Group Blog
 
All Blogs
 
นายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ (ความหลังฯ)

ความหลังริมคลองเปรม

นายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์

วชิรพักตร์

ผมได้เคยเล่าไว้ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับวันทหารสื่อสาร ครบรอบ ๗๕ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ ว่าผมถือกำเนิดมาเป็นเหล่าทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ตอนปลายปี ในฐานะนักเรียนนายสิบ และได้สำเร็จการศึกษาได้รับยศสิบโท สังกัดกองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร ในปลายปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมาตั้งแต่บัดนั้น

และผมก็ได้รับราชการ ในกองกำลังพลต่อมาอีก ๓๐ ปี จึงได้เลื่อนยศเป็นพันโท และเปลี่ยนไปสังกัด กองวิทยาการ กรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ แต่ก็ยังช่วยราชการในกองกำลังพลต่อไป ต่อมา จึงได้เข้าไปรับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ กรมการทหารสื่อสาร ตามตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุจริง ในอัตรา พันโท

ผมเคยมีความภาคภูมิใจมาก ในหน้าที่ซึ่งได้รับในการจัดการกำลังพล ที่เกี่ยวกับเอกสาร และหลักฐาน การบรรจุบุคลเข้ารับราชการ การเลื่อนยศ ปลด และย้ายข้าราชการ เหล่าทหาร สื่อสาร ทั้งนายทหารสัญญาบัตร และนายทหารประทวน ทั่วกองทัพบก มาเป็นเวลาอันยาวนาน โดยไม่มีเรื่องที่ผิดพลาดบกพร่อง หรือมัวหมอง ที่จะต้องถูกสอบสวนหรือลงทัณฑ์แต่ประการใดเลย

นอกเหนือจากนั้นก็คือการได้รับความไว้วางใจจากข้าราชการทั่วไป ที่มีเรื่องจะต้องปรึกษาหารือ เกี่ยวกับกิจการกำลังพลเกือบทุกเรื่อง ซึ่งจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับ อย่างไม่ผิดพลาด จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ว่าถ้ามีปัญหาให้ไปปรึกษาผมได้เสมอ

และได้รับใช้ผู้บังคับบัญชา ในเรื่องพิเศษที่นอกเหนือจากหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในอัตราการจัด มาตลอดเวลา ตั้งแต่เมื่อมีอาวุโสน้อย ด้วยเรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับกองทัพบก ตามอาวุโสที่เพิ่มขึ้น

ผมเคยคิดว่าผมจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งใด หรือยศชั้นใดก็ได้ ในกองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร นี้ แต่ปรากฏว่าชะตาชีวิตของผมได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการจัดงานวันทหารสื่อสาร ครบรอบ ๖๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งท่านประธานคณะกรรมการจัดงาน ได้เรียกใช้ผมเป็นกรณีพิเศษ ในทุกเรื่องที่ท่านนึกไม่ออกว่าจะใช้ใคร ซึ่งผมก็ได้ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตลอดเวลา ครึ่งปีที่ได้มีการเตรียมงาน และจัดงานนั้นสำเร็จเรียบร้อย

เมื่อภารกิจอันใหญ่หลวงนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านประธานในตำแหน่งรองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร คิดจะให้บำเหน็จตอบแทนความเหนื่อยยากของผม จึงเรียกเข้าไปถามว่ารับเงินเดือนขั้นไหนแล้ว จะได้ขอสองขั้นให้ ผมก็เรียนท่านว่า ผมรับเงินเดือนเต็มขั้นทะลุของยศพันตรีแล้ว ท่านก็ไม่ว่าอะไร และในปีถัดมาผมก็ได้เลื่อนยศเป็นพันโท ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกหนึ่ง ในกองวิทยาการ ซึ่งเมื่อผมทราบเรื่อง ก็ได้เข้าไปเรียนท่านอีกว่า ผมไม่มีความรู้ที่จะไปบริหารงานในหน่วยนั้นได้ ท่านก็ว่าไม่ต้องตกใจท่านจะให้ผมช่วยราชการที่เดิมตั้งแต่วันนั้นเลย

