แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

ดร.วสันต์ ผ่องสมบูรณ์ กับเทคนิคการควั่นกิ่งเพื่อให้มะนาวออกฤดูแล้ง

ดร.วสันต์ ผ่องสมบูรณ์ กับเทคนิคการควั่นกิ่งเพื่อให้มะนาวออกฤดูแล้ง

การประสบปัญหาเรื่องการผลิตมะนาวฤดูแล้งไม่ประสบผลตามเป้าหมายที่เกษตรกรได้ตั้งใจไว้คือ ไม่ออกดอกติดผลตามที่เรากำหนดซึ่งน่าจะมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความสมบูรณ์ของต้นมะนาวไม่เพียงพอหรือกรณีที่มีฝนตกชุกในช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรต้องการเปิดตาดอกคือ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม แทนที่ต้นมะนาวจะออกดอกกลับกลายเป็นใบอ่อนแทนหรือในขณะที่จะเปิดตาดอกนั้นต้นมะนาวมีภาระของการติดผลบนต้นเป็นจำนวนมาก จะทำให้ต้นออกดอกได้ยากตามไปด้วย

ดร.วสันต์ ผ่องสมบูรณ์ นักวิชาการเกษตร จากศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ได้พยายามคิดค้นเทคนิคและวิธีการที่จะบังคับมะนาวให้ออกฤดูแล้ง โดยให้มีความแน่นอนของการออกดอกและติดผลตามที่กำหนดเวลาไว้ โดยใช้หลักการ รัดควั่นท่ออาหาร ทำให้อาหารส่งย้อนกลับมาที่รากได้น้อย มีผลทำให้รากของต้นมะนาวหยุดทำงานชั่วคราว ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้ใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดหรือฉีดพ่นบังคับควบคู่ไปด้วย



จะใช้วิธีการควั่นกิ่ง

เมื่อใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล

ดร.วสันต์ได้อธิบายหลักการเบื้องต้นของเทคนิคในการควั่นกิ่งเพื่อบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งว่า จะแนะนำให้ใช้วิธีการนี้กับสายพันธุ์มะนาวที่ออกดอกยากหรือวิธีอื่นๆ ที่เกษตรกรได้เคยใช้มาแต่ไม่ได้ผล ก่อนที่จะตัดสินใจใช้วิธีการควั่นกิ่งนั้นจะต้องมองปัจจัยเหล่านี้เป็นหลัก

1. กรณีที่ต้นมะนาวไม่สมบูรณ์ไม่ควรใช้วิธีการควั่นกิ่งอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะส่งเสริมให้ต้นมะนาวโทรมและตายเร็วยิ่งขึ้น (ต้นมะนาวที่ใช้วิธีการควั่นกิ่งจะออกดอกและติดผลค่อนข้างแน่นอน เมื่อต้นไม่สมบูรณ์และติดผลดกมาก)

2. เกษตรกรควรจะสำรวจแปลงมะนาวให้ดีเสียก่อนว่า ต้นมะนาวที่ปลูกไปนั้นเป็นโรครากเน่าและโคนเน่าหรือไม่ ถ้าเป็นควรรักษาโรคให้หายเสียก่อนถึงจะใช้วิธีการควั่นกิ่งได้

3. เมื่อได้ใช้เทคนิคในการควั่นกิ่งแล้ว จะต้องมีการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล (เช่น สารแพนเทียม) ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น อัตราของการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลจะต้องใช้ตามคำแนะนำ ห้ามใช้เกินอัตราอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะมีสารตกค้างมีผลให้ต้นมะนาวออกดอกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นมะนาวหยุดการเจริญเติบโตตามมา



ระยะการปฏิบัติ

ในการผลิตมะนาวฤดูแล้ง

ด้วยเทคนิคของการควั่นกิ่ง

ดร.วสันต์ได้บอกถึงการเริ่มต้นในการผลิตมะนาวฤดูแล้งด้วยวิธีการควั่นกิ่งว่า ต้นมะนาวควรผ่านการตัดแต่งกิ่งและแตกใบอ่อนมาอย่างน้อย 2 ชุด (ตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ข้อเสียของการไม่ตัดแต่งกิ่งต้นมะนาวจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าไปปฏิบัติงานในแปลงปลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่ปุ๋ย รดน้ำหรือแม้แต่ช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อต้นมะนาวมีทรงพุ่มที่แน่นทึบ เกษตรกรที่เข้าไปปฏิบัติงานจะโดนหนามมะนาวทิ่มแทงทำให้บาดเจ็บ ในขณะเดียวกันต้นมะนาวที่ไม่ได้ตัดแต่งกิ่งและมีทรงพุ่มแน่นทึบ แสงแดดส่องได้ไม่ทั่วถึง มีผลทำให้การออกดอกติดผลลดลง นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง สำหรับข้อดีของการตัดแต่งกิ่งมะนาว เกษตรกรจะเข้าไปปฏิบัติงานได้สะดวก ไม่ต้องเจ็บตัวกับหนามอันแหลมคม เมื่อทรงพุ่มโปร่งแสงแดดส่องทั่วถึง มีผลทำให้การติดผลของมะนาวดกและกระจายทั่วต้น ลดการสะสมของโรคและแมลง ต้นมะนาวมีอายุยาวนานขึ้น

ตามปกติแล้วจะมีคำแนะนำให้มีการตัดแต่งมะนาว เมื่อต้นมะนาวมีอายุต้นได้ 6-8 เดือน ในระยะต้นเล็กเน้นตัดกิ่งกระโดงและกิ่งที่ชิดกับพื้นดินออกเพื่อจัดแต่งทรงพุ่มให้เหมาะสม ในระยะต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตแล้วจะเน้นตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งฉีกหรือกิ่งแห้ง เหลือเอาไว้เพียงกิ่งที่สมบูรณ์ ดร.วสันต์จะแบ่งระยะของการผลิตมะนาวฤดูแล้งด้วยวิธีการควั่นกิ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะบำรุงต้น เพื่อให้เกิดกิ่งใหม่ ใบใหม่และรากใหม่ หลังจากที่มีการตัดแต่งกิ่งเสร็จจะต้องมีการให้ปุ๋ยทางดินและฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ทางดินใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยยิบอินเฟิท สูตร 19-19-19 ใส่ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ถ้าต้นมะนาวมีสภาพทรุดโทรมจากภาระที่มีการติดผลมามาก ควรใส่ปุ๋ยยูเรียควบคู่ไปด้วย โดยใช้ปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยสูตรเสมอในอัตราส่วน 1 : 1 ทางใบควรจะฉีดพ่นสารในกลุ่มของสาหร่าย-สกัด เพื่อให้แตกใบอ่อนให้เร็วขึ้น

2. ระยะควบคุมให้เกิดการสร้างตาดอก ดร.วสันต์ย้ำว่า ระยะนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญ จะต้องราดสารอย่างน้อย 2 เดือน ก่อนควั่นกิ่ง โดยการใช้สารแพนเทียม 10% ราดรอบๆ ทรงพุ่ม แนะนำให้ใช้สารแพนเทียมในอัตรา 10 กรัม ต่อทรงพุ่ม 1 เมตร ก่อนที่จะราดสารนั้นเกษตรกรจะต้องแซะร่องรอบๆ ทรงพุ่มเพื่อให้สารละลายซึมลงไปและรากมะนาวดูดขึ้นไป ถ้าจะให้ดีแล้ว ดร.วสันต์แนะนำให้น้ำต้นมะนาวก่อนที่จะราดสาร 1 วัน ย้ำอีกทีว่าปริมาณของสารแพนเทียมที่ใช้จะต้องตามอัตราที่กำหนด อย่าเพิ่มอัตราอย่างเด็ดขาด

หลังจากที่ได้ราดสารไปแล้ว จะควั่นกิ่งโดยมีวัสดุอุปกรณ์ ดังนี้ กรรไกร เลื่อยตัดเหล็ก ด้ายเบอร์ 16 และไม้ไผ่สำหรับขันชะเนาะ ใช้ใบเลื่อยตัดเหล็กที่หักให้สั้นพอถนัดมือ เลื่อยเข้าเปลือกให้ลึกเข้าเนื้อ ไม้เล็กน้อยและจะต้องไม่ควั่นรอบต้น จะเว้นไว้อย่างน้อย 1 นิ้ว เพื่อขัดขวางการลำเลียงอาหาร หลังจากควั่นเสร็จใช้ด้ายเบอร์ 16 หรือปอฟางรัดเข้าไปในร่องที่เลื่อยไว้ พยายามให้ด้ายหรือปอฟางลงร่องให้มิดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลที่เกิดจากการควั่นมาติดกัน (ถ้าไม่ใช้ด้ายหรือปอฟางรัดเป็นแนวกั้น ต้นมะนาวจะสร้างเนื้อไม้มาติดกัน) วิธีการที่จะทำให้ด้ายหรือปอฟางรัดติดแน่น จะต้องขันชะเนาะด้วยเศษไม้ไผ่ ในมะนาวต้นหนึ่งถ้ามีกิ่งใหญ่หลายกิ่งแนะนำให้ควั่นทุกกิ่ง ไม่ควรควั่นบริเวณโคนต้นเพียงแผลเดียว

