แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

ควบคุมวัชพืชในสวนยาง โดยไม่พึ่งพาสารเคมี...ทำได้

ชุมสินธุ์ ทองมิตร



ในการปลูกสร้างสวนยาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาสวนยางเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยางอ่อน ซึ่งต้นยางยังเล็ก พุ่มใบยังไม่ประสานกัน เปิดโอกาสให้วัชพืชทั้งประเภทใบแคบ ใบกว้าง และเถาวัลย์ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้นยางแคระแกร็น เปิดกรีดไม่ได้ตามกำหนดและให้ผลผลิตน้อย เพราะฉะนั้นในช่วงยางอ่อน นอกจากเกษตรกรต้องดูแลรักษาสวนยาง ด้วยการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำแล้ว การควบคุมวัชพืชในสวนยางก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งมีหลายๆ วิธีด้วยกันที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ที่นอกจากต้องเสียเงินแล้ว ยังส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เกษตรกรจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร

คุณสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ให้คำแนะนำ เพื่อเกษตรกรได้พิจารณาตามความเหมาะสม และสามารถปฏิบัติได้ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง... ใช้อุปกรณ์ ตัด ไถ ถาก ขุดทำลายวัชพืชส่วนที่อยู่เหนือดินและใต้ดิน โดยทั่วไปจะใช้แรงงานคนถากวัชพืชในระหว่างต้นยาง ส่วนวัชพืชที่ขึ้นในระหว่างแถวยางใช้รถไถเดินตาม หรือเครื่องยนต์ตัดหญ้า วิธีนี้เกษตรกรต้องตัดติดต่อกัน 2-3 ครั้ง และตัดก่อนที่วัชพืชจะออกดอก เหมาะสำหรับสวนยางขนาดเล็กหรือเกษตรกรรายย่อย และมีแรงงานในครอบครัว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไม่ควรปล่อยพื้นดินในสวนยางให้โล่งเตียน ควรให้มีวัชพืชขึ้นปกคลุมผิวดินบ้าง โดยตัดให้ต่ำ ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง

สอง... ปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วระหว่างแถวยาง เช่น คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา เพอราเรีย และ ซีรูเลียม โดยปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกยางหรือหลังปลูกยางได้ระยะหนึ่ง ควรปลูกต้นฤดูฝนห่างจากแถวยางประมาณ 2 เมตร การปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วระหว่างแถวยางในช่วงยางอ่อน จะช่วยป้องกันการเบียดเบียนของวัชพืช และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน แต่ลักษณะและการเจริญเติบโตของพืชคลุมดินตระกูลถั่วแต่ละชนิดแตกต่างกัน ดังนั้น การปลูกพืชคลุมดินให้คลุมพื้นที่ตลอดอายุของต้นยางอ่อน เกษตรกรควรปลูกหลายชนิดรวมกัน และไม่ควรเก็บเมล็ดพืชคลุมนานเกินไป เพราะจะทำให้ความงอกของเมล็ดเสื่อมลง

สาม... ใช้วัสดุคลุมดิน โดยนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ซังข้าวโพด เศษวัชพืชต่างๆ คลุมโคนต้นยาง อาจคลุมเฉพาะต้น หรือหากมีปริมาณมากควรคลุมตลอดแถว จะช่วยป้องกันการรบกวนของวัชพืชได้ดี อีกทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้ดีขึ้น การคลุมดินควรเว้นระยะพอควร อย่าให้ชิดโคนต้นยาง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อต้นยางและเป็นที่อาศัยของสัตว์บางชนิด

สี่... ปลูกพืชแซมยาง ประเภทพืชล้มลุก เช่น ถั่วลิสง มันเทศ สับปะรด แตงโม ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวไร่ พืชผักต่างๆ หรือปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาลไปตลอดทั้งปี เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งควรมีแหล่งน้ำ และการคมนาคมสะดวก โดยเกษตรกรควรพิจารณาเลือกปลูกตามสภาวะของตลาด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพในท้องถิ่นเป็นหลัก การปลูกพืชแซมยางเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมวัชพืชที่ได้ผลดี เพราะนอกจากเกษตรกรต้องเอาใจใส่ดูแลและใส่ปุ๋ยบำรุงพืชแซมเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นที่พอใจแล้ว เกษตรกรยังได้เอาใจใส่ดูแลสวนยางไปด้วย อีกทั้งต้นยางจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นยางที่ไม่มีการปลูกพืชแซม เนื่องจากได้รับปุ๋ยที่ใส่ให้กับพืชแซม

ห้า... ทำสวนยางในระบบผสมผสานร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น แกะ สัตว์ปีก อาทิ ไก่พื้นเมือง ห่าน หรือเลี้ยงผึ้งในสวนยาง การทำสวนยางในระบบผสมผสานนี้ เป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ หมุนเวียนในสวนยาง ในลักษณะการบูรณาการ ในพื้นที่ที่สร้างรายได้ และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงยางอ่อน กระทั่งต้นยางเปิดกรีดไปจนตลอดอายุของต้นยาง เป็นการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในสวนยาง ที่มีทั้งการปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยางร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ (สำหรับพืชแซมยางสามารถปลูกได้กระทั่งต้นยางมีอายุ 3 ปี หลังจากนั้น สามารถปลูกพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตในสภาพร่มเงาของยางได้ ซึ่งเรียกว่าพืชร่วมยาง เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ทำมัง ผักเหลียง มันปู ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หน้าวัว เปลวเทียน ขิงแดง และเฮลิโคเนีย เป็นต้น)

ถ้าทำได้จะเป็นผลพลอยได้ต่างๆ ที่เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องไปจนตลอดอายุของต้นยาง คือรายได้จากผลผลิตพืชแซมยาง พืชร่วมยาง รายได้จากการจำหน่ายสัตว์ รายได้จากน้ำยาง ต้นทุนที่ลดลงจากการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก นำกลับไปใส่ต้นยาง พืชแซม พืชร่วม และพืชอื่นๆ ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชในสวนยาง เพราะสัตว์ เฉพาะอย่างยิ่ง แกะ จะช่วยควบคุมวัชพืชในสวนยางได้เป็นอย่างดี แต่การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ เกษตรกรควรมีสมาชิกในครอบครัว สวนยางอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และการคมนาคมสะดวก จึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เกษตรกร สมาชิกในครอบครัว และผู้บริโภค ตลอดจนสิ่งแวดล้อมปลอดภัยอีกด้วย

