สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

การซื้อแอร์ที่ใช้ R22 ในตอนนี้


ตามที่หลายๆท่านทราบกันดี ว่าสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ ชนิด R-22 จะถูกเลิกผลิตและเลิกใช้งานจนหมดแน่นอนในอนาคต และเมื่อได้ทราบเช่นนี้ ก็ทำให้บางท่านที่กำลังจะเลือกซื้อแอร์เครื่องใหม่ในตอนนี้เกิดความลังเล ว่าจะเลือกแอร์ที่ใช้น้ำยาตัวไหนดี ระหว่าง R-22, R410a และ R-32



ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงด้านแอร์และอะไหล่เครื่องทำความเย็น ก็พอจะทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของการเลิกใช้สารทำความเย็นเหล่านี้อยู่บ้าง จากการอบรมหรือการเข้าร่วมฟังการประชุม และจากการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม 

ซึ่งตามข้อมูลที่ผู้เขียนทราบมานั้น ก็ถือเป็นเรื่องจริงที่ในอนาคตข้างหน้าสารทำความเย็น R-22 จะไม่มีขายอีกในท้องตลาดบ้านเรา รวมถึงในวันที่ในบ้านเราจะไม่มีการผลิตแอร์ที่ใช้ R-22 และไม่มี R-22 แบบบรรจุถังขายกันในร้านอะไหล่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมาถึงสักวันหนึ่งแน่นอนในอนาคต แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะถึงมันจะต้องเกิดขึ้นจริง แต่ในบ้านเรานั้นก็ไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้แน่นอน 

แต่ในตอนนี้ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศการเลิกใช้ R-22 อย่างเด็ดขาดก็มีผล และเกิดขึ้นจริงแล้ว



ที่มาของแผนการเลิกใช้ R-22 ในประเทศไทย

ที่มาที่ไปของแผนการยกเลิก R-22 ที่ใช้ในประเทศไทย ก็เนื่องมาจากการที่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาพิธีสารมอนทรีอออล (Montreal Protocol) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกใช้สารดังกล่าว และในปัจจุบันก็ได้มีการลงนามการเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว จำนวนทั้งหมด 178 ประเทศ



ช่วงเวลาที่คาดว่าจะเลิกใช้ R-22 ในประเทศไทย

ในขณะนี้ แอร์ที่ใช้สารทำความเย็น R-22 ยังคงถูกผลิต และจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ แต่ตอนนี้ผู้ผลิตแอร์บางยี่ห้อ ก็ได้เริ่มทยอยลดและเลิกการผลิตแอร์ที่ใช้ R-22 ไปบ้างแล้วบางส่วน

ซึ่งแผนการตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแผนที่จะต้องการให้ยกเลิกการใช้สารทำความเย็น R-22 ในอนาคต แต่จะลดการใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามลำดับขั้น ซึ่งคาดว่าจะใช้วิธีลดการผลิตลดการใช้งานแบบเป็นขั้นบันได ไปจนกระทั่งการผลิตและการใช้งานเป็นศูนย์ในปี 2573

อีกแผนการหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยน โดยให้เลิกการใช้สารทำความเย็น R-22 ในแอร์ในขนาดต่ำกว่า 24,000 BTU ด้วยเช่นกัน




คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อแอร์ที่ใช้ R-22 ในตอนนี้

สำหรับท่านที่กำลังจะซื้อแอร์ใหม่ในตอนนี้ (พ.ศ. 2558) รวมถึงช่วงอนาคตอันใกล้นี้ หากท่านใดเกิดความลังเลไม่แน่ใจว่าจะซื้อแอร์ที่ใช้สารทำความเย็นตัวไหนดี เพราะส่วนหนึ่งมีเหตุผลจากไม่แน่ใจว่า แอร์เครื่องที่ซื้อตอนนี้ ถ้ายังเป็น R-22 อยู่อีก จะมีผลกระทบหรือไม่ในอนาคต เมื่อถึงวันที่สารทำความเย็น R-22 ถูกยกเลิกการผลิตและการใช้งานแล้ว

ซึ่งผู้เขียนอยากจะบอกว่าไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไป เนื่องด้วย R-22 จะค่อยๆลดการผลิตลงเรื่อยๆ จนเลิกผลิตต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเลิกผลิตได้จริง และกว่าที่สินค้าที่มีในท้องตลาดจะค่อยๆหมดลงไปก็ต้องใช้เวลาอีกระยะ 

หากพูดถึงแอร์บ้านที่ใช้ R-22 ในตอนนี้ จะเป็นแอร์แยกส่วนขนาดเล็กถึงกลางที่ใช้ในบ้านพักอาศัย (โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่เกิน 24,000 BTU) ซึ่งที่ใช้ R-22 ก็มักจะเป็นแอร์รุ่นมาตรฐานของหลายๆแบรนด์ราคาจึงอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่พวกรุ่นท็อปที่ราคาแพงสุดของแต่ละแบรนด์ ส่วนใหญ่ก็คือรุ่นอินเวอร์เตอร์ ซึ่งนั่นจะใช้ R-410a เป็นปกติแทบทุกรายแล้ว

แอร์รุ่นมาตรฐานที่ใช้ R-22 ในตอนนี้ หากประเมินกันโดยภาพรวม อายุการใช้งานถึงจุดที่เรียกว่าคุ้มทุนคือเปิดใช้งานเป็นประจำ ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาราวๆ 10-12 ปี ก็ถึงจุดคุมทุนแล้ว

ดังนั้นถ้าหากจะซื้อแอร์ใหม่ในตอนนี้ หากแอร์เครื่องนั้นเป็นแอร์ที่ยังคงใช้ R-22 ซึ่งเป็นแอร์แบบที่ต้องการมากสุดและอาจจะมีราคาตามงบที่ตั้งไว้ ในตอนนี้ยังคงสามารถซื้อมาใช้งานได้ไม่ต้องเป็นกังวล ยังไงสารทำความเย็น R-22 ก็ยังจะมีอยู่ในท้องตลาดไม่หายวับหมดตลาดไปในทันทีทันใด  แม้ว่าการผลิตแอร์ขนาดเล็กที่ใช้ R-22 กำลังจะถูกยกเลิกในอีกไม่กี่ปี แต่แนวโน้มในอนาคตยังมีแอร์ที่ใช้ R-22 อยู่อีกมาก ไม่ใช้เท่าแต่แอร์ที่ใช้ในบ้านเท่านั้น ยังไงท้องตลาดก็จะยังคงมีสารทำความเย็น R-22 วางจำหน่ายอยู่ เพื่อรองรับกรณีที่ต้องนำเอา R-22 นำมาเติมในภายหลัง โดยจะมีในท้องตลาดไปอีกเป็นระยะเวลาหลายปีแต่ก็ใช่ว่าแอร์ที่ติดตั้งจะต้องเดิมสารทำความเย็นกันบ่อยๆ เพราะหากติดตั้งมาดีไม่มีการรั่วซึมก็ไม่ต้องเติมเพิ่มในตลอดอายุการใช้งาน

