินไฟพอสมควร เนื่องจากโดยปกติ การที่มอเตอร์คอมเพรสเซอร์เริ่มเดิน จะกินกระแสสูงชั่วขณะ หรือที่เรียกว่า กระแสสตาร์ท , LRA. (Lock Rotor Amp.) เป็นกระแสในช่วงเสี้ยววินาที ซึ่งกระแสสตาร์ทจะมีค่ามากกว่ากระแสที่มอเตอร์คอมเพรสเซอร์เดินปกติ ประมาณ 3-5 เท่า ยิ่งถ้าเป็นคอมเพรสเซอร์รุ่นเก่าๆที่เป็นแบบลูกสูบด้วยแล้ว อาจจะเกิดอาการ ออกตัวยาก ทำให้กินกระแสสตาร์ทเป็นเวลานานขึ้น อาจส่งผลเสียต่อมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ได้

เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ใช้การควบคุมอุณหภูมิ ด้วยวิธีการ เปลี่ยนแปลงค่าความถี่ไฟฟ้า ที่จ่ายให้มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ตามโหลดใช้งาน ก็คืออุณหภูมิภายในห้อง ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ มีวิธีการที่ค่อนจะยุ่งยากและซับซ้อน เพราะต้องนำเอาอุณหภูมิในห้อง มาประมวลผลด้วยชุดไมโครคอมพิวเตอร์ แล้วประมวลผลออกมาเป็นค่าความถี่ที่จะควบคุมรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ช่วยให้อุณหภูมิห้อง อยู่ในระดับคงที่ เพราะคอมเพรสเซอร์จะเดินตลอดเวลาที่เปิดใช้งาน แต่ความเร็วรอบที่เดินจะมีความแตกต่างกันตามโหลด 

คอมเพรสเซอร์ที่ไม่มีการเดินๆหยุดๆ ทำให้ลดการใช้พลังงานในการเริ่มสตาร์ท เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์มีหลักการควบคุมอุณหภูมิโดย เมื่อเริ่มเปิด ระบบจะสั่งการให้คอมเพรสเซอร์ค่อยสตาร์ทออกตัวอย่างนุ่มนวล แล้วค่อยๆเพิ่มรอบการทำงานจนเต็มกำลัง เพื่อเร่งทำความเย็น เมื่อรอบการทำงานสูง การอัดแรงดันสารทำความเย็น ก็ถูกอัดออกมาในปริมาณมาก ส่งผลให้การเกิดความเย็นทำได้มาก และเมื่อห้องเริ่มเย็นลง ระบบก็จะลดรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ลง ส่งผลให้การอัดแรงดันสารทำความเย็นถูกอัดออกมาในปริมาณน้อยลง การเกิดความเย็นก็ลดลง เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิให้คงที่ แต่เมื่ออุณหภูมิในห้องลดลงจนถึงระดับที่ได้ตั้งไว้ และอุณหภูมิไม่มีการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง คอมเพรสเซอร์ก็จะหยุดทำงานในที่สุด เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำงานต่อไปแม้จะเป็นการทำงานรอบต่ำก็ตาม

เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา จะเห็นได้ว่าเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ประหยัดพลังงานกว่าประมาณ 30-50% และยังรักษาอุณหภูมิให้เย็นสบายคงที่ รวมไปถึงการทำงานด้วยความเร็วรอบที่ต่ำยังเป็นการช่วยลดการสึกหรอของชิ้นส่วนได้พอสมควร




ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์


ความทนทานและน่าเชื่อถือ
หากพูดถึงในเรื่องของความทนทานและความน่าชื่อถือของระบบ เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งมีการนำวงจรทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อนเข้ามาเป็นตัวควบคุม ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้มีความกังวล ในด้านความทนทานและความน่าเชื่อถือ ซึ่งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นของผู้บริโภค เป็นปัญหาสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย 
ซึ่งอินเวอร์เตอร์ เป็นระบบที่มีชิ้นส่วนทางอิเลคทรอนิกส์ที่ซับซ้อนมาก อีกทั้งเมื่อรวม เข้ากับการติดตั้งที่ยากลำบาก รวมไปถึง สภาวะอากาศที่ร้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อยของประเทศไทย ทำให้เกิดความกังวลในปัญหาเรื่องความทนทาน ประกอบกับข้อมูลทางเทคนิคในรายละเอียดของระบบ ที่ทางบริษัทผู้ผลิต ไม่ค่อยที่จะเปิดเผยออกมาสู่ภายนอก หากมีปัญหาในอนาคตจะต้องผูกขาดกับศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เราต้องมาพิจารณากันพอสมควร


ในด้านราคา
ในตลาดเครื่องปรับอากาศบ้านเรา จัดว่าเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ มีราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูง และเมื่อเทียบราคาของเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ กับ เครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา ก็จะพบว่า เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์มีราคาแพงกว่ากันอยู่มากพอสมควรเมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา 
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อเพราะ เหตุผลของการช่วยประหยัดพลังงานและประหยัดเงิน คงต้องมาดูกันว่า การประหยัดพลังงานที่ได้รับจากเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ เมื่อเทียบกับการจ่ายแพงกว่าเพื่อลงทุนซื้อ และระยะเวลาที่จะคุ้มทุน จะมีความคุ้มค่ากันไหม 

แต่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยการแข่งขันที่สูง ในตลาดเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้มีสินค้าใหม่ๆออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มของเครื่องปรับอาการ Inverter ก็มีตัวเลือกออกมาหลายหลาย 
มีทั้งเครื่องปรับอากาศ Inverter ราคาแพง จากแบรนด์ผู้ผลิตชื่อดัง 
และเครื่องปรับอากาศ Inverter ราคาย่อมเยา จากผู้ผลิตรายอื่นๆที่เข้ามาตีตลาด
ในวันข้างหน้า เครื่องปรับอากาศ Inverter ดูจะมีอนาคตที่สดใส หากผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแบรนด์ดังที่ครองตำแหน่งยักษ์ใหญ่ ยังคงดำเนินธุรกิจแบบที่ทุ่มงบโฆษณามหาศาลแต่ไม่ตรงจุด และตั้งราคาขายที่สูงเกิน โดยคิดว่าตนอยู่ได้เพราะชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน 
ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าผู้บริโภคคงต้องเลือกความคุ้มค่าหันไปหาเครื่องปรับอากาศ Inverter ที่ราคาย่อมเยากว่าเป็นแน่


ปัญหาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในเครื่องปรับอากาศ Inverter 
ปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวนในระบบไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ฮาร์โมนิกส์ (Harmonics) เป็นสัญญาณรบกวนที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภท อินเวอร์เตอร์, คอนเวอร์เตอร์ หรืออุปกรณ์สวิทชิ่งต่างๆ
ซึ่งการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่มีระบบควบคุมแบบ Inverter ก็ย่อมส่งผลให้เกิด อาร์โมนิกส์ รบกวนในระบบไฟฟ้า ฮาร์โมนิกส์ ที่เกิดจาก Inverter เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของระบบ Inverter  
จากข้อมูลที่ผู้เขียนทราบมา ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ทวีปยุโรป ได้มีการออกกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อาจส่งผลรบกวนในระบบไฟฟ้า


การหมุนเวียนของน้ำมันหล่อลื่นในระบบ
ดังที่กล่าวไปแล้ว ในส่วนระบบการทำงานของ เครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ ที่มีการทำงานในรอบความเร็วที่แตกต่าง ซึ่งในการทำงานที่ความเร็วรอบต่ำ อาจส่งผลให้น้ำมันหล่อลื่นที่มีอยู่ในระบบหมุนเวียนได้ไม่เต็มที่ ซึ่งปัญหา การหมุนเวียนน้ำมันกลับเข้าคอมเพรสเซอร์ถือเป็นปัญหาหลักสำหรับระบบที่สามารถปรับขนาดการทำความเย็น ได้ เทคโนโลยีอื่นๆ ในปัจจุบันใช้ตัวแยกน้ำมัน (Oil Separator) หรือระบบการหมุนเวียนน้ำมันที่ซับซ้อน เพื่อช่วยให้การหมุนเวียนของน้ำมัน ทำได้สะดวกแม้ในความเร็วรอบที่ต่ำ




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2560 23:25:45 น.
Counter : 52262 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.