" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 
14 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
051. Of Creed ว่าด้วย ความโลภ (R.2)

รากเหง้าของกิเลส
ประกอบด้วยอกุศล ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โลภะ โทสะ โมหะ



ความโลภ (โลภะ)

ความโลภ(โลภะ) คือ การมีความอยากมาก จนเกินความพอเหมาะพอควร(มิใช่ทางสายกลาง) จึงทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจมากกว่าระดับปกติ. ความอยากอย่างรุนแรง จนทำให้จิตใจดิ้นรนด้วยความทะยานอยาก เรียกว่า "ตัณหา".

ความโลภอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ แบบ เพื่อให้คล้องจองกับตัณหา มีดังนี้ :-

แบบที่ ๑. ความโลภแบบอยากเสพ




คือ การมีความอยากเสพกามมาก จนเกินความพอเหมาะพอควร ได้แก่ความอยากเสพกามด้วยการรับรู้ข้อมูลที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส จะเป็นทางใดทางหนึ่งหรือหลาย ๆ ทางก็ได้ เช่น มีความอยากมากที่จะเห็นสิ่งที่สวยงามทางตา ฟังเสียงที่ไพเราะทางหู ดมกลิ่นที่หอมทางจมูก ลิ้มรสที่อร่อยทางลิ้น สัมผัสของที่นุ่มนวลทางกาย เป็นต้น. ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะเสพกามอย่างรุนแรง เรียกว่า กามตัณหา.





แบบที่ ๒. ความโลภแบบอยากได้ อยากมี อยากเป็น




คือ การมีความอยากมากที่จะได้ จะมี จะเป็น จนเกินความพอเหมาะพอควร เช่น อยากจะได้ลาภมาก อยากจะมีทรัพย์สมบัติมาก อยากเป็นคนมีอายุยืนมาก เป็นต้น. ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะได้ จะมี จะเป็นอย่างรุนแรง เรียกว่า ภวตัณหา.



แบบที่ ๓.ความโลภแบบอยากที่จะไม่ได้ อยากที่จะไม่มี อยากจะไม่เป็น




คือ การมีความอยากมากที่จะไม่ได้ จะไม่มี จะไม่เป็น จนเกินความพอเหมาะพอควร เช่น อยากที่จะไม่ได้รับสิ่งที่ตนไม่ชอบ อยากที่จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อยากที่จะไม่เป็นคนพิการ อยากที่จะไม่แก่ อยากที่จะไม่พลัดพรากจากคนที่ตนรัก เป็นต้น. ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะไม่ได้ จะไม่มี จะไม่เป็น อย่างรุนแรงเช่นนี้ เรียกว่า วิภวตัณหา.

ความต้องการเป็นอย่างมากที่จะไม่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่รับรู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ไม่อยากเห็นสิ่งที่ไม่สวยงาม ไม่อยากได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ ไม่อยากได้กลิ่นที่ไม่หอม ไม่อยากลิ้มรสที่ไม่อร่อย ไม่อยากสัมผัสกับของที่ไม่นุ่มนวล ซึ่งตรงกันข้ามกับกามตัณหา ก็จัดไว้ในแบบที่ ๓ นี้ด้วย. ที่ไม่ได้แยกออกมาอีกแบบหนึ่ง เพราะไม่ใช่เรื่องของกามคุณ แต่เป็นเรื่องของการไม่อยากรับรู้ข้อมูลบางอย่างเท่านั้นเอง.

เมื่อท่านทำความเข้าใจเรื่องของความโลภและตัณหาทั้ง ๓ แบบแล้ว ท่านอาจจำความหมายของความโลภอย่างย่อ ๆ ว่า ความโลภ คือ ความอยากจนเกินความพอเหมาะพอควรที่ จะได้รับรู้หรือเสพข้อมูลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย(เสพกามคุณ ๕) หรือที่จะให้เป็นไปตามที่ตนมีความปรารถนา จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น หรือสิ่งแวดล้อม หรือทำให้เกิดความทุกข์.




Create Date : 14 กันยายน 2550
Last Update : 1 มกราคม 2553 17:18:17 น. 3 comments
Counter : 4288 Pageviews.

 
" เหตุแห่งความโลภ "

เหตุแห่งความโลภ

ความกลัวความขาดแคลนคือเหตุแห่งความโลภ

ตราบใดที่ยังมีความยากจนให้เห็นตำตากันอยู่ตลอดไปทุกเมื่อเชื่อวัน
ตราบใดที่ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าความยากแค้นของมนุษย์โดยทั่วไปจะบรรเทาเบาบางลง
ตราบใดที่ห้วงเหวแห่งความยากจนยังเปิดอ้ากว้างรอพร้อมที่จะรับเหยื่อ
คือผู้พลาดท่าเสียทีในการประกอบธุรกิจการงานในโลกนี้

ตราบนั้นมนุษย์จะยังมีความกลัวต่อความยากจน
แม้ผู้ที่รวยแล้วก็ยังกลัวจะต้องพลาดพลั้งยากจนลง
ตราบนั้นมนุษย์จะตั้งหน้ากอบโกยหาเงินไว้เป็นสมบัติของตนเอง
และเผื่อสำหรับลูกหลานเหลนต่อไปด้วย ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี
ซึ่งเราเรียกกันว่าความโลภ
ความโลภคือผลจากความกลัวจน

ตราบนั้นมนุษย์จะยังบูชาเงินเป็นพระเจ้า
ตราบนั้นเกียรติยศจะมีความหมายน้อยกว่าเงินตรา
ตราบนั้นจะมีผู้ใช้เงินเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจบารมีและพวกพ้องบริวารได้
ตราบนั้นจะยังมีการทุจริตคดโกง
และตราบนั้นมนุษย์จะยังหาทางกดขี่ขูดรีดกันเอง

หากมนุษย์ไม่กลัวความยากจนเสียแล้ว เกียรติยศก็ย่อมจะสำคัญกว่าเงินตรา
และจะไม่มีใครยอมไปเป็นลูกน้องเพื่อประดับบารมียังความยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้อื่น
หรือยอมเป็นเครื่องมือเพื่อประกอบกรรมอันชั่วช้าเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ

หากมนุษย์ไม่กลัวความยากจนเสียแล้ว
มนุษย์จะหยุดกอบโกยเงินทองชนิดที่ใช้ 10 ชาติก็ไม่หมด
เพราะใครเล่าจะหาบน้ำไปด้วยทั้งหาบ?
หากรู้ว่าเพียงกระติกเดียวก็เพียงพอสำหรับการเดินทางไปถึงแหล่งน้ำแหล่งต่อไป

ความร่ำรวยล้นฟ้าจะไม่เป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวเหมือนในปัจจุบัน
แต่ความพยายามตะเกียกตะกายที่จะให้ร่ำรวยเช่นนี้อาจจะกลายเป็นสิ่งน่าขำขันมากกว่า

โดยนัยนี้ ระดับศีลธรรมของมนุษย์ก็จะยกขึ้นสูง และโลกเราจะน่าอยู่กว่าปัจจุบันมาก
มนุษย์จะหมดห่วงกังวลบรรดาที่เคยมี
แล้วก็จะเกิดน้ำใจเสียสละตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้เอง

การที่มนุษย์จะเลิกกลัวความยากจนได้
ก็คือเราจะต้องหาทางขจัดความยากจน
ทำให้มนุษย์แน่ใจได้ว่าเมื่อเขาต้องการทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีวิต
เขาก็จะสามารถหางานทำได้โดยมีรายได้ดีพอควร

(จากหนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก หน้า 77-78
ดูได้ที่ geocities.com/utopiathai ครับ)


โดยคุณ : สุธน หิญ เมื่อ 30 มีนาคม 2549, 11:43 น.

Resource:
//www.budpage.com/budboard/show_content.pl?b=1&t=9325


โดย: " เหตุแห่งความโลภ " (moonfleet ) วันที่: 14 กันยายน 2550 เวลา:20:53:54 น.  

 
ฝึกเอาชนะ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว

คนธรรมดาทั่วไป มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บูชาเงิน บูชาทรัพย์สินเป็นสรณะ จึงมีความต้องการมาก. ความต้องการมากเผาใจเขาให้เร่าร้อน ให้อยากได้ ไม่รู้พออยู่เสมอ. คนแทบทั้งสิ้น ในบ้านเมืองที่เจริญอย่างสมัยใหม่ ตามวัฒนธรรมวัตถุนิยมของชาวตะวันตก หายใจเป็นเงินทองทรัพย์สิน ใฝ่ฝันอยู่แต่เรื่องโชคลาภ เรื่องสลากกินแบ่ง เรื่องค้ากำไรเอารัดเอาเปรียบกัน. ในวงธุรกิจ มีการแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน, ในวงการค้า มีผู้อยากได้ง่ายๆ มีสิทธิพิเศษผูกขาดเอาเสียคนเดียว, ในวงการปกครองมีการใช้อุบายบังคับทางอ้อม ให้ผู้น้อยต้องร่วมบริจาคทำสิ่งใดๆ เพื่อความมีเกียรติ เพื่อประดับบารมีจนเดือดร้อนกันไปมากๆ, แม้ใจวงการทางศาสนาก็ยังมีการเบียดเบียนกันทางอ้อมคล้ายๆ ทางโลก.

การฝึกเอาชนะความโลภ จึงควรเริ่มด้วยการฝึกครองชีวิตอย่างง่ายๆ มีการกินอยู่ที่ไม่ต้องให้ผู้อื่นเดือดร้อน.

ในวันพระ ผู้ถือศีลควรจะได้ประหยัดในเรื่องอาหารการกิน ละเว้นในสิ่งเสพติด สิ่งฟุ่มเฟือย ถือเอาอาหารที่หาได้ง่าย และไม่ต้องให้ผู้ใดต้องเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะการถือศีลของตน. ในเวลาเดียวกัน ใช้เงินส่วนที่ประหยัดในการบริจาคเงินหรือสิ่งของ ให้เป็นทานแก่คนยากจนที่กำลังเดือดร้อน, ควรให้ด้วยความรู้สึกในทางละวาง เพื่อเอาชนะความโลภ. วันธรรมดาเราคอยแต่หาเงิน วันนี้เรามาแบ่งให้ผู้อื่นบ้าง, ในวันเกิดหรือวันพิเศษ ควรจะได้มีการแจกสิ่งของแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แทนการรับของขวัญจากผู้น้อย, จะเป็นการเอาชนะความโลภได้เป็นอย่างดี. อริยบุคคลย่อมถือโอกาสบำเพ็ญทานด้วยการตั้งโรงทาน แจกเสื้อผ้าอาหาร แก่คนยากจนและขาดแคลน ทุกโอกาสที่จะทำได้.

การบริจาคทรัพย์เป็นทาน หรือบำรุงพระพุทธศาสนา ถ้ากระทำด้วยความโลภ เช่นอยากได้บุญมากๆ อยากเป็นผู้มีเกียรติมีชื่อเสียง อยากอวดว่าตนมั่งมี ความอยากนั้นๆ ก็เป็นตัณหา กลายเป็นสิ่งพอกพูนความโลภไปอีกก็ได้, แทนที่จะเป็นการฝึกเอาชนะความโลภ กลายเป็นพอกพูนความโลภไปก็มี. การบริจาคทานที่ถูกต้อง ต้องเป็นการบริจาคเพื่อฝึกเอาชนะความโลภ.

ทุกคราวที่บริจาคต้องหัดคิดจนเห็นแจ้งว่า ไม่อยากได้ตอบแทน. บริจาคเพื่อฝึกความปล่อยวาง วางความยึดมั่นที่ว่าสิ่งนี้ๆ เป็นของเรา เราไม่มีความตระหนี่ ไม่อยากได้อะไรทางวัตถุเป็นการตอบแทน.

เป็นการฝึกเอาชนะความโลภความอยากได้ทีละน้อยๆ, เมื่อถึงคราวของหายหรือเสียหาย เพราะภัยพิบัติต่างๆ ก็คงมีสติระลึกได้ว่า ควรมีใจบริจาค ไม่ควรเสียดาย ไม่ควรยึดถือผูกพันในสิ่งของที่เสียหายนั้นๆ. การมีใจไม่เสียดายเมื่อของหาย เมื่อมีภัยพิบัติได้ นับว่าได้รับผลจากการฝึกไม่โลภ ตามหลักการถือศีลข้อสองนี้.

อริยบุคคลในศาสนาทุกศาสนา ถือศีลข้อนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ไม่ล่วงเกินในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้กระทั่งใบไม้ผลไม้ที่แทบจะไม่มีราคา ก็ไม่ถือเอามาบริโภคใช้สอย ต้องแน่ใจว่าเจ้าของยินดีให้จึงยึดถือเอา, และถ้าผู้ให้ยากจนกว่า ก็พยายามหาทางตอบแทนจนได้. ในการไปตามท้องถิ่น เจ้าบ้านซึ่งเป็นคนยากจนกว่า นำสิ่งของมาให้ เลี้ยงดู ก็หาทางตอบแทน ด้วยสิ่งของเงินทอง หรือส่งเงินทองสิ่งของไปให้เป็นการตอบแทน ไม่ให้มีการล่วงเกินในทรัพย์สินของผู้ใด.

การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนยากจนกว่าเรา ช่วยเหลือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าปฏิบัติด้วยความรอบคอบ จะเป็นการบำเพ็ญกุศลถึงสองชั้น คือเป็นทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตา แล้วยังเป็นการฝึกเอาชนะความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี.

ในอินเดีย ท่านวิโนพา ภเว ได้ท่องเที่ยวบำเพ็ญภูมิทาน เที่ยวขอทานที่ดิน จากผู้มีที่ดินเหลือใช้พอจะแบ่งให้ได้ และยินดีบริจาคให้, เมื่อท่านได้ที่ดินแล้ว ก็ขอให้องค์การกุศล แบ่งปันที่ดินให้คนยากจนที่ไม่มีที่ดิน ได้มีที่ดินพอทำมาหากิน. ตัวท่านผู้ออกบำเพ็ญภูมิทาน ออกบำเพ็ญโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างใดๆ ท่องเที่ยวเดินเท้าเปล่าไปทั่วประเทศ เพื่อแสดงการครองชีวิตตามแบบที่ถูกต้อง กินอยู่อย่างง่ายๆ ไปพักที่ไหน ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ใด ไม่ต้องการต้อนรับเลี้ยงดูเป็นพิเศษแต่อย่างใด

ชีวิตที่ไม่มีความโลภ ครองชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ กินอาหารเท่าที่คนยากจนกิน ไม่ใช้สิ่งที่ฟุ่มเฟือยใดๆ เป็นชีวิตที่เป็นสุขอย่างยิ่ง ตามแบบพระอริยบุคคล, พระพุทธ พระเยซูคริสต์ พระสาวกของพระศาสดาทุกองค์ ท่านมหาตมะคานธี และผู้นำมนุษย์ในด้านสงบสุข ล้วนครองชีพอยู่โดยปราศจากความโลภ ในท่ามกลางชาวโลก ที่อัดแน่นอยู่ในความโลภ.

การเอาชนะความโลภ และการเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ ในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีบุคคลที่เห็นความจริงปฏิบัติกันอยู่และไม่เป็นการปฏิบัติที่ล้าสมัยแต่ประการใด, ตรงกันข้ามจะได้เป็นตัวอย่าง แก่ชาวโลกที่ยังต้องตกเป็นทาสของความโลภ ตรากตรำแต่การงาน จนไม่มีเวลาจะหยุดมองความจริงว่า ในด้านไม่โลภนั้น มีความสุขสงบกว่าเป็นไหนๆ.


ที่มา //www.mindcyber.com/



โดย: ฝึกเอาชนะ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว (moonfleet ) วันที่: 14 กันยายน 2550 เวลา:21:01:10 น.  

 
This video post is in fact wonderful, the sound quality and the picture feature of this film post is actually amazing.
Discount Oakley goggles //www.jcobfreight.com/about_us.asp


โดย: Discount Oakley goggles IP: 94.23.252.21 วันที่: 2 สิงหาคม 2557 เวลา:15:30:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.