หลังจากควั่นกิ่งเสร็จเกษตรกรจะต้องมีการฉีดพ่นอาหารทางใบเพื่อให้ต้นมะนาวสะสมอาหารได้เต็มที่ และเตรียมออกดอกและติดผลต่อไป

3. ระยะให้ต้นมะนาวออกดอกติดผล หลังจากที่ราดสารและควั่นกิ่งไปแล้ว 40-60 วัน สังเกตตายอดของมะนาวจะบวมเบ่งพร้อมต่อการออกดอก ในช่วงนี้เกษตรกรจะฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 ร่วมกับฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ เพื่อสะสมอาหารให้ต้นมะนาวสมบูรณ์เต็มที่ โดยฉีดพ่นเป็นประจำทุก 7 วัน เมื่อสังเกตเห็นต้นมะนาวเริ่มออกดอกบ้างแล้ว แนะนำให้เกษตรกรฉีดพ่นสารเปิดตาดอกได้เลย เช่น โปรดั๊กทีฟ โพลี่เอนไซม์ ฯลฯ เมื่อเห็นว่าดอกมะนาวออกมาเป็นที่พอใจแล้วให้ปลดด้ายหรือปอฟางออก หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ รอยแผลที่ควั่นจะเชื่อมสนิทกันดี

ดร.วสันต์แนะนำว่า วิธีการควั่นกิ่งเพื่อบังคับมะนาวให้ออกในฤดูแล้งนั้น เกษตรกรควรจะทำปีเว้นปีเพื่อให้ต้นมะนาวไม่โทรมเร็วเกินไป



สายพันธุ์มะนาวกับการขยายพื้นที่ปลูกในอนาคต

เป็นที่สังเกตว่า สายพันธุ์มะนาวที่มีเกษตรกรปลูกในเชิงพาณิชย์มากที่สุดในขณะนี้คือ พันธุ์แป้นรำไพ บางคนอาจจะเรียกแป้นพวง หรือแป้นทะวายก็มี เนื่องจากเป็นมะนาวที่ตลาดต้องการมีปริมาณมาก เปลือกบางและมีความหอมเฉพาะตัว ถูกรสนิยมของคนไทย แต่ในภาคของเกษตรกรเมื่อนำมาปลูกมักจะพบปัญหาในเรื่องของความอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์ ทางศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร โดย คุณณรงค์ แดงเปี่ยม นักวิชาการเกษตร จึงได้ผสมและคัดเลือกพันธุ์มะนาวลูกผสมเพื่อให้ต้านทานโรคแคงเกอร์โดยได้ใช้มะนาวจำนวน 4 สายพันธุ์ มาผสมพันธุ์กัน โดยใช้พันธุ์แป้นรำไพเป็นแม่ และใช้มะนาวพันธุ์น้ำหอม พันธุ์หนังคันธุลีและพันธุ์ตาฮิติเป็นพ่อ ซึ่งมะนาวทั้ง 3 สายพันธุ์ ที่ใช้เป็นพ่อนั้นมีคุณสมบัติในการต้านทานโรคแคงเกอร์ ผลจากการผสมพันธุ์นั้นปรากฏว่า ได้ต้นมะนาวลูกผสมออกมาเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลาย บางต้นมีคุณสมบัติต้านทานต่อโรคแคงเกอร์ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นลูกที่เกิดจากพันธุ์แป้นรำไพเป็นแม่ และพันธุ์น้ำหอมเป็นพ่อ ในขณะที่การผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แป้นรำไพกับพันธุ์ตาฮิติ พบว่า ไม่สามารถผสมพันธุ์ให้ติดเมล็ดได้

ในทางวิชาการ วิธีการดูว่าต้นมะนาวลูกผสมที่เกิดขึ้นมานั้นมีความต้านทานต่อโรคแคงเกอร์มากน้อยเพียงใด ให้ตรวจนับจำนวนจุดแผลและขนาดของจุดแผลที่ใบและผลว่า มีจำนวนน้อยและขนาดของจุดแผลเล็ก เมื่อมีจำนวนน้อยและจุดแผลเล็กแสดงให้เห็นว่า มีความต้านทานต่อโรคแคงเกอร์ได้ดี ในขณะเดียวกันเมื่อได้พันธุ์มะนาวที่มีความต้านทานแล้วมาดูที่ลักษณะของผลว่า มีลักษณะของผลและรสชาติคล้ายคลึงกับพันธุ์แป้นรำไพหรือไม่

ในภาคของเกษตรกรโดย คุณดำรงศักดิ์ วิรยศิริ เจ้าของสวนบ้านวังทอง ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์มะนาวเช่นกัน โดยใช้พันธุ์มะนาวยักษ์เป็นพ่อ และพันธุ์แป้นรำไพเป็นแม่ ได้มะนาวลูกผสมที่มีลักษณะของผลและรสชาติคล้ายคลึงกับพันธุ์แป้นรำไพมาก และตั้งชื่อพันธุ์ว่า "แป้นจริยา" ลักษณะเด่นของมะนาวลูกผสมแป้นจริยาคือ มีการติดผลที่ดกมาก ติดตลอดทั้งกิ่งและมีการออกดอกติดผลได้ตลอดทั้งปี มีลักษณะการติดผลเป็นพวง ออกดอกติดผลได้หลายรุ่นโดยไม่ใช้สารเคมีบังคับแต่อย่างใด เท่าที่สังเกตดูในขณะที่ต้นเลี้ยงผลในปริมาณมาก สภาพของต้นยังแข็งแรงและมีความทนทานได้ดี อาจจะเป็นเพราะมะนาวลูกผสมแป้นจริยาเกิดจากพันธุ์มะนาวยักษ์เป็นพ่อ ผลมะนาวแป้นจริยาจะมีปริมาณน้ำมากตั้งแต่ผลเล็กและเมื่อผลแก่จนเหลืองยังรอการเก็บเกี่ยวอยู่บนต้นได้ ขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรได้ซื้อมะนาวพันธุ์แป้นจริยาไปปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น ให้ผลผลิตเร็วมาก เกษตรกรหลายคนได้บอกกับผู้เขียนว่า ในช่วงที่มะนาวแป้นรำไพขาดตลาด มะนาวแป้นจริยาจะทดแทนได้ ถ้าไม่พิจารณาให้ละเอียดจริงอาจจะแยกไม่ออกระหว่างพันธุ์แป้นจริยากับพันธุ์แป้นรำไพ

นอกจากจะส่งเสริมการปลูกมะนาวแป้นจริยาในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังประยุกต์มาปลูกในกระถางเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ เพียงแต่ใช้กระถางที่มีขนาดใหญ่ และวางกระถางในสภาพกลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน สภาพดินหรือวัสดุปลูกควรจะมีการระบายน้ำที่ดี ใช้กิ่งตอนปลูกไปเพียง 6 เดือน ต้นมะนาวแป้นจริยาก็จะออกดอกและติดผล ถ้ามีปัญหาเรื่องการระบาดของแมลงแนะนำให้ใช้สมุนไพรในกลุ่มของสารสะเดาฉีดพ่นก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้สารเคมี ควรจะเลือกที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เช่น สารโปรวาโด สามารถป้องกันแมลงที่ทำลายมะนาวได้หลายชนิดโดยเฉพาะหนอนชอนใบและเพลี้ยไฟ



*หนังสือ "การบังคับมะนาวออกฤดูแล้ง" พิมพ์ 4 สี จำนวน 84 หน้า มีแจกฟรี เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ จำนวน 50 บาท ส่งมาที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (01) 886-7398




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2549   
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:14:31 น.   
Counter : 6212 Pageviews.  


มานพ หอมรื่น คนเลี้ยงโคขุน แห่งวิเศษชัยชาญ ชี้เลี้ยงได้ดีถ้าทำแปลงหญ้า


มานพ หอมรื่น คนเลี้ยงโคขุน แห่งวิเศษชัยชาญ ชี้เลี้ยงได้ดีถ้าทำแปลงหญ้า

ในอาชีพการเลี้ยงโคขุน การก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องรู้การพลิกแพลงหาเทคนิคส่วนบุคคลทั้งในด้านการเลี้ยง การจัดการ รวมถึงการจัดหาอาหารมาใช้เลี้ยง เพื่อก่อให้เกิดผลกำไรที่คุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณมานพ หอมรื่น หรือ อาจารย์มานพ อดีตข้าราชการครูที่เออร์ลี่รีไทร์ จากอาชีพเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และก้าวมาสู่การเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว กับอาชีพการเลี้ยงโคขุนและปลูกหญ้าแพงโกล่าจำหน่าย

อาจารย์มานพเป็นคนหนึ่งที่ได้ค้นหาเทคนิคการเลี้ยงจนก้าวมาเป็นเกษตรกรชั้นแนวหน้าของอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

ในขณะที่ผู้คนรอบข้างที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ยังคุ้นเคยกับการเลี้ยงโคพื้นเมือง อาจารย์มานพ เมื่อครั้งยังหนุ่ม ได้เห็นความสำคัญของการปรับปรุงสายพันธุ์โคที่เลี้ยง จึงได้มีการนำโคพันธุ์บราห์มันที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมปศุสัตว์เข้ามาเลี้ยงและใช้เป็นพ่อพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์เป็นรายแรกของหมู่บ้าน

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ เขาได้เติบโตกับอาชีพการเลี้ยงโคจนเป็นแบบอย่างที่เกษตรกรหลายคนที่สนใจได้แวะเวียนมาปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ เพื่อนำแนวทางไปพัฒนาปรับใช้กับการเลี้ยงของตนเอง



ผลิตลูกแล้วขุนขาย เพิ่มมูลค่าให้โคที่เลี้ยง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชายผู้นี้ได้หันเหมาสู่อาชีพการเลี้ยงโคขุนคือ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อโค

"ในคอกผมจะมีลูกตัวผู้เกิดมามาก พอเลี้ยงได้ขนาดจะขาย พ่อค้าเข้ามาตีราคาเหมาเป็นตัว ซึ่งหากเกษตรกรไม่เป็นในเรื่องของการคำนวณราคาจะมีแต่ทางเสียเปรียบพ่อค้า ตอนนั้นเลยคิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีการซื้อใหม่ จึงขอให้พ่อค้าใช้วิธีการตีราคาออกมาเป็นกิโลกรัมด้วยวิธีการชั่งน้ำหนักเพื่อไม่ให้เสียเปรียบซึ่งกันและกัน และได้กลายมาเป็นวิธีซื้อขายที่มีมาจนถึงทุกวันนี้"

นอกเหนือจากจำหน่ายให้กับพ่อค้าแล้ว ลูกโคตัวผู้ที่เกิดจากแม่โคในฟาร์มส่วนหนึ่งจึงถูกนำเข้าสู่กระบวนการขุน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์ที่เลี้ยง พร้อมๆ กับการซื้อลูกโคจากเพื่อนเกษตรกรใกล้เคียงและจากตลาดนัดเพื่อให้ได้จำนวนโคต่อการขุนในหนึ่งรุ่น

สำหรับฟาร์มแห่งนี้ จึงมีคอกเลี้ยงโคอยู่ด้วยกัน 2 คอก คือ หนึ่ง คอกโคแม่พันธุ์ที่มีอยู่ 30 แม่ สอง คอกโคขุน และแปลงหญ้าแพงโกล่าอีก 30 ไร่

อาจารย์มานพ บอกว่า การเลี้ยงโคขุนในวันนี้ สิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องมีคือ อาหารหยาบ



คิดเลี้ยงขุน หญ้าคือสิ่งที่ต้องมี

"เพราะเราไม่มีโรงงานสับปะรด ไม่มีเปลือกข้าวโพดหวาน เหมือนกับทางจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ที่จะใช้เปลือกสับปะรดมาใช้เป็นอาหาร ดังนั้น เมื่อจะเลี้ยงสิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างอาหารหยาบขึ้นมา เพราะถ้าเราเลี้ยงโคไม่มีหญ้า ธุรกิจนี้ไปไม่ได้แน่นอน"

"คิดดูว่า หญ้าที่ซื้อกิโลกรัมละ 1.50 บาท และในกรณีโคขุน ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือน ต้องใช้หญ้าเท่าไร เพราะโค 1 ตัว จะกินหญ้าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว ต่อวัน ถ้าโคน้ำหนัก 300 กิโลกรัม จะกินหญ้าประมาณ 30 กิโลกรัม คูณด้วย 1.50 บาท แสดงว่าวันหนึ่งต้องซื้อหญ้าประมาณ 45 บาท ต่อโคหนึ่งตัว"

ในส่วนของหญ้าที่ปลูกคือพันธุ์แพงโกล่า อาจารย์มานพบอกว่า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทองให้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกนาหญ้าขึ้นมา ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 30 คน และมีเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มประมาณ 500,000 บาท โดยมีรายได้จากการจำหน่ายหญ้าสดและดอกเบี้ยที่ได้จากการให้สมาชิกกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์

"การปลูกหญ้าอาหารสัตว์นี้ กลุ่มของเราไม่เน้นในการจำหน่ายหญ้าเป็นหลัก แต่ใช้วิธีการเพิ่มมูลค่า โดยแทนที่จะจำหน่ายหญ้าสดในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เราก็นำมาทำให้เป็นมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมาเป็นอาหารหยาบสำหรับโคขุนของเรา ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้มากกว่า และในกลุ่มผู้ปลูกหญ้าของผม ถ้าสมาชิกคนใดจำหน่ายหญ้าไม่ได้ ทางกลุ่มจะเข้าไปรับซื้อหมดและนำไปจำหน่ายให้ต่อ โดยราคาหญ้าสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50 บาท ขณะที่หญ้าแห้งอัดก้อนน้ำหนักก้อนละ 20 กิโลกรัม ราคาก้อนละ 50 บาท"

อาจารย์มานพกล่าวต่อไปว่า สำหรับการเลี้ยงโคขุนในแต่ละรุ่น มีปริมาณ 50 ตัว ซึ่งใน 1 ปี จะสามารถเลี้ยงโคขุนได้ประมาณ 3 รุ่น

โดยโคที่ขุนส่วนหนึ่งมาจากคอกแม่พันธุ์ของเราเอง แต่ถ้าปริมาณไม่เพียงพอจะไปซื้อโคจากตลาดนัดเข้ามาให้ครบจำนวน อาทิ ที่จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เป็นต้น

"สาเหตุที่เราต้องไปเลือกซื้อโคจากจังหวัดอื่น เนื่องจากในปัจจุบันพันธุ์โคที่ชาวบ้านเลี้ยงกันจะเป็นสายพันธุ์ฮินดูบราซิลเป็นส่วนมาก ซึ่งโคสายพันธุ์นี้ ในเรื่องของอัตราแลกเนื้อจะสู้สายพันธุ์บราห์มันกับชาร์โรเลส์ไม่ได้"

ทั้งนี้แต่ละปี อาจารย์มานพผลิตลูกโคเพื่อขุนเองได้ประมาณ 20 ตัว



เทคนิคการขุน

วิธีการขุนโค อาจารย์มานพ เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ขนโคจากแหล่งซื้อมาสู่คอกเลี้ยง โดยจะให้อดน้ำประมาณ 1 วัน จากนั้นให้น้ำ อาหาร พอโคหายเครียดจะเริ่มถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคเฮโมรายิก ถ้าโคที่อายุมากจะฝังฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่หู

"จากนั้นต้องมาสังเกตว่า โคที่นำเข้ามาเลี้ยงกินอาหารข้นเป็นหรือไม่ ถ้ากินไม่เป็นต้องมาหัดให้กิน โดยช่วงแรกให้กินหญ้าไปก่อนแล้วจึงหัดให้กินอาหารข้น โดยให้อาหารข้นต่อมื้อทีละน้อยๆ ภายในเดือนแรกจะให้หญ้าได้เต็มที่ พอเดือนที่สองลดปริมาณหญ้าลง เน้นอาหารข้นเป็นหลัก ในเดือนที่สามปริมาณหญ้าจะลดลงให้เหลือปริมาณหญ้าน้อยที่สุด เพื่อให้โคอ้วนได้ตามน้ำหนักตามที่ต้องการ"

"ซึ่งใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานประมาณสี่เดือน โดยอัตราการให้เนื้ออยู่ที่ 1 ต่อ 1.1 ต่อวัน ถ้าเป็นลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเลส์ได้มากกว่า อาจถึง 1.5 กิโลกรัม ต่อวัน โดยในช่วงเดือนที่สี่ จะให้อาหารข้นในอัตรา 8-10 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ซึ่งเมื่อนำมาหารเฉลี่ยแล้วในช่วงการเลี้ยง 4 เดือน โคจะกินอาหารประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อวัน"

การเลี้ยงด้วยหญ้า ในช่วง 2 เดือนแรก จะอัดหญ้าให้มาก และ 2 เดือนหลัง จะอัดหญ้าน้อยลง

ขณะที่อาหารข้นที่ใช้ อาจารย์มานพบอกว่า ผลิตขึ้นใช้เอง โดยมีส่วนผสมประกอบด้วย มันเส้น รำข้าว กากปาล์ม กากมะพร้าว ยูเรีย กำมะถัน และแร่ธาตุ โดยในปริมาณอาหารที่ 1 ตัน จะใช้มันเส้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ กากถั่วเหลือง 10 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งการใช้ส่วนผสมอาหารข้นอย่างไรนั้น ต้องดูที่โคด้วย เพราะถ้าเป็นโคที่อายุมาก จะเป็นโคโครงต้องให้อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตสูง เพื่ออัดให้ได้เนื้อ แต่ถ้าเป็นโคเล็กต้องเพิ่มโปรตีนให้สูง โดยโปรตีนนี้ถ้าเป็นโคใหญ่ สามารถใช้ปุ๋ยยูเรียเม็ดเล็ก สูตร 46-0-0 เป็นแหล่งโปรตีนได้มาก ตามปกติในการผสมอาหารข้นจะใช้ยูเรียได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปริมาณที่ให้เกินกว่านี้ จะมีผลทำให้โคตายได้

ทั้งนี้ยูเรียเป็นวัตถุดิบอาหารที่ให้โปรตีนสูงเกิน 200 กว่าเปอร์เซ็นต์ และมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบโปรตีนชนิดอื่น อย่างกากถั่วเหลือให้โปรตีนประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าไปใช้ปลาป่นซึ่งมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงจริง แต่จะมีปัญหาเหม็นหืนและมีราคาแพงกว่า จึงเลี่ยงมาใช้ยูเรีย ซึ่งราคาถูกกว่าและให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนสูง

สำหรับปริมาณความต้องการโปรตีนในโคขนาดที่มีน้ำประมาณ 200 กิโลกรัม จะให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนที่ 18 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเรียกเนื้อเรียกไขมัน ขณะที่โคใหญ่ให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์



ทำให้ต้นทุนต่ำ หลักการเพื่อสร้างกำไร

ในการเลี้ยงโคขุนอาหาร อาจารย์มานพบอกว่า ต้องยึดหลักการที่ว่า ทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุดและให้ผลตอบแทนมากที่สุด

ในการเลี้ยงโคขุน 1 ตัว เมื่อรวมต้นทุนค่าตัวโคเฉลี่ยที่ตัวละ 15,000 บาท และค่าอาหารตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือน ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท และจะจำหน่ายได้ที่ประมาณ 23,000 บาท หรือได้กำไร 5,000 บาท ต่อตัว ต่อการเลี้ยง 4 เดือน ดังนั้น ถ้าเลี้ยงที่ 50 ตัว ในการเลี้ยง 1 รุ่นจะมีกำไรประมาณ 200,000 บาท

จากประสบการณ์การเลี้ยงโคขุนของอาจารย์มานพ โคที่ซื้อเข้ามาเลี้ยงขุน หากเป็นโคที่มาจากพม่า จะเป็นโคโครงใหญ่ๆ เป็นโคที่ผอม กว่าจะฟื้นตัวได้นานพอสมควร แต่ถ้าเป็นโคที่มาจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศ เช่น จากจังหวัดตาก เพชรบูรณ์ จะขึ้นเร็วกว่า เพราะโคพวกนี้จะมีเชื้อพันธุ์บราห์มันสูงหรือมีเชื้อพันธุ์ชาร์โรเลส์อยู่บ้าง ดังนั้น หากให้สรุป อาจารย์มานพบอกว่า โคจากพม่าหากนำมาขุนจะไม่ดีเท่าที่ควร

"การรู้ว่าเป็นโคพม่า กับโคลูกผสมบราห์มันจะผิดกันมากเลย ทำให้ดูง่าย โดยโคพม่านั้นบริเวณส่วนท้ายจะยก เหมือนหมา เขาจึงเรียกกันว่า วัวเอวหมา และเป็นโคปลดระวางหรือโคแก่ แต่ถ้าเป็นพันธุ์บราห์มัน ลำตัวจะขนานกับพื้น"

ตลาดรองรับโคขุนจากฟาร์ม อาจารย์มานพบอกว่า จะมีพ่อค้าขาประจำเข้ามารับซื้อและส่งไปชำแหละที่แถวคลองหนึ่ง ปทุมธานี ที่สำโรง สมุทรปราการ และที่จังหวัดอ่างทอง โดยหลังจากที่ได้ตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว พ่อค้าจะเริ่มมาทยอยขนโคไป โดยเที่ยวหนึ่งจะมาขนโคไปประมาณ 1 คันรถสิบล้อ หรือ 12 ตัว

ราคาขายโคขุน อาจารย์มานพให้ข้อมูลว่า ราคาของโคขุนที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของโค โดยโคที่น้ำหนักประมาณ 420 กิโลกรัม ราคาอยู่กิโลกรัมละ 48-49 บาท โคที่น้ำหนักประมาณ 450 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่โคน้ำหนักตั้งแต่ 600 กิโลกรัม ขึ้นไป ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 52 บาท

"ตลาดไม่เคยมีปัญหาว่าขายไม่ได้ ขอเพียงแจ้งไป พ่อค้าจะรีบมาเลย" อาจารย์มานพ กล่าวในที่สุด




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2549   
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:13:14 น.   
Counter : 11462 Pageviews.  


เทคนิคการเลี้ยงกล้วยไม้ให้งาม

ทคนิคการเลี้ยงกล้วยไม้ให้งาม หินกัวโน่-ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์

เทคนิคการเลี้ยงกล้วยไม้ให้งาม

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมมีความสนใจจะปลูกกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นสกุลช้าง สกุลแวนด้า หรือสกุลหวายในกลุ่มของแคทลียาก็ตาม โดยผมซื้อไม้ขวดมาปลูก ใช้น้ำจากภูเขารด ส่วนกระเช้าหรือกระถางปลูกแขวนไว้กับแนวต้นยางพารา กล้วยไม้จะได้รับแสงตั้งแต่เวลา 08.00 น. ไปจนถึง 14.30 น. ปัจจุบันบางสกุลมีลำต้นและใบยาว 3-5 นิ้ว พบว่า ที่ใบมีจุดดำลึกขอบมีสีเหลือง ต่อมาจะเน่าเสียหาย ผมต้องตัดทิ้งไปบ้าง ไม่ทราบเป็นโรคอะไร จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และจะมีวิธีเลี้ยงอย่างไรจึงจะได้ผลดี ขอคำแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ

มาโนช ชูแก้ว

เลขที่ 6 หมู่ 11 ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง 93160

ตอบ คุณมาโนช ชูแก้ว

กล้วยไม้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ นับว่าเป็นวงศ์ (แฟมิลี่) ของพืชมีดอกที่ใหญ่ที่สุดอีกวงศ์หนึ่ง ซึ่งมีมากกว่า 25,000 ชนิด (สปีซี่ส์) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก กล้วยไม้ภาษาอังกฤษเรียกว่า ออคิด หรือ ออร์คิด มีความหมายว่า ลักษณะโป่งตอนกลาง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในเขตร้อนชื้นควรมีดังนี้ แสงแดด กล้วยไม้แต่ละสกุลต้องการแสงแดดแตกต่างกัน เช่น สกุลหวาย ต้องการแสงแดดเพียง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแวนด้าต้องการแสงแดดเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น การปลูกกล้วยไม้จำเป็นต้องพรางแสงให้ตามความเหมาะสมของแต่ละสกุล อุณหภูมิ กล้วยไม้เขตร้อนเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส เมื่อมีการพรางแสงและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาเรื่องอุณหภูมิจึงไม่เกิดขึ้นในบ้านเรา ความชื้น กล้วยไม้เกือบทุกสกุลต้องการความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 60-80 เปอร์เซ็นต์ โดยรักษาความชื้นที่บริเวณรากให้อยู่ในระดับที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งพึงระวังคืออย่าให้ลมพัดโกรกแรงและไม่ควรรดน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้บริเวณรากชื้น และมากเกินความจำเป็น ในโรงเรือนต้องจัดการให้มีลมพัดผ่านได้ดี แม้แต่เครื่องปลูกก็ควรโปร่ง ไม่ขังน้ำจนรากชื้นแฉะ ธาตุอาหาร ในสภาพธรรมชาติกล้วยไม้จะได้ธาตุอาหารจากเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยผุพัง และเมื่อนำมาปลูกในกระถางหรือกระเช้าจึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีแทนอินทรียวัตถุในธรรมชาติ คือในระยะ ลูกกล้วยไม้ ที่นำออกจากขวดใหม่ๆ ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำได้สูตร 30-10-10 หรือ 10-20-10 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เดือนละสองครั้ง กล้วยไม้วัยหนุ่มสาว ระยะใกล้ออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 10-20-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 50-100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ 2 ครั้ง ต่อเดือน และระยะแทงช่อ ด้วยปุ๋ยสูตร 16-21-27 หรือ 20-20-20 อัตรา 50-100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เดือนละ 2 ครั้ง หลังแทงช่อแล้วไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยอีก อายุการติดดอกอยู่ระหว่าง 8-24 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ และสายพันธุ์ที่ปลูก วัสดุปลูก นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จในการปลูกกล้วยไม้ วัสดุปลูกสำหรับกล้วยไม้ชนิดรากอากาศและกึ่งรากอากาศ เช่น สกุลแวนด้า ช้าง เข็ม และกุหลาบ ต้องเป็นวัสดุที่อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี ได้แก่ ออสมันด้า ซึ่งเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นฝอย แห้งและมีน้ำหนักเบา แต่มีข้อเสียคือ มีราคาแพง ถ่าน ข้อดีมีน้ำหนักเบา อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี หาได้ง่าย และสะอาด กาบมะพร้าว ข้อดีหาได้ง่าย เก็บความชื้นได้ดี มีข้อเสียคือ เปื่อยยุ่ยง่ายกว่าถ่านไม้ อิฐหัก เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี หาได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ มีน้ำหนักเบา และ โฟม ข้อดีมีน้ำหนักเบา หาได้ง่าย มีความยืดหยุ่นได้ดี ช่องว่างระหว่างก้อนโฟมที่ทำให้เล็กจะเก็บน้ำได้ดี ส่วนวัสดุปลูกของ กล้วยไม้ดิน ให้ใช้อินทรียวัตถุ เช่น เศษใบไม้แห้งหมักให้ได้ที่ผสมกับถ่านและอิฐหัก ก็นับว่าใช้ได้ผลดี อาการของโรคพบที่ใบ คือ โรคใบจุด เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง อาการของโรคที่ระบาดในกล้วยไม้แวนด้าพบรอยแผลยาวรีคล้ายกระสวย บริเวณกลางของแผลจะเป็นตุ่มนูน แต่ถ้าหากเกิดที่ใบของกล้วยไม้สกุลหวายพบเป็นจุดสีดำขนาดเล็ก เท่าปลายเข็มหมุดและขยายเพิ่มขนาดขึ้นถึงเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยุบลงลึกในเนื้อใบ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาจะลุกลามทำให้ใบเน่าเสียหาย วิธีป้องกันกำจัด ให้ตัดใบที่เริ่มแสดงอาการของโรคเผาทำลายทิ้งไป หากเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม หรือแมนโคเซบ ตามอัตราและเวลา ที่ระบุไว้ที่ฉลาก



หินกัวโน่ ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมมีข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างหินกัวโน่ ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมีนั้น มีความหมายและความแตกต่างกันอย่างไร ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ

สุมิตร พรหมกุล

38 หมู่ 7 ถ.อุดร-หนองคาย หมู่ 5 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000

ตอบ คุณสุมิตร พรหมกุล

หินกัวโน่ คือ การสะสมมูลค้างคาวในพื้น หรือผนังถ้ำเป็นเวลาหลายปี เมื่อได้ความชื้นหรือมีน้ำฝนชะล้างเอาธาตุอาหารจากมูลค้างคาว เข้าสะสมอยู่ในหินปูนตามพื้นถ้ำหรือผนังถ้ำ การเก็บกวาดหรือขุดหินปูนที่มีธาตุอาหารหรือมูลค้างคาวปะปนอยู่นั้นเรียกว่า หินกัวโน่ หินชนิดนี้นำไปเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้ดี เพราะนอกจากจะให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมแล้ว ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียมอีกด้วย

ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์ ที่ผ่านการให้ความร้อนทางอ้อม ที่อุณหภูมิ 160-180 องศาเซลเซียส ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดนี้คงทนต่อการสลายตัวและปลดปล่อยธาตุอาหารให้เป็นประโยชน์กับต้นไม้อย่างช้าๆ ซึ่งมีวิธีการผลิตดังนี้ บรรจุมูลสัตว์ลงในถัง 2 ชั้น ระหว่างชั้นหล่อเลี้ยงด้วยน้ำมัน ต่อมาเพิ่มอุณหภูมิให้น้ำมันที่ 160-180 องศาเซลเซียส ถ่ายเทให้ถังบรรจุมูลสัตว์ที่หมุนคลุกเคล้ามูลสัตว์ตลอด 3-5 ชั่วโมง แล้วปล่อยทิ้งให้เย็น ก่อนนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์ จะให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม 4.5-5.3, 9.0 และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ปุ๋ยอินทรีย์เคมี หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมีในอัตราส่วน 70 : 30 ส่วน โดยน้ำหนักที่อยู่ในรูปปั้นเม็ดหรืออัดเม็ด และมีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีขั้นตอนในการอบฆ่าเชื้อโรคบางชนิดด้วยไอร้อนที่อุณหภูมิ 60-80 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง เพื่อยับยั้งไม่ให้จุลินทรีย์ผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายปุ๋ยเคมีที่ผสมอยู่ในปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยที่ได้จะมีความเป็นกรด-ด่าง ที่ 3.5-5.5 จุดเด่นของปุ๋ยอินทรีย์เคมี คือมีอินทรียวัตถุสูง ทำหน้าที่ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย ช่วยให้ดินดูดซับเก็บความชื้นไว้ได้นานขึ้น พร้อมกับปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับต้นไม้อย่างช้าๆ ขณะที่ปุ๋ยเคมีจะให้ธาตุอาหารกับต้นไม้ได้อย่างพอเพียงกับความต้องการ ทั้งปริมาณและเวลาที่เหมาะสม

กล่าวโดยรวมแล้วปุ๋ยทั้งสามชนิด ล้วนเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อต้นไม้โดยตรง แต่หินกัวโน่ต้องใช้เวลาสะสมนานหลายปีจึงจะได้ปริมาณความต้องการ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมิไฟต์นั้น เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต้นทุนการผลิตสูงมาก จึงไม่เหมาะสำหรับผลิตใช้ในบ้านเรา ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนั้นผลิตได้ง่าย การใช้ก็สะดวก ทำให้ปุ๋ยชนิดนี้กำลังมาแรง จุดอ่อนคือยังติดอยู่ที่ภาคราชการยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง



การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ระดับ A1

มีความแตกต่างกับระดับอื่นๆ อย่างไร

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ทราบว่าประเทศไทยจะจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549 ถึงมกราคม 2550 จากเนื้อข่าวระบุว่ามีการยกระดับขึ้นเป็น A1 นั้นหมายความว่าอย่างไร และแตกต่างกับระดับอื่นๆ อย่างไร ขอเรียนถามเพียงเท่านี้ก่อนครับ

ขอแสดงความนับถือ

วีระศักดิ์ วิจารย์ผล

21/5 หมู่ 3 ต.สามเงา จ.ตาก 63130

ตอบ คุณวีระศักดิ์ วิจารย์ผล

การจัดมหกรรมพืชสวนโลก ราชพฤกษ์ 2549 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549-มกราคม 2550 การจัดงานมหกรรมครั้งนี้มีการยกระดับขึ้นจาก A2 ขึ้นเป็น A1 ทั้งนี้ การจัดลำดับชั้นการจัดงานพืชสวนระดับนานาชาติ แบ่งไว้ 4 ระดับ ดังนี้

ระดับ A1 เป็นการจัดมหกรรมพืชสวนขนาดใหญ่ ที่มีรอบการจัด 10 ปี ขึ้นไป หมายถึง หากเราจัดขึ้นในปี 2549 แล้ว ต้องรอไปอีก 10 ปี จึงจะจัดอีกครั้งได้ ก่อนจัดมหกรรมต้องแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักมหกรรมของโลกล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 ปี การจัดการแสดงต้องมีพืชสวนครบทุกประเภทและทุกสาขา ใช้พื้นที่จัดงานอย่างน้อย 312.5 ไร่ มีพื้นที่สิ่งก่อสร้างไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่และต้องจัดพื้นที่ให้กับประเทศที่ส่งผลงานมาร่วมแสดงอย่างน้อย 10 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมกับต้องจ่ายเงินค่าประกันให้กับสำนักมหกรรมของโลก เป็นเงิน 20,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 600,000 บาท และใช้ระยะเวลาการจัดงาน 3-6 เดือน

ระดับ A2 ก่อนจัดงานต้องแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักมหกรรมของโลกล่วงหน้าอย่างน้อย 4 ปี และจัดได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง มีพื้นที่จัดแสดงขนาดเล็กกว่า A1 ใช้เวลาจัดงานไม่เกิน 3 เดือน ต้องจัดพื้นที่การแสดงให้ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ รวม 2,000 ตารางเมตร และต้องจ่ายเงินค่าประกัน 30,000 บาท ให้กับสำนักมหกรรมของโลก

ระดับ B1 การแสดงจัดได้ไม่เกินปีละหนึ่งครั้ง ต้องยื่นใบสมัครก่อนจัดงาน 3-7 ปี มีระยะเวลาการแสดง 3-6 เดือน มีพื้นที่การจัดงาน 156 ไร่ มีพื้นที่สำหรับการจัดงานของต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ และต้องจ่ายเงินค่าประกัน 15,000 บาท และ

ระดับ B2 การจัดแสดงไม่เกินปีละ 2 ครั้ง กิจกรรมการแสดงต้องมีน้อยกว่าระดับ A1, A2 และ B1 ระยะเวลาจัดงาน 8-20 วัน ต้องยื่นใบสมัครต่อสำนักมหกรรมของโลกก่อนจัดงาน 2 ปี พื้นที่การแสดงพฤกษชาติมีไม่น้อยกว่า 6,000 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับการแสดงของต่างประเทศไม่น้อยกว่า 600 ตารางเมตร และต้องจ่ายค่าประกัน 7,500 บาท

สำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ที่จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2549-มกราคม 2550 ที่บริเวณโครงการไร่นาสาธิตแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร ในงานมหกรรมครั้งนี้ มีชื่อเป็นทางการว่า งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ "ราชพฤกษ์ 2549" โดยมีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 470 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงมีพระชนมพรรษา 79 พรรษา

2. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการส่งออก พืชผัก ผลไม้ เห็ด ไม้ดอกไม้ประดับและสมุนไพรไทย

3. เพื่อแสดงผลงานวิจัยที่ก้าวหน้าด้านพืชสวนและเครื่องมืออุปกรณ์อื่นๆ

4. เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการด้านพืชสวน ทั้งในและต่างประเทศมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และ

5. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเผยแพร่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป้าหมายของการจัดงาน ต้องการให้ต่างประเทศเข้าร่วมแสดงผลงานไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ และมีผู้เข้าชมงาน 2 ล้านคน

กิจกรรมสำคัญของมหกรรมจัดงาน

1. แสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะด้านเกษตร

2. การแสดงนิทรรศการทั้งภายในและนอกอาคาร ทั้งองค์กรภายในและผู้แทนจากต่างประเทศ

3. การประกวดพันธุ์พืช เช่น กล้วยไม้ และพันธุ์พืชที่หายากจากทั้งภายในและนำเข้าจากต่างประเทศ

4. การจัดประชุมสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับพืชสวน

5. การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของ 76 จังหวัด และอีก 7 ประเทศ และเพื่อเชิญชวนให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้น



น่ารู้

ผัก 21 ชนิด ต้องตรวจหาสารพิษตกค้างก่อนส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น



พืชผัก 21 ชนิด คือ ผักขึ้นฉ่าย คะน้า ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว ใบโหระพา ผักชี ใบกะเพรา ผักคะแยง ยี่หร่า ใบแมงลัก ใบสะระแหน่ ผักแพว ใบบัวบก ถั่วลันเตา กะหล่ำใบ ส้มป่อย ผักกระเฉด ตะไคร้ ผักเป็ด กระเจี๊ยบเขียว และใบมะกรูด

ต้องการทราบรายละเอียดอื่นๆ สอบถามได้ที่ ศูนย์บริการทางวิชาการแบบเบ็ดเสร็จ อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลางบางเขน จตุจักร กทม. 10900 โทร. (02) 579-6134 ในวันและเวลาทำการ




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 12:17:43 น.   
Counter : 4358 Pageviews.  


ฟรีบรา โคไทย เพื่อเกษตรกรไทย

ฟรีบรา โคไทย เพื่อเกษตรกรไทย

ผลจากการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน 5 ปี ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างระบบการผลิตโคสายเลือดสูง จนได้สายพันธุ์ที่ชื่อว่า ฟรีบรา ที่สามารถใช้เป็นโคพื้นฐานในการพัฒนาเป็นโคนมไทย ที่มีสายเลือดสูงเพิ่มขึ้นต่อไปได้

ทำไมจึงมาเป็นโครงการนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง หลัง พ.ศ. 2500 และขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับที่คนไทยนิยมบริโภคนมกันมากขึ้น จนถึงปัจจุบันอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรและผู้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นในอัตราสูง แต่การขยายจำนวนโคนมยังไม่ทันกับความต้องการ

โดยสาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเลี้ยงโคนม คือการจัดหาพันธุ์โคนมมาเพิ่ม โดยหนทางที่ดำเนินการมาคือ ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง รวมทั้งสาเหตุจากการขาดอาหารหยาบที่มีคุณภาพ ขาดการศึกษาวิเคราะห์ และพัฒนาพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูในประเทศไทย

ปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมขึ้น

วัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตโคนมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้มีและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้

ทั้งนี้พันธกิจของโครงการ คือเพื่อสร้างระบบการผลิตโคฟรีบรา จากแม่โคบราห์มันลูกผสม ซึ่งเป็นแม่โคนอกฝูงโคนมสำหรับเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเป็นโคนม-โคเนื้อ ที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงดู ซึ่งจัดการได้สะดวก ในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกร

"งานด้านปศุสัตว์และการผสมเทียม จึงเป็นอีกสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีส่วนในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์เศรษฐกิจอย่าง โคเนื้อ โคนม โดยเฉพาะด้านโคนมได้ดำเนินการปรับปรุงโคนมเพื่อให้ได้โคนมสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศและการเลี้ยงดูในประเทศไทย"

"การขยายจำนวนโคให้เพียงพอกับความต้องการ นับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมจนได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ ฟรีบรา ที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกรในประเทศไทย นับเป็นการส่งเสริมให้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาโคนม โคเนื้อให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว" ดร.ประวิชกล่าว



เป้าหมายที่หนึ่ง เป็นทางเลือกด้านโคนม...

โคฟรีบรา ดังกล่าว จะถูกใช้เป็นโคพื้นฐานในการพัฒนาพันธุ์โคนม ที่มีคุณสมบัติและความโดดเด่นคือ เลี้ยงดูง่าย ให้ลูกถี่ ให้นมพอดี มีผลผลิตยืนนาน เหมาะสำหรับการเลี้ยงดูและใช้ประโยชน์ในประเทศโดยให้ผลตอบแทนสูงสุด

การดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการ ได้คัดเลือกแม่โคของเกษตรกรที่มีคุณลักษณะตามกำหนด คือ เป็นแม่โคลูกผสมที่มีสายเลือดโคบราห์มัน 75 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป มาผสมเทียม ด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดี อย่างพันธุ์ไฮล์สไตน์ฟรีเชี่ยนแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อแม่โคของเกษตรกรให้ลูกออกมาแล้ว ทางโครงการได้รับซื้อลูกโคหย่านมคืนจากเกษตรกรในราคาประกัน

ลูกโคฟรีบราเพศเมียจะถูกเลี้ยงเป็นโคสาวและผสมด้วยน้ำเชื้อพันธุ์ดี และจำหน่ายโคสาวตั้งท้องให้กับเกษตรกร มาถึงปัจจุบัน โครงการผลิตโคฟรีบราได้ 830 ตัว และจำหน่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ว 470 ตัว โดยเป็นโคสาวและโครีดนม 150 ตัว

สำหรับโคฟรีบราที่ถูกนำไปเลี้ยงขณะนี้ มีทั้งในส่วนของเกษตรกรรายย่อยและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ในเขตจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู รวมทั้งในเขตอำเภอขามทะเลสอ ขามสะแกแสง และปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้จากการติดตามและเก็บบันทึกข้อมูลการให้น้ำนมของโคฟรีบราในระยะการให้นมที่ 1 และ 2 ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ปากช่อง ฟาร์มของเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา และสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ขามทะเลสอ พบว่า ระยะการให้นมที่ 1 และ 2 โคฟรีบราเพศเมีย จะให้น้ำนม 11.6 และ 14.1 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ตามลำดับ

ทั้งนี้หากสรุปลักษณะเด่นของโคฟรีบราเพศเมีย จะพบว่า

หนึ่ง เลี้ยงดูง่าย โดยโคฟรีบราเป็นโคนมที่หากินเก่ง ใช้อาหารหยาบในแปลงหญ้าได้ดี ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี มีภูมิต้านทานโรคและพยาธิสูง ไม่สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลและยาบำรุง

สอง ได้ลูกถี่ เนื่องจากเป็นสัดและกลับเป็นสัดหลังคลอดเร็ว ผสมติดง่าย สามารถให้ลูกได้ปีละตัว ในสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกร

สาม ให้นมพอดี โคฟรีบราเพศเมียจะให้น้ำนมพอประมาณด้วยการเลี้ยงดูที่ใช้อาหารหยาบเป็นหลัก ทำให้ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูง

สี่ มีผลผลิตยืนนาน โคฟรีบรามีอายุยืน ให้ลูกได้หลายตัว และให้น้ำนมในช่วงอายุได้มากและได้ราคาเมื่อขายปลดระวางเป็นโคเนื้อ

นายสารกิจ ถวิลประวัติ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนม กล่าวว่า ทางโครงการยังได้จัดการฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรด้วย เพราะมีเกษตรกรให้ความสนใจในโคฟรีบราเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีความแน่ใจในการเลี้ยงดู จึงจัดให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นและประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรทั้งในเรื่องพันธุ์ อาหาร การจัดการ ระบบการจัดการ การรีดนม การรักษาคุณภาพของน้ำนมสดก่อนส่งศูนย์รวมนม ตลอดจนสถานการณ์เลี้ยงโคนมในปัจจุบัน โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรจากอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอพิมาย อำเภอประทาย และกิ่งอำเภอบัวลาย จำนวน 40 คน เป็นรุ่นแรกแล้วที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง

สำหรับราคาของโคฟรีบราเพศเมียที่จำหน่ายให้กับเกษตรกรนั้น ถ้าเป็นประเภท ฟรีเชี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์ โคสาว อายุ 11-14 เดือน ราคาตัวละ 28,000 บาท โคตั้งท้อง 3 เดือน ขึ้นไป อายุ 16-21 เดือน ราคาตัวละ 33,000-35,000 บาท และโครีดนม อายุ 22 เดือน ขึ้นไป ราคาตัวละ 35,000 บาท ขณะที่ประเภท ฟรีเชี่ยน 75 เปอร์เซ็นต์ ลูกอายุแรกเกิดถึง 1 เดือน ราคาตัวละ 4,000 บาท อายุ 1-13 เดือน ราคากิโลกรัมละ 95 บาท โคสาว อายุ 13 เดือน ขึ้นไป ราคาตัวละ 30,000 บาท



เป้าหมายที่สอง เป็นทางเลือกด้านโคขุน...

สำหรับลูกโคฟรีบราเพศผู้ จะนำมาเลี้ยงขุนและจำหน่ายให้กับเกษตรกรต่อไป ในเวลานี้โคฟรีบราเพศผู้ได้ขยายตลาดมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลูกโคฟรีบราเพศผู้ที่ได้จากโครงการนี้จะมีลักษณะเด่นคือ

หนึ่ง โตเร็ว ขุนได้ดี อัตราการเจริญเติบโตสูง

สอง เอวยาว ช่วงเอวยาวทำให้เนื้อสันมีปริมาณมาก

สาม อกใหญ่ ตัวใหญ่ ลำตัวลึก เนื้อหน้าอกลำตัวมาก

สี่ บั้นท้ายเต็ม มีเนื้อสะโพก และต้นขาเต็ม ทำให้ได้เนื้อส่วนนี้มาก

ทางโครงการได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโคขุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้โคฟรีบรา ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการประเมินคุณลักษณะการให้เนื้อ โดยนำมาขุนและทดสอบซาก ด้วยการนำโคฟรีบราที่ได้รับการเลี้ยงดูในแปลงหญ้ามาเป็นระยะเวลา 19-20 เดือน แล้วนำมาขุนอีก 2 เดือน พบว่าเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงและพื้นที่หน้าตัดเนื้อสันมีความใกล้เคียงและอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเปรียบเทียบกับโคพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน ลูกผสมชาร์โรเลส์ และโคมัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว โครงการได้ปรับแผนการผลิตและผสมพันธุ์โคฟรีบราให้มีลักษณะค่อนข้างเป็นโคเนื้อ โดยใช้น้ำเชื้อโคเนื้อพันธุ์ต่างๆ เช่น พันธุ์บราห์มันแดง พันธุ์ชาร์โรเลส์ พันธุ์ตาก และพันธุ์กำแพงแสน ปรากฏว่าโคลูกผสมดังกล่าวเป็นที่สนใจและต้องการของเกษตรกร โดยมีลูกค้าในกลุ่มหลัก เป็นสหกรณ์โคเนื้อและเอกชนผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ เช่น สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน ลุงเชาว์ฟาร์ม และบริษัท 505 เป็นต้น ถึงวันนี้ทางโครงการได้จำหน่ายโคฟรีบราเพศผู้ขุนแล้วทั้งสิ้น 326 ตัว

ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคฟรีบรา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนม 1207 หมู่ 11 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทร. (044) 328-511, (044) 249-173





*แก้ปัญหาโคผสมไม่ติดด้วยเทคโนโลยีเหนี่ยวนำการตกไข่

การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่สร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมากกว่า 40 ปี ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนและรณรงค์ให้มีการบริโภคนมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวม 23,439 ครอบครัว มีจำนวนโคนมทั้งหมด 408,350 ตัว ให้ผลผลิตน้ำนม 2,045 ตัน ต่อวัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตน้ำนมในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในปี 2547 ประมาณ 746,646 ตัน ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศสูงถึง 1.5-1.6 ตัน ต่อปี

ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมคือ ความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่โคในฟาร์ม การเลี้ยงโคนมในประเทศเกือบทั้งหมดใช้วิธีผสมเทียม เพื่อปรับปรุงพันธุกรรมของแม่โค และลดภาระการเลี้ยงดูพ่อโค แต่ปัญหาที่มักพบคือ แม่โคไม่แสดงอาการเป็นสัด รวมทั้งปัญหาทางด้านระบบสืบพันธุ์

แม่โคจำนวนมากจึงพลาดโอกาสได้รับการผสมเทียมและตั้งท้อง

วิธีการแก้ไขปัญหาแบบหนึ่งคือ ใช้การเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องสังเกตอาการเป็นสัดของแม่โค

เทคโนโลยีนี้ได้พัฒนาและเริ่มประยุกต์ใช้ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี 2538 แต่วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและให้ผลไม่ดีนักในแม่โคที่เลี้ยงในประเทศไทย เนื่องจากความแตกต่างทางสรีรวิทยาของแม่โคที่เลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมตามเวลาที่กำหนด วิธีการนี้ได้ทดสอบมาแล้วระยะหนึ่งว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจและมีราคาถูก เพียงครั้งละ 200 บาท ถูกกว่าวิธีที่พัฒนาในมลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึง 5 เท่า ที่สำคัญอย่างยิ่งใช้ได้ผลค่อนข้างดีกับโคนมที่เลี้ยงในประเทศไทย

ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจกับเทคโนโลยี ซึ่งไบโอเทคได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการเหนี่ยวนำการตกไข่ให้กับแม่โค โดยให้ทางฟาร์ม สหกรณ์เป็นผู้ผสมเทียม โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการไปแล้วกับสหกรณ์และบริษัทหลายแห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย และสหกรณ์โคนมปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์โคนมหนองโพ และสหกรณ์โคนมเขาขลุง จังหวัดราชบุรี รวมทั้งบริษัทที่ดำเนินกิจการฟาร์มโคนมขนาดใหญ่หลายแห่งได้นำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมแก่เกษตรกรรายย่อย ทำให้แม่โคของเกษตรกรที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์กลับมาตั้งท้องได้

พร้อมกันนี้ไบโอเทคได้ปรับเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้กับแม่โคเนื้อ และถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้แม่โคที่มีปัญหาการผสมพันธุ์ติดยากกลับมาตั้งท้องได้ การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้มูลค่าของแม่โคที่มีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์มีราคาเพิ่มขึ้นจากการเป็นโคคัดทิ้งที่มีราคาเพียงตัวละ 12,000-15,000 บาท กลายเป็นแม่โคที่มีมูลค่าถึงตัวละ 30,000-32,000 บาท

ติดต่อขอรับบริการได้ที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 564-6700 ต่อ 3227




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 11:52:12 น.   
Counter : 1667 Pageviews.  


หมูภูพาน โคเนื้อทาจิมะ สัตว์เด่นเพื่อส่งเสริมเกษตรกร ที่ศูนย์ฯ ภูพาน

หมูภูพาน โคเนื้อทาจิมะ สัตว์เด่นเพื่อส่งเสริมเกษตรกร ที่ศูนย์ฯ ภูพาน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นหนึ่งในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อใช้เป็นแบบจำลองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการเป็นพื้นที่ย่อส่วนของภูมิภาคที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และศึกษารูปแบบ แบบฉบับและตัวอย่างของการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานว่า ควรจะดำเนินการไปในทิศทางใดจึงจะประสบความสำเร็จ และแนวทางนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ราษฎรและเกษตรกรทำตามตัวอย่างนั้นได้โดยง่าย มีเทคนิคเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และไม่เกิดความสามารถในด้านการลงทุน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาของภูมิภาคนี้

จากความหลากหลายในกิจกรรม โครงการที่ทางศูนย์ได้ดำเนินการเพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานหลักหน่วยหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ด้วยภารกิจหลักคือ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์สัตว์และศึกษาเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ที่เหมาะสมกับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยที่ประสบผลสำเร็จส่งเสริมให้กับเกษตรกรและหน่วยงานที่มีความสนใจ นำไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ อันจะเป็นการช่วยยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนายกระดับอาชีพเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้สูงขึ้นอีกทางหนึ่ง

งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ มีกิจกรรมการศึกษาด้านปศุสัตว์ที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับโคทาจิมะและหมูภูพาน รวมถึงไก่ดำไก่เนื้อสายพันธุ์ภูพาน ด้วยเป้าหมายเพื่อนำผลสรุปที่ได้ไปส่งเสริมให้เกิดอาชีพแก่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่ภาคอีสาน