คุณสุขุม กล่าวในตอนท้ายว่า วิธีการควบคุมวัชพืชในสวนยางดังกล่าวนี้ แต่ละวิธีเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้และปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ของเกษตรกร ที่นอกจากหวังผลในการควบคุมวัชพืชในสวนยางโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีแล้ว ยังส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดี เปิดกรีดได้เร็วและให้ผลผลิตสูง บางวิธีสามารถสร้างรายได้ และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดอายุของต้นยาง ทำให้เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดวัชพืช นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสวนยางจะทำให้เกษตรกรได้ดูแลสวนยางไปด้วย หากต้นยางเกิดอาการผิดปกติ เกษตรกรจะสามารถป้องกัน กำจัด สาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในบางกรณี ก็มีความจำเป็น เช่น วัชพืช หรือหญ้าคาที่ขึ้นหนาแน่น แต่การใช้สารเคมีเกษตรกรต้องใช้ตามคำแนะนำและใช้อย่างปลอดภัย เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อต้นยาง เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม เกษตรกรและผู้สนใจสามารถขอข้อมูลและคำแนะนำได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-7757-8 หรือที่ศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต (สถานีทดลองยาง) และสำนักงานตลาดกลางยางพารา กรมวิชาการเกษตร ตามจังหวัดต่างๆ ได้ทุกวัน เวลาราชการ หรือดูข้อมูลวิชาการ ถามปัญหาทางหน้าเว็บบอร์ด และติดตามราคายางได้ที่ //www.rubberthai.com Call center 1174




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:20:46 น.   
Counter : 3940 Pageviews.  


นิมิตร์ เทียมมงคล กับการเพาะถั่วงอกตัดราก แบบอินทรีย์ในวงบ่อซีเมนต์

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



มีตัวเลขการบริโภคถั่วงอกของคนไทย เฉพาะกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลมีปริมาณมากถึง 200,000 กิโลกรัม ต่อวัน เมื่อคำนวณการบริโภคทั้งประเทศภายในวันเดียวจะมีการบริโภคถั่วงอกไม่น่าจะต่ำกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น อาชีพในการเพาะถั่วงอกจึงมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีการลงทุนต่ำและคืนทุนได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม แต่รูปแบบของการเพาะถั่วงอกแบบตัดรากและผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ จนได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ มาตรฐานประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร ในบ้านเรามีอยู่เพียงไม่กี่ราย และที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจากรูปแบบการเพาะของ คุณนิมิตร์ เทียมมงคล อยู่บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000 โทร. (036) 613-031 และ (081) 251-8285 ที่เริ่มต้นจากการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษในตะกร้าพลาสติค ปัจจุบันได้ประยุกต์วิธีการเพาะเพื่อให้มีผลผลิตมากขึ้นตามความต้องการของตลาด โดยเพาะในบ่อซีเมนต์

เพาะถั่วงอกเนื่องจากเปิดร้านขายอาหารมังสวิรัติ

คุณนิมิตร์และครอบครัวเปิดร้านขายอาหารมังสวิรัติมานานนับ 10 ปี โดยใช้ชื่อร้านว่า "ศูนย์งอกงาม" ร้านตั้งอยู่ตรงข้ามกับ บ.ข.ส. ลพบุรี ในแต่ละวันจะมีผู้คนเข้ามารับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นจำนวนมาก และเมนูอาหารที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ อาหารที่ทำจากถั่วงอก อาทิ ยำถั่วงอกตัดราก ก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น ถั่วงอกจึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของร้านศูนย์งอกงาม คุณนิมิตร์จึงได้พยายามศึกษาและค้นคว้าวิธีการเพาะถั่วงอกในรูปแบบ โดยเน้นเรื่องปลอดสารพิษเป็นหลักสำคัญ ไปดูงานการเพาะถั่วงอกในที่ต่างๆ อ่านหนังสือทุกเล่มเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอกจนสามารถนำมาเพาะและนำผลผลิตมาขายในร้านได้ แต่ถั่วงอกที่เพาะได้ในช่วงแรกๆ จะได้ต้นถั่วงอกที่มีความขาวก็จริง แต่ส่วนของรากมีสีดำและพฤติกรรมการบริโภคถั่วงอกของคนไทยไม่ชอบรับประทานส่วนราก เพราะกินยาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนผู้สูงอายุ

คุณนิมิตร์ได้พยายามค้นหาวิธีการเพาะถั่วงอกเพื่อให้ไม่มีราก ในที่สุดก็เข้าใจถึงหลักการ โดยคิดว่าเมล็ดถั่วงอกเมื่อหว่านลงดิน รากจะดิ่งตั้งตรง จึงนำแนวคิดนี้นำเมล็ดถั่วเขียวโรยบนตะแกรงที่มีรูละเอียดดู ผลปรากฏว่ารากที่ออกมาจากเมล็ดถั่วงอกชอนไชลงไปในรู ทำให้ต้นถั่วงอกตั้งตรงได้ จึงได้เกิดแนวคิดด้วยการโรยเมล็ดถั่วเขียวให้มีความหนาแน่นพอประมาณ ต้นถั่วงอกจะแย่งกันออกสม่ำเสมอและเบียดแข่งกัน ต้นถั่วงอกตั้งตรงสามารถตัดส่วนของรากออกจากต้นถั่วได้อย่างสะดวก และยังสามารถเพาะถั่วงอกเป็นชั้นๆ ได้ คล้ายกับคอนโดฯ ความสำเร็จนี้คุณนิมิตร์เรียกว่า การเพาะ "ถั่วงอกตัดราก" หรือการเพาะ "ถั่วงอกคอนโดฯ"

คิดจะเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ ควรเริ่มต้นเรียนรู้จากการเพาะในตะกร้าพลาสติคก่อน คุณนิมิตร์ได้บอกถึงหลักพื้นฐาน 3 ประการ ในการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ว่า

หนึ่ง เมล็ดถั่วเขียว ที่จะนำมาเพาะจะต้องมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง สายพันธุ์ที่คุณนิมิตร์แนะนำและใช้อยู่คือ พันธุ์ "กำแพงแสน 2" เนื่องจากเป็นถั่วเขียวที่มีเมล็ดใหญ่ ทำให้ต้นถั่วงอกที่เพาะได้มีขนาดต้นโต ยาว และอวบอ้วน น่ารับประทาน

สอง ภาชนะที่ใช้เพาะถั่วงอกจะต้องทึบแสงและมีการระบายน้ำดี เช่น การเพาะในตะกร้าพลาสติคให้เอาถุงดำมาคลุมไว้และตั้งไว้ในห้องมืด หรือถ้าเพาะในบ่อซีเมนต์จะต้องปิดปากบ่อให้มิดชิด

