ในวงจรไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ แบบที่เราใช้งานกันอยู่ภายในครัวเรือน การหน่วงเวลาถือเป็นเงือนไขการทำงานขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็น และมีให้เห็นได้ในแอร์รุ่นปัจจุบัน
เงื่อนไข ของการหน่วงเวลาในระบบแอร์บ้าน มีหลักการพื้นฐานคือ เมื่อเราเปิดสวิทช์จ่ายไฟให้กับแอร์ ทันทีที่กดรีโมทเพื่อสั่งการให้แอร์เริ่มทำงาน ส่วนของพัดลมในชุดคอยล์เย็นที่ติดตั้งในห้องก็จะเริ่มทำงาน แต่ส่วนของชุดคอยล์ร้อนที่อยู่ภายนอกอาคารจะยังไม่ทำงานในทันที ต้องรอจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยปกติกก็คือ 3-5 นาที และหลังจากผ่านไปแล้ว 3-5 นาที วงจรหน่วงเวลาก็จะหมดหน้าที่ลง และต่อไฟให้ชุดคอยล์ร้อนเริ่มทำงาน การทำความเย็นจึงเริ่มขึ้นเมื่อชุดคอยล์ร้อนเริ่มทำงาน
เหตุผล ที่ต้องมีเงื่อนไขการทำงานแบบหน่วงเวลา ก็เพื่อเป็นมาตรการเบื้องต้น ในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดกับตัวคอมเพรสเซอร์ในชุดคอยล์ร้อน ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีการหน่วงเวลาในส่วนนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์มีการทำงานแบบทันทีทันใด
เพราะในขณะที่คอมเพรสเซอร์มีการทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง หากมีเหตุให้คอมเพรสเซอร์ต้องหยุดทำงานแบบกระทันหัน แล้วเริ่มทำงานใหม่ในทันทีทันใด ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่แอร์ทำงานอยู่ แล้วมีการปิดแล้วเปิดใหม่ทันที หรือในกรณีที่เกิดไฟตกไฟขัดข้องชั่วขณะในระหว่างที่แอร์ทำงานอยู่ การให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานต่อแบบทันทีทันใดนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะมอเตอร์ของคอมเพรสเซอร์ไม่สามารถเอาชนะแรงดันน้ำยาที่ไหลในระบบได้ ทำให้มันไม่สามารถสตาร์ทออกตัวใหม่ทันทีได้ ต้องรอเวลาสักพักหนึ่ง ให้แรงดันน้ำยาในระบบแอร์ทั้งสองด้านมีการถ่ายเทกันจนอยู่ในระดับที่เท่ากันทั้งระบบ คอมเพรสเซอร์จึงจะเริ้มเดินต่อได้อีกครั้ง
หากฝืนให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานต่อทันทีทันใด โดยที่ไม่รอให้แรงดันในระบบนิ่งเสียก่อน ก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์สตาร์ทไม่ออก กินกระแสไฟฟ้าสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว และท้ายที่สุดก็จะส่งผลทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลงก็เป็นได้
ซึ่งคอมเพรสเซอร์ถือเป็นส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบแอร์ การที่คอมเพรสเซอร์ชำรุดเสียหายนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียวสำหรับแอร์เครื่องนั้น
ในอดีต แอร์ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในช่วงประมาณ กว่า 30 ปีที่แล้ว ระบบควบคุมทางไฟฟ้าส่วนใหญ่ ไม่ได้ทันสมัยเหมือนเช่นที่เราเห็นในแอร์ปัจจุบัน แม้กระทั่งกลไกลการควบคุมความเย็นยังเป็นระบบแมคานิค ซึ่งแอร์ในยุคนั้น มีคำเตือนที่ผู้ใช้งานต้องจำไว้เลย ว่าต้องรอเวลา 3-5 นาที ก่อนที่จะเปิดแอร์ใหม่อีกครั้ง เพราะในระบบควบคุมของแอร์ยุคก่อนนั้น ไม่มีวงจรหน่วงเวลามาให้ การปิดแล้วเปิดแอร์แบบทันทีทันใด ก็จะเจอปัญหาคอมเพรสเซอร์สตาร์ทออกตัวไม่ได้ กินกระแสสูงมาก แอร์ในยุคนั้นหลายแห่งจึงมักติดตั้งควบคู่กับสวิทช์อัตโนมัติที่เรียกว่า "เบรกเกอร์ ทิชิโน่" ซึ่งเป็นเบรกเกอร์ที่สามารถปรับตั้งความละเอียดในการตัดวงจรได้ดีกว่าเบรกเกอร์แบบธรรมดา ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถตัดวงจรไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้คอมเพรสเซอร์กินกระแสสูงนานเกินไปจากการสตาร์ทออกตัวไม่ได้
