bloggang.com mainmenu search




ตามที่ได้ทราบกันว่า กรมศิลปากร ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชม
พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 
ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

วันที่  8 พฤศจิกายน 2559  เรามารับหนังสือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
และ ๙๙ พระบรมราโชวาท  ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมแจก
ระหว่างรอคิวเข้ารับหนังสือ เลยถือโอกาสไปเดินดู




จากหลักฐานหนังสือ “เรื่องกรุงเก่า” กล่าวว่า มีโรงใส่พระมหาพิชัยราชรถอยู่ริมกำแพงคั่นท้องสนามหลวง หน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ภายนอกประตูพระราชวัง ชั้นกลางโรง 1 ซึ่งได้สูญไปกับเพลิงในสงครามครั้งเสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310

ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถ ใช้เป็นราชูปโภคสืบต่อมา 7 รถ จากหมายรับสั่ง รัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2386 กล่าวว่า มีโรงเก่าอยู่ที่ริมตึกดิน ทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้เกณฑ์เลกมาชักลากพระมหาพิชัยราชรถไปไว้ ที่โรงรถทำใหม่ ซึ่งอยู่แห่งใดไม่เป็นที่ปรากฏ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายโรงพระมหาพิชัยราชรถมาไว้ที่ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ตั้งเป็นโรงเก็บราชรถสำคัญ 2 โรง โดยให้อยู่ในความดูแลของกรมพระตำรวจ

ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) อยู่ในการกำกับดูแลของราชบัณฑิตยสภา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา จึงให้สร้างโรงราชรถขึ้นใหม่ลักษณะเป็นโรงหลังคาทรงจั่ว 2 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยมุขขวาง ภายในเปิดโล่งถึงกันโดยตลอดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2472

พ.ศ. 2536 กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โรงราชรถขึ้นใหม่ โดยต่อเติมมุขหน้า ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงราชรถสำคัญของแผ่นดิน รวมทั้งเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพในปัจจุบัน

//www.innnews.co.th/show/746872





พระมหาพิชัยราชรถ มีนามหมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เป็นมงคลนาม ตามคติการสร้างรถศึกของอินเดียโบราณ ใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เมื่อปี พ.ศ. 2339 

ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.80 เมตร ยาว 18 เมตรสูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.70 ตัน ตกแต่งด้วยชั้นเกริน ประดับกระหนกเศียรนาค กนกท้ายเกริน และรูปเทพนมโดยรอบ เปรียบเหมือนวิมานที่ประทับของเทวดา มีเทพพนม พญาครุฑ พญานาค เปรียบเสมือนการเหาะกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ เพราะจะมีเทวดามาแห่แหนกลับสู่สวรรค์ 




พระมหาพิชัยราชรถ ใช้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมชนก พระราชชนนี พระอัครมเหสี และพระมหาอุปราช 

ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้เป็นพิเศษ 

ครั้งสุดท้ายใช้ในการอัญเชิญพระโกศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

ออกพระเมรุท้องสนามหลวง ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2555





พยายามหามุม ถ่ายยากมากค่ะ มุมแคบมาก



เจ้าหน้าที่บรรยาย ความเป็นมา ความสำคัญ ของพระมหาพิชัยราชรถ








ป้ายอธิบาย ทำดีเลยค่ะ 















หีบกุดั่นลายมังกร






หีบกุดั่นลายยา





เจ้าหน้าที่บรรยายนำชมค่ะ





อัปสรสีหะ



นกทัณฑิมา 




กินรี








เกรินบันไดนาค อุปกรณ์ที่ใช้อัญเชิญพระโกศขึ้นสู่ราชรถ โดยการหมุนกว้านเลื่อนแท่นที่วางพระโกศ ขึ้นไปตามรางเลื่อนไม้จำรูปนาค จึงเรียก เกรินบันไดนาค แท่นที่วางพระโกศ เป็นแท่นสี่เหลี่ยม ท้ายเกริน มีลักษณะคล้ายสำเภา สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลา ขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ ประดิษฐ์ขึ้นโดย สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2355 สำหรับเกรินบันไดนาค มีความเชื่อว่า เป็นสะพานสายรุ้ง เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามความเชื่ออีกอย่างตามพระปฐมสมโพธิกถา ประวัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนเสด็จกลับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เสด็จกลับโดยบันไดนาค








