" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 
16 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
070. Of Power ว่าด้วย อำนาจ

อำนาจ

นักสังคมวิทยานิยาม อำนาจ ว่าเป็นความสามารถในการกำหนดให้ผู้อื่นเป็นหรือกระทำตามความต้องการของตนเอง แม้ว่าผู้อื่นจะขัดขืนก็ตาม

"อำนาจ หมายถึงโอกาสที่มีอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ทำให้บางคนสามารถกระทำตามความตั้งใจ แม้ว่าจะมีการขัดขวาง โดยไม่ขึ้นกับหลักการที่รองรับโอกาสนั้นๆ"
มักซ์ เวเบอร์, แนวคิดพื้นฐานของสังคมวิทยา
การกำหนดนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีการบีบบังคับ (ด้วยกำลังหรือด้วยการขู่ว่าจะใช้กำลัง) ดังนั้น "อำนาจ" ในแนวคิดทางสังคมวิทยา จึงมีความหมายครอบคลุมถึงอำนาจทางกายภาพและอำนาจการเมือง ในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน คำว่า "อำนาจ" จะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "อิทธิพล" (ในภาษาอังกฤษ: "influence")

ถ้าจะกล่าวในกรณีทั่วไปมากกว่านี้ เราสามารถนิยาม "อำนาจ" ว่าเป็นความสามารถฝ่ายเดียว หรือเกือบจะฝ่ายเดียว, หรือศักยภาพในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอะไรบางอย่าง ซึ่งมักจะเป็นชีวิตของผู้คน ผ่านทางการกระทำของตนเอง หรือผู้อื่น.

การใช้อำนาจดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะต้องการสังคม และอยู่รวมเป็นกลุ่ม




Link: "พระราชอำนาจ"



Create Date : 16 กันยายน 2550
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 16:45:26 น. 4 comments
Counter : 914 Pageviews.

 
อำนาจและพลังทางสังคม 3 ชนิด

หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นการเก็บความมาจากการบรรยายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งบรรยายให้กับนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าฯ (ที่เดินทางมาศึกษาภาคสนาม ณ เขตจังหวัดภาคเหนือ) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ สวนบันรีสอร์ท อ.หางดง ในวันที่ 3 มิถุนายน 2543 เวลา 8.30 น. (ข้อมูลที่เก็บความมานี้ ได้มีการปรับปรุงขึ้นมาใหม่และจัดแยกหัวข้อตามที่ผู้เรียบเรียงเข้าใจ และประยุกต์ให้เข้ากันกับสื่ออิเล็คทรอนิค. ดังนั้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เรียบเรียงขอรับผิดชอบต่อข้อมูลเหล่านี้ที่นำเสนอ. สมเกียรติ ตั้งนโม)

พลังทางสังคมออกเป็น 3 ส่วนคือ

พลัง”พลานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งมาจากการใช้กำลัง เป็นอำนาจของการใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหา พลังชนิดนี้ ยิ่งใช้ความรุนแรงมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากมากทั้งฝ่ายที่ถูกกระทำและฝ่ายที่กระทำ และในท้ายที่สุดผู้ใช้ความรุนแรงนั้นก็จะอยู่ไม่ได้. (สังคมที่ใช้พลังแบบ”พลานุภาพ”นี้ เป็นสังคมในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน และมักเป็นสังคมที่ล้าหลัง)

พลัง”ธนานุภาพ” หมายถึงพลังอำนาจซึ่งได้มาจากการใช้อำนาจทางการเงิน แทรกซึมเข้ามาในการแก้ปัญหา หรือเข้าแก้ปัญหาโดยตรง. อำนาจที่มาจากเงินนี้ไม่มีสัญชาติ แผ่ซ่านแทรกซึมไปได้ทั่วและซับซ้อน มีความแนบเนียนจนผู้ที่ถูกใช้อำนาจชนิดนี้ไม่ทันรู้ตัว ดังนั้น จึงเป็นอันตรายมากเพราะผู้ถูกกระทำไม่ทันได้ระวังตัวเหมือนกับคนที่ใช้ความรุนแรงกับเรา

