สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

วงจรไฟฟ้าเบื้องต้นของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ 1 เฟส



วงจรไฟฟ้าของคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มอเตอร์คอมเพรศเซอร์สตาร์ทออกตัว และรันต่ออย่างราบรื่นไปจนกว่าจะตัดไฟเพื่อหยุดการทำงาน 
 
ซึ่งในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงวงจรไฟฟ้าที่ใช้ในการสตาร์ทออกตัวและรันมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศ ระบบไฟแบบ 1 เฟส หรือแบบเฟสเดียว (Single Phase) เป็นหลัก
 


คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ ที่ใช้กันอยู่ในที่พักอาศัย เป็นคอมเพรสเซอร์แบบปิดสนิท ที่มีการนำเอาส่วนของตัวอัดสารทำความเย็น คือคอมเพรสเซอร์ และรส่วนต้นกำลังคือมอเตอร์ มารวมไว้ด้วยกันภายในชุดเดียวกัน มอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ ในระบบไฟฟ้า 1 เฟส จะใช้เป็นมอเตอร์แบบสปลิทเฟส (Split-phase motor)
 


ภายในสปลิทเฟสมอเตอร์จะมีขดลวดพันอยู่ 2 ชุด คือ

1. ขดรันหรือขดเมน (Running Winding, Main Winding) พันด้วยลวดเส้นใหญ่ มีจำนวนรอบมาก ขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน ขดลวดรันนี้จะมีไฟฟ้าไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มสตาร์ท หรือช่วงที่รันทำงานปกติ

2. ขดสตาร์ท (Starting winding) เป็นขดลวดชุดที่สองสำหรับเริ่มหมุน พันด้วยลวดเส้นเล็ก และจำนวนรอบน้อยกว่าขดรัน โดยทั่วไปจะออกแบบให้ขดลวดสตาร์ททำงานเต็มที่เพียงในช่วงที่มอเตอร์เริ่มออกตัวเท่านั้น แต่ภายหลังที่มอเตอร์หมุนออกตัวได้ปกติ ขดลวดสตาร์ทจะถูกตัดการทำงานลง เพราะถ้าปล่อยให้กระแสไฟจ่ายเข้าสู่ขดลวดสตาร์ทแบบเต็มที่ จะทำให้ขดลวดสตาร์ทร้อนจัดจนไหม้ได้ ซึ่งในมอเตอร์แบบสปลิทเฟสทั่วไป อุปกรณ์ในการตัดไฟที่จ่ายเข้าขดสตาร์ท จะใช้เป็น สวิตช์แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง
 


สวิตช์แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal switch)

สวิตช์แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ทำหน้าที่ตัดวงจรสตาร์ท โดยโครงสร้างของสวิตช์แรงเหวี่ยง จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่กับที่ (Stationary part) จะประกอบติดอยู่กับฝาปิดหัวท้ายของมอเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนของหน้าสัมผัสหรือหน้าทองขาวอยู่ 2 อัน และส่วนที่หมุน (Rotating part) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดอยู่กับเพลาของโรเตอร์ 
การทำงานของสวิทช์หนีศูนย์กลาง จะเริ่มทำงานเมื่อความเร็วรอบของมอเตอร์ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ของความเร็วรอบสูงสุด เพราะที่ความเร็วในระดับนี้ จะทำให้ส่วนที่ติดอยู่กับแกนเพลาของโรเตอร์มีแรงเหวียงหนีศูนย์กลางพอที่จะผลักดันส่วนที่ติดตั้งอยู่กับฝาของมอเตอร์ออกไป ทำให้หน้าสัมผัสแยกออกจากกันตัดวงจรขดสตาร์ทอย่างอัตโนมัติ
 
แต่ มอเตอร์สปลิทเฟสที่ใช้ในคอมเพรสเซอร์ ไม่สามารถตัดวงจรของขดลวดสตาร์ทด้วย สวิตช์แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ได้ จึงจำเป็นต้องมีการนำ รีเลย์หรือคาปาซิเตอร์ มาเป็นอุปกรณ์ช่วย ในการสตาร์ทและรันมอเตอร์
 



มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศนั้น ส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้าที่บรรจุอยู่ภายในตัวถังของคอมเพรสเซอร์ จะใช้เป็นมอเตอร์แบบสปลิทเฟส อาจมีจำนวนรอบการทำงานสูงสุดได้ถึง 2,900 รอบ/นาที 
โดยการต่อใช้งาน จะมีหลักหรือขั้วต่อสายโผล่ออกมานอกตัวเรือนหรือตัวถังคอมเพรสเซอร์ จำนวน 3 ขั้ว 
แบ่งเป็น ขั้ว R, ขั้ว S และ ขั้ว C
ขั้ว R (Run) เป็นขั้วที่ต่อมาจากปลายสายด้านหนึ่งของขดลวดรัน
ขั้ว S (Start) เป็นขั้วที่ต่อมาจากปลายสายด้านหนึ่งของขดลวดสตาร์ท
ขั้ว C (Common) เป็นขั้ว ที่เป็นจุดรวมของปลายสายอีกด้านหนึ่ง ที่มาจากขดรันและขดสตาร์ท
 


การต่อวงจรไฟฟ้า เพื่อให้มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ เริ่มเดินและเดินต่อไปจนกว่าจะหยุดจ่ายไฟ มีการต่อวงจรใช้งานหลายหลายรูปแบบ ทั้งนี้ การต่อวงจรแต่ละแบบ จำเป็นต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดกำลังของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์


รูปแบบการต่อวงจรไฟฟ้าของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ แบบต่างๆ

