bloggang.com mainmenu search



พระราชวังสนามจันทร์


ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากกรุงเทพฯ ลงไปทางใต้ ๕๖ กิโลเมตร บริเวณที่เป็นพระราชวังสนามจันทร์อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑ กิโลเมตร

ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่า "หมู่บ้านเนินปราสาท"  หลักฐานที่ปรากฎได้แก่ร่องรอยของเนินปราสาท พระราชวังโบราณ และโบสถ์พราหมณ์

ด้านหน้ามีสระน้ำ เรียกกันมาแต่เดิมว่า "สระน้ำจันทร์" (ปัจจุบันชาวบ้านเรียก "สระบัว")

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ขณะดำรงพระราชอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับพระราชภาระจาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในการปูกระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้ทรงมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศแถบนี้ และทรงตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

และศิลปวัฒนธรรมของเมืองนครปฐม จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวัง ที่ประทับในการแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐม และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ

ขอซื้อที่ดินจากราษฎรในบริเวณดังกล่าว เพื่อจัดสร้างพระราชวัง รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ

ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐

อันเป็นช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า "พระราชวังสนามจันทร์"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์ให้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมีใจความว่า


"บรรดาที่ดินตึกรามทั้งใหญ่ น้อย ที่รวมอยู่ในเขตซึ่งเรียกว่า "พระราชวังสนามจันทร์" เป็นสมบัติส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยแท้

ไม่ได้รับมฤดกมาจากสมเด็จพระบรมชนกนารถมิได้ ข้าพเจ้าได้เก็บทุนในตำแหน่งหน้าที่พระยุพราช และทุนอื่นๆ สร้างที่สนามจันทร์

และสร้างพระที่นั่งซึ่งเรียกว่า พระพิมานประฐม นั้นขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอาเงินพระคลังข้างที่

ทำนุบำรุงที่นี้ตลอดมาเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเอาที่พระราชวังสนามจันทร์ไปรวมเข้ากับกองมฤดกใหญ่นั้นหาควรไม่

ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหมือนสามัญชน ที่จะยกที่นี้ให้แก่ผู้ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นตัวข้าพเจ้าไปแล้ว

ข้าพเจ้าขอยกที่นี้ให้แก่รัฐบาลสยามเป็นสิทธิขาด เพื่อทำเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก"


กรมศิลปากรได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พระราชวังสนามจันทร์ เป็น โบราณสถาน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๔


อ่านต่อที่วิกิพีเดีย


ข้อมูลจากแผ่นพับพระราชวังสนามจันทร์





๑๔.๐๗ น. วันที่  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘




หมอกกับเมฆ คนละ ๑๐ บาทค่ะ (นักเรียน นักศึกษา)




แผนที่นี้ ในแผ่นพับก็มีค่ะ 




เดินเข้ามาจุดแรก ที่เค้าแวะกัน คือ พระตำหนักทับขวัญ  (เราไม่ได้แวะ)




พระตำหนักทับขวัญ


เป็นพระตำหนักแบบหมู่เรือนไทยเดิมที่สมบูรณ์แบบ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)

พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วยเรือนไทย ๘ หลัง เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา

พระตำหนักทับขวัญเป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต แต่เดิมหลังคามุงด้วยจากหลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา

เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สัก ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบของการช่างไทยโบราณ

ลักษณะของเรือนดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทเรือนคหบดี ซึ่งมีส่วนประกอบครบและมีสัดส่วนงดงาม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘  และพระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา ๑ คืน

ทั้งนี้ เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ได้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบหนักรักษาพระองค์














จากพระตำหนักทับขวัญ ทางเดินไป พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์










พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์

เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง หลังคามุงกระเบื้องว่าว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสิก (neo-classic) ของประเทศตะวันตก

แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้ สร้างขึ้นคู่กับ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์

โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์





ส่องปะป๊าบ้าง





มุมมองจากปะป๊าค่ะ








สะพานมีหลังคามุงกระเบื้อง กั้นผนังและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ขึ้น ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙

โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเพทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ






มุมนี้กดมาเยอะมาก...สวย











ที่นี่จัดสวน สวย เรียบร้อย สะอาดตามากค่ะ  Smiley




















เคยมาเมื่อปี ๒๕๕๓  ไม่ได้ขึ้นชม วันนี้ เลยตั้งใจมาเดิน ภายในพระตำหนัก  *** ห้ามถ่ายรูปค่ะ





พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์





เป็นพระตำหนักที่มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ (Renaissance) ของฝรั่งเศส

และแบบฮาล์ฟทิมเบอร์ (half-timbered) ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๕๑ สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร







พระตำหนักนี้เดิมเรียกว่า "พระตำหนักเหล"

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์"

และโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐









พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักสองชั้น ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง

ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้า และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์

พระตำหนักองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า

และพระองค์ยังโปรดเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้เมื่อเสด็จยังพระราชวังสนามจันทร์ตลอดช่วงปลายรัชกาล















อนุสาวรีย์ย่าเหล

"ย่าเหล" เป็นสุนัขพันธุ์ทางหางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพ เคหะนันท์) ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ)  อยู่ในขณะนั้น  (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์) เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ตรวจเรือนจำ จังหวัดนครปฐม พระองค์ได้ทอดพระเนตรลูกสุนัขในเรือนจำซึ่งมีความน่าเอ็นดู ต่อมาหลวงชัยอาญาได้ถวายลูกสุนัขนั้น จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า "ย่าเหล"

"ย่าเหล" ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในราชสำนักใกล้ชิดพระยุคลบาท มีความเฉลียวฉลาดและมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพานพุ่มเข้าพรรษาแด่พระสงฆ์ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในเวลาค่ำ ได้เสด็จไปประทับเสวย ณ พระราชวังสราญรมย์ ย่าเหลได้หนีออกไปเที่ยวนอกพระราชฐาน และมีผู้ยิงย่าเหลด้วยปืนลูกกรดตายระหว่างถนนข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กับพระบรมมหาราชวัง

การสูญเสีย "ย่าเหล" ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ "ย่าเหล"  หล่อด้วยโลหะทองแดงรมดำ ณ บริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยย่าเหลจารึกไว้บนแผ่นทองแดงรมดำ ณ ฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย









รูปเยอะ ข้อมูลเยอะล่ะค่ะ จะเอาไว้อ่านเองด้วย จะตัดให้เหลือตอนเดียวด้วย








พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่คณะกรรมการลูกเสือ จังหวัดนครปฐม ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึง

พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อประชาชนชาวไทยเป็นอเนกประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดเสือป่าและลูกเสือไทย

พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากรในการออกแบบปั้นหล่อพระบรมรูปขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง

ในฉลองพระองค์เสือป่า ประทับพระเก้าอี้สนาม พระหัตถ์ขวาทรงปากกา พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดสำหรับจดบันทึกการซ้อมรบเสือป่า

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกได้เสด็จเป็นประธานในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

และได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปจากกรมศิลปากรมาประดิษฐาน ณ แท่นรองรับ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่  ๔  เมษายน  พ.ศ. ๒๕๒๙





ดอกพยับหมอก บริเวณรอบๆ พระบรมราชานุสาวรีย์

ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ก็มีดอกพยับหมอกเยอะเลยค่ะ (หรือจะเป็นดอกไม้ทรงโปรดฯ)














เทวาลัยคเณศร์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระคเณศ

หรือ พระพิฆเนศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ การประพันธ์ เป็นผู้ขจัดอุปสรรคและประทานความสำเร็จ

เทวาลัยคเณศร์  มีลักษณะเป็นแท่นคอนกรีตฐานสูง ด้านบนทำเป็นซุ้มหลังคาโค้ง มีลวดลายทองเหลืองหล่อประดับที่ซุ้ม และฐานที่ตั้งองค์พระคเณศ

เทวาลัยนี้ ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัธยาศัยโปรดศิลปวิทยาการและการประพันธ์เป็นพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้สร้างเทวาลัยคเณศร์ไว้ ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อความเป็นสิริมงคล






เราได้เห็นมุมอันซีนนี้ โดยเจ้าหน้าที่บรรยาย... มองเห็นยอดพระปฐมเจดีย์อยู่ไกลๆ





องค์เดิมตั้งแต่ครั้งแรกตั้งเทวาลัย คือองค์พระพิฆเนศวร ด้านบนค่ะ





เดินไปพระที่นั่งพิมานปฐมกัน











พระที่นั่งพิมานปฐม

เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ 

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระที่นั่ง เป็นอาคาร ๒ ชั้น สร้างแบบตะวันตก ผนังห้องเดิมเป็นผนังไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ มีการเปลี่ยนเป็นผนังคอนกรีต

พระที่นั่งนี้มีการตกแต่งชายคา ช่องลม กันสาด และลูกกรงระเบียง ด้วยแผ่นไม้ฉลุลายแบบเรือนขนมปังขิง (gingerbread) อย่างประณีตงดงาม

ภายในพระที่นั่งฯ ประกอบด้วยห้องต่างๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้  เช่น ห้องพระบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องพระภูษา และห้องเสวย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีห้องพระเจ้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้ปลูกสร้างโรงพิธีสำหรับหล่อพระพุทธรูปนี้ ณ ด้านข้างพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พร้อมกันนี้ทรงยกพระเศวตฉัตรกั้นเหนือพระพุทธรูป