และถึงอย่างไร เมื่อถึงวันที่น้ำยา R-22 จะหมดลงจนไม่เหลืออยู่อีกเลยในท้องตลาดบ้านเรา ดีไม่ดีแอร์เครื่องที่ติดตั้งในวันนี้อาจจะพังหรือหมดอายุการใช้งานก่อนเสียด้วยซ้ำ เพราะแอร์ที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายในปัจจุบันโดยรวมแล้ว ไม่ได้ทนทานใช้นานร่วมยี่สิบสามสิบปีเหมือนที่เจอในแอร์ยุคก่อนๆ เพราะส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการปรับลดประเภทของวัสดุรวมทั้งใช้กระบวนการผลิตที่ง่ายขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลงมาจากเดิม จนสามารถทำราคาขายที่ใครๆก็เป็นเจ้าของกันได้ไม่ยากเหมือนในอดีต


แต่หากท่านใดต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยลดการทำลายชั้นบรรยากาศ ตามกระแสรักโลก และเรื่องราคาของแอร์ก็ไม่ใช่ปัญหา ก็สามารถเลือกใช้แอร์ที่เป็นสารทำความเย็น R-410a หรือตัวใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาอย่าง R-32 ก็ถือเป็นคำตอบที่ดีหากอยากมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม เรียกว่าผู้ใช้ท่านใดที่มีความพร้อมมากกว่าก็สามารถเปลี่ยนก่อนได้ แต่ผู้ใช้ท่านใดที่อาจจะยังมีความพร้อมไม่มากนัก ก็ยังคงเลือกใช้ R-22 ได้อยู่ในตอนนี้


แม้ว่าจะมีข่าวประกาศออกมาว่าจะระงับหรือจะเลิกในปีนั้นปีนี้ แต่นั่นก็คือแผนดำเนินการในอนาคตที่ได้ตกลงกันในขั้นต้น ในความเป็นจริงของการลดใช้สารทำความเย็น R-22 ในบ้านเรา การเลิกใช้นั้นจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป รอจนหมดยุคแอร์ที่ใช้ R-22 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปี ความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศให้เลิกใช้แบบเด็ดขาดในทันทีทันใดหรือในช่วงแค่ไม่กี่ปียังเป็นไปได้ยากในบ้านเรา เพราะสภาพเศรษฐกิจของบ้านเรายังไม่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ ซึ่งประเทศพวกนั้นสามารถประการเลิกใช้ R-22 ได้สำเร็จทั้งประเทศโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่นานนัก หรือแทบจะทันทีทันใด เพราะประเทศเหล่านั้น ภาครัฐเขาช่วยอุดหนุนงบประมาณที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดหรือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ (อาจจะเพราะเขามีเงินเหลือ) และมาตรฐานด้านการให้บริการของทีมช่างในประเทศเหล่านั้นก็มีความพร้อมกว่า มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่ดีกว่า จึงทำให้การยกเลิกการใช้งานสามารถทำให้สำเร็จได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน

ต่างจากช่างแอร์ในบ้านเรา โดยเฉพาะรายย่อยที่อยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารทำความเย็นตัวใหม่ๆ ยังมีอยู่ในวงจำกัดเฉพาะร้านผู้แทนจำหน่ายและศูนย์บริการของยี่ห้อนั้นๆ



และนี่ก็เป็นความเห็น ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการที่เกียวข้องโดยตรง กับแอร์ที่ใช้กันในอาคารบ้านเรือนทั่วๆไป ซึ่งพอจะทราบข้อมูลอยู่บ้างจากการเข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่อยู่ในแวดวงเดี๋ยวกัน และผู้ที่อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าร่วมการอบรมสัมมนาในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้แทนจำหน่าย 




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2558    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2558 11:03:21 น.
Counter : 13549 Pageviews.  

การหุ้มฉนวนให้กับท่อแอร์


วัตถุประสงค์หลักของการหุ้มฉนวนให้กับท่อแอร์ ในกรณีของแอร์แบบแยกส่วนที่ใช้กันทั่วไปนั้น ก็เพื่อป้องการการสูญเสียความเย็นโดยเปล่าประโยชน์ ในระหว่างทาง ซึ่งยังทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย และยังป้องกันการเกอดหยดน้ำที่ผิวท่อ




โดยจากที่ได้เคยพูดถึงคุณสมบัติของฉนวนที่ใช้หุ้มท่อแอร์ไปแล้ว ในบทความชุดก่อน ตามลิงค์นี้ >>> ฉนวนหุ้มท่อน้ำยาแอร์ <<< 

และในบทความชุดนี้ก็จะขอพูดต่อ เกี่ยวกับการนำฉนวนมาหุ้มมาใช้กับท่อน้ำยาแอร์ที่ติดตั้ง โดยแอร์แยกส่วนในปัจจุบัน ก็มีให้เลือกใช้กันหลายรูปแบบแบ่งตามรูปแบบของชุดคอยล์เย็น ไม่ว่าจะเป็น แอร์แบบติดผนัง, แอร์แบบตั้ง/แขวน, แอร์แบบตู้ตั้งพื้น, แอร์แบบฝังฝ้าเพดาน และ แอร์แบบซ่อนในฝ้า โดยการหุ้มฉนวนของท่อน้ำยาแอร์แยกส่วนแต่ละแบบ ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง ตามระบบการทำงานของแอร์แต่ละแบบที่มีข้อแตกต่างกันอยู่นั่นเอง

ในการติดตั้งแอร์แยกส่วนนั้นรูปแบบการติดตั้งท่อน้ำยา โดยหลักๆแล้ว สามารถแบ่งออกได้สองรูปแบบ คือแบบที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ กับ แบบที่หุ้มฉนวนเพียงท่อเดียว


