All Blog
มิตรภาพอันเกิดจากวัยเยาว์
มิตรภาพอันเกิดจากวัยเยาว์
 
พระยากลาโหมศรีวรวงศ์ มหาอำมาตย์เอก พระเดชณรงค์เจ้ากรมทหารรักษาพระองค์ พระพิชัยยุทธ์เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ทั้งสามเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายมาแต่เยาว์วัย
สืบเนื่องจากบิดาทั้งสามเป็นเกลอเก่าที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อนเข้ารับราชการ และบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน บรรดาลูก ๆ จึงสนิทสนมคุ้นเคยและเล่นหัวกันอย่างสนุกสนาน ถึงแม้จะต่างวัยเล็กน้อยแต่นับถือเป็นเกลอกัน
               เขาว่ากันว่า มิตรภาพที่ก่อตัวมาแต่วัยเด็กมักจะยืนยาวและต่อเนื่องมาจนแก่เฒ่าโดยไม่คิดแทงข้างหลัง
เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เป็นเพียงนายศรี นายเดช นายชัย เด็กหัวจุก หางเปีย วิ่งเล่นตามประสา แต่มีโอกาสเข้านอกออกในเขตพระราชฐานได้ ด้วยมารดาของนายศรีนั้นเป็นญาติพระสนมของเจ้าเหนือหัวนรสิงห์ทีเดียว
เด็กชายสมัยนั้นนอกเหนือจากนายศรี นายเดช นายชัยแล้วยังมีเพื่อนวิ่งเล่นอีกหลายคน แต่ที่สนิทสนมกันจริง ๆ จนเป็นเกลอเก่ากันอย่างแท้จริงจากวัยละอ่อนจนถึงบัดนี้คงมีแค่ 3 คนนี้เท่านั้น
นายศรีนับเป็นพี่ใหญ่ด้วยเกิดก่อนสัก 2 ปี รองลงมาเป็นนายเดช อ่อนสุดต้องเป็นนายชัย เมื่อนายศรี สั่งทำอะไร นายเดช นายชัยมักทำตามโดยไม่เคยเอ่ยปากถามถึงเหตุผลด้วยเชื่อมั่นในตัวเพื่อนที่เหมือนเป็นพี่คนนี้
 