รวมจุดเด่น 3 สายพันธุ์ สร้างหมูภูพาน

น.สพ.วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ด้วยที่ผ่านมา เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยมเลี้ยงสุกรกันมาก โดยเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ รองไปจากการเลี้ยงโค-กระบือ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัดและมีเวลาไม่มากนัก อาชีพการเลี้ยงสุกรต้องถือว่าเป็นอีกทางเลือก ที่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะรับการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

"แต่เดิมศูนย์ฯ ภูพาน จะทำการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสุกรเฉพาะพันธุ์เหมยซานเท่านั้น เนื่องจากเป็นสุกรที่เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ไม่ต้องมีการจัดการอะไรเป็นพิเศษ และที่สำคัญเป็นสายพันธุ์สุกรที่ให้ลูกดก สามารถขายลูกหมูเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวเกษตรกรได้ แต่ข้อด้อยของการเลี้ยงสุกรพันธุ์เหมยซาน ที่เกษตรกรมักบ่นและสอบถามมาตลอดเวลาคือ เป็นสุกรที่เมื่อเลี้ยงให้โตจะมีไขมันมาก เนื้อแดงน้อย และหากขายลูกหมูให้กับผู้ที่นำไปย่างหรือหัน มักจะได้รับการตำหนิในเรื่องของใบหูที่ใหญ่เกินไป ทำให้หันยากและใบหูไหม้ได้ง่าย"

ทั้งนี้ ความนิยมบริโภคสุกรที่นำไปหันหรือย่าง โดยเฉพาะเมื่อนำไปเสริมบนโต๊ะอาหารจีน ต้องมีลักษณะสวยงาม ใบหูไม่ไหม้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้บริโภคไม่นิยม

จากปัญหาที่เกษตรกรได้พบอยู่เป็นประจำดังกล่าว จึงทำให้ศูนย์ฯ ภูพาน โดยงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ได้ริเริ่มทำการวิจัยและปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์สุกรขึ้น เพื่อให้มีลักษณะที่ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรที่มาขอรับบริการ

ทั้งนี้ ได้ตั้งเกณฑ์ในการพัฒนาลักษณะของสายพันธุ์สุกรที่ตรงต่อความต้องการของเกษตรกร ประกอบด้วย

หนึ่ง เลี้ยงง่าย

สอง โตเร็ว

สาม ปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยงของเกษตรกรได้ดี

สี่ มีความทนทานต่อโรค

ห้า ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง

หก ใบหูไม่ใหญ่จนเกินไป

เจ็ด ให้ปริมาณเนื้อแดงมากเพื่อนำไปขุนจำหน่าย

หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการพัฒนาสายพันธุ์สุกรดังกล่าว ได้วางแผนการพัฒนาสายพันธุ์จากสุกร 3 สายพันธุ์ ที่มีจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน

พันธุ์แรกคือ สุกรพันธุ์เหมยซาน ที่ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยงของเกษตรกรได้ดี

พันธุ์ต่อมาคือ สุกรพันธุ์พื้นเมืองสกลนคร หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในพื้นที่ว่า หมูกี้ เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดลำตัวกะทัดรัด ทนต่อโรคระบาด ใบหูเล็ก

พันธุ์สุดท้ายคือ สุกรพันธุ์ดูร็อคเจอรี่ มีลักษณะสายพันธุ์ที่ให้ลำตัวยาว ให้ปริมาณเนื้อแดงมากและปริมาณไขมันต่ำ

เป้าหมายคือ การผสมคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้สุกรพันธุ์ภูพาน ที่มีลักษณะเด่นของทั้งสามสายพันธุ์อยู่ในตัวเอง

จากที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 โครงการพัฒนาสุกรสายพันธุ์ภูพานได้มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 นี้ สามารถผลิตลูกสุกรในรุ่นชั่วอายุที่ 3 หรือ F3 แล้ว

"จากผลการศึกษาด้านการเจริญเติบโตและทดสอบเปอร์เซ็นต์ซากของสุกรพันธุ์ภูพานในชั่ว F2 พบว่า มีแนวโน้มของความเป็นไปได้ที่จะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะที่พิเศษ สามารถรวมเอาจุดเด่นด้านต่างๆ ของทุกสายพันธุ์เอาไว้ ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรได้" น.สพ.วิศุทธิ์กล่าว

แต่เหนืออื่นใดคือ การเป็นสุกรสายเลือดอีสานพันธุ์แท้อีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่อาจนำมาใช้ส่งเสริมให้กับเกษตรกรโดยทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ได้เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้



พัฒนาโคเนื้อพันธุ์ทาจิมะ

โครงการพัฒนาโคเนื้อสายพันธุ์ทาจิมะ เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ โครงการ ซึ่งงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ได้ให้ความสนใจในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบการเลี้ยงและการขุนโคให้มีความเหมาะสมกับเกษตรกรไทย เพื่อเป็นการสร้างอาชีพใหม่ที่มีผลตอบแทนสูงต่อไป

น.สพ.วิศุทธิ์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการเกิดโครงการพัฒนาโคเนื้อสายพันธุ์ทาจิมะว่า เมื่อประมาณปี 2533-2534 รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้น้อมเกล้าฯ ถวายโคเนื้อสายพันธุ์ทาจิมะ จำนวน 2 ตัว เป็นโคเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

"ต่อมาสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงพระราชทานให้กรมปศุสัตว์นำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อทำการศึกษาทดลองและทดสอบการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และประเมินความเป็นไปได้ในการเลี้ยง"

ช่วงแรกกรมปศุสัตว์ได้นำไปเลี้ยงที่จังหวัดปทุมธานี ก่อนที่จะส่งพ่อแม่พันธุ์พร้อมลูกที่เกิดจากการผสมเทียมอีกจำนวนหนึ่งมาเลี้ยงที่จังหวัดสกลนคร

โคเนื้อทาจิมะ หรือเรียกอีกชื่อว่า Japanese Black หรือ Wagyu เป็นโคเนื้อสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่มีความเป็นเลิศสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งหากนำไปเข้ากระบวนการขุนที่ถูกต้องตามกรรมวิธีและแบบฉบับของญี่ปุ่นแท้ๆ จะสามารถให้เนื้อโคขุนชั้นดีมาก ที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ เนื้อโกเบ หรือเนื้อมัสซึซากะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงการผู้บริโภคเนื้อโคขุนว่า เป็นเนื้อที่มีความพิเศษมากในเรื่องของรสชาติและความนุ่ม ที่สำคัญมีราคาแพงมาก จนแทบจะเรียกได้ว่ามีราคาแพงที่สุดในโลก โดยราคาจำหน่ายจะตกที่กิโลกรัมละ 40,000 บาท

จากความดีเด่นของโคเนื้อพันธุ์ทาจิมะ ประกอบกับความโชคดีของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีโคดังกล่าวอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จึงได้รับโคทาจิมะบางส่วนเข้าขยายพันธุ์และทำการศึกษาทดลองถึงความเป็นไปได้ในการขุนโคทาจิมะเพื่อผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพดี ดังเช่นในญี่ปุ่น

โดยงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ได้เริ่มโครงการทดสอบการขุนโคเนื้อสายพันธุ์ทาจิมะตามสไตล์ญี่ปุ่น ในปี 2548 เพื่อศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ในการเลี้ยงและส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรในอนาคตต่อไป

"จากที่ได้มีการทดสอบในเบื้องต้นพบว่า คุณภาพเนื้อจากโคที่เลี้ยงภายในศูนย์ มีรสชาติดีกว่าเนื้อโคพันธุ์อื่นๆ ที่มีเลี้ยงกันอยู่ในประเทศไทย"

"หากผลการศึกษาทดลองออกมาเป็นไปในทิศทางที่พอจะเป็นไปได้ ศูนย์ศึกษาฯ ภูพาน จะดำเนินการส่งเสริมและขยายพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์กับโคเนื้อของเกษตรกรที่อยู่รอบศูนย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป และเมื่อถึงวันนั้นคนไทยอาจจะได้กินเนื้อโคขุนคุณภาพดี มาตรฐานญี่ปุ่นในชื่อของเนื้อโคขุนโกเบ-ภูพาน ในราคาแบบไทยๆ ก็เป็นไปได้" น.สพ.วิศุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ยังได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของไก่ดำ ภายใต้เป้าหมายโครงการพัฒนาไก่ดำสายพันธุ์ภูพานโดยเป็นการนำสายพันธุ์ไก่ดำในพื้นที่จังหวัดสกลนครมาพัฒนา ปัจจุบันการพัฒนาสายพันธุ์มาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว รวมถึงการพัฒนาสายพันธุไก่เนื้อภูพานที่ได้เข้ามาสู่ชั่วที่ 2 แล้วเช่นกัน คาดว่าอีกไม่นานจะได้ข้อสรุปที่แน่นอนเกี่ยวกับไก่ทั้งสองสายพันธุ์ดังกล่าว

จากผลงานทั้งหมด จะเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ อันเป็นผลงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร...




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549   
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 11:47:26 น.   
Counter : 2075 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com