Journey Journal with NineNoname

<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 มกราคม 2555
 

ท่องพุทธคยา…ดินแดนแห่งพุทธภูมิ


     เพิ่งกลับจากอินเดียมาครับ...เอาบุญมาฝากทุก ๆ ท่าน และเอารูปมาเล่าเรื่องให้อ่านเช่นเคย หลายคนคงถามเหมือนกับที่ผมถามตัวเองว่า “ไปทำไม” ... สารภาพตามตรงว่าจริง ๆ แล้วประเทศนี้น่าจะอยู่ท้าย ๆ ในรายชื่อประเทศที่อยากไป เพราะสิ่งที่ได้ยินมาเกี่ยวกับประเทศนี้ทำให้ไม่ค่อยอยากเดินทางไปนัก (ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นอย่างที่เขาเล่าขานกันมานั่นแหละ) แต่คราวนีตัดสินใจไม่ยาก เพราะป็นโอกาสที่ได้ติดตาม สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทร์ และยังได้ร่วมพิธีบรรพชา-อุปสมบทพระสงฆ์ 24 รูปที่วัดป่าพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนม์ ๘๔ พรรษา องค์ราชันย์อีกด้วย ... ไม่ไปไม่ได้แล้ว



     เราเดินทางด้วยเที่ยวบินของการบินไทยเที่ยวบินที่ TG8820 ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิตอนเที่ยงนิด ๆ ถึงสนามบิน Gaya ประเทศอินเดีย ประมาณบ่าย 2 โมง ใช้เวลาบินประมาณ 3 ชั่วโมง โดยเวลาที่ Gaya จะช้ากว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมงครึ่ง อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 บาทจะแลกเป็นเงินรูปีห์ได้ประมาณ 1,500 รูปีห์ โรงแรมที่เราพักในครั้ง นี้เป็นโรงแรม 5 ดาวกันเลยทีเดียว (5 ดาวอินเดีย) ชื่อโรงแรม Royal Residency Hotel … ไปดูสภาพ … เอ๊ย ... ไปดูภาพห้องพักกันครับ



ห้องพักกว้างขวาง...ใหญ่โต...ขาดแต่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ยังไม่ดีนัก



     “จงมองอินเดียอย่างที่อินเดียเป็น อย่ามองอินเดียอย่างที่เราอยากให้เป็น” เป็นประโยคที่ทำให้เรา “ปลง” ได้ดีจริง ๆ ก็ในเมื่อเขาเป็นอย่างนี้ ... เรามาดูบ้านเมือง ดูการใช้ชีวิตของเขา เราก็ควรจะเห็นอย่างที่เขาเป็นจริง ๆ ... เข้าใจครับ ... แต่ก็ต้องทำใจนานนิดนึง ... อิอิ ...


     การเดินทางไปอินเดียสิ่งแรกที่ควรเลือกคือ “บริษัททัวร์” ที่ควรจะชำนาญและมีการเตรียมอาหารไปทำให้เราที่นู่นด้วย เนื่องจากอาหารพื้นเมืองจริง ๆ อาจจะเสี่ยงกับอาการท้องเสียได้ ส่วนสิ่งของที่ผมว่าจำเป็นและควรเตรียมไปด้วยก็คือ กระดาษทิชชู่ทั้งแบบเปียกและแบบแห้ง น้ำยาล้างมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ผ้าปิดจมูกปิดปาก ถุงเท้าแบบใช้แล้วทิ้งเลย ยาดมและยากันยุง (ถ้าจะสวดมนต์หรือนั่งสมาธิกลางแจ้งตอนคํ่า...ยุงตัวใหญ่มาก...ขอบอก)



บรรยากาศบริเวณทางเดินเข้าสู่พระมหาเจดีย์ฯ


     วันแรกเราไปถึงประมาณบ่าย 2 โมงจริง แต่กว่าจะได้ออกมาจริง ๆ เกือบ 4 โมง เนื่องจาก 6 เคาท์เตอร์ของด่านตรวจคนเข้าเมืองเปิดแค่เคาท์เตอร์เดียว ... แต่ทำงานหลายคน ... คือนั่งตรวจกับคอมพิวเตอร์แค่คนเดียว แต่มีอีก 2-3 คนมาช่วย ทั้งรับพาสปอร์ต จัดหน้าวีซ่า เรียงเล่ม ฯลฯ ... เหอ เหอ ... ทำทำไมครับพี่ครับ ... ผู้โดยสาร 200 กว่าคน ... ผมว่าไปเปิดเคาท์เตอร์เพิ่มจะเร็วกว่าและดีกว่านะครับนายยยยย ... อีนี่ผมไม่เข้าใจครับนายยยยยย ... 555 ... หลังจากเก็บเสื้อผ้าและพักผ่อนสักเล็กน้อย ... เราก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ “พระมหาเจดีย์ศรีพุทธคยา” กัน โดยคืนนี้สมเด็จฯ จะเป็นประธานนำสวดมนต์ นั่งสมาธิ ตรงพระมหาเจดีย์ฯ และเดินเวียนเทียนรอบพระมหาเจดีย์ฯ (รอบใหญ่) อีกด้วย ... อิ่มบุญกันถ้วนหน้าจริง ๆ ทริปนี้