นายศรีไว้ผมจุก ส่วนนายเดช นายชัยไว้ผมเปีย
เพลงล้อเล่นที่ร้องกันบ่อย ๆ จนกว่าจะได้ตัดจุกตัดเปียเมื่ออายุ 13 นั้น ทั้งสามจำแม่นและชอบเอามาร้องเล่นเมื่อยามดื่มน้ำเมาเข้าไปเต็มที่และนึกถึงวัยเด็กของตน พร้อมเสียงหัวเราะ 555 ต่อท้ายเสมอ
ผมจุกคลุกน้ำปลา เหม็นขี้หมา มานั่งจ๊องหง่อง
ผมเปียมาเลียใบตอง พระตีกลองตะลุ่มตุ้มเม้ง
เพื่อนคนอื่นมีทั้งผมโก๊ะ ผมแกละ แล้วแต่
นายศรีพี่คนโต ฉลาดและเก่งกาจสุดจนนายเดช นายชัยนับถือด้วยใจนั้น มักตั้งคำถามที่เด็กวัยเดียวกันไม่เคยนึกมาก่อน
วันหนึ่งนายศรี ถามผู้เฒ่าผู้แก่ในเรือนว่า “ทำไมทรงผมจึงไม่เหมือนกัน และทำไมต้องไว้ผมทรงนี้ด้วย”
ส่วนนายเดช นายชัยตั้งใจฟังแบบอ้าปากหวอแต่อดปากไม่ได้ “เอพี่เราทำไมถามเช่นนี้ล่ะ ใคร ๆ เขาก็ไว้กัน ไม่เห็นจะน่าแปลกตรงไหนเลย” พี่เรานี่ขี้สงสัยเสียจริง
คำตอบจากผู้เฒ่าผู้แก่ทำให้ทั้งนายเดช นายชัยอ้าปากหวอกว้างยิ่งขึ้นจนน้ำลายแทบจะหยดแหมะออกจากปากเป็นที่ขบขันแก่ผู้เล่า
ถ้าเป็นสมัยนี้คงนึกถึงนิยายแม่มดของแฮรี่ พอตเตอร์ตอนที่เลือกหมวกเพื่อไปอยู่ในปราสาทแต่ละหลังแล้ว
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า “เราชาวกรุงราฐมัณฑ์เชื่อว่าเด็กเล็กทุกคนมีแม่ซื้อที่จะมาคอยดูแลช่วยเหลือ ถ้าเป็นชาวคริสต์จะมีเทวดาประจำตนแต่ละคน มันเป็นประเพณี แปลว่าใคร ๆ เขาทำกันทั้งนั้น ไม่มีใครสงสัยหรือมาตั้งคำถามเช่นนายศรีเลย” คนเล่าคงงงเหมือนกัน ทำไมต้องมาถามเช่นนี้ แต่เล่าให้ฟังอย่างละเอียดลออ
คนในเรือนต่างเรียกว่า “นาย” แล้วต่อท้ายด้วยชื่อ เช่น ศรี เป็นนายศรี แสดงถึงการยกย่องว่าเป็นบุตรของเจ้านาย ไม่ได้เรียก “ศรี” หรือ “ไอ้ศรี” ตามอย่างคนทั่วไป
ถ้าเป็นลูกตาสีตาสา ไม่ใช่ลูกขุนนาง คงโดนเรียกว่า ไอ้ศรี ไอ้เดช ไอ้ชัยไปแล้ว
คำว่าไอ้ อี ไม่ใช่คำหยาบคาย แต่บ่งบอกเพศของเด็กเท่านั้น เด็กชายมักขึ้นต้นด้วยไอ้ ส่วนเด็กหญิงเป็นอี
สมัยต่อมา คำว่าอีใช้กับความเจริญเสียด้วยซ้ำ อะไร ๆ เป็นอีไปหมด
 
เมื่อแม่นายให้กำเนิดเด็กชายคนนี้ ทุกคนพร้อมใจตั้งชื่อว่า “ศรี” เพราะมีความหมายที่ดี คือ สิริมงคล มิ่งขวัญ ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม ความเจริญ มิ่งมงคล และคาดหวังว่า นายศรีคนนี้จะนำแต่ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตระกูล
ส่วนนายเดชนั้น พ่อแม่บอกว่า เดชแปลว่าอำนาจ ภายภาคหน้าจะได้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่
แล้วชัยล่ะ ชัยแปลว่าการชนะ ความชนะ ด้วยหวังว่า ต่อไปเมื่อเติบใหญ่ คิดทำการสิ่งใดจะได้รับแต่ชัยชนะ
เมื่อทั้งสามเติบใหญ่ นายศรีจะได้เป็นผู้นำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตระกูลจริงหรือไม่ นายเดชจะเป็นผู้มีอำนาจ และนายชัยจะมีชัยชนะ จริงตามความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงแค่ความหวัง เท่านั้น ซึ่งไม่อาจเป็นจริงได้เลย
 
คำพูดที่ว่า เด็กช่างซักช่างถาม เด็กวิ่งเล่นซุกซน จะเป็นเด็กฉลาด แต่ถ้านั่งเฉย ๆ ซึม ๆ เซา ๆ ล่ะแย่เลย ทุกคนในบ้านจำต้องคอยตอบคำถามนายศรีเสมอเพราะท่านแม่นายสั่งเอาไว้ ด้วยหวังว่าจะช่วยเพิ่มความฉลาด
แม่นายเป็นผู้หญิงที่เก่งและมีความรู้ ได้เลือกสรรแต่สิ่งที่ดีให้แก่นายศรีเสมอ ซึ่งทำให้นายเดช นายชัยที่ชอบมาคลุกคลีตีโมงด้วย พลอยฟ้าพลอยฝนได้รับอานิสงส์ผลบุญนี้ตามไปเช่นกัน
เขาถึงว่าคบคนพาล พาไปหาผิด คบบัณฑิต พาไปหาผล การเลือกอยู้ใกล้ใครจะได้เช่นนั้นเสมอแล
 