ท่อน้ำยาแบบที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ

กรณีของการเดินท่อน้ำยาแอร์ที่ต้องหุ้มฉนวนไว้ทั้งสองท่อ จะเป็นกรณีที่ใช้กับแอร์แบบที่ติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาไว้ที่ส่วนของชุดตอยล์ร้อน ซึ่งก็ได้แก่แอร์แบบติดผนัง (Wall Type)

เพราะว่าแอร์แบบติดผนัง มีการออกแบบให้อุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยา ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะใช้เป็นท่อรูเข็ม (Cap Tube) ติดตั้งอยู่ด้านในของชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) นี่จึงทำให้น้ำยาที่ไหลออกจากแผงควบแน่น จะมาเข้าสู่กระบวนการลดแรงดันทันที และเกิดการระเหยขึ้นหลังจากทีออกมาจากอุปกรณ์ลดแรงดันที่ว่านี้


ซึ่งตามหลักการทำความเย็นโดยใช้สารทำความเย็นนั้น กระบวนการระเหยของน้ำยาแอร์ที่ถูกลดแรงดันแล้ว จะต้องอาศัยพลังงานในการเปลี่ยนสถานะ พลังงานในส่วนนี้ก็คือความร้อนที่อยู่โดยรอบนั่นเอง ซึ่งความร้อนจะถูกนำมาใช้เปลี่ยนสถานะของน้ำยา ทำให้บริเวณโดยรอบมีอุณหภูมิที่ต่ำลง เกิดการทำความเย็นขึ้นในส่วนนั้น

และนี่จึงทำให้ท่อแอร์ที่ส่งน้ำยาเข้าสู่คอยล์เย็น ซึ่งก็คือท่อทางอัด (Discharge Line) หรือท่อเล็ก มีความเย็นเกิดขึ้นที่ผิวภายนอกของท่อ ซึ่งจำเป็นจะต้องหุ้มฉนวนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียความเย็นระหว่างทางที่น้ำยาถูกส่งเข้าสู่คอยล์เย็น และป้องกันการเกิดหยดน้ำเกาะตามท่อ

และในส่วนของท่ออีกท่อ ซึ่งก็คือท่อทางดูด (Suction Line) หรือท่อใหญ่ ที่เป็นท่อสำหรับดูดสารทำความเย็นที่ออกจากคอยล์เย็น เพื่อนำกลับเข้ามาอัดใหม่ด้วยคอมเพรสเซอร์ แม้ว่าน้ำยาที่ไหลในท่อนี้ จะผ่านการและเปลี่ยนความร้อนที่คอยล์เย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มันก็ยังมีอุณหภูมิที่ต่ำอยู่ ซึ่งท่อด้านนี้ก็ยังจำเป็นต้องหุ้มด้วยฉนวนเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้แอร์ทำงานหนักเกินไปโดยไม่จำเป็น และป้องกันการเกิดหยดน้ำเกาะตามท่อ


ท่อน้ำยาของแอร์แบบที่หุ้มฉนวนเพียงท่อเดียว

สำหรับแอร์ แบบตั้ง/แขวน (Floor/Ceiling Type), แบบตู้ตั้งพื้น(Floor Standing Type) รวมทั้งแอร์แบบติดเพดาน (Cassette Type)



โดยส่วนใหญ่แล้วแอร์เหล่านี้มักจะติดตั้งอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาไว้ภายในชุดคอยล์เย็น ที่ติดตั้งภายในอาคาร โดยอุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาที่ใช้ก็มักจะเป็นท่อรูเข็ม (Cap Tube) แบบเดียวกับที่ใช้ในแอร์ติดผนัง แต่ในบางครั้งก็อาจจะใช้อุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาแบบ เอ็กซ์แพนชั่นวาล์ว (Expansion Valve) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต



ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ชนิดไหนก็ตาม แต่เมื่ออุปกรณ์ลดแรงดันน้ำยาแอร์มาติดตั้งในชุดคอยล์เย็นแล้ว นั่นก็หมายถึง กระบวนการเกิดความเย็นก็จะเริ่มที่ชุดคอยล์เย็น และถ้าหากท่านใดเคยสังเกตในช่วงที่เปิดแอร์ใหม่ๆหลังจากที่คอยล์ร้อนภายนอกอาคารเริ่มทำงานแล้ว ก็มักจะได้ยินเสียงฉีดซึ่งเป็นเสียงจากกระบวนการลดแรงดันน้ำยาที่เกิดขึ้นในส่วนของชุดคอยล์เย็นนั่นเอง

เมื่อกระบวนการในขั้นตอนการลดแรงดันของน้ำยาแอร์ มาเกิดที่ส่วนของชุดคอยล์เย็น ท่อทางอัด (Discharge Line) หรือท่อเล็ก ที่ส่งน้ำยาออกมาจากชุดคอยล์ร้อน ก็จะส่งน้ำยาที่มีสถานะเป็นของเหลวแรงดันสูงและอุณหภูมิสูง เข้าสู่คอยล์เย็น

ทำให้ท่อเล็กของแอร์ประเภทที่มีอุปกรณ์ลดแรงดันอยู่ในชุดคอยล์เย็น เป็นท่อที่มีอุณหภูมิสูง ท่อนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหุ้มฉนวนให้สิ้นเปลือง และไม่ต้องกลัวว่ามันจะสูญเสียความร้อนในท่อด้านนี้ เพราะความร้อนของน้ำยานั้นเกิดจากการที่น้ำยาถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์นั้น ยังไงเราก็ต้องการดึงความร้อนออกจากน้ำยาที่ไหลในด้านนี้อยู่แล้ว

แต่สำหรับท่อทางดูด (Suction Line) หรือท่อใหญ่ ที่มีน้ำยาไหลจากคอยล์เย็นกลับเข้าสู้คอมเพรสเซอร์ ท่อด้านนี้ยังคงมีอุณหภูมิต่ำอยู่ จึงเป็นท่อเดียวที่ต้องหุ้มด้วยฉนวน ซึ่งถ้าไม่หุ้มด้วยฉนวนจะทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น และมีหยดน้ำเกาะที่ผิวของท่อ