พลัง”สังคมานุภาพ” หมายถึงพลังทางสังคมหรือชุมชน บางท็เรียกว่า”ประชานุภาพ” พลังชนิดนี้เชื่อใน”อำนาจของความรู้”ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำ และการระดมสมองเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นอำนาจในลักษณะของการประสานร่วมมือกัน อำนาจความรู้นี้มีความยั่งยืน. สำหรับ”สังคมานุภาพ”นี้ เป็นพลังอำนาจที่รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่จริงทางภูมิศาสตร์หรือทาง cyber space ก็ได้ โดยผ่านสื่ออีเล็คทรอนิค ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พลังเช่นนี้จึงมาจากหลายแหล่งความคิด และมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทุกชนิด โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

2. รูปธรรมโครงสร้างทางอำนาจ

รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”พลานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวดิ่งจากบนลงล่างตามลำดับ มีการสั่งการและมีผู้ปฏิบัติตาม. โครงสร้างทางอำนาจชนิดนี้มีลักษณะของผู้ชาย และอำนาจไม่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อผู้มีอำนาจแบบนี้ตายลง โครงสร้างนี้ก็จะเสื่อมทรุดลง หรือบางครั้งก็พังครืนลงมา

รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”ธนานุภาพ” มีลักษณะเป็นแนวดิ่งและแนวนอน ทั้งในลักษณะของการสั่งการของผู้มีอำนาจเงินมากกว่าลงมาตามลำดับ และการแพร่กระจายไปตามแนวนอนแบบเชื้อโรค อีกทั้งยังทำงานร่วมกับอำนาจแบบ”พลานุภาพ”ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้อำนาจความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น. ส่วนการสืบทอดอำนาจนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

รูปธรรมทางโครงสร้างพลัง”สังคมานุภาพ” จะเป็นไปในลักษณะแนวนอน และร่วมประสานความร่วมมือ อำนาจนี้มีความยั่งยืนกว่า และเป็นอำนาจแบบผู้หญิง คือถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีลักษณะของความเป็นผู้นำที่โดดเด่น หรือการสืบทอดอำนาจตลอดกาล

3. สังคมานุภาพ

สังคมานุภาพ เกิดขึ้นมาได้จากหลายๆสาเหตุ บางครั้งเริ่มต้นขึ้นมาจากการพยายามหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ อาจเริ่มจากความทุกข์ของปัจเจกชน และพัฒนาไปสู่การร่วมกันกับคนที่มีความทุกข์อย่างเดียวกัน และพยายามค้นหาทางออกพร้อมๆกัน. การร่วมทุกข์นี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าจะทำให้ความรู้สึกทุกข์นั้นน้อยลง และที่สำคัญ การร่วมทุกข์ทำให้ได้มีการปรับทุกข์ ได้รับการปรึกษาหารือกัน จากหนักกลายเป็นเบา

4. หลักธรรมแห่งสังคมานุภาพ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับพลังแห่ง”สังคมานุภาพ”คือ หลักแห่ง”อปริหานิยธรรม”(หรือ ธรรมะที่ไม่ทำให้ฉิบหาย)[ปริหานิยธรรม – ธรรมแห่งความฉิบหาย] ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้มีการ”หมั่นประชุมกันเนืองนิจ”

ในหนังสือเรื่อง Making Democracy World : civic tradition of modern Itary เป็นหนังสือเกี่ยวกับการไปศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของประเทศอิตาลีว่า ทำไมเมืองมิลาโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี จึงมีความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง, แต่พอมาศึกษาที่ซิซิลี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ทำไมจึงพบว่ามีแต่การคอรัปชั่น การฆ่ากัน การโกงกัน และมาเฟีย. ผมสรุปของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบนี้ออกมาคือ เป็นเพราะเมืองมิลาโนมีประชาคม ในขณะที่ซิซิลีไม่มีประชาคม. การมีประชาคม ทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมดี มีศีลธรรม

สรุปทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ หากใช้คำพูดที่รวบรัดและสั้นที่สุดก็คือ “ประชาคม”, “ประชาสังคม”, และ”ความร่วมมือกัน”นั่นเอง

Resource:
//www.geocities.com/midnightuniv/newpage77.htm



โดย: ทฤษฏี 3 อำนาจ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะศี (moonfleet ) วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:9:53:44 น.  