และใช้ห้องพระเจ้า เป็นห้องพระประจำพระราชวังสนามจันทร์ ภายในห้องพระเจ้ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)






จุดอันเป็นที่ตั้งของห้องพระเจ้ามีความสำคัญและน่าสนใจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงประกาศให้เป็นจุด unseen ของจังหวัดนครปฐม

เนื่องจาก ณ ห้องพระเจ้าสามารถมองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์และเทวาลัยคเณศร์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระที่นั่งพิมานปฐมเป็นที่ประทับ ที่เสด็จออกขุนนาง

และที่รับรองแขกเมืองมากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่นๆ

ปัจจุบัน ภายในพระที่นั่งฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี






*** ภาพสแกนจากแผ่นพับค่ะ





ภายในพระที่นั่ง ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ












๑๕.๕๒ นาที  (ปิด ๑๖.๐๐ น.) ไม่มีเวลาแล้ว ถ่ายระยะไกลนะคะ





พระที่นั่งวัชรีรมยา

เป็นพระที่นั่งแฝดติดกับพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

ลักษณะอาคารทรงไทย หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ประดับตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง

ทำด้วยไม้ประดับกระจกอย่างวิจิตรงดงาม บันไดทางขึ้นพระที่นั่งมี ๒ ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก

มุขเด็จทางด้านทิศใต้ชั้นบนมีชานชาลาเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐม หน้าบันด้านทิศใต้ และทิศตะวันตก

จำหลักลวดลายมีลักษณะคล้ายกลักบรรจุพระราชสาส์นที่วางอยู่ในแนวนอน ปลายทั้งสองข้างแกะเป็นรูปบัวตูมและมีสายสะพายผูกโยง

ปลายทั้งสองข้างเป็นแนวโค้ง มีวงรัศมีซึ่งประดิษฐ์เป็นลวดลายกระหนกแผ่ออกไปโดยรอบ มีกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ล้อมรอบ

หน้าบันด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นรูปช้างเอราวัณ ๓ เศียร บนหลังช้างมีสัปคับมีเครื่องหมายวชิราวุธประดิษฐานอยู่ ล้อมรอบด้วยลวดลายกระหนกลงรักปิดทอง

 พื้นประดับกระจกสีน้ำเงินและมีลายกระหนกก้านขดประดับสองข้าง ส่วนล่างของหน้าบันด้านทิศใต้ระหว่างเสาหน้ามุขทำเป็นสาหร่ายรวงผึ้งอย่างวิจิตรงดงาม

 เพดานชั้นบนของพระที่นั่งวัชรีรมยา ทาสีแดงชาด (สีแดงเข้ม) ประดับดอกดวงที่ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนเพดานชั้นล่างทาสีแดงชาด

และปิดทองฉลุเป็นดาวประดับ เสาของพระที่นั่งเป็นลวดลายไทยลงรักปิดทองมีลวดลายบัวหงายประดับอยู่ที่หัวเสา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระที่นั่งวัชรีรมยาเป็นที่ทรงพระอักษร และเป็นที่ประทับเป็นครั้งคราว

ปัจจุบัน ได้จัดห้องพระบรรทม และห้องทรงอักษรให้มีบรรยากาศคล้ายคลึงกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว





สะพานสุนทรถวาย







หยอดเหรียญซื้ออาหารปลาจากตู้










พระตำหนักทับแก้ว





พระตำหนักทับแก้ว

เป็นตึกสองชัน้ขนาดเล็กกะทัดรัด ทาสีเขียวอ่อน ภายในมีเตาผิง หลังคามีปล่องไฟตามลักษณะของบ้านชาวตะวันตก

ห้องกลางชั้นบนมีพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนด้วยดินสอดำบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐานอยู่เหนือเตาผิง

ไม่ปรากฎหลักฐานว่า พระบรมสาทิสลักษณ์นี้เป็นฝีมือของผู้ใด

ในระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักทับแก้วได้ใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นที่ประทับในการพระราชทานเหรียญตรา และพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์แก่ข้าราชการ

ทั้งยังเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบท และเสวยพระสุธารสเป็นครั้งคราวด้วย





ไม่ได้เดินเข้าไปถ่ายใกล้ๆ  ๑๖.๐๔  น.   ปิดหมดแล้วค่ะ 











เทียบดูจากแผนที่ ถ้าผิดช่วยบอกด้วยนะคะ  Smiley

เรือนพระกรรติเกยะ




เรือนพระนนทิเสน








ภาพสแกนจากแผ่นพับค่ะ












Create Date :02 ตุลาคม 2558 Last Update :2 ตุลาคม 2558 12:15:39 น. Counter : 8392 Pageviews. Comments :31