รายละเอียดเพิ่มเติมในการติดตั้งฉนวนหุ้มท่อ

การติดตั้งฉนวนหุ้มท่อแอร์นั้น หากเป็นท่อแอร์ที่ไม่ได้หุ้มฉนวนมาพร้อมตั้งแต่แรก จะต้องสวมฉนวนเข้ากับท่อทองแดงก่อนที่ท่อจะถูกต่อเข้ากับตัวเครื่อง หลีกเลี่ยงการหุ้มฉนวนให้กับท่อ โดยใช้วิธีการกรีดเพื่อผ่าฉนวนออกตามยาวเพราะคุณสมบัติของฉนวนจะเสียไป


หากต้องการต่อฉนวนหุ้มท่อในกรณีที่มีความยาวไม่เพียงพอนั้น ส่วนที่ต่อจะต้องทำกาวสำหรับฉนวน เพื่อให้ความเป็นฉนวนมีอย่างต่อเนื่องและกันน้ำหยดในส่วนรอยต่อ



การซ่อมแซมฉนวนที่ฉีกขาดหรือการปะฉนวนที่ถูกกรีดตามแนวยาว ควรใช้ฉนวนชนิดเทปที่มาพร้อมกับกาวในตัวติดเข้าไปในจุดที่ฉีกขาด หรือใช้ติดในบริเวณที่ฉนวนต่างชนิดมาเจอกัน



การพันเก็บงานท่อแอร์ด้วยเทปไวนิล ควรพันให้แน่นแบบพอประมาณ ไม่ควรพันรัดแน่นจนเกินไป เพราะหากพันแน่นเกิน จะทำให้ช่องว่างที่เป็นช่องอากาศภายในเนื้อฉนวนถูกบีบอัดจนบี้แบน และมีผลให้คุณสมบัติของการเป็นฉนวนเสียไปจากเดิม ความสามรถในการป้องกันการสูญเสียความเย็นอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร

สังเกตุได้ง่ายๆ หากท่อแอร์ถูกพันรวบจนแน่นเกินไป ในขณะที่แอร์ทำงาน จะเห็นได้ชัดว่ามีหยดน้ำจำนวนมากเกาะรอบๆผิวนอกของท่อแอร์ ซึ่งก็เป็นผลมาจากความเย็นจากท่อได้ผ่านฉนวนออกมา เพราะว่าฉนวนถูกรัดจนคุณสมบัติความเป็นฉนวนส่วนหนึ่งเสียไป





 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2558    
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2558 10:32:32 น.
Counter : 37243 Pageviews.  

ฉนวนหุ้มท่อน้ำยาแอร์


ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือแอร์แบบแยกส่วน ท่อทองแดงที่ใช้สำหรับเป็นท่อทางเดินของสารทำความเย็นหรือท่อน้ำยา ส่วนที่เชื่อมต่ออยู่ระหว่างชุดคอยล์ร้อนและชุดคอยล์เย็น จะต้องมีการหุ้มฉนวนให้กับท่อในส่วนนี้ โดยการหุ้มฉนวนนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและจะขาดไม่ได้ ในการติดตั้งท่อแอร์

และบทความชุดนี้ ก็จะขอนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ คุณสมบัติของฉนวนที่นำมาใช้ในงานท่อแอร์

เดิมทีนั้นการติดตั้งแอร์แบบแยกส่วนโดยทั่วไป มักจะใช้ ฉนวนยางดำชนิดท่อ แอร์โรเฟลกซ์ (Aeroflex) เพื่อหุ้มท่อทองแดงที่เชื่อมต่ออยู่ระหว่างชุดคอยล์ร้อนและชุดคอยล์เย็น




โดยฉนวนยางดำที่ใช้งานกันนี้ เป็นฉนวนชนิดท่อที่ผลิตจากยางอีลาสโตเมอร์ ชนิดพิเศษ (EPDM) โดยโครงสร้างภายในของฉนวน จะประกอบไปด้วยเซลล์อิสระซึ่งมีผนังกั้นรวมอยู่เป็นจำนวนมาก และภายในเซลล์แต่ละเซลล์นี้ก็จะบรรจุด้วยอากาศแห้ง คล้ายกับฟองอากาศนับล้านที่อัดแน่นกันอยู่ ด้วยคุณลักษณะที่ว่ามานี้ มันจึงมีคุณสมบัติพื้นฐานในการเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีนั่นเอง



คุณสมบัติขั้นต้นของฉนวนที่ดีเหมาะสำหรับใช้ในงานเดินท่อแอร์

- -  - มีค่าการดูดซึมน้ำและการซึมผ่านของไอน้ำ ซึ่งมาจากความชื้นในบรรยากาศ ที่ต่ำมาก

- มีค่าสัมประสิทธิ์ ของการนำความร้อนที่ต่ำมากเพียง 0.038W/mk

- มีความคงทนต่อ รังสีอัลตราไวโอเลต UV ที่มาจากแสงอาทิตย์ได้ดี

- มีความยืดหยุ่นสูง สามารถโค้งงอไปตามลักษณะท่อได้ง่าย


จากคุณสมบัติขั้นต้นที่กล่าวมา ฉนวนยางดำจึงเป็นฉนวนที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับหุ้มท่อน้ำเย็นของเครื่องปรับอากาศระบบชิลเลอร์ (Chilled water cooling system) ซึ่งเป็นระบบทำความเย็นขนาดใหญ่ และยังเหมาะที่จะนำมาหุ้มท่อน้ำยาของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) เพื่อลดการสูญเสียความเย็นโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้เครื่องทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันการเกิดหยดเหงื่อ (Condensation) ซึ่งก็คือหยดน้ำที่กลั่นตัวจากความชื้นในอากาศ ได้อีกด้วย




แต่ในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นการนำเอาฉนวนสีขาว มาใช้ในการหุ้มท่อแอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งฉนวนสีขาวนี้มักจะถูกหุ้มมาพร้อมกับชุดท่อแบบสำเร็จ(ท่อแบบพร้อมใช้งาน) เป็นชุดท่อที่ผู้ผลิตได้ให้มาพร้อมกับชุดแอร์ และมักจะได้แถมมาพร้อมกับชุดแอร์ที่ซื้อมาใหม่

โดยที่เรียกว่าชุดท่อแบบสำเร็จ เพราะในแต่ละชุดที่บรรจุมาในกล่อง จะประกอบด้วยท่อทองแดงจำนวนสองท่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อก็พอดีตามที่แอร์เครื่องนั้นใช้ แต่ละท่อก็มีความยาวท่อละ 4-5 เมตร ซึ่งทั้งสองท่อก็จะถูกหุ้มด้วนฉนวนยางสีขาวเกือบเต็มความยาวท่อ พร้อมนำมาติดตั้งใช้งานกับแอร์ได้ทันที


