เบรกเกอร์ (Breaker) หรือเรียกอย่างเต็มๆว่า Circuit Breaker เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าในกลุ่มสวิตซ์อัตโนมัติ ที่นำมาใช้ควบคุมการเปิด/ปิดวงจรไฟฟ้า และนอกจากจะใช้เป็นสวิตซ์แล้ว ภายในเบรกเกอร์ก็ยังมีกลไกการทำงานที่สามารถปลดวงจรได้เองอัตโนมัติ เมื่อเกิดสภาวะการใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดที่กำหนด (Over load) และเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit)
สำหรับเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ เบรกเกอร์นับว่าเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับแอร์มาโดยตลอด แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายๆคนมองข้าม และละเลยที่จะให้ความสนใจ วันนี้ weblog KanichiKoong [AC&EE] จึงขอนำเสนอบทความว่าด้วยเรื่องของ "เบรกเกอร์ที่ใช้กับแอร์"
เบรกเกอร์ที่นำมาใช้ควบคุมแอร์ หากไม่ได้มีการกำหนดเป็นกรณีพิเศษ ช่างที่ติดตั้งมักจะนิยมใช้เป็น เซฟตี้เบรกเกอร์ (Safety Breaker) ซึ่งเป็นเบรกเกอร์แบบ 2 Pole มีคุณสมบัติพื้นฐาน สามารถตัดวงจรหรือทริปเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัดที่กำหนดไว้
เซฟตี้เบรกเกอร์ จัดว่าเป็นเบรกเกอร์ในกลุ่มที่มีขนาดเฟรมเล็ก ราคาไม่แพง มีขนาดให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 5(6), 10, 15(16), 20, 25, 30(32) และ 40 A มีค่าทนกระแสลัดวงจรสูงสุด (IC) =1,500 A (1.5 kA.)
เนื่องจากเป็นเบรกเกอร์เฟรมเล็ก และค่าทนกระแสลัดวงจร (IC) ที่ไม่มาก ทำให้เซฟตี้เบรกเกอร์ ไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นเบรกเกอร์ควบคุมระบบไฟฟ้ารวมของอาคารบ้านเรือน แต่เหมาะที่จะนำไปใช้ควบคุมเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือวงจรย่อยที่ใช้กระแสไฟฟ้าไม่มาก
โดยทั่วไปในการติดตั้งแอร์ เซฟตี้เบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานอีกหนึ่งอย่าง ที่ได้ถูกรวมไว้ ในรายการอุปกรณ์ประกอบติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็จะมาพร้อมกับกล่องหรือฝาครอบพลาสติก
งานติดตั้งแอร์ทั่วๆไปนั้น เดิมทีนั้นการเลือกใช้ เซฟตี้ เบรกเกอร์ หลักๆจะมีอยู่ 2 เกรด คือ
เกรดคุณภาพค่อนข้างดี ซึ่งจะพบได้ในกรณีที่เป็นร้านแอร์หรือศูนย์บริการ ที่มีการให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้ เซฟตี้ เบรกเกอร์ ของ Panasonic ซึ่งเบรกเกอร์แบรนด์นี้ ได้รับความนิยมมานานหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยที่ยังคงใช้ชื่อแบรนด์เดิมคือ National
โดยในปัจจุบัน มีราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 90-100 บาท
และใช้ร่วมกับกล่องฝาครอบพลาสติก ราคาประมาณ 15-20 บาท
เกรดคุณภาพต่ำลงมา ในกรณีนี้มักพบเจอได้จากร้านที่ไม่ใส่ใจรายละเอียดหรือคุณภาพมากนัก และเน้นแต่การลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการลดต้นทุนที่ว่านี้ก็จะลดในอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ รวมทั้งเบรกเกอร์ด้วย ซึ่งเกรดของ เซฟตี้ เบรกเกอร์ ที่ร้านประเภทนี้เลือกมาใช้ติดให้ลูกค้า จะอยู่ในระดับที่คุณภาพต่ำ และมีราคาถูกถึงถูกมาก
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ถ้าเป็น เซฟตี้ เบรกเกอร์ เกรคต่ำลงมา มักจะนิยมใช้เป็นของ TP 79 หรือยี่ห้ออื่นๆที่ราคาใกล้เคียงกับ และบางรายอาจจะใช้เบรกเกอร์ของจีนที่ทำเลียนแบบก็มี