1.วงจรไฟฟ้าของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบ RSIR (Resistance Start Induction Run)
วงจรมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบ RSIR ทำงานโดยอาศัยรีเลย์ช่วยสตาร์ท ชนิดทำงานด้วยกระแส (Current Relay) ขณะเริ่มทำงาน รีเลย์จะต่อวงจรให้ทั้งขดลวดรันและขดลวดสตาร์ตครบวงจร สร้างแรงบิดมากพอให้คอมเพรสเซอร์เริ่มทำงานได้ แต่หลังจากนั้น เมื่อมอเตอร์หมุนออกตัวได้แล้ว รีเลย์จะตัดวงจรไฟฟ้าเพื่อไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าจ่ายไปยังขดสตาร์ท เหลือขดลวดรันทำงานแต่เพียงขดเดียว 
วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบนี้ จะใช้ได้เฉพาะคอมเพรสเซอร์ขนาดเล็ก เช่น แบบที่ใช้ในตู้น้ำเย็น ตู้เย็น ซึ่งกำลังของมอเตอร์จะต้องมีขนาดไม่เกิน 1/3 แรงม้า เพราะมอเตอร์ระดับนี้จะต้องการกำลังทั้งช่วงสตาร์ตและช่วงทำงานปกติไม่มากนัก
 



2.วงจรไฟฟ้าของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบ CSIR (Capacitor Start Induction Run)
CSIR เป็นการต่อวงจรมอเตอร์คล้ายกับแบบ RSIR ต่างกันเพียงแค่เพิ่มคาปาซิเตอร์แบบสตาร์ทเข้ามา ต่ออนุกรมระหว่างหน้าสัมผัสของรีเลย์และขดลวดสตาร์ทของมอเตอร์ การต่อวงจรแบบนี้จึงให้แรงบิดในช่วงเริ่มต้นดีกว่าแบบ RSIR 
ส่วนช่วงหลังจากที่สตาร์ทออกตัวแล้ว การรันมอเตอร์เพื่อทำงานต่อไป ก็จะทำงานเหมือนกับแบบ RSIR 
วงจรนี้ จะใช้งานในเครื่องทำความเย็นขนาดเล็ก จนถึงขนาด 3/4 แรงม้า
 



3.วงจรไฟฟ้าของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบ PSC (Permanent Split Capacitor)
การต่อวงจรมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ แบบ PSC จะใช้คาปาซิเตอร์แบบรัน มาต่ออนุกรมโดยถาวรกับขดลวดสตาร์ทของมอเตอร์ คาปาซิเตอร์และขดลวดสตาร์ทจะมีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้ทั้งช่วงสตาร์ท และช่วงทำงานปกติโดยไมมีรีเลย์มาตัดวงจร
โดยในช่วงแรกที่เริ่มของการทำงาน ขดสตาร์ทจะได้รับประจุไฟฟ้าจากคาปาซิเตอร์ ทำให้เกิดแรงบิดเพิ่มในตอนสตาร์ทช่วยให้หมุนออกตัวได้ และหลังจากสตาร์ทออกตัวไปได้แล้ว ขดสตาร์ทจะถูกจำกัดกระแสไหลผ่าน โดยใช้ค่าความต้านทานในตัวคาปาซิเตอร์มาช่วยจำกัดกระแสที่ไหลผ่านขดสตาร์ทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

และด้วยเพราะขณะทำงาน มีกระแสผ่านทั้งขดลวดรันและขดลวดสตาร์ต  ทำให้มีกำลังขับดีกว่าวงจรสตาร์ท แบบ RSIR และ CSIR ใช้ในเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึง 5 แรงม้า 
โดยการสตาร์ทมอเตอร์แบบนี้ จะนิยมใช้เฉพาะในระบบทำความเย็น ที่สามารถถ่ายเทความดันระหว่างด้านความดันสูงและความดันต่ำ (balance pressure) ได้ ในขณะคอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน เช่น ระบบที่ใช้ capillary tube (แคปทิ้ว)
วงจรการสตาร์ทมอเตอร์แบบนี้พบได้เป็นปกติในแอร์บ้านทั่วๆไป ที่เป็นแอร์ระบบธรรมดา (Fix speed) ซึ่งใช้คอมเพรสเซอร์โรตารี่ขนาดไม่ใหญ่มาก 
 



4.วงจรไฟฟ้าของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบ CSR (Capacitor Start and Run)
CSR เป็นการต่อวงจรมอเตอร์คล้ายกับแบบ PSC ต่างกันเพียงการเพิ่มคาปาซิเตอร์แบบสตาร์ทต่ออนุกรมกับขดลวดสตาร์ทของมอเตอร์ โดยมีรีเลย์ช่วยสตาร์ทชนิดทำงานด้วยค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า (Potential relay) ใช้เป็นตัวตัดคาปาซิเตอร์สตาร์ทไม่ให้ทำงานหลังจากมอเตอร์เริ่มต้นทำงานและหมุนได้ความเร็วประมาณ 75 % ของความเร็วรอบปกติ
โดยวงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบนี้เป็นวงจรที่ช่วยให้มอเตอร์ให้กำลังช่วงเริ่มต้นได้ดียิ่งขึ้น แต่ช่วงหลังจากสตาร์ทออกตัวเสร็จ ในการรันปกตินั้น มอเตอร์จะทำงานเหมือนกับการต่อวงจรแบบ PSC 

วงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบนี้จึงถูกนำไปใช้กับระบบที่ไม่สามารถ balance pressure ขณะคอมเพรสเซอร์หยุดทำงานได้ เช่น ระบบที่ใช้ลิ้นลดความดันชนิด เทอร์โมเอ็กแพนชั่นวาล์ว (thermostatic expansion valve) เพราะในระบบพวกนี้มอเตอร์จะต้องการแรงบิดที่สูงมากเพื่อขับโหลดในช่วงสตาร์ท
และยังเหมาะสมกับการใช้งาน กับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ เพราะช่วยให้การสตาร์ทออกตัวของมอเตอร์ทำได้ง่ายในเวลาที่สั้นกว่า ซึ่งวงจรชนิดนี้ นิยมนำมาใช้กับมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ที่มีกำลังแรงม้าตั้งแต่ 1 HP ขึ้นไป หรือในเครื่องปรับอากาศขนาด 20,000 BTU ขึ้นไป
 




 

Create Date : 10 มีนาคม 2553    
Last Update : 12 พฤษภาคม 2563 12:49:36 น.
Counter : 102676 Pageviews.  