 
ความลับ เรื่อง อำนาจ (ตอนจบ)
- ดาวรุ่ง รัตนพยากรณ์ จากหนังสือแลใต้ -

ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ รำคาญกับการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้ในหลายแง่มุม และมักทำ อย่างเสียไม่ได้ นั่นเป็นการสำคัญผิด ของข้าราชการที่คิดว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้น หล่นมาจากฟ้า แท้จริงแล้วอำนาจ ที่เขาใช้อยู่ (โดยได้รับเงินเดือน) นั้นมาจากการที่ประชาชน มอบให้ การตรวจสอบของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติ ของเจ้าของอำนาจ

ถ้าเราสังเกตจากตนเองในชีวิตประจำวัน เราจะพบว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะเสพติดอำนาจ อยากให้มีอยู่ อย่างถาวร และมีเพิ่มขึ้นไปอีก องค์กรต่างๆ ในสังคมก็เช่นนั้น เพราะองค์กร ประกอบขึ้นด้วย คนที่มีลักษณะดังว่านั้น การพยายาม แผ่ขยายอำนาจ ของบุคคล และองค์กร จึงเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนเจ้าของอำนาจเห็นด้วยหรือไม่ ในทางการเมือง สามารถ จำกัด การแผ่ขยายอาณาจักร ที่ว่านั้นได้ง่าย เพราะแต่ละองค์กร จะถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่า มีภาระหน้าที่อย่างไร แค่ไหน แต่ในทางเศรษฐกิจจะทำยากกว่า เพราะธุรกิจ ดำเนินการโดยเอกชน นับล้านๆ คน อย่างไรก็ตามเมื่อการแผ่ขยายอำนาจถึงระดับหนึ่ง คนจะรู้ว่า มันมีผลกระทบ กับสังคม สังคมจึงผลักดัน ให้การเมือง เข้ามากำกับควบคุมการออกกฎหมาย จำกัดการผูกขาด การค้า จำกัดการถือครองที่ดิน คือตัวอย่างที่สังคมจะจำกัดการขยายอำนาจของธุรกิจ (แต่ธุรกิจ ก็ใช้อำนาจทางการเมืองของตนเองมาคัดค้านกฎหมายดังกล่าวอยู่)

แต่ถึงแม้ไม่มีการจำกัดการแผ่ขยายอำนาจด้วยอำนาจทางการเมืองหรือกฎหมาย ธรรมชาติ ก็จะมีวิธีควบคุม การขยายอำนาจ อยู่ในตัวเองเช่นกัน

ไม่มีเจ้าพ่อคนไหนเลยที่จะไม่ถูกท้าทายอำนาจ ไม่ว่าจะควบคุมบ้านเมืองได้เบ็ดเสร็จเพียงใดก็ตาม เจ้าพ่อส่วนใหญ่ จึงไม่ตายดีสักคน คนที่ตายดีส่วนใหญ่ จะเข้าใจธรรมชาติของอำนาจ ที่ต้อง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป จัดระยะห่าง กับศูนย์กลางอำนาจอื่นๆ ได้เหมาะสม ยามใดที่มี ความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เจ้าพ่อจะฆ่ากันเพราะล้ำเส้นกัน

ในทางการเมืองเหตุผลที่ต้องมีการกระจายอำนาจก็เหตุผลเดียวกัน เดิมทีชุมชนต่างๆ เป็นคนจัดการ บ้านเมืองของตัวเอง มีวิธีหาทรัพยากร มีวิธีจัดการ แบ่งผลประโยชน์ ในรูปแบบ ต่างๆ ในท้องถิ่น ระบบเจ้าที่ดิน กินบ้านกินเมืองก็เป็นระบบหนึ่ง ไม่มีระบบ แบบประเทศ เสียด้วยซ้ำ เมื่อมีประเทศ ขึ้นมา มีการรวมศูนย์การจัดการไว้ที่เมืองหลวง มีการเก็บภาษี เพื่อสนับสนุน การใช้อำนาจ ทางการเมือง การปกครองกว่า ๑๐๐ ปีผ่านไปของการรวมศูนย์อำนาจ รัฐบาลกลางเริ่มเห็นว่า ถ้ารวมศูนย์ต่อไปจะอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชน เจ้าของอำนาจ ไม่ยินยอม อีกต่อไป คนในท้องถิ่น ต้องการเก็บภาษีเอง ต้องการจัดการบ้านเมืองเอง ต้องการเลือกคนบริหาร ท้องถิ่นเอง เราจึงพบว่า กฎหมายการให้มีองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น คนส่วนใหญ่เห็นด้วย และผ่านออกมาอย่างรวดเร็ว

การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นนั้นหาใช่บังเกิดผลขึ้นมาจากความริเริ่มของนักการเมือง คนดี คนใด คนหนึ่งไม่ แต่เป็นความจำเป็น ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องทำแบบนี้ ทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่ทำรัฐบาลกลาง ที่รวบอำนาจ มานานกว่า ๑๐๐ ปี (ดูอายุกระทรวงต่างๆ) จะอยู่ไม่ได้ เพราะแรงเสียดทานจากท้องถิ่น ที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ความลับจึงเป็นว่า บุคคล หน่วยงานหรือสถาบันต่าง ๆ ที่ต้องการอยู่ในอำนาจ ให้ได้นาน ต้องมีการแบ่งสรร กระจายอำนาจ ให้กับบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันอื่นๆ อย่างเหมาะสม ถ้าจะกินคนเดียวตลอดไป จะตายหนังสือพิมพ์คลุมหน้า บนถนน เหมือนดังเจ้าพ่อ ทั้งหลายนั้นเอง

ความลับประการสุดท้ายเรื่องอำนาจต้องย้อนกลับไปที่แหล่งที่มาของอำนาจ คนหรือสถาบัน จะมีอำนาจอยู่ได้ ไม่เพียงได้รับมอบหมาย จากเจ้าของอำนาจเท่านั้น แต่ต้องได้รับการยอมรับด้วย หน่วยงานต่างๆ แม้ว่าจะมีกฎหมายมอบอำนาจให้ จากประชาชนแล้ว แต่ถ้าทำตัว ไม่น่านับถือ แม้ว่าประชาชนยังไม่สามารถเขียนกฎหมายใหม่ได้ แต่ประชาชนไม่ยอมรับ อำนาจของ หน่วยงานนั้น ก็หมดไป กฎหมาย ให้อำนาจตำรวจ ทหารในการปราบปราม คนที่ก่อความไม่สงบ แต่เมื่อคนที่ก่อความไม่สงบ คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่พอใจ (ไม่ยอมมอบอำนาจให้) รัฐ ตำรวจ ทหารก็ไม่อาจใช้อำนาจอย่างได้ผล ดังกรณี เหตุการณ์นองเลือด หลายครั้ง ในประวัติศาสตร์ไทย รวมทั้งเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี ๒๕๓๕ ความหมายก็คือ เมื่อเจ้าของ อำนาจถอนอำนาจ อำนาจของหน่วยงานนั้น จะเหลือเพียง อำนาจในกระดาษ ถ้ายังขืนใช้อำนาจ ก็จะกลายเป็นการขุดหลุมฝังตนเอง ดังที่ทหารถูกประณาม ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนเป็นประวัติที่ด่างพร้อย ลบไม่ออก จนถึงปัจจุบัน

ในระดับปัจเจกชน เป็นที่รู้กันใน หมู่นักต่อสู้แบบสันติวิธีว่าวิธีสลายอำนาจของผู้มีอำนาจ คือการไม่ยอมรับ อำนาจนั้น ไม่ว่าในทางกฎหมาย หรือประเพณี องค์กรนั้นจะมีอำนาจอยู่ก็ตาม ซึ่งถูกแปรมาเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธี ที่เรียกว่าการดื้อแพ่ง ของพลเมือง (Civil disobedience) ตัวอย่างเช่น มีกฎหมายห้ามเดินขบวน ใครเดินขบวนผิดกฎหมาย ตำรวจจับเข้าคุกได้ ประชาชน เห็นว่า นี่เป็นกฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรม เป็นกฎหมายที่เขาผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ไม่ยอมรับ ไม่อนุมัติ แต่รัฐยังดึงดันใช้กฎหมายนี้ ก็มีคนจำนวนมาก มาเดินขบวน ยอมให้มีการจับ กันทั้งประเทศ ตำรวจยังมีอำนาจตามกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจจัดการอะไรได้ เพราะคนลุกฮือกัน ขึ้นมาทั้งประเทศ ตำรวจไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้ เท่ากับไม่มีอำนาจหลงเหลืออยู่

ในทางธุรกิจ การไม่ยอมรับอำนาจของธุรกิจคือการไม่ซื้อสินค้าและบริการ การเคลื่อนไหว เป็นขบวนใหญ่ ของประชาชน คือการบอยคอต (boycott) ซึ่งจะให้ธุรกิจพังทลาย ในชั่วข้ามคืน

แม้แต่ในครอบครัวพ่อแม่จะมีอำนาจเหนือลูกอยู่ได้เพราะลูกยังยอมรับการใช้อำนาจ ถ้าวันใด ที่ลูกๆ บอกว่า เขาไม่ยอมรับอำนาจ ไม่เชื่อฟัง ไม่ว่าจะถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม อำนาจของพ่อแม่ ก็จะหมดไป แม้ว่าสังคมจะยอมรับว่า เขายังเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านั้นอยู่ก็ตาม

อำนาจจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม จะเบ็ดเสร็จขนาดไหนก็ตาม คนใช้อำนาจยังใช้มันได้อยู่ ตราบเท่าที่ คนที่ถูกใช้อำนาจยอมรับ วันใด ที่คนถูกใช้อำนาจ ไม่ยอมรับ คนที่ใช้อำนาจ จะไม่มีอำนาจอีกต่อไป ไม่ว่าประเพณี วัฒนธรรมหรือกฎหมาย ให้อำนาจไว้ ขนาดไหนก็ตาม

ความลับเรื่องอำนาจมีหลายประการคือ อำนาจทั้งหมดของสถาบันต่างๆ ในสังคมมาจาก ประชาชน ประชาชนมอบอำนาจ ให้สถาบันต่างๆ โดยเขียนเป็น ลายลักษณ์อักษร และการยอมรับ อำนาจ เป็นของเสพติด บุคคลหรือองค์กร ต้องการอำนาจ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการกำกับ การใช้อำนาจ อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สามารถแปรเปลี่ยนไปมา ระหว่างกันได้ คนที่มีความสามารถ ในการแปรเปลี่ยนอำนาจ จะยึดกุมพื้นที่ ทางสังคมได้มากที่สุด แต่ถ้ายึดกุม มากเกินกว่าเหตุ โดยไม่แบ่งคนอื่น มักตายไร้ที่กลบฝัง จึงต้องมีการแบ่งอำนาจ กระจายอำนาจ เพื่อรักษาอำนาจ ให้ยาวนาน และสุดท้าย ไม่ว่าจะมีอำนาจขนาดไหนก็ตาม ถ้าคนที่ถูกใช้อำนาจ ไม่ยอมรับ คนที่อยู่เหนือกว่า จะหมดอำนาจไปทันที

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -

Resource:
//www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Kid/k161/070.html


โดย: ความลับ เรื่อง อำนาจ (ตอนจบ) (moonfleet ) วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:9:55:44 น.  