สวดมนต์ นั่งสมาธิ และเวียนเทียนบริเวณพระมหาเจดีย์ฯ


     หลังจากสวดมนต์ นั่งสมาธิและเดินเวียนเทียนเรียบร้อย เราก็เข้าไปสักการะองค์หลวงพ่อพุทธเมตตา พระพุทธปฏิมากรปางชนะมาร ที่รอดพ้นจากการถูกทำลายจากน้ำมือกษัตริย์ฮินดูมาได้อย่าง ปาฎิหาริย์ ปัจจุบันมีอายุกว่า 1,400 ปี ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหาเจดีย์พุทธคยา ด้วยพระพักตร์ที่แสดงออกถึงความเมตตานี้เองที่ทำให้ชาวพุทธจากทั่วโลกต่างพากันเข้ามากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย



องค์หลวงพ่อพระพุทธเมตตาภายในพระมหาเจดีย์ศรีพุทธคยา


     เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่จะทำพิธีบรรพชา-อุปสมบทกัน เริ่มกันตั้งแต่ 7 โมงเช้าออกเดินทางไปพระมหาเจดีย์ฯ อีกครั้งเพื่อไปถ่ายภาพหมู่กับพระมหาเจดีย์ฯ เป็นที่ระลึกก่อนจะบรรพชาแต่สภาพอากาศอย่างที่เห็น ทำให้ไม่เห็นพระมหาเจดีย์เบื้องหลังได้ เลยถ่ายกันได้แต่ภาพหมู่ที่มีฉากหลังสีขาว



บรรยากาศตลาดยามเช้าริมทางเดินเข้าพระมหาเจดีย์ศรีพุทธคยา


     เมื่อเก็บภาพกันเป็นที่เรียบร้อย เราก็ออกเดินทางไปยังวัดป่าพุทธคยา เพื่อทำพิธีปลงผมนาค   โดยวัดป่าพุทธคยาอยู่ถัดจากพระมหาเจดีย์ฯ ไปอีกประมาณ 500 เมตรเท่านั้น แต่บรรยากาศเย็นและมีหมอกหนาขนาดนี้ สมเด็จฯ ท่านเลยให้เข้าไปทำวัตรเช้า สวดมนต์กันก่อน เพราะไม่อย่างนั้นบรรดานาคทั้งหลายอาจจะไม่สบายได้ ... ท่านสั่งว่ากำหนดการมีไว้ แต่ให้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศและปัจจัยต่าง ๆ ณ. ขณะนั้น ... ถ้าสวดมนต์ ทำวัตรเสร็จแล้วอากาศยังไม่ดี ก็อาจจะไปปลงผมกันที่โรงแรมก็ได้



สถานที่ประกอบพิธี โดยเบื้องหลังที่เกือบเห็นนั่นคือพระอุโบสถวัดป่าพุทธคยา



บรรยากาศภายในพระอุโบสถและขณะเตรียมปลงผมนาค


     แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อหละครับ ... หลังจากสวดมนต์ ทำวัตรเช้าเสร็จ อากาศที่ปิด ๆ อยู่ก็มีแนวโน้มว่าจะเปิด เริ่มมีแสงแดดสาดส่องเข้ามา ทำให้เราสามารถประกอบพิธีปลงผมนาคได้ที่วัดป่าพุทธคยาแห่งนี้ไม่ต้องย้ายไปที่โรงแรมอย่างแผนสำรองที่วางไว้ แต่ด้วยเวลาที่ล่วงเลยไปพอสมควร เราเลยต้องปรับแผนอีกครั้ง โดยกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมกันก่อน เพราะเดี๋ยวจะเลยเวลาเพลซะ หลังจากนั้นค่อยกลับมาทำพิธี บรรพชา-อุปสมบทกันภายในพระอุโบสถอีกครั้งหนึ่ง ...



... บรรยากาศการปลงผมนาค ...


     สำหรับอาหารการกินในครั้งนี้ทางสมเด็จฯ และทางบริษัททัวร์จัดไปเต็มที่ นอกจากอาหารบุฟเฟ่ต์ของทางโรงแรมแล้ว ยังมีอาหารไทยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอด มื้อละ 2-3 อย่างกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าจบทริปแทนที่จะผอมเพราะมาอินเดีย อาจจะกลายเป็นอ้วนท้วนสมบูรณ์ได้...555...อ้อ...นอกจากไม่แนะนำให้ทานอาหารข้างนอกแล้ว  “น้ำ” ที่จะทานก็ควรทานจากขวดที่บรรจุเรียบร้อย    “น้ำแข็ง” นี่ก็ไม่ควรทานด้วยนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำที่เขาเอามาทำนั้นมาจากไหน สะอาดหรือเปล่า



