กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
ตุลาคม 2564
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
27 ตุลาคม 2564
space
space
space

ไปให้ถึงจริย(ธรรม)แท้ที่เป็นระบบ


170ไปให้ถึงจริย(ธรรม)แท้ที่เป็นระบบชัดเจน จึงจะเห็นความเป็นจริงของชีวิต และสังคมที่ดีงาม


  มาถึงตอนนี้  ความคลุมเครือสับสนเกี่ยวกับถ้อยคำสำคัญบางคำคงจะคลายลงไปแล้ว ถ้าไม่หมด ก็คงไม่น้อย คราวนี้ เราก็สามารถผ่านคำว่า "จริยธรรม" ไปได้ และลงลึกไปให้ถึงตัวจริง คือ "จริย" (เขียนอย่างไทยเป็นจริยะ)

  เรื่องจริยะนั้น ได้พูดไปมากพอแล้ว  ในแง่ที่สำคัญ  คือ ในฐานะที่เป็นองค์หนึ่งในระบบ ๓ ของธรรม  คือ  สภาวะ จริยะ  ปัญญัติ  (สภาวธรรม  จริยธรรม  บัญญัติธรรม)   ในแง่นั้นจึงไม่ต้องพูดอีก

   แต่ยังมีอีกแง่หนึ่ง  ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่านั้น คือ แง่เฉพาะตัวของจริยะ ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในตัวของมันเอง จึงจะพูดเรื่องระบบของจริยะนี้ ต่อไป

  “จริยะ” คือ อะไร ?  จริยะ   ก็มาจาก “จร” (อ่านอย่างภาษาบาลีว่า “จะระ” อ่านอย่างไทยว่า “จอน”)

   “จร” ก็คือเดิน เดินทาง หรือเที่ยวไป เช่น สัญจร คือเดินกันผ่านไปมา จราจร คือ เดินไปเดินมา หรือเที่ยวไปเที่ยวมา พเนจร คือเดินป่า หรือเที่ยวไปในป่า  (ในภาษาไทย กลายเป็นเที่ยวเรื่อยเปื่อยไปอย่างไร้จุดหมาย)

  ทีนี้ “จร” หรือเดินทางนั้น  เมื่อเอามาใช้ทางนามธรรม  กลายเป็นเดินทางชีวิต อย่างที่นิยมพูดว่า “ดำเนินชีวิต”

  คนแต่ละคนก็ดำเนินชีวิตของตนไป แล้วการดำเนินชีวิตของคนเหล่านั้น ก็ไปรวมกันเป็นสังคม เมื่อมองดูผิวเผินแค่ภายนอก ก็กลายเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต และระบบของการเป็นอยู่ ประพฤติปฏิบัติของหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า สังคม

  แต่มองแค่นั้น  ก็ผิวเผินเกินไป ไม่เพียงพอ ต้องดูให้ลึกลงไปอีก การดำเนินชีวิตของคนเรานี้ อยู่แค่ที่แสดงออกมาเห็นๆกันเท่านั้นหรือ ไม่ใช่แน่

  การดำเนินชีวิตของคนหนึ่งๆ ที่เรามองเห็น และที่คนอื่นเกี่ยวข้องด้วย คือการแสดงออกทางกาย และวาจา ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเรามักเรียกว่าความประพฤติ อันเป็นด้านนอกแห่งการดำเนินชีวิตของเขา  เรามักมองคนแค่นี้ (และที่เรียก "จริยธรรม" ก็มักจับเอาความหมายแค่นี้)

  ถ้าเรามองคนแค่นี้  เราจะไม่เห็นตัวจริงของคนนั้นเลย ความประพฤติ หรือการแสดงออกภายนอกทางกาย และวาจา ไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดที่เขาดำเนินอยู่ ก็อย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นเพียงด้านภายนอกของการดำเนินชีวิตของเขาเท่านั้น

  ลึกลงไป   เบื้องหลังการพูด และทำอะไรต่างๆ ที่เราประพฤติหรือแสดงออกมาข้างนอกนั้น มีตัวชี้นำที่กำหนด  หรือสั่งการออกมาข้างในจิตใจ   ตัวชี้นำกำหนดหรือสั่งการนี้ เราเรียกว่า “เจตนา