สาม มีการให้น้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้ถั่วงอกที่เพาะไม่เกิดความร้อนที่สะสมมากเกินไป วิธีการสังเกตง่ายๆ ว่ามีความร้อนสะสมหรือไม่ โดยผู้เพาะใช้มือสัมผัสเมล็ดถั่วเขียวส่วนของชั้นบนสุดว่ารู้สึกร้อนหรือไม่ และในการให้น้ำในแต่ละครั้งจะต้องไม่มีไอจากความร้อนขึ้นมา ถ้าตะกร้าพลาสติคหรือวงบ่อซีเมนต์ที่ใช้เพาะถั่วงอกมีความร้อนสะสมมากเกินไป จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอก จะได้ถั่วงอกลำต้นเล็กไม่อวบอ้วน และต้นถั่วงอกมีจำนวนรากฝอยมากไม่น่ารับประทาน

เมื่อเข้าใจถึงหลัก 3 ประการ เบื้องต้นแล้ว คุณนิมิตร์แนะนำให้เกษตรกรและผู้สนใจเริ่มต้นเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ในตะกร้าพลาสติคให้เกิดความชำนาญก่อน เมื่อเกิดความชำนาญแล้วจึงมาเริ่มเพาะในวงบ่อซีเมนต์ ผลผลิตถั่วงอกตัดรากที่เพาะในตะกร้าพลาสติคจะได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม ต่อ 1 ตะกร้า ในขณะที่เพาะในบ่อซีเมนต์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร และมีความสูงของวงบ่อ 50 เซนติเมตร จะเพาะถั่วงอกได้ผลผลิตเฉลี่ย 10-12 กิโลกรัม ต่อวงบ่อ

มั่นใจในคุณภาพถั่วงอกว่าปลอดสารเคมีทุกชนิด

เนื่องจากการันตีด้วยมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

คุณนิมิตร์เริ่มต้นในการเพาะถั่วงอกโดยยึดหลักปลอดสารเคมีมาตั้งแต่ต้น จะไม่มีการใช้สารเคมีหรือแม้แต่การปลูกผักชนิดต่างๆ ที่นำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในร้านศูนย์งอกงาม จะมีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด จนได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตร ว่าถั่วงอกตัดรากและผักชนิดต่างๆ เช่น วอเตอร์เครส ที่ปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ ปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิด จุดนี้สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและสร้างความภูมิใจให้แก่คุณนิมิตร์ที่สามารถผลิตถั่วงอกอินทรีย์ตามที่ได้ตั้งใจไว้

เผยแพร่ความรู้

และสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกร

ขณะนี้วิธีการเพาะถั่วงอกแบบอินทรีย์ในวงบ่อซีเมนต์ของ คุณนิมิตร์ เทียมมงคล ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยเรียบร้อยแล้ว คุณนิมิตร์ได้บอกเหตุผลหลักของการจดสิทธิบัตรเพื่อป้องกันคนต่างชาติขโมยความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยไป แต่สำหรับคนไทยคุณนิมิตร์มีความยินดีที่จะเผยแพร่ความรู้วิธีการเพาะทุกขั้นตอนโดยไม่ปิดบัง เปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานและมาฝึกปฏิบัติจริงได้ที่บ้าน ไม่มีการหวงวิชาแม้แต่น้อย คุณนิมิตร์ยึดหลักธรรมะที่ว่า "การให้เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติ"

นอกจากนั้น ในทุกวันนี้คุณนิมิตร์ยังมีการเผยแพร่ความรู้การเพาะถั่วงอกและการปลูกผักแบบอินทรีย์แก่เกษตรกรในละแวกใกล้เคียง ที่สนใจจะประกอบเป็นอาชีพเสริม ในช่วงว่างเว้นจากการทำนา มีเกษตรกรหลายครัวเรือนมีรายได้เพิ่มเติมจากการเพาะถั่วงอกตัดรากและปลูกผักแบบอินทรีย์ เป็นเงิน 2,000-3,000 บาท ต่อเดือน ปัจจุบันคนในหมู่บ้านที่สนใจจะเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรแบบอินทรีย์แบบคุณนิมิตร์ได้มีการรวมตัวกันตั้งเป็น "กลุ่มเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตำบลโคกลำพาน" มีสมาชิกจำนวน 60 คน คุณนิมิตร์ได้ย้ำกับสมาชิกในกลุ่มทุกคนว่า ในการทำเกษตรอินทรีย์มีข้อจำกัดตรงที่จะต้องเริ่มทำในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้าเกษตรกรนำ "ปริมาณ" มาเป็นตัวตั้งและผลิตให้ได้มากที่สุดส่วนใหญ่จะล้มเหลว

กำลังการผลิตถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ ใน 1 วงบ่อซีเมนต์

ปัจจุบัน คุณนิมิตร์มีวงบ่อ จำนวน 90 วงบ่อ โดยเพาะถั่วงอกหมุนเวียนไปมา จำนวน 15 วงบ่อ ต่อครั้ง หรืออาจจะมากขึ้นตามออเดอร์ที่สั่งเพิ่มเข้ามา และจะเพาะสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้มีถั่วงอกจำหน่ายส่งขายทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ในแต่ละครั้งจะผลิตถั่วงอกตัดรากได้เฉลี่ย 200-400 กิโลกรัม ใน 1 วงบ่อซีเมนต์ จะใช้เมล็ดถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 2 อัตรา 1.8 กิโลกรัม จะเพาะถั่วงอกได้ประมาณ 10-12 กิโลกรัม

เอกลักษณ์ของถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์

คุณนิมิตร์ได้บอกถึงเอกลักษณ์และคุณสมบัติเด่นของถั่วงอกของร้าน "ศูนย์งอกงาม" จะมีลักษณะดังนี้ "ต้นยาวและขาว รสชาติหวานกรอบ ที่หลายคนได้รับประทานแล้วบอกว่าเหมือนกับกินมันแกว ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เนื่องจากเป็นถั่วงอกอินทรีย์ ทำให้เก็บรักษาได้นาน ถ้าบรรจุใส่ถุงพลาสติคมัดปากถุงให้แน่นเก็บทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติ จะไว้ได้นานเป็นเวลา 3 วัน แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานถึง 7-10 วัน"