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อไปว่า “พออายุครบโกนจุกจะไม่โกนจนเกลี้ยงเลย ต้องเหลือไว้กระหย่อมหนึ่งตรงกลางกระหม่อมเพราะคิดว่าผมเป็นตัวแทนของขวัญที่คอยดูแลเด็ก หลังจากโกนจุกแล้วนี่จะปล่อยให้ผมยาวไปเรื่อยจนเป็นทรงผมของหนุ่มน้อย ส่วนที่ใครจะไว้จุก โก๊ะ แกละหรือเปียต้องแล้วแต่เด็กเลือกตอนเล็ก ๆ พวกเจ้าคงจำไม่ได้แล้วกระมัง” ผู้เฒ่าผู้แก่หันมาย้อนถามเด็ก ๆ ถึงความหลังครั้งเก่าก่อน
ทั้งสามส่ายหน้าพร้อมกัน ตอบว่า “จำได้นิดนึง ว่าถ้าชอบตัวไหน จะได้ไว้ผมทรงนั้น แต่ไม่รู้ว่า ทำไมถึงชอบตัวนั้น ลืมแล้ว” พร้อมเสียงแฮะ ๆ ประกอบว่าลืมจริง ๆ
ตุ๊กตาดินเหนียว 4 ตัวที่มีทรงผมจุก โก๊ะ แกละ เปีย เป็นตัวเสี่ยงทายว่าเด็กเล็กที่ยังไม่รู้ประสีประสาจะหยิบตัวใดขึ้นมาก่อน เมื่อเลือกตัวใด เด็กคนนั้นจะได้ไว้ผมทรงนั้น
               นายศรี ยังตั้งคำถามต่อไปว่า “แล้วขวัญกับกระหม่อมคืออะไร” นายเดช นายชัยงงอีกแล้ว งงตามลูกพี่ 
“ใช่แล้วมันคืออะไร” พลอยเอออออยากรู้ตามลูกพี่ไปด้วย พึมพำเหมือนสงสัยเสียเต็มประดา
               ผู้เฒ่าผู้แก่อธิบายต่อไปว่า “ยายก็ไม่รู้ว่าขวัญอยู่ตรงไหน แต่ใคร ๆ บอกกันว่า ทุกคนมีขวัญติดตัว มองไม่
เห็น ดูไม่รู้ เหมือนเป็นเทวดาคุ้มครองกระมังนายศรี ถ้าขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวคนนั้นจะสบายเนื้อสบายตัว ไม่ตกใจ
ง่าย ๆ ไม่ขวัญหนีดีฝ่ออย่างไรเล่า” ยายตอบเท่าที่รู้ ใครจะไปรู้เสียทุกเรื่องราวล่ะ
               ยายอีกคนที่นั่งใกล้ ๆ เถียงขึ้นทันใดว่า “ขวัญอยู่ตรงกลางหัวไงเล่า แต่นายศรีอาจมองไม่เห็น มันจะขด ๆ เวียนเหมือนก้นหอย ต้องลองเปิดดูหนังหัวตรงกลางดูสิว่ามีกี่ขด ถ้ามีก้นหอยขดเดียวเรียกว่ามีขวัญเดียว ถ้ามีก้นหอย 2 ขด มีสองขวัญ  ยายเคยเห็นมีมากสุดสามขวัญเลยนะ” ยายรีบตอบเพราะรู้นิสัยนายศรีที่จะถามต่อว่า แล้วสูงสุดจะมีกี่ขวัญ
               ทุกคนในเรือนรู้ดีว่า นายศรีนั้นช่างซักช่างถาม ใคร่รู้ไปเสียทุกเรื่องราว มีแต่สงสัย แล้วจะเอ่ยปากถามทันที มิมีเสียล่ะ ที่จะเก็บความสงสัยนั้นไว้กับตัว เมื่อคนตอบ ตอบทุกคำถาม เลยยิ่งทำให้นายศรีเป็นเด็กฉลาดมากขึ้น
               ทุกคนรีบเปิดดูขวัญของเพื่อน เพราะมองขวัญของตัวเองไม่เห็น แล้วตอบ “มีคนละขวัญขอรับ”
               นายศรี ถามต่อว่า “แล้วกระหม่อมคืออะไร เคยได้ยินแต่พวกมหาดเล็กแทนตัวว่ากระหม่อม แล้วทำไมต้องเหลือผมไว้กระหย่อมหนึ่งตรงกลางกระหม่อม”
               นายศรี เป็นเช่นนี้เอง ช่างซักช่างถามจนกว่าจะหายสงสัย นิสัยเช่นนี้เองทำให้นายศรี รอบรู้ไปเสียทุกเรื่องราว ยิ่งเมื่อโตขึ้นจะสนใจใฝ่รู้ให้เข้าใจชัดเจน ไม่มีสิ่งใดคั่งค้างในใจเลย
               ผู้เฒ่าผู้แก่อธิบายต่อไปว่า “ตอนเด็กเกิดใหม่  ๆ นั้น ตรงกลางหัวจะมีส่วนที่นุ่ม ๆ นิ่ม ๆ ตรงนั้นเรียกว่ากระหม่อม พอโตขึ้นส่วนนั้นจะแข็งมองไม่เห็นแล้ว อยากรู้ต้องไปขอดูจากเด็กเล็กก่อน 2 ขวบ เมื่อคนใหญ่คนโตจะให้ศีลให้พรลูกหลานหรือบริวารจะเป่าตรงกระหม่อมนั่นแหละ”
               เป็นอันจบเรื่องที่นายศรี อยากรู้อยากเห็นไปอีกเรื่อง สบายใจขึ้นหน่อยที่รู้ตามที่อยากรู้แล้ว
 