  ทางพระบอกว่า  ถ้าไม่มีเจตนานี้   การแสดงออกของคน ก็ไม่มีความหมายอะไร จะมีค่าเพียงแค่เหมือนกิ่งไม้ผุหักหล่นลงมา หรือต้นไม้ต้องลมสั่นไหวแล้วใบไม้ร่วง เท่านั้นเอง ดังนั้น เจตนาจึงสำคัญอย่างยิ่ง

  เจตนาจะตัดสินใจสั่งการอย่างไร   ก็มีแรงจูงใจที่ร้าย หรือ ดีคอยกระซิบบอก อย่างง่ายๆ ก็คือสั่งการไปตามที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ

  แต่บางทีการตัดสินใจที่จะสั่งการนี้    ก็เป็นไปอย่างซับซ้อน    เจตนาจึงมีกองบัญชาการทำงานให้มัน   โดยมีตัวทำงานอยู่ในจิตใจมากมาย   รวมแล้วก็คือ  มีฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย

   ในฝ่ายร้าย   มีตัวเด่นคือ โลภะ โทสะ โมหะ  ส่วนในฝ่ายดีก็มีมาก เช่น ศรัทธา เมตตา หิริ โอตตัปปะ ซึ่งเรานิยมเรียกกว้างๆว่า คุณธรรม

   ตัวทำงานเหล่านี้   ส่งข้อเสนอแนะในการสั่งการให้แก่เจตนานั้น  ถ้าตัวใดมีกำลังมาก ก็จะมีอิทธิพลครอบงำการสั่งการของเจตนาเลยทีเดียว

  ในกองบัญชาการของจิตใจนี้   ยังมีฝ่ายกำลังสนับสนุน เช่น ความขยัน ความเพียร ความอดทน ความกล้าหาญ ความเข้มแข็งมั่นคง คอยรับสนองงาน ที่จะขับเคลื่อนให้งานสำเร็จตามต้องการ เป็นสมรรถภาพของจิตใจ

  แล้วก็มีฝ่ายแสดงผล - วัดผล  คอยตามกำกับอยู่ตลอดเวลา ว่าอันไหน ทางไหน รับได้หรือไม่ได้ เช่น ความขุ่นมัว ความเครียด ความเศร้า ความหดหู่ ความหงอยเหงา ความว้าเหว่ หรือความสดชื่น ความร่าเริง ความเบิกบาน ความผ่องใส ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความสุข เป็นต้น รวมแล้วก็เป็นฝ่ายสุข ที่ตามหา กับ ฝ่ายทุกข์ ที่จะให้ดับหาย

  อย่างไรก็ตาม  การตัดสินใจสั่งการ และการทำงานของกองบัญชาการในจิตใจทั้งหมดนั้น ต้องพึ่งพาข้อมูลความรู้ อาศัยความเข้าใจ และการมองเห็น เหตุผล เท่าที่จะมีปัญญารู้ไปถึง

  ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นแค่ไหน   เจตนาก็สั่งการให้กายวาจามีพฤติกรรมคืบเคลื่อนไปได้ภายในขอบเขตแค่นั้น  ถ้าปัญญารู้เข้าใจมองเห็นกว้างไกลออกไป ลึกลงไป มองเห็นช่องทางและโอกาสมากขึ้น เจตนาก็สั่งการให้กายวาจาปรับขยายรูปแบบของพฤติกรรมออกไปช่วยให้ทำการได้ซับซ้อนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ผล มีทางสำเร็จมากขึ้น

  ถ้าขาดความรู้   อับไร้ปัญญาเสียแล้ว  พฤติกรรมก็ติดตัน ขัดข้อง จิตใจก็อึดอัด อับจน เครียด เป็นทุกข์  ดังนั้น ปัญญาที่รู้เข้าใจนี้    จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบอกทิศ ชี้ช่อง นำทาง ขยายโอกาส ตลอดจนปลดปล่อยให้อิสรภาพ แก่พฤติกรรม และแก่จิตใจที่มีเจตนาเป็นหัวหน้างานนั้น