บรรยากาศการแห่นาคเพื่อเข้ามาบรรพชา-อุปสมบทที่วัดป่าพุทธคยา


     หลังจากทานอาหารกันเรียบร้อยเราก็กลับมาตั้งขบวน “แห่นาค” เดินเข้าไปยังวัดป่าพุทธคยาเพื่อเข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบทกัน โดยหลังจากแห่เข้ามาในวัดแล้วก็เดินรอบพระอุโบสถ 3 รอบก่อนจะเข้าไปประกอบพิธีกันภายใน...รู้สึกว่าอายุเยอะก็งานนี้หละครับ ... เดิน 3 รอบก็ว่าแย่แล้ว นี่เล่นวิ่ง 3รอบโบสถ์ ... เพื่อถ่ายรูป ... เล่นเอาขาแข้งสั่นกันเลยทีเดียว ...555 ...



บรรยากาศการบรรพชาภายในพระอุโบสถ


     หลังจากบรรพชาเสร็จก็ต่อด้วยการอุปสมบทกันเลย ... นี่ขนาดไม่ได้พักเลยนะครับกว่าจะครบทั้ง 24 รูปก็เล่นเอามืดคํ่ากันเลยหละ...ยากันยุงจะได้ใช้ก็งานนี้แหละครับ ยุงตัวใหญ่มาก เราเพิ่งมาร่วมแค่งานบวช แต่ท่าทางยุงเหล่านี้จะมางานเลี้ยงฉลองพระใหม่เลย ... เหอ เหอ ... น่ากลัวมาก หลังจากอุปสมบทกันครบก็ออกเดินไปยังมหาเจดีย์ ฯ เพื่อเวียนเทียนกันอีกหน ก่อนจะกลับไปรับประทานอาหารและพักผ่อนกัน...ไปชมภาพบรรยากาศการอุปสมบทกันครับ



บรรยากาศการอุปสมบทภายในพระอุโบสถ



     พุทธคยา...คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรครับ ใครตอบได้บ้าง เล่ามาจนจะจบแล้วยังไม่ได้พูดถึงเลย ... พุทธคยา เป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ใช่แล้วครับที่นี่นอกจากจะมี พระมหาเจดีย์พุทธคยา ซึ่งภายในมี องค์หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ประดิษฐานอยู่แล้วยังมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา และ โพธิบัลลังก์พระแท่นวัชรอาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ฯ อีกด้วย



พระมหาเจดีย์พุทธคยา



ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา และ โพธิบัลลังก์พระแท่นวัชรอาสน์


     สี่สิ่งสำคัญภายในดินแดนพุทธภูมินอกเหนือจากพุทธคยาซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีอีก 3 แห่งนั่นคือ สวนศักดิ์สิทธิ์ลุมพินีวัน (Lumbini) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนางสิริมหามายา ได้ให้พระประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พาราณสี (สารนาถ) ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีธัมเมกขะสถูป เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ สถานที่สุดท้ายในสี่สังเวชนียสถานทางพุทธศาสนานั่นก็คือ กุสินารา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือ ป่าไม้สาละ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน และยังเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าอีกด้วย



พระอุโบสถวัดป่าพุทธคยา


     จริง ๆ แล้วทริปนี้หลังจากอุปสมบทเสร็จก็จะออกเดินทางไปยัง 3 สังเวชนียสถานที่กล่าวถึงข้างต้น และสถานที่สำคัญ ๆ ในพุทธศาสนาอีกหลายแห่ง แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการผมเลยไม่สามารถไปกับคณะได้ครบทั้งสี่แห่ง เก็บแค่ภาพและความทรงจำเพียงแห่งเดียวมาเล่าสู่กันอ่านแล้วกันครับ ... การเดินทางหมื่นลี้เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ ขอให้มีความสุขและสนุกกับการเดินทางครับ ...






Free TextEditor


Create Date : 10 มกราคม 2555
Last Update : 10 มกราคม 2555 20:13:57 น. 2 comments
Counter : 4755 Pageviews.  
 
 
 
 
เป็นทริปที่สวยสดงดงามมากค่ะ
ฉัตรขออนุญาตเอาไปแชร์ที่หน้าเพจบล๊อกแก๊งค์ที่เฟชบุคนะคะ
(ที่หน้าบล๊อกฉัตรก็มีนะคะ เข้าไปชมได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ)
 
 

โดย: ณ ปลายฉัตร วันที่: 10 มกราคม 2555 เวลา:22:56:33 น.  

 
 
 
ยินดีครับ...ขออภัยที่ตอบช้าไปหน่อย เพิ่งมีเวลาเข้ามา Upblog นี่แหละครับ...555
 
 

โดย: iamnoname วันที่: 26 พฤษภาคม 2555 เวลา:11:12:48 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

iamnoname
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]





[Add iamnoname's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com