 |
|
|
|
 |
|
ปัญญา กับ เจตนา คุณสมบัติในตัวคน |
|
ปัญญาที่ใสสว่าง & เจตนาที่ใสสะอาด ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องยึดเป็นสำคัญตลอดไป
ก่อนหน้า เราพูดถึงหลักใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ตอนนี้เรามาถึงคุณสมบัติในตัวคนที่จะจัดกิจดำเนินการ ก็มี ๒ อย่าง คือ ปัญญา กับ เจตนา
สองตัวนี้ เอาไปใช้เป็นมาตรฐานวัดเรื่องของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าในกิจการอะไรทั้งสิ้น คือ หนึ่ง ต้องมีปัญญารู้ความจริง สอง ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์
เจตนาที่บริสุทธิ์ คือ ตั้งใจดี ประกอบด้วยคุณธรรม มุ่งเพื่อจุดหมายที่แท้ เพื่อผลที่ดี ม่งมั่นปรารถนาดี จะเรียกว่ามีอุดมคติ หรือมีอุดมการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในเรื่องเจตนานี่ทั้งหมด
นี่แหละสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะไปทำอะไร ก็ต้องมีให้ครบสองอย่าง
ถึงจะมีปัญญา แต่ถ้าเจตนาไม่ดี ทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจเห็นความจริง แต่เจตนามีโลภะ จะเอาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเจตนาประกอบด้วยโทสะ คิดจะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือประกอบด้วยความหลง เป็นต้น การจัดการในเรื่องนิติบัญญัติ ก็เสียหายไม่ถูกต้อง
ถึงจะมีเจตนาดี บริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าไร้ปัญญา ก็ผิดพลาดเสียหาย อาจเกิดผลร้ายโดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างน้อยก็ไม่สำเร็จผล
จึงต้องให้ปัญญาที่สว่าง กับ เจตนาที่สะอาด มาร่วมประสานบรรจบกัน
ตอนนี้ก็จึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไร ที่จะให้บุคคลผู้เข้าสู่แดนของเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่การบัญญัติกฎหมาย คือขั้นนิติบัญญัตินั้น มีปัญญา และเจตนาที่ดีที่สุด
ถึงผู้ทำงานด้านอื่น ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกันทั้งนั้น
ดังที่รู้กันดี ส่วนประกอบหรืออำนาจสำคัญ ๓ ประการ ของรัฐ จะเป็นนิติบัญญัติ หรือบริหาร หรือตุลาการ ก็อยู่กับเรื่องของกฎกติกาสังคมนี่เอง
เริ่มที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็มาตกลงกัน (ภาษาพระเรียก สมมติสัจจะ จริงตามข้อตกลง ยอมรับ) ใช้ความรู้ที่ถึงธรรมถึงความจริงแท้ มาบัญญัติจัดตั้ง วางระเบียบแบบแผนกฎกติกาขึ้นไว้ ด้วยเจตนาที่ดี ที่บริสุทธิ์โปร่งใสสุจริต เพื่อธรรมเพื่อความดีงามเพื่อประโยชน์สุขที่แท้
แล้วทีนี้ ครั้นถึงฝ่ายบริหาร ก็มาปฏิบัติจัดกิจดำเนินการตามระบบระเบียบแบบแผนกฎกติกานั้น ทำให้การทั้งหลายในรัฐเป็นไปตามกฎกติกา เช่น กฎหมายที่ตั้งไว้ โดยจะต้องประกอบด้วยปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่บริสุทธิ์ใสสะอาดเช่นเดียวกัน
แล้วก็มาถึงขั้นสุดท้าย ที่ฝ่ายตุลาการจะวินิจฉัยตัดสินกรณีละเมิดฝ่าฝืนผิดพลาดคลาดเคลื่อนขัดแย้ง ให้คดีความทั้งหลายยุติลงได้ตามกติกา เช่น ตามกฎหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเกิดความวิปลาสคลาดเคลื่อน หรือแม้แต่เคลือบแคลงสงสัยขึ้น ณ ที่ไหนจุดใด แม้แต่ในขั้นนิติบัญญัติ หรือในขั้นของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ก็อาจวินิฉัยตัดสิน ทำให้ข้อสะดุดขัดแย้งระงับลง เหมือนพยุงยกการทั้งหลายให้กลับเข้าไปอยู่ในที่ตั้งอันถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ ฝ่ายตุลาการนั้น ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่ใสสะอาดเช่นเดียวกัน
เรื่องปัญญารู้ความจริง ที่อยู่ในแดนของสภาวธรรม หรือสัจธรรม ก็ได้พูดมาเป็นหลักพอแล้ว ทีนี้ เรื่องเจตนา ที่บอกแล้วว่าเข้ามาในแดนของจริยธรรม และบัญญัติธรรม ก็แน่นอนว่ามีเรื่องที่จะถกเถียงกันให้ได้ความที่ชัดเจนมากขึ้นต่อไป
Create Date : 23 ตุลาคม 2564 |
Last Update : 23 ตุลาคม 2564 12:13:49 น. |
|
0 comments
|
Counter : 612 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|