แอร์รุ่นเก่าแบบที่ไม่มีระบบหน่วงเวลา
แต่สำหรับแอร์ยุคหลังๆมา ถือว่าโชคดีและสะดวกขึ้นกว่าในอดีต เพราะได้มีการติดตั้งอุปกรณ์หน่วงเวลา หรือใส่ภาคหน่วงเวลารวมเอาไว้ในแผงวงจรควบคุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องมาคอยนั่งรอว่าปิดแอร์ไปแล้วครบ 3-5 นาทีหรือยังจึงจะเปิดใหม่ได้ แอร์ยุคหลังๆ นับตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน ล้วนมาพร้อมวงจรหน่วงเวลา เป็นมาตรฐานที่ไม่ว่ายี่ห้อไหนต่างก็มีใช้งานกันเป็นที่เรียบร้อย
การหน่วงเวลาของแอร์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกันหลักๆ 2 รูปแบบ
แบบที่ 1 คือภาคหน่วงเวลาที่ถูกตั้งโปรแกรมรวมเอาไว้ในบอร์ดควบคุมหลักของแอร์ โดยผู้ผลิตได้เขียนโปรแกรมการหน่วงเวลา ใส่ลงไปในชิฟคอนโทรลเลอร์ของแอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราจะพบได้ในแอร์สมัยใหม่ ที่มีลูกเล่นและฟังชั่นครบครัน
แบบที่ 2 คือการติดตั้งตัวหน่วงเวลา (Timer Delay) หรือเรียกว่าเป็นตัวหน่วงเวลาแบบภายนอก ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวหนึ่ง โดยจะติดตั้งเข้าไปในวงจรไฟฟ้าของชุดคอยล์ร้อนแอร์ ซึ่งต่อตัวหน่วงเวลาอนุกรมไว้กับสายคอนโทรล หากยังไม่ครบระยะเวลาที่กำหนดชุดคอยล์ร้อนก็จะยังไม่ทำงาน แต่เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ตัวหน่วงเวลาก็จะยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เพื่อจ่ายไฟเข้าไปยังคอยล์แม่เหล็กของแมกเนติก ซึ่งแมกเนติกนี้ก็คือตัวตัดต่อระบบไฟฟ้าของชุดคอยล์ร้อนทั้งชุด
เทคนิคเล็กน้อยก่อนจะจบบทความชุดนี้
สำหรับการหน่วงเวลาในแอร์ยุคปัจจุบัน หากท่านปิดแอร์ด้วยรีโมทคอนโทรลเพียงอย่างเดียว แม้ว่าแอร์จะหยุดทำงานแล้ว แต่บอร์ดควบคุมของวงจรแอร์ยังมีกระแสไฟฟ้าปริมาณเพียงเล็กน้อยไปเลี้ยงวงจรไว้ เพื่อให้แอร์อยู่ในสถานะ Standby เตรียมพร้อมที่จะทำงานต่อในครั้งต่อไป และเมื่อท่านมาเปิดแอร์อีกครั้งหนึ่งด้วยรีโมทคอนโทรล หากปิดแอร์ไปแล้วเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3-5 นาที การมาเปิดใหม่อีกครั้ง ชุดคอยล์ร้อนด้านนอกอาคารก็จะทำงานพร้อมกันทันที แอร์ก็จะทำความเย็นได้ทันที ไม่ต้องรอหน่วงเวลาอยู่
ในทางกลับกัน หากทันปิดแอร์ด้วยรีโมทคอนโทรล แล้วตามด้วยปิดเบรกเกอร์ ตัดการจ่ายไฟของแอร์ เมื่อท่านกลับมาเปิดแอร์อีกครั้ง ไม่ว่าจะปิดไปแล้วกว่าครึ่งวัน ก็ต้องรอหน่วงเวลาก่อน 3-5 นาที เพราะกระบวนการต่างๆต้องเริ่มใหม่หมดนั่นเอง
ซึ่งสำหรับแอร์ในห้องนอนที่ต้องเปิดทุกๆเย็นและปิดในทุกๆเช้า หากใช้งานเป็นประจำทุกวัน ปิดแค่ที่รีโมทก็ถือว่าเพียงพอ เพราะเมื่อมาเปิดใหม่อีกครั้งในตอนเย็น แอร์ก็จะทำความเย็นได้ในทันที ไม่ต้องรอการหน่วงเวลาอยู่