เกล็ดความรู้เบื้องต้นในการใช้งานตู้เย็น

ตู้เย็น(Refrigetator) เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ เนื่องจากตู้เย็นเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมาก คนเราเมื่อเหนื่อย มีความกระหาย ก็ต้องการน้ำเย็นจากตู้เย็นมาดับกระหาย การเก็บอาหารเพื่อรักษาสภาพอาหารให้คงคุณค่าและยืดอายุให้ยาวออกไป ก็ต้องอาศัยการเก็บรักษาในตู้เย็นที่มีระดับอุณหภูมิคงที่ และประโยชน์ในการเก็บรักษาของต่างๆ จำพวกเวชภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตู้เย็น กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของมนุษย์



การใช้ตู้เย็นอย่างถูกวิธี

การใช้ตู้เย็นอย่างถูกวิธี ช่วยให้ประหยัดไฟได้ และที่สำคัญเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของตู้เย็น หลายคนยังไม่ทราบถึงวิธีในการใช้ตู้เย็นอย่างถูกวิธี ก่อให้เกิดการใช้งานแบบผิดๆ ทำให้อายุการใช้งานของตู้เย็นสั้นลง ตู้เย็นที่ใช้จึงเสียในเวลาก่อนสมควร ซึ่งผมจะขอกล่าวเรื่องของเกล็ดความรู้เล็กๆน้อยๆในการใช้งานตู้เย็นที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้เก็บอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยให้ประหยัดไฟ และช่วยยืดอายุการใช้งานให้ใช้งานได้คุ้มค่าตามระยะเวลาที่สมควร



การถอดปลั๊กตู้เย็น ต้องรอก่อนที่จะเสียบปลั๊กใหม่
กรณีนี้ เป็นคำถามที่มีหลายคนสอบถามอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการถอดปลั๊กตู้เย็น ไม่ว่ากรณีที่จะทำการย้ายเครื่องไปตั้งอีกที่หนึ่ง หรือจะมีเหตุอันใดก็แล้วแต่ที่ทำให้กระแสไฟฟ้าไม่ไหลเข้าสู่ตู้เย็น พึงระรึกไว้เสมอว่าก่อนเสียบปลั๊กใหม่หรือจ่ายไฟให้เครื่องเดิน ไม่ควรกระทำทันทีหลังจากถอดปลั๊กออก ควรรอเวลาอย่างน้อย 3-5 นาที เนื่องมาจาก แรงดันน้ำยาภายในตู้เย็น ที่ยังไม่สมดุลหลังจากเครื่องหยุดทำงาน อธิบายโดยหลักการคือ แรงดันของสารทำความเย็นหรือน้ำยาภายในตู้เย็นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองด้าน คือทางด้านแรงดันสูง ที่ถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์ และทางด้านแรงดันต่ำ ที่ถูกดูดกลับเข้าทางท่อทางดูดของคอมเพรสเซอร์ เมื่อเครื่องหยุดทำงานทันที แรงดันด้านสูงที่ถูกอัดจะไหลไปทางด้านแรงดันต่ำ ในระหว่างที่แรงดันไหลย้อนกลับหากเราเริ่มเดินเครื่องทันทีที่แรงดันยังไม่สมดุล คอมเพรสเซอร์ต้องออกแรงมาก เพื่อจะเอาชนะแรงเสียดทานและแรงเฉื่อยที่เกิดจากแรงดันน้ำยาไม่คงที่ คอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนักกว่าปกติ กินกระแสมาก หรือมอเตอร์อาจจะล็อกและสตาร์ทไม่ออก ถ้ามีตัวโอเวอร์โหลดต่ออนุกรมอยู่ ตัวโอเวอร์โหลดก็จะตัดไฟก่อนที่มอเตอร์คอมเพรสเซอร์จะร้อนจนไหม้ หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง อาจทำให้คอมเพรสเซอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลงและชำรุดในที่สุด
ดังนั้น พึงจำไว้เสมอ ว่าหลังจากถอดปลั๊กตู้เย็นออก ควรรอเวลา 3-5 นาที ก่อนเสียบปลั๊กให้เครื่องเดินอีกครั้ง เพื่อให้แรงดันน้ำยาสมดุลกันทั้งสองด้าน แต่หากตู้เย็นรุ่นที่มีตัวหน่วงเวลาหรือติดตั้งตัวหน่วงเวลาเสริมเข้าไป ตัวหน่วงเวลาจะทำหน้าที่หน่วงเวลาไม่ให้เครื่องเดินทันทีหลังจากเสียบปลั๊ก เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น



ไม่ควรนำของร้อนจัด เข้าแช่ในตู้เย็น
การนำเอาของร้อนจัดใส่เข้าไปในตู้เย็นทันที ทำให้อุณหภูมิในตู้เย็นสูงขึ้น คอมเพรสเซอร์ต้องเดินนานขึ้นกว่าเดิม เปรียบเหมือนการรีดผ้าในห้องแอร์นั่นเอง คอมเพรสเซอร์ที่ทำงานหนัก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น อีกทั้งความร้อนจากของร้อนจัดที่นำไปเข้าตู้เย็นอาจจะทำให้อาหารที่แช่ใกล้เคียงกันภายในตู้ เสื่อมสภาพจากความร้อนที่ได้รับ ดังนั้นควรนำของร้อนจัด วางทิ้งไว้ภายนอกให้มีอุณหภูมิลดลงเสียก่อนที่จะนำเข้าแช่ใต้เย็น และการปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้ ทำให้ความเย็นสูญเสีย และความร้อนเข้าไปแทนที่ ก็ทำให้ตู้เย็นเดินนานขึ้น ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงาน



อากาศภายในตู้เย็นเป็นอากาศที่เย็นและแห้ง
ความชื้นที่ควบตัวกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้อากาศภายในตู้เย็น เป็นอากาศที่เย็นและแห้งมาก อาหารประเภทเนื้อสัตว์และพืชผักหากนำไปแช่ในตู้เย็น ต้องมีการกักเก็บความชื้นไม่ให้เนื้อสัตว์และพืชผักสูญเสียความชื้นออกไป ซึ่งหากเนื้อสัตว์สูญเสียความชื้นจะทำให้ผิวของเนื้อแห้งดูไม่น่าทาน รวมทั้งพืชผักก็เช่นกัน การสูญเสียความชื้นจะทำให้เหี่ยวเฉาดูไม่น่ารับประทานและสูญเสียคุณค่าทางอาหารลงไป ดังนั้นควรการกักเก็บความชื้นให้สัตว์และพืชผักโดยการใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้แน่นอาจจะประยุกต์โดยการห้อหุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใสหรือเรียกว่าพลาสติกแรปที่ใช้แพ็คอาหาร หรือใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด จะช่วยกักเก็บความชื้นให้สัตว์และพืชผักที่แช่ ดูสดใหม่ น่ารับประทานอยู่เสมอ
เนื้อสัตว์ที่แช่จนเป็นน้ำแข็ง หากนำออกมาปรุงอาหาร จะพบว่าเนื้อยุ้ยไม่เหมือนตอนเพิ่งซื้อมาแรกๆ ก็เพราะว่า ในเนื้อสัตว์โดยปกติ จะมีโมเลกุลของน้ำกระจายอยู่ในเนื้อสัตว์ เมื่อโมเลกุลของน้ำในเนื้อสัตว์แข็งตัว ความแหลมคมของผลิกน้ำแข็งที่เกิดขึ้น จะขยายตัวและทิ่มแทงเซลของเนื้อสัตว์ ทำให้บางครั้ง เราสังเกตุว่าเนื้อยุ้ยลงไม่เหมือนกับตอนเพิ่งซื้อมา



อย่าใช้ของมีคม ทิ่มแทงน้ำแข็ง
น้ำแข็งในช่องแช่แข็ง สำหรับตู้เย็นแบบธรรมดาที่ไม่ได้เป็นแบบโนฟรอส ซึ่งจะสะสมขึ้นและหนาขึ้นเรื่อยๆ หากมีปริมาณที่มากจนทำให้เปิดปิดฝาช่องแช่ไม่สะดวก ต้องมีการละลายน้ำแข็ง ทำโดยการกดปุ่มละลายน้ำแข็งภายในตู้ หรือการถอดปลั๊กออก(แต่อย่าลืมเสียบกลับเดี๋ยวของจะเน่า) แต่ไม่ควรเด็ดขาด ที่จะใช้ของมีคมแซะน้ำแข็งในตู้ เพราะคมจากสิ่งของมีคม อาจจะทิ่มแทงทางเดินน้ำยาที่อยู่ในแผงของช่องแช่แข็งทำให้แตกหรือเป็นรู และน้ำยาในระบบ รวมกับน้ำมันคอมเพรสเซอร์ ก็จะรั่วออกมา หากเดินเครื่องต่อไปเรื่อยๆโดยที่ไม่ทราบว่าน้ำยาไม่มีในระบบ และน้ำมันที่ทะลักตามน้ำยาออกมาก็มีน้อยจากเดิม เครื่องจะเดินนานขึ่น เพราะภายในตู้ไม่เย็นตัวควบคุมอุณหภูมิจึงไม่ตัดการทำงาน มอเตอร์ทำงานต่อไปเป็นเวลานานๆ โดยที่ไม่มีน้ำมันมาระบายความร้อนและหล่อลื่น การระบายความร้อนจากน้ำยาก็ทำไม่ได้ ทำให้คอมเพรสเซอร์ร้อนจัด และมอเตอร์ไหม้ในที่สุด



วางตู้เย็นในบริเวณที่ระบายความร้อนได้ดี
การระบายความร้อนของน้ำยาในตู้เย็น อาศัยการถ่ายเทความร้อนจากอากาศธรรมชาติที่พัดผ่าน แผงร้อนด้านหลังของตู้ เพื่อให้น้ำยาเปลี่ยนสถานะ จึงจำเป็นต้องอาศัยการถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อช่วยในการระบายความร้อนจากแผงคอนเด็นเซอร์(แผงร้อน) จึงควรวางตู้เย็นให้ห่างจากผนังด้านหลังเป็นระยะประมาณ 1ฟุต หรืออย่างน้อยจริงๆ ก็ควรห่างจากผนังประมาณ 4-5นิ้ว เพื่อช่วยให้อากาศพัดผ่านเข้าไปถ่ายเทความร้อนให้ตู้เย็น ช่วยให้ประหยัดไฟได้




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2552    
Last Update : 16 ธันวาคม 2552 18:51:53 น.
Counter : 101613 Pageviews.  

สารทำความเย็น (Refrigerant)




การออกแบบระบบทำความเย็น เราสามารถเลือกใช้สารทำความเย็น (Refrigerant)ได้หลายชนิด เช่น คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Chloro fluoro carbon : CFCs) แอมโมเนียไฮโดรคาร์บอน (เช่น โพเพน, อีเทน, เอทิลลีน เป้นต้น) คาร์บอนไดออกไซด์ อากาศ (ภายในระบบปรับอากาศของเครื่องบิน) และน้ำ ดังนั้น วิธีในการเลือกใช้อย่างเหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับสภาวะ

เอทิลอีเธอร์ ถูกนำมาใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบทำความเย็นแบบไออัดตัวครั้งแรกในเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ.1850 ต่อจากนั้นก็ได้มีการใช้สารทำความเย็นชนิดอื่น เช่น แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ เมทิลคลอไรด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ บิวเทน อีเทน โพรเพน ไอโซบิวเทน แก๊สโซลีนและคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนชนิดต่างๆ

อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่นิยมใช้แอมโมเนีย แม้ว่าแอมโมเนียจะเป็นพิษ เนื่องจากแอมโมเนียมีข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับสารทำความเย็นชนิดอื่นๆ คือ ราคาถูก ให้ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ (COPs) สูงกว่า มีผลทำให้ต้นทุนของพลังงานที่ต้องใช้น้อยกว่า มีสมบัติทางเทอร์โมไดนามิกส์และความสามารถในการถ่ายโอนความร้อนที่ดีกว่า ทำให้มีค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายโอนความร้อนสูงกว่า (ทำให้สามารถใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีขนาดเล็กกว่าและราคาที่ถูกกว่าได้) นอกจากนี้ ยังง่ายต่อการตรวจจับเมื่อเกิดการรั่วไหล และยังไม่มีผลเสียหายต่อชั้นโอโซนในบรรยากาศ ข้อเสียหลักของแอมโมเนีย คือ ความเป็นพิษซึ่งทำให้ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้ แอมโมเนียนิยมถูกใช้ในระบบทำความเย็นของอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การแช่เย็นผลไม้สด, ผัก, เนื้อ และปลา การแช่เย็นเครื่องดื่ม เช่น เบียร์, ไวน์ และนม การแช่ไอศกรีมและอาหารอื่นๆ การผลิตน้ำแข็ง และระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นที่น่าสังเกต คือ ในอดีตสารทำความเย็นที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมเบาและบ้านเรือนมักจะเป็นสารที่มีพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, เอทิลคลอไรด์ และเมทิลคลอไรด์ ดังนั้น เมื่อเกิดการรั่วไหลขึ้น ก็จะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เช่นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1920 ทำให้ประชาชนเกิดอาการป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการเรียกร้องให้จำกัดการใช้หรือห้ามใช้สารทำความเย็นเหล่านี้ จึงเป็นผลทำให้มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาสารทำความเย็นที่มีความปลอดภัยมากกว่าเพื่อใช้ภายในบ้านเรือน ดังนั้น บริษัท Frigidaire และ General Motors ได้มีการวิจัยและพัฒนาสารทำความเย็น R-21 ขึ้น ซึ่งเป็นสารทำความเย็นชนิดแรกในกลุ่มของสารทำความเย็นจำพวก CFCs ในปี ค.ศ.1928 จากการพัฒนาสารทำความเย็นจำพวก CFCs มากมายหลายชนิด กลุ่มวิจัยก็ได้พบว่าสารทำความเย็น R-12 เป้นสารทำความเย็นที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์ และมีการให้ชื่อสารทำความเย็นจำพวก CFCs ทางการค้าว่า Freon การผลิต R-11 และ R-12 ในเชิงพาณิชย์ได้เริ่มขึ้น ในปี ค.ศ.1931 โดยบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท General Motors และ E.I. du Pont de Nemours and Co., Inc. เนื่องจากสารจำพวก CFCs สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายและมีราคาต้นทุนที่ต่ำทำให้สามารถเลือกสารจำพวก CFCs เป็นสารทำความเย็นได้ นอกจากนี้ CFCs ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมกระป๋องอัดน้ำยาสำหรับฉีด (aerosols) ฉนวนจำพวกโฟม และอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น สารจำพวก CFCs จะถูกใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ชิพ



สารทำความเย็น R-11 จะนิยมใช้ในอุปกรณ์ Water chillers ขนาดใหญ่สำหรับระบบปรับอากาศภายในอาคาร รวมไปถึงการล้างระบบหากกรณีคอมเพรสเซอร์ไหม้ขณะใช้งาน นิยมใช้สารทำความเย็น R-11มาล้างคราบสรกปรกจำพวกเขม่าภายในระบบ ส่วนสารทำความเย็น R-12 มักจะถูกใช้ในเครื่องทำความเย็น และเครื่องแช่แข็ง รวมถึงระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ ส่วนสารทำความเย็น R-22 จะถูกใช้ในเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนและแบบติดหน้าต่าง, ปั๊มความร้อน ระบบปรับอากาศภายในอาคารร้านค้า และระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสารจำพวกแอมโมเนีย ส่วนสารทำความเย็น R-502 (ของผสมระหว่าง R-115 และ R-22) จะใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบทำความเย็นภายในร้านค้าต่างๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต



จากวิกฤตทางด้านโอโซน ทำให้ประชาคมโลกได้ให้ความสนใจกับการใช้สารทำความเย็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารจำพวก CFCs ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ในปี ค.ศ.1970 เราได้พบว่าสาร CFCs มีผลทำให้รังสีอัลตราไวโอเรต (UV) เข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลกได้มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ป้องกันไม่ให้รังสีอินฟาเรตออกจากชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งมีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ขึ้นและก่อให้เกิดผลที่ตามมาคือ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จากสาเหตุเหล่านี้เอง ทำให้หลายประเทศจึงได้มีการสั่งห้ามให้สารจำพวก CFCs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาร CFCs ประเภท Fully halogenated (เช่น R-11, R-12, และ R-115) จะทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศได้จำนวนมาก ส่วนสารทำความเย็นประเภท Nonfully halogenated เช่น R-22 จะมีความสามารถในการทำลายโอโซนได้ประมาณ 5% ของ R-12 ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาหาสาร CFCs ที่ไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเพื่อป้องกันให้โลกรอดพ้นจากอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเรตและในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจก สารที่ได้พัฒนาและคาดว่าสามารถที่จะมาใช้แทนสารทำความเย็น R-12 คือ สารทำความเย็น R-134a



การปล่อยสารทำความเย็นไปในชั้นบรรยากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการทำลายชั้น
โอโซน ซึ่งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและกดดันให้อุตสาหกรรมคอมเพรสเซอร์
และระบบปรับอากาศคิดค้นสารทำความเย็นทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น

สารทำความเย็นตัวใหม่หลายชนิดได้ถูกคิดค้นมาเพื่อทดแทนสารทำความเย็นตัวเดิม หรือที่เรียกว่าสารทำ
ความเย็น CFC (R22) แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาสารทำความเย็นที่แตกต่าง
กันในแต่ละประเทศของโลกทำให้เกิดสารทำความเย็นทดแทนอีกหลายชนิดในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งบางชนิด
เป็นสารผสมที่ไม่เสถียร สารทำความเย็นชนิด H134a เป็นสารทำความเย็นตัวแรกที่นำมาใช้ทดแทนสารทำ
ความเย็นชนิด R22 แต่ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในตลาดผู้บริโภคและการค้า เนื่องจากสารทำความเย็นชนิดนี้มีแรง
ดันต่ำทำให้ต้องใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ค่าความเย็นเท่าเดิม ทำให้ต้นทุนของระบบสูง