เซฟตี้ เบรกเกอร์ของ TP 79 จะมีรูปทรงภายนอกและสีที่ดูเหมือนกับ เซฟตี้ เบรกเกอร์ Panasonic ถ้าหากผู้ใช้งานทั่วไปไม่สังเกตุก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นของ Panasonic แต่ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเหมือนกัน แต่คุณภาพวัสดุที่ใช้กลับไม่เหมือนกัน เบรกเกอร์ราคาถูกก็ย่อมใช้วัสดุเกรดต่ำลงมาตามราคา
เซฟตี้เบรกเกอร์ของ TP 79 จะมีราคาประมาณ 50-60 บาท
และก็จะมาพร้อมกล่องฝาครอบพลาสติก ราคาประมาณ 15-20 บาท
ส่วนบางร้านหรือช่างแอร์รายย่อยบางราย ที่เน้นลดต้นทุนลงมาอีก ก็อาจจะใช้เบรกเกอร์เกรดต่ำมาก ซึ่งเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพที่มาจากจีน เพราะในปัจจุบัน เบรกเกอร์จีนแดงพวกนี้ เริ่มจะเข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่ถูกจนน่ากลัว ซึ่งมีราคาขายส่งจากร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าบางแห่ง เริ่มต้นที่ตัวละ 20-30 บาท ซึ่งราคาในระดับนี้เรื่องคุณภาพคงไม่มีเหลือให้พูดถึง
แต่ส่วนตัวผู้เขียนเอง เห็นว่าการที่เราจะลงทุนจ่ายแพงขึ้นอีกสักนิด เพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพกว่า โดยเฉพาะในการจ่ายแพงกว่าขึ้นมานิดหน่อย เพื่อให้ได้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ก็จะคุ้มค้าในระยะยาว และก็ทำให้การนำไปใช้งานมีความปลอดภัยมากกว่า
ซึ่งในตอนนี้ผู้เขียนยังให้ของ Panasonic เป็นตัวเลือกที่ยังจัดว่าดีอยู่ แต่ถ้าในวันใด Panasonic ปรับลดคุณภาพลงไปจนรับไม่ได้ ก็คงต้องเลิกคบหาเป็นแน่
สำหรับการเลือกขนาดของเบรกเกอร์ที่ใช้กับแอร์นั้น ให้พิจารณาจากขนาดทำความเย็นของแอร์ ว่ามีขนาดกี่ BTU ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับการเลือกขนาดสายไฟที่จ่ายไฟให้แอร์ ต้องมีขนาดที่เหมาะสมด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว การเลือกขนาดเบรกเกอร์และสายไฟของผู้เขียนเอง จะดูในส่วนของความเหมาะสม ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมา เรื่องขนาดสายไฟของแอร์นั้น เห็นควรจะต้องเผื่อไว้ให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย เพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกเปิดใช้งานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ และจะต้องใช้ไปอีกร่วมสิบปี โดยที่ไม่มีใครมานั่งใส่ใจนึกถึงสายไฟระหว่างที่ใช้งาน
รวมไปถึงในการติดตั้งแอร์ส่วนใหญ่นั้น แอร์หลายๆรุ่นที่มีการออกแบบให้การต่อสายเมนไฟเข้าไปอยู่ที่ส่วนคอยล์ร้อน การติดตั้งจึงมักจะจะนำสายเมนที่จ่ายไฟให้กับแอร์ติดตั้งร่วมกันกับท่อนำยาแอร์ แล้วพันทั้งหมดรวมไว้ด้วยกันด้วยเทปพันท่อแอร์ และตลอดอายุการใช้งานนั้นมันก็จะอยู่ภายในนั้นร่วมกับท่อแอร์ จึงควรที่จะเผื่อเหลือในเรื่องขนาดสายไฟไว้สักเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรเผือขนาดสายมากเกินเพราะมันเปินการสิ้นเปลืองโดยไม่ใช่เหตุ
สำหรับการเลือกสายไฟ ที่ผู้เขียนและคนรอบข้างนำมักจะไปใช้เป็นเกณฑ์ ก็ดังที่แสดงในตารางข้างล่างนี้
นอกจากนี้ ยังมีหลายๆท่าน มักจะถามผู้เขียนเกี่ยวกับเบรกเกอร์แอร์ โดยที่แต่ละท่านถามมานั้นก็จะเป็นคำถามเกี่ยวกับเบรกเกอร์แอร์ แต่ก็จะมีประเด็นในเรื่องที่แตกต่างกันไป และในส่วนนี้ผู้เขียนจะขอหยิบยกเอาตัวอย่างคำถามหลักๆ ที่เจอถามกันบ่อยๆมาอธิบายให้ฟัง ต่อไปนี้
- บ้านโครงการมีการเดินสายไฟโดยให้เบรกเกอร์แอร์แต่ละห้อง ไปรวมอยู่ที่ตู้เดียวกันต้องติดเบรกเกอร์แอร์เพิ่มที่แต่ละห้องหรือไม่ ?
