No matter what life brings, I just believe that... Everything happens for the best.

Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
บาปนางฟ้า : ความรู้สึกที่ขัดแย้งจากมุมมองที่แตกต่าง

ตอนแรกว่าจะหยิบเล่มนี้มาอ่านนิดเดียว ที่ไหนได้ อ่านแบบวางไม่ลงรวดเดียวจบเลยค่ะ แซงคิวรีวิวอีกหนึ่งเล่ม ^^




เรื่อง : บาปนางฟ้า
เขียนโดย : Gaku Yakumaru
แปลโดย : มินามิ





รายละเอียดจากปกหลัง

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อฮิยามะ เจ้าของร้านกาแฟถูกตำรวจจับผิดว่าเป็นฆาตกรรมสามเยาวชนที่ฆ่าภรรยาสาวของเขา ฮิยามะจมอยู่ในความโศกเศร้ามานานถึงสี่ปีหลังจากภรรยาเสียชีวิต

เขาต้องการรู้ว่า แท้จริงใครเป็นคนฆ่า และเด็กสามคนนั้นเคยนึกเสียใจบ้างไหมที่ฆ่าภรรยาเขา การตามสืบประวัติของเยาวชนกลุ่มนั้นจึงเริ่มขึ้น

แต่ใครจะรู้ว่า ปมจากการตายของภรรยาเขาจะชักพาไปสู่เรื่องรายอีกมากมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง


...


เรื่องนี้มีรางวัล Edogawa Ranpo สำหรับวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนที่มีเนื้อหายอดเยี่ยมเป็นการันตีความสนุก อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ ^^


ฮิยามะ...เจ้าของร้านกาแฟพยายามดำเนินชีวิตตามปกติ ด้วยการดูแลร้านและเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียว...มานามิ หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ภรรยาของเขาถูกวัยรุ่นสามคนฆ่าตายเมื่อสี่ปีก่อน

ตามกฏหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนในสมัยก่อนนั้น การกระทำใดที่เกิดจากเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีจะไม่ถือเป็นการก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด หรือเป็นการฆาตกรรม เด็กจะไม่ได้รับการสอบสวน ((มีการสอบสวนภายใน โดยมีพ่อแม่ของเด็กคอยฟังด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ปกป้องเด็กผู้กระทำผิดเต็มที่)) ไม่มีการลงโทษรุนแรง มีแต่การนำเข้าสถานอบรมฟื้นฟู และไม่มีการลงประวัติอาชญากรรม ... ชื่อของเด็กจะได้รับการปกป้องและไม่ถูกเปิดเผยต่อคนภายนอก รวมไปถึงครอบครัวของผู้เสียหายด้วย

เด็กเหล่านี้เมื่อพ้นจากรั้วของสถานฟื้นฟู ก็ออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ฮิยามะต้องอยู่กับความไม่รู้มาตลอด ชื่อของเด็กที่ฆ่าภรรยาเขาถูกแทนด้วย วัยรุ่น A B และ C

จนกระทั่งกฏหมายนี้ได้รับการแก้ไข ให้ผู้เสียหายสามารถขอข้อมูลรายชื่อของเด็กผู้ก่อเหตุได้ แต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรมากมายเท่าไหร่


วันหนึ่งวัยรุ่น B ได้ถูกฆ่าตายใกล้กับสถานที่ทำงานของฮิยามะ แน่นอนว่า ฮิยามะตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฆาตกร ด้วยเขามีเหตุจูงใจที่อยากจะแก้แค้นให้ภรรยาอยู่แล้ว

นี่เป็นจุดที่ทำให้ฮิยามะย้อนกลับไปสู่อดีตที่ต้องการจะลืม ความสงสัยว่าเด็กพวกนั้นสำนึกต่อการกระทำของตัวเองหรือไม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เขาจึงเริ่มสืบหาว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เด็กวัยรุ่นทั้งสามคนใช้ชีวิตอย่างไร

ระหว่างที่กำลังสืบหาเรื่องราวอยู่นี้เอง วัยรุ่น B ก็ถูกทำร้ายจนเกือบถึงชีวิต และวัยรุ่น A ก็ถูกฆ่า

ยิ่งสืบเรื่องราวมากขึ้นไปเท่าไหร่ ฮิยามะก็เข้าใกล้ความจริงที่เป็นความลับดำมืดของภรรยาผู้เสียชีวิต และความซับซ้อนของแผนการณ์มากขึ้นเท่านั้น


......


เรื่องนี้เป็นการสืบสวนโดยมีธีมเกี่ยวกับกฏหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนค่ะ โดยมีการดูจากมุมมองของสองมุมมอง คือ

- มุมมองของผู้เสียหาย ผู้ซึ่งอยากให้เด็กได้รับการลงโทษ อยากให้เด็กสำนึกผิด

กับ

- มุมมองของผู้ที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ชื่อว่า เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ความผิดของเด็กเสียทั้งหมด พวกเขาจะสามารถกลับตนเป็นคนดีได้

อ่านแล้วก็ทำให้รู้สึกอึดอัดเหลือเกิน ... เราควรให้โอกาสเด็กๆ ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงงั้นหรือ มั่นใจได้อย่างไรว่า ลึกๆ แท้จริงแล้วพวกเขามีจิตใจที่ดี และจะกลับตัวได้ แล้วครอบครัวผู้เสียหายล่ะ ญาติของคนที่ถูกเด็กๆ เหล่านี้ฆ่าตาย ไม่มีสิทธิได้รู้เลยหรือว่า ฆาตกรที่ฆ่าคนที่พวกเขารักเป็นใคร และจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่า ฆาตกรเหล่านี้ไม่ได้รับการลงโทษ ... พูดยากจริงๆ ค่ะ


อ่านแล้วนึกถึงซีรียส์ Prison Break ซึ่ง...ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่ดูแล้วก็ทำให้รู้สึกว่า คนในคุกน่ะ ก็มีทั้งดี จำเป็นต้องเลว เลวจริง เลวน้อย เลวมาก เลวสุดขั้ว ฯลฯ มีคนหลากหลายนะคะ บางคนดูแล้วก็เอาใจช่วยให้หลุดรอดออกมา บางคนดูแล้วก็รู้สึกว่า ประหารดีกว่าจับขังคุกนะนั่น แต่ก็...ทุกคาแร็กเตอร์เป็นสีเทาน่ะค่ะ


ในเรื่องนี้ก็ได้มีการแสดงให้เห็นตัวอย่างจากทั้งสองฝ่ายนะคะ เด็กที่เติบโตขึ้นมาแล้ว รู้สึกผิด ต้องการกลับตัว และไถ่โทษ และเด็กที่โตขึ้นมาแล้วยังจะทำผิดซ้ำอีก ... รวมไปถึงเด็กที่เติบโตขึ้นมาแล้ว สวมหน้ากาก แสดงตัวตนทางสังคมว่าเป็นคนดี อุทิศตัวเองให้สังคม แต่แท้จริงแล้วหัวใจมีแต่ความดำมืด และไม่รู้สึกผิดเลยแม้แต่น้อย


อ่านแล้วก็สะท้อนใจนะคะ ไม่มีคำตอบอะไรที่จะฟันธงลงไปได้ว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนนี้ถูกหรือผิดจริงๆ สงสัยจริงๆ นะคะว่า จะมีสักกี่คนที่กลับตัวกลับใจได้จริงๆ ไม่ก่อความเดือดร้อนอีก เทียบเปอร์เซนต์กับคนที่ออกมาทำเรื่องเลวร้ายกว่าเดิมนี่ เป็นอัตราส่วนมากน้อยเท่าไหร่


.....


สปอยล์ :


อ่านๆ ไปก็นึกอยู่แล้วว่า โชโกะ...ภรรยาที่ถูกฆ่าของฮิยามะจะต้องเคยฆ่าคนมาก่อนแน่ๆ

ชอบการวางพล็อตที่เดาได้แบบกึ่งๆ แต่มีจุดที่ทำให้ประหลาดใจได้อยู่นิดๆ ตอนเฉลยว่า ตัวร้ายสุดๆ คือใคร ... ไม่ใช่แค่วัยรุ่น C ที่เสแสร้งว่าถูกลากไปเกี่ยวข้องด้วยแต่จริงๆ แล้วเลวได้ใจ แต่กลับเป็นตัวทนายเอง ที่อดีตก็เคยฆ่าคนตายเหมือนกัน



.....



สรุปว่าชอบเล่มนี้มากค่ะ ใครที่ชอบอ่านแนวสืบสวนสอบสวนที่อิงกฏหมาย และมีพล็อตดีๆ ก็ขอเชียร์เล่มนี้นะคะ อ่านจบแล้วทำให้เก็บมาคิดอะไรต่อได้มากเหมือนกัน ^^




Create Date : 19 พฤษภาคม 2551
Last Update : 19 พฤษภาคม 2551 15:18:47 น. 7 comments
Counter : 6735 Pageviews.

 
เล่มนี้ชื่อภาษาไทยน่าอ่านมาก ๆ ไว้ไปหามาอ่านมั่งจ้า


โดย: แม่ไก่ วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:22:46 น.  

 
เล่มนี้น่าสนใจค่ะ มีชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษไหมคะ คือคงหาฉบับที่แปลเป็นไทยยากค่ะ นอกจากสั่งมาจากเมืองไทย คิดว่านิยายญี่ปุ่นที่เคยได้รับรางวัลน่าจะมีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วน่ะค่ะ จะได้ไปเสาะแสวงหามาอ่าน

พูดถึงกรณีเด็กเป็นฆาตกรนี่เป็นกฎหมายที่อิหลั่กอิเหลื่อจริงๆนะคะ ที่นี่เคยมีกรณีนี้มาหลายครั้งแล้วค่ะ อย่างเด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุ 11 ขวบ ฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบ เด็กที่เป็นคนฆ่าถูกเอามาขึ้นศาลเด็ก ได้รับโทษคือเอาไปกักตัวไว้จนอายุครบ 18 ปีก็ปล่อยออกมา พอออกมาได้ก็เที่ยวไปก่อคดีอะไรต่ออะไรอีกเยอะไปหมด เห็นแล้วเศร้าค่ะ ถ้ามองในมุมกลับกัน เด็กอายุน้อยๆเป็นฆาตกรแล้ว อายุมากขึ้นจะขนาดไหน บางทีอาจทำให้ผู้ออกกฎหมายลักษณะนั้นได้คิดขึ้นมาบ้างก็ได้นะคะ


โดย: กุลธิดา (kdunagin ) วันที่: 19 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:47:31 น.  

 
เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกจริงๆค่ะ สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับเยาวชนนั้น ที่เค้าออกกฎหมายมาแบบนี้เพื่อช่วยให้เด็กที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ต้องโทษได้มีโอกาสกลับตัวเพื่ออนาคตของเค้าเอง แต่มันก็เหมือนดาบสองคม ที่บางคนก็ไม่คิดจะกลับตัวสำหรับโอกาสที่ได้รับมันจะดีสำหรับเด็กบางคนที่ทำผิดเพราะป้องกันตนเองก็มีเหมือนกัน
ซึ่งก็คงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของสังคมต่อไปน่ะคะ


โดย: หลิน IP: 202.60.203.212 วันที่: 20 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:09:41 น.  

 
เดี๋ยวจะไปหามาอ่านคับ ท่าทางเครียดดี ฮี่ฮี่

พูดถึง prison break เปิ้ลเพิ่งสอยมาเก็บไว้แต่ยังไม่ได้ดู เห็นทีต้องเริ่มดูสักทีแล้วล่ะคับ


โดย: เปิ้ลพี IP: 203.209.124.179 วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:30:44 น.  

 
ไว้จะไปหามาอ่านบ้างค่ะ ยังไม่อยากอ่านสปอยล์

กฎหมายนี้ทางญี่ปุ่นเองก็มีหลายคนไม่ยอมรับนะคะ ยังมีการ์ตูนเรื่อง Happy Life ที่เยาวชนไปก่ออาชญากรรมอย่างย่ามใจแล้วพูดว่า ยังไงประเทศนี้ก็คุ้มครองเราประมาณนี้

ตัวเราเองคิดว่าควรดูเหตุผลเป็นกรณี ๆ ไปมากกว่า ถ้าโดยประมาท หรือสุดวิสัยก็ให้กลับตัวได้ แต่ถ้าโดยเจตนา โดยความคึกคะนอง ฯลฯ เราว่ามันเป็นสันดานแล้วล่ะ เราไม่เชื่อว่าแก้ได้


โดย: Galilee วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:50:16 น.  

 
อ่านแล้วได้คิดอะไรหลายอย่างค่ะ เชียร์นะคะเล่มนี้

เรื่องกฏหมายคุ้มครองเด็กนี่พูดยากจริงๆ เห็นด้วยกับ Galilee ค่ะว่า อยากให้ดูเป็นกรณีๆ ไป

แต่ก็นะ ใครเคยอ่านคดี Mary Bell บ้างไหมเอ่ย เด็กผู้หญิงที่ฆ่าเด็กผู้ชายอายุสองขวบอะค่ะ เธอติดคุกและถูกปล่อยออกมา หลังจากนั้นเธอก็มีลูกและใช้ชีวิตแบบปกตินะคะ ... พูดยากจริงๆ เลยว่า ควรให้โอกาสเธอไหม เพราะสิ่งที่เธอทำมันร้ายกาจมากๆ แต่ตอนหลังก็ดูเหมือนว่า เธอจะกลับตัวได้จริงๆ นั่นแหละ อืม

ปล. คุณกุลธิดาคะ ไอซ์ลองไปเช็คในอเมซอนแล้ว หาไม่เจออะค่ะ


โดย: Clear Ice วันที่: 26 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:59:15 น.  

 
ดู Index รายชื่อหนังสืออื่นๆ ที่ไอซ์ได้รีวิวไปแล้วตามลิงก์ข้างล่างค่ะ

- หนังสือภาษาอังกฤษ
Index Bookshelf : English Books

- หนังสือแปล
Index Bookshelf : Translated Books

- หนังสือภาษาไทย
Index Bookshelf : Thai Books


โดย: Clear Ice วันที่: 8 พฤษภาคม 2553 เวลา:15:48:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Clear Ice
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




Friends' blogs
[Add Clear Ice's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.