วัตถุประสงค์หลักของการหุ้มฉนวนให้กับท่อแอร์ ในกรณีของแอร์แบบแยกส่วนที่ใช้กันทั่วไปนั้น ก็เพื่อป้องการการสูญเสียความเย็นโดยเปล่าประโยชน์ ในระหว่างทาง ซึ่งยังทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย และยังป้องกันการเกอดหยดน้ำที่ผิวท่อ
โดยจากที่ได้เคยพูดถึงคุณสมบัติของฉนวนที่ใช้หุ้มท่อแอร์ไปแล้ว ในบทความชุดก่อน ตามลิงค์นี้ >>> ฉนวนหุ้มท่อน้ำยาแอร์ <<<
และในบทความชุดนี้ก็จะขอพูดต่อ เกี่ยวกับการนำฉนวนมาหุ้มมาใช้กับท่อน้ำยาแอร์ที่ติดตั้ง โดยแอร์แยกส่วนในปัจจุบัน ก็มีให้เลือกใช้กันหลายรูปแบบแบ่งตามรูปแบบของชุดคอยล์เย็น ไม่ว่าจะเป็น แอร์แบบติดผนัง, แอร์แบบตั้ง/แขวน, แอร์แบบตู้ตั้งพื้น, แอร์แบบฝังฝ้าเพดาน และ แอร์แบบซ่อนในฝ้า โดยการหุ้มฉนวนของท่อน้ำยาแอร์แยกส่วนแต่ละแบบ ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง ตามระบบการทำงานของแอร์แต่ละแบบที่มีข้อแตกต่างกันอยู่นั่นเอง
ในการติดตั้งแอร์แยกส่วนนั้นรูปแบบการติดตั้งท่อน้ำยา โดยหลักๆแล้ว สามารถแบ่งออกได้สองรูปแบบ คือแบบที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ กับ แบบที่หุ้มฉนวนเพียงท่อเดียว
ท่อน้ำยาแบบที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ
กรณีของการเดินท่อน้ำยาแอร์ที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ จะเป็นกรณีที่ใช้กับแอร์แบบที่ติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาไว้ที่ส่วนของชุดตอยล์ร้อน ซึ่งก็ได้แก่แอร์แบบติดผนัง (Wall Type)
เพราะว่าแอร์แบบติดผนัง มีการออกแบบให้อุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยา ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะใช้เป็นท่อรูเข็ม (Cap Tube) ติดตั้งอยู่ด้านในของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) นี่จึงทำให้น้ำยาที่ไหลออกจากแผงควบแน่น จะมาเข้าสู่กระบวนการลดแรงดันทันที และเกิดการระเหยขึ้นหลังจากทีออกมาจากอุปกรณ์ลดแรงดันที่ว่านี้
ซึ่งตามหลักการทำความเย็นโดยใช้สารทำความเย็นนั้น กระบวนการระเหยของน้ำยาแอร์ที่ถูกลดแรงดันแล้ว จะต้องอาศัยพลังงานในการเปลี่ยนสถานะ พลังงานในส่วนนี้ก็คือความร้อนที่อยู่โดยรอบนั่นเอง ซึ่งความร้อนจะถูกนำมาใช้เปลี่ยนสถานะของน้ำยา ทำให้บริเวณโดยรอบมีอุณหภูมิที่ต่ำลง เกิดการทำความเย็นขึ้นในส่วนนั้น
และนี่จึงทำให้ท่อแอร์ที่ส่งน้ำยาเข้าสู่คอยล์เย็น ซึ่งก็คือท่อทางอัด (Discharge Line) หรือท่อเล็ก มีความเย็นเกิดขึ้นที่ผิวภายนอกของท่อ ซึ่งจำเป็นจะต้องหุ้มฉนวนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียความเย็นระหว่างทางที่น้ำยาถูกส่งเข้าสู่คอยล์เย็น และป้องกันการเกิดหยดน้ำเกาะตามท่อ
และในส่วนของท่ออีกท่อ ซึ่งก็คือท่อทางดูด (Suction Line) หรือท่อใหญ่ ที่เป็นท่อสำหรับดูดสารทำความเย็นที่ออกจากคอยล์เย็น เพื่อนำกลับเข้ามาอัดใหม่ด้วยคอมเพรสเซอร์ แม้ว่าน้ำยาที่ไหลในท่อนี้ จะผ่านการและเปลี่ยนความร้อนที่คอยล์เย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มันก็ยังมีอุณหภูมิที่ต่ำอยู่ ซึ่งท่อด้านนี้ก็ยังจำเป็นต้องหุ้มด้วยฉนวนเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้แอร์ทำงานหนักเกินไปโดยไม่จำเป็น และป้องกันการเกิดหยดน้ำเกาะตามท่อ
ท่อน้ำยาของแอร์แบบที่หุ้มฉนวนเพียงท่อเดียว
สำหรับแอร์ แบบตั้ง/แขวน (Floor/Ceiling Type), แบบตู้ตั้งพื้น(Floor Standing Type) รวมทั้งแอร์แบบติดเพดาน (Cassette Type)