ในกลางปี 1990 สารทำความเย็นชนิด R407C ได้ถูกออกแบบขึ้น โดยมีค่าการทำความเย็นและแรงดันที่ใกล้
เคียงกับสารทำความเย็นชนิด R22 แต่มีสิ่งท้าทายว่าจะออกแบบอย่างไรให้มีประสิทธิภาพทางพลังงานใน
ระบบเทียบเท่ากับระบบที่ใช้สารทำความเย็นชนิด R22 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารทำความเย็นชนิด R407C
จะไม่ใช่สารทำความเย็นในอุดมคติแต่ก็เป็นที่นิยมในตลาดยุโรป คุณสมบัติของสารทำความเย็นชนิดนี้ คือ การ
ไม่ทำลายชั้นโอโซน ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสามารถใช้ได้กับระบบที่ใช้สารทำความเย็นชนิด R22 เดิมได้
เพียงแก้ไขแบบเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนข้อด้อยของสารทำความเย็นชนิดนี้ คือความไม่เสถียรในบางสถานะของ
สัดส่วนและคุณสมบัติของน้ำยา และประสิทธิภาพที่ลดลงเล็กน้อยจาก R22 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกรายใหญ่
หลายรายจากญี่ปุ่นได้ร่วมมือและสนับสนุนที่จะใช้สารทำความเย็นชนิด R407C กับระบบปรับอากาศที่ส่งเข้า
ตลาดยุโรป สำหรับตลาดญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่ของตลาดมุ่งไปยังการใช้สารทำความเย็นชนิด R410a แทน

ในปัจจุบัน สารทำความเย็นชนิด R410a ซึ่งมีส่วนประกอบของ fluorocarbon คือสารทำความเย็นล่าสุดที่ถูก
พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนสารทำความเย็นชนิด R22 สารทำความเย็นชนิดนี้เป็นชนิดที่ยอมรับในตลาดผู้ใช้ระบบ
ปรับอากาศทั่วโลก ในกลุ่มประเทศเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้สารทำความเย็นชนิดนี้อย่างแพร่
หลาย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ตามมาด้วยประเทศออสเตรเลีย

ในประเทศจีนมีแนวโน้มการพัฒนาสารทำความเย็นทดแทนค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากผู้ผลิตใน
ประเทศยังคงนิยมใช้สารทำความเย็นชนิด R22 อยู่ อย่างไรก็ตาม การใช้สารทำความเย็นชนิด R410a จะ
เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตจากการบังคับของกฎหมายมาตรฐานประสิทธิภาพทางพลังงาน มากกว่า 5 ปีที่อุตสาหกรรมคอมเพรสเซอร์ทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจ และเปลี่ยนมาใช้สารทำความ
เย็น R410a ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนสารทำความเย็นชนิดเดิมและอาจพูดได้ว่า สารทำความ
เย็นชนิด R410a นี้เป็นสารทำความเย็นแห่งอนาคต



สารทำความเย็นชนิด R410a เป็นหนึ่งในสารทำความเย็นตระกูล Hydro Fluoro Carbon (HFC) ที่มีส่วน
ช่วยอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศให้อยู่รอด ก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับเลิกใช้สารทำความเย็นที่ทำลาย
สิ่งแวดล้อมอย่างเด็ดขาดในปี 2010 ข้อแตกต่างที่สารทำความเย็นชนิด R410a ดีกว่าสารทำความเย็น
ชนิดอื่น คือ ไม่ทำลายชั้นโอโซน

ข้อดีของสารทำความเย็นชนิด R410a ได้แก่ มีการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ดี มีความเสถียรของสัดส่วนและ
คุณสมบัติ ใช้ปริมาณน้ำยาน้อยลง และช่วยให้ระบบปรับอากาศมีประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพของเสียง
ที่ดีขึ้น จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้สารทำความเย็นชนิด R410a มีข้อเด่นที่ชัดเจนเหนือกว่าสารทำความ
เย็นชนิดอื่นๆ ที่ใช้แทนสารทำความเย็นชนิด R22 ในปัจจุบัน


รายละเอียดสารต่างๆ ที่จัดเป็นสารทำความเย็น







 

Create Date : 11 ธันวาคม 2552    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2555 14:42:28 น.
Counter : 32000 Pageviews.  

การทำท่อ Oil Trap ดักน้ำมันในระบบเครื่องปรับอากาศ

หลายคนที่ต้องติดตั้งแอร์ในกรณีคอยล์ร้อนสูงกว่าคอยล์เย็น อาจจะสังเกตุเห็นช่างแอร์ทำท่อแอร์ในลักษณะ ดัดเป็นรูปคอห่าน หรือที่เรียกกันว่าการทำ Oil Trap - Trap(แทรพ) ท่อแอร์ ซึ่งการทำ Trap ในงานติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ อาจจะเรียกได้หลายชื่อ เช่น กับดักน้ำมันคอมเพรสเซอร์,ท่อดักน้ำมัน,แทรพดักน้ำมัน,ท่อคอห่าน หรือเรียกชื่ออื่นๆที่สื่อความหมายออกมาเหมือนกัน แล้วแต่ศัพท์ช่างแต่ละคน

ซึ่งการทำ Oil Trap ในงานติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นิยมทำเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ตามลักษณะที่ทำ คือท่อ Trap แบบ U-Trap และ แบบ P-Trap และอาจจะประยุกต์ไปเป็นแบบ S-Trap หรือรูปแบบอื่นๆ ตามแต่ช่างผู้ติดต่างเห็นสมควร