ในด้านคุณสมบัติของฉนวนสีขาวและสีดำ โดยภาพรวมแล้วก็มีคุณสมบัติในการเป็นฉนวนได้ดีพอๆกัน แต่ในบางครั้งฉนวนสีขาวก็อาจจะมีข้อด้อยกว่าฉนวนสีดำอยู่เล็กน้อย เพราะมีความหนาของส่วนที่เป็นฉนวนที่น้อยกว่ารวมไปถึงการคงรูปของฉนวนยังทำได้ไม่ดีเท่ากับฉนวนสีดำ และในระยะยาวฉนวนสีขาวก็มีความสามารถในการต้านทานต่อรังสียูวีของแสงแดดได้ไม่ดีเท่าฉนวนสีดำ การติดตั้งจึงต้องหุ้มฉนวนสีขาวด้วยเทปไวนิล เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพที่เกิดจากรังสียูวี แต่ฉนวนสีขาวก็ช่วยให้ขนาดของท่อแอร์ที่ติดตั้ง มีขนาดที่เล็กลง 


สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของการนำฉนวนยางมาหุ้มท่อแอร์แบบแยกส่วน สามารติดตามต่อได้ในบทความชุดต่อไปหรือคลิ๊กตามลิงค์นี้ >>> การหุ้มฉนวนให้กับท่อแอร์ <<<








 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2558    
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2558 21:46:13 น.
Counter : 35926 Pageviews.  

โหมดการทำงานบนรีโมทแอร์




วัตถุประสงค์หลักๆของการใช้งานแอร์ในบ้านเรา ก็เพื่อลดอุณหภูมิภายในห้องให้ต่ำลง และให้อุณหภูมิในห้องอยู่ในระดับคงที่ ซึ่งการใช้งานแอร์ก็อาจจะได้ประโยชน์ทางอ้อมในการควบคุมความชื้นเข้ามาร่วมด้วย แต่โดยพื้นฐานแล้วเราก็ต่างต้องการใช้แอร์ในการทำความเย็นเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศของบ้านเราที่เป็นเมื่องร้อนนั่นเอง แต่แอร์ที่ผลิตและจำหน่ายในทุกวันนี้ รูปแบบการทำงานหลักๆนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่การทำความเย็นแต่อย่างเดียว



ซึ่งรูปแบบการทำงานของแอร์นั้น ในแอร์รุ่นปัจจุบัน เราสามารถปรับเลือกรูปแบบการทำงานได้ง่ายๆ เพียงกดเลือกรูปแบบการทำงาน จากปุ่มปรับเลือกโหมดการทำงานหลัก (MODE) ที่มีอยู่บนรีโมทคอนโทรล

โดยเมื่อได้ทำการกดปุ่มเลือกโหมดการทำงานหลักแล้ว แอร์ก็จะจดจำการเลือกโหมดนั้นไว้ และสั่งการให้เครื่องมีการทำงานตามโหมดการทำงานที่กำหนด ต่อเนื่องกันไปตลอดที่ระยะเวลาที่แอร์ยังคงทำงาน จนกว่าจะมีการกดเปลี่ยนโหมดการทำงานอีกครั้งหนึ่ง



และผู้ใช้งานแอร์บางท่าน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้งานเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดการทำงานมากนัก และอาจจะมีบางกรณีที่เคยเผลอกดเลือกโหมดการทำงานหลักผิดไปจากเดิม แล้วพบว่าแอร์ที่เปิดอยู่นั้นกลับไม่เย็นดังที่ต้องการ จนบางครั้งก็อาจจะคิดไปไกลถึงขั้นที่ว่าแอร์เสียแล้ว แต่อันที่จริงเป็นเพียงการปรับเลือกโหมดการทำงานหลักผิดไปจากเดิมเท่านั้น

ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยพบเจอเคสดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว เป็นกรณีที่คุณป้าท่านหนึ่งอยู่บ้านกับหลานชายที่ยังเด็ก ซึ่งคุณป้าท่านนั้นได้ตามช่างแอร์ให้มาเช็คแอร์ที่บ้าน เพราะแอร์ที่เปิดไม่มีความเย็นออกมาเลย มีแต่ลมธรรมดาเป่าออกมา เมื่อช่างไปถึง ก็ปรากฏว่าแอร์ถูกตั้งให้ทำงานในโหมด Fan (พัดลมในห้องทำงานอย่างเดียว) 

ช่างจึงลองปรับกลับมายังโหมด Cool ทันทีที่โหมดถูกปรับ คอมเพรสเซอร์แอร์นอกบ้านก็สตาร์ททำงาน แล้วแอร์ก็กลับมาทำความเย็นได้ดีตามปกติ ส่วนสาเหตุก็คาดว่าหลานชายตัวเล็ก เป็นผู้กดรีโมทปรับเล่น และคุณป้าเจ้าของบ้านก็ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาการใช้งานก็กดแค่ปุ่มเปิดปิดเครื่องกับปุ่มเลื่อนระดับอุณหภูมิขึ้นลงเท่านั้น เคสนั้นจึงจบลงแค่เพียงการกดปรับโหมดกลับคืนให้ และได้ให้ช่างสอนการใช้งาน พร้อมทั้งเขียนวิธีปรับโหมดแบบพอเข้าใจและอธิบายว่าแต่ละโหมดคืออะไรใส่กระดาษแป๊ะไว้ให้





ในส่วนของโหมดการทำงานหลัก ที่มีในแอร์ทั่วไปผู้ผลิตแอร์ในปัจจุบัน ได้ใส่โหมดการทำงานพื้นฐานมาให้ โดยโหมดการทำงานที่ว่านี้มีอยู่ด้วยกันราวๆ 4 โหมดการทำงาน ได้แก่ โหมด Auto, Cool, Fan, Dry และในแอร์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์รุ่นที่มาพร้อมด้วยฟังชั่นเสริมมากมาย ก็อาจจะมีอีกหนึ่งโหมดการทำงานเพิ่มเข้ามานั่นก็คือโหมด Heat

โดยในแต่ละโหมดการทำงานก็ถูกออกแบบให้มีการทำงานที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ผลที่ต่างกัน รายละเอียดของแต่ละโหมดก็มีดังต่อไปนี้