พอโตขึ้นมาหน่อยหลังจากโกนจุก ตัดหางเปียแล้ว นายศรี นายเดช นายชัยจะเปลี่ยนสรรพนามกันแล้ว และเรียกพี่หรือน้องแทน เช่น นายชัยเรียก พี่ศรี  พี่เดช หรือเรียกเต็มยศว่าพี่ท่าน ส่วนพี่ศรีจะเรียกน้องเดชกับน้องพล บางทีเรียกรวม ๆ ว่า น้องเรา
ทั้งนี้เพราะพี่ศรี บอกว่า เรียกพี่เรียกน้องดูดีกว่าเรียกนายเหมือนคนไม่สนิทสนมกัน ทำตัวให้สมกับเป็นตระกูลผู้ดีเชื้อสายผู้ดีเป็นพี่เป็นน้องที่คอยดูแลซึ่งกันและกัน เตรียมเข้าไปรับราชการเป็นมหาดเล็กในวัง
เมื่อแรกเริ่มทั้งสามได้เข้ารับราชการในวังหลวงเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสเช่นนี้ เพราะสิทธิ์พิเศษนี้จะให้เฉพาะลูกหลานขุนนางชั้นผู้ใหญ่และมาจากตระกูลผู้ดีเท่านั้น
เมื่อบิดาเป็นขุนนางผู้ใหญ่และมีโอกาสใกล้ชิดพระราชวงศ์ มักได้รับข้อยกเว้นและมีสิทธิพิเศษเสมอ เช่นนำลูกหลานมาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เพื่อคอยรับใช้เจ้าเหนือหัว พระมเหสี พระสนม และบรรดาพระโอรส รวม ๆ คือคอยรับใช้เจ้านายนั่นเอง
พี่ศรี ได้เข้าเป็นมหาดเล็กวิเศษเพราะอายุถึงเกณฑ์คัดเลือกก่อน ส่วนนายเดชและนายชัยได้เป็นมหาดเล็กจงกรม แล้วทั้งสามได้รับคัดเลือกให้เป็นมหาดเล็กยาม เพราะมีฝีมือทางอาวุธกับศิลปะการป้องตัวที่ได้รับฝึกฝนมา
ก่อนกอปรกับการเป็นลูกท่านหลานเธอ ทั้งสามจึงก้าวพรวดพราดนำหน้าใคร ๆ อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว และเป็นเช่นนี้ตลอดมา
เมื่อเป็นมหาดเล็กยามจะได้รับเงินเดือนและโอกาสก้าวหน้าตามลำดับจาก มหาดเล็กยาม มหาดเล็กวิเศษ นายรอง หุ้มแพร จ่า นายเวร จางวางหรือหัวหมื่นหรือจมื่น และผู้บัญชาการกรมมหาดเล็ก
บรรดามหาดเล็กเหล่านี้นับว่าอยู่ในกรมทหารรักษาพระองค์ สังกัดในฝ่ายทหารแต่ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของสมุหพระกลาโหม ขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินเพียงพระองค์เดียว ประกอบด้วย กรมพระตำรวจหลวง กรมสนมทหาร กรมรักษาพระองค์ กรมพลพัน กรมทหารใน กรมทนายเลือก กรมเรือคู่ชัก
ทั้งสามเข้านอกออกในพระราชวังตั้งแต่เป็นเด็กไว้จุก ไว้เปียแล้วก่อนจะเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กด้วยซ้ำ จึงคุ้นเคยและเป็นพระสหายของพระโอรสเจ้าเหนือหัวนรสิงห์ ทั้งจ้าวทัศน์ จ้าวภาคย์ที่ประสูติแต่พระมเหสีเอก จ้าวอินทร จ้าวอินทา จ้าวทองพระโอรสที่เกิดจากพระสนม
 
