bloggang.com mainmenu search





เหตุที่ได้มาวังพญาไท...เพราะเราจะไปร้านกาแฟนรสิงห์กัน บล็อกนี้เอาเฉพาะวังพญาไทมาฝากก่อนค่ะ ทุกครั้งที่มีโปรแกรมดีๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าเราไม่ได้ไปกับครอบครัว...จะไปกับเอฟ...เธอเป็นคนวางแผนทุกครั้งจะไปไหนอย่างไร คงเป็นเพราะจริตต้องกัน...เราเลยได้ไปด้วยกันบ่อยครั้ง






นั่งรถเมล์มาลงกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิค่ะ







อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 นาย พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธิน นี้มีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"









พระที่นั่งเทวราชสภารมณ์ เป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จมาประทับ ณ วังพญาไท เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ โดยยังปรากฏอักษรพระนามาภิไธย สผ (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางด้านของพระที่นั่งไวยกูณฐเทพยสถาน













ลักษณะท้องพระโรงได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซ็นไทน์ มีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุน ๔ ด้านบนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา เคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่นงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันธรรมดาใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ที่มาเข้าเฝ้า บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส



























พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นอาคารอิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค มีลักษณะพิเศษคือ มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช เจ้าพนักงานจะอัญเชิญธงมหาราช (ธงครุฑ) สู่ยอดเสาขณะที่ประทับอยู่ ที่พระราชวัง มีจิตรกรรมสีปูนแห้ง (fresco secco) บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนังเขียนเป็นลายเชิงฝ้าเพดานรูปดอกไม้งดงาม บานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทองลักษณะศิลปะวิคตอเรียน เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. 6 สำหรับห้องชั้นล่าง เช่น ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ฯลฯ มีจิตรกรรมสีปูนแห้งที่น่าชมเช่นกัน

























พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี อาคารมีลักษณะแบบโรมาเนสก์ เดิมเป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน ได้มีการต่อเติมชั้น 3 ขึ้นภายหลัง เพื่อจัดเป็นห้องพระบรรทม






















สำหรับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานนี้ เคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ พิธีเปิดสถานีได้กระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าในพระราชพิธีนั้น จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัสถ่ายทอดไปตามสายเข้าเครื่องส่งที่พญาไท แล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกรที่มีเครื่องรับวิทยุในสมัยนั้นได้รับฟัง

อนึ่ง การจัดตั้งสถานีวิทยุดังกล่าวดำเนินไปได้เพียง 2 ปี ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 และได้ย้ายไปยังที่ทำการตำบลศาลาแดงแทน















อีกด้านหนึ่ง...ที่มีพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๖ อยู่ด้านหน้าค่ะ

















ชื่อสถานที่ : พระราชวังพญาไท

ที่อยู่ : 315 ถนนราชวิถี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร.02-354-7987, 02-354-7660
ต่อ 93646, 93694 (จันทร์-ศุกร์) 93698 (เสาร์)

เว็บไซต์ : //www.phyathaipalace.org

เวลาเปิด-ปิด :
พระราชวังพญาไท เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ โดยมีวิทยากรนำชม 2 รอบ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น.
วันอื่นสามารถเดินชมบริเวณภายนอกได้

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบกที่ชั้นล่างพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 11.00-15.00 น.
ปิดวันเสาร์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การเดินทาง : รถประจำทาง: สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108 ปอ.92, 509, 522, 536 ปอ.พ.4
รถส่วนตัว : มีที่จอดภายในบริเวณ

ค่าใช้จ่าย : ไม่เสียค่าธรรมเนียม



บล็อกหน้า....กาแฟนรสิงห์...คาเฟ่แห่งแรก สมัยรัชกาลที่ ๖


ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก วิกิพีเดีย และ

//www.phyathaipalace.org/


ขอบคุณเฮดบล็อก และบีจี คุณญามี่





Create Date :15 พฤศจิกายน 2553 Last Update :28 มิถุนายน 2555 20:12:06 น. Counter : Pageviews. Comments :50