โหมด Auto

สำหรับโหมดการทำงานแบบ Auto หรือการทำงานแบบอัตโนมัติ ในแอร์บางยี่ห้ออาจจะเรียกว่าโหมด I FEEL เมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานในโหมดAuto แอร์จะตั้งอุณหภูมิและความเร็วพัดลมโดยอัตโนมัติ ระบบจะเป็นฝ่ายกำหนดอุณหภูมิและความเร็วพัดลมให้เอง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิห้องที่เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิตรวจพบได้ในขณะนั้น

โหมดการทำงานอาจจะสลับกันเองระหว่างโหมด Cool กับ Dry ยกตัวอย่างเช่น หากอุณหภูมิที่ตั้งอยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส เมื่อระบบตรวจพบว่าอุณหภูมิห้องสูงเกินกว่า 25 องศาเซลเซียส ก็จะเลือกการทำงานในโหมด Cool เพื่อทำความเย็นให้กับในห้อง และระบบจะสลับไปทำงานในโหมด Dry โดยอัตโนมัติ เมื่ออุณหภูมิห้องลดลงมาต่ำกว่าค่าของอุณหภูมิที่ตั้งไว้

ซึ่งโหมดการทำงานแบบ Auto มีกลไกลการทำงานแบบอัตโนมัติที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ไม่ค่อยจะมีประโยชน์อะไรมากในการใช้งานแอร์แบบที่เราใช้กันทั่วๆไป




โหมด Cool

โหมดการทำงานแบบ Cool หรือโหมดทำความเย็น เป็นโหมดการทำงานที่เรานิยมใช้กันมากที่สุด โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Cool แอร์จะเข้าสู่รูปแบบการทำงานสำหรับทำความเย็น และคงระดับอุณหภูมิให้อยู่ในขอบเขตที่เรากำหนด โดยผู้ใช้งานมีอิสระในการปรับตั้งอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ รวมทั้งยังสามารถปรับระดับความเร็วพัดลมได้อีกด้วย

ในกรณีของแอร์แบบที่จำหน่ายกันอยู่ในกลุ่มประเทศเขตหนาวที่มีฤดูหนาวยาวนานกว่าฤดูร้อน โหมด Cool จะเป็นโหมดสำหรับใช้งานเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ในบ้านเราที่อากาศค่อนข้างจะร้อนตลอดทั้งปี โหมด Cool จึงถือเป็นโหมดการทำงานหลักที่เราใช้งานกันมากที่สุด




โหมด Dry

โหมดการทำงานแบบ Dry หรือโหมดลดความชื้น ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์รูปหยดน้ำ โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Dry ผู้ใช้งานจะไม่สามารถปรับตั้งอุณหภูมิได้ เมื่ออยู่ในโหมดลดความชื้น และแอร์ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องลดความชื้นในอากาศ โดยใช้การควบแน่นของความชื้นในอากาศที่เกิดขึ้นบนแผงอีวาปอเรเตอร์หรือแผงทำความเย็น เพราะโดยหลักการพื้นฐานที่แอร์ใช้ทำความเย็น ใช้สารทำความเย็นในระบบที่ถูกทำให้ไหลไปตามท่อเพื่อให้มันเป็นตัวกลางในการถ่ายเทความร้อน ซึ่งนี่จึงทำให้แผงที่บริเวณที่อยู่ในชุดคอยล์เย็นจะมีอุณหภูมิต่ำมาก จนความชื้นในอากาศพากันมาควบแน่นและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ไหลออกไปตามท่อน้ำทิ้ง 

และเมื่อแอร์ถูกกำหนดให้ทำงานในโหมดลดความชื้น แม้ว่าคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ในชุดที่ติดตั้งอยู่นอกอาคารยังคงทำงานอยู่ แต่พัดลมที่อยู่ในชุดคอยล์เย็นอาจจะมีการทำงานสลับกับการหยุดทำงานเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นการดึงความชื้นในอากาศให้ถูกกลั่นตัวเป็นหยดน้ำให้ได้มากที่สุด และนำเอานำที่กลั่นตัวจากความชื้นปล่อยทิ้งออกมาทางท่อน้ำทิ้ง

โหมดลดความชื้นนี้หากไม่ได้ใช้งานในห้อง ที่ต้องการควบคุมความชื้นโดยเฉพาะก็ถือว่าไม่จำเป็นสักเท่าไหร่กับการใช้ในบ้านทั่วๆไป




โหมด Fan

ในโหมด Fan หรือโหมดพัดลม เมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Fan ระบบจะตัดการทำงานในส่วนของชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตที่อยู่นอกอาคารออกไป เหลือไว้แต่เพียงชุดแฟนคอยล์หรือคอยล์เย็นในอาคารที่จะยังคงทำงานอยู่ พัดลมคอยล์เย็นจะยังคงทำงานอยู่ ผู้ใช้งานก็สามารถปรับความเร็วพัดลมได้ แต่ไม่สามารถตังอุณหภูมิได้ และลมที่ออกมาจากชุดคอยล์เย็นก็อยู่ในระดับของอุณหภูมิห้อง ไม่ใช่ลมเย็น เพราะการทำความเย็นในชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตถูกตัดการทำงานออกไปทันทีที่กดเลือกโหมด Fan จึงทำให้คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน และไม่มีน้ำยาแอร์ไหลวนเข้ามายังชุดคอยล์เย็น

โหมด Fan แม้จะเป็นอีกหนึ่งโหมดการทำงาน ที่โดยปกติเราไม่ค่อยจะใช้งานกันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโหมดการทำงานที่ค่อนข้างมีประโยชน์ ซึ่งหากท่านใดเจอปัญหากลิ่นเหม็นอับที่ออกมาจากแอร์ ก็ลองใช้งานโหมดนี้ดูได้ โดยการใช้งานนั้นเมื่อเราใช้แอร์เสร็จ หรือเป็นช่วงที่ใกล้จะปิดแอร์ ก่อนจะปิดแอร์หากเราเปลี่ยนให้แอร์ทำงานในโหมด Fan ต่อไปอีกสัก 15-20 นาที แล้วจึงปิดเครื่อง ก็จะช่วยเป่าแผงคอยเย็นด้านใน ลดความชื้นสะสม ซึ่งสามารถช่วยลดกลิ่นอับที่ไม่พึงประสงค์ได้