  ที่ว่ามานี้    ก็คือระบบการดำเนินชีวิตของคน    ที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเป็นไปอยู่ตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สรุปแล้วมี ๓ แดน ทำงานประสานก้าวไปด้วยกัน ต้องครบทั้ง ๓ แดน จะขาดแดนหนึ่งแดนใดมิได้

  จึงขอสรุปไว้ในที่นี้ว่า “จริยะ”   คือการดำเนินชีวิตของคน   เป็นระบบอันหนึ่ง  ที่มีองค์ประกอบ ๓ แดน   (จะเรียกว่าด้าน หรือส่วน ก็ได้) คือ

  ๑. แดนพฤติกรรม (กาย-วาจา) ที่แสดงออก ติดต่อสัมพันธ์ และกระทำต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม *

  ๒. แดนจิตใจ  ที่เป็นเหมือนเจ้าของพฤติกรรมทั้งหมด  ตั้งแต่เป็นผู้ต้องการ  บงการหรือสั่งการ ขับเคลื่อน ตลอดจนเสวยผลของพฤติกรรมทั้งหมดนั้น โดยมีตัวประกอบที่ร่วมในการทำงานแต่งสรรมากมาย ภายใต้การนำของเจตนา ที่เป็นทั้งหัวหน้า และเป็นตัวแทน ที่ทำงานเชื่อมต่อสั่งการออกมาให้มีผลเป็นพฤติกรรมออกไป  ทั้งนี้  ตัวประกอบที่ทำงานนั้น แยกได้เป็น ๓ แดน คือ

  - ตัวแต่งสรรฝ่ายดี  กับฝ่ายร้าย ที่พึงคัดเอาไว้แต่ฝ่ายดี ซึ่งมักเรียกกันแบบรวมๆง่ายๆว่า “คุณธรรม” หรือ “คุณภาพจิต

  - ตัวทำงานที่ทำให้ก้าวไปอย่างแน่วแน่เข้มแข็งมั่นคง เรียกพอรู้กันว่า “สมรรถภาพจิต

  - ตัวแสดงผล   ซึ่งเหมือนกับวัดผลไปในตัว   เพราะจะมีอิทธิพลในการที่จะเลือกพฤติกรรมว่าจะทำจะเอา หรือไม่ คือ ฝ่ายสุข กับ ฝ่ายทุกข์ โดยจะมุ่งไปหาไปพบฝ่ายสุข ที่เรียกพอรู้กันว่า “สุขภาพจิต

   ๓. แดนปัญญา   ที่เอื้ออำนวยข้อมูล   ชี้ช่อง   ส่องทาง บอกทิศขยายขอบเขตและโอกาส ปรับแก้ ตลอดจนปล่อยให้เกิดอิสรภาพ แก่พฤติกรรมและจิตใจ

   นี่คือ “จริยะ” หรือระบบการดำเนินชีวิตของคน  ซึ่งประกอบด้วยทั้งกาย-วาจา ทั้งใจ ทั้งปัญญา ถ้าไม่ครบ ๓ อย่างนี้   ชีวิตจะดำเนินไปไม่ได้  แต่ที่จริงก็คือ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ แต่เรานี่แหละ   ถ้ามองและปฏิบัติจัดการกับมันไม่ครบส่วน ไม่ครบด้าน เราก็ทำการที่มุ่งหมายไม่สำเร็จ และจะเกิดปัญหาแก่ตัวเอง

   อนึ่ง จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตของคน ที่พูดไปแล้วนี้ ว่าไปตามธรรมชาติของมัน ตอนนี้ ยังไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี หรือควรและไม่ควรอย่างไร

   ทีนี้มาถึงตอนที่ว่า  เราต้องการมีจริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตที่ดี ในเมื่อ จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิต เป็นคำกลางๆ จะให้ดี หรือไม่ดี ก็เติมคุณศัพท์เข้าไปข้างหน้า

   ถ้าเป็นจริยะ คือ  การดำเนินชีวิตที่ดี  ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ  ถ้าเป็นจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี  ก็เป็นปาปจริยะ หรืออธรรมจริยะ