กรณีเป็นบ้านโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์ ปัจจุบันบ้านโครงการพวกนี้หรืออาคารอื่นๆที่ก่อสร้างใหม่ นิยมเอาเบรกเกอร์ที่ควบคุมแอร์ในห้องต่างๆ มาติดตั้งเรียงรวมกันไว้ในตู้ควบคุมไฟฟ้า Consumer Unit , Load Center เพราะว่าการนำไปรวมไว้ภายในตู้เดียวกัน ทำให้สามารถทำงานงาย และงานออกมาเรียบร้อยไม่ต้องตามเก็บหลายจุด
ซึ่งถ้าหากบ้านใครที่เป็นเช่นนี้แล้ว ก็ให้แล้วไป ไม่ต้องไปแก้ไขเพิ่มเพราะจะเป็นการยุ่งยากและงานบานปลาย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งแบบเดินสายไฟฝังผนัง ดังนั้นในการติดเบรกเกอร์ย่อยให้แอร์ตามห้องต่างๆ ก็ย่อมต้องมีการเพิ่มสายไฟนอกเหนือจากของเดิมที่มี และเพื่อความสวยงามก็อาจจะต้องกรีดผนัง-รื้อฝ้า มีงานปูน งานสี งานฝ้า รออยู่อีกมากนอกเหนือจากงานไฟฟ้า
แต่ถ้าใครไม่ติดขัดเรื่องงบ และงานที่มีหลายขั้นตอน หากอยากจะแยกจริงๆ ก็สามารถทำได้
แต่หากถามว่า กรณีนี้จำเป็นจะต้องมาติดแยกเพิ่มที่ในห้องต่างๆอีกหรือเปล่า ก็ตอบได้เลยว่า "ไม่จำเป็น"
- จากคำถามข้างบน หากเบรกเกอร์แอร์แต่ละห้องทุกตัวรวมไว้ที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า การไปเปิดปิดอาจจะไม่สะดวก วิธีแก้ควรทำเช่นใด ?
กรณีนี้ เพื่อความสะดวกแนะนำให้ควรแยกว่า แอร์ของห้องหรือของส่วนไหนบ้างต้องเปิดใช้งานเป็นประจำทุกวัน และเครื่องไหนที่นานๆจะได้เปิดใช้สักครั้ง
และสำหรับแอร์ที่เปิดใช้งานเป็นประจำทุกๆวัน อย่างเช่นแอร์ห้องนอน ที่ในทุกๆวันต้องเปิดตั้งแต่ตอนค่ำไปปิดอีกครั้งตอนเช้าของอีกวัน หากไม่สะดวกที่จะเดินไปปิด-เปิดเบรกเกอร์แอร์เครื่องนี้ ที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า ก็แนะนำว่าปิดด้วยรีโมทอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
และสำหรับแอร์ที่นานๆจะเปิดสักครั้งเช่นแอร์ห้องนอนแขกหรือห้องนอนญาติผู้ใหญ่ ที่นานๆท่านจะมาพักสักครั้ง รวมถึงแอร์ห้องรับแขกที่อาจจะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดที่ไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งในวันธรรมดานั้นไม่ได้มีการใช้เลย อันนี้สมควรที่จะปิดเบรกเกอร์หลังจากที่ใช้เสร็จ แล้วจะใช้งานเมื่อไหร่ก็ค่อยเดินไปเปิดที่ตู้ควบคุมไฟฟ้า
หรือถ้าในวันใดมีพายุฝนฟ้าคะนองก็ควรจะปิดเบรกเกอร์เพื่อป้องกันเบื้องต้น
ส่วนตัวผู้เขียนเองก็ขอแชร์ประสบการณ์ด้านนี้ในการใช้งานเอง ซึ่งก็เป็นลักษณะการใช้งานในอีกมุมหนึ่ง
ซึ่งโดยส่วนตัวนั้น ที่บ้านหลังปัจจุบันรวมทั้งที่อาคารสำนักงานร้านค้า ผู้เขียนได้ออกแบบระบบไฟฟ้าด้วยตนเอง ในตอนออกแบบก็กำหนดให้เบรกเกอร์ย่อยที่ใช้ควบคุมแอร์แต่ละเครื่อง ไปรวมไว้ในที่เดียว ซึ่งจะเป็นตู้ Load Center ที่ใช้เป็นแผงควบคุมยอยในแต่ละชั้น ในนี้ก็จะมีวงจรย่อยของแอร์ แสงสว่าง เต้ารับ และอื่นๆรวมอยู่ด้วยกัน
และในการใช้งานประจำวัน ของที่สำนักงานก็จะมาเปิดตัวที่ใช้ประจำในทุกๆเช้า และพอเสร็จงานทุกเย็นก็ไล่ปิดเบรกเกอร์แอร์ทุกอัน รวมทั้งเบรกเกอร์วงจรอื่นๆที่ไม่ต้องใช้แล้ว
แต่ในส่วนที่บ้านผู้เขียนเอง เบรกเกอร์แอร์ห้องอื่นๆไม่ค่อยได้ใช้ประจำก็จะปิดเอาไว้หมด ยกเว้นเบรกเกอร์แอร์ของห้องนอนจะไม่เคยปิดเลย จะปิดก็ต่อเมื่อกรณีที่จะไปต่างจังหวัดหรือไม่มีใครอยู่บ้านหลายวัน ส่วนเหตุผลที่ผู้เขียนไม่ปิดเบรกเกอร์แอร์ห้องนอนเลย เพราะมันก็ต้องใช้งานประจำทุกวันอยู่แล้วจึงไม่ปิด และอีกเหตุผลก็เพื่อต้องการให้คอมเพรสเซอร์ทำงานทันทีที่กดรีโมทเปิดแอร์ การปิดแอร์ด้วยการปิดเบรกเกอร์ตามนั้น เมื่อมาเปิดเบรกเกอร์และกดรีโมทเปิดแอร์ จะต้องรอหน่วงเวลาคอมเพรสเซอร์ 3-5 นาที ทำให้ห้องเย็นช้ารู้สึกไม่ค่อยทันใจเวลาที่กลับมาเหนื่อยๆ
และอีกกรณีหนึ่ง หากใครที่ใช้แอร์เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ เหมือนที่ผู้เขียนเองใช้อยู่ในห้องนอนนั้น ทางที่ดีแนะนำว่าควรสังเกตรูปแบบการทำงานของแอร์ที่ใช้ด้วย เพราะแอร์อินเวอร์เตอร์ในบางรุ่น เมื่อเรากดปิดแอร์จากรีโมท แม้ชุดคอยล์เย็นในห้องจะปิดแล้ว แต่ระบบควบคุมมันจะยังสั่งการให้พัดลมที่ชุดคอยล์ร้อนนอกบ้านทำงานต่อไปสักระยะ เพื่อระบายความร้อนที่ยังคงสะสมอยู่ เป็นการยืดอายุให้กับส่วนควบคุมระบบอินเวอร์เตอร์
- ใช้สวิตซ์เปิดปิดไฟธรรมดา มาควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ได้ไหม?
การใช้สวิตซ์เปิดปิดหลอดไฟแบบธรรมดา มาควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ ตัวอย่างเช่นการนำสวิตซ์เปิดปิดไฟ ถ้าเป็นสวิทช์ไฟของที่มีคุณภาพ ก็จะมีพิกัดทนกระแสได้ถึง 16 A ซึ่งหากจะนำสวิทช์ไฟแบบนี้มาควบคุมเครื่องปรับอากาศ ขนาดไม่เกิน 18000 BTU หากพิจารณาจากข้อมูลทางเทคนิค ก็อาจจะดูแล้วเห็นว่าสามารถทำได้ เพราะแอร์ระดับนี้มีอัตราการกินกระแสที่น้อยกว่าพิกัดสูงสุดของสวิตซ์
แต่ในความเป็นจริง ผู้เขียนไม่อยากแนะนำให้นำสวิตซ์แบบเปิดปิดไฟทั่วไป มาใช้ควบคุมแอร์แทนเบรกเกอร์ เนื่องจากมันดูไม่ค่อยเหมาะสม จริงอยู่ที่กระแสใช้งานอยู่ในระดับที่สวิตซ์เอาอยู่ แต่แอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ใช้มอเตอร์ ซึ่งเมื่อมีการตัดต่อวงจรขณะมอเตอร์ทำงาน ก็อาจจะทำให้กระแสไฟฟ้าเกิดสภาวะกระชาก
และสวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดา หากนำมาใช้ควบคุมแอร์โดยตรง ตัวสวิตซ์มักมีอายุการใช้งานไม่นานก็มีปัญหาต้องเปลี่ยนใหม่
แต่เหตุผลที่บางท่านอยากใช้สวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดาแทนเบรกเกอร์นั้น ก็เพื่อเหตุผลด้านความสวยงาม เนื่องจากไม่อยากให้มีเบรกเกอร์ที่อยู่ในกล่องติดลอยเหมือนที่ใช้ทั่วไป
ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องความสวยงาม เพราะเดี๋ยวนี้ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าเขามีอีกทางเลือกมาให้ ในกรณีดังกล่าวแล้วคือใช้หน้ากาก และชุดประกอบเบรกเกอร์แบบติดฝัง ซึ่งมีขนาดหน้ากากเท่ากันกับหน้ากากสวิตซ์เปิดปิดไฟแบบธรรมดาทั่วไป และสามารถนำมาติดตังฝังเข้าไปในผนังตามรูปแบบที่ติดตั้งสวิตซ์และเต้ารับได้ด้วย