สำหรับ พระมหาพิชัยราชรถ, เวชยันตราชรถ, ราชรถน้อย, เกรินบันไดนาค และ ยานมาศสามลำคาน เป็นสิ่งที่ใช้ซ้ำ ในงานพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ พระบรมศพ เจ้านายชั้นสูง ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สิ่งที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ กันได้คือ พระโกศจันทน์

คำว่า “โกศ” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า เครื่องหุ้ม หรือ ครอบ พระบรมโกศ พระโกศ คือที่ใส่พระบรมศพ และพระศพเจ้านาย ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ กับโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ตามคตินิยมของพราหมณ์ที่เชื่อว่า ต้องตั้งพระศพในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งพระศพและพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งพระโกศจันทน์ ก็จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า เจ้านายพระองค์ใด ลงประทับพระโกศด้วยพระอิริยาบทใด ทั้งแบบนั่ง หรือแบบนอน 

พระบรมโกศ หมายถึง ที่ใส่พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี 
พระโกศ หมายถึง ที่ใส่พระศพ พระบรมวงศ์ ราชวงศ์ 
โกศ หมายถึง ที่บรรจุศพคนสามัญทั่วไป 

ในส่วนของ พระโกศจันทน์ ในสมัยก่อนจะเป็นสิ่งที่ถวายพระเพลิงไปกับพระศพ หรือ พระบรมศพ ด้วย แต่ปัจจุบัน ตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นต้นมา พระโกศจันทน์ จะถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในโรงราชรถ













การนำราชรถออกไปใช้ จะไม่มีการทุบรั้ว หรือ ประตูโรงราชรถ เพราะประตูโรงราชรถ สามารถเปิดได้ แต่สิ่งที่ต้องทุบคือ รั้วพิพิธภัณฑ์ จะต้องมีการรื้อเต็นท์สีขาวเพื่อก่อสร้างถนน เพื่อให้ราชรถออกได้ ต้องทุบออก 4 ช่อง เพื่อนำราชรถออกจากพิพิธภัณฑ์ หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี ก็จะชักราชรถ เข้ามาเก็บไว้ในโรงราชรถ แล้วรื้อถนนออก และก่อรั้วขึ้นเหมือนเดิม เพื่อเป็นเคล็ดที่ว่า ราชรถที่เก็บในโรงราชรถ จะได้ไม่ต้องออกไปอีก เปรียบเสมือนว่าจะไม่มีพระราชวงศ์องค์ใดสิ้นพระชนมายุอีก

วันที่ 19 ธันวาคม 2559  เวลา 14.49 น. ได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถพระยานมาศ และเครื่องประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มี พล.อ.ธนะศักดิ์ เป็นประธาน ตามด้วยพิธีรับมอบไม้จันทน์หอม สำหรับจัดสร้างพระโกศในเวลา 15.09 น. วันที่ 20 ธันวาคม ที่สำนักช่างสิบหมู่ รองอธิบดีกรมศิลปากร ระบุต้องรื้อเปลี่ยนกระจก-ปิดทองคำเปลวบางส่วนของ “องค์พระมหาพิชัยราชรถ” และจะบูรณะ “พระที่นั่งราเชนทรยาน” ที่ใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระสรีรางคาร ไปพร้อมกัน 

//www.thairath.co.th/content/813706



Create Date :17 กุมภาพันธ์ 2560 Last Update :17 กุมภาพันธ์ 2560 5:16:00 น. Counter : 7702 Pageviews. Comments :34