 |
|
|
|
 |
|
|
ความไม่รู้ ได้แก่ อวิชชา ความรู้ ได้แก่ วิชชา. เมื่อมีวิชชา อวิชชาก็หายไป สรุปก็ แค่ไม่รู้ กับ รู้ เท่านั้น เหมือนมีมืดก็ไม่มีสว่าง เมื่อมีสว่างความมืดก็หายไป กลายเป็นสว่าง
ในระบบ ๓ แห่ง สภาวะ จริยะ และบัญญัติ ดูให้ชัด จะเห็นจริยะสำคัญเด่นขึ้นมา
มาถึงตอนนี้ ก็คงมองเห็นแล้วว่า "ธรรม" ในระบบ ๒ คือ ธรรม - วินัย กับในระบบ ๓ คือ สภาวะ จริยะ และบัญญัตินั้น แท้จริงแล้วก็เป็นระบบเดียวกันนั่นเอง และมองเห็นด้วยว่า ส่วนใด ในระบบ ๒ มาเป็นส่วนใดในระบบ ๓ พร้อมทั้งรู้ด้วยว่ามาเป็นได้อย่างไร
พูดง่ายๆว่า ท่านใช้ระบบ ๒ เป็นหลักใหญ่ คือ แยกแดนกันออกไปเลย เป็นแดนของธรรมชาติ กับ แดนของมนุษย์
แดนของธรรมชาติ (ธรรม) ก็มีกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนของมัน อย่างที่บอกแล้ว ว่า เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน เช่น ตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นต่อความอยากความปรารถนาความชอบใจหรือไม่ชอบใจของใครทั้งนั้น คือ ตามที่มันเป็นของมัน หรือ ใช้คำศัพท์ว่า เป็นนิยามตามสภาวะ
ส่วนแดนของมนุษย์ (วินัย) ที่จะดำเนินชีวิตดำเนินกิจกรรมกิจการทั้งหลายให้เป็นไปด้วยดี อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ก็ต้องรู้จักจัดตั้งวางตรากติกา เกณฑ์กำหนดกฎหมายระเบียบแบบแผนขึ้นมา เป็นข้อที่จะยึดถือปฏิบัติให้ลงกัน ตามที่ตกลง หรือ ยอมรับร่วมกัน ใช้คำศัพท์ว่า บัญญัติตามสมมติ
นี่คือระบบใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย เรียกรวมเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียวว่า "ธรรมวินัย" ก็มีแค่นี้
แต่ทีนี้ ก็อย่างที่บอกแล้วว่า แดนที่ ๒ คือ แดนมนุษย์ที่จะจัดตั้งวางตรากติกากฎหมายอะไรขึ้นมาให้ได้ผลเป็นคุณประโยชน์แท้จริง ยั่งยืน จะต้องถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งสภาวะ หรือตั้งอยู่บนฐานของกฎธรรมชาติ มิฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไร้ความหมายและไร้สาระ
ดังนั้น ก็จึงมีตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างแดนทั้งสอง หรือระหว่างธรรม กับ วินัย นั้น ที่พูดเป็นภาษาบุคลาธิษฐานว่า มีเสียงเรียกร้องต่อมนุษย์ เป็นทำนองเงื่อนไขจากธรรมชาติว่า ถ้าเธอต้องการจะได้จะเป็นอย่างนั้นๆ เธอจะต้องทำให้สอดคล้องหรือถูกต้องตามกฎระเบียบของฉัน เช่น ทำเหตุปัจจัยให้ได้อย่างนั้นแค่นั้น อันนี้คือที่เรียกว่า "จริยะ"
ตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างกลางนี้ ใน ระบบ ๒ ท่านละไว้ฐานเข้าใจ ไม่ต้องยกเด่นขึ้นมา หรือไม่ต้องนับ แต่บางครั้ง เพื่อจะให้เห็นความสำคัญและให้เด่นขึ้นมาในการที่จะใช้ประโยชน์ ท่านก็นับด้วย
เมื่อนับตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างสองแดน คือ จริยะ นี้ด้วย ตัวเลขก็ย่อมเพิ่มขึ้นกลายเป็น ๓ และนี่ก็คือ เป็น ระบบ ๓ ของธรรม กล่าวคือ สภาวะ - จริยะ - บัญญัติ หรือให้ได้ถ้อยคำชัดออกมาว่าเป็นระบบของธรรมที่สืบกันออกมา ก็เรียกว่า สภาวธรรม จริยธรรม บัญญัติธรรม
เห็นได้ชัดว่า จริยะ นั้น อยู่ในแดนหรือในฝ่ายของสภาวะ ดังที่บอกว่า เป็นคำเรียกร้องแจ้งเงื่อนไขของธรรมให้มนุษย์ต้องรู้ต้องทำให้ได้ หรือต้องดำเนินต้องปฏิบัติตาม
ยกตัวอย่าง เช่น บอกว่า ไฟร้อนนะ ถ้าอุณหภูมิสูงมาก จะเผากายให้ไหม้ จะทำน้ำให้เดือด ฯลฯ ถ้าเธอไม่ต้องการให้ร่างกายเสียหาย ก็อย่าเอาไฟมาลนตัว ถ้าเธออยากได้น้ำสุก ก็ต้องรู้จักก่อหาไฟมาต้มน้ำ ฯลฯ เมื่อรู้เข้าใจความจริงตามสภาวะ และรู้ข้อที่ตนจะต้องทำต้องปฏิบัติให้สอดคล้องแล้ว หากจะทำการใดให้เป็นงานเป็นการเป็นหลักเป็นฐาน เธอก็จัดตั้งวางกฎกติกาข้อปฏิบัติให้แน่นเข้าไป ก็เป็นบัญญัติของมนุษย์ขึ้นมา