โหมด Heat

โหมดการทำงานแบบ Heat หรือโหมดทำความร้อน ซึ่งในรีโมทแอร์บางยี่ห้อจะแทนโหมดนี้ด้วยสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์ เป็นโหมดการทำงานที่เพิ่งมีการนำเข้ามาใส่ในแอร์บางรุ่นที่ขายในบ้านเรา โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Heat เมื่อเข้าสู่โหมดนี้ การทำงานของเครื่องจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อทำความร้อนให้กับภายในห้อง โดยส่วนใหญ่การทำงานในโหมดนี้ จะใช้เทคโนโลยีการทำความร้อนที่เรียกว่า Heat Pump ซึ่งหากจะเปรียบให้พอเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือเป็นการทำงานแบบกลับทิศทาง สลับหน้าที่กันระหว่างแผงคอยล์ร้อนและแผงคอยล์เย็น เพื่อให้ชุดภายในอาคารเป่าลมร้านออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ มีมานานสักระยะหนึ่งแล้ว และมันเป็นที่รู้จักและใช้งานกันแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งนำมาใช้งานเพื่อให้ความอบอุ่นในครัวเรือน และยังสามารถสลับมาทำความเย็นได้ในช่วงที่มีอากาศร้อน

โหมด Heat ที่มีมาให้ ในแอร์ที่จำหน่ายในบ้านเรานั้น ปัจจุบันยังคงจำกัดเฉพาะในแอร์รุ่นท็อประดับบนๆของแต่ละยี่ห้อเท่านั้น ซึ่งมันก็เป็นอีกโหมด ที่ถือว่าไม่จำเป็นในการนำมาใช้งานทั่วๆไป เพราะแม้แต่พื้นที่ ที่มีอากาศหนาวสุดในประเทศไทยก็มีช่วงที่หนาวจัดติดต่อกันไม่นานสักเท่าไหร่ ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้มค่าที่จะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อแอร์รุ่นท็อป




 

Create Date : 13 มกราคม 2558    
Last Update : 13 มิถุนายน 2559 5:52:08 น.
Counter : 405494 Pageviews.  

ข้อควรระวัง! ในการถอดแอร์แบบปล่อยน้ำยาทิ้ง

เมื่อแอร์เครื่องหนึ่งถูกนำมาติดตั้งใช้งาน และหลังจากใช้งานไปสักพัก ก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องถอดแอร์เครื่องดังกล่าวออกจากจุดที่ติดตั้ง โดยที่แอร์เครื่องนั้นยังคงสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ซึ่งการถอดออกนี้ไม่ว่าจะเป็นการถอดออกเพื่อเก็บไว้ หรือถอดออกนำไปติดตั้งยังสถานที่อีกแห่งนั้น จำเป็นต้องมีการถอดลงมาอย่างถูกต้อง และเก็บอย่างเหมาะสม


ที่ต้องมีขั้นตอนในการถอดอย่างเหมาะสม ก็เพราะเนื่องจากแอร์ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบทั่วๆไป ที่เพียงจะคลายสกรูที่ยึดติดแล้วแค่ปลดสายไฟก็ถอดออกมาได้ แต่เพราะว่าแอร์แบบที่ใช้กันในปัจจุบันมีระบบท่อน้ำยาหรือท่อทางเดินของสารทำความเย็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการจัดการที่ไม่ถูกต้องนั้น อาจส่งผลเสียต่อแอร์และต่อผู้ปฏิบัติงานได้นั่นเอง




ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง การถอดย้ายแอร์แบบที่ไม่ถูกต้อง โดยปล่อยแรงดันน้ำยาหรือสารทำความเย็นออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก ซึ่งไม่ได้ทำการไว้ในที่ที่เหมาะสมและส่วนใหญ่การถอดแบบปล่อยน้ำยาทิ้ง ก็มักจะเป็นการถอดลงมาด้วยตนเองโดยผู้ใช้งานหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นช่างแอร์ ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์

ซึ่งถ้าหากเป็นการถอดด้วยตนเองโดยที่ผู้ถอดไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบแอร์ เกือบจะทุกรายก็มักจะถอดและเก็บอย่างผิดวิธี



การถอดแอร์โดยที่ไม่ได้เก็บน้ำยาหรือสารทำความเย็นไว้ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) ทำให้สารทำความเย็นที่มีแรงดันสูงในระบบ ถูกปล่อยออกมาทิ้งสู่บรรยากาศภายนอก

ซึ่งหลายท่านที่เคยทำการถอดแอร์ลงมาด้วยตนเองและปล่อยสารทำความเย็นในระบบทิ้ง ก็มักจะปล่อยสารทำความเย็นออกมาทางวาล์วลูกศรหรือบางรายก็อาจจะใช้การคลายเกลียว(แฟร์) ที่เป็นจุดต่อในระบบท่อแอร์ เพื่อเปิดทางให้สารทำความเย็นแรงดันสูงออกมานั่นเอง แต่บางรายที่เลวร้ายสุดคือการหักหรือบิดท่อทองแดงให้มีรอยแตกเพื่อให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ปฏิบัติงานได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นการระบายแรงดันสารทำความเย็นออกด้วยช่องทางใดก็ตาม ก็ล้วนมีผลเสียตามมาหลายอย่างด้วยกัน



ผลเสียอย่างแรกสุดคงหนีไม่พ้น ผลเสียต่อระบบแอร์ เพราะการปล่อยแรงดันสารทำความเย็นออกสู่บรรยากาศนั้น หากไม่มีการควบคุมการระบายแรงดันอย่างช้าๆทีละน้อย แต่ปล่อยให้แรงดันในระบบพุ่งทะลักออกมาที่ละมากๆ แรงดันสารทำความเย็นที่พุ่งทะลักออกมานั้น ไม่ได้ออกมาเฉพาะแค่สารทำความเย็น แต่มันได้นำพาน้ำมันหล่อลื่นที่รวมอยู่ในระบบ ให้ไหลทะลักออกมาพร้อมกันด้วย และจนกว่าที่แรงดันในระบบจะถูกระบายออกมาจนหมด ระหว่างนั้นก็ทำให้น้ำมันจำนวนไม่น้อยไหลจามออกมา