เมื่อคำสั่งแต่งตั้งออก ผมจึงต้องรีบไปรายงานตัวกับหัวหน้ากองวิทยาการ โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ท่านจะโกรธว่าผมเข้าไปแย่งตำแหน่งของลูกน้องที่ท่านตั้งใจจะให้ตำแหน่งนั้น โดยบอกว่าผมคงจะไม่อยู่ตรงนี้นาน ไม่ช้าท่านก็คงจะย้ายผมไปประจำกรม จนกว่าจะเกษียณอายุราชการแน่ ท่านหัวหน้ากองจึงไม่ได้แสดงท่าทีอะไรให้ผมหวาดเสียว ซึ่งผมก็ได้รับปากกับท่านว่า ผมจะช่วยงานด้านกำลังพลของกองนี้ให้ดีที่สุด ตามความสามารถของผม เป็นการสนองพระคุณท่านอย่างเต็มที่

แต่อีกไม่นานก็มีการปรับอัตราการจัดกรมการทหารสื่อสาร ใหม่ ให้แผนกห้องสมุด กองสนับสนุนการฝึก โรงเรียนทหารสื่อสาร มาเป็น แผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการและวิจัย ผมจึงได้รับการย้ายเข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกใหม่นี้ทันที แต่ยังคงช่วยราชการกองกำลังพลตามเดิม

ต่อมาอีกไม่นานผมก็ได้รับคำสั่งให้พ้นจากการช่วยราชการกองกำลังพล ไปทำหน้าที่หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ตามคำสั่งใหม่ ผมจึงต้องเปลี่ยนจากงานที่เคยมีความชำนาญมาสามสิบกว่าปี ลงไปลูบคลำหาทางทำงานที่ผมไม่เคยรู้เห็นมาก่อนเลยในชีวิต

ขณะนั้นแผนกห้องสมุดมีเพียงประจำแผนก ยศพันตรีหญิงคนเดียวเท่านั้น ผมรู้ว่า พันตรีหญิงท่านนี้ สำเร็จการศึกษาระดับอักษรศาสตรบัณฑิต และผ่านหลักสูตรห้องสมุดมาแล้ว ผมจึงยกหน้าที่ให้ท่านบริหารห้องสมุดไปตามความรู้ของท่าน โดยผมจะรับผิดแต่อย่างเดียว ส่วนตัวผมจะพยายามหาความรู้ทางด้านพิพิธภัณฑ์ และดำเนินการจัดทำนิตยสารทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นภารกิจแฝงของหน่วยนี้เอง ท่านก็ไม่ขัดข้อง

แต่เวลาล่วงไปอีกสองปีผมก็ยังไม่ได้จัดการอะไร เพราะมีงานนอกเหนือขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือการช่วยเหลือการจัดสร้างและประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของทหารสื่อสาร ตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มประชุมครั้งแรก จนถึงพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ ทั้งที่กรมการทหารสื่อสารสะพานแดง และค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน กระทุ่มแบน โดยไม่มีคำสั่งแต่งตั้ง นอกจากคำสั่งด้วยวาจาของ ท่านเจ้ากรมเท่านั้น ที่สั่งให้ผมเดินสารติดต่อกับทายาทของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จดบันทึกประชุมทุกครั้ง และติดตามถ่ายภาพการปั้นพระอนุสาวรีย์ จนกระทั่งยกขึ้นประดิษฐาน และพิธีเปิด จนถึงสุดท้าย ผมจึงได้รับมอบหุ่นปลาสเตอร์ต้นแบบครึ่งองค์ ของพระองค์ท่าน มาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร อยู่จนถึงปัจจุบัน

แล้วโอกาสดีก็เป็นของผม คือทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้เปิดหลักสูตร นายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหารขึ้น ใน พ.ศ.๒๕๓๒ และเจ้ากรมการทหารสื่อสารก็ได้ส่งผมไปเข้าศึกษาด้วย แม้หลักสูตรจะสั้นเพียงสองเดือน แต่ผมก็ได้ตักตวงความรู้อย่างตั้งอกตั้งใจ และเมื่อจบแล้วก็หอบตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหารมาหอบใหญ่ ผมจึงสามารถปรับปรุงและวางรากฐานของพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร ให้เป็นไปตามแบบสากลได้ อย่างเต็มสติกำลัง

ผมได้สังคายนาวัตถุพิพิธภัณฑ์ ที่ได้เริ่มสะสมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๓๒ ที่ผมได้มารับผิดชอบอยู่ ด้วยการจัดแบ่งประเภทของวัตถุ เขียนประวัติของวัตถุ ถ่ายรูปวัตถุนั้น ๆ ตั้งแต่หมายเลข สส.๐๐๑ ไปจนถึงสองร้อยกว่า และเขียนหมายเลขวัตถุ ลงบนตัววัตถุ เพื่อไม่ให้สับสนปนเปกันผิดชุดผิดประเภท แต่ผมก็ทำไปได้เฉพาะวัตถุที่เป็นเครื่องสื่อสารหลัก ๆ เท่านั้น ก็ถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ท่านเจ้ากรมคนที่ส่งผมไปเรียนหลักสูตร นายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร ก็ส่งชื่อผมไปให้ทางกองทัพบก พิจารณาเลื่อนยศเป็นพันเอก ในตำแหน่งที่ตั้งไว้ลอย ๆ ผมจึงพ้นหน้าที่หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ เปิดโอกาสให้ประจำแผนกพันตรีหญิง ของผมได้ครองตำแหน่งที่เธอรอมานานแสนนานเสียที

ในระหว่างที่ผมอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกนั้น ผมก็มีตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารทหารสื่อสารพ่วงไปด้วย โดยอัตโนมัติ และเมื่อผมเขียนเรื่องที่เกี่ยวประวัติศาสตร์หรืออดีตของทหารสื่อสาร อย่างเช่น ความหลังริมคลองเปรม นี้ ผมจะใช้นามปากกา วชิรพักตร์ แต่ถ้าผมลงชื่อจริง ผมจะใส่ตำแหน่งว่า นายทหารประวัติศาสตร์ กรมการทหารสื่อสาร เพื่อความน่าเชื่อถือของเรื่องนั้น ๆ เสมอ จนกระทั่งมีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่า ตำแหน่งที่ว่านี้มีความเป็นมาอย่างไร และใครเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง

ซึ่งเรื่องนี้น้อยคนนักที่จะทราบ เพราะเมื่อมีการแก้อัตราการจัด กรมการทหารสื่อสาร ให้มี แผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ นั้น ท้ายอัตราได้ระบุไว้ว่า ตำแหน่งหัวหน้าแผนก อัตราพันโทนี้ ทำหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ของหน่วยด้วย ผมจึงสามารถจะเขียนได้โดยไม่ต้องมีใครมาแต่งตั้งให้อีก

แต่ก่อนหน้านั้นหน่วยก็ไม่เคยแต่งตั้งผู้ใดเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทำหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ของหน่วย และหลังจากที่ผมพ้นตำแหน่งนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีใครรับสมอ้างว่าเป็นนายทหารประวัติศาสตร์ของหน่วยอีกเลย

ผมจึงเป็นนายทหารประวัติศาสตร์ เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของกรมการทหารสื่อสาร อย่างแท้จริง และขอเล่าไว้ในโอกาสที่ผู้บันทึกจะมีอายุครบ ๘๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๕๔ นี้

มีผู้ที่ทราบเรื่องนี้เพียงท่านเดียว คือท่านเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านที่ใช้ผมไปทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร นั่นเอง ท่านใช้ผมก็เพราะเป็นภารกิจหนึ่งในตำแหน่งของผม โดยไม่ต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรซ้ำอีก

ท่านเจ้ากรมการทหารสื่อสารท่านนี้ ขออนุญาตบันทึกนามท่านไว้ด้วยความเคารพท่านคือ พลตรี ประจวบ อ่ำพันธ์

เปาบุ้นจิ้นของทหารสื่อสารนี่เอง.

##########





Create Date : 25 กันยายน 2550
Last Update : 19 ตุลาคม 2550 5:39:51 น. 6 comments
Counter : 1786 Pageviews.

 
รู้สึกภาคภูมิใจกับการทำงานของท่านมาก


โดย: วรรณภา IP: 125.26.238.78 วันที่: 7 มกราคม 2551 เวลา:15:10:09 น.  

 
ขอบคุณคุณวรรณภา ที่สนใจเรื่องเก่าของทหารสื่อสาร
ซึ่งบางท่านไม่สนใจอยากจะรู้เลย

ลองอ่านเรื่องอื่น ๆ บ้างซีครับ
อาจมีที่ถูกใจคุณอีกก็ได้ครับ.




โดย: เจียวต้าย วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:5:16:28 น.  

 
เป็นเหตุบังเอิญมากๆเลยค่ะ
หนูเพิ่งเข้ามาอยู่สะพานแดงแห่งนี้สองปีกว่าแล้วค่ะ
กำลังจะหารูป พ.อ.การุณ เก่่งระดมยิง ในกูเกิ้ล
เพื่อไปประกอบวีดิทัศน์ ของกองฯค่ะ
ก็บังเอิญได้เข้ามาเจอบทความที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
ไม่ทราบว่าท่านมีรูปหรือประวัติของกรมฯ บ้างหรือเปล่าค่ะ
เท่าที่หนูมีก็แค่วารสารประจำปี และประวิติที่พิมพ์ๆกันมาในคอมพิวเตอร์
หากมีหนูรบกวนติดต่อ callme_ae@hotmail.com
หรือตอบในนี้ก็ได้ค่ะ หนูจะเข้ามาอ่านบ่อยๆ

ปล.ใกล้วันสถาปนาปีที่ ๘๔ แล้วค่ะ


โดย: หมวดใหม่ IP: 125.26.134.78 วันที่: 1 พฤษภาคม 2551 เวลา:14:36:05 น.  

 
โอ......ดีใจอย่างยิ่งได้เจอกับทหารสื่อสารรุ่นใหม่
หลังจากที่ผมได้เกษียณอายุราชการมาแล้วสิบหกปี
และมีความสนใจในประวัติศาสตร์ของสื่อสาร

คุณลองเปิด นิตยสารทหารสื่อสาร ถอยหลังไปเรื่อย ๆ
คงจะพบชื่อเหล่านี้

วชิรพักต์
เทพารักษ์
พ.สมานคุรุกรรม
เพทาย

เรื่องที่เขียนโดยชื่อเหล่านั้น เป็นของผมทั้งสิ้น
รวมทั้งประวัติของเหล่าทหารสื่อสาร ในฉบับ ๖๐ ปี
และ ๗๒ ปี ของเหล่าทหารสื่อสารด้วย

อ่านให้หมดแล้ว ยังขาดเรื่องอะไรที่ต้องการ โปรดติดต่อกับ พ.อ.ประจวบ เบี้ยวทุ่งน้อย หรือ ร.ต.สันติ คุ้มชาติ ได้โดยตรงครับ

คุณคงจะอยู่ จสท.สส.จึงสนใจประวัติของ พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง
ผมก็เคารพนับถือท่านมากเพราะเป็นผู้เริ่มต้น
กิจการวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ของกองทัพบกครับ


โดย: เจียวต้าย วันที่: 2 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:34:43 น.  

 
ทันทีที่เจอblogนี้ก็ไปหาหนังสือทันทีเลยค่ะ(แต่มีแค่ฉบับ ๘๒ กับ ๘๓)
ได้เจอนามปากกา เลยลองอ่านเปรียบเทียบกับในเว็บนี้
ฮ่าๆ คนเดียวกันนี่เอง :D

พอดีว่าได้รับมอบหมายให้ทำวีดิโออบรรยายสรุปของกองค่ะ
(เดาเก่งจังเลยค่ะ หนูอยู่ จส.) เดิมที่ทำๆกันมาก็มีแต่ภาพเดิมๆซ้ำ
หนูเลยจะหารูปต่างๆให้มันตรงตามเนื้อหาค่ะ

เลยเพลินกับบทความของคุณตา(ขออนุญาติเรียกเหมือนท่านอื่นๆนะคะ)
หนูจะลองไปหานิตยสารที่ห้องสมุด เชื่อว่าอาจจะเจอสิ่งที่ต้องการ
มีข้อสงสัยหนูจะติดต่อทางอา จวบกับพี่สันติค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงในความกรุณาค่ะ

ป.ล. อยู่มาสองปีไม่เคยเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ ตอนนี้เหมือนปิดตายเลยค่ะ





โดย: หมวดใหม่(ยังหานามปากกไม่ได้) IP: 202.176.68.14 วันที่: 2 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:46:39 น.  

 
ที่ จสท.สส.ก็มี พ.ต.ไพรัตน์ พรมหอม
เขาเคยร่วมทำนิตยสารทหารสื่อสาร
คงจะถามไถ่ได้ง่ายกว่าละมังครับ.

สำหรับรูปหัวหน้าการุณไม่มีรูปใหม่หรอกครับ
ท่านออกไปก่อนที่ อัตรา หัวหน้ากอง จะเป็นพันเอกพิเศษ ด้วยซ้ำ


โดย: เจียวต้าย วันที่: 3 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:59:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.