ในอดีตการเพาะถั่วงอกตัดรากของคุณนิมิตร์จะเน้นให้ได้ต้นถั่วงอกที่มีลักษณะอ้วนสั้น แต่พบปัญหาลักษณะการอวบน้ำมากกว่าต้นยาว มีอายุการจำหน่ายสั้นและเกิดเน่าเสียได้ง่าย สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจเพาะถั่วงอกไว้รับประทานเองและต้องการต้นถั่วงอกที่อวบอ้วน คุณนิมิตร์ได้บอกถึงเทคนิคอยู่ที่การถ่วงน้ำเพื่อต้นถั่วอวบอ้วนในคืนที่ 2 ของการเพาะ ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นถั่วงอกเจริญเติบโตได้ดีที่สุด เป็นระยะของการยืดยาวของต้นมากที่สุดและเป็นช่วงที่ต้องการน้ำและความชื้นมาก สำหรับการเพาะถั่วงอกในตะกร้าพลาสติค ปกติจะมีการรดน้ำให้ตะกร้าพลาสติค 3 เวลาแล้ว ในคืนที่ 2 จะต้องรดน้ำบนถุงดำที่ปิดตะกร้าแน่น รดจนให้น้ำขังเป็นแอ่งบนปากตะกร้าโดยน้ำหนักของน้ำจะไปกดทับต้นถั่วงอก จะส่งผลให้ต้นถั่วงอกมีขนาดของต้นที่อวบอ้วน

ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา เมื่อต้นถั่วงอกตัดรากสะเด็ดน้ำแล้ว จะต้องรีบนำไปบรรจุลงถุงพลาสติคทันทีและมัดปากถุงให้แน่น ถ้าปล่อยให้ถั่วงอกสัมผัสอากาศนานๆ ต้นถั่วงอกจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองแล้วจะคล้ำดำในที่สุด เมื่อนำไปประกอบอาหารไม่น่ารับประทาน และตลาดไม่ต้องการ

ถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ส่งขายตลาดบน

และบางส่วนส่งขายตลาดต่างประเทศ

คุณนิมิตร์ได้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์โดยยึดหลักการที่ว่า "เมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน สินค้าก็จะขายด้วยตัวของมันเอง" ถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ของคุณนิมิตร์มีส่งขายให้ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป, เลมอน ฟาร์ม, ร้านศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ร้านโกลเด้นเพลส และท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์สินค้าที่ คุณหมอประเวศ วะสี ได้ให้ความกรุณาตั้งชื่อให้ว่า "ถั่วงอกรักชาติ" ด้วยลักษณะของถั่วงอกที่ขึ้นตั้งตรงอย่างเป็นระเบียบเหมือนคนเข้าแถวเรียงกัน

นอกจาก "ถั่วงอกรักชาติ" จะมีจำหน่ายภายในประเทศแล้ว คุณนิมิตร์จะมีการส่งถั่วงอกตัดรากสดบรรจุกล่องโฟมส่งไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ทางเครื่องบิน (ส่งไปให้ร้านอาหารไทยที่ดูไบ) นอกจากนั้น ยังมีภาคเอกชนมารับซื้อถั่วงอกตัดรากไปเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการผลิตก๋วยเตี๋ยวผัดไทยแบบแช่แข็งเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา

หนังสือ "การเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ในวงบ่อซีเมนต์" แจกฟรี พร้อมกับ "ไม้ผลแปลกและหายาก" พิมพ์ 4 สี จำนวน 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์จำนวน 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:19:49 น.   
Counter : 8346 Pageviews.  


อาจารย์วิศวะ มก. วิจัย นำเถ้าแกลบผลิตน้ำมันดีเซลบริสุทธิ์ แก้ไขการขาดแคลนพลังงาน

จุไร เกิดควน



อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรี ในงานวิทยาศาสตร์" เข้ารับประทานรางวัลจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ณ วังพญาไท โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในสาขา Material Science (สาขาวัสดุศาสตร์)

รศ.ดร.เมตตา เจริญพานิช ผู้คว้ารางวัลทุนวิจัยส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์สตรี "ลอรีอัล" ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การสังเคราะห์ซิลิกาเมโซพอร์ ชนิด SBA-15 จากเถ้าแกลบและการใช้เป็นตัวรองรับในการเร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำมันดีเซลบริสุทธิ์" ซึ่งโครงการนี้ ได้รับทุนสนับสนุนทุนวิจัยจากทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และทุนสมทบจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1,800,000 บาท โดยมีระยะเวลาการวิจัย 3 ปี (กรกฎาคม 2548-มิถุนายน 2551)

ที่มาของโครงการ เริ่มจากปัญหาวิกฤตการณ์พลังงาน โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียม จึงทำให้ รศ.ดร.เมตตา ริเริ่มโครงการวิจัยในการสังเคราะห์และพัฒนาตัวรองรับตัวเร่งปฏิกิริยาซิลิกาที่มีโครงสร้างที่เหมาะสมขึ้นมาจากทรัพยากรทดแทนที่มีภายในประเทศ โดยการใช้เถ้าแกลบเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์ซิลิกา ที่มีรูพรุนขนาดกลาง (เมโซพอร์) ชนิด SBA-15 เพื่อใช้เป็นตัวรองรับตัวเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์น้ำมันดีเซล โดยผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนและการต่อสายโซ่ไฮโดรคาร์บอน (กระบวนการสังเคราะห์ฟิชเชอร์-โทรปส์) ซึ่งกระบวนการที่ได้จะเป็นกระบวนการต้นแบบสำหรับการสังเคราะห์น้ำมันดีเซลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนต่อไป

ในการวิจัย รศ.ดร.เมตตา ได้แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ

ขั้นตอนแรก เป็นการสังเคราะห์ซิลิกาเมโซพอร์ ชนิด SBA-15 เพื่อใช้เป็นตัวรองรับตัวปฏิกิริยาโดย ผ่านกระบวนการโซล-เจล ที่ใช้เถ้าแกลบเป็นสารตั้งต้น และปรับปรุงคุณภาพภายใต้ความร้อนและความดัน เพื่อให้เกิดโครงข่ายซิลกาเมโซพอร์ที่สมบูรณ์ และการเติมโลหะที่ว่องไวในการต่อสายโซ่ไฮโดรคาร์บอน

ขั้นตอนที่ 2 เป็นการใช้ซิลิกาเมโซพอร์ ชนิด SBA-15 เป็นตัวรองรับตัวปฏิกิริยาการสังเคราะห์น้ำมันแกโซลีน และน้ำมันดีเซลจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซทิ้งและก๊าซเหลือใช้จากโรงแยกก๊าซ ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก

รศ.ดร.เมตตา ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังประสบกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กัน แต่ก๊าซมีเทนก็เป็นก๊าซเรือนกระจกอีกตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 24 เท่า ดังนั้น ถ้าสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้พร้อมๆ กัน ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลกทั้งในแง่การแก้ปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

ผลงานวิจัย เรื่อง "การสังเคราะห์ซิลิกาเมโซพอร์ ชนิด SBA-15 จากเถ้าแกลบในการเร่งปฏิกิริยาการผลิตน้ำมันดีเซลบริสุทธิ์" จัดเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์เข้ากับการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานเพื่อลดมลพิษ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งแต่เดิมมีกำมะถันและไนโตรเจนเป็นสารปนเปื้อน อีกทั้งยังเป็นการนำทรัพยากรทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศ รวมถึงทรัพยากรทดแทนและกากของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ การขาดแคลนพลังงานในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงก๊าซโซลีนและดีเซล สารเคมีพื้นฐานในกระบวนการปิโตรเคมี ลดการนำเข้าวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศส่งผลให้ประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้

การวิจัยขณะนี้ ผ่านไปเพียง 2 ปี หากผลงานวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์ การผลิตเชื้อเพลิงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนโดยผ่านตัวเร่งปฏิกิริยาที่เตรียมจากเถ้าแกลบ นอกจากจะเป็นผลงานที่เพิ่มมูลค่าให้เถ้าแกลบแล้วยังได้องค์ความรู้ใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์เข้ากับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้มหาศาล และยังเป็นความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:18:41 น.   
Counter : 1106 Pageviews.  


วิรังโก ดวงจินดา กับงานพัฒนาแก้วมังกรเพื่อการค้า อยู่ได้ด้วยสายพันธุ์ เน้นคุณภาพผลผลิต

พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th



หลายปีมาแล้ว ที่แก้วมังกรได้เสนอตัวต่อผู้ปลูกและผู้บริโภคในเมืองไทย ขณะนี้พื้นที่การผลิตได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนความนิยมนั้น แรกๆ คนไทยไม่ค่อยชอบนัก แต่เมื่อรู้จักหน้าตา วิธีกิน รวมทั้งมีของคุณภาพดี ทำให้แก้วมังกรเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในตลาดได้ทุกระดับ ตั้งแต่ตลาดนัดท้องถิ่น ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า

แก้วมังกร เป็นพืชที่ผลิตได้แทบทุกภาคของประเทศไทย แต่แหล่งผลิตสำคัญแห่งหนึ่งอยู่แถบดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดแถบนี้เป็นเขตเกษตรที่มีความก้าวหน้า เกษตรกรหัวไวใจสู้ เขาทำการเกษตรแบบเข้มข้น มีผลผลิตต่อหน่วยสูง ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า บางช่วงผ่านไปแถบนั้น เห็นค้างองุ่น เห็นต้นชมพู่ แต่กลับไปอีกครั้งหนึ่ง เห็นแต่ต้นแก้วมังกรเต็มไปหมด แน่นอนเหลือเกินว่า แก้วมังกรเป็นไม้ที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลผลิตที่คุ้มค่า แต่ผู้ปลูกต้องรอบรู้ และเอาใจใส่พอสมควร

คุณวิรังโก ดวงจินดา เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 74120 เป็นผู้ที่ไหวตัวเร็ว ปลูกแก้วมังกรในพื้นที่ 80 ไร่ ส่วนเหตุผลว่า ปลูกขนาดนี้ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป



เป็นนักปรับปรุงพันธุ์

เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเรื่องราวของคุณวิรังโก ลงเผยแพร่ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งมีเรื่องไม่ซ้ำกัน เริ่มจากมะม่วงนอกฤดู ชมพู่ ลำไย ฝรั่งเจินจูป่า ล่าสุดคือเรื่องราวของแก้วมังกร

คุณวิรังโก บอกว่า พื้นที่การผลิตแก้วมังกรของตนเอง ปัจจุบันแบ่งเป็นขนัด แต่ละขนัด แบ่งแต่ละสายพันธุ์ออกไป แต่ที่มากสุดคือสายพันธุ์เวียดนามเนื้อสีขาว แต่ละปี ผลผลิตแก้วมังกรออกจากสวนนี้ราว 100 ตัน

"ของผมนี่ปลูกหลายรุ่น ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ บางแปลงยังไม่ให้ผลผลิต เรื่องของสายพันธุ์นั้น แรกทีเดียวปลูกเวียดนามอย่างเดียว แต่ต่อมามีคนปลูกมากขึ้น อย่างเวียดนามเจ้าของเดิมปลูกมาก เขาทำได้ดี ส่งเข้ามาตีตลาด เช่าห้องเย็นใกล้ๆ ตลาดไท จึงต้องพัฒนาต่อไปโดยใช้พันธุ์ใหม่ๆ" คุณวิรังโก บอก

งานพัฒนาพันธุ์ของคุณวิรังโกนั้น มีสองแนวทางด้วยกัน

แนวทางแรกคือ ซื้อพันธุ์มาโดยตรง ที่ผ่านมาที่ปลูกเป็นการค้าอยู่คือ พันธุ์เวียดนาม ที่รู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ แก้วมังกรสีแดง ปลูกได้ผลดี รู้จักกันดีในนามพันธุ์ "แดงจินดา" คุณสมบัติโดดเด่นพอสมควร แต่คุณวิรังโกไม่ค่อยพอใจนัก เนื่องจากต้นมีหนาม ปฏิบัติงานยาก และมีข้อด้อยบางอย่าง เขาจึงหาซื้อพันธุ์สีแดงสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ต้น ราคากว่าแสนบาท เป็นต้นที่ไร้หนาม แต่ปรากฏว่าออกดอกดี แต่ไม่ติดผล จึงเป็นอันต้องเลิกราลงไป แต่เป็นเพราะชอบทางด้านนี้ จึงเสี่ยงใหม่ ซื้อจากไต้หวัน จำนวน 16 กิ่ง ราคา 130,000 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน) เขาบอกว่าเป็นไงเป็นกัน เมื่อทดลองปลูก ปรากฏว่าได้สายพันธุ์ที่ดี จึงมีการขยายพื้นที่ปลูก พร้อมให้ชื่อว่า "แดงไต้หวัน"

แดงไต้หวัน เป็นแก้วมังกรที่ผลโต ราวๆ 7 ขีด เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติหวาน ติดผลดก เก็บได้นาน ออกก่อนและหลังฤดู ครีบสีเขียว เหมือนกับแก้วมังกรเวียดนาม ตรงนี้แก้วมังกรสีแดงพันธุ์อื่นไม่มี ที่พิเศษนั้น ต้นไม่มีหนาม ปฏิบัติงานง่าย ทำงานได้รวดเร็ว

ที่แนะนำมา คุณวิรังโกได้สายพันธุ์แก้วมังกรโดยการซื้อมาโดยตรง แต่ปัจจุบันเขาได้สายพันธุ์ใหม่ โดยการผสมและคัดเลือกเอง

คุณวิรังโก อธิบายว่า ตนเองมีแก้วมังกรอยู่หลายสายพันธุ์ จึงทำการผสมคัดเลือก ทำให้สนุกได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ วิธีการเริ่มจากสังเกตว่า ดอกแก้วมังกรเริ่มบานราว 4 ทุ่ม เริ่มต้นด้วยการไปปอกเกสรตัวผู้ออก เหลือไว้แต่เกสรตัวเมียในดอกนั้น โดยต้องการให้เป็นต้นแม่ จากนั้นจึงครอบไว้ อย่าให้เกสรที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าไปผสม รอจนกระทั่งเวลาตี 4 ตี 5 จึงนำเกสรตัวผู้ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีไปป้ายใส่ดอกที่ครอบไว้ เป็นอันว่าเสร็จขั้นตอน จากนั้นทำเครื่องหมายไว้ พร้อมกับจดชื่อว่าผลนั้น แม่อะไร พ่ออะไร จนผลแก่จึงนำเมล็ดไปเพาะ รวมระยะเวลาที่เห็นผลว่าดีไม่ดีอย่างไร ใช้เวลาเกือบ 2 ปี

งานผสมพันธุ์ คุณวิรังโกไขว้สายกันไปมา เช่น นำผลสีเหลืองอิสราเอลผสมกับสีแดงไต้หวัน นำต้นสีชมพูผสมกับสีแดงจินดา

"ลูกผสมออกมาเยอะแยะ ผมได้ดีๆ อยู่ 2-3 ต้น ออกมา 100 ต้น หรือ 1,000 ต้น อาจจะดีอยู่เพียงต้นเดียว" คุณวิรังโก บอก

คุณวิรังโก บอกว่า สายพันธุ์ที่ตนเองผสมและคัดเลือกได้ดีมีอยู่พอสมควร แต่ก็ทำอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด เนื่องจากมีพ่อแม่พันธุ์ มีสถานที่ และที่สำคัญมีเวลา ทำให้สนุก แต่หากให้สรุปเป็นการค้าตอนนี้ พันธุ์สีแดงกับสีชมพูน่าสนใจ ตนเองขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น



ปลูกอย่างไร จึงได้คุณภาพ

คุณวิรังโก บอกว่า งานผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพดีนั้น ต้องดูแลให้ทั่วถึง โดยเริ่มจากการตัดแต่งกิ่ง อย่าให้มีกิ่งมากเกินไป หรืออย่าให้น้อยเกินไป หากหลักใหญ่ ควรมีกิ่งราว 70-80 กิ่ง หากกิ่งมากเกินไป และแน่นทึบ จะมีผลผลิตเพียงบางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งแย่งอาหารและให้ผลผลิตน้อย กรณีที่กิ่งน้อยเกินไป นอกจากได้ผลผลิตน้อยแล้ว แสงแดดที่ส่อง ทำให้กิ่งเหลือง กิ่งไหม้ อันเกิดจากแสงแดดได้

เรื่องของปุ๋ย ได้รับการยืนยันว่า ต้องใส่ทุกเดือน โดยเฉพาะปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ช่วงหน้าแล้ง ไม่มีผลผลิต คุณวิรังโก แนะนำสูตรเสมอ จะ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้ ส่วนช่วงที่ให้ผลผลิตใช้สูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 จำนวนหลักละครึ่งขีดต่อเดือน ถือว่าไม่มาก หากใส่มากเกินไป พื้นที่ดินเหนียว จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนปุ๋ยคอกนั้น วันที่ไปเยี่ยมชมแปลง ทางทีมงานของคุณวิรังโกใส่มูลไก่ที่โคนต้น จำนวนไม่น้อย

ปุ๋ยทางใบ คุณวิรังโก บอกว่า เคยทดลองแล้ว ปรากฏว่า ไม่ดีนัก เพราะเคยให้ปุ๋ยแล้ว ผลลาย แทนที่จะขายได้ 20-30 บาท ขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท

น้ำสำหรับแก้วมังกร ได้รับคำแนะนำว่า ดินเหนียว ให้น้ำ 2 วันครั้ง แต่หากเป็นดินทรายควรให้วันเว้นวัน ยามที่ฝนไม่ตก

"การทำคุณภาพ ดูแลเรื่องปุ๋ยสำคัญ ศัตรูมีน้อย ถ้ามีแรงงานห่อผลยิ่งดี ของผมทำออกก่อนฤดู บางพันธุ์ก็มีก่อนเขา อย่างแดงไต้หวัน ออกเดือนเมษายน ปกติออกพฤษภาคม เมื่อมีผลผลิต นกมารุมกิน ต้องห่อด้วยถุงที่ห่อฝรั่ง ถุงขนาดโลครึ่ง ควรขุ่น นกมันเห็นถ้าใส ห่อกันนกได้แล้วยังผลใหญ่ขึ้น รสชาติดีขึ้น แต่เป็นกลางฤดูสวนคนอื่นมี หากแรงงานน้อย อาจจะไม่ห่อก็ได้" คุณวิรังโก แนะนำ



ยังจำหน่ายได้ดี

คุณวิรังโก บอกว่า ปีหนึ่งผลผลิตแก้วมังกรของตนเองมีขายเกือบทั้งปี เว้นช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เดิมทีนั้นเดือนธันวาคมไม่มี เดือนเมษายนก็ไม่มี แต่มาปลูกแดงไต้หวัน ทำให้มีผลผลิตออกเดือนเมษายน ส่วนปลายปี เดือนธันวาคม มีขายอยู่ถึงกลางเดือน

"ต้นทุนการผลิตนั้น หากไม่นับรวมช่วงที่ลงทุนครั้งแรก ในปีต่อๆ มาแก้วมังกรพันธุ์เวียดนาม ต้นทุนกิโลกรัมละ 5 บาท ส่วนพันธุ์อื่นจะมากกว่านี้ ผลผลิตของผมอย่างแดงไต้หวัน จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ส่งขายตามห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ สยามพาราก้อน และห้างอื่นๆ มีคนมารับไปจำหน่ายต่างประเทศบ้าง มีโรงงานมาหาซื้อไปอบ อยากได้เนื้อสีแดงตกเกรด ครั้งละเป็นหมื่นกิโลกรัม แต่ก็ยังไม่มีให้ ตอนนี้เราทดลองแปรรูปดู ทำน้ำดี แต่สีขาวทำน้ำไม่สวย" คุณวิรังโก บอก

คุณวิรังโก ได้ให้ลูกๆ ทดลองแปรรูปแก้วมังกร ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

เริ่มจากทำน้ำปั่น โดยใช้เนื้อแก้วมังกรปั่น อาจจะเติมน้ำเชื่อม นมสดบ้างเล็กน้อย บางคนอาจจะเหยาะน้ำหวาน น้ำปั่นจากแก้วมังกรที่ปั่นออกมาแล้ว แก้วมังกรสีแดงสวยมาก รสชาติอร่อย ส่วนสีชมพูก็สวย แถมมีกลิ่นหอมในตัว

สลัด เป็นอีกเมนูหนึ่ง สลัดที่คุณวิรังโกให้ลูกสาวทดลองทำ ประกอบด้วยแก้วมังกรหั่นเป็นลูกเต๋า อย่างอื่นมีแครอต ข้าวโพด กะหล่ำปลี สำหรับคนลดน้ำหนักน่าสนใจมาก

อาหารอย่างหนึ่งที่ได้ชิมคือ ไอติม รสชาติดีมาก เป็นผลงานของนักศึกษาฝึกงานจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี แต่เสียดาย ภาพที่ถ่ายออกมาไม่ดี เลยไม่ได้มาโชว์ หลักการคือปั่นรวมกับส่วนผสมอย่างอื่น

ครอบครัวของคุณวิรังโกบอกว่า เนื้อแก้วมังกรยังใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทำน้ำกะทิ ทำรวมมิตร แต่ที่ไม่ได้ทำออกเผยแพร่ เนื่องจากงานสวนล้นมือ ดังนั้น ใครอยากนำไปทำเป็นอาชีพ ยินดีให้คำปรึกษา



ความเห็นของนักวิชาการเกษตรอาวุโส

อาจารย์ประทีป กุณาศล นักวิชาการเกษตรอาวุโส ให้แง่คิดเกี่ยวกับแก้วมังกรว่า หากปลูกใกล้ๆ กันหลายสายพันธุ์ อย่างปลูกพันธุ์เวียดนาม พันธุ์เนื้อสีแดง จะมีเกสรต่างพันธุ์ผสมกัน ทำให้ผลดก มีขนาดใหญ่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากแก้วมังกรแล้ว ยังมีในข้าวโพด สะละ และมะพร้าวน้ำหอม

"แก้วมังกร เป็นพืชที่ปากใบเปิดตอนกลางคืน การให้ปุ๋ยทางใบควรให้เวลาเย็น ทั้งนี้เพราะเป็นพืชทะเลทราย เนื่องจากพืชชนิดนี้เก็บผลผลิตได้เร็ว เพียง 45 วัน ดินปลูกหากมีโพแทสสูงจะดี กรณีที่ปลูกไปนานๆ ดินมักขาดแคลเซียม จึงจำเป็นต้องเสริมให้" อาจารย์ประทีป ให้ความรู้

เรื่องราวของ แก้วมังกร น่าสนใจไม่น้อย

ผู้อ่านอยากรู้เพิ่มเติม หรืออยากได้สูตรอาหารจากแก้วมังกร ติดต่อได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (034) 481-567, (081) 294-8232, (089) 039-7579 E-mail:wirounggo@hotmail.com




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:17:19 น.   
Counter : 5861 Pageviews.  


ก๊าซโซฮอล์ จากเมล็ดขนุน ผลงานวิจัยนักเรียนเฉลิมขวัญสตรีพิษณุโลก

โสภี ทุมลา



จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลไม้หลากหลายชนิด ขนุน คือหนึ่งในจำนวนผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยมีทั้งขนุนแบบดิบและสุก ซึ่งขนุนสุกมักจะจำหน่ายในลักษณะทั้งลูก หรือการผ่าแล้วแกะเอาเมล็ดออกจำหน่ายเฉพาะยวง เมล็ดส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไปแบบเปล่าประโยชน์ แม้ว่าบางคนอาจจะนำมาต้มสุกหรือเผาไฟ เพื่อรับประทานเป็นอาหารว่าง แต่ปริมาณของเมล็ดขนุนที่ถูกทิ้งในแต่ละวันมีเป็นจำนวนมาก กลุ่มโครงงานวิจัยของเด็กนักเรียน ม.ปลาย โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีพิษณุโลก จึงได้เกิดแนวความคิดในการนำเอาเมล็ดขนุนมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เช่นเดียวกับข้าว หรือมันสำปะหลัง ซึ่งแอลกอฮอล์ที่ได้สามารถจะเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเบนซิน 95 เพื่อไปเป็นก๊าซโซฮอล์ต่อไป

โครงงานวิจัยดังกล่าว ชื่อว่า "แอลกอฮอล์จากเมล็ดขนุน ทางเลือกใหม่ของก๊าซโซฮอล์" เป็นผลงานของ 3 นักเรียนหญิง ชั้น ม.6/4 คือ นางสาวสกาวทิพย์ ศิริสินเลิศ นางสาววิสาข์ บัวแจ่มรัตนวงศ์ และนางสาวกมลชนก โลหะบริสุทธิ์ โดยมีอาจารย์วิมลรัตน์ หาญณรงค์ เป็นที่ปรึกษา ขั้นตอนเริ่มจากการเลือกชนิดของเมล็ดพืชที่จะนำมาใช้ในการทดลอง ซึ่งทั้ง 3 คน เลือกเมล็ดขนุน เปรียบเทียบกับเมล็ดเงาะ และเมล็ดทุเรียน ว่าชนิดไหนให้ปริมาณแป้งมากกว่ากัน โดยเริ่มจากการนำเมล็ดผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ต้มสุก แล้วบดละเอียดอย่างละ 1 กรัม มาทำปฏิกิริยากับสารละลายไอโอดีน 1% จำนวน 5 หยด ผลที่ได้คือ เมล็ดขนุน มีแป้งมากที่สุดคือ 16.25% ขณะที่เมล็ดเงาะได้แป้ง 3.78% เมล็ดทุเรียนได้แป้ง 4.02% ขณะที่เมื่อใช้เครื่องวัดน้ำตาลพบว่าเมล็ดขนุนมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่มากที่สุด คือ 15.13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์

นางสาวสกาวทิพย์ ศิริสินเลิศ หนึ่งในทีมงาน อธิบายว่า จากการทดสอบพบว่าเมล็ดขนุนมีทุกอย่างที่เราต้องการมากกว่าเมล็ดเงาะและทุเรียน ขั้นตอนต่อไปคือ การทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยใช้หลักการเหมือนกับการทำสุราพื้นบ้านในการกลั่นแอลกอฮอล์จากแป้ง โดยการนำเมล็ดขนุนต้มจนสุก นำมาบดให้ละเอียด ผ่านการฆ่าเชื้อ จำนวน 300 กรัม เติมน้ำ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร หมักด้วยลูกแป้งข้าวหมาก 1 ก้อน (2.30 กรัม) ในขวด เป็นเวลา 2 วัน แล้วตรวจสอบน้ำตาล พบว่ามีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้น เมื่อหมักต่อไปอีก 3 วัน พบว่ามีปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เกิดขึ้น ซึ่งเมล็ดขนุนจะมีปริมาณมากกว่าการหมักแป้งจากเมล็ดเงาะและทุเรียน

"นอกจากนั้น เรายังได้ทำการทดสอบ เพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมในเรื่องของส่วนผสมแต่ละอย่าง โดยจากการทดลองพบว่า ในเนื้อแป้งจากเมล็ดขนุน จำนวน 300 กรัม นำมาผสมกับลูกแป้งข้าวหมาก จำนวน 2 ก้อน (4.60 กรัม) และหมักทิ้งไว้เป็นเวลา 7 วัน ถือว่าเหมาะสมที่สุด และจะทำให้ได้ปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) 42.36% โดยปริมาตร และยังพบว่าเมื่อนำส่วนผสมจากรำข้าว 100 มิลลิกรัม จะทำให้ได้ปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เพิ่มมากขึ้นเป็น 45.63% โดยปริมาตร ขั้นตอนต่อไปคือ การนำเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ที่ได้ไปกลั่นลำดับส่วนจะทำให้ได้เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) 95% ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น การสกัดสาร หรือเป็นตัวทำละลาย" นางสาวสกาวทิพย์ กล่าว

ด้าน นางสาววิสาข์ บัวแจ่มรัตนวงศ์ เสริมว่า ในการทดลอง คณะทำงานได้เลือกใช้เมล็ดขนุนหนัง ส่วนลูกแป้งข้าวหมาก เป็นสูตรเฉพาะของ คุณลุงจวบ หลิมเจริญ ชาวบ้านตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งประกอบด้วย ชะเอม กระเทียม ดีปลี ขิงแห้ง พริกไทย แป้งข้าวเจ้า น้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 2.30 กรัม ซึ่งแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักแป้งจากเมล็ดขนุนกับลูกแป้งข้าวหมาก เกิดจากการทำปฏิกิริยาของเชื้อราในลูกแป้งข้าวหมาก ชนิดแอสเพอร์จิลลัส (Aspergillus) และอะมัยโลมัยซีส (Amylomyces) ที่สามารถย่อยแป้งในเมล็ดพืชให้เป็นน้ำตาลได้ จากนั้นยีสต์ในลูกแป้งข้าวหมากชนิดเอนโดมัยคอพซิส (Endomycopsis spp.) และแซ็กชาโรมัยซีส (Saccharomyces spp.) จะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยน้ำตาล จนได้แอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงาน

"และในกระบวนการหมัก เมื่อมีการเติม ไนอะซิน ลงไป จะได้เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) เร็วขึ้น ทำให้เมื่อเรานำเอารำข้าว ซึ่งมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรต และไนอะซินสูง มาเป็นส่วนผสมในการหมัก จะทำให้ได้แอลกอฮอล์เร็วและมีปริมาณที่มากยิ่งขึ้น และเมื่อเรานำเอา เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ที่ได้มาทำการกลั่นลำดับส่วน (ลักษณะเดียวกับการกลั่นสุราพื้นบ้าน) จะได้เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) 95% และเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นขั้นสูง เช่น การใช้โมเลกุล่าซีฟ หรือใช้เครื่องแยกระบบเมมเบรน จะทำให้ได้ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) บริสุทธิ์ 99.5% ซึ่งสามารถที่จะนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 กลายเป็นก๊าซโซฮอล์ได้ และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตพบว่า เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) 95% จากเมล็ดขนุนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเอทิลแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลัง และแอลกอฮอล์ในท้องตลาดทั่วไป ประมาณ 35 บาท ในปริมาตร 450 ลูกบาศก์เซนติเมตร" นางสาวกมลชนก โลหะบริสุทธิ์ สาวน้อยอีกหนึ่งคนของทีมงานอธิบาย

อาจารย์วิมลรัตน์ หาญณรงค์ ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นโจทย์ที่อยากให้เด็กได้คิดเอง ทำเอง โดยเน้นในเรื่องใกล้ตัว เมื่อคิดแล้วจึงลงมือทำ ทางอาจารย์ ทางโรงเรียนจะช่วยสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์ เสริมแนวความรู้ พาไปดูงานยังแหล่งทดลองอื่นๆ ที่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งทั้ง 3 คน แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดที่นำไปสู่การทดลองที่เห็นผลอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ โครงงาน "แอลกอฮอล์จากเมล็ดขนุน ทางเลือกใหม่ของก๊าซโซฮอล์" ยังได้ส่งเข้าร่วมการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนภาคเหนือเข้าร่วมการประกวดระดับประเทศต่อไปด้วย

ความสามารถในการคิดและลงมือทำของคณะทำงานรุ่นเยาว์ทั้ง 3 คน ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะสามารถที่จะดึงเอาเรื่องใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยออกมาเพื่อเปลี่ยนทิศทางการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังเป็นโครงงานที่ถือว่าอยู่ในช่วงที่สังคมกำลังให้ความสนใจ นั่นคือ เรื่องของก๊าซโซฮอล์ เพราะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ใช้รถยนต์ทั่วประเทศไทย ที่จะตัดสินใจใช้พลังงานทดแทนน้ำมันเหล่านี้หรือไม่...ซึ่งไม่แน่ว่า จุดประกายเล็กๆ จาก 3 นักเรียนสาว โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีพิษณุโลก อาจจะกลายเป็นโครงการขนาดใหญ่ หากสิ่งเหล่านี้ได้รับการต่อยอดในอนาคต ใครที่อยากทราบรายละเอียดในขั้นตอนทดลอง ลองพูดคุยกับอาจารย์วิมลรัตน์ หาญณรงค์ ที่ปรึกษาโครงงาน หมายเลขโทรศัพท์ (089) 566-8154




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:16:22 น.   
Counter : 2113 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com