เมื่อมีการนำแอร์เครื่องนั้นไปติดตั้งในสถานที่ใหม่ หลายท่านก็คงทราบดีว่าการนำมาติดตั้งใหม่ก็ต้องเดิมสารทำความเย็นหรือน้ำยาเข้าไปใหม่ แต่...สำหรับน้ำมันหล่อลื่นในระบบ ที่ออกมาพร้อมกับการปล่อยสารทำความเย็นทิ้งในครั้งก่อน ส่วนใหญ่แล้วในกรณีที่นำแอร์เครื่องนั้นไปใช้ในอีกสถานที่หนึ่ง น้ำมันส่วนที่ขาดหายนี้มักจะไม่ค่อยถูกเติมเพิ่มเข้าไป เพราะในงานติดตั้งของจริงมักจะไม่มีการวัดปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในระบบ และเราก็ไม่ทราบว่าในระหว่างที่น้ำมันพุ่งออกมาพร้อมแรงดันสารทำความเย็นนั้น น้ำมันส่วนที่ออกมานั้น หายออกไปจากระบบปริมาณเท่าไหร่


ในส่วนของน้ำมันที่ว่ามานั้นก็คือน้ำมันหล่อลื่น หรือเรียกกันทั่วไปว่า “น้ำมันคอมเพรสเซอร์” เป็นน้ำมันหล่อลื่นสูตรเฉพาะสำหรับการใช้งานในระบบเครื่องทำความเย็น น้ำมันที่ว่านี้จะที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบแอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำมันหล่อลื่นจะถูกตวงและบรรจุมาจากโรงงานที่ผลิตคอมเพรสเซอร์

น้ำมันหล่อลื่นที่ใส่เข้าไปนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มันหมุนเวียนในระบบไปพร้อมๆกับสารทำความเย็นที่ไหลเวียนในขณะที่เครื่องทำงาน ทำหน้าที่หล่อลื่นและระบายความร้อน ให้กับชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์นั่นเอง



หากปริมาณของน้ำมันในระบบมีอยู่ไม่เพียงพอตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบและกำหนดไว้ ก็จะส่งผลให้เกิดการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในคอมเพรสเซอร์ก่อนเวลาอันควร และในการใช้งานต่อเนื่อง ปริมาณน้ำมันที่มีน้อยจนเกินไปอาจจะไหลเวียนและระบายความร้อนให้กับคอมเพรสเซอร์ได้ไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาที่เรียกว่า “คอมเพรสเซอร์น็อก” และหากเป็นเช่นนี้ จะต้องเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ในรายของแอร์ที่ใช้กันอยู่ตามบ้านนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์หนึ่งครั้ง อาจจะคิดออกมาได้ที่ราวๆ 30-40 ของราคาแอร์ทั้งชุดเลยก็เป็นได้


และการปล่อยสารทำความเย็นออกมาทิ้งนั้น นอกจากจะมีความเสียงที่แอร์เครื่องนั้นจะนำไปใช้งานต่อได้ในเวลาไม่นานก็ชำรุจ ยังมีข้อเสียที่เป็นผลกระทบที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ในกรณีที่เป็น R-22 ซึ่งมีส่วนผสมของสาร CFCs หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน การปล่อยสารทำความเย็นออกมาสู่บรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งบางท่านอาจจะเถียงโดยมีความคิดว่า “ก็แค่แอร์เครื่องเดียวจะไปมีผลอะไร” ซึ่งหากใครคิดเช่นนี้อยู่ ผู้เขียนเองก็ขอถามกลับไปว่า... “แอร์ที่ใช้ R-22ทั้งโลกนี้มันมีแต่ของคุณอยู่เพียงเครื่องเดียวหรือเปล่า” ? อย่าลืมว่ามันไม่ได้มีใช้กันอยู่เครื่องเดียวและหากทุกคนต่างคิดแบบนี้ ก็ไม่ได้มีคนๆเดียวที่ปล่อยมันทิ้งสู่บรรยากาศ


มาถึงการถอดย้ายแอร์อย่างถูกวิธี ก่อนที่จะถอดระบบไฟฟ้า และระบบท่อสารทำความเย็นออก จะต้องมีการเก็บสารทำความเย็นหรือน้ำยา ให้อยู่ในชุดคอยล์ร้อน (Condensing Unit) เป็นวิธีที่เรียกกันในภาษาช่างว่า “ปั๊มดาวน์”

ขั้นตอนคร่าวๆของการปั๊มดาวน์ผู้เขียนจะขออธิบายให้พอเข้าใจเบื้องตน คือก่อนการปั๊มดาวน์จะต้องมีการเดินเครื่องก่อนเพื่อให้สารทำความเย็นไหลวนในระบบสักพัก ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีเกจแมนิโฟลด์ต่อวัดแรงดันในระบบด้วย เมื่อเดินเครื่องจนระดับแรงดันในระบบคงที่แล้ว จากนั้นจึงทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านที่อัดสารทำความเย็นออกมา แล้วสังเกตที่หน้าปัดของเกจแมนิโฟลด์ค่าแรงดันจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และเมื่อค่าที่แสดงเข้าใกล้ 0 ให้รีบทำการหมุนปิดวาล์วของท่อด้านดูดทันที และจากนั้นต้องตัดการจ่ายไฟหรือปิดสวิทช์เพื่อให้เครื่องหยุดทำงานอย่ารวดเร็ว เพราะการปล่อยให้เครื่องเดินต่อไปโดยที่วาล์วถูกปิดส่งผลให้แรงดันไม่มีการไหลเวียนตามวัฎจักร ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เครื่องทำงานต่อไปอีกจะส่งผลทำให้แรงดันในระบบสูงมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะระเบิดได้



ดังนั้นขั้นตอนการถอดแอร์ที่ถูกต้องจะต้องทำการปั๊มดาวน์ เพื่อเก็บสารทำความเย็นเข้าไว้ในชุดคอยล์ร้อน แต่การปั๊มดาวน์นั้นจำเป็นจะต้องทำโดยผู้ชำนาญ หรือผู้ที่มีทักษะเบื้องต้นในงานระบบแอร์ เพราะหากไม่มีทักษะทางด้านนี้ ไม่ไม่ความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง ไม่เคยทำมาก่อนก็ควรปล่อยให้เป็นการถอดย้ายโดยช่างผู้ชำนาญจะดีที่สุด เพื่อที่เป็นการป้องกันอันตรายและจะไม่เกิดเหตุการณ์ตามภาษิตที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”





 

Create Date : 21 ธันวาคม 2557    
Last Update : 21 ธันวาคม 2557 22:15:04 น.
Counter : 45779 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.