สาเหตุที่ต้องทำท่อ Trap ในกรณีที่วางคอยล์ร้อนในตำแหน่งสูงเหนือคอยล์เย็น เนื่องจากอธิบายง่ายๆตามกฎของธรรมชาติ ที่กล่าวว่า "ของเหลวทุกชนิดจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ" ในระบบเครื่องทำความเย็นก็เช่นกัน น้ำมันที่อยู่ในคอมเพรสเซอร์อยู่ในสถานะของเหลว ซึ่งน้ำมันในคอมเพรสเซอร์ มีหน้าที่ในการระบายความร้อนให้คอมเพรสเซอร์ และ หล่อลื่นระบบทางกลหรือกลไกลในคอมเพรสเซอร์ ในกรณีที่เครื่องทำงาน การดูดอัดสารทำความเย็นของคอมเพรสเซอร์ จะอัดน้ำมันที่อยู่ในตัวออกมาพร้อมสารทำความเย็นมาทางท่อทางอัด และดูดกลับเข้าไปในคอมเพรสเซอร์ทางท่อทางดูด ในการติดตั้งโดยวิธีให้ชุดคอยล์ร้อนวางในตำแหน่งต่ำกว่าคอยล์เย็น น้ำมันหล่อลื่น ย่อมไหลกลับสู่คอมเพรสเซอร์ตามแรงดึงดูดอย่างง่ายดาย แต่หากการติดตั้งที่ต้องวางคอยล์ร้อนให้สูงเหนือคอยล์เย็น ถ้าหากไม่มีการทำท่อดักน้ำมันไว้น้ำมันก็จะไหลลงได้เช่นกันเพราะในระบบท่อนั้นเป็นสูญญากาศ แต่การไหลกลับจะไหลกลับไม่ทันต่อการระบายความร้อน เนื่องจากน้ำมันมีความหนืดและน้ำหนักมากกว่าสารทำความเย็นที่มีสถานะเป็นแก๊สในท่อทางดูด ทำให้การระบายความร้อนทำได้ไม่ดี มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ร้อนจนถึงร้อนจัด

ตามทฤษฎีหรือตำรา มักกล่าวไว้ว่า ในกรณีความสูงที่แตกต่างกันไม่เกิน 10ฟุต ก็ไม่จำเป็นต้องทำท่อดักน้ำมัน แต่โดยส่วนตัวหากมีระยะความสูงระดับเกิน 3-5ฟุต ขอแนะนำให้ทำ และช่างแอร์ส่วนใหญ่ก็ย่อมแนะนำให้ทำเช่นกัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยยืดอายุการใช้งานให้คอมเพรสเซอร์ เพราะอย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า คอมเพรสเซอร์เป็นหัวใจหลักของเครื่องปรับอากาศ และมีราคาประมาณ 30-40% ของเครื่องปรับอากาศทั้งชุดเพราะการทำท่อ Trap ดักน้ำมัน แต่หากเป็นระยะความสูงที่ไม่แตกต่างกันมาก ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำท่อดักน้ำมันหล่อลื่นแต่จะมีวิธีติดตั้งท่อให้มีความลาดเอียงออกจากคอมเพรสเซอร์ไม่น้อยกว่า 1/2 นิ้ว ในระดับความยาวท่อในแนวนอน ในกรณีที่วางคอยล์ร้อนไว้สูงเหนื่อคอยเย็น
ซึ่งในส่วนเรื่องที่ละเอียดอ่อนเล็กๆน้อยๆบางครั้งหลายคนอาจจะมองข้ามไป ทำให้เป็นผลเสียที่เกิดในระยะยาว อายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าที่ควรเป็น จึงควรให้ความสำคัญในการดูแลรักษาให้คอมเพรสเซอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานในระยะเวลาที่เหมาะสม



เทคนิคการดัดท่อ Trap

เทคนิคในการดัดท่อ Trap ซึ่งลักษณะการทำท่อ Trap คือการทำท่อให้เป็นรูปคอห่าน คล้ายกับการทำท่อดักกลิ่นในท่อน้ำทิ้งนั่นเอง ลักษณะที่เรียกท่อ Trap แต่ละแบบ เรียกได้จากรูปแบบของการดัดท่อ ซึ่งการดัดท่อหลักๆจะมี 2 รูปแบบคือ แบบ U-Trap และ แบบ P-Trap สามารถเลือกทำได้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามแต่ความสะดวกในการติดตั้ง ในทางทฤษฎีมีการกำหนดการทำท่อ Trap แต่เพียงด้านท่อทางดูดหรือท่อใหญ่ สาเหตุที่กำหนดให้ทำในส่วนท่อทางดูดอย่างเดียว ก็เพราะว่าเป็นการป้องกันไม่ให้แรงดันในฝั่งท่อทางอัดเกิดการสูญเสียหรือแรงดันตกในระหว่างที่ไหลผ่านมาเข้าท่อดักน้ำมัน แต่ในงานติดตั้งจริง ช่างจะดัดท่อทั้ง2 ให้เป็น Trap แล้วหำการหุ้มฉนวนยางและพันท่อทั้งสองรวมกันด้วยเทปไวนิล ก็เพื่อความสวยงามในงานติดตั้งนั่นเอง และในส่วนเรื่องมุมหรือระยะในการดัดท่อสำหรับดักสารความเย็น ก็จะต้องมีระยะมุมรวมทั้งความโค้งความแคบของท่อ Trap ในระยะที่เหมาะสม เพราะหากท่อ Trap มีระยะแคบเกินไปและมีมุมหักเกินไป ก็อาจจะทำให้ท่อรั่วหรือแตก และ Oil Trap ที่มีระยะแคบมากไปก็จะส่งผลต่อการเกิดความเย็น เนื่องจากแรงดันน้ำยาที่มาปะทะกับโค้งมุมและความแคบ ทำให้แรงดันน้ำยาลดลง มีผลต่อการเกิดความเย็น การกำหนดระยะท่อดักน้ำมัน จะกำหนดให้อยู่ในระยะใดก็ได้ ซึ่งแล้วแต่พื้นที่ในการติดตั้งและความเห็นสมควรของช่างผู้ติดตั้ง







หลักการของท่อ Trap ดักน้ำมัน

ในกรณีที่วางคอยล์ร้อนสูงเหนือคอยล์เย็น เมื่อน้ำมันคอมเพรสเซอร์ที่ไหลอยู่ในระบบ ถูกแรงดูดจากคอมเพรสเซอร์ดูดให้ไหลกลับเข้ามาในคอมเพรสเซอร์ ซึ่งถูกดูดเข้ามาโดยตรงได้เพียงบางส่วน ในส่วนที่กำหลังไหล จะไหลมาตกค้างในท่อ Trap ดักน้ำมันที่ทำไว้ เมื่อน้ำมันที่ไหลมาตกค้างในท่อดัก มีปริมาณเต็มตรงส่วนล่างสุดของท่อดักน้ำมัน ซึ่งน้ำมันจะเต็มอยู่ในท่อดักน้ำมันทั้งสองด้าน ในระดับที่เท่าๆกัน จะเกิดแรงกดอากาศในน้ำมันที่ตกลงบริเวณท่อดัก ทำให้แรงดูดของคอมเพรสเซอร์และแรงดันน้ำยาที่ตามมาดันน้ำมันให้ไหลกลับในปริมาณเต็มที่ คอมเพรสเซอร์สามารถดูดน้ำมันกลับเข้าตัวของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงในขณะที่คอมเพรสเซอร์หยุดการทำงานน้ำมันหล่อลื่นที่ไหลมาตกค้างอยู่ในท่อ Oil Trap จะถูกดูดกลับขึ้นไปทำหน้าที่หล่อลื่นในคอมเพรสเซอร์ เมื่อคอมเพรสเซอร์เริ่มต้นการทำงานใหม่ ได้อย่างรวดเร็ว








ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่ทำท่อ Trap ดักน้ำมัน

ในกรณีที่ระยะห่างของความสูงมีมาก แต่ไม่มีการทำท่อ Trap ดักน้ำมัน เป็นผลทำให้น้ำมันที่ถูกสูบฉีดมาในระบบพร้อมสารทำความเย็น ไหลกลับเข้าไปหล่อลื่นและระบายความร้อนให้คอมเพรสเซอร์ไม่ทัน การระบายความร้อนและหล่อลื่นชิ้นส่วนทางกลในคอมเพรสเซอร์ก็ย่อมทำได้ไม่เต็มที่ หากการหล่อลื่นและการระบายความร้อนทำได้ไม่ดี ส่งผลทำให้มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ร้อนจัด เป็นสาเหตุทำให้ชิ้นส่วนกลไกลภายในสึกหรอและชำรุด หรือขดลวดในมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ไหม้ได้ รวมไปถึงในเรื่องผลเสียระยะยาว การที่คอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดูดน้ำมันกลับเข้ามาในตัว อาจส่งผลถึงแรงดูด ที่อาจจะลดลงไปจนถึงมีไม่เพียงพอในที่จะใช้งาน





 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 22 เมษายน 2555 13:25:52 น.
Counter : 106385 Pageviews.  

ขนาดเท่าไหร่จึงจัดเป็นเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน

มีหลายท่าน ได้สอบถามผู้เขียน ถึงเรื่องการแยกประเภทของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันภายในครัวเรือน(บ้านพักอาศัย) กับเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันในเชิงพาณิช

ซึ่งผู้เขียนขอจัดแยกประเภทเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชตามความเหมาะสมในการใช้งาน โดยแบ่งตามขนาดทำความเย็น ดังต่อไปนี้

เครื่องปรับอากาศที่ใช้ภายในครัวเรือนหรือบ้านพักอาศัย (Residential Product)
เป็นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหรือติดหน้าต่าง ที่มีขนาดทำความเย็นเป็น BTU./Hr (บีทียู/ชั่วโมง) ขนาดตั้งแต่ 6,000 BTU./Hr. - 40,000 BTU./Hr. ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้กับระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยที่เป็น ระบบ 1เฟส (1PH./220V.)




เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชหรือเพื่อการพาณิช

เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชหรือเพื่อการพาณิชยังสามารจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชขนาดเล็กถึงกลาง (Light Commercial Product) เป็นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน มีขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 40,000 BTU./Hr ไปจนถึงขนาดประมาณ 150,000 BTU./Hr. เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีใช้กันภายใน อาคารสำนักงาน ส่วนจัดแสดงสินค้า และร้านค้าขนาดกลางจนถึงศูนย์การค้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 40,000 BTU./Hr ไปจนถึงขนาดประมาณ 150,000 BTU./Hr. โดยทั่วไป จะใช้มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า แบบ 3 เฟส (3PH./380V.)




เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะเป็นเครื่องปรับอากาศแบบชิลเลอร์ มีขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 150,000 BTU./Hr ขึ้นไป ซึ่งการติดตั้งและการวางระบบต้องอยู่ในความดูแลของวิศวกรด้านเครื่องทำความเย็นและทีมช่างผู้ชำนาญ เป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่มีใช้กัน ภายในห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ โรงพยาบาล อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ หรือ โรงแรม ฯลฯ ในส่วนของระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ จะเป็นระบบ 3 เฟส (3PH./380V.)





สำหรับบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ และภายในบ้านมีระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส (3PH./380V.) รองรับ ก็สามารถเลือกใช้เครื่องปรับอากาศแบบ 3 เฟสได้ ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอชี้แจงให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า Blog ของผู้เขียน สามารถให้คำแนะนำได้เพียงในเรื่องของ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ภายในครัวเรือนหรือบ้านพักอาศัย เพราะผู้เขียนได้ร่ำเรียนมาในสายของวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้เขียนไม่ได้เรียนเจาะลึกลงไปในเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิช เหมือนสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ผู้เขียนจึงไม่สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิช แบบละเอียดได้ แต่ให้คำปรึกษาได้เพียงหลักการทำงานเบื้องต้นเท่านั้น




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2553 23:21:36 น.
Counter : 4419 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.