ทั้งสามเติบใหญ่ได้เป็นใหญ่เป็นโตเจริญก้าวหน้า ในยศถาบรรดาศักดิ์ มีตำแหน่งหน้าที่มิใช่เบา ไม่เคยเลยที่จะทอดทิ้ง ย่ำยี หรือแอบแทงข้างหลังซึ่งกันและกัน มีแต่คอยดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลและสนับสนุนค้ำจุนกัน ราวกับเป็นพี่น้องร่วมสาบาน ที่ได้กรีดเลือดร่วมขันในหนังจีนยังไงยังงั้น
นายศรีพี่ใหญ่สุดได้เป็นถึงพระยากลาโหมศรีวรวงศ์ มหาอำมาตย์เอก นายเดชได้เป็นพระเดชณรงค์เจ้ากรมทหารรักษาพระองค์ และนายชัยได้เป็นพระพิชัยยุทธ์เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ทั้งสามเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายมาแต่เยาว์วัยและน่าจะเป็นมิตรสนิทไปชั่วชีวิตทีเดียว แต่ใครจะรู้ล่ะว่า จะมีอะไรมาผันแปรมิตรภาพครั้งนี้หรือไม่
เมื่อว่างจากภารกิจหน้าที่ ยามเย็น ทั้งสามมักมานั่งสนทนาปราศรัยถึงหน้าที่การงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ อาจช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนั่งคุยสนุกสนานถึงอดีตที่ผ่านมาร่วมกัน รวมทั้งพูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใหม่ ๆ
บางคนแอบสงสัยว่า เมื่อเจริญในอำนาจลาภยศ เป็นไปได้ไหมว่า สามารถสืบทอดความสัมพันธ์อันดีงามนี้ไปตลอดชั่วรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะอำนาจต่างขั้วอาจมาแผ้วพานทำลายมิตรภาพนี้ได้ ยิ่งเมื่อเลือกข้างผิด โอกาสจะเป็นศัตรูย่อมมีมากขึ้น การอยู่ใต้อาณัติผู้มีอำนาจต่างขั้ว มีหรือจะยังคงเป็นมิตรต่อไปได้อย่างสวยงาม
ไม่มีใครรู้อนาคต ไม่มีใครคาดการณ์ได้ แต่ทั้งสามยืนยันว่า มิตรภาพของเราสามจะมั่นคงและยืนยาวไปตลอดกาล แต่จะเป็นเช่นไร คงต้องรอติดตามต่อไป
 
มิตรภาพแท้จริงมักเริ่มจากวัยเยาว์
เพราะไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ มาขัดขวาง
ถ้าสานต่อจนถึงวัยหนุ่มสาวเลยจนแก่เฒ่า
นั่นคือมิตรภาพอันแท้จริงยากแก่การสั่นคลอน
 

 
 
 
 



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2562 7:08:13 น.
Counter : 544 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

BlogGang Popular Award#20



สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments