พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
14 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
ประวัติศาสตร์โทรศัพท์มือถือ โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ประวัติศาสตร์โทรศัพท์มือถือ

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายวัน วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9679

โทรศัพท์มือถือที่บางคนนึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีมาตั้งแต่แรกเกิดนั้น จริงๆ แล้วเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง และเกือบสะดุดหยุดหายไปจากโลกนี้จนไม่มีโอกาสให้ใช้กันเกลื่อนกลาดเช่นทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์โทรศัพท์มือถือน่าสนใจและมีบทเรียนสำหรับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะตามมา(ขอออกตัวว่าได้ข้อมูลจากสื่ออเมริกัน จึงอาจเอนเอียงไม่ได้พูดถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย)

โทรศัพท์มือถือหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cellular Phone หรือ Mobile Phone หรือ Wireless Phone (ต่างจาก Cordless Phone ซึ่งเป็นโทรศัพท์บ้านหรือที่ทำงานที่ไม่มีสายสามารถเคลื่อนย้ายนั่งพูด นอนพูด ในรัศมีไม่ไกลนักจากเครื่องฐาน) นั้นมีการบันทึกว่ามีการใช้เชิงการค้าเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาหรืออาจในโลก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1983 โดย B.B Barnett ผู้บริหารบริษัท Ameritech โดยโทรศัพท์จากชิคาโกไปถึงหลานปู่ของ Alexander Graham Bell (ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์คนแรกของโลก) เสียงถึงแม้จะไม่ชัดเจนนัก แต่ก็พูดกันรู้เรื่องและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสื่อสารในโลก

ในตอนนั้นผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งรู้เรื่องเทคโนโลยีนี้ดีกว่าคนอื่นๆ ตื่นเต้นว่าต่อไปนี้รถยนต์ ห้องน้ำ บนถนน ซอกตึก ก็อาจกลายเป็นออฟฟิศทำงานได้ด้วย Cellular Phone ผู้คนจะเดินบนถนนพร้อมกับพูดโทรศัพท์ไปด้วย พฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนไป ความสะดวกจะมาเยือน อย่างไรก็ดี จินตนาการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นดังคาดเป็นเวลาอีกหลายปี

ประดิษฐ์กรรมดีๆ เช่น บาร์โค้ด เตาไมโครเวฟ โทรทัศน์สี หรือแม้แต่กระเป๋ามีล้อ ใช้เวลานับสิบปีกว่าจะได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย มีสถิติว่าต่ำกว่าร้อยละ 5 ของประดิษฐกรรมทั่วโลกที่ว่าดีๆ นั้นถูกนำมาใช้อย่างประสบความสำเร็จทางการค้า

หลังจากการโทรศัพท์วันนั้นในปี 1983 เป็นเวลาเกือบสิบปีที่โทรศัพท์มือถือเงียบหายไป ก่อนหน้าปี 1992 มีผู้ใช้เพียง 7.5 ล้านรายในสหรัฐอเมริกา ในประเทศอื่นๆ นั้นแทบไม่มี โทรศัพท์มือถือมาติดตลาดจริงจังก็เมื่อสิ้นสุดทศวรรษ 1990

เหตุผลที่ทำให้ติดตลาดยากก็คือ เครื่องหนัก เทอะทะ มีราคาแพง บริการก็ลุ่มๆ ดอนๆ แถมค่าใช้บริการก็สูงอีก

ในประเทศไทยยุคแรกของโทรศัพท์มือถือคือโทรศัพท์แบกหามหรือติดไว้ในรถยนต์ในสนนราคาเป็นแสน ถ้าเคลื่อนที่ก็ต้องแบกหามเพราะมีแบตเตอรี่ติดไปด้วย ถ้าให้คนช่วยถือนำหน้าก็คงคล้ายขุนนางสมัยโบราณที่มีการแบกเครื่องยศนำหน้า

อย่างไรก็ดี เหตุผลหลักที่ทำให้แพร่หลายช้าก็คือ เทคโนโลยีที่เรียกว่า Mobile Telephony นี้ เป็นของแปลกใหม่ที่ทำให้เกิดความซับซ้อนทั้งในเรื่องการควบคุมกำกับของภาครัฐ การสร้างเครือข่าย(เสารับสัญญาณ ชุมสาย อุปกรณ์ประกอบ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ในการดำเนินงาน ฯลฯ) การหาผู้ใจถึงมาลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อยจึงยาก

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของโทรศัพท์มือถือก็ต้องยอมรับว่านักวิทยาศาสตร์ ของ Bell Labs แห่งบริษัท AT&T ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม โดยเริ่มเกิดความคิดตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1947 ในยุคที่โทรทัศน์ขาวดำกำลังร้อนแรง นักวิจัยมีความคิดว่าสัญญาณวิทยุสามารถใช้เป็นสื่อระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่ต่างพื้นที่บริการ(หรือ Cells) ได้

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ต้องใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีหน่วยงาน FCC(Federal Communication Commissiar) เป็นผู้ดูแลและกำกับ ไอเดียแปลกใหม่นี้ FCC ไม่เข้าใจดีนัก และไม่รู้ว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร ดังนั้น AT&T จึงไม่สามารถหาประโยชน์จากอัจฉริยภาพของนักวิจัยเหล่านี้ได้เป็นเวลานาน

ผู้คนสงสัยว่าเหตุที่มือถือของ AT&T พัฒนาช้าก็เพราะว่าสนุกสนานกับการผูกขาดโทรศัพท์แบบ Fixed Lines(เคลื่อนที่ไม่ได้แบบโบราณ) มากกว่าและมองไม่เห็นว่าโทรศัพท์มือถือจะมีตลาดใหญ่โต(ในทศวรรษ 1980 บริษัทคาดคะเนว่าอย่างดีก็มีผู้ใช้ไม่เกินกว่า 900,000 คน ก่อนปี 1995 ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นก็คือมีผู้ใช้ 40 ล้านคนในปี 1995)

บุคคลสำคัญคนหนึ่งคือ Marty Cooper แห่ง Motorola เป็นผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในปี 1972 เขามุ่งมั่นพิสูจน์ให้ FCC เห็นว่าโทรศัพท์มือถือใช้งานได้ดี ยอมลงทุนสร้างระบบ เสาอากาศ สร้างสถานีฐานรับ-ส่งสัญญาณ มีเครื่องวัดความแรงของสัญญาณ ฯลฯ และสร้างโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า Shoe Phone เพราะตัวเครื่องมีลักษณะคล้ายรองเท้า โทรศัพท์พร้อมทั้งแบตเตอรี่หนึ่งชุดที่เคลื่อนที่ได้หนักรวม 2 ปอนด์ครึ่ง

ในวันที่ 3 เมษายน 1973 Cooper ก็ทดลองให้ FCC ดู โดยโทรศัพท์ไปหานักวิจัยที่บริษัทคู่แข่ง คือ Bell Labs พูดอยู่ 10 นาที โดยเดินไปพูดไปและแบกเครื่องไปบนถนน จน FCC รู้สึกประทับใจไม่น้อย ต่อมา AT&T ก็ทำการทดลองอย่างเดียวกัน อย่างไรก็ดี FCC ใช้เวลากว่า 10 ปีที่จะหาสูตรในการแบ่งสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ใบอนุญาต และหาทางออกในการควบคุมกำกับได้

อุปสรรคยังไม่หมดไปสำหรับการเกิดโทรศัพท์มือถือ ในต้นทศวรรษ 1990 มีข่าวลือว่าทำให้เป็นมะเร็งในสมอง มีการขโมยใช้สัญญาณทำให้เสียหายกันเป็นเงินมากมาย และผู้คนมีความคิดว่าคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือคือพวกโง่เง่า(ในปี 1995 Gallup Poll พบว่าร้อยละ 53 ของคนอเมริกันยังคิดว่าคนใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีความจำเป็นจริงๆ เพียงแต่มีไว้เพื่อโชว์ออฟ)

อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือค่าบริการ ตลอดจนค่าธรรมเนียมเมื่อใช้โทรศัพท์ข้ามเขต(roaming) และแถมต้องขออนุญาตอีก จนไม่สะดวกน่ารำคาญ ลักษณะนี้ดำรงอยู่จนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 1996

ในปีนั้น FCC แจกความถี่ของคลื่นกว้างขวางขึ้น มีคนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น เริ่มมีการใช้เครือข่าย Digital (คงจำได้เมื่อก่อนเป็นระบบ Analog ในบ้านเราคือ ระบบ 800 และ 900) และคุณภาพของเสียงก็ดีขึ้นมาก และปี 1996 เป็นปีที่ Motorola ปล่อยสินค้า หนัก 3 ออนซ์ สุดยอดของความนิยมสู่ตลาดคือ เครื่อง Star TAC (เครื่องสีเทาที่พับออกได้และมีเสาอากาศ)

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดคือ ปี 1998 เมื่อเกิด Wireless Revolution อย่างแท้จริงขึ้น บริษัท AT&T เสนอระบบเหมาจ่ายรายเดือนโดยโทรศัพท์ได้ตามจำนวนเวลาที่จำกัดไว้ ราคานี้รวมทั้งค่าธรรมเนียมใช้ข้ามเขต ค่าโทรศัพท์ทางไกล เมื่อข้อเสนอติดตลาดการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้น หลายบริษัทเสนอเงื่อนไขที่เหนือกว่า แย่งกันเสนอความสะดวก

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการใช้โทรศัพท์มือถือก็กลายเป็นแฟชั่น คนไม่ใช้กลับกลายเป็นคนโง่

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 158 ล้านราย(เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 6 ปี ไทยประมาณ 18-20 ล้านราย และทั้งโลกประมาณ 1 พันล้านราย) คนอเมริกันรับโทรศัพท์มือถือเข้ามาใช้ในอัตราที่เร็วมากเมื่อเทียบกับการรับโทรทัศน์สี เคเบิลทีวี และพีซี

ถ้าหันมามองบ้านเราจะเห็นว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดคือในปี 2002 ท่ามกลางการ แข่งขันที่ดุเดือด บริษัทโทรศัพท์แห่งหนึ่งยอมให้มีการใช้ SIM Cards กับเครื่องใดก็ได้ และเครื่องมาจากที่ใดก็ได้ และตามมาด้วยการเติมบัตร การคิดเงินแบบเหมา ความสะดวกในการใช้ข้ามเขต การขายเหมาเวลาโทรศัพท์ด้วยบัตร และเกิดการแข่งขันแย่งกันเสนอเงื่อนไขแห่งความสะดวก และราคาที่ลดต่ำลงมากแก่ผู้บริโภค จนปัจจุบันคนมีเงินแค่ 1,000 บาท ก็สามารถมีโทรศัพท์มือถือใช้(ซื้อโทรศัพท์รุ่นเก่ามือสอง และซื้อ SIM Card ราคาถูกมาใช้)

โทรศัพท์มือถือมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต ขยายตลาด และเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) หากผู้ใช้รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ดี ถ้าใช้เพียงเพื่อความสุขในการได้พูดและแถมใช้สายเสียบหูและใช้ไมโครโฟนข้างนอกก็รังแต่จะทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีคนบ้าที่พูดกับตัวเอง มากขึ้นเท่านั้นเอง

เว็บวาไรตี้ |ดูดวง |สถานที่ท่องเที่ยว|ก๋วยเตี๋ยวเรือ|กุมารทอง|กุมารทอง|บล็อกฟรี


Create Date : 14 มีนาคม 2555
Last Update : 14 มีนาคม 2555 21:26:16 น. 0 comments
Counter : 2578 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.