ที่ต้องมีขั้นตอนในการถอดอย่างเหมาะสม ก็เพราะเนื่องจากแอร์ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบทั่วๆไป ที่เพียงจะคลายสกรูที่ยึดติดแล้วแค่ปลดสายไฟก็ถอดออกมาได้ แต่เพราะว่าแอร์แบบที่ใช้กันในปัจจุบันมีระบบท่อน้ำยาหรือท่อทางเดินของสารทำความเย็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการจัดการที่ไม่ถูกต้องนั้น อาจส่งผลเสียต่อแอร์และต่อผู้ปฏิบัติงานได้นั่นเอง
ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง การถอดย้ายแอร์แบบที่ไม่ถูกต้อง โดยปล่อยแรงดันน้ำยาหรือสารทำความเย็นออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก ซึ่งไม่ได้ทำการไว้ในที่ที่เหมาะสมและส่วนใหญ่การถอดแบบปล่อยน้ำยาทิ้ง ก็มักจะเป็นการถอดลงมาด้วยตนเองโดยผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นช่างแอร์ ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์
ซึ่งถ้าหากเป็นการถอดด้วยตนเองโดยที่ผู้ถอดไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์ เกือบจะทุกรายก็มักจะถอดและเก็บอย่างผิดวิธี
การถอดแอร์โดยที่ไม่ได้เก็บน้ำยาหรือสารทำความเย็นไว้ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ทำให้สารทำความเย็นที่มีแรงดันสูงในระบบ ถูกปล่อยออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก
ซึ่งหลายท่านที่เคยทำการถอดแอร์ลงมาด้วยตนเองและปล่อยสารทำความเย็นในระบบทิ้ง ก็มักจะปล่อยสารทำความเย็นออกมาทางวาล์วลูกศรหรือบางรายก็อาจจะใช้การคลายเกลียว(แฟร์) ที่เป็นจุดต่อในระบบท่อแอร์ เพื่อเปิดทางให้สารทำความเย็นแรงดันสูงออกมานั่นเอง แต่บางรายที่เลวร้ายสุดคือการหักหรือบิดท่อทองแดงให้มีรอยแตกเพื่อให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ปฏิบัติงานได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นการระบายแรงดันสารทำความเย็นออกด้วยช่องทางใดก็ตาม ก็ล้วนมีผลเสียตามมาหลายอย่างด้วยกัน
ผลเสียอย่างแรกสุดคงหนีไม่พ้น ผลเสียต่อระบบแอร์ เพราะการปล่อยแรงดันสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศนั้น หากไม่มีการควบคุมการระบายแรงดันอย่างช้าๆทีละน้อย แต่ปล่อยให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาที่ละมากๆ แรงดันสารทำความเย็นที่พุ่งทะลักออกมานั้น ไม่ได้ออกมาเฉพาะแค่สารทำความเย็น แต่มันได้นำพาน้ำมันหล่อลื่นที่รวมอยู่ในระบบ ให้ไหลทะลักออกมาพร้อมกันด้วย และจนกว่าที่แรงดันในระบบจะถูกระบายออกมาจนหมด ระหว่างนั้นก็ทำให้น้ำมันจำนวนไม่น้อยไหลจามออกมา
เมื่อมีการนำแอร์เครื่องนั้นไปติดตั้งในสถานที่ใหม่ หลายท่านก็คงทราบดีว่าการนำมาติดตั้งใหม่ก็ต้องเดิมสารทำความเย็นหรือน้ำยาเข้าไปใหม่ แต่...สำหรับน้ำมันหล่อลื่นในระบบ ที่ออกมาพร้อมกับการปล่อยสารทำความเย็นทิ้งในครั้งก่อน ส่วนใหญ่แล้วในกรณีที่นำแอร์เครื่องนั้นไปใช้ในอีกสถานที่หนึ่ง น้ำมันส่วนที่ขาดหายนี้มักจะไม่ค่อยถูกเติมเพิ่มเข้าไป เพราะในงานติดตั้งของจริงมักจะไม่มีการวัดปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในระบบ และเราก็ไม่ทราบว่าในระหว่างที่น้ำมันพุ่งออกมาพร้อมแรงดันสารทำความเย็นนั้น น้ำมันส่วนที่ออกมานั้น หายออกไปจากระบบปริมาณเท่าไหร่
ในส่วนของน้ำมันที่ว่ามานั้นก็คือน้ำมันหล่อลื่น หรือเรียกกันทั่วไปว่า น้ำมันคอมเพรสเซอร์ เป็นน้ำมันหล่อลื่นสูตรเฉพาะสำหรับการใช้งานในระบบเครื่องทำความเย็น น้ำมันที่ว่านี้จะที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบแอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำมันหล่อลื่นจะถูกตวงและบรรจุมาจากโรงงานที่ผลิตคอมเพรสเซอร์