   ในที่นี้    เรามุ่งเอาจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ดี  ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ ซึ่งในพระพุทธศาสนามีคำเฉพาะ เรียกไว้ว่า "พรหมจริยะ" ว่า แปลว่า จริยะอันประเสริฐ หรือจริยะที่แท้ ก็คือจริยะหรือการดำเนินชีวิต   ซึ่งชีวิตทั้ง ๓ ด้านที่พูดไปแล้วนั้น ดี  และประสานกันอย่างถูกต้อง

  การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงสั่งสอนธรรมตลอดเวลา ๔๕ ปี  ที่เรียกว่าประกาศพระศาสนานั้น ก็คือทรงประกาศพรหมจริยะนี่แหละ   (“ประกาศพระศาสนา”   เป็นคำพูดของเรา  แต่พระพุทธเจ้าเองตรัสว่า พระองค์ “ประกาศพรหมจริยะ” สันสกฤต "พรหมจรรย์")

  เอาเถิด  เมื่อมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “จริยธรรม” ขึ้นมาแล้ว   แต่มีความหมายก้ำกึ่งกัน จะตรงกันก็ไม่ตรงจริง  จะต่างกันก็ไม่ต่างให้ไกลไปเสียเลย  เราก็มาตกลง หรือทำความเข้าใจกันให้ชัดเสียว่า

  “จริยธรรม”   ในความหมายที่เป็นศัพท์บัญญัติใหม่   ซึ่งถือตามความหมายของคำฝรั่ง คือ ethic

  ส่วน “จริยธรรม” ในความหมายของเรา ได้แก่ จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม ซึ่งมีองค์ประกอบประสานสัมพันธ์กันทั้ง ๓ ด้าน (ทั้งกาย วาจา จิตใจ และปัญญา) ที่มีชื่อเต็มว่า “พรหมจริยะ” นี้

   เมื่อทำความเข้าใจอย่างนี้แล้ว   ก็จะเห็นชัดว่า สาระทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์ ขยายไปถึงสังคม ที่จะเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม เป็นสุข ก็คือ “จริยธรรม” ในความหมายที่เป็นพรหมจริยะนี่แหละ

  พร้อมกันนั้น   การจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ ด้านที่ว่ามาแล้วนั้น  โดยฝึกหัดพัฒนาปรับแก้ให้คนดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็นประโยชน์มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา”  (คำพระเรียกการศึกษานี้ ในฐานะมีองค์ประกอบ ๓ ด้านว่า ไตรสิกขา)

  ถ้าเราถือหลักตามความหมายของพระพุทธศาสนา  ก็จะเห็นว่าสาระหรือแกนของอารยธรรมมนุษย์   ก็มีเพียงการดำเนินชีวิตและสังคมให้ดีด้วยจริยธรรม (พรหมจริยะ)  และพัฒนาคนให้ดำเนินชีวิต  และสังคมให้ดีจนมีพรหมจริยะอย่างนั้น  ด้วยการศึกษา (ไตรสิกขา)

  แต่เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมัวไปสับสนคลางแคลงอยู่กับถ้อยคำที่พร่าคลุมเครือ วิถีของชีวิตและสังคม ก็ยิ่งหมักหมมปัญหาและเพิ่มทวีความทุกข์

  ที่พูดนี้ไม่ใช่แกล้งว่า ขอให้ดูสังคมของเรานี้ ที่เป็นอยู่และเป็นมากับความไม่ชัดเจนในเรื่องจริยธรรม แล้วมีสภาพสับสนกะพร่องกะแพร่งอย่างไร.

   นี้พูดอย่างง่าย แต่ถ้าจะให้ครบจริง ด้านที่ ๑ ที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก คือสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ ต้องแยกย่อยเป็น ๒ ส่วน คือ ติดต่อสัมพันธ์โดยการรับรู้ ด้วยผัสสทวาร ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย (ไปรวมที่ใจ) และติดต่อสัมพันธ์โดยการแสดงออก ด้วย กรรมทวาร คือ กาย และวาจา (ออกมาจากเจตนาในใจ)


  173เห็นหมดเลยทั้งข้างนอกข้างใน174


Create Date : 27 ตุลาคม 2564
Last Update : 27 ตุลาคม 2564 12:10:40 น. 0 comments
Counter : 466 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space