 
"พระราชอำนาจ"

"…เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง"

คือ กระแสพระราชดำรัสที่ทรงตรัสกับนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา และทรงรับสั่งให้เชิญกระแสพระราชดำรัสนี้มาแจ้งกับข้าพระพุทธเจ้า

"เรา" ทรงชี้พระหัตถ์ไปที่พระอุระของพระองค์ "ให้ไปบอกเขาว่า เราชอบมาก"


ข้าพระพุทธเจ้าได้ยกมือทั้งสองประนมเหนือศีรษะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสนี้จากท่านปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เมื่อได้พบกัน ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2548 เวลา 17.00 น. ณ บ้านของท่านปีย์ฯ

กระแสแห่งความปลื้มปีติและปัสสัทธิเอ่อล้นท่วมหัวใจของข้าพระพุทธเจ้าจนมิอาจจะพรรณนาความใด ๆ ออกมาได้ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อข้าของแผ่นดินคนหนึ่งและขอพระราชทานกราบบังคมทูลเพิ่มเติมว่า

คนไทยในปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่เครียดจัดกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกรงจะขยายตัวออกไปจนเกิดการเสียดินแดนขึ้นในสมัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปัญหาน้ำมันแพงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง คนไทยตั้งแต่ชนบทจนถึงในเมืองต่างมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีค่าครองชีพสูงขึ้น โรคเอดส์-ยาเสพติดกลับมาระบาดมากขึ้น คุณธรรมศีลธรรมของผู้คนเสื่อมทรามลง เกิดการปล้นฆ่า ฉกชิง วิ่งราว ข่มขืน อนาจารขึ้นมากมาย ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกระดับการปกครอง แต่กระบวนการตรวจสอบปราบปรามอ่อนแอเพราะถูกครอบงำและแทรกแซง วันนี้ราชการอ่อนแอ-คนไทยอ่อนแอ ทำให้คนไทยเครียด-วิตกกังวล-มองไม่เห็นอนาคต

คนไทยทุกหมู่เหล่าคงได้แต่หวังในพระบรมเดชานุภาพในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่จะปกแผ่ลงมาเยียวยาแก้ไขปัญหาทั้งมวลและดำรงชาติดำรงไทยไว้ภายใต้ "พระราชอำนาจ" ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

แต่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับขาดความรู้ความเข้าใจใน "พระราชอำนาจ" ที่ถูกต้องและเพียงพอ


คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับพระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบหรือทรงมีพระบรมราชานุมัติก่อนจึงจะประกาศใช้บังคับได้
คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก "พระราชอำนาจ" ตามลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งที่ยังมี "พระราชอำนาจ" ตามนิติราชประเพณีอีกมาก
ราชการเองก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องของ "พระราชสมภารเจ้า" จึงได้ตรากฎหมายและใช้กฎหมายเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผิดนิติราชประเพณีทำให้เกิดสังฆาเภท สงฆ์แยกเป็น 2 ฝ่าย
คนไทยส่วนใหญ่ทราบดีว่า ยามที่เกิดวิกฤติการณ์ใด ๆ ขึ้นในบ้านเมืองเกินกว่ากำลังความสามารถที่จะใช้กลไกตามปกติของทางราชการและกฎหมายเยียวยาได้ พระมหากษัตริย์ของคนไทยจะทรงแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านั้นได้เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงค้นคว้าเรียบเรียงเขียน "พระราชอำนาจ" ขึ้นมาท่ามกลางกระแสวิกฤติการณ์และความเลวร้ายต่าง ๆ และก็มิได้มีความคาดหวังแม้แต่น้อยว่าคนไทยจะให้ความสนใจในหนังสือนี้ เพราะข้าพระพุทธเจ้าถูกขัดขวางเป็นประจำจากคนบางกลุ่มบางพวกเสมอนับตั้งแต่ได้ออกหนังสือ "การใช้อำนาจ เป็นธรรมชาติของมนุษย์"

เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนี้มาแล้วทำให้ต้องพยายามแพร่กระจายหนังสือเล่มนี้ให้กว้างขวางในหมู่คนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ "พระราชอำนาจ" ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาเป็นมหาจักรขับเคลื่อนประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป


ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

(นายประมวล รุจนเสรี

Link : "พระราชอำนาจ"


โดย: "พระราชอำนาจ" (moonfleet ) วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:10:06:11 น.  

 
"อำนาจ, ฟูโก, และ แฟรงค์เฟริทสคูล"

ดังชื่อหัวข้อรองคือ, "ความพยายามกบฎต่อโครงสร้างอำนาจ"
บทความนี้ ใจความสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบประเด็นเรื่องของ"อำนาจ" ว่ามันครอบงำเราอย่างไร


ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง "อำนาจ, ฟูโก, และ แฟรงค์เฟริทสคูล" ผู้เขียนจะพาเราไปสำรวจอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง"อำนาจ"ของ Foucault และ the Frankfurt School ว่า ต่างกันอย่างไร ? จากนั้นก็ค่อยๆพาเราลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของ"อำนาจ" โดยสาธยายความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปตามลำดับ เริ่มจากการวิเคราะห์เรื่อง"อำนาจ"ในทัศนะของฟูโกก่อน แล้วต่อด้วยแนวคิด แฟรงค์เฟริทสคูล โดยเน้นที่แนวคิดของอาดอร์โน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนให้ความสำคัญต่อแนวคิดของอาดอร์โน ในเรื่อง หลักวิภาษวิธีเชิงนิเสธ(Negative Dialectics) ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการตั้งคำถามและท้าทายต่อ"อำนาจ"และ"การครอบงำ". โดยเฉพาะการครอบงำนั้น มันมาพร้อมกันกับเหตุผล

สำหรับ "วิภาษวิธีเชิงนิเสธ"( Negative Dialectics) คือการกลับไปฟื้นคืน และการคิดใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับไอเดียต่างๆที่ได้ตั้งมั่นหรือเป็นที่ยอมรับกันแล้วในยุคสว่าง(Enlightenment). โดยการตรวจตราถึงความไม่เสมอภาคทางสังคม และความไม่ดีพอที่ปรากฏขึ้นมาจากยุคนี้

Adorno อ้างว่า ปรัชญาหลังยุคสว่างขึ้นอยู่กับคุณลักษณ์ต่างๆเกี่ยวกับความคิดในเชิงเหตุผล โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวของเหตุผลเองเลย และ"อันนี้ได้น้อมนำไปสู่ความคับแคบของปรัชญา และเมื่อไม่มีการตั้งคำถาม"เหตุผล" เราจึงตกอยู่ในภาวะที่ยอมจำนนโดยไม่รู้ตัว. หลักวิภาษวิธีเชิงนิเสธจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดอ่อนตรงนี้ และทำให้เราไปถึงจุดของความมีอิสรภาพอย่างแท้จริง

ที่ชัดเจนมาก ในบทความนี้ได้ให้ตัวอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์จริงที่ Nancy Welch ซึ่งได้ประสบมา จากการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ภาควิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง. เธอรู้สึกไม่เห็นด้วยกับอำนาจที่ครอบงำบรรดานักศึกษาอยู่ และได้ท้าทายกับมัน แต่สุดท้ายเธอแพ้

ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่เธอแพ้ แต่เป็นวิธีการของเธอที่กล้าตั้งคำถาม ซึ่งมันจะเป็นชนวนสำคัญในการสั่งสมของความกล้าหาญ ความกล้าท้าทายต่อ"อำนาจ"อันไม่ชอบธรรม ซึ่งจะน้อมนำเราไปสู่"อิสรภาพ"อย่างแท้จริง

สมเกียรติ ตั้งนโม (แปลและเรียบเรียง)


(หมายเหตุ : การแปลบทความชิ้นนี้ ได้ตัดเอาบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดความซับซ้อนของแนวคิดทางปรัชญาของ Theodor Adorno ลง หากสนใจต้นฉบับของบทความชิ้นนี้ โดยไม่มีการตัดทอนในภาษาอังกฤษ กรุณา
คลิกไปที่

//english.ttu.edu/
courses/ 5362/paper1/
mike.paper1.html)
โดยไม่มีเว้นวรรค


โดย: "อำนาจ, ฟูโก, และ แฟรงค์เฟริทสคูล" (moonfleet ) วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:10:43:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.