น้ำมันหล่อลื่นที่ใส่เข้าไปนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มันหมุนเวียนในระบบไปพร้อมๆกับสารทำความเย็นที่ไหลเวียนในขณะที่เครื่องทำงาน ทำหน้าที่หล่อลื่นและระบายความร้อน ให้กับชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์นั่นเอง
หากปริมาณของน้ำมันในระบบมีอยู่ไม่เพียงพอตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบและกำหนดไว้ ก็จะส่งผลให้เกิดการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์ก่อนเวลาอันควร และในการใช้งานต่อเนื่อง ปริมาณน้ำมันที่มีน้อยจนเกินไปอาจจะไหลเวียนและระบายความร้อนให้กับคอมเพรสเซอร์ได้ไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า คอมเพรสเซอร์น็อก และหากเป็นเช่นนี้ จะต้องเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ในรายของแอร์ที่ใช้กันอยู่ตามบ้านนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์หนึ่งครั้ง อาจจะคิดออกมาได้ที่ราวๆ 30-40 % ของราคาแอร์ทั้งชุดเลยก็เป็นได้
และการปล่อยสารทำความเย็นออกมาทิ้งนั้น นอกจากจะมีความเสียงที่แอร์เครื่องนั้นจะนำไปใช้งานต่อได้ในเวลาไม่นานก็ชำรุจ ยังมีข้อเสียที่เป็นผลกระทบที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ในกรณีที่เป็น R-22 ซึ่งมีส่วนผสมของสาร CFCs หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน การปล่อยสารทำความเย็นออกมาสู่บรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งบางท่านอาจจะเถียงโดยมีความคิดว่า ก็แค่แอร์เครื่องเดียวจะไปมีผลอะไร ซึ่งหากใครคิดเช่นนี้อยู่ ผู้เขียนเองก็ขอถามกลับไปว่า... แอร์ที่ใช้ R-22ทั้งโลกนี้มันมีแต่ของคุณอยู่เพียงเครื่องเดียวหรือเปล่า ? อย่าลืมว่ามันไม่ได้มีใช้กันอยู่เครื่องเดียวและหากทุกคนต่างคิดแบบนี้ ก็ไม่ได้มีคนๆเดียวที่ปล่อยมันทิ้งสู่บรรยากาศ
มาถึงการถอดย้ายแอร์อย่างถูกวิธี ก่อนที่จะถอดระบบไฟฟ้า และระบบท่อสารทำความเย็นออก จะต้องมีการเก็บสารทำความเย็นหรือน้ำยา ให้อยู่ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เป็นวิธีที่เรียกกันในภาษาช่างว่า ปั๊มดาวน์
ขั้นตอนคร่าวๆของการปั๊มดาวน์ผู้เขียนจะขออธิบายให้พอเข้าใจเบื้องตน คือก่อนการปั๊มดาวน์จะต้องมีการเดินเครื่องก่อนเพื่อให้สารทำความเย็นไหลวนในระบบสักพัก ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีเกจแมนิโฟลด์ต่อวัดแรงดันในระบบด้วย เมื่อเดินเครื่องจนระดับแรงดันในระบบคงที่แล้ว จากนั้นจึงทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านที่อัดสารทำความเย็นออกมา แล้วสังเกตที่หน้าปัดของเกจแมนิโฟลด์ค่าแรงดันจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และเมื่อค่าที่แสดงเข้าใกล้ 0 ให้รีบทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านดูดทันที และจากนั้นต้องตัดการจ่ายไฟหรือปิดสวิทช์เพื่อให้เครื่องหยุดทำงานอย่ารวดเร็ว เพราะการปล่อยให้เครื่องเดินต่อไปโดยที่วาล์วถูกปิดส่งผลให้แรงดันไม่มีการไหลเวียนตามวัฎจักร ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เครื่องทำงานต่อไปอีกจะส่งผลทำให้แรงดันในระบบสูงมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะระเบิดได้
ดังนั้นขั้นตอนการถอดแอร์ที่ถูกต้องจะต้องทำการปั๊มดาวน์ เพื่อเก็บสารทำความเย็นเข้าไว้ในชุดคอยล์ร้อน แต่การปั๊มดาวน์นั้นจำเป็นจะต้องทำโดยผู้ชำนาญ หรือผู้ที่มีทักษะเบื้องต้นในงานระบบแอร์ เพราะหากไม่มีทักษะทางด้านนี้ ไม่ไม่ความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง ไม่เคยทำมาก่อนก็ควรปล่อยให้เป็นการถอดย้ายโดยช่างผู้ชำนาญจะดีที่สุด เพื่อที่เป็นการป้องกันอันตรายและจะไม่เกิดเหตุการณ์ตามภาษิตที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย