bloggang.com mainmenu search

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (๒)

หมู่พระวิมาน (พระราชวังบวรสถานมงคล)

หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระราชอนุชาร่วมพระชนกพระชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หมู่พระวิมานเป็นหมู่พระที่นั่งหลายองค์ประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นอาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ดัดแปลงพระที่นั่งมุขด้านหน้าให้เป็นมุขกระสัน แล้วขนานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร อ่านเพิ่มเติมที่วิกิพีเดีย คลิกเลยค่ะ














พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร จัดแสดงเครื่องราชยานคานหาม





เช่นเคยค่ะ มีป้ายบรรยายบ้าง ไม่มีบ้าง...ตรงไหน เราให้ข้อมูลไม่ถูก รบกวนช่วยบอกด้วยนะคะ





เครื่องทองพุทธบูชา สมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔) พบที่วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) และเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา

สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นตู้กระจก มีลูกกรงเหล็กด้านนอกอีกทีค่ะ กล้องวงจรปิดแทบทุกมุม ปลอดภัยค่ะ





ห้องนี้ค่ะ พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร




พระที่นั่งองค์นี้เป็นองค์หนึ่งในหมู่พระวิมาน ๑๑ องค์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นมุขด้านหน้าสำหรับเป็นทางเสด็จไปยังท้องพระโรงหน้าที่เสด็จออกขุนนาง และยังเป็นทางเสด็จไปยังมุขหลังขวาง ทั้ง ๒ ข้าง คือพระที่นั่งบูรพาภิมุข และพระที่นั่งทักษิณาภิมุข เวลานี้ใช้เป็นที่จัดตั้งราชยานคานหามต่างๆ






มีป้ายบรรยายนะคะ ถ่ายมาเห็นไม่ชัด อ่านได้แค่ว่า "คานหาม"





พระราชยาน สมัยรัตนโกสินทร์ ไม้ปิดทองประดับกระจก เลขทะเบียน ง. ๒๓๕๑

กว้าง ๗๗.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๐๕ เซนติเมตร สูง ๘๔.๕ เซนติเมตร ไม่ทราบประวัติที่มา




พระราชยานองค์นี้ เป็นพระราชยานแบบประทับนั่งราบ ที่นั่งเป็นแท่นสี่เหลี่ยมเตี้ย ทำด้วยไม้สลักเป็นลายดอกไม้ปิดทองประดับกระจก พื้นที่นั่งเป็นหวายผูก มีกงและพนักสำหรับพิงและเท้าแขนได้ พนักเจาะฝังกระจกเป็นลายดอกไม้ รอบพนักและของจำหลักลายกนก ปลายคานต่องาจำหลักเป็นหัวเม็ด คานหามมีสาแหรก ใช้ ๘ คนหาม ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จไปในกระบวนราบ

ข้อมูลจาก //www.nationalmuseums.finearts.go.th/bangkok/ratchayankanham.htm







เท่าที่หาข้อมูลได้ค่ะ ที่ยังหาไม่ได้ก็เยอะ ใครทราบช่วยบอกด้วยนะคะ




สัปคับงา ศิลปะล้านนา ทำจากงาช้าง จำหลักลายกนกและลายเครือเถา พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ (พระราชบิดาพระราชชายาดารารัศมี)

ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๐ พรรษา




พระที่นั่งราเชนทรยาน

เป็นพระที่นั่งทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาทำเป็นชั้นซ้อนกัน ๕ ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีคาน สำหรับหาม ๔ คาน ใช้คนหาม ๕๖ คน เวลาตั้งไว้ปกติจะถอดคานออกเสีย ๒ คาน คงจะมีประจำอยู่ ๒ คาน เวลาประทับพระราชยานนี้จะต้องนั่งห้อยพระบาท ความสูงจากฐานถึงยอดสูง ราว ๔.๑๕ เมตร กว้าง ๑๐๓ ซม. ยาว ๑๙๑ ซม. พระที่นั่งราเชนทรยานนี้สร้างคู่กับพระวอสีวิกากาญจน์

