" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 
12 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
027. Of Fear, afraid, apprehensive ว่าด้วย ความกลัว

5 F + 1 H กับ ความกลัว



"We have nothing to fear, but fear, itself."
President Franklin Delano Roosevelt.



The Four Freedoms of President Woodrow Wilson included
"Freedom from Fear"



1. ความกลัว คือ อะไร ?




ความกลัว (fear) เป็นความรู้สึกแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นเมื่อมีอันตรายหรือภัยคุกคามเกิดขึ้นจริง

ความกังวลและความกลัวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันในภาษาอังกฤษมีศัพท์ที่แสดงอารมณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับความกลัวและความกังวลมากมายเช่น apprehension(หวาดหวั่น), uneasiness(ไม่สบายใจ), nervousness(ตื่นกลัว), worry(กลุ้มใจ), disquiet(ไม่สงบ), solicitude(ความห่วงใย), concern(เป็นธุระ), misgiving(ความสงสัย), qualm(ความประหวั่นพรั่นพรึง), edginess(ความหงุดหงิด), jitteriness(อกสั่นขวัญหนี), sensitivity(ความรู้สึกไว), dis-ease(ไม่เป็นสุข); being pent up(อัดอั้น), troubled(เป็นทุกข์), wary(ระวังระไว), unnerved(ประสาทเสีย), unsettled(ยุ่งเหยิง), upset(ไม่พอใจ), aghast(ตกตะลึง), distraught(คลุ้มคลั่ง), หรือ threatened(น่ากลัว); defensiveness(แก้ตัว), disturbance(ความไม่สงบ), distress(เป็นทุกข์), perturbation(กระวนกระวาย), consternation(ความอกสั่นขวัญหนี), trepidation(ความประหม่า), scare(ตื่นตกใจ), fright(ตกใจกลัว), dread(น่ากลัว), terror(น่าสยดสยอง), horror(น่าขยะแขยง), alarm(ตื่นตกใจ), panic(ตื่นตระหนก), anguish(ความปวดร้าว), agitation(กระวนกระวาย)


2. ทำไม คนเราจึงมีความกลัว ?



ความกังวลและความกลัวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน
ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังนั้นเราจึงต้องรู้จักวิธีที่จะอยู่กับมัน

ความวิตกกังวลเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนเราทุกคนต้องเคยมีความวิตกกังวล คนที่ไม่เคยกังวลอะไรเลยเป็นคนไม่ปกติแม้แต่มนุษย์ถ้ำยังต้องกังวลว่ามื้อหน้าจะมีอะไรเป็นอาหาร จักรพรรดิ์โรมันยังต้องคิดหนักเมื่อจะทำการใหญ่โต เราเองก็เช่นกันเรามีเรื่องมากมายที่จะต้องเป็นห่วงเป็นกังวล อาจจะเป็นเรื่องงาน ปัญหาชีวิตคู่ หรือเรื่องลูก เรามีความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลอาจเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ความวิตกกังวลเป็นสิ่งปกติและเกิดขึ้นกับแทบทุกคนแม้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลสำหรับแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่กิจกรรมหลายๆอย่างก็มักทำให้คนเกือบทุกคนเกิดความวิตกกังวลความกังวลอาจเกิดจากกิจวัตรประจำวันบางอย่างเช่นขณะขับรถบนทางหลวงที่มีการจราจรหนาแน่นเราจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พนักงานที่มีงานไม่มั่นคงต้องคอยกังวลกลัวจะตกงาน ผู้บริหารระดับสูงเองก็ต้องกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจ พนักงานรับโทรศัพท์ก็ต้องคอยเบื่อหน่ายกับโทรศัพท์จากพวกลามก แม่บ้านต้องกังวลกับข้าวของที่คอยจะขึ้นราคา สามีทะเลาะกับภรรยา พ่อแม่ทะเลาะกับลูก จะเห็นว่าเราแทบจะไม่สามารถอยู่โดยไม่มีความวิตกกังวล


3. ความกลัว เกิดขึ้นที่ไหน ?



ในสถานที่เราเชื่อว่า มีภัย หรือ อันตราย



4. ความกลัว เกิดขึ้นเมื่อไร และ สิ้นสุดไปเมื่อไร ?

ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อ เราเชื่อว่ายังมีภัยและอันตราย และ สิ้นสุดไปเมื่อเราคิดว่าไม่มีภัยหรืออันตราย
( เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ตามทฤษฏีลำดับความต้องการของ Maslow คือ ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน)

5. ใคร (คน สัตว์ สิ่งของ) ทำให้เรากลัว ?
คน สัตว์ สิ่งของ อะไรก็ตามที่อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อเรา หรือ ให้คุณหรือโทษแก่เรา หรือ ทำให้เราเกิดความไม่มั่นคง เช่น นายจ้าง หัวหน้างาน ที่สามารถทำให้เราออกจากงานได้ พ่อแม่ ที่เป็นที่พึ่งของเรา คุณครู ที่ให้คะแนนหรือตัดคะแนนเรา คนพาลหรือโจรที่มีอาวุธในมือ (รวมทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ และ ผู้พิพากษา) เจ้าหนี้กลัวลูกหนี้จะชักดาบ ลูกหนี้กลัวเจ้าหนี้ตามหนี้ ภรรยากลัวว่าสามีจะนอกใจ สามีกลัวภรรยาจะไม่รักเป็นต้น


6. ทำอย่างไร จึงจะไม่กลัว หรือ ทำให้ความกลัวลดลง ?

ความไม่รู้ คือ ความน่ากลัว ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ว่า ความกลัว คือ อะไร ความกลัวที่เรากลัวมีสาเหตุมาจากอะไร จะเผชิญกับความกลัวได้อย่างไร



เราจะไม่กลัว แต่ เราจะรู้สึกมีความปลอดภัยเมื่อเราอยู่ในบ้านแสนสุขของเรา



เราจะไม่กลัว เมื่อเราอยู่กับคนที่เรารัก และ รักเรา



เราจะไม่กลัว เมื่อเรามีงานที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และ มีการวางแผนงานอาชีพเป็นอย่างดี




เราจะไม่กลัว เมื่อเรามี "กัลยาณมิตร" เพื่อนที่ดีงาม เป็น "สัมมาทิฎฐิ"


ใครตอบได้ ช่วยบอกที








Create Date : 12 กันยายน 2550
Last Update : 11 สิงหาคม 2552 21:19:14 น. 8 comments
Counter : 2241 Pageviews.

 
ความกลัว

ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง
ในบรรดา สิ่งที่ทำลาย ความสุข สำราญ
หรือ รบกวนประสาท ของมนุษย์ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยกัน

ความกลัวนี้ ย่อมมีลักษณะ และพิษสง มากน้อยกว่ากัน เป็นขั้นๆ
ตามความรู้สึก อันสูงต่ำ ของจิต

เด็กๆ สร้างภาพ ของสิ่งที่น่ากลัว ขึ้นในใจ ตามที่ผู้ใหญ่ นำมาขู่
หรือได้ยิน เขาเล่า เรื่อง อันน่ากลัว เกี่ยวกับผี เป็นต้น สืบๆ กันมา
แล้วก็กลัว เอาจริงๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนั้น ก็ไม่หมดสิ้นไป

ความกลัว เป็นสัญชาตญาณ อันหนึ่งของมนุษย์ เหมือนกันหมด
แต่ว่า วัตถุที่กลัว นั่นแหละต่างกัน ตามแต่เรื่องราวที่ตนรับ
เข้าไว้ในสมอง

วัตถุอันเป็น ที่ตั้งของความกลัว ที่กลัวกันเป็นส่วนมากนั้น
โดยมากหาใช่วัตถุ ที่มีตัวตน จริงจัง อะไรไม่ มันเป็นเพียงสิ่งที่ใจสร้างขึ้น
สำหรับกลัวเท่านั้น ส่วนที่เป็น ตัวตน จริงๆ นั้น ไม่ได้ ทำให้เรากลัวนาน
หรือ มากเท่าสิ่งที่ใจสร้างขึ้นเอง มันมักเป็น เรื่องเป็นราวลุล่วงไปเสียในไม่ช้านัก

บางที เราไม่ทันนึก กลัว ด้วยซ้ำไป
เรื่องนั้นก็ได้มาถึงเรา เป็นไปตามเรื่องของมัน
และผ่านพ้นไปแล้ว มันจึงมิได้ทรมานจิตของมนุษย์
มากเท่าเรื่องหลอกๆ ที่ใจสร้างขึ้นเอง

เด็กๆ หรือคนธรรมดา เดินผ่านร้านขายโลง ซึ่งยังไม่เคย ใส่ศพเลย
ก็รู้สึกว่า เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นที่ อวมงคล เสียจริงๆ
เศษกระดาษ ชนิดที่เขา ใช้ปิดโลง ขาดตก อยู่ในที่ใด
ที่นั้น ก็มี ผี สำหรับเด็กๆ

เมื่อเอาสีดำ กับกระดาษ เขียนกันเข้า เป็น รูปหัวกระโหลก ตากลวง
ความรู้สึกว่าผี ก็มาสิง อยู่ใน กระดาษ นั้นทันที

เอากระดาษฟาง กับกาวและสี มาประกอบกัน เข้าเป็น หัวคนป่า ที่น่ากลัว
มีสายยนต์ ชักให้แลบลิ้น เหลือกตา ได้ มันก็พอที่ทำให้ใคร ตกใจเป็นไข้ได้
ในเมื่อนำไปแอบ คอยที่ชักหลอกอยู่ในป่า หรือที่ขมุกขมัว
และแม้ที่สุด แต่ผู้ที่เป็นนายช่าง ทำมันขึ้นนั่นเอง ก็รู้สึกไปว่า
มันมิใช่กระดาษฟาง กับกาวและสี เหมือนเมื่อก่อน เสียแล้ว
ถ้าปรากฏว่า มันทำให้ใคร เป็นไข้ ได้สักคนหนึ่ง

เราจะเห็นได้ ในอุทาหรณ์ เหล่านี้ ว่า
ความกลัวนั้น ถูกสร้างขึ้น ด้วยสัญญาในอดีตของเราเอง ทั้งนั้น
เพราะปรากฏว่า สิ่งนั้นๆ ยังมิได้เนื่องกับผีที่แท้จริง แม้แต่นิดเดียว และ

สิ่งที่เรียกว่า ผี ผี , มันก็ เกิดมาจากกระแส ที่เต็มไปด้วย อานุภาพอันหนึ่ง
อันเกิดมาจาก กำลังความเชื่อแห่งจิต
ของคนเกือบทั้งประเทศ หรือ ทั้งโลก เชื่อกันเช่นนั้น
อำนาจนั้นๆ มัน แผ่ซ่าน ไปครอบงำจิตของคนทุกคน
ให้สร้าง ผีในมโนคติ ตรงกันหมด
และทำให้เชื่อ ในเรื่องผี ยิ่งขึ้น และผีก็มีชีวิต อยู่ในโลกนี้ได้

จนกว่าเมื่อใด เราจะหยุดเชื่อเรื่องผี หรือ เรื่องหลอก นี้กันเสียที ให้หมดทุกๆ คน
ผีก็จะตายหมดสิ้นไปจากโลกเอง จึงกล่าวได้ว่า
ความกลัวที่เรากลัวกันนั้น เป็นเรื่องหลอก ที่ใจสร้างขึ้นเอง
ด้วยเหตุผล อันผิดๆ เสียหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ความกลัว เป็นภัยต่อความสำราญ เท่ากับความรัก โกรธ เกลียด หลงใหล และอื่นๆ
หรือบางที จะมากกว่าด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่า
ธรรมชาติ ได้สร้างสัญชาตญาณ อันนี้ให้แก่สัตว์ ตั้งแต่ เริ่มออกจากครรภ์ ทีเดียว,
ลูกนก หรือ ลูกแมว พอลืมตา ก็กลัวเป็นแล้ว แสดงอาการหนี
หรือป้องกันภัย ในเมื่อเราเข้าไปใกล้

เด็กๆ จะกลัวที่มืด หรือการถูกทิ้ง ไว้ผู้เดียว
ทั้งที่ เขายังไม่เคย มีเรื่องผูกเวร กับใครไว้
อันจะนำให้กลัวไปว่า จะมีผู้ลอบทำร้าย
เพียงแต่ผู้ใหญ่ ชี้ไปตรงที่มืด แล้วทำท่ากลัว ให้ดูสักครั้งเท่านั้น
เด็กก็จะกลัว ติดอยู่ในใจไปได้นาน
คนโตแล้วบางคน นั่งฟังเพื่อนกันเล่าเรื่องผีเวลากลางคืน
มักจะค่อยๆ ขยับๆ จนเข้าไป นั่งอยู่กลางวง โดยไม่รู้สึกตัว
และยังไปนอนกลัว ในที่นอนอีกมาก กว่าจะหลับไปได้

เดินผ่านป่าช้าโดยไม่รู้ เพิ่งมารู้และกลัวเอาที่บ้านก็มี
สำหรับบางคน ทั้งหมดนี้ เป็น เครื่องแสดงว่า
ความกลัว เป็นเรื่องของจิต มากกว่า วัตถุ
ผู้ใด ไม่มี ความรู้ ในการควบคุม จิตของตน ในเรื่องนี้
เขาจะถูกความกลัวกลุ้มรุมทำลายกำลังประสาท
และความสดชื่นของใจเสียอย่างน่าสงสาร

ในทำนอง ตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่มีอุบายข่มขี่ความกลัว
ย่อม จะได้รับ ความผาสุก มากกว่า มีกำลังใจ เข้มแข็งกว่า
เหมาะที่จะเป็น หัวหน้าหมู่ หรือ ครอบครัว

เมื่อปรากฏว่า ความกลัว เป็นภัย แก่ความผาสุก เช่นนี้แล้ว
บัดนี้ เราก็มาถึง ข้อปัญหาว่า เราจะเอา ชนะความกลัว ได้อย่างไร สืบไป
เพราะเหตุว่า การที่ทราบแต่เพียงว่า
ความกลัว เป็นภัย ของความผาสุกนั้น
เรายังได้รับผลดีจากความรู้นั้น น้อยเกินไป
เราอาจปัดเป่า ความกลัวออกไปเสียจากจิต โดยววิธีต่างๆ กัน

แต่เมื่อจะสรุปความ ขึ้นเป็นหลักสำคัญๆ แล้ว อย่างน้อย เราจะได้สามประการ คือ

๑. สร้างความเชื่ออย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ยึดเอาเป็นที่พึ่ง
๒. ส่งใจไปเสียในที่อื่น ผูกมัดไว้กับสิ่งอื่น
๓. ตัดต้นเหตุ ของความกลัวนั้นๆ เสีย

ในประการต้น อันเราอาจเห็นได้ทั่วไป คือ วิธีของ เด็กๆ ที่เชื่อตะกรุด หรือ
เครื่องราง ฯลฯ ตลอดจน พระเครื่ององค์เล็ก ที่แขวนคอ
และเป็นวิธีของผู้ใหญ่บางคน ที่มีความรู้สึกอยู่ในระดับเดียวกับเด็กด้วย

คนในสมัยอนารยะ ถือภูเขาไฟ ต้นไม้ ฟ้า หรือ สิ่งที่ตนเห็นว่า มีอำนาจน่ากลัว
ควรถือเอา เป็นที่มอบกายถวายตัว ได้อย่างหนึ่ง นี่ก็อยู่ในประเภทเดียวกัน
ที่ยังเหลือมาจนทุกวันนี้ เช่น พวกที่บนบานต้นโพธิ์ พระเจดีย์ เป็นต้น
เพื่อความเบาใจของตน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
วิธีนี้ เป็นผลดีที่สุด ได้ตลอดเวลา ที่ตน ยังมีความเชื่อมั่นคงอยู่
ความเชื่อที่เป็นไปแรงกล้า อาจหลอกตัวเอง
ให้เห็นสิ่งที่ควรกลัวกลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวไปก็ได้
ถ้าหากจะมีอุบายสร้างความเชื่อชนิดนั้น ให้เกิดขึ้นได้มากๆ

เมื่อใดความเชื่อหมดไป หรือมีน้อย ไม่มีกำลังพอที่จะหลอกตัวเองให้กล้าหาญแล้ว
วิธีนี้ ก็ไม่มีประโยชน์ กลายเป็นของน่าหัวเราะเท่านั้น

เล่ากันมาว่า เคยมีคนๆ หนึ่ง อมพระเครื่อง เข้าตะลุมบอน ฆ่าฟันกัน
เชื่อว่า ทำให้อยู่คง ฟันไม่เข้า เป็นต้น ดูเหมือนได้ผล เป็นที่น่าพอใจ เขาจริงๆ
ขณะหนึ่ง พระตกจากปากลงพื้นดิน ในท้องนา
ตะลีตะลานคว้าใส่ปากทั้งที่เห็นไม่ถนัด
แทนที่ จะได้พระ กลับเป็นเขียดตัวหนึ่ง เข้าไปดิ้นอยู่ในปาก
ก็รบ เรื่อยไป โดยยิ่งเชื่อมั่นขึ้นอีกว่า พระในปาก แสดงปาฏิหาริย์
ดิ้นไปดิ้นมา เมื่อเลิกรบ รีบคายออกดู เห็นเป็นเขียดตาย
ก็เลยหมดความเชื่อ ตั้งแต่นั้นมา
ไม่ปรากฏว่า พระเครื่ององค์ใด ทำความพอใจ ให้เขาได้อีก

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า วิธีนี้ ไม่ใช่ ที่พึ่ง อันเกษม คือ
ทำความปลอดภัยให้ได้อย่างแท้จริง
ไม่ใช่ วิธีสูงสุด, เนตํ สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ

ประการที่สอง สูงขึ้นมาสักหน่อย พอที่จะเรียกได้ว่า
อยู่ในชั้นที่จัดว่า เป็นกุศโลบาย
หลักสำคัญอยู่ที่ส่งความคิดนึก ของใจไปเสียที่อื่น

ซึ่งจะเป็นความรักใครที่ไหน โกรธใครที่ไหน เกลียดใครที่ไหน ก็ตาม
หรือหยุดใจเสียจากความคิดนึก ทุกอย่าง (สมาธิ) ก็ตาม เรียกว่า
ส่งใจไปเสียในที่อื่น คือจากสิ่งที่เรากลัวนั้นก็แล้วกัน
ที่เราเห็นกันได้ทั่วไป เช่น กำลังเมารัก บ้าเลือด เหล่านี้เป็นต้น
จะไม่มีความกลัวผี กลัวเสือ กลัวเจ็บ
แม้เรื่องราวในหนังสือข่าวรายวัน ก็เป็นพยาน ในเรื่องนี้ได้มาก
แต่เรื่องชนิดนี้ เป็นได้โดย ไม่ต้องเจตนา ทำความรู้สึก เพื่อส่งใจไปที่อื่น
เพราะมันส่งไปเองแล้ว ถึงกระนั้น
ทุกๆ เรื่อง เราอาจปลูกอาการเช่นนี้ขึ้นได้ในเมื่อต้องการ
และมันไม่เป็นขึ้นมาเอง การคิดนึกถึงผลดีที่จะได้รับ คิดถึงสิ่งที่เรารักมาก
จนใฝ่ฝัน คิดถึง ชาติประเทศ คิดถึงหัวหน้าที่กล้าหาญ ดูสิ่งที่ยั่วใจให้กล้า เช่น
ระเบียบให้มองดู ธงของผู้นำทัพ ในเมื่อตนรู้สึกขลาด
อันปรากฏอยู่ในนิยาย เทวาสุรสงคราม ในพระคัมภีร์ เป็นต้น
เหล่านี้ ล้วน แต่ช่วยให้ใจแล่นไปในที่อื่น จนลืมความกลัว ได้ทั้งนั้น ในชั้นนี้
พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ระลึกถึงพระองค์
หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในเมื่อภิกษุใดเกิดความกลัวขึ้นมา ในขณะที่ตนอยู่ในที่เงียบสงัด
เช่นในป่าหรือถ้ำ เป็นต้น
อาการเช่นนี้ทำนองค่อนไปข้างสมาธิ แต่ยังมิใช่สมาธิแท้ทีเดียว
แต่ถ้าหากว่า ผู้ใดแม้ระลึกถึง พระพุทธองค์ก็จริง แต่ระลึกไปในทำนองเชื่อมั่น
มันก็ไปตรงกันเข้ากับประการต้น คือความเชื่อ เช่น
เชื่อพระเครื่อง หรือคนป่าเชื่อปู่เจ้าเขาเขียว
ต่อเมื่อระลึก ในอาการเลื่อมใสปิติในพระพุทธคุณ เป็นต้น
จึงจะเข้ากับประการที่สองนี้

ส่วนอาการที่สงบใจไว้ด้วยสมาธินั้น เป็นอุบายข่มความกลัว ได้สนิทแท้
เพราะว่า ในขณะแห่งสมาธิ ใจไม่มีการคิดนึก อันใดเลย
นอกจากจับอยู่ที่สิ่งซึ่งผู้นั้น ถือเอาเป็นอารมณ์ หรือนิมิต
ที่เกาะของจิตอยู่ในภายในเท่านั้น

แต่ว่าใจที่ เต็มไป ด้วยความกลัว ยากที่จะเป็นสมาธิ
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสมาธิ ที่ชำนาญ อย่างยิ่งจริงๆ
จนเกือบกลายเป็นความจำอันหนึ่งไป พอระลึกเมื่อใด
นิมิตนั้นมาปรากฏเด่นอยู่ที่ "ดวงตาภายใน" ได้ทันที
นั่นแหละ จึงจะเป็นผล แม้ข้อที่ พระองค์สอนให้ระลึกถึงพระองค์
หรือพระธรรม พระสงฆ์ ตามนัยแห่งบาลี ธชัคคสูตรนั้น ก็หมายถึง
พุทธานุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อยู่แล้ว
แม้ว่าจะเป็นเพียง อุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงขึดฌาณก็ตาม
ล้วนแต่ต้องการความชำนาญ
จึงอาจเปลี่ยนอารมณ์ที่กลัวให้เป็นพุทธานุสสติ เป็นต้นได้

ส่วนสมาธิ ที่เป็นได้ถึงฌาณ เช่น พรหมวิหาร เป็นต้น
เมื่อชำนาญแล้ว สามารถที่จะข่มความกลัว ได้เด็ดขาดจริงๆ
ยิ่งโดยเฉพาะ เมตตา พรหมวิหาร ยิ่งเป็นไปได้ง่ายที่สุด

แต่พึงทราบว่า ทั้งนี้เป็นเพียงข่มไว้เท่านั้น เชื้อของความกลัว ยังไม่ถูกรื้อถอนออก
เมื่อใดหยุดข่ม มันก็เกิดขึ้นตามเดิม อีกประการหนึ่ง ไม่ใช่วิธีที่ง่ายสำหรับคนทั่วไป
สำหรับการข่มด้วยสมาธิ
คนธรรมดาเหมาะสำหรับเพียงแต่เปลี่ยนเรื่องคิดนึกของใจเท่านั้น
หาอาจทำ การหยุด พฤติการของจิต ให้ชะงักลงได้ง่ายๆ เหมือน นักสมาธิไม่
และค่อนข้าง จะเป็นการแนะให้เอา ลูกพรวน เข้าไปแขวนผูกคอแมวไป
ในเมื่อสอนให้ คนธรรมดาใช้วิธ๊นี้

และน่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีที่สาม ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ฃึ่งเป็นวิธีที่สูงนั้น กลับจะเหมาะสำหรับคนทั่วไป และได้ผลดีกว่าเสียอีก
วิธีนั้น คือ ตัดต้นเหตุ แห่งความกลัวเสีย ตามแต่ที่กำลังปัญญาความรู้ของผู้นั้น
จะตัดได้มากน้อยเพียงไร ดังจะได้พิจารณากันอย่างละเอียด กว่าวิธีอื่น ดังต่อไปนี้

เมื่อมาถึงประการ ที่สามนี้ ขอให้เราเริ่มต้นด้วย อุทาหรณ์ง่ายๆ
ของท่านภิกขุ อานันท เกาศัลยายนะ
[เขียนไว้ในเรื่อง คนเราเอาชนะความกลัวได้อย่างไร ในหนังสือพิมพ์มหาโพธิ
และบริติชพุทธิสต์ แต่เขียนสั้นๆ เพียงสองหน้ากระดาษเท่านั้น และกล่าวเฉพาะ
การประพฤติ กายวาจาใจ ให้สุจริตอย่างเดียว ว่า เป็นการตัดต้นเหตุแห่งความกลัว]
เขียนไว้เรื่องหนึ่งเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายในข้อที่ว่า
การสะสางที่มูลเหตุ นั้นสำคัญเพียงไร
อุทาหรณ์ นั้น เป็นเพียงเรื่องที่ผูกขึ้นให้เหมาะสมกับความรู้สึกของคนเราทั่วไป
เรื่องมีว่า เด็กคนหนึ่งมีความกลัวเป็นอันมาก ในการที่จะเข้าไปใน ห้องมืดห้องหนึ่ง
ในเรือนของบิดาของเขาเอง เขาเชื่อว่า มีผีดุตัวหนึ่งในห้องนั้น และจะกินเขา
ในเมื่อเขาเพียงแต่เข้าไป บิดาได้พยายามเป็นอย่างดีที่สุด ที่จะทำได้ ทุกๆ ทาง
เพื่อให้บุตรของตน เข้าใจถูกว่า ไม่มีอะไร ในห้องนั้น เขากลัวไปเอง
อย่างไม่มีเหตุผล แต่เด็กคนนั้น ได้เคยนึกเห็นตัวผีมาแล้ว เขาเชื่อว่า
ไม่มีทางใดที่จะช่วยบุตรของตน ให้หลุดพ้นจากการกลัวผี
ซึ่งเขาสร้างขี้นเป็นภาพใส่ใจของเขาเองด้วยมโนคติได้จริงแล้ว
ก็คิดวางอุบาย มีคนใช้คนหนึ่ง เป็นผู้ร่วมใจด้วย ฤกษ์งามยามดีวันหนึ่ง
เขาเรียกบุตร คนนั้นมา แล้วกล่าวว่า "ฟังซิ ลูกของพ่อ ตั้งนานมาแล้ว
ที่พ่อเข้าใจว่า พ่อเป็นฝ่ายถูก เจ้าเป็นฝ่ายผิด ก่อนหน้านี้ พ่อคิดว่า
ไม่มีผีดุ ในห้องนั้น บัดนี้ พ่อพบด้วยตนเองว่า มันมีอยู่ตัวหนึ่ง
และเป็นชนิดที่น่าอันตรายมาก เสียด้วย พวกเราทุกคน จักต้องระวังให้ดี"

ต่อมาอีกไม่กี่วัน บิดาได้เรียกบุตรมาอีก ด้วยท่าทาง เอาจริงเอาจัง กล่าวว่า
"หลายวันมาแล้ว ผีพึ่งปรากฏตัววันนี้เอง พ่อคิดจะจับและฆ่ามันเสีย
ถ้าเจ้าจะร่วมมือกับพ่อด้วย ไปเอาไม้ถือ ของเจ้า มาเร็วๆ เข้าเถิด
ไม่มีเวลาที่จะรอ แม้นาทีเดียว เพราะมันอาจหนีไปเสีย" เด็กน้อยตื่นมาก
แต่ไม่มีเวลาคิด ไปเอาไม้ถือมาทันที พากันไปสู่ห้องนั้น เมื่อเข้าไปก็ได้พบผี
(ซึ่งเรารู้ดีว่า เป็นฝีมือของคนใช้ทำขึ้น และคอยเชิดมันในห้องมืดนั้น)
สองคนพ่อลูกช่วยกันระดมตีผี ด้วยไม้ถือ และไม้พลอง จนมันล้มลง
มีอาการของคนตาย พ่อลูกดีใจ คนในครอบครัวทั้งหลาย มีการรื่นเริง
กินเลี้ยงกันในการปราบผี ได้สำเร็จ ฉลองวันชัย และเป็นวันแรก ที่เด็กนั้น
กล้าเข้าไปในห้องนั้น โดยปราศจากความกลัวสืบไป
นี่เราจะเห็นได้ว่า เพียงทำลายล้างผี ที่เด็กสร้างขึ้น ด้วยมันสมองของเขาเอง
บิดาต้องสร้างผี ขึ้นตัวหนึ่งจริงๆ จึงทำลายได้สำเร็จ โดยอาศัยความฉลาด
รู้เท่าทันการ รู้จักตัดต้นเหตุ คนโง่ กับคนฉลาด นั้น ผิดกันในส่วนที่
ระงับเหตุร้าย ลงไปจากทางปลาย หรือตัดรากเหง้า ขึ้นมาจากภายใต้

เสือย่อมกระโดด สวนทาง เสียงปืน เข้าไปหาผู้ยิง ในเมื่อรู้สึกว่า ตนถูกยิง
แต่สุนัข ย่อมมัว ขบกัด ตรงปลายไม้ ที่มีผู้แหย่ ตนนั่นเอง
หาคิดว่าต้นเหตุสำคัญ อยู่ที่ผู้แหย่ไม่

เมื่อเราพบจุดสำคัญว่า การตัดต้นเหตุเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนี้แล้ว
เราก็ประจัญกันเข้ากับปัญหาว่า อะไรเล่า ที่เป็นต้นเหตุแห่งความกลัว ?

เมื่อเราคิดดูให้ดีแล้ว อาจตอบได้ว่า เท่าที่คนเราส่วนมาก จะคิดเห็นนั้น
ความกลัวผี มีต้นเหตุมากมาย คือ ความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นบ้าง
การมีความกลัวติดตัวอยู่บ้าง ใจอ่อนเพราะเป็นโรคประสาทบ้าง
อาฆาตจองเวรไว้กับคนไม่ชอบพอกันบ้าง รักตัวเองไม่อยากตายบ้าง
เหล่านี้ ล้วนเป็น เหตุแห่งความกลัว

มูลเหตุอันแท้จริง เป็นรวบยอด แห่งมูลเหตุทั้งหลาย คืออะไรนั้น
ค่อนข้างยากที่จะตอบได้ เพราะเท่าที่เห็นกันนั้น เห็นว่า มันมีมูลมากมายเสียจริงๆ
แต่แท้ที่จริงนั้น ความกลัวก็เป็นสิ่งที่ เกิดมาจากมูลเหตุอันสำคัญอันเดียว
เช่นเดียวกับ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด และ ความหลง
เพราะว่า ความกลัว ก็เป็นพวกเดียวกันกับ ความหลง (โมหะ หรือเข้าใจผิด)
มูลเหตุอันเดียวที่ว่านั้น ก็คือ อุปาทาน
ความยึดถือต่อตัวเองว่า ฉันมี ฉันเป็น นั่นของฉัน นี่ของฉัน เป็นต้น
อันเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัสมิมานะ (เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเคย อธิบายไว้บ้างแล้ว
ในเรื่อง "สุขกถา" ที่คณะธรรมทาน เคยพิมพ์โฆษณาแล้ว)

ความรู้สึก หรือ ยึดถืออยู่เอง ในภายในใจ ตามสัญชาตญาณนั้น
มันคลอดสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ฉัน" ขึ้นมา และความรู้สึกนั้น ขยายตัวออกสืบไปว่า
ฉันเป็นผู้ทำเช่นนั้น เช่นนี้ ฉันจะได้รับนั่น รับนี่ หรือเสียนั่น เสียนี่ไป
นั่นจะส่งเสริมฉัน เป็นมิตรของฉัน นี่จะตัดรอนฉัน ทำลายฉัน เป็นศัตรูของฉัน
"ฉัน" สิ่งเดียวนี้ เป็นรากเหง้า ของความรัก โกรธ เกลียด กลัว หลงใหล
อันจักทำลาย ความผาสุก และอิสรภาพ ของคนเรา
ยิ่งไปกว่าที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันทำแก่เรา มากกว่ามากหลายเท่า หลายส่วนนัก

อุปาทาน ผูกมัดเรา ทำเข็ญให้เรา
ยิ่งกว่าที่หากเราจะถูกแกล้งหาเรื่องจับจองจำในคุกในตะรางเสียอีก
เพราะปรากฏว่ามันไม่เคยผ่อนผันให้เราเป็นอิสระ หรือพักผ่อน แม้ชั่วครู่ชั่วยาม

เมื่อมี "ฉัน" ขึ้นมาในสันดานแล้ว "ฉัน" ก็อยากนั่น อยากนี่
อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากไม่ให้ เป็นอย่างนั้น อย่างนี้
ซึ่งเมื่อพิจารณาดู ซ้ำอีกทีหนึ่งแล้ว จะเห็นว่า เต็มไปด้วย ความเห็นแก่ตนเอง
หรือ "ฉัน" นั้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ "ฉัน" ไม่อยากเจ็บปวด ไม่อยากตาย
หรือแหลก ละลายไปเสีย ฉัน จึงกลัวเจ็บกลัวตาย เป็นสัญชาตญาณ ของ "ฉัน"
เมื่อกลัวตายอย่างเดียว อยู่ภายในใจแล้ว ก็กลัวง่าย ไปทุกสิ่งที่เชื่อกันว่า
มันจะทำให้ตาย หรือทำให้เจ็บป่วย ซึ่งเป็นน้องของตาย ทำให้ฉันกลัว
ผีจะหักคอฉัน กินฉันหลอกฉันขู่ฉัน กลัวเสือซึ่งไม่เคยปรากฏว่าเป็นเพื่อนกันได้
และ
กลัวสัตว์อื่นๆ แม้แต่งูตัวนิดๆ กลัวที่มืดซึ่งเป็นที่อาศัยของสิ่งน่ารังเกียจเหล่านั้น
กลัวที่เปลี่ยว ซึ่งไม่มีโอกาส ที่ตนจะต่อสู้ป้องกันตัวได้
กลัวคู่เวร จะลอบทำฉันให้แตกดับ
กลัวฉันจะอับอายขายหน้าสักวันหนึ่ง เพราะฉัน มีความผิดปกปิดไว้
บางอย่าง ฉันกลัว เพราะไม่เข้าใจว่า สิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ เช่น
ผลไม้ดีๆ บางอย่าง แต่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้ารูปร่าง หรือ สีมันชอบกลแล้ว
ฉันก็กลัว ไม่กล้ากิน หรือแม้แต่จะชิมก็ขนลุก และในที่สุดเมื่อ
"ฉัน" ปั่นป่วน ในปัญหาการอาชีพ หรือ ชื่อเสียงเป็นต้นของฉัน
กลัวว่า ฉันจะเสื่อมเสียอยู่เสมอ ฉันก็เป็นโรคใจอ่อน หรือโรคประสาท
สะดุ้งง่าย ใจลอย ความยึดถือว่า ฉันเป็นฉัน เหล่านี้เป็น มูลเหตุของความกลัว
ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็กวาดความสดใส ชุ่มชื่นเยือกเย็น ให้หมดเตียนไปจากดวงจิตนั้น

เมื่อพบว่า ต้นเหตุ ของความกลัว คืออะไร ดังนี้แล้ว
เราก็มาถึง ปัญหา ว่าจะตัดต้นเหตุนั้นได้อย่างไร เข้าอีกโดยลำดับ
ในตอนนี้เป็นการจำเป็น ที่เราจะต้องแบ่งการกระทำ ออกเป็นสองชั้น
ตามความสูงต่ำ แห่งปัญญา หรือความรู้ ของคนผู้เป็นเจ้าทุกข์
คือถ้าเขามีต้นทุนสูงพอ ที่จะทำลายอุปาทาน ให้แหลกลงไปได้
ก็จะได้ ตรงเข้าทำลาย อุปาทาน ซึ่งเมื่อทำลายได้แล้ว
ความทุกข์ทุกชนิด จะพากันละลายสาบสูญไปอย่างหมดจดด้วย นี้ประเภทหนึ่ง
และอีกประเภทหนึ่ง คือ พยายาม เพียงบรรเทาต้นเหตุให้เบาบางไปก่อน
ได้แก่ การสะสางมูลเหตุนั้น ให้สะอาดหมดจด ยิ่งขึ้น

ประเภทแรก สำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติธรรมทางใจ ให้ก้าวหน้าสูงขึ้นตามลำดับๆ
จนกว่าจะหมดอุปาทาน ตามวิธีแห่งการปฏิบัติธรรม อันเป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้สำเร็จ ในประเภทนี้ คือ พระอรหันต์ จึงเป็นอันว่า จักงดวิธีนี้ไว้ก่อน
เพราะไม่เป็นเรื่องที่สาธารณะแก่บุคคลทั่วไป
และเป็นเรื่องที่เคยอธิบายกันไว้อย่างมาก ต่างหากแล้ว

ส่วนประเภทหลัง นั้นคือ การพยายาม ประพฤติ ความดี ทั้งทางโลก และทางธรรม
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ จนตนติเตียนตนเองไม่ได้ ใครที่เป็นผู้รู้ แม้จะมีทิพยโสต
หรือทิพยจักษุ มาค้นหา ความผิด เพื่อติเตียนก็ไม่ได้
เป็นผู้เชื่อถือ และเคารพตัวเองได้เต็มเปี่ยม ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน
ไม่มีเวรภัยที่ผูกกันไว้กับใครรู้กฏความจริงของโลกศึกษาให้เข้าใจในหลักครองชีพ
หาความ หนักแน่น มั่นใจให้แก่ตัวเอง ในหลักการครองชีพ และรักษา ชื่อเสียง
หรือคุณความดี พยายามทำแต่สิ่งที่เป็นธรรมด้วย ความหนักแน่น เยือกเย็น
ไม่เปิดโอกาสให้ใครเหยียดหยามได้ ก็จะไม่ต้องเป็นโรคใจอ่อน หรือโรคประสาท
เพราะมีความ แน่ใจตัวเอง เป็นเครื่องป้องกัน และสำเหนียก อยู่ในใจ เสมอว่า
สิ่งทั้งปวงเป็น อนัตตา เป็นไปตามเรื่อง คือ เหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นของแปลก
หรือได้เปรียบ เสียเปรียบ อะไรแก่กัน ในเรื่องนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความกลัว ก็หมดไป ใจได้ที่พึ่ง ที่เกษม ที่อุดม ยิ่งขึ้น
สมตาม พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสการเห็นแจ้ง อริยสัจ สี่ประการ ไว้ในรองลำดับ
แห่งการถือ ที่พึ่งด้วยการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
อริยสัจ ก็คือการรู ้ เหตุผลของความทุกข์ และของความพ้นทุกข์
ความกลัว ก็รวมอยู่ในพวกทุกข์ เห็นอริยสัจอย่างเพลา
ก็คือ การเห็น และตัดต้นเหตุแห่งความกลัว
ประเภททีหลังนี้ เห็นอริยสัจ เต็มที่ถึงที่สุด ก็คือ
พระอรหันต์ หรือ การตัดต้นเหตุประเภทแรก ได้เด็ดขาด

ข้าพเจ้าขอจบ เรื่องนี้ลง ด้วย พระพุทธภาษิต
ที่เราควร สำเหนียก ไว้ในใจ อยู่เสมอ
อันจะเป็นดุจ เกราะ ป้องกันภัย จาก ความกลัว ได้อย่างดี ดังต่อไปนี้

"มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัว คุกคาม เอาแล้ว
ย่อม ยึดถือเอา ภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง
สวนที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง เป็นที่พึ่งของตนๆ
นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง อันทำความ เกษม ให้ได้เลย
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ผู้ใดถือสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว
ก็ยังไม่อาจ หลุดพ้น ไปจากความทุกข์ ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว
เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ เห็นทุกข์ เห็นเหตุ
เครื่องให้เกิดทุกข์ เห็นการก้าวล่วงไปเสียได้จากทุกข์ และ
เห็นหนทาง อันประกอบด้วยองค์แปดประการ อันประเสริฐ
อันเป็นเครื่องยังผู้นั้น ให้เข้าถึง ความรำงับแห่งทุกข์ นั่นแหละ
คือ ที่พึ่งอันเกษม นั่นแหละ คือที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใด ถือเอา ที่พึ่ง นั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้ (ธ. ขุ. ๔๐)

ความโศก ย่อมเกิดแต่ความรัก
ความกลัว ย่อมเกิดแต่ความรัก
สำหรับผู้ที่พ้นแล้ว จากความรัก
ย่อมไม่มีความโศก
ความกลัว จักมีมาแต่ที่ไหนเล่า

ความโศก ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้)
ความกลัว ย่อมเกิดมาจาก ตัณหา (เพราะกลัวไม่สมอยาก)
สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจาก ตัณหา ย่อมไม่มีความโศก
ความกลัว จักมีมา แต่ที่ไหนเล่า " (ธ. ขุ. ๔๓)

ขอให้ความกลัว หมดไปจากจิต ความสุข จงมีแต่ สรรพสัตว์ เทอญ



พุทธทาสภิกขุ

๑ สิงหาคม ๒๔๗๙



โดย: ความกลัว (moonfleet ) วันที่: 12 กันยายน 2550 เวลา:15:06:47 น.  

 
ความกลัว

คุณพ่ออายุน้อยคนหนึ่งมีปัญหาในการพยายามบอกให้ลูกชายไปนอนในห้องของเขา “ผมไม่อยากไปนอน ผมกลัวความมืด” ลูกชายวัยห้าขวบอธิบาย “ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย” คุณพ่อพยายามปลอบเขา “พ่อก็นอนในห้องมืด และพ่อก็ไม่กลัว” “แน่นอนซิ” ลูกชายบอกกับพ่อ “พ่อมีคุณแม่คอยดูอยู่นี่”

เกือบทุกคนมีความทรงจำในอดีตเรื่องความกลัวตอนเป็นเด็ก ๆ บางครั้งคุณอยากเปิดไฟไว้ตลอดคืนเพื่อให้แน่ใจว่า ผีกระสือจะไม่เข้ามา หรือคุณคิดว่าในบ้านสักหลังหนึ่งในบริเวณหมู่บ้านของคุณมีผีดิบ หรือแม่มดจับเด็กไปขังไว้ในห้องใต้ดิน ความกลัวที่เกิดจากจินตนาการต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้น

เมื่อเราโตขึ้น เราเริ่มพัฒนา และเข้าใจความเป็นไปของโลก และอันตรายต่าง ๆ เราเริ่มแยกออกได้ระหว่างอันตรายจริง ๆ และจินตนาการ เมื่อเกิดความกลัว เราพยายามใช้เหตุผล และควบคุมอารมณ์จนเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านพ้นไป

ความกังวลเป็นความกลัวอย่างหนึ่ง มันสามารถกลายเป็นเพื่อนร่วมทางได้ทุกวัน ถ้าเรายอมต่อมัน ปัญหาครอบครัว, ปัญหาการงาน, เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน, ฆาตกรรม และความขัดแย้งต่าง ๆ ความหายนะของสิ่งแวดล้อม ไม่เคยขาดสิ่งที่จะนำความวิตกกังวลมาสู่เรา โดยปกติแล้ว เราสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้ทัศนะที่ดี และไม่ยอมให้มันมาควบคุมชีวิตของเรา

อย่างไรก็ตาม บางครั้งปัญหาส่วนตัวสามารถทำให้ความกังวลต่าง ๆ ของชีวิตดูเหมือนว่าหนักมากขึ้น หรือแทบจะทนไม่ไหว การดิ้นรนกับปัญหาครอบครัว หรือความยุ่งยากอื่น ๆ ทำลายความเข้มแข็งในการต่อสู้กับความกลัว จนถึงจุดที่ความคิดอย่างมีเหตุมีผลหมดไป ความกลัวจึงเข้ามาควบคุม

ความกลัวสามารถทับถม หรือทำให้กลายเป็นอัมพาตทีละเล็กละน้อย จนถึงขนาดว่าการออกไปจากบ้านเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ คนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวที่ควบคุมไม่ได้ เสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์ พลาดโอกาสดี ๆ เกิดความเจ็บป่วย มีความรู้สึกผิด กดดัน และว้าเหว่ สำหรับคนเหล่านี้ ความกลัวเป็นเหมือนกับการติดอยู่ในคุกจริง ๆ ถ้าคุณกำลังต่อสู้กับความกลัว คุณรู้ว่ามันสามารถทำลายชีวิตคุณได้อย่างไร แต่ถ้าคุณมีความเข้าใจ และมีข้อมูลที่ดีก็จะสามารถช่วยคุณให้รู้จักความกลัวดีขึ้น และรับคำแนะนำในทางปฏิบัติ และคำแนะนำจากพระวจนะของพระเจ้า เพื่อคุณจะสามารถเผชิญกับความกลัว และเอาชนะมันได้



ความกลัวคืออะไร?

พจนานุกรมให้คำจำกัดความของความกลัวว่า “ความรู้สึกกดดันที่เกิดจากความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น, หรืออันตราย หรือสิ่งเลวร้าย และอื่น ๆ เป็นต้น หรือโดยความคิดเช่นนั้น” มีความแตกต่างที่สำคัญมากในที่นี้ ความกลัวอาจเกิดจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นจินตนาการเท่านั้น ความกลัวชนิดหนึ่งคือการตอบสนองต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ อีกชนิดหนึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เป็นความรู้สึกที่ทำลายเมื่อความกลัวต่อความเจ็บปวด หรืออันตราย หรือสิ่งเลวร้ายเป็นเพียงแต่จินตนาการเท่านั้น เราจะดูในจุดนี้มากขึ้นภายหลัง

พระเจ้าได้จัดเตรียมให้มนุษย์ (และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย) มีสัญชาติญาณภายในเพื่อต่อสู้กับอันตรายที่จะเกิดกับร่างกาย หรือจิตใจ ซึ่งทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะหลีกเลี่ยง เปลี่ยนแปลง หรือเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่บีบคั้น

ความกลัวที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงจากสุนัขที่กำลังเห่า เป็นปฏิกิริยาตอบสนองปกติต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น ร่างกายของคุณเตรียมที่จะรับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้น ตามที่นักจิตวิทยาชื่อ วอลเตอร์ แคนนอน เรียกว่า “ปฏิกิริยาสู้หรือหนี” ความกลัวถูกจุดให้เกิดขึ้นเพื่อความพร้อมของร่างกาย

ความวิตกเป็นอีกความหมายหนึ่งของความกลัว เป็นคำที่ใช้อธิบายอารมณ์หลาย ๆ อย่างกว้าง ๆ ความกังวล ความหวาดหวั่น ความรู้สึกอึดอัด เป็นลักษณะของความวิตกอย่างอ่อน ๆ ความวิตกอาจเกิดจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นจริง หรือจากจินตนาการเท่านั้น

เมื่อคุณเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน การรู้สึกวิตกบ้างเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้เรียกว่าความกังวล “ธรรมดา” ซึ่งจะสามารถควบคุม และลดลงเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป นักแสดงหรือนักกีฬาบางครั้งเห็นว่า “ความตื่นเต้น” นี้เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ก่อนที่จะขึ้นบนเวที หรือก่อนลงแข่งขัน โดยการเปลี่ยนความตื่นเต้นนี้ไปเป็นพลังในการแสดงของเขา ซึ่งทำให้เขาสามารถทำได้ดีกว่า ความกังวลตามธรรมชาตินี้จะเพิ่มพลังให้คุณสามารถเผชิญกับการท้าทาย และทำให้ดีที่สุดเมื่อมาถึงเวลาสำคัญ



เมื่อความกลัวควบคุมไม่ได้

บางครั้งเราประสบกับความวิตกกังวลที่มากเกินขนาด เมื่อเปรียบกับอันตราย หรือสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ บางครั้งสาเหตุของความวิตกกังวลนั้นอยู่ในความคิดเท่านั้น ความวิตกที่มากเกินเหตุสามารถรบกวนชีวิตของเรา เมื่อมันกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทางอารมณ์

มีสาเหตุของความกังวล หรือความกลัวเกินเหตุที่เป็นไปได้หลายอย่าง เช่นเดียวกับความวิตกตามธรรมดา ความกลัวเกินเหตุอาจมาจากความสัมพันธ์กับคนอื่น หรือความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียสิ่งที่สำคัญ หรือประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก หรือความรู้สึกผิด เพราะการไม่เชื่อฟังพระเจ้า หรือแม้แต่วิธีการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร โดยทั่วไปแล้วความกลัวมักเริ่มขึ้นที่ความคิด

เรามีการสนทนาโต้ตอบในความคิดของเราเสมอ การสนทนากับตัวเองนี้มีผลกระทบต่ออารมณ์ และการแสดงออกของเรามาก เมื่อเราเริ่มบอกกับตัวเองในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความจริง หรือขัดแย้งกับความจริงแห่งพระวจนะของพระเจ้า เราเกิดปัญหาทันที เราเริ่มคิด และเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง และความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้แหละเป็นที่ฟักไข่ของความวิตกกังวลที่เกินธรรมดา

ความกลัวเกินเหตุเริ่มจากความคิดที่ไร้เหตุผล ซึ่งไปขยายอันตราย หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เกินจริง หรือจินตนาการเหตุร้ายไปต่าง ๆ นา ๆ คุณเคยบอกกับตัวเองอย่างนี้ไหม เช่น “ฉันคิดว่าทุกคนคงจะเกลียดความคิดของฉัน” หรือ “คนโชคร้ายอย่างฉัน ทำอะไรไปก็คงขายหน้า” คุณวาดภาพในแง่ลบในความคิดของคุณซึ่งอาจจะ หรือไม่อาจจะเกิดขึ้น แล้วบอกกับตัวเองว่ามันจะเกิดขึ้นแน่?

ความคิดที่ปราศจากเหตุผลนี้จะนำไปสู่ความกังวล ความกลัว หรือความวิตกกังวลที่ไม่ปกติในรูปแบบต่าง ๆ ถ้าขืนปล่อยไว้ ความคิดในแง่ลบที่บอกกับตัวเองนี้จะทำให้มีทัศนะต่อชีวิตในทางลบไปเสียหมด คุณจะพบว่าคุณจะเป็นคนที่หวาดกลัว วิตกกังวล และอึดอัดโดยไม่มีเหตุผลอันควร

ปัญหาด้านสุขภาพ และอารมณ์จำนวนมากเกิดจากความวิตกกังวลที่เกินธรรมดา โรคแผลในกระเพาะอาหาร ปวดหัว การนอนไม่หลับ ความเหนื่อยล้า โรคเบื่ออาหาร ล้วนแต่เป็นผลของความวิตกกังวลที่ควบคุมไม่ได้ การรู้สึกตกใจง่ายเป็นลักษณะของความกลัวที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งมักจะตามด้วยอาการหัวใจเต้นแรง หายใจไม่เต็มปอด วิงเวียน เหงื่อออกตามฝ่ามือ และอาการไม่สบายอื่น ๆ ความรู้สึกว่าตกใจง่ายเป็นสัญญาณของความวิตกกังวลที่ควบคุมไม่ได้

ความกลัวอาจเกิดขึ้นได้จากการจู่โจมของวิญญาณชั่ว พระคัมภีร์บอกเราว่า ซาตานเป็นเหมือนกับสิงห์คำราม ไปรอบ ๆ คนที่มันจะกัดกินได้ (ปต.5.8) ซาตาน และวิญญาณชั่วต่าง ๆ พยายามล่อลวงให้คนหลงกระทำบาป ความกลัวเป็นตัวชักนำที่มีอำนาจมากที่ซาตานใช้ในการล่อลวงให้คนไม่เชื่อฟังพระเจ้าโดยทำให้คุณหันหลังให้กับพระเจ้า และหันไปไว้วางใจในความสามารถของตัวเอง แต่พระคัมภีร์บอกเราอย่างชัดเจนว่า คริสเตียนมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่จะต่อต้านผีมารได้ (ยก.4.7) เล่ห์เหลี่ยมของซาตานก็หมดความหมายเมื่อเราสวมใส่ยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า (อฟ.6.11)

ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร ความกลัวที่ควบคุม หรือจำกัดชีวิตของคุณสามารถแย่งเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่พระเจ้ามีไว้สำหรับคุณ ดังนั้นพระองค์จึงบอกไว้มากมายในเรื่องของความกลัวในพระวจนะของพระองค์ และนั่นคือสิ่งที่เราจะแสวงหาหนทางที่จะมีชัยชนะเหนือความกลัว



พระวจนะของพระเจ้าเกี่ยวกับความกลัว

พระคัมภีร์สอนให้เราเกรงกลัวพระเจ้า ไม่ใช่หวาดกลัว ความกลัวชนิดนี้หมายถึงท่าทีในการเคารพยำเกรงพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด ผู้เชื่อถูกสอนให้ตระหนักถึงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า โดยการยอมเชื่อฟัง และถ่อมตัวลง พระคัมภีร์บอกไว้ชัดเจนว่าคนเหล่านั้นที่ต่อสู้พระเจ้า หรือไม่เชื่อฟังพระองค์ต้องเกรงกลัวพระพิโรธของพระองค์

พระคัมภีร์พูดถึงความกลัวอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือความกลัวที่นำผลร้ายมาสู่เรา พระเจ้าบอกเรามากมายเกี่ยวกับความวิตกกังวลที่เกินธรรมดา และวิธีที่จะจัดการกับมัน ในฐานะพระผู้สร้างพระองค์รู้ดียิ่งกว่าใครว่า ความกลัวสามารถสั่นคลอนความเชื่อของเรา และทำลายความสัมพันธ์กับพระองค์ ในพระคัมภีร์เดิม และพระคัมภีร์ใหม่ คำเตือนของพระเจ้าไม่เปลี่ยนแปลง อย่ากลัวเลย อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด

แต่พระวจนะของพระเจ้าบอกเรามากกว่า ว่าอย่ากลัว แต่เต็มไปด้วยขุมทรัพย์ของความมั่นใจจากพระบิดาในสวรรค์ของเรา อย่างเช่น

อิสยาห์ 41:10

"อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะหนุนกำลังเจ้า เออ เราจะช่วยเจ้า เออ เราจะชูเจ้าด้วยมือขวาอันมีชัยของเรา"

เยเรมีย์ 29:11

"พระเจ้าตรัสว่า เพราะเรารู้แผนงานที่เรามีไว้สำหรับเจ้า เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะให้อนาคต และความหวังใจแก่เจ้า"

การวางใจในพระเจ้าเป็นยาแก้โรคความกลัวได้ดีที่สุด แต่บางครั้งการพูดนั้นง่ายกว่าการกระทำ ที่จริงแล้ว เมื่อเราตกอยู่ในความกลัวลึกเท่าใด ก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกลจากเราเท่านั้น ดังนั้นเมื่อความกลัวเกาะแน่นในใจของคุณ คุณต้องรวบรวมพลังที่จะยืนบนพระสัญญาของพระคัมภีร์ และรับเอาเหมือนว่าเป็นคำสัญญาจากพระเจ้าสำหรับคุณเป็นส่วนตัว ดูจากพระคัมภีร์ต่อไปนี้ และยึดไว้เป็นพระสัญญาแห่งความเชื่อส่วนตัวของคุณเอง ตัวอย่างเช่น

สุภาษิต 3:5-6

ข้อ 5 จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง

ข้อ 6 จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น

ทำให้เป็นคำสัญญาส่วนตัว "ฉันจะวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจ และฉันจะไม่พึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง ฉันจะยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของฉัน และพระองค์จะทำให้วิถีของฉันราบรื่น"

อสย.40.31, รม.8.15-16, 1ปต.5.7, อสย.43.1-2, ฟป.4.19, 2ทธ.4.18, ยน.5.14, 2คร.4.16-18, 1ยน.3.1-2

บางทีคุณอาจกลัวพระเจ้าเพราะคุณทำให้พระองค์เสียพระทัยด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด การไม่สามารถดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระคัมภีร์สามารถนำไปสู่ความวิตกว่าพระเจ้าจะไม่ยอมรับเรา ดาวิดได้ประกาศความจริงนี้ว่า (สดุดี 9:10) "บรรดาผู้ที่รู้จักพระนามของพระองค์ก็วางใจในพระองค์ ข้าแต่พระเจ้า เพราะว่าพระองค์มิได้ทรงทอดทิ้งบรรดาผู้ที่เสาะแสวงหาพระองค์"

พระเจ้าให้อภัยเมื่อเราแสวงหาการยกโทษจากพระองค์ พระองค์ไม่ได้คาดหวังให้เราสมบูรณ์ ขอเพียงแต่เชื่อฟัง ความวิตกที่เกิดจากความรู้สึกผิดสามารถหายไปได้ โดยการขอ และรับเอาการยกโทษของพระองค์ พระเจ้าสามารถใช้ความอ่อนแอ หรือความล้มเหลวของเราเป็นเครื่องมือในการสร้างเรา ถ้าเรายอมต่อพระองค์ มันทำให้เราตระหนักถึงความต้องการที่ต้องพึ่งพระองค์ มันทำให้เราเข้าใกล้ชิดพระเยซูผู้เป็นแบบอย่างของเรามากขึ้น

ชัยชนะของคุณต่อความกลัวขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตกับพระองค์ ในแต่ละวันจงหาโอกาสที่จะพัฒนาความสนิทสนมกับพระองค์ โดยการอธิษฐานอ่านพระคัมภีร์ ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์เจิมคุณ และประทานฤทธิ์อำนาจให้พอสำหรับภาระ และการท้าทายของแต่ละวัน พระเจ้าจะช่วยคุณให้ขับความกลัวออกไปจากชีวิตของคุณ และนำคุณเข้าใกล้ชิดกับพระองค์

การรับเอาพระสัญญาของพระเจ้าเพื่อขจัดความกลัวออกไปจากชีวิตของคุณ เริ่มต้นด้วยการรับเอาของประทานอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ คือ ความรอดโดยพระเยซูคริสต์ คุณจะไม่สามารถรู้จักฤทธิ์อำนาจของพระองค์จนกว่าคุณจะรู้จักพระบุตรของพระองค์ ถ้าคุณยังไม่เคยต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคุณ เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำได้ เพียงแต่อธิษฐาน และเชิญพระเยซูเข้ามาในใจของคุณ เพื่อมาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระผู้ช่วยให้รอด สารภาพความไม่เชื่อฟังของคุณ และรับเอาการอภัยโทษ และของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์จากพระองค์



เผชิญกับความกลัว และเอาชนะให้ได้

บ่อยครั้งปฏิกิริยาแรกเมื่อเราประสบกับความวิตก หรือความกลัว คือ การหลีกเลี่ยงต้นเหตุของมัน เมื่ออันตรายที่จะมานั้นเป็นจริง การหลบหลีกก็เป็นวิธีที่ดี แต่เมื่อความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล การหลบหลีกเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และยิ่งจะทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก

การหลีกเลี่ยงเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขความกลัว เพราะมันใช้ได้ผลในระยะสั้นทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เมื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุของมัน แต่ปัญหาคือว่า เมื่อเราพยายามปรับตัวโดยการหลีกเลี่ยงต้นเหตุ แทนที่จะเผชิญกับมัน ผลก็คือ เราได้ยอมตัวของเราให้กับสิ่งที่เรากลัว และให้มันควบคุมเรา การหลีกเลี่ยงจะไม่สามารถขจัดความกลัวออกไปได้

ก้าวแรกในการจัดการกับความกลัว คือ ขอกำลังจากพระเจ้า และเผชิญหน้ากับมัน การเผชิญหน้ากับความกลัว คือ การเปิดเผยตัวเองต่อสิ่งของ บุคคล หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว การเปิดเผยนี้อาจเกิดขึ้นทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป ในขนาดที่ใหญ่หรือเล็ก กุญแจก็คือว่าทำความรู้จักกับสาเหตุของความกลัว จนกว่าคุณไม่กลัวมันอีกต่อไป

จดรายการสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้คุณกลัว จัดลำดับความรุนแรงของมัน เริ่มจัดการกับสิ่งที่รุนแรงน้อยที่สุดก่อน ทำความเข้าใจกับมันจนเอาชนะมันได้ แล้วสร้างความเชื่อมั่นบนความสำเร็จนี้ และก้าวไปสู่ปัญหาต่อไปในทำนองเดียวกัน

ก้าวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการจัดการกับความกลัว คือ ปรับเปลี่ยนท่าทีในการคิด คุณบอกกับตัวเองว่าอย่างไรเมื่อเผชิญกับความวิตกกังวล? คุณบอกความจริงกับตัวเอง? ความคิดของคุณเป็นไปตามพระวจนะไหม? ท้าทายกับความคิดที่ไม่มีเหตุผล และเปลี่ยนมันให้อยู่ในสภาพของความเป็นจริง



ความคิดที่ไร้เหตุผล

"ฉันคิดว่าฉันจะทำให้โครงการนี้วุ่นวายแน่ ดีไม่ดีอาจถูกโดนไล่ออก ถ้าฉันตกงาน ฉันก็คงหมดสิ้นกันละคราวนี้"



ความคิดที่มีเหตุผล

"ฉันจะทำโครงการนี้ให้ดีที่สุด ฉันเชื่อว่ามันคงออกมาดี ทุกคนก็หวังอย่างนั้น ถ้ามีอะไรที่ผิดพลาด ก็คงทำให้ไม่พอใจ แต่ว่าอย่างไรก็ดี ฉันก็ยังมีโอกาสแก้ตัวใหม่"

ความคิดผิด ๆ อีกลักษณะหนึ่ง คือ การบอกตัวเองในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามพระคัมภีร์ นำความคิดที่ไม่ตรงตามพระคัมภีร์ออกมา แล้วนำมาเปรียบเทียบกับพระวจนะของพระเจ้า



ความคิดที่ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์

"ฉันไม่มีทางรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ ฉันก็คงต้องซ่อนอยู่ภายใต้ความกดดัน"



ความคิดตามพระคัมภีร์

ฟีลิปปี 4:13 "ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า"

การสรรเสริญเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับความกลัวอันหนึ่ง เพราะมันจะนำเราเข้าสู่ที่ประทับของพระเจ้า ความคิดที่มุ่งตรงไปที่การสรรเสริญพระเจ้าเป็นป้อมเข้มแข็งที่ความกลัวครอบครองไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น การสรรเสริญสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมาะที่ผีมารจะพยายามเข้ามาทดลองคุณ คุณเกิดความกลัว คุณไม่จำเป็นต้องขับไล่มันออกไป มันจะออกไปเอง ฝึกให้เป็นนิสัยที่จะใช้เวลาในการสรรเสริญพระเจ้า

ใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าทุกวัน รับเอาพระสัญญาของพระเจ้าในพระคัมภีร์เป็นของส่วนตัว พยายามท่องจำข้อพระคัมภีร์ที่พูดกับตัวคุณเอง เช่น ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ ยรม.29.11, ฮบ.13.5, อสย.43.1-2, สดด.34.4, สภษ.1.33, 1ปต.5.7, ฟป.4.13, 19, รม.8.28

อธิษฐานเกี่ยวกับความกลัวของคุณ การอธิษฐานเป็นหนทางไปสู่สันติสุขของพระเจ้า ซึ่งเกินความเข้าใจของเราทั้งสิ้น (ฟป.4.6-7) ขอให้พระเจ้าช่วยคุณเอาชนะความกลัว พระองค์ต้องการให้คุณพ้นจากสิ่งไร้ค่า เพื่อคุณจะชื่นชมในชีวิตครบบริบูรณ์ที่พระองค์เตรียมไว้ให้คุณ

Resource:
//www.cbnsiam.com/factsheet/fact%20sheet_thai_15.htm


โดย: ความกลัว (moonfleet ) วันที่: 12 กันยายน 2550 เวลา:15:08:52 น.  

 
If you fear something





โดย: If you fear something (moonfleet ) วันที่: 13 กันยายน 2550 เวลา:10:09:13 น.  

 
'ความกลัว' และ 'ความมั่นคง' ของมนุษย์
มองจากมุม 'อมาตยา เซน'

นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล

รายงาน

หมายเหตุ - คณะกรรมาธิการว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์ สหประชาชาติ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมนานาชาติ เรื่อง "สิ่งท้ายทายความมั่นคงของมนุษย์ในโลกไร้พรมแดน" เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดประชุม

ทั้งนี้ 2 ใน 12 คณะกรรมาธิการว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์ คือศาสตราจารย์ซาดาโกะ โอกาตะ อดีตข้าหลวงใหญ่องค์การผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ชาวญี่ปุ่น และศาสตราจารย์อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบล ประจำปี 1998 เป็นประธานร่วมในครั้งนี้ด้วย

โอกาสนี้ศาสตราจารย์อมาตยา เซน ได้กล่าวสะท้อนมุมมองเรื่องแนวคิด เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ ด้านการปลอดพ้นจากความหวาดกลัว มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ความมั่งคงของมนุษย์เป็นปัญหาเก่าแก่ หากย้อนกลับไปสมัยพุทธกาลเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งความมั่นคงดังกล่าวคือความมั่นคงทางจิตใจ พระองค์เห็นความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บตายจึงพยายามหาเหตุแห่งทุกข์ดังกล่าวจึงพยายามค้นหาทางดับทุกข์ดังกล่าว การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเผยแพร่ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงในระดับจิตใจ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เข้าใจรากเหง้าของสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ และคำสอนดังกล่าวยังสามารถปรับใช้กับสภาวะการณ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ปัญหาความไม่มั่นคงทั้งหลายที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มนุษย์เป็นผู้สร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งต่างๆ ขึ้นมาเอง ดังนั้นการหาทางแก้ไขปัญหาจึงต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์เอง แม้ปัญหาบางอย่างจะไม่สามารถแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ แต่เราสามารถลดความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาทุเลาเบาบางลงได้ อย่างสถานการณ์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชไอวี(HIV) ขณะนี้หลายฝ่ายก็กำลังพยายามหาทางเยียวยาและคิดค้นตัวยาที่สามารถรักษาป้องกันไวรัสดังกล่าวเหมือนกับที่ครั้งหนึ่งมนุษย์ ได้คิดค้นตัวยาที่สามารถกำจัดโรคฝีดาษให้หมดไปได้

เคยตั้งคำถามไว้ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียว่า หากประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างประเทศไทย หรือเกาหลีใต้ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจ ที่พลิกผันไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ชีวิตความเป็นอยู่ สถานภาพต่างๆ ในประเทศจะเป็นเช่นไรหลังจากนั้นก็ได้รับคำตอบที่ไม่คาดคิดเมื่อทั้ง 2 ประเทศ ที่กล่าวมานั้นต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่ต่างก็คาดไม่ถึง

โครงสร้างสังคมต่างๆ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความเจริญเติบโตด้านต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะเสื่อมลงในพริบตา คนตกงานไปหมดนักเรียนนักศึกษาก็ต้องประสบกับปัญหา ต้องออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่ไม่เงินส่งลูกเรียน คนป่วยก็ต้องประสบกับปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้นปัญหาเหล่านี้เป็นที่น่าสลดใจอย่างมาก เมื่อความสุขที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ กลับต้องพังทลายกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าลงในพริบตา

การจะแก้ไขความไม่มั่นคงดังกล่าวต้องอาศัยมันสมองของมนุษย์คิดค้นหาวิธีอย่างจริงจัง ซึ่งต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร่งด่วน เรื่องกระแสโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ เพราะโลกาภิวัตน์นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความพยายามรักษาและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบต่อจากบรรพบุรุษ อีกทั้งพยายามไม่ให้กระแสโลกาภิวัตน์สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเร็วเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ทั้งหมด จึงเป็นที่มาของปัญหาที่กลุ่มองค์กรต่างๆ ได้รวบรวมเพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งนี้

การจะตอบสนองความมั่นคงของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ต้องดูโครงสร้างสถาบันทางสังคม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการวางมาตรการต่างๆ ในการสร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์โดยเฉพาะความมั่นด้านปัจจัย 4 ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ปัจจุบันเรามักจะมุ่งสร้างความเจริญรุ่งเรือง สร้างมั่นคงของรัฐมากกว่าที่จะสร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์มีอำนาจและขอบเขตการทำงานที่จำกัด ข้อเสนอต่อที่ประชุมบางประการก็กว้างเกินไปหรือบางครั้งก็เกินอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการส่งมอบประเด็นปัญหาบางอย่างไปสู่องค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

การประชุมวันนี้จึงเน้นที่การมุ่งนำเสนอปัญหามากกว่าที่จะมุ่งสรุปหาวิธีแก้ไข ข้อเสนอในวันนี้จะถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ก่อนที่ที่จะประชุมสรุป ประมวลผลเพื่อจัดทำเป็นรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และตีพิมพ์ในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน อย่างสถานการณ์ปัจจุบันที่มีขั้วอำนาจของโลกหลักขั้วเดียวคือประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นอำนาจการตัดสินใจต่างๆ บนเวทีโลกของอเมริกาจึงไม่ค่อยมีใครแสดงการคัดค้านอย่างออกหน้าออกตานัก

แม้ปัจจุบันนานาประเทศพยายามสนับสนุนให้มีการเจรจาอย่างสันติและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง แต่สถานการณ์ของความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับอิรักยังคงคุกรุ่นอยู่และอาจมีแนวโน้มจบลงด้วยความรุนแรง

Resource:
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2002q4/article2002dec12p11.htm


โดย: 'ความกลัว' และ 'ความมั่นคง' ของมนุษย์ (moonfleet ) วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:8:29:40 น.  

 
จาก //www.iamspiritual.com/chai/pp/fear1.html

ความกลัว ตอนที่ 1

เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าร่วมรายการของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาของรายการจะเน้นไปที่วิธีการเอาชนะความเครียด ก็อยากจะมาแบ่งปันความรู้ที่ได้มาเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเนื้อหาที่จะนำมากล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาก็ขอเริ่มเลยแล้วกัน

ก่อนอื่นผู้บรรยายให้เรานึกว่าสิ่งที่เรากลัวสูญเสียมากที่สุดมาสัก 6 อย่าง พร้อมกับจัดลำดับความกลัวนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมรายการแต่ละคนก็มีความกลัวการสูญเสียไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลัวสูญเสียคนรัก ชื่อเสียง ตำแหน่ง และเงินทอง แล้วแต่ละท่านก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ตัวเองนั้นกลัวสูญเสียแตกต่างกันออกไป แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผู้บรรยายได้ทำให้เรามองย้อนกลับไปว่า ชื่อเสียง ตำแหน่ง เงินทอง หรืออะไรก็ตามที่ท่านคิดว่าถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว ชีวิตจะไม่เป็นชีวิตอีกต่อไป มันได้มาภายหลังจากที่เราถือกำเนิดเกิดมาในโลกมิใช่หรือ ยกตัวอย่าง ชื่อเสียง บางคนเกิดมาก็มีชื่อเสียง เพราะบังเอิญเกิดมาในตระกูลที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป กรณีนี้ได้มาง่าย แต่อีกกรณีต้องออกแรงกันหน่อยกว่าจะได้มา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ด้วยความสามารถ ความรู้ ความฉลาด แล้วลองถามตัวเองซิว่า ชื่อเสียงที่ได้มาทั้ง 2 กรณีนี้ให้ความสุขอะไรกับเราจริงหรือเปล่า การที่เราเป็นคนมีชื่อเสียง ย่อมทำให้เกิดความคาดหวังจากการกระทำใดๆ ก็ตาม ถ้าทำดีก็รอดตัวไป แต่ถ้ามันเกิดไม่ดีขึ้นมา การประณามก็จะเกิดขึ้น และถ้ายิ่งเราไปให้ความสำคัญกับชื่อเสียง เราไม่แตกต่างอะไรไปจากหัวโขน ที่คนอื่นหยิบยื่นให้ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง นั่นก็หมายถึง ท่านได้นำความสุขไปแลกกับการมีชื่อเสียง (ปลอม) และได้ของแถมโดยที่ท่านไม่รู้ตัว นั่นก็คือความเครียด (ท่านไม่ต้องการมันใช่ไหมหล่ะ) แล้วสิ่งที่เป็นความจริงก็คือชื่อเสียงที่ได้มาวันหนึ่งมันต้องจากเราไป เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ตลอดไป และอะไรเล่าคือสิ่งที่คงอยู่ตลอดไป?

จากนั้น ผู้ให้การบรรยายก็ได้ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า "การกลัวที่จะสูญเสียต่อสิ่งนั้นๆ นั่นหมายถึงการที่ท่านให้ความใส่ใจสิ่งนั้นๆ มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าหรือมีคุณค่าสำหรับตัวท่านหรือ หากความผูกพันที่ท่านมีต่อสิ่งนั้นๆ ก่อให้เกิดความกลัวขึ้นในตัวของท่าน?"

สรุป ความกลัวเกิดขึ้น เมื่อเราไม่แน่ใจว่าจะจัดการกับสถานการณ์ได้หรือไม่ หรือสงสัยว่าอนาคตจะเป็นเข่นไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องสร้างหรือพัฒนาขึ้น คือ ความไว้วางใจ ซึ่งเกิดจากการที่มีความเชื่อมั่นว่ามีคุณประโยชน์อยู่ในทุกก้าวย่างของชีวิต และเราต้องเรียนรู้เพื่อเติบโต โดยมีความอดกลั้น และการให้อภัย เป็นฐาน

หลายครั้งที่เราเกิดความเครียด และหลายครั้งที่เราตกเป็นทาสมัน โดยที่รู้หรือไม่รู้ตัว สิ่งที่จะช่วยเราได้คือ เราต้องบอกกับตัวเองว่า ไม่มีใครรักและเข้าใจเราเท่ากับตัวเราเอง หากเรายังทำร้ายตนเอง แล้วใครจะช่วยเราได้

ในตอนต่อไป เรามาค้นหาตัวการตัวที่ 2 ที่ทำให้เราเกิดความเครียด ลองติดตามว่ามันคืออะไร?


โดย: ความกลัว ตอนที่ 1 (moonfleet ) วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:8:33:55 น.  

 
ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง....

ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง ในบรรดาสิ่งที่ทำลายความสุข สำราญ หรือ รบกวนประสาทของมนุษย์ เป็นอย่างยิ่ง ความกลัวนี้ ย่อมมีลักษณะและพิษสง มากน้อยกว่ากัน เป็นขั้นๆ ตามความรู้สึก อันสูงต่ำ ของจิต เด็ก ๆ สร้างภาพ ของสิ่งที่น่ากลัว ขึ้นในใจ ตามที่ผู้ใหญ่ นำมาขู่ หรือได้ยิน เขาเล่า เรื่อง อันน่ากลัว เกี่ยวกับผี เป็นต้น สืบ ๆ กันมา แล้วก็กลัว เอาจริงๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ความกลัวนั้น ก็ไม่หมดสิ้นไป ความกลัว เป็นสัญชาตญาณ อันหนึ่งของมนุษย์ เหมือนกันหมด แต่ว่า วัตถุที่กลัว นั่นแหละต่างกัน ตามแต่เรื่องราว ที่ตนรับ เข้าไว้ในสมอง วัตถุอันเป็น ที่ตั้งของความกลัว ที่กลัว กันเป็น ส่วนมาก นั้น โดยมาก หาใช่วัตถุ ที่มีตัวตน จริงจัง อะไรไม่ มันเป็น เพียงสิ่งที่ใจ สร้างขึ้น สำหรับกลัว เท่านั้น ส่วนที่เป็น ตัวตน จริงๆ นั้น ไม่ได้ ทำให้เรา กลัว นาน หรือ มากเท่า สิ่งที่ใจ สร้างขึ้นเอง มันมักเป็น เรื่องเป็นราว ลุล่วงไปเสียในไม่ช้านัก บางที เราไม่ทันนึก กลัว ด้วยซ้ำไป เรื่องนั้นก็ได้มาถึงเรา เป็นไปตามเรื่อง ของมัน และ ผ่านพ้นไปแล้ว มันจึงมิได้ ทรมานจิต ของมนุษย์มาก เท่าเรื่อง หลอก ๆ ที่ใจสร้างขึ้นเอง
เมื่อปรากฏว่า ความกลัว เป็นภัย แก่ความผาสุก เช่นนี้แล้ว บัดนี้ เราก็มาถึง ข้อปัญหาว่า เราจะเอา ชนะความกลัว ได้อย่างไร สืบไป เพราะเหตุว่า การที่ทราบแต่เพียงว่า ความกลัว เป็นภัย ของความผาสุกนั้น เรายังได้รับผลดีจากความรู้นั้น น้อยเกินไป เราอาจปัดเป่า ความกลัวออกไปเสียจากจิต โดยววิธีต่างๆ กัน แต่เมื่อจะสรุปความ ขึ้นเป็นหลักสำคัญๆ แล้ว อย่างน้อย เราจะได้สามประการ คือ
๑. สร้างความเชื่ออย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ยึดเอาเป็นที่พึ่ง
๒. ส่งใจไปเสียในที่อื่น ผูกมัดไว้กับสิ่งอื่น
๓. ตัดต้นเหตุ ของความกลัวนั้นๆ เสีย

พุทธทาสภิกขุ


โดย: ความกลัว เป็นสิ่งที่มีอำนาจมากสิ่งหนึ่ง.... (moonfleet ) วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:8:35:43 น.  

 
เกมช่วยวิจัยความกลัว
Submitted by molecularck on 27 August, 2007 - 09:44. tags: Games Medical

เกมที่ออกแบบมาให้คล้ายเกมส์ Pac Man ได้ถูกใช้เพื่อทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของสมองต่อความกลัว และการแสกนสมองของอาสาสมัครหลายคนพบว่ามีสมองมีระดับการเพิ่มขึ้นต่อการคุกคามของความกลัว

โดยให้อาสาสมัครเล่นเกมที่คล้าย Pac Man โดยมีรูปทรงสามเหลี่ยมคือ Pac Man คอยหนีวงกลมสีแดงหากหนีไม่ได้ อาสาสมัครจะถูกไฟช๊อต และจะแสกนสมองของอาสาสมัครไปด้วย

จากแสกนสมองพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสมองส่วนหน้าไปยังสมองส่วนกลางซึ่งหมายถึง ไฟช๊อตจากเกมได้ก่อให้เกิดความกังวลแล้วเปลี่ยนเป็นความกลัวในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ได้ลงเขียนในวารสารวิชาการ Science และนักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสมองเป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต

หากปราศจากต่อความกลัว สิ่งมีชีวิตจะไม่มีการตอบโต้หรือตอบสนองต่อความกลัวและภัยคุกคามนั้นๆ

ที่มา - BBC.co.uk



โดย: เกมช่วยวิจัยความกลัว (moonfleet ) วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:8:37:03 น.  

 
Resource:
//www.elib-online.com/doctors48/child_fear002.html


ความกลัว หนึ่งในจินตนาการ

น้องไอซ์จอมป่วนประจำบ้านร้องเสียงหลง ชี้ไปที่เจ้าดิ๊กกี้ หมาน้อยที่เคยเป็นเพื้อนซี้สี่ขากันมา ...เกิดอะไรขึ้นระหว่างน้องไอซ์กับเจ้าดิ๊กกี้ ???

แล้วทุกคนก็มาถึงบางอ้อ... ก็เมื่อคืนคุณเธอดูหนังการ์ตูนมีฉากหมาน้อยกลายร่างเป็นหมาป่า น้องไอซ์คงจะคิดไปเรื่อยว่า เจ้าดิ๊กกี้จะกลายเป็นหมาป่าเหมือนในการ์ตูนล่ะสิเนี่ย แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะที่นี้!?



จินตนาการดี แต่ทำไมทำหนูกลัว ?
ถึงแม้ว่าจะมีข้อดี แต่การคิดจินตนาการของหนูๆ ก็อาจจะทำให้เขาคิดถึงเรื่องน่ากลัวเอาได้เช่นกัน ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หนูน้อยเติบโตขึ้นมาจากความไร้เดียงสา พวกเขายังไม่รู้จักโลกที่ตัวเองอยู่จริงๆ ดีเท่ากับผู้ใหญ่อย่างเราๆ เมื่อฟังนิทาน ดูการ์ตูน หรือเห็นสิ่งของที่ไม่รู้จัก เป็นไปได้ที่โลกแห่งจินตนาการภายในตัวหนูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนูน้อยนึกไปตามจินตนาการ



หนูกลัวเพราะจินตนาการ ?
ในช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่พัฒนาการทางความคิดและจินตนาการของหนูๆ ฟูเฟื่องกันมาก แต่เนื่องจากในวัยนี้หนูๆ ยังแยกจินตนาการกับความจริงไม่ค่อยจะออก จึงมักจะเกิดอาการกลัว หรือเพ้อฝันเป็นตุเป็นตะ อย่างที่มีดๆ ก็ไม่กล้าจะอยู่เพราะกลัวว่าจะมีสัตว์ประหลาด เห็นเงาดำของต้นไม้ก็พาลนึกกลัวไปว่าเป็น ภูติผีปีศาจ แต่ก็อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันว่า จินตนาการนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสียมากมายนักครับ



หนูกลัวบ้าง ก็ดีนะ!
คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับถ้าในช่วงหนึ่งของวัยนี้หนูๆ อาจจะกลัวอะไรที่เหมือนจะไร้เหตุผล อย่างสัตว์ประหลาดใต้เตียง หรือเงามืดต่างๆ นักจิตวิทยาถือกันว่า ความกลัวก็มีข้อดีเหมือนกัน เพราะเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของเด็กๆ ครับ หนูๆ จะได้เรียนรู้ที่จะรับมือและจัดการกับความรู้สึกดังกล่าวไปพร้อมกัน จนสามารถทำความเข้าใจได้ว่าบางเรื่องที่เขากลัวนั้นมีเหตุผล และบางเรื่องก็ไร้เหตุผล ซึ่งจะพัฒนาหนูน้อยให้มีความมั่นใจในตัวเอง และรู้จักระมัดระวังต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วย



แง...แง... พ่อแม่ทำหนูกลัว
คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังบ้างว่าบางครั้งสาเหตุสำคัญอาจจะเกิดจากท่าทีของคนที่อยู่ใกล้ชิดอย่างตัวเราเอง เช่น คุณแม่เห็นแมลงสาบวิ่งผ่านหน้าก็กรีดร้องสุดเสียง หนูน้อยที่นั่งตาแป๋วอยู่ใกล้ๆ ก็พลอยตกใจกลัวเจ้าแมลงสาบไปด้วย (ก็แม่หนูยังกลัวเลยนี่นา) การเล่านิทานที่มีเนื้อหาน่ากลัว อย่างเรื่องแม่มดที่เป็นคนแก่ใจร้ายอาจจะทำให้เด็กกลัวผู้หญิงแก่แบบคุณย่าคุณยายใกล้บ้านเอาได้ หรือการขู่ว่าอย่าไปที่มืดๆ ระวังผีเอาไปอยู่ด้วย ฯลฯ แม้ว่าเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้หนูมีอันตราย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ลืมไปว่าความช่างคิดและจินตนาการของเด็กวัยนี้จะแต่งเติมข้อมูลเพิ่มเข้าไปอีก และอาจพัฒนาไปเป็นความกลัวที่ติดตัวแกไปจนโต เรื่องนี้ต้องระวังกันมากหน่อยครับ



หนูไม่กลัว พ่อแม่ช่วยได้
อย่างนี้...ไม่ทำ
อย่าขู่ ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่อยากจะให้หนูว่าง่าย ไม่ดื้อรั้น แต่ก็ไม่ควรใช้การขู่หรือหลอกให้กลัวเพื่อทำตาม เพราะสิ่งนี้อาจจะทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความกลัวบ่มเพาะและเติบโตในใจหนูๆ ได้

อย่าสยองขวัญ ไม่เล่านิทานหรือปล่อยให้หนูดูการ์ตูนที่มีเนื้อหาน่ากลัวเกินจริง

อย่าบังคับ ท่าทีกดดันของพ่อแม่ให้เลิกกลัว อาจจะทำให้หนูกลัวหนักยิ่งขึ้นไปอีก ควรให้เวลาในการปรับตัวเรียนรู้ว่า สิ่งนั้นไม่น่ากลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่าตำหนิ ด้วยคำพูดบั่นทอนกำลังใจ เช่น “ทำไมหนูขี้ขลาดจัง” หรือ ล้อเลียนเห็นเป็นเรื่องสนุก สิ่งนี้ล้วนเป็นการสร้างปมทำให้เกิดแผลขึ้นในใจดวงน้อยๆ ของลูกได้


แบบนี้...ทำได้!
เข้าใจ สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำก็คือ เข้าใจถึงความรู้สึกหวาดกลัวที่เกิดขึ้น ไม่แสดงอาการรำคาญ หงุดหงิด หรือเห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน

ปลอบโยน คิดหาสาเหตุว่าที่ทำให้ลูกกลัวแล้วแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เข้าใจ และพร้อมจะอยู่เคียงข้าง เพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้ไงครับ

อธิบาย ให้เข้าใจความจริงด้วยคำพูดสั้นๆ เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้หนูน้อยสามารถแยกแยะความจริง ออกจากจินตนาการที่เขาคิดไปเองได้

เล่านิทาน ทุกครั้งที่เล่านิทานไม่ว่าจะจบลงด้วยความสุขหรือความกลัว ความผิดหวัง ต้องมีบทสรุปข้อคิดให้ลูกมีกำลังใจจะก้าวข้ามผ่านความกลัวนั้นไปได้ เช่นว่า “แล้วพระเอกผู้กล้าหาญก็สามารถจัดการกับผู้ร้าย (สิ่งที่ลูกกลัว) ได้อย่างไรบ้าง...”


การช่วยหนูๆ ให้สามารถแยกจินตนาการออกจากความจริงได้อาจจะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเด็กวัยนี้ แต่ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่รับบทเป็นผู้ก่อเหตุหรือซ้ำเติมความกลัวของลูกน้อย และควรจะเป็นคนสำคัญที่ให้กำลังใจ จูงลูกให้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ นี่ล่ะสำคัญที่สุด



(update 21 กุมภาพันธ์ 2005)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 105 กรกฎาคม 2547 ]


โดย: ความกลัว หนึ่งในจินตนาการ (moonfleet ) วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:8:39:35 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.