แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

ไปดูการเลี้ยงปลาบึกด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูง ที่ลำลูกกา

ไชย ส่องอาชีพ



ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืด ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และช่วง 1-2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ในธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยว่าถูกไล่ล่ามาเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ สามารถนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ได้เหมือนกับปลาเศรษฐกิจทั่วๆ ไปแล้ว

คนไทยที่จารึกชื่อไว้เป็นผู้ขยายพันธุ์ปลาบึกได้รายแรกของโลกคือ คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาบึกรายใหญ่ จังหวัดเชียงราย

ช่วงแรกๆ หรือ 20-30 ปี ที่ผ่านมา นิยมจับพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง มารีดน้ำเชื้อและไข่ ทดลองมาหลายปี จนประสบความสำเร็จ จากนั้นนำลูกปลาที่เพาะเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่กลับแม่น้ำ และเขื่อนต่างๆ ทั่วไป นอกจากนี้ ยังทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งของภาครัฐและเอกชน ปรากฏว่าปลาแต่ละวัยเจริญเติบโตดี และพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไปด้วย

ไม่แปลกใจเลย ที่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้เห็นภาพการล่าปลาบึกจากธรรมชาติเพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพราะว่าส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนนิยมนำปลาจากบ่อเลี้ยงมาเพาะพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการจัดการและประหยัดเวลา รวมถึงการใช้จ่ายด้วย

ด้วยการพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ ปลาบึกทั้งตัวเล็กและใหญ่มีให้เห็นตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นนำทั่วประเทศ

และตามร้านอาหาร หรือโรงแรมทั่วๆ ไป ก็นิยมนำเนื้อปลาชนิดนี้มาแปรรูปเป็นอาหารไว้บริการลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติด้วย

เนื้อปลาบึกที่นำมาเป็นอาหารนี้ ส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำของภาคเอกชนหรือเกษตรกรเกือบทั้งนั้น

"จากการทำงานวิจัยปลาบึกมา 20 ปีเศษ สามารถสรุปได้ว่า ปลาบึก เป็นปลาที่เกิดมาเพื่อเลี้ยงปากท้องของพลโลกอย่างแท้จริง เพราะว่าปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติสำคัญๆ ที่จะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าอย่างครบถ้วน คือเป็นปลาขนาดใหญ่ที่เจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าปลาน้ำจืดอื่นๆ ทุกชนิด ต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างต่ำ และทรหด อดทน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงได้ดี อีกทั้งมีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่เคยพบปลาชนิดนี้มีโรคระบาดร้ายแรงใดๆ เลย นอกจากนี้ เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ผู้คนให้ความนิยมบริโภคสูง และมีราคาแพงกว่าปลาชนิดอื่น เพราะเชื่อกันว่ากินแล้วอายุยืน และโชคดี" คุณเสน่ห์ เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวเมื่อหลายปีก่อน

ปลาบึกนี้ใช้ระยะการเลี้ยงเพียง 1 ปี ก็สามารถเจริญเติบโตได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม ต่อปีแล้ว ยิ่งเลี้ยงเข้าปีที่ 3 และ 4 ก็มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 50-80 กิโลกรัมแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณหนาแน่นในการปล่อยเลี้ยง และการให้อาหาร รวมทั้งสายพันธุ์ด้วย

"ตอนนี้มีเจ้าของฟาร์มสัตว์น้ำบางแห่ง นำปลาบึกมาผสมพันธุ์กับปลาสวาย กลายเป็นลูกผสม ชื่อ บิ๊กหวาย จำหน่ายลูกปลาในราคาถูกๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งปลาลูกผสมดังกล่าว จะมีข้อเสียคือ เจริญเติบโตช้า และราคารับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 30-40 บาท เท่านั้น หากผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านอาหารไม่มีความรู้หรือความชำนาญด้านนี้ จะดูไม่ออก เพราะว่าบิ๊กหวายกับปลาบึกนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างบริเวณหัว ลูกตา อาหาร สี และลักษณะตัว นอกจากนี้ ด้านรสชาติด้วย" คุณเสน่ห์ กล่าว

ปลาบึก ยิ่งตัวโต ยิ่งอร่อย ทั้งหนังและเนื้อ ส่วนบิ๊กหวายรสชาติคล้ายๆ ปลาสวาย

ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อลูกปลาบึกจากใคร ต้องสืบดูให้รู้แน่เสียก่อนว่าเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ เพราะว่าบางครั้งอาจเจอบิ๊กหวาย และหากเลี้ยงโตแล้วนำไปเสนอขายให้กับพ่อค้าหรือเจ้าของร้านอาหาร ราคารับซื้อไม่ดีอย่างที่คิดก็ได้

จากการศึกษาความแตกต่างปลาบึกและบิ๊กหวายของคุณเสน่ห์ โดยใช้ลูกปลา ขนาด 3-5 นิ้ว พบว่า หัวปลาบึกพันธุ์แท้ ยาวใหญ่และจะงอยปากกว้างค่อนข้างตัดตรง เมื่อมองจากด้านบนคล้ายรูปสี่เหลี่ยม และลูกตาอยู่ในระดับต่ำกว่ามุมปากเล็กน้อย

หางของปลาบึกพันธุ์แท้ แพนหางบนและล่างเป็นแถบกว้างและถ่างออกจากกัน เป็นมุมกว้าง มีแถบสีดำพาดไปตามความยาวของขอบแพนหางด้วย

หัวแก้ม สันหลัง และครีบทุกครีบมีสีเหลืองชัดเจน และลำตัวกว้าง ท่าทีล่ำสันแข็งแรง ตรงกันข้ามกับปลาบิ๊กหวายที่มีหัวแก้ม สันหลัง สีเทาอมดำชัดเจน เมื่อดูด้านข้างลำตัวแคบ ว่องไว ปราดเปรียว

"ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในวงการสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงหรือผู้บริโภค มีความรู้ รู้จักสังเกต ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอก ไม่ใช่หลงเลี้ยงจนโต เมื่อถึงเวลาจับขายกลับได้ราคาถูก หรือผู้บริโภคหลงซื้อราคาแพง แต่รสชาติหรือคุณภาพเนื้อไม่อร่อย" คุณเสน่ห์ กล่าว

การเจริญเติบโตของปลาบึกนั้น ดังที่บอกแล้ว นอกจากสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาด้วย

ตามธรรมชาติปลาบึก เมื่อยังเล็กอยู่จะกินพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตั้งแต่โรติเฟอร์ ไรน้ำ หนอนแดงแมลงในน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ไปตามลำดับของอายุ และขนาดของตัวเอง จนถึงเมื่อมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จึงจะเริ่มเปลี่ยนนิสัยการกิน เพราะฟันในปากเริ่มเสื่อมสูญไป หันมากินพืชในน้ำเป็นอาหารหลัก

ปลาชนิดนี้หากใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของปลาดุกหรือปลากินพืชก็จะทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง เพราะว่าเป็นปลาตัวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้ฟาร์มเลี้ยงปลาบึกทั่วๆ ไป มักจะผลิตอาหารขึ้นมาเอง โดยใช้การผสมดังนี้ คือปลายข้าวเหนียว ปลาป่น กากถั่วเหลือง รำละเอียด และน้ำมันพืช ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงปลานั่นเอง

ข้อมูลการเลี้ยงปลาบึกของคุณเสน่ห์ พบว่า การที่จะให้ปลาโตหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม นั้นจะต้องลงทุนผลิตอาหารให้กินประมาณ 50 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินที่สูง อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อผลผลิตปลาบึกโดยทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท ต่อกิโลกรัม

"ในอนาคตเมื่อมีผลผลิตออกท้องตลาดเยอะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ราคารับซื้อจะดีอยู่อีกหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหากกรมประมงสามารถผลักดันให้ปลาบึกเป็นปลาเศรษฐกิจสามารถจำหน่ายในต่างประเทศได้ ปัญหาการตลาดหรือผลผลิตตกต่ำแทบจะไม่มี เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่ตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ผู้คนนิยมบริโภคกันเยอะเลยทีเดียว"

"ตอนนี้ปลาบึกอยู่ในบัญชี 1 ของไซเตส ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีการผลักดันปลาบึกให้อยู่ในบัญชี 2 ซึ่งจะสามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ เหมือนๆ กับจระเข้ และเมื่อถึงเวลานั้น ปลาบึกจะเป็นปลาเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ ราคารับซื้ออาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้" คุณเสน่ห์ กล่าว

ลดต้นทุนการเลี้ยงด้วยเศษอาหาร

เอ่ยชื่อ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. (081) 839-2496 แฟนๆ นิยตสารเทคโนโลยีชาวบ้านคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเมื่อปีที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของชายผู้นี้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำแนวธรรมชาติด้วยเศษอาหารมา 4 ตอน เต็มๆ โดยเน้นเรื่องปลาสวาย ปลาจะละเม็ดน้ำจืด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย เป็นต้น

วันนี้จะนำมาเสนออีกครั้ง แต่จะเน้นเรื่องปลาบึกเป็นหลัก เนื่องจากข้อมูลการเลี้ยงปลาชนิดนี้ยังมีการเผยแพร่กันค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่การเพาะขยายพันธุ์ประสบความสำเร็จมานานหลายปีแล้ว

การเลี้ยงปลาบึกแบบฉบับของคุณเม่งฉ่องนั้นน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าใช้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสองประการหลักๆ คือ หนึ่งใช้เศษอาหารเลี้ยงปลา และในระหว่างเลี้ยงหรือจับปลาขายไม่เคยดูดน้ำทิ้งหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย

"ผมมีบ่อเลี้ยงปลาหลายสิบบ่อ รวมๆ เนื้อที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ และรถกระบะอีก 10 คัน เพื่อไว้สำหรับวิ่งรับเศษอาหารตามศูนย์การค้า โรงแรม และโรงเรียน วันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน เศษอาหารพวกนี้เราก็นำมาเลี้ยงปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย รวมทั้งปลาบึกด้วย" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เศษอาหารดังกล่าว คุณเม่งฉ่อง ไม่ใช่จะได้มาฟรีๆ ส่วนใหญ่จะใช้เงินซื้อมาในราคาค่อนข้างต่ำ รวมๆ แล้ว อยู่ที่ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม (รวมค่าขนส่งด้วย)

เขาเช่าที่ดิน เพื่อใช้เลี้ยงปลาบึกอยู่เกือบๆ 80 ไร่ ในราคา 70,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี ซึ่งที่ดินผืนนี้เดิมทีเป็นท้องนา แต่ถูกขุดหน้าดินขาย กลายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ยกเว้นเลี้ยงปลาอย่างเดียว



ซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยเลี้ยง

พันธุ์ปลาบึกที่ซื้อมาเลี้ยงนั้น มาจากหลายฟาร์ม และส่วนหนึ่งก็ซื้อมาจากคุณเสน่ห์ ซึ่งคุณเม่งฉ่องจะเน้นปลาพันธุ์แท้เท่านั้น โดยเขาให้เหตุผลว่า จะเจริญเติบโตเร็ว และรสชาติดี ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านตลาดที่จะตามมา

"ตอนนี้ตลาดปลาบึกผมมีอยู่ในมือ 3-4 แห่ง คือ หนึ่ง ตามตลาดสดทั่วไป สอง ร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำ สาม ผู้ส่งออก และสี่ บ่อตกปลาทั่วๆ ไป ซึ่งผมจะจับทั้งปลาตายและปลาเป็น ตลาดสดราคารับซื้ออยู่ที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม ผู้ส่งออก ราคาอยู่ที่ 90 บาท ต่อกิโลกรัม และร้านอาหารหรือโรงแรมชั้นนำ ประมาณ 130 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนบ่อตกปลานั้น เราจะขายปลากันตัวเป็นๆ และรวมค่าขนส่งด้วย ซึ่งราคาอยู่ที่ 150-300 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะทางในการขนส่ง" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องมีแรงงานในการเลี้ยงปลาทั้งหมด กว่า 20 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญในการลากอวนจับปลาจำหน่ายอยู่เพียง 7 คน เท่านั้น

"ปลาทุกชนิดที่ผมเลี้ยงจะไม่มีดูดน้ำหรือถ่ายน้ำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเตรียมบ่อ ระหว่างเลี้ยง หรือขั้นตอนการจับขาย ผมจะใช้หลักการธรรมชาติที่ในบึงใหญ่ๆ หรือทะเล ไม่เห็นว่ามีใครไปเปลี่ยนน้ำหรือเตรียมบ่ออะไรเลย พวกปลาหรือสัตว์น้ำมันอาศัยอยู่ได้ และมนุษย์ก็รู้จักจับปลาในธรรมชาติมายาวนานแล้ว ดังนั้น ที่ฟาร์มจะยึดหลักธรรมชาติทั้งสิ้น" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องจะใช้แรงงานลากอวนจับปลาบึกขายเกือบทุกๆ สัปดาห์ หรือตามใบสั่งซื้อของลูกค้า เมื่อรู้ว่าปลาเริ่มเบาบางลง คุณเม่งฉ่องจะสั่งซื้อลูกพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่มเติมลงไป

"ตอนนี้ ผมเลี้ยงปลาบึกเพื่อเป็นการค้าจริงจังมา 4 ปีแล้ว ซึ่งปลาบางตัวมีน้ำหนักมากถึง 80 กิโลกรัมแล้ว ผมจะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งโต ยิ่งดี เพราะว่าตลาดต้องการปลาทุกไซซ์ และการจัดการเลี้ยงหรือโรคภัยไข้เจ็บไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาบึกในความคิดส่วนตัวของผมนั้นไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย"

พันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยเลี้ยงนั้น คุณเม่งฉ่อง บอกว่ามีหลายขนาด แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยหรือสามารถปล่อยเลี้ยงในบ่อใหญ่ๆ ได้เลย ก็คือ ขนาดเท่ากับปลาทู ซึ่งราคาซื้อขายพันธุ์ปลาขนาดดังกล่าวอยู่ที่ตัวละ 70-80 บาท

"ผมจะปล่อยเลี้ยง ในอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ ช่วงแรกยังไม่กินเศษอาหาร ส่วนใหญ่จะซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปปลาดุกมาหว่านให้กินก่อน เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 หรือน้ำหนักตัวได้ครึ่งกิโลกรัม ก็เปลี่ยนอาหารใหม่ โดยให้กินเศษอาหารแทน ซึ่งปลาจะชอบมาก โดยเฉพาะพวกเศษขนมปังและผักต้มกับน้ำก๋วยเตี๋ยวด้วย

"บ่อ 80 ไร่ นั้น ผมจะให้กินอาหารวันละ 400-600 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารเสียมากกว่า ส่วนผักต้มนั้นนานๆ จะให้กินสักครั้ง มันขึ้นอยู่กับความขยันของเรา และเศษผักที่เหลืออยู่ตามท้องตลาด"

"บางวันเราก็เอาขนมปังหมดอายุจากโรงงานแถวๆ รังสิต มาให้ปลากิน ซึ่งปลาก็ชอบเหมือนกัน แถมให้กินเพียงวันละ 100-200 กิโลกรัม ต่อวัน ก็เพียงพอแล้ว เพราะว่ามันเข้าไปพองในท้อง ทำให้ปลาอิ่ม ไม่เหมือนกับผักหรือเศษอาหาร ต้องให้กินมากถึง 1 เท่าตัว แต่ขนมปังนั้นมีข้อเสียอยู่คือ มีปริมาณน้อย และไม่ต่อเนื่อง แตกต่างกับเศษอาหารมาก เพราะว่ามีทุกๆ วัน เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เมื่อเลี้ยงปลาได้ปีที่สอง เขาก็เพิ่มปริมาณอาหารเป็น 1,000 กิโลกรัม ต่อวัน และปีที่สามก็เพิ่มขึ้นอีก 1,500 กิโลกรัม

"เศษอาหารที่เราขนส่งหรือนำมาให้ปลากินเป็นอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะใส่ไว้ภายในถัง 200 ลิตร บรรทุกโดยรถกระบะมาถึงปากบ่อ จากนั้นก็เทใส่ในบ่อเลย ปลาบึกก็จะว่ายเข้ามากิน และพวกปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน มาเก็บกินเศษอาหาร หรือกินปลาบึกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วงแรกผมจะปล่อยลงเลี้ยงรวมกัน โดยมีอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ เพื่อไว้เป็นเทศบาลคอยทำความสะอาดภายในบ่อเลี้ยง แต่เชื่อมั้ยว่าเลี้ยงได้ 1 ปี ปลาพวกนี้ก็จับขายได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน ต่อปี เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ช่วงเวลาให้อาหารที่เหมาะสมก็คือ ตอนกลางวัน หรือตอนบ่ายๆ หากให้กินช่วงเช้า น้ำภายในบ่อ โดยเฉพาะจุดเทอาหารจะมีสภาพไม่ดี และมีกลิ่นด้วย เพราะว่าแสงแดดน้อย ทำให้ไม่สามารถมาฟอกสภาพน้ำได้ดีอย่างเพียงพอ

"ผมมีความสุขกับอาชีพเลี้ยงปลามากเลย เพราะว่าไม่มีเสียงพูด เสียงบ่น ไม่เหมือนกับเลี้ยงสัตว์อื่นๆ พวกหมู พวกไก่ หากเราไม่ให้อาหารมันก็ร้องเสียงดัง แต่เลี้ยงปลานี้ วันไหนไม่ให้อาหารเลี้ยง หรือมีปริมาณน้อย มันก็ไม่ร้องเสียงดังเหมือนสัตว์อื่นๆ เลย ผมชอบอาชีพนี้มาก และจะทำไปเรื่อยๆ" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

และว่า พวกปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่นี้ ก็จะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งดี เพราะว่าจะได้ปลาตัวใหญ่ไปอีก ซึ่งคิดว่าราคารับซื้อคงจะไม่มีปัญหา เพราะว่าสามารถตกลงกับผู้รับซื้อก่อนจับได้ หากไม่พอใจ ก็ยังไม่จับขาย

"ปลาบึกนี้มันเจริญเติบโตเร็วมาก ผมคิดว่า หากเลี้ยงถึง 7-8 ปี เราก็อาจได้ผลผลิตปลาแต่ละตัวเกือบ 200 กิโลกรัมเลย ซึ่งเวลาจับขายแต่ละครั้งก็ได้เงินมาค่อนข้างมาก คุ้มค่ากับการรอคอย อย่างไรก็ตาม ระหว่างเลี้ยงอยู่ ถ้าเราเดือดร้อนเรื่องเงินก็สามารถจับขายได้เรื่อยๆ แต่ในส่วนของผมตอนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงิน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเอง ว่าต้องการราคาเท่าไร ไม่ใช่ว่าให้ใครมากำหนดราคาขายของเรา เพราะว่าตลาดรับซื้อผลผลิตของผมมีหลายระดับ ทั้งตลาดสด ร้านอาหาร ผู้ส่งออก และบ่อตกปลา ไม่พอใจ ก็ไม่ขาย" คุณเม่งฉ่อง กล่าวทิ้งท้าย



ชวนทัศนศึกษาการเลี้ยงปลาด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ กำไรงาม

ใครสนใจอยากศึกษาการเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุกบิ๊กอุย โดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ และใช้เศษอาหารเลี้ยงเพื่อลดต้นทุน สูตรง่าย ๆ ของ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โปรดสอบถามได้ที่โทร. (086) 318-5789 รับจำนวนจำกัด

งานนี้คุณเม่งฉ่องบอกว่า ช่วงเช้า เราจะเรียนรู้การเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติทุกชนิดบริเวณปากบ่อ ช่วงบ่าย จะสาธิตการลากอวนจับปลาบึก และปลาอื่นๆ ส่งขายสู่ตลาด

จุดประสงค์การท่องเที่ยวครั้งนี้ เพื่อศึกษาการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบต้นทุนต่ำ ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ทั่วประเทศ รับรองไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร พลาดไม่ได้ นานๆ มีสักครั้ง




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:08:45 น.   
Counter : 7150 Pageviews.  


ยุพิน บั้งทอง กับความสำเร็จในการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง 2 ไร่

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



คุณยุพิน บั้งทอง บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 11 บ้านร่องกอก ตำบลบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ 67110 เคยมีอาชีพในการปลูกผัก เช่น กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว ฯลฯ มาก่อน แต่ขายผลผลิตไม่ได้ราคาและไม่คุ้มกับการลงทุน จึงคิดหาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ที่สร้างรายได้มากกว่าเก่า คุณชนะบดี ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคุณลุงของคุณยุพิน ได้ทราบข่าวมาว่าปัจจุบันทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนามะละกอพันธุ์ครั่งและเริ่มมีเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าจำหน่ายให้เกษตรกรได้นำไปทดลองปลูก คุณชนะบดีได้ซื้อต้นกล้ามะละกอพันธุ์ครั่งจากศูนย์ในราคาต้นละ 3 บาท มาปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ ผลปรากฏว่าใช้เวลาปลูกไม่นาน ประมาณ 5 เดือนเท่านั้น สามารถเก็บผลผลิตมะละกอดิบขายได้มากถึง 5,000 กิโลกรัม (5 ตัน) หลังจากนั้น คุณยุพินจึงได้ตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 3 ไร่ โดยซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอครั่งจากศูนย์มาเพาะเองในราคาเมล็ดละ 1 บาท



มะละกอพันธุ์ครั่งปลูกเพื่อเน้นขาย

เพื่อทำส้มตำโดยเฉพาะ

คุณยุพินมีเป้าหมายหลักของการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งเพื่อขายเป็นมะละกอดิบส่งขายเพื่อทำส้มตำโดยเฉพาะ เนื่องจากมะละกอสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นตรงที่เนื้อมีความกรอบ เนื้อมีสีขาวขุ่น รสชาติหวานเล็กน้อยและที่สำคัญเนื้อไม่แข็งกระด้าง ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า "ส้มตำ" จัดเป็นอาหารคาวของไทยอย่างหนึ่ง มีต้นกำเนิดยังไม่แน่ชัดว่ามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนมากจะทำโดยนำมะละกอดิบที่ขูดเป็นเส้นมาตำในครกกับมะเขือลูกเล็ก ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง พริก และกระเทียม ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ปูดอง หรือปลาร้า ให้มีรสเปรี้ยว เผ็ด และออกเค็มเล็กน้อย นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยมีผักสด เช่น กะหล่ำปลีและถั่วฝักยาวเป็นเครื่องเคียง

จาก "วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี" ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ส้มตำ" ว่า คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกัน ว่า "ส้มตำ" เป็นอาหารพื้นเมืองของคนอีสานหรือของลาว แท้จริงแล้ว "ส้มตำ" จัดเป็นอาหารสมัยใหม่ถือกำเนิดมา ประมาณ 40 ปีเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มีการนำเข้ามาจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลไทยให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพและตัดถนนมิตรภาพเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปยังพื้นที่สู้รบ พร้อมกันนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์มะละกอมาปลูกสองข้างทางของถนนมิตรภาพ มะละกอจึงได้เผยแพร่สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน "ส้มตำ" ได้เป็นอาหารหลักของคนอีสานไปแล้ว และเป็นอาหารที่ได้เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังแพร่หลายกลายเป็นอาหารที่ต่างชาติรู้จักกันมากขึ้น ในด้านการปลูกมะละกอจากที่เคยปลูกแบบสวนครัว พัฒนามาปลูกในเชิงพาณิชย์ มีการพัฒนาสายพันธุ์มะละกอเพื่อใช้ทำส้มตำโดยเฉพาะ จากที่มะละกอพันธุ์แขกนวลใช้ในการทำส้มตำมากที่สุดมาถึงมะละกอพันธุ์ครั่งที่มีคุณสมบัติดีมากกว่าหลายประการในขณะนี้



ผลกะเทยและผลกลม

ของมะละกอพันธุ์ครั่งขายได้หมด

คุณยุพินบอกว่า จากการเริ่มต้นปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในพื้นที่ 2 ไร่นั้น พบว่า ต้นมะละกอที่ปลูกอยู่ในแปลงแบ่งออกเป็นได้ 3 ชนิด คือ ผลยาวหรือผลกะเทย โดยลักษณะผลจะยาวเรียว ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ผลกลม (ดอกตัวเมีย) จะมีลักษณะผลกลมกว่าผลยาว แต่ไม่ถึงกลับกลมแบบมะละกอแขกดำหรือแขกนวล ถึงลักษณะผลจะกลมแต่ก็มีความยาวของผล ประมาณ 30 เซนติเมตร คุณยุพินบอกว่า ขายดิบให้พ่อค้าได้ทั้ง 2 ชนิด ได้ราคาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องตัดต้นตัวเมีย (ลูกกลม) ทิ้งเหมือนพันธุ์แขกดำและแขกนวล ชนิดสุดท้ายที่ยังพบอยู่บ้างคือ ต้นที่ไม่ออกดอกหรือเป็นดอกตัวผู้ คุณยุพินบอกว่า ในพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง 2 ไร่ จะพบบ้างประมาณ 2-3 ต้นเท่านั้น จะตัดต้นทิ้งทันที ซึ่งก็สอดคล้องกับทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ที่บอกว่า เมล็ดมะละกอพันธุ์ครั่งที่ผลิตได้จากทางศูนย์ยังอาจจะพบต้นตัวผู้บ้างแต่ว่าน้อยมาก



ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งยกแปลงปลูก

แบบลูกฟูกและปลูกแถวเดียว

สภาพดินปลูกมะละกอของคุณยุพินจะมีลักษณะเนื้อดินค่อนข้างไปทางทราย จึงได้ซื้อหน้าดินมาถมเพิ่มเติมเพื่อให้สภาพดินเป็นร่วนปนทรายมากขึ้น (สภาพดินละแวกนี้เหมาะที่จะปลูกถั่วลิสง งาดำ และงาขาว) ในการเตรียมแปลงปลูกจะนำรถไถมายกแปลงปลูกเป็นลูกฟูก แต่ละแปลงจะปลูกมะละกอเพียงแถวเดียว โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร (พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 180 ต้น เมื่อต้นมะละกอเจริญเติบโตเต็มที่ทรงพุ่มจะชนกันพอดี แต่ในแปลงปลูกใหม่ในพื้นที่ 3 ไร่นั้น คุณยุพินได้ปรับระยะปลูกให้กว้างขึ้นคือ จะใช้ระยะปลูก 3.5x3.5 เมตร



น้ำและปุ๋ยเคมีมีความจำเป็น

ต่อการปลูกมะละกอครั่ง

ในเชิงพาณิชย์

จากการเดินสำรวจแปลงปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งของคุณยุพินพบว่า จุดเด่นที่สำคัญประการแรกคือ สภาพแปลงปลูกมีความสะอาดมาก โคนต้นมะละกอทุกต้นจะคลุมด้วยฟางข้าว มีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณวัชพืชและช่วยรักษาความชื้น ในการปลูกมะละกอของคุณยุพินจะไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ในทางปฏิบัติจริงการใช้สารกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอมีข้อจำกัดและเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้แต่การใช้ยากำจัดวัชพืชในกลุ่มของไกลโฟเสตอาจจะมีผลข้างเคียงกับต้นมะละกอได้ "น้ำ" จัดเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง คุณยุพินบอกว่า ตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่าให้ต้นมะละกอขาดน้ำ จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สภาพแปลงปลูกมะละกอของคุณยุพินจะให้น้ำตามร่องเฉลี่ย 3-5 วัน ต่อครั้ง ในขณะที่การให้ "ปุ๋ยเคมี" คุณยุพินจะเน้นการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ให้กับต้นมะละกอที่ให้ผลผลิตแล้วเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ใส่ให้ต้นละ 1 กำมือโดยประมาณ ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมากขึ้น คุณยุพินได้สลับมาใช้ปุ๋ยคอกบ้าง (ใช้ปุ๋ยขี้ไก่) และมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบและฮอร์โมนบ้าง ได้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากนัก ประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้มาก



ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง

หลุมละ 1 ต้น หรือ 2 ต้น

อย่างไหนดีกว่ากัน

ปัจจุบันคุณยุพินได้ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งหลุมละ 1 ต้น และมีบางส่วนปลูกหลุมละ 2 ต้น คุณยุพินบอกว่า ถ้าปลูกหลุมละ 1 ต้น จะได้ต้นมะละกอที่มีลำต้นอวบอ้วน ขนาดของผลจะใหญ่และสมบูรณ์มาก ในขณะที่บางหลุมปลูก 2 ต้น จากการสังเกตพบว่า ต้นมะละกอยังคงความสมบูรณ์เพียงแต่ขนาดของลำต้นเล็กกว่าเพราะแย่งอาหารกัน ผลของมะละกอมีขนาดผลเล็กเรียวยาวและน้ำหนักน้อยกว่า แต่การปลูกหลุมละ 2 ต้นนั้น กลับพบข้อดีว่า ผลมะละกอพันธุ์ครั่งไม่มีขนาดใหญ่จนเกินไป เป็นที่ชื่นชอบของแม่ค้าที่รับซื้อไปขาย โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อไปบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากขนาดของผลไม่ใหญ่จนเกินไป จากการเก็บข้อมูลการให้ผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่งที่สวนของคุณยุพินพบว่า ในแต่ละรุ่นหรือแต่ละครั้งจะให้ผลผลิตได้ต้นหนึ่งเฉลี่ยน้ำหนัก 20 กิโลกรัม

นอกจากนั้นแล้ว คุณยุพินยังได้มีเทคนิคในการตัดต้น ในขณะต้นมะละกอยังเล็กอยู่เพื่อให้มีการแตกยอดเพิ่มจากยอดเดียวเพิ่มเป็น 2-3 ยอด (คุณยุพินบอกว่า เหมือนมีมะละกอเพิ่มขึ้นมาจาก 1 ต้น เป็น 3 ต้น) มีผลทำให้ผลผลิตมะละกอเพิ่มขึ้นและต้นมะละกอไม่ต้องมีภาระไว้ผลมากเกินไป ต้นมะละกอจะร่ม เวลาเข้าไปทำหญ้าก็ไม่ร้อนมาก



มะละกอพันธุ์ครั่ง

ค่อนข้างทนทาน

ต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาโรคไวรัสจุดวงแหวนในการปลูกมะละกอของประเทศไทยแบบยั่งยืนจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์มะละกอที่ตัดแต่งพันธุกรรมหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เมล็ดมะละกอ GMOs และความเป็นจริงอีกเช่นกันที่การพัฒนามะละกอ GMOs ในบ้านเราถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจและมีความก้าวหน้าติดระดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย แต่ยังมีบางหน่วยงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไม่เห็นด้วย กลัวว่าเมื่อคนไทยบริโภคมะละกอ GMOs ไปแล้วอาจจะเป็นอันตรายได้ในอนาคต ทำให้งานทดลองและงานเผยแพร่ได้หยุดชะงักลง มะละกอพันธุ์ครั่งก็เช่นเดียวกันเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวน แต่มีความทนทานได้ดีระดับหนึ่ง อย่างกรณีของคุณยุพิน บั้งทอง ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งรุ่นแรกในพื้นที่ 2 ไร่นั้น พบว่า เป็นโรคไวรัสจุดวงแหวนเพียง 5 ต้นเท่านั้น และได้ทำลายเผาทิ้งทันที



ผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่ง

ในช่วงฤดูแล้ง

ได้ขายกิโลกรัมละ 10 บาท

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ในพื้นที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง จำนวน 2 ไร่ ของคุณยุพินหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 4 เดือนเศษ ได้เก็บผลมะละกอดิบส่งขายตลาดในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปแล้วประมาณ 5 ตัน หรือ 5,000 กิโลกรัม ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มะละกอออกสู่ตลาดมากๆ (ทุกสายพันธุ์) ราคาของมะละกอพันธุ์ครั่งจะขายส่งได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3-4 บาท โดยคุณยุพินจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาเช้าในแต่ละครั้งที่พ่อค้ามีออเดอร์มาจะเก็บเกี่ยว ประมาณ 70-80 ถุง บรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม โดยคุณยุพินจะเลือกเก็บผลใหญ่ๆ ออกจากต้นก่อน หลายคนยังไม่ทราบว่าสำหรับมะละกอพันธุ์ครั่งจะเก็บขายผลดิบเพื่อใช้บริโภคเป็นส้มตำได้นั้น จะเก็บได้หลังจากที่ออกดอกแล้วนับไปอีกเพียง 30-45 วันเท่านั้น

คุณยุพินมักจะวางแผนกักผลผลิตมะละกอพันธุ์ครั่งไว้รอราคาขายในช่วงฤดูแล้งคือ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะขายได้ราคาสูงกว่าเท่าตัว ในช่วงฤดูแล้งจะขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 10 บาท



มะละกอพันธุ์ครั่งดิบ

เก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิปกติ

ได้นานถึง 7 วัน

มะละกอพันธุ์ครั่งมีจุดด้อยที่พ่อค้าไม่ชอบตรงที่มีร่องที่ผลและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก แต่เมื่อได้ซื้อไปทำส้มตำแล้วล้วนแต่ประทับใจกันทุกราย โดยเฉพาะในเรื่องของความกรอบและอร่อยกว่ามะละกอดิบสายพันธุ์อื่นๆ (ความจริงแล้วมะละกอพันธุ์ครั่งเมื่อสุกมีรสชาติหวานพอใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคดิบมากกว่า) ข้อดีประการหนึ่งที่พ่อค้าชอบมะละกอพันธุ์ครั่งก็คือ เก็บรักษาได้สภาพอุณหภูมิปกติได้นานถึง 7 วัน โดยผลไม่เหี่ยวและคุณภาพของเนื้อไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่มะละกอดิบพันธุ์อื่นเก็บไว้ 2-3 วัน ก็เหี่ยวแล้ว (มะละกอถ้าผลเหี่ยวแล้วจะทำส้มตำไม่อร่อย)



หนังสือ "ครั่ง" มะละกอไทยพันธุ์ใหม่เพื่อทำส้มตำ พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับหนังสือ "เทคนิคการผลิตมะละกอเงินล้าน" จำนวน 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:04:35 น.   
Counter : 14182 Pageviews.  


ใบย่านาง พืชสมุนไพรท้องถิ่น วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล จับมาแปรรูป

ชำนาญ ทองเกียรติกุล


ใบย่านาง เป็นไม้เลื้อย ชื่อพื้นบ้านอีสานคือ "ย่านาง" ชื่อทั่วไป เถาย่านาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra (Colebr.) Diels. วงศ์ Menispermaceae

ย่านางเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงแบบสลับ แผ่นใบรูปรี รูปหอกถึงรูปไข่แกมหอก กว้าง 2-5 เซนติเมตร หรืออาจจะถึง 8.5 เซนติเมตร ยาว 6.5-10 เซนติเมตร บางแห่งสูง 17 เซนติเมตร

ปลายแหลมถึงใบเรียวแหลม โคนใบสอบถึงมน ผิวใบเกลี้ยง สีเขียวเข้ม เห็นเส้นใบเด่นชัดจากโคนถึงปลายใบ 3 หรือ 5 เส้น ดอกมีขนาดเล็กมาก สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแกมเขียว ออกเป็นช่อตามซอกใบและตามลำต้น ผลเป็นรูปไข่มีขนาดเล็ก เมื่ออ่อนมีสีเขียว สุกจะมีสีแสดถึงแดง กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร

พบในแหล่งธรรมชาติบริเวณป่าดงดิบและป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิดและปลูกได้ทุกฤดูกาล ย่านางมีรสจืด เถาและใบย่านางนิยมใช้เป็นเครื่องปรุง จะใช้เถา ใบอ่อน ใบแก่ ตำคั้นเอาน้ำสีเขียวแล้วไปต้มกับหน่อไม้จะช่วยลดกรดออกซาลิค นำมาปรุงเป็นแกงหน่อไม้หรือซุบหน่อไม้ทำให้หน่อไม้จืดไม่ขม

น้ำคั้นจากใบใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด โดยเฉพาะแกงเห็ด แกงขี้เหล็ก หรือแกงประเภทต่างๆ คนอีสานมีวัฒนธรรมการกินหน่อไม้คู่กับย่านางเสมอ ทางปักษ์ใต้นั้นนิยมใช้ยอดอ่อนใส่ในแกงเลียง จึงไม่มีปัญหาเหมือนการกินหน่อไม้ของคนภาคอื่นๆ รากใช้แก้ไข้ได้ทุกชนิด

ย่านางมีเส้นใยมาก อุดมด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ใบย่านางที่คั้นน้ำแล้วจะมีเบต้าแคโรทีน 39.24 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล



จุดประกายการทดลอง

การประกอบอาหารโดยเฉพาะแกงหน่อไม้มีกระบวนการที่ละเอียด เริ่มตั้งแต่ตำข้าวเบือ (ข้าวเหนียวนำไปแช่น้ำทิ้งไว้จนเมล็ดข้าวอ่อนตัวและนำมาตำหรือบดให้ละเอียด นำมาผสมกับน้ำใบย่านาง ข้าวเบือจะมีคุณสมบัติช่วยให้น้ำแกงมีความเหนียวและข้นขึ้น) แต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการโขลกและคั้นน้ำเป็นที่ยุ่งยากและเสียเวลา หากต้องการประกอบอาหารอย่างรีบเร่ง

ด้วยเหตุนี้ คุณเอมวิภา นามวงษา คุณนารี พันธ์ผูก และ คุณหนึ่งฤทัย ฑีมายุพรรค นักศึกษาระดับ ปวส. วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล อาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี จึงคิดทำใบย่านางก้อนสำเร็จรูปเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปประกอบอาหาร เน้นต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกับย่านางสดมากที่สุด และย่านางสำเร็จรูปนี้สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 เดือน เก็บไว้ในตู้เย็น



วัตถุประสงค์

1. เพื่อทดลองการนำใบย่านางสดมาทำย่านางสำเร็จรูป

2. เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำย่านางมาบริโภค ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

3. เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและจำหน่ายในอนาคต โดยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

1. เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพร้อมบรรจุภัณฑ์เชิงพาณิชย์

2. เพิ่มมูลค่าของการวิจัยและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์

3. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป



อุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย

1. ใบย่านาง 300 กรัม

2. น้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร

3. ข้าวเหนียวบดละเอียด 1,500 กรัม

4. ที่กรอง (ผ้าขาวบาง) 1 ผืน

5. หม้ออบ (Hot air oven) 1 เครื่อง

6. เครื่องปั่น/บด 1 เครื่อง

7. เครื่องอัด/แบบพิมพ์ 1 เครื่อง

8. กระดาษฟอยล์ 1 กล่อง

9. เครื่องชั่งน้ำหนัก 1 เครื่อง

10. เกลือ 50 กรัม

อัตราส่วนที่ใช้ทำย่านางสำเร็จรูปตามที่กำหนด จะได้ผลิตภัณฑ์ย่านางสำเร็จรูป 50 ก้อน



คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์

เมื่อผลิตออกมาแล้วคุณภาพดีคงคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งสีและกลิ่น ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ใช้ย่านางสำเร็จรูปละลายในน้ำเย็นในอัตราส่วน 1 ก้อน ต่อน้ำ 1 ลิตร

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยอาชีพตระการพืชผล เลขที่ 11/10 บ้านเซเป็ด ตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โทร. (045) 481-931



สารพันประโยชน์จากใบย่านาง

เถาย่านางมักขึ้นอยู่เองตามป่า หากจะนำมาปลูกก็ไม่ยาก ใช้เพาะเมล็ดหรือขุดเอารากที่เป็นหัวไปปลูกในที่ใหม่ รดน้ำให้ชุ่ม เถาย่านางก็จะคลี่กางเลื้อยขึ้นพันค้างที่เตรียมไว้ หรือไม่ก็เลื้อยพันต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ทนและเติบโตได้ในทุกสภาพดินและสภาพอากาศทุกฤดูกาล

น้ำคั้นจากใบยังมีสารอาหารอย่างแคลเซียม และวิตามินซีค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีวิตามินอื่นๆ ร่วมขบวนด้วย เช่น เอ บี 1 บี 2 และเบต้าแคโรทีน

นอกจากนี้ น้ำคั้นย่านางผสมน้ำว่านหางจระเข้ หมักทิ้งไว้ประมาณ 25-30 นาที แล้วก็สระผมตามปกติ ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนหลายแห่งผลิตแชมพูใบย่านางออกจำหน่าย หรือแม้แต่นำน้ำคั้นย่านางมาผัดในข้าวผัดสมุนไพร




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:01:40 น.   
Counter : 3123 Pageviews.  


คนปลูกผักหวานป่า... ผักหวานป่าเลี้ยงคนปลูก ที่เมืองปากน้ำโพ

ธนภัทร ภคสกุลวงศ์



เรามาช่วยกันเปิดตำนานหน้าใหม่ของการปลูกผักหวานป่า ซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านป่ารังพัฒนา ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ หมู่บ้านนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 5 กิโลเมตร และอยู่ติดกับบึงบอระเพ็ด แต่นั่นมันเป็นเพียงแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปเก็บไว้ในภาคภูมิใจกันเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวได้เลยแม้แต่น้อย

ด้วยความผูกพันกับอาชีพด้านการเกษตรมาโดยสายเลือด ก็ยากที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ ความคิดที่จะเอาชนะความแห้งแล้งของธรรมชาติจึงเกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ หลายต่อหลายคนต้องประสบกับความพ่ายแพ้ ต้องตัดสินใจบอกลาอาชีพการเกษตร แล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ทั้งในตัวจังหวัดและต่างจังหวัด ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบางคนก็ตัดสินใจขายที่ดินทำกินผืนสุดท้ายไปในราคาถูก เพื่อนำเงินไปลงทุนทำอาชีพอื่น



ก่อนที่จะมาเป็นสวนผักหวานป่า

กรณีของ คุณวิชัย-คุณสมคิด พวงนาค เกษตรกรคนเก่งวัย 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 247 บ้านป่ารังพัฒนา หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลับตรงกันข้าม

เมื่อประมาณปี 2535 ครอบครัวพวงนาค ตั้งคำถามว่า พื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้จะปลูกพืชชนิดใดจึงจะอยู่ได้ เมื่อหาข้อมูลของพืชที่หลากหลายชนิด เพื่อหาข้อดี ข้อเสีย แล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า มะขามเทศ น่าจะเป็นพืชทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะปลูกง่าย ทนแล้ง เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ จึงได้ตัดสินใจปลูกมะขามเทศหลายสายพันธุ์ โดยใช้ระยะการปลูก 8 คูณ 8 เมตร ในพื้นที่ 2 แปลง แปลงแรก 3 ไร่ แปลงที่ 2 อีก 5 ไร่ รวม 8 ไร่ ปลูกมะขามเทศ จำนวน 50 ต้น ต่อมามะขามเทศก็ได้ให้ผลผลิตออกมาจนเป็นที่น่าพอใจ เมื่อต้นมะขามเทศโตขึ้นขณะที่มีความสูงโดยเฉลี่ย 8-12 เมตร ได้มองเห็นพื้นที่ว่างระหว่างต้นมะขามเทศ ว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชอื่นแซมได้อีก ก็จึงได้เสาะแสวงหาพืชที่มีความเหมาะสมอยู่หลายปี จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่หลากหลายว่า พืชที่จะปลูกแซมนั้นคือ ผักหวานป่า เนื่องจากที่บริเวณบ้านมีต้นผักหวานป่าขนาดใหญ่อยู่ 1 ต้น จึงได้นำเมล็ดของผักหวานป่าจากต้นนี้มาเพาะเอง เริ่มจากการเพาะเพียงไม่กี่ต้นจนสามารถขยายพันธุ์ออกไปได้เป็นจำนวนมาก



วิธีเตรียมต้นพันธุ์

คุณสมคิด ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการดูแลผักหวานป่า บอกว่า การเพาะพันธุ์ผักหวานป่าเริ่มเมื่อเดือน มีนาคม 2538 ได้นำเมล็ดผักหวานป่าที่แก่จัดจนเหลืองนำมาปอกเปลือกนอกออกให้หมด จากนั้นก็นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผึ่งลมไว้ในร่มจนเมล็ดแห้งสนิท ใช้เวลา 2 วัน

ก่อนจะนำไปลงถุงเพาะ ให้นำเมล็ดมากะเทาะเปลือกชั้นในอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกแล้วใส่ลงไปในถุงเพาะชำ โดยใช้ถุงสีดำเจาะรูด้านข้าง 4 รู เพื่อระบายน้ำ ขนาดถุงกว้าง 2 นิ้ว สูง 4 นิ้ว ดินที่ใช้ในการเพาะก็ใช้ดินจากคอกวัวเก่าผสมดินทรายเล็กน้อย แล้ววางเมล็ดให้ด้านขั้วอยู่ข้างบน ส่วนด้านท้ายเมล็ดให้วางอยู่ด้านล่าง โดยฝังเมล็ดลงไปเพียงครึ่งเมล็ดก็พอ

แล้วเก็บเรียงไว้ใต้ร่มไม้ให้ได้รับแสงแดดรำไร การดูแลรักษาก็รดน้ำวันเว้นวันเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น จากนั้นอีกประมาณ 3 เดือนต่อมา เมล็ดผักหวานก็จะเริ่มงอกจนเปลือกที่หุ้มเมล็ดหลุดออกมา จะแตกยอดอ่อนออกมา 2-3 ใบ ก็ยังคงรดน้ำวันเว้นวันไปจนอายุประมาณ 10-11 เดือน ก็จะได้ต้นพันธุ์ผักหวานที่มีความสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร แล้วจึงนำไปปลูกได้ในเดือนมีนาคมถึง เมษายน



เตรียมพื้นที่ปลูกและการดูแลรักษา

เกษตรกรหญิงเก่ง บอกว่า เมื่อได้ต้นพันธุ์ผักหวานเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีไม้ยืนต้นอื่นอยู่ก่อนแล้ว ส่วนแปลงนี้ปลูกแซมในสวนมะขามเทศ เนื่องจากสภาพของผักหวานป่าตามธรรมชาตินั้น จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าโปร่งดินเขาลูกรัง การขุดหลุมเตรียมดินปลูกก็จะขุดให้มีความกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 1 ฟุต ใส่ขี้วัวผสมดินปลูกลงไปเล็กน้อย แล้วรดน้ำ 3 วัน ต่อครั้ง ต่อจากนั้น ก็ใส่ขี้วัว ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยการโรยให้รอบทรงพุ่ม เดือนละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องพรวนดินปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด

เมื่อปลูกผักหวานได้ ประมาณ 3 ปี ผักหวานก็จะมีความสูง ประมาณ 1.5 เมตร ก็จะเริ่มเก็บยอดนำไปขายได้ การเก็บยอดจะเก็บหมดทุกยอดจนเหลือแต่กิ่งก้าน เมื่อเก็บยอดจนหมดแล้วก็ใส่ขี้วัวต้นละ 5 กิโลกรัม แล้วรดน้ำทุก 7 วัน ผักหวานก็จะแตกยอดขึ้นมาใหม่ให้เก็บได้อีก วนเวียนกันอย่างนี้ตลอดไป ส่วนใหญ่ผักหวานจะมีราคาดีก็ช่วงหน้าแล้ง ที่ผ่านมายังไม่เคยใส่ปุ๋ยเคมีเลย คิดเอาเองว่าผักหวานป่าจะไม่ชอบปุ๋ยเคมี



เก็บยอดผักหวานป่า

คุณสมคิด กล่าวว่า เมื่อเก็บยอดผักหวานได้แล้วก็จะนำมามัดเป็นกำ โดยเฉลี่ย 3 กำ ต่อ 1 กิโลกรัม จะมีแม่ค้ามารับถึงในสวน ขณะนี้ได้ 90 บาท ต่อกิโลกรัม วันหนึ่งจะเก็บยอดผักหวานได้ ระหว่าง 30-50 กิโลกรัม ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าแม่ค้าจะสั่งจองมาวันละเท่าไหร่ ถ้าหากเป็นช่วงที่มีงานเทศกาลที่มีคนจำนวนมาก แม่ค้าก็จะสั่งจำนวนมาก ก็ต้องวางแผนให้สามารถเก็บยอดผักหวานได้ทันตามกำหนดที่สั่งจอง ส่วนแรงงานนั้นจะจ้างวันละ 3-5 คน ซึ่งก็ไม่ได้เก็บยอดผักหวานทั้งวัน จะเก็บตามจำนวนที่สั่ง เมื่อได้ครบตามที่สั่งจองแล้วก็จะหยุดเก็บ โดยให้ค่าจ้างวันละ 150 บาท จะบริการกาแฟ อาหารว่าง และอาหารกลางวัน

ราคาผักหวานป่าที่ขายได้ต่ำสุด 70 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนราคาที่ขายได้สูงสุด 100 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อได้สืบราคาขายปลีกในท้องตลาด จะอยู่ที่ 120-150 บาท ต่อกิโลกรัม การเก็บผลผลิตในปีแรกขายแล้วได้เงิน 30,000 บาท ส่วนปี 2550 ได้เงิน 1.4 แสนบาท และในปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ เก็บยอดผักหวานป่าขายได้เงินไปแล้ว 1.3 แสนบาท



ฝากแนวคิดถึงเพื่อนเกษตรกร

คุณสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนที่เกษตรกรจะปลูกผักหวานหรือปลูกพืชอื่นใดก็ตาม จะต้องไปศึกษาข้อมูลให้มากที่สุด โดยเฉพาะศึกษาดูงานจากแปลงที่ประสบความสำเร็จ แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ของตัวเองว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรหรือไม่ เพราะการปลูกพืชแต่ละชนิดนั้นจะต้องใช้เวลานานจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนตัวคิดว่าพื้นที่ดินที่ผักหวานชอบนั้นควรจะเป็นดินแน่น ลูกรังปนทรายที่มีความชื้นไม่สูง หรือค่อนข้างไปทางที่จะแห้งแล้ง หากพื้นที่ที่จะปลูกผักหวานมีความชื้นสูงผักหวานป่าก็จะไม่ชอบ เพราะผิดธรรมชาติของผักหวานป่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. (089) 566-3599

ทางด้านการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอนั้น คุณดิเรก ยิ้มห้อย เกษตรอำเภอเมืองนครสวรรค์ กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลนี้มีการปลูกผักหวาน 25 คน พื้นที่ประมาณ 70 ไร่ เพื่อให้การบริหารจัดการการปลูก การดูแลรักษา การตลาด และเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทางสมาชิกจึงได้รวมตัวกันเพื่อตั้งเป็นกลุ่มผู้ปลูกผักหวานป่าขึ้น จากการประชุมกันไปแล้ว 2 ครั้ง ได้มีการเสนอแนวทางกันอย่างกว้างขวาง และในอนาคตจะเสนอให้เป็นหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของตำบลต่อไป ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร บุคคลทั่วไป นักศึกษา นักเรียน พระภิกษุและสามเณร กันไม่เว้นแต่ละวัน




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 7:59:34 น.   
Counter : 4494 Pageviews.  


นักวิจัยชูพืชพลังงานชนิดใหม่ "มะเยาหิน" พืชพลังงานจากประเทศลาว ปลูกได้ดีในไทย ให้น้ำมันมาก

ศ.วิจิตรา



นับย้อนไป 2-3 ปี ให้หลัง แนวโน้มการศึกษาวิจัยพืชพลังงานทดแทนภายในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สบู่ดำ และปาล์มน้ำมัน พืชพลังงานทดแทนน้ำมันในอันดับต้นๆ ที่นักวิชาการหลายคนเล็งเห็นถึงคุณค่า และประโยชน์ทางน้ำมัน กระทั่งนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลและนำไปทดลองใช้กับเครื่องยนต์จริงๆ บ้างแล้ว และจากความพยายามในการค้นหาแหล่งพลังงานทดแทนชนิดอื่นที่สามารถให้น้ำมันได้มากกว่าพืชทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวข้างต้นนั้น ล่าสุด นักวิจัย จากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า พบแหล่งพลังงานบนดินชนิดใหม่ จาก "มะเยาหิน" พืชพลังงานทดแทนน้ำมันจากฝั่งลาว วิจัยปลูกได้ผลดีในประเทศไทย คาดจะเป็นแหล่งพืชพลังงานชนิดใหม่ ที่เป็นทางเลือกทดแทนพืชน้ำมันเดิมในประเทศไทย เนื่องจากมีค่าความร้อนที่มีศักยภาพสูง พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลของเกษตรกร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล



เดินหน้า...โครงการวิจัย มะเยาหิน

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี หัวหน้าโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) สำหรับภาคเหนือของประเทศไทย ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมมือกับสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ ได้วิจัยโครงการการประเมินศักยภาพพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เครือข่ายภาคเหนือ) และจากวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศไทยสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการครองชีพและรายได้ที่ลดต่ำลงของประชาชน การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชพลังงานขึ้นใช้ภายในประเทศเป็นแนวทางในการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาศักยภาพของการผลิตพืชน้ำมันชนิดใหม่ (มะเยาหิน) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกในประเทศลาว

จากการศึกษาเบื้องต้นของศูนย์วิจัยพลังงานและสหกรณ์ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเพื่อชาติ พบว่าผลผลิตต่อไร่สูงกว่าสบู่ดำ มีปริมาณน้ำมันสูงถึง 400-500 ลิตร ต่อไร่ ใกล้เคียงปาล์มน้ำมัน มีค่าความร้อน 9,279 cal/g ใกล้เคียงกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ปริมาณผลผลิต ปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยก่อนที่จะนำไปส่งเสริมการผลิตเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศต่อไป

สำหรับการวิจัยโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

1.การศึกษาศักยภาพการให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันของมะเยาหิน

2. การศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันที่สกัดจากต้นมะเยาหิน โดยกระบวนการวิจัยจะเริ่มจากการรวบรวมสายพันธุ์มะเยาหินจากประเทศลาว นำมาทดสอบการให้ผลผลิต โดยมีการทดสอบที่ระยะการปลูกต่างๆ กัน และศึกษาแนวทางการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และศึกษาแนวทางการสกัดน้ำมันที่เหมาะสม ทั้งการสกัดน้ำมันด้วยวิธีกล และการสกัดน้ำมันโดยใช้ตัวทำละลายทางเคมี นำน้ำมันที่ได้ไปศึกษาคุณสมบัติทางความร้อน เคมี และฟิสิกส์ หลังจากนั้นนำไปใช้ทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก สำหรับการเกษตร และประเมินผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ของการผลิตมะเยาหิน เปรียบเทียบกับสบู่ดำและปาล์มน้ำมัน

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสุ่มสำรวจเบื้องต้นของพืชน้ำมันชนิดใหม่ที่ปลูกในประเทศลาว พบว่าพืชชนิดนี้ ที่อายุ 5 ปี ติดผลปานกลาง ให้ผลผลิตต้นละประมาณ 3,026 ลูก คิดเป็นน้ำหนักเมล็ดประมาณ 22 กิโลกรัม ถ้าประเมินที่ระยะปลูก 4x4 เมตร จะให้ผลผลิตประมาณ 1,200-1,500 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตสบู่ดำที่ปลูกในประเทศไทย 3-4 เท่า จากการนำตัวอย่างน้ำมันที่ได้มาวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับสบู่ดำ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าพืชพลังงานชนิดใหม่มีศักยภาพสูงที่จะส่งเสริมการปลูกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์เกษตร หรือผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล แต่อย่างไรก็ตาม การนำพืชน้ำมันชนิดใหม่นี้มาปลูกในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการนำข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ทั้งทางด้านการผลิต เช่น ปริมาณการให้ผลผลิต การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี อัตราการใช้น้ำ ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ การตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ต้นทุนการผลิต รวมถึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิง เช่น ค่าความร้อน ค่าความหนืด จุดวาบไฟ ฯลฯ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ที่จะส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย

สำหรับพืชพลังงานชนิดใหม่ มะเยาหิน เป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่คนส่วนมากยังไม่ค่อยรู้จัก และมีศักยภาพในการผลิตพืชน้ำมันสูง รวมถึงอีกหลายคุณสมบัติที่เด่นชัดคือ เป็นพืชโตเร็ว ภายใน 2-3 ปี จะให้ผลผลิตและขนาดต้นที่ใหญ่ ช่วยคืนความชุ่มชื้นให้กับสภาพแวดล้อมและพื้นดิน มีอายุยาวนาน 60-70 ปี การบริหารจัดการน้อย เนื่องจากเป็นพืชป่า สามารถโตได้ตามธรรมชาติ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปทดลองปลูกแซมในพื้นที่สวน อาทิ สวนลำไย สวนลิ้นจี่ เป็นต้น




 

Create Date : 21 เมษายน 2551   
Last Update : 21 เมษายน 2551 7:58:20 น.   
Counter : 1404 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com