พระที่นั่งราเชนทรยาน สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะรูปทรงวิจิตรงดงามมาก เป็นงานฝีมือที่ช่างบรรจงสร้างอย่างประณีตสุดฝีมือ พระที่นั่งองค์นี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากพนักพิง และกระจังปฏิญาณจะสลักเป็นภาพเทพนมไว้ตรงกลางทุกอัน ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐานที่ ๑๔ ตัว นอกจากจะแสดงถึงสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจในพระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีสัดส่วนและความสง่างามในทรวดทรงด้วย

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย เช่น เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น โดยที่พระราชยานมีขนาดใหญ่และหนัก จึงไม่ค่อยใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระยะทางไกล ปรากฏว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยประทับพระที่นั่งราเชนทรยานไปเพียงด้านตะวันออกของท้องสนามหลวงในพระราชพิธีฉลองพระนคร ๑๐๐ ปี ซึ่งนับว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินที่ค่อนข้างไกล นอกจากใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ยังใช้ในการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย







ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐานที่ ๑๔ ตัว




ปัจจุบัน พระที่นั่งราเชนทรยาน เก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติพระนคร อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร และซ่อมบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้กำหนดให้พระที่นั่งราเชนทรยานเป็นพระราชยานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระที่นั่งราเชนทรยานยังได้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีจากพระเมรุท้องสนามหลวงกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง






พระวอสีวิกากาญจน์

เป็นพระวอที่มีลักษะงามที่สุดในบรรดาพระวอทั้งหลาย เนื่องจากมีเครื่องประดับหลังคาจำลองมาจากอาคารขนาดใหญ่ของไทย ประกอบด้วยช่อฟ้า บราลี ใบระกา และหางหงส์ เป็นต้น ส่วนประดับเหล่านี้จะปิดทองเพิ่มความงามสง่าแก่พระวอ และเป็นเครื่องบอกว่าเป็นพระราชยานชั้นสูง

พระวอสีวิกากาญจน์องค์ที่เก็บรักษาไว้ในพระปรัศว์ซ้ายของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นองค์ที่งดงามมากสภาพค่อนข้างบริบูรณ์ดี สร้างด้วยไม้สลักปิดทองประดับ กระจก ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วง สำหรับสอดคานหาม คานหามมี ๒ คาน ลำคานกลึงกลมปลายเป็นหัวเม็ดทำด้วย งา

แท่นพระวอเป็นฐานสิงห์ปากบัว ซึ่งหน้ากระดานล่างฐานสิงห์ ท้องไม้และบัวหงายสลักลายปิดทองประดับกระจกอย่างละเอียดประณีตงดงาม ด้านบนฐานประดับด้านกระจังตาอ้อยทั้งด้านหน้าและหลัง เว้นเฉพาะทางขึ้นลงด้านข้าง ทั้ง ๒ ด้าน ถัดเข้าไปประดับด้วยกระจังปฏิญาณไม้สลักปิดทองประดับกระจกด้านละ ๑๓ ตัว ต่อจากนั้นทางด้านหน้า จะมีพนักเตี้ยๆ

ส่วนด้านหลังพระวอเป็นกงและพนักพิงรูปกลีบขนุน ด้านในพนักพิงปิดทองเรียบ ด้านนอกแกะสลัก ลายและปิดทองประดับกระจก พื้นพระวอเป็นหวายเส้นผูกเรียงกัน หลังคาพระวอรองรับด้วยเสาย่อมุม ๔ เสา มีคันทวย รองรับชายคา หลังคาเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมีบราลีบนสันหลังคา ตัวหลังคาทำเป็นชั้นลด ดาดด้วยผ้าตาดปักทอง หน้าบันปักลายทองเป็นรูปพระเกี้ยวประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มีฉัตรเบญจา ๒ ข้าง ใต้หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน มีผ้าตาดปักทองติดแววเป็นระบายทั้ง ๒ ด้าน และมีม่านผ้าตาดทองซับใน สีแดงผูกเป็นม่านที่เสาทั้ง ๔ ต้น





