 |
|
|
|
 |
|
หลักเบื้องต้น คือ เจตนา กับ ปัญญา |
|
๑
ปัญญาต้องสว่างทั่วถึงธรรม
ผู้พิพากษาเป็นตราชู ดำรงตนอยู่ในธรรม ดำรงธรรมไว้แก่สังคม
เราถือกันว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม เป็นตราชู ซึ่งทำหน้าที่ที่เรียกว่าดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม
เมื่อจะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม ตัวผู้พิพากษาเองก็ต้องมีธรรมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม หรือรักษาธรรมด้วยตนเอง และจะให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องชัดเจนว่า ธรรมที่ผู้พิพากษาจะต้องมีนั้นคืออะไร ผู้พิพากษาจะต้องตั้งอยู่ในธรรมอะไร หรือว่าธรรมสำหรับผู้พิพากษานั้นคืออะไร
เมื่อพูดถึงธรรมที่บุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือคนประเภทนั้นประเภทนี้จะต้องมี โดยทั่วไปก็จะนึกกันถึงความประพฤติดีปฏิบัติชอบ การเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตามหลักที่เรียกว่าศีลธรรมบ้าง จริยธรรมบ้าง
สำหรับผู้พิพากษา ซึ่งทำงานสาธารณะ ค้ำชูสังคม ก็แน่นอนว่าต้องมีธรรมอย่างที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือจริยธรรมนั้น และต้องมีไม่ใช่แค่ในขั้นธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องมีในระดับที่อาจจะเรียกว่า เข้มงวด เป็นพิเศษทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดอย่างจำเพาะ ธรรมในระดับความประพฤติศีลธรรมทั่วไป ยังไม่ถือว่าเป็นธรรมสำหรับผู้พิพากษา แต่เป็นเพียงธรรมสำหรับบุคคลที่จะมาเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นธรรมสำหรับผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งในสังคม หรือเป็นพลเมืองคนหนึ่ง
หมายความว่า ความประพฤติตามหลักศีลธรรมทั่วไป เป็นเพียงส่วนประกอบ แต่เหนือนั้นขึ้นไป ผู้พิพากษายังมีธรรมสำหรับการทำหน้าที่เฉพาะของตนอีกต่างหาก และธรรมสำหรับการทำหน้าที่เฉพาะของผู้พิพากษานั่นแหละ ที่เรียกว่า “ธรรมสำหรับผู้พิพากษา”
แม้โดยการเปรียบเทียบ งานของผู้พิพากษาก็มิใช่อยู่ในวงความประพฤติทางศีลธรรมทั่วไป ความประพฤติที่อยู่ในศีลธรรมเป็นเพียงพื้นฐานที่รองรับการทำงานของผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ธรรมสำหรับการทำงานของผู้พิพากษาตรงๆแท้ๆ อยู่ที่เจตนา กับ ปัญญา
ตัวงานของผู้พิพากษาพูดได้ว่า อยู่ที่ธรรมสำคัญ ๒ อย่าง คือ เจตนา กับ ปัญญา ขยายความว่า ถ้าพูดกว้างๆ ก็เป็นเรื่องของการรักษาจิตใจ กับการมีและใช้ปัญญา แต่ในที่นี้ ที่ใช้คำว่าเจตนา ไม่พูดว่า จิตใจ ก็เพราะว่า เรื่อง ของจิตใจอยู่ที่เจตนา เพราะเจตนาเป็นหัวหน้าและเป็นตัวแทนของแดนจิตใจทั้งหมด เจตนาเป็นตัวนำ ตัวทำการเป็นตัวเลือก ตัวตัดสินใจ
เจตนา จะตัดสินใจเลือกทำการใด และอย่างไร ก็มีแรงจูงใจต่างๆ มีสภาพจิต เช่น อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ความสุข ความทุกข์ ความขุ่นมัว ความผ่องใส ตลอดจนคุณสมบัติ เช่น คุณธรรมและบาปธรรมทั้งหลาย อันมากมายในแดนของจิตใจ นั้น คอยหล่อเลี้ยงปรุงแต่งคอยสนอง หรือมีอิทธิพลต่อเจตนา แต่ในที่สุดก็ต้องสำเร็จด้วยเจตนานี้แหละ เพราะฉะนั้น ในด้านจิตใจ งานของผู้พิพากษาอยู่ที่การรักษาและตั้งเจตนาให้ถูกต้อง
ปัญญา คือ ความรู้เข้าใจ ตั้งแต่รู้ข้อมูล รู้ข้อเท็จจริง เข้าถึงความจริง รู้หลักและรู้ตัวบทกฎหมาย รู้หลักการตัดสินคดี ฯลฯ พูดรวบยอดก็ คือ รู้ธรรม
ถึงแม้เจตนาจะตรง แต่เจตนานั้นจะเลือกตัดสินได้ถูกต้อง เจตนาจะต้องอาศัยแสงสว่าง การบอกทาง การให้ตัวเลือก และการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้น บนพื้นฐาน แห่งความประพฤติที่ดีงามมีศีลธรรม ผู้พิพากษาจะต้องใช้และต้องจัดการธรรมสำคัญ ๒ อย่าง คือ เจตนา กับ ปัญญา ให้ดีให้พร้อมและให้ทำงานอย่างได้ผลดีที่สุด
เรื่อง เจตนา กับ ปัญญา บนพื้นฐานแห่งความมีศีลธรรมนี้ ควรจะพูดขยายความอีกข้างหน้า
นี่คือธรรมสำหรับผู้พิพากษา แต่ยังไม่หมดเท่านี้
ดูหัวข้อถัดๆขึ้นไป
  
เจตนา ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตจำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ" "เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม"
ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง
Create Date : 21 ตุลาคม 2564 |
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2564 15:32:59 น. |
|
0 comments
|
Counter : 431 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|