" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 
พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย

Resource://www.dpu.ac.th/ises/news/viewarticles.asp?id=330


พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย
มติชนรายวัน วันที่ 14 ธันวาคม 2549

โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
Varakorn@dpu.ac.th

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ฉลองครบรอบ 72 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยระหว่าง 7-10 ธันวาคม 2549 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานดังกล่าวด้วยการวิจารณ์หนังสือ "พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย" ร่วมกับ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับผู้สนใจสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตยไม่อาจพลาดหนังสือเล่มนี้ได้เลย เพราะวิเคราะห์โดยให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน เมื่ออ่านแล้วจะตระหนักว่า 60 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นเต็มไปด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์

ข้อมูลบางตอนชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของการเป็นนายกรัฐมนตรีของบางท่านนั้นซ้ำกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้เองแล้วจึงจะเข้าใจว่าผู้เขียนหมายถึงอะไร

ผู้เขียนในบทนำได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ ดังต่อไปนี้

".......หนังสือเล่มนี้.......พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้ตัดสินใจและเลือกแล้วที่จะทำการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข กระนั้นก็ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ดี และการปฏิบัติที่เป็นจริงในแต่ละช่วงสมัยก็ดี กล่าวได้ว่ามีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย นับว่าได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง เนื่องด้วยประเทศไทยมีกลไกของการแก้ไขความขัดแย้ง และมีการประนอมออมชอมในแบบหรือในวิถีทางของตนเอง เช่น การหลบออกจากการเมืองโดยการเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งได้ช่วยให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศวิวัฒนาการสืบเนื่องมาได้

ในการสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การที่ประเทศไทยของเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัฯ ผู้ทรงปกเกล้า (reign) ประเทศและพสกนิกรของพระองค์ ทั้งนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงทำการปกครอง (rule) โดยการใช้อำนาจ หรือตัดสินใจให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดหรือถูก หรือว่าได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

สถานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงมีความเป็นพิเศษและน่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเนื่องด้วยพระองค์ทรงครองราชสมบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน 60 ปี และในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและในห้วงเวลาต่อไปข้างหน้าด้วยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย เพราะว่าพระบารมีของพระองค์ทรงทำให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น และทรงทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อมาได้ด้วยวิถีของสังคมไทยเราเอง ซึ่งเป็นที่คาดคิดและเข้าใจได้ว่าเมื่อระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งและมีความเป็นปึกแผ่น หรือมีความเป็นสถาบัน ประเทศไทยก็น่าจะเป็นตัวอย่างแบบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในโลกที่สามารถผสมผสานหลักการใหม่ๆ เข้ากับหลักการและวิธีการปฏิบัติแบบเดิมๆ ได้อย่างพอเหมาะพอควร และพอดีกับสภาพทางกายและจิตใจของประชาชนคนไทยของเราเอง

หนังสือเล่มนี้จะได้อธิบายสภาพของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เป็นภูมิหลังของเนื้อเรื่องซึ่งแน่นอนว่ามีการเปลี่ยนแปลงและมีความ ผันผวนมาเป็นระยะๆ หลังจากนั้นจึงเป็นการสรุปและนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชจริยาวัตร พระราชกรณียกิจ ตลอดรวมจนถึงแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชอำนาจตามประเพณีที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความคลี่คลายมาเป็นระยะๆ......."

ขอยกตัวอย่างบางตอนของหนังสือเล่มนี้ในตอนที่กล่าวถึงการอภิปรายของสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 หลังการรัฐประหาร ในประเด็นว่าจะยังคงมีการปกครองแบบกษัตริย์ไว้หรือไม่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้อภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

".......พระมหากษัตริย์มีคุณค่าแก่เมืองไทย คือว่าโดยเหตุที่การปกครองได้เปลี่ยนมา 15 ปี ยังไม่ถึงจิตต์ใจของประชาชน บางทีคำว่าประเทศบางคนยังไม่รู้ ไปรู้เอาว่าเป็นรูปเจ้าคุณพหลฯ บางคนรู้สึกว่าพระปกเกล้าฯ เป็นประเทศ อะไรเหล่านี้อยู่ในจิตต์ใจของประชาชน อย่างน้อยมีพระเจ้าแผ่นดินก็ยังดึงจิตต์ใจประชาชน.......คนธรรมดาไม่รู้สึกว่าชาติคืออะไร ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จับไม่ติด ถ้าบอกว่าในหลวงใกล้เข้าไปหน่อย......เพราะฉะนั้นการที่จะมีพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องโน้มน้าวจิตต์ใจให้คนรักชาติดีกว่าเหตุอย่างอื่น......อีกอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ท่านจะเห็นว่าความจริงแท้อันหนึ่งคือการเปลี่ยนรัฐบาลออกๆ เข้าๆ วันยังค่ำ แต่เราก็ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างที่แน่นอน มั่นคง สิ่งนั้นคือกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ท่านทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างนี้ดีในทางจิตต์ใจ คืออย่างน้อยยังมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของชาติ เป็นที่มั่นคง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรออกไปอีกอย่างแบบมหาชนรัฐ 4 ปี เปลี่ยนกันที เปลี่ยนกันทีก็เกิดพวก......."

อีกตัวอย่างหนึ่งของข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระปฐมบรมราชโองการ มีดังนี้

".......สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในส่วนของพิธีบรมราชาภิเษกมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในขั้นตอนการถวายน้ำอภิเษก อันเป็นขั้นตอนที่สื่อความหมายถึงการถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยใช้ "น้ำอภิเษก" เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อแทน "พระราชอำนาจ" กล่าวคือได้เปลี่ยนผู้ถวายน้ำอภิเษกจากเดิมราชบัณฑิตเป็นผู้ถวายมาเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ถวาย ส่วนการถวายน้ำพระพุทธมนต์โดยพราหมณ์พิธี และการถวายน้ำเทพมนตร์โดยพราหมณ์พฤฒิบาศนั้นยังคงตามโบราณราชประเพณี ภายหลังจากทรงรับน้ำอภิเษกเสร็จแล้ว ประธานวุฒิสภา (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์) เป็นผู้ถวายพระพรเป็นภาษามคธ และประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายเพียง ราชธรรมนิเทศ) ถวายพระพรเป็นภาษาไทย

เมื่อเสร็จสิ้นการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเป็นปฐมบรมราชโองการ ซึ่งในสมัยรัชการที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ตรัสเป็นภาษาไทยว่า "พรรณพฤกษ์ ชลธี และสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด"

พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า "ดูกรพราหมณ์" บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่พระราชอาณาเหนือท่านทั้งหลาย กับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ"

เพื่อให้เข้ากับการปกครองแบบใหม่ที่เกิดขึ้น และตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่นี้ พระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลปัจจุบันจึงปรากฏเป็นข้อความสั้นๆ เพียงว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

อยากให้ผู้ที่ใส่เสื้อเหลืองทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อจะได้เข้าใจว่าเสื้อตัวนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งต่อความกินดีอยู่ดีในชีวิตของตนเองเพียงใด






Create Date : 04 ธันวาคม 2551
Last Update : 4 ธันวาคม 2551 11:41:51 น. 0 comments
Counter : 1341 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.