ขวามือของพระวอสีวิกากาญจน์ คือ วอ สมัยรัตนโกสินทร์ ไม้ปิดทอง เลขทะเบียน ง. ๑ กว้าง ๗๔ เซนติเมตร ยาว ๑๒๗.๕ เซนติเมตร สูง ๑๓๕ เซนติเมตร กรมพระราชพิธี กระทรวงวัง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักพระราชวัง) ส่งมา โดยไม่ปรากฏวันเดือนปีที่นำส่ง

วอ เป็นยานมีหลังคา รูปเรือน กันแดดและคุ้มฝนได้ คนนั่งนั่งราบ พื้นที่นั่งเป็นหวายผูกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ด้านหลังและด้านข้างเว้นด้านหน้ามีขอบกั้น ส่วนล่างของขอบกั้นสานด้วยหวาย ส่วนบนเป็นช่องลูกกรง ตัวลูกกรงทำจากงา มีพนักพิงเป็นกระดานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบยาว หลังคาสานด้วยไม้ไผ่ ดาดด้วยผ้าน้ำมัน ม่านขาดชำรุดไป คานหามมีสาแหรกใช้ในการไปมาเป็นปกติ



ตัวหนังสือเยอะหน่อยนะคะ เราอยากเก็บไว้อ่านเองด้วย ใครตาลาย...ผ่านได้เลยค่ะ / เสลี่ยง และคานหาม







พระที่นั่งพุดตานวังหน้า

ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นพระราชอาสน์ และใช้เป็นพระราชยานได้ จึงมีห่วงและคานสำหรับหาม ใช้คนหาม ๑๖ คน ลักษณะพระที่นั่งพุดตาน เป็นที่ประทับแบบเก้าอี้ มีมุขรองพระบาทด้านหน้า ฐานจำหลักลายกระจัง มีตัวภาพ ๒ ชั้น ชั้นล่างประดับรูปครุฑพนม ๑๔ ตัว ชั้นบนเป็นลายเทพนม ๑๖ ตัว ปิดทองประดับกระจก พนักและขอบเป็นงา ด้านข้างมีใบปรือติดประดับทั้งสองข้าง พระที่นั่งพุดตานใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เช่น เลียบพระนคร หรือเสด็จไปในการพระราชทานผ้าพระกฐิน






โต๊ะขาสิงห์ ?







พระที่นั่งประพาสโถง

เป็นสัปคับชนิดมีกูบ (หลังคา) ทำจากไม้ปิดทองประดับกระจก หลังคาเขียนเป็นลายทองก้านแย่ง พื้นสานด้วยหวาย สำหรับเจ้านายชั้นสูง ใช้ในการเดินทางระยะไกล และในการพระราชพิธี




พระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตร

ทำจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก แกะสลักเป็นรูปครุฑและเทพนม มีตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ ตราจุฑามณี ตามพระนามเดิมของพระองค์คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เลียนแบบศิลปะอยุธยา มีต้นแบบจากพระแท่นราชบัลลังก์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒






สัปคับ ทำจากไม้จำหลักลายลงรักแดงปิดทอง ใช้เมื่อเดินทางระยะไกล สันนิษฐานว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์




พระที่นั่งประพาสโถง

เป็นสัปคับมีกูบ (หลังคา) ทำจากไม้จำหลักเป็นรูปกนกเครือไม้ รูปลิงจับยักษ์ ประดับมุกที่ลายเครือไม้ และประดับกระจกตามขอบลาย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯไปเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘






โต๊ะขาหมู ?





พระที่นั่งประพาสโถง สำหรับทรงช้างพระที่นั่ง





สัปคับพระประเทียบ เป็นสัปคับมีกูบ (หลังคา) จำหลักลายดอกไม้ และรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นลายดอกไม้ สำหรับเจ้านาย





เดินขึ้นบันไดชั้นบนค่ะ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ





จัดแสดงเครื่องทอง






พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง ๑ ใน ๓ หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกันกับพระที่นั่งวสันตพิมาน แต่สร้างในทำนองเพื่อใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ใช้เป็นที่พระบรรทมและเสด็จทิวงคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ พระที่นั่งองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งของปราสาททองสำหรับประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ทั้ง ๓ พระองค์ โดยสร้างเป็นปราสาทยาว ๓ ห้อง ห้องกลางยกพื้นสูงกว่าอีกสองห้อง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อีกสองห้องเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความสำคัญมากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ในหมู่พระราชมณเฑียร หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเชิญพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ไปไว้ที่วิหารพระธาตุ ภายในพระบรมมหาราชวัง

ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ เครื่องทองที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในศาสนพิธี หรือประกอบพิธีกรรมความเชื่ออื่น ๆ รวมทั้ง จัดแสดงบุษบกประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าในรัชกาลที่ ๑-๓ และเครื่องสูงสำหรับวังหน้าอันเป็นของที่ตั้งอยู่เดิมภายในพระที่นั่ง






เครื่องราชูปโภค หมายถึงเครื่องใช้ไม้สอยของพระราชา หรือสิ่งของอันเป้นเครื่องแสดงความเป็นกษัตริย์ ทำขึ้นด้วยวัสดุมีค่าราคาสูง





บรรดาเครื่องใช้สอยสำหรับพระมหากษัตริย์มีทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในพระราชพิธี นับว่าเป็นเครื่องราชูปโภคทั้งสิ้น





เช่น เครื่องทรง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องศาสตราวุธ เครื่องสูง เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ








พระพุทธรูปและพระพิมพ์ เป็นศาสนวัตถุที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา








จากหลักฐานที่สืบค้นได้พบว่ามีการนำทองคำสร้างเป็นพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดี





ส่วนพระพิมพ์นั้นไม่ปรากฎหลักฐานที่บ่งชี้ได้





ความนิยมในการนำเอาทองคำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปและพระพิมพ์มาปรากฎอย่างเด่นชัดในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์





เทคนิควิธีในการสร้างเท่าที่พบมีทั้งการหุ้ม การปิด การบุ การดุน การหล่อ และการกะไหล่




















เทวดาถือภูษาโยง สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม





มีสองข้าง ซ้าย-ขวา








น่าจะเป็นลายแกะสลักตรงกรอบหน้าต่างค่ะ




















จากด้านหน้าทางเข้า พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ มองลงมาข้างล่าง คือ พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร จัดแสดงเครื่องราชยานคานหาม







พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เลขที่ ๔ ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐

โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ โทรสาร ๐ ๒๒๒๔ ๗๔๙๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐

เปิดให้บริการ วันพุธ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)

เวลาทำการ ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๓๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท

นักเรียน, นักศึกษา, ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป, สมาชิก ICOM, ICOMOS, พระภิกษุ, สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม

บริการนำชมเป็นหมู่คณะโดยการนัดหมายล่วงหน้า นำชมทั่วไป ตั้งแต่ ๐๙.๓๐ เป็นต้นไป

วันพุธ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน

วันพฤหัส ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน

วันเสาร์ ภาษาอังกฤษ (๑๐.๐๐ น.)

วันอาทิตย์ ภาษาไทย (๑๐.๐๐, ๑๓.๓๐ น.)

บริการให้ยืมนิทรรศการหมุนเวียน, ห้องสมุด, บรรยายทางวิชาการ

รถประจำทาง ๓, ๖, ๙, ๑๙, ๓๐, ๓๓, ๔๓, ๕๓, ๕๙, ๖๔, ๖๕,

๗๐, ๘๐, ๘๒, ๙๑, ๑๒๓, ๑๒๔, ๒๐๑, ๕๐๓, ๕๐๖, ๕๐๗, A2

Create Date :28 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :12 มีนาคม 2557 17:13:07 น. Counter : 11782 Pageviews. Comments :49