ถึงตอนนี้ก็ เห็นชัดว่า ที่จริง ระบบ ๒ กับระบบ ๓ ก็อันเดียวกัน และ ระบบ ๓ ก็ซ้อนอยู่ในระบบ ๒ นั่นเอง
กล่าว คือ ธรรม ที่เป็นข้อแรกในระบบ ๒ นั้น แยกย่อย เป็น ๒ ตอน ดังนี้
๑. ธรรม ในแดนของธรรมชาติ แยกเป็น
๑) ความเป็นจริงตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นอยู่เป็นไปของมัน อย่างนั้นเช่นนั้น เป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า สภาวะ
๒) ข้อที่เสมือนเป็นเงื่อนไขข้อเรียกร้องให้มนุษย์ต้องรู้เข้าใจทำให้ได้ ทำให้ถูกตามความจริง หรือตามกฎของธรรมชาตินั้น เพื่อให้เกิดผลดีที่ตนต้องการ และการที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติดำเนินกิจดำเนินชีวิตไปตามนั้น เรียกว่า จริยะ
๒. = ๓) วินัย ในแดนของมนุษย์ ผู้ที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรม ตลอดทั้งสองขั้นตอนนั้น มองเห็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติจัดทำตามกฎแห่งธรรมดาเพื่อให้เกิดผลดีแล้ว เมื่อมีเจตนาดีงามประกอบด้วยเมตตาการุณย์มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่หมู่ชนหรือสังคม ก็จัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกากฎหมาย เป็นต้น ขึ้น ให้ตกลงยอมรับ ถือปฏิบัติกันต่อไป เป็นกฎมนุษย์ เรียกว่า บัญญัติ
เป็นอันครบถ้วนแล้ว ทั้งระบบมีองค์ ๒ คือ ธรรมวินัย และระบบมีองค์ ๓ คือ สภาวะ - จริยะ - บัญญัติ (สภาวธรรม - จริยธรรม - บัญญัติธรรม)
มองเห็นเด่นขึ้นมาว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประดามี หรือโลกแห่งธรรมชาติ ก็ดำรงอยู่ดำเนินไป ด้วยกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรม
ส่วนสังคมมนุษย์ หรือเรียกเทียบเคียงว่าเป็นโลกมนุษย์ ก็ดำรงอยู่ดำเนินไป ด้วยกฎมนุษย์ เป็นเรื่องของวินัย
ก็มี ๒ อย่างนี้แหละที่สำคัญเป็นหลักใหญ่ แต่ถ้าเห็นแค่นั้น ก็จะมองข้าม "จริยะ" ไป ดูคล้ายว่าจะไม่ค่อยสำคัญ
แต่แท้ที่จริง จริยะ/จริยธรรม นั้น สำคัญมากที่เดียว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนสำแดงธรรมนั้น มิได้ทรงสอนเพียงธรรมที่เป็นสภาวะ หรือความจริงของธรรมดาเท่านั้น แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นภาคจริยะควบคู่กันไปเลยทีเดียว (จริยะบางส่วนก็เฉียด หรือจวนเจียนจะเป็นบัญญัติ ก็มี)
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็คือพิสัยอันพิเศษของมนุษย์อีกด้านหนึ่ง ที่ว่าในฐานะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศได้ด้วยการฝึก เขาสามารถเอาจริยะมาเป็นเครื่องช่วยในการที่จะศึกษาพัฒนาตัวเองขึ้นไป (แม้แต่ในการปฏิบัติตามบัญญัติ) ให้มีปัญญาแจ่มแจ้ง และมีเจตนาที่ดีจริง จนเข้าถึงธรรม ทั้งรู้แจ้งสภาวะ และมีจริยะอย่างเป็นปกติของเขาเอง
สำหรับบุคคลผู้เช่นนี้ ชีวิตดีงามที่พึงประสงค์ ไม่ต้องพึงพาขึ้นต่อบัญญัติ โดยที่บัญญัตินั้นทั้งไม่เป็นเครื่องบังคับให้เขาต้องปฏิบัติ และทั้งเขาปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ของบัญญัติโดยไม่ต้องมีบัญญัติ ถ้าบัญญัติที่เป็นกฎของมนุษย์จะมีความสำคัญ ก็ในฐานะเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันในการดำเนินชีวิต และทำกิจการของสังคมให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย
ระหว่างทางก่อนถึงจุดหมาย จริยะเป็นเครื่องคุ้มครองช่วยให้การรักษาปฏิบัติตามบัญญัติดำเนินไปได้อย่างมั่นคง และเป็นเครื่องช่วยให้บัญญัติมีความหมายที่แท้จริง และบรรลุจุดหมายได้จริง
Create Date : 25 ตุลาคม 2564 |
Last Update : 25 ตุลาคม 2564 15:06:52 น. |
|
0 comments
|
Counter : 775 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|