โดยส่วนใหญ่แล้วแอร์เหล่านี้มักจะติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาไว้ภายในชุดคอยล์เย็น ที่ติดตั้งภายในอาคาร โดยอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาที่ใช้ก็มักจะเป็นท่อรูเข็ม (Cap Tube) แบบเดียวกับที่ใช้ในแอร์ติดผนัง แต่ในบางครั้งก็อาจจะใช้อุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาแบบ เอ็กซ์แพนชั่นวาล์ว (Expansion Valve) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต
ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ชนิดไหนก็ตาม แต่เมื่ออุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาแอร์มาติดตั้งในชุดคอยล์เย็นแล้ว นั่นก็หมายถึง กระบวนการเกิดความเย็นก็จะเริ่มที่ชุดคอยล์เย็น และถ้าหากท่านใดเคยสังเกตในช่วงที่เปิดแอร์ใหม่ๆหลังจากที่คอยล์ร้อนภายนอกอาคารเริ่มทำงานแล้ว ก็มักจะได้ยินเสียงฉีดซึ่งเป็นเสียงจากกระบวนการลดแรงดันน้ำยาที่เกิดขึ้นในส่วนของชุดคอยล์เย็นนั่นเอง
เมื่อกระบวนการในขั้นตอนการลดแรงดันของน้ำยาแอร์ มาเกิดที่ส่วนของชุดคอยล์เย็น ท่อทางอัด (Discharge Line) หรือท่อเล็ก ที่ส่งน้ำยาออกมาจากชุดคอยล์ร้อน ก็จะส่งน้ำยาที่มีสถานะเป็นของเหลวแรงดันสูงและอุณหภูมิสูง เข้าสู่คอยล์เย็น
ทำให้ท่อเล็กของแอร์ประเภทที่มีอุปกรณ์ลดแรงดันอยู่ในชุดคอยล์เย็น เป็นท่อที่มีอุณหภูมิสูง ท่อนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหุ้มฉนวนให้สิ้นเปลือง และไม่ต้องกลัวว่ามันจะสูญเสียความร้อนในท่อด้านนี้ เพราะความร้อนของน้ำยานั้นเกิดจากการที่น้ำยาถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์นั้น ยังไงเราก็ต้องการดึงความร้อนออกจากน้ำยาที่ไหลในด้านนี้อยู่แล้ว
แต่สำหรับท่อทางดูด (Suction Line) หรือท่อใหญ่ ที่มีน้ำยาไหลจากคอยล์เย็นกลับเข้าสู้คอมเพรสเซอร์ ท่อด้านนี้ยังคงมีอุณหภูมิต่ำอยู่ จึงเป็นท่อเดียวที่ต้องหุ้มด้วยฉนวน ซึ่งถ้าไม่หุ้มด้วยฉนวนจะทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น และมีหยดน้ำเกาะที่ผิวของท่อ
รายละเอียดเพิ่มเติมในการติดตั้งฉนวนหุ้มท่อ
การติดตั้งฉนวนหุ้มท่อแอร์นั้น หากเป็นท่อแอร์ที่ไม่ได้หุ้มฉนวนมาพร้อมตั้งแต่แรก จะต้องสวมฉนวนเข้ากับท่อทองแดงก่อนที่ท่อจะถูกต่อเข้ากับตัวเครื่อง หลีกเลี่ยงการหุ้มฉนวนให้กับท่อ โดยใช้วิธีการกรีดเพื่อผ่าฉนวนออกตามยาวเพราะคุณสมบัติของฉนวนจะเสียไป
หากต้องการต่อฉนวนหุ้มท่อในกรณีที่มีความยาวไม่เพียงพอนั้น ส่วนที่ต่อจะต้องทำกาวสำหรับฉนวน เพื่อให้ความเป็นฉนวนมีอย่างต่อเนื่องและกันน้ำหยดในส่วนรอยต่อ
การซ่อมแซมฉนวนที่ฉีกขาดหรือการปะฉนวนที่ถูกกรีดตามแนวยาว ควรใช้ฉนวนชนิดเทปที่มาพร้อมกับกาวในตัวติดเข้าไปในจุดที่ฉีกขาด หรือใช้ติดในบริเวณที่ฉนวนต่างชนิดมาเจอกัน
การพันเก็บงานท่อแอร์ด้วยเทปไวนิล ควรพันให้แน่นแบบพอประมาณ ไม่ควรพันรัดแน่นจนเกินไป เพราะหากพันแน่นเกิน จะทำให้ช่องว่างที่เป็นช่องอากาศภายในเนื้อฉนวนถูกบีบอัดจนบี้แบน และมีผลให้คุณสมบัติของการเป็นฉนวนเสียไปจากเดิม ความสามรถในการป้องกันการสูญเสียความเย็นอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร
สังเกตุได้ง่ายๆ หากท่อแอร์ถูกพันรวบจนแน่นเกินไป ในขณะที่แอร์ทำงาน จะเห็นได้ชัดว่ามีหยดน้ำจำนวนมากเกาะรอบๆผิวนอกของท่อแอร์ ซึ่งก็เป็นผลมาจากความเย็นจากท่อได้ผ่านฉนวนออกมา เพราะว่าฉนวนถูกรัดจนคุณสมบัติความเป็นฉนวนส่วนหนึ่งเสียไป
1.ท่อน้ายา ขนาด5/8 ควรหุ้มฉนวนหนาเท่าไร