" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 
14 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
055. ว่าด้วยเรื่อง ไม่ฉลาดในเรื่องจิตของผู้อื่นก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนัน พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในกระจก อันบริสุทธิ์ผ่องใสหรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว. ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยเหตุนี้แล ว่าเป็นลาภของเราหนอ เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอดังนี้ ฉันใด.

"ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย
๑. เรามีอภิชฌา(ความโลภ) หรือไม่มีอภิชฌา(ความโลภ) อยู่โดยมากหนอ
๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) หรือไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมากหนอ
๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึงรัด หรือปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมากหนอ
๔. เราฟุ้งสร้าน หรือไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมากหนอ
๕. เรามีความลังเลสงสัย หรือข้ามพ้นความลังเลสงสัย อยู่โดยมากหนอ
๖. เรามีความโกรธ หรือไม่มีความโกรธ อยู่โดยมากหนอ
๗. เรามีจิตเศร้าหมอง หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง อยู่โดยมากหนอ
๘. เรามีกายกระสับกระส่าย หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย อยู่โดยมากหนอ
๙. เราเกียจคร้าน หรือปรารภความเพียร อยู่โดยมากหนอ
๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น หรือมีจิตตั้งมั่น อยู่โดยมากหนอ

"ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
๑. เรามีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) อยู่โดยมาก
๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึกรัด อยู่โดยมาก
๔. เราฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
๕. เรามีความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
๖. เรามีความโกรธ อยู่โดยมาก
๗. เรามีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
๘. เรามีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
๙. เราเกียจคร้าน อยู่โดยมาก
๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น อยู่โดยมาก" ดังนี้
ภิกษุนั้นก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะ อันมีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาป อกุศล เหล่านั้นเสีย เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้า หรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
"๑. เราไม่มีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
๒. เราไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมาก
๓. เราปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมาก
๔. เราไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
๕. เราข้ามพ้นความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
๖. เราไม่มีความโกรธ อยู่โดยมาก
๗. เราไม่มีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
๘. เราไม่มีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
๙. เราปรารภความเพียร อยู่โดยมาก
๑๐. เรามีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก" ดังนี้
ภิกษุนั้นก็ควรทำความเพียร เพื่อดำรงอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๒-๑๐๔

ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในเงากระจกอันบริสุทธิ์ผ่องใส หรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็พยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนา ด้วยเหตุนั้นแล ว่าเป็นลาภของเราหนอ. เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอ ดังนี้ ฉันใด."

"ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย

๑. เราได้เจโตสมถะ (ความสงบแห่งจิต) ในภายใน หรือไม่ได้หนอ?

๒. เราได้อธิปัญญา(ปัญญาอันยิ่ง) อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ หรือไม่ได้หนอ?"

"ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน และเพื่ออธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ." ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และย่อมได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

"แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่อธิปัญญา อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรม" ภิกษุนั้น ก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะอันมีประมาณยิ่ง เพื่อให้ได้กุศลธรรมเหล่านั้น. เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้าหรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น. ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

"แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ" ดังนี้. ภิกษุนั้น ก็ควรทำความเพียร เพื่อตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๔-๑๐๖





Create Date : 14 กันยายน 2550
Last Update : 1 มกราคม 2553 18:04:30 น